เกม ดารา การ์ตูน คือจุดเริ่มต้น! ‘Jinny’ สาววิศวะโรบอท ม.วาเซดะ (ลุยงานที่ญี่ปุ่นท้าทายแค่ไหน?)



 
         สวัสดีค่ะชาว Dek-D ชาวทวิตเตอร์ที่ชอบอ่านเรื่องราวของประเทศ “ญี่ปุ่น” เราเชื่อว่าต้องรู้จักแอคดังอย่าง @jiniponpokorin   หรือเคยเห็นคอนเทนต์แมสๆ ผ่านหน้าไทม์ไลน์บ้างแน่ๆ ซึ่งแม้ว่าเจ้าตัวจะตารางภารกิจแน่น ทำงานประจำ งานฟรีแลนซ์ และมีงานอดิเรกอย่างการเป็น Youtuber และ Blogger แต่เธอก็ตอบรับทันทีหลังจากเราชวนมาแชร์ประสบการณ์เรียนและใช้ชีวิตในต่างประเทศ บอกเลยว่าแต่ละพาร์ตมีหลายรสชาติมาก ที่น่าสนใจคือเธอฝึกเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองแทบจะ 100% จนทุกวันนี้พูดได้ใช้สื่อสารคล่อง เราหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่กำลังฝึกภาษานะคะ


Youtube Channel: Jiniponpokorin


Twitter   @jiniponpokorin
 

แนะนำตัว
 

         “สวัสดีค่ะ~ ‘จินนี่’ จิณห์ระพีร์ ธนะโสภณ จบ ป.ตรี สาขาโรบอท (Robotics) วิศวกรรมครื่องกล จาก Waseda University เรียนเป็นภาคญี่ปุ่นนะคะ ส่วนตอนนี้อยู่ช่วงเริ่มเรียน ป.โท MBA ที่ Keio University พร้อมๆ กับทำงานที่บริษัท Trading Company แห่งนึงที่ญี่ปุ่น และมีโอกาสได้ทำงานเบื้องหลังวงการบันเทิง คล้ายๆ เอเยนซี่ คอยประสานงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต แฟนมีตต่างๆ ระหว่างทีมงานไทยกับญี่ปุ่นค่ะ”


Photo Credit:  @jiniponpokorin
 

เพื่อการ์ตูน เกม ดาราที่รัก

ทำให้ฝึกภาษาด้วยตัวเองสำเร็จ
 

         “มันเริ่มจากตอนเด็กเราชอบอนิเมะ โดยเฉพาะโปเกมอนที่ชอบมากกกถึงขนาดพยายามนั่งจำชื่อโปเกมอนในเรื่อง ซึ่งเขาจะใช้ตัวญี่ปุ่นแบบ ‘คาตากานะ’ (片仮名, カタカナ) แล้วก็พยายามจำ ‘ฮิรางานะ’ (ひらがな) ด้วยตัวเอง เปิดเว็บนั่งเขียนนั่งเรียนเองหมดเลย แถมชอบเล่น Harvest Moon ด้วยค่ะ เมื่อก่อนเคยเล่นภาคญี่ปุ่นแล้วยอมแพ้ หนีไปเล่นภาคอังกฤษก่อน จนเมื่อไม่นานมานี้กลับไปเล่นภาคญี่ปุ่นเข้าใจแล้ว (เย้!)”
 
         “ส่วนใหญ่เราซึมซับภาษาจากการฟังเพลง เล่นเกม ดูรายการวาไรตี้ และติดตามดาราที่ชอบทั้งนั้นเลยค่ะ 555 มีครั้งนึงที่ลงคอร์สภาษาตอน ม.2 ทำให้เข้าใจแกรมมาร์ การผัน Verb ต่างๆ แต่เราก็ได้รู้ว่าการนั่งเรียนในโรงเรียนไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับเรา ตอนนั้นรู้สึกท้อและทิ้งไป 3-4 ปี (ช่วง ม.2) พอ ม.6 ก็ไป AFS ที่ญี่ปุ่น มีพื้นฐานนิดหน่อยแล้วไปสตาร์ตใหม่ที่นั่นค่ะ”


Photo Credit:  @jiniponpokorin

 

ช่วง AFS เปิดโลกทุกอย่าง

เริ่มจากพื้นฐาน กลับมาสอบได้ N2


         "เราไปแลกเปลี่ยน 10 เดือนที่โรงเรียน Osaka Prefectural Nose Senior High School ที่เมือง Osaka บ้านเมืองจะเป็นแนวทุ่งนาๆ แต่สิ่งที่ชอบคือทุกคนเฟรนด์ลี่มากกกก มีอะไรก็เย้ๆ หัวเราะ อารมณ์ดี (ที่นี่คือเมืองที่ดาราตลกเยอะสุดในประเทศ) เรื่องกฎระเบียบก็ชิลล์ๆ ทุกคนยังคงแฟชันจ๋าเหมือนกัน ก่อนสอบก็ไม่เครียด มีการนัดไปทำคุกกี้บ้านเพื่อนกัน แถมยังมีวิชานึงที่ให้เราออกไปทำฟาร์ม ปลูกข้าว ดูผึ้ง เลี้ยงแกะ ฯลฯ ถือว่าแปลกใหม่สำหรับเราเลย”
 
         "ช่วงแรกที่คุยกับเพื่อนหรือนั่งฟังอาจารย์ทุกวันๆ ก็ยังต้องเปิด dictionary ค่ะ พอผ่านไปเดือนนึงเริ่มฟังออกแต่ยังสื่อสารไม่ได้ 100% บอกโฮสต์ได้แค่ประโยคเบสิกๆ แต่เราอาศัยจำด้วยสภาพแวดล้อม บวกกับโรงเรียนมีจัดอาสาสมัคร (volunteer) สอนภาษาญี่ปุ่นในห้องสมุด ก็ช่วยให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ใช้เวลาแค่ 3 เดือนก็พูดได้แบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องคิดก่อนว่าเอ๊ะ Verb นี้ผันยังไงนะ?”
 
         “เราไปญี่ปุ่นเดือน มี.ค. พอเดือน ธ.ค. ก็สอบภาษาญี่ปุ่นได้ระดับ N2 ค่ะ สำเนียงทุกวันนี้ก็ยังเป็น Osaka เลยย 555 โทนกับคำลงท้ายจะต่างจากสำเนียงคนเมือง บางคนก็จะชอบเพราะสำเนียงฟังดูน่ารักดีค่ะ :)”


Photo Credit:  @jiniponpokorin

 

สาววิศวะโรบอท

เพราะอยากมีโดเรมอนเป็นของตัวเอง?
 

         เดี๋ยวนะ เหตุผลนี้จริงอะ? “จริง! 5555 เราอยากเรียนเพราะชอบโดเรมอน ฝันหวานว่าอยากมีโดเรมอนเป็นของตัวเอง” แต่ปรากฏว่า... “เข้าปีแรกมา ‘โดเรมอน...ซาโยนาระ~’ (= ลาก่อน) มันยากกว่าที่คิดอีก สาขานี้จะเน้นเครื่องมือทางการแพทย์มากกว่า"


 
         “ตอนสมัครเรียน ความพีคคือปีนั้นน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนสมัครก็ต้องใช้ recommendation letter และเอกสารอีกเยอะมาก เราเลยต้องอีเมลไปแจ้งมหา’ลัยว่าจะสมัครนะ แต่เอกสารอาจจะถึงล่าช้าเพราะน้ำท่วม (เพราะยังหาอาจารย์มาเขียนจดหมายแนะนำให้ไม่ได้) เขาก็เทคแคร์ดีมากและช่วยยืดหยุ่นให้”
 
         “แล้วพอถึงวันสัมภาษณ์ สิ่งที่เหนือความคาดหมายคืออยู่ดีๆ ก็มีคนเอาปากกาไวท์บอร์ดมาให้ อาจารย์ก็ให้เลือก 2 ใน 3 ได้แก่ ฟิสิกส์ เลข เคมี เราก็เลือกฟิสิกส์กับเลข จากนั้นเขาก็ให้โจทย์มาแก้พร้อมอธิบาย ซึ่งเราไม่ได้เตรียมมา อาศัยแต้มบุญเก่าล้วนๆ จำได้คร่าวๆ ว่าเป็นโจทย์โพรเจกไทล์ ซึ่งไม่ยากเกินไปสำหรับเด็ก ม.ปลายของไทย เพราะที่ไทยเรียนแน่นมากๆ ส่วนเลขเป็นเรื่องอินทิเกต สุดท้ายก็สอบติด พอยต์ที่ทำให้สอบติด น่าจะเป็นการพยายามทำให้เขารู้จักเรา และอยากรู้จักเรามากขึ้น


Photo Credit:  Waseda University


Photo Credit:  @jiniponpokorin
 
ชาเลนจ์ปีแรก
โจทย์คือให้ทำรถจิ๋วมาแข่งกัน
 
         “ในสาขาหุ่นยนต์ รุ่นเรารู้สึกจะมี 180 คน มีผู้หญิงแค่ 14 คนเองค่ะ พื้นฐานเราจบสายวิทย์มา เรียน ม.ปลายแค่ 2 ปี แล้ว ม.6 ก็ไป AFS ที่ญี่ปุ่น  จากนั้นใช้สอบเทียบ GED เราเลยต้องเตรียมตัวโดยการไปอ่านเลขกับฟิสิกส์เพิ่ม    ส่วนเรื่องภาษาก็ปรับตัวยากนะ  ชีวิตประจำวันเราไม่มีปัญหา แต่การเรียนจะยากเพราะมีศัพท์เฉพาะ แล้วเราก็อ่านช้ากว่าคนญี่ปุ่นด้วย เราเลยพยายามเตรียมตัวหนักมากโดยการอ่าน Text ภาษาอังกฤษให้เข้าใจก่อน แล้วค่อยมาอ่านญี่ปุ่น ดูคำศัพท์แล้วจดๆๆ อาศัยฟังเรื่อยๆ ส่วนใหญ่การสอบก็จะเป็นข้อเขียน การคำนวณ เน้นใช้ตัวเลข"

         "ถึงแม้สังคมมหา’ลัยญี่ปุ่นจะไม่มีรับน้อง ไม่มีสายรหัส แต่มีกิจกรรมชมรมและกิจกรรมระหว่างมหา’ลัย  ทำให้ได้รู้จักรุ่นพี่ที่คณะ ซึ่งช่วยเรื่องเรียนได้เยอะมาก เราสามารถขอรายงานและข้อสอบเก่ามาเตรียมตัวได้ค่ะ ”
 
         “ตอนปี 1 เราชอบวิชานึงมาก เขาจะให้จับกลุ่ม 3 คน แล้วก็สอนพื้นฐานพวกชิ้นส่วนของเครื่องกล เช่น มอเตอร์ เซนเซอร์ ฯลฯ สอนวิธีประกอบ การเขียนและตั้งโปรแกรม จากนั้นทุกกลุ่มต้องทำรถแข่งเล็กๆ มาแข่งกันวิ่งตอนปลายเทอม โดยกำหนดโจทย์ให้รถวิ่งตามเส้นสีดำที่วางไว้ กลุ่มไหนวิ่งถึงเส้นชัยเร็วสุดคือผู้ชนะ เราว่ามันยากนะ แต่สนุกดีที่ให้อิสระในการคิด มีแค่ข้อมูลพื้นฐานที่เขาให้มาเฉยๆ ผลคือแต่ละกลุ่มใช้วิธีไม่ซ้ำกันเลย”


Photo Credit:  @jiniponpokorin


Photo Credit:  @jiniponpokorin

 
ประกอบมอเตอร์ไซค์
ลองใช้เครื่องจักร ตัดเหล็ก ฯลฯ
 
         “วิชาเน้นปฏิบัติคือให้ลองใช้เครื่องจักร เราได้ลองตัดเหล็กด้วย รู้สึกสนุกดีนะ คำนวณว่าเราต้องหมุนกี่รอบถึงจะตัดได้ มีวาดแปลน คำนวณ ทำ AutoCAD ออกแบบเอง ปริ้นท์ 3D สมมติโจทย์คือให้ทำลูกเจี๊ยบ ปริ้นท์ออกมาก็จะเหมือนตุ๊กตาลูกเจี๊ยบค่ะ” (น่ารักกกก)
 
         อีกวิชานึงคือให้มอเตอร์ไซค์มากลุ่มละคัน คาบนึงให้ถอดส่วนประกอบให้หมด ส่วนสัปดาห์ต่อไปให้ประกอบใหม่ และทดสอบว่าติดไม่ติด ทำให้ทุกคนแม่นมากว่าต้องประกอบยังไง ซึ่งสัปดาห์ที่ถอดเขาไม่ได้บอกก่อน มีแค่ใบ้ๆ ว่าให้จำดีๆ นะ แต่ก็จะมีรุ่นพี่รุ่นก่อนๆ บอกไว้ว่าเดี๋ยวต้องเจอแบบนี้ //ทุกคนก็เลยแม่นมากกว่าต้องประกอบยังไง”
 
ภาคทฤษฎีก็ไม่เบา
แก้โจทย์สำเร็จถึงได้กลับบ้าน
 
         “จะมีวิชาแนวทฤษฎีเยอะๆ อย่างเช่น การไหล คำนวณกระแสของน้ำค่ะ แล้วเราก็จะเจอโจทย์ที่ยากแบบทำคนเดียวไม่ได้ เขาให้แบ่งกลุ่ม 4 คน ต้องแก้โจทย์สำเร็จถึงได้กลับบ้าน บางทีเขาก็อาจมี hint ใบ้ๆ ให้เราบ้าง  (คลาสเลิก 6 โมง แต่แทบไม่มีใครได้กลับตรงเวลาเลย)    ซึ่งโจทย์ที่ทุกกลุ่มได้รับจะเป็นโจทย์เดียวกันนะ  แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือคนญี่ปุ่นซื่อสัตย์มาก ไม่มีการลอกหรือถามกลุ่มอื่นที่แก้โจทย์ได้แล้ว”




 

สาขานี้มี “เตียงลม” ในห้องแล็บ

...เพราะอะไรน่ะหรอ?
 

         “สิ่งที่เราคิดว่าโหดสุดคือตอนปี 1-2 เราต้องเก็บหน่วยกิตให้ได้ตามจำนวนที่กำหนด ถึงจะมีสิทธิ์เข้าแล็บปี 3 ได้ค่ะ ใครตกวิชาไหนต้องไปเรียนใหม่จนกว่าจะผ่าน (เหมือนว่าจะมีโอกาสตกได้แค่ 2 วิชา) ส่วนแล็บจะใช้เวลาทำ 2 ปี”
 
         “ช่วงปี 3 เขาจะให้เราเลือกสาย เลือกห้องแล็บ เลือกอาจารย์ที่ปรึกษา วิศวะก็จะแบ่งเป็นสายหุ่นยนต์ (Robotics), สายวัสดุ (Material), สายพลังงาน (Energy) ตอน mini-thesis เราเลือกทำหุ่นยนต์ทำความสะอาดอ่างอาบน้ำ แล้วพอปี 3 ทำ thesis จริง เราเลือกทำเป็น ‘หุ่นยนต์อัลตราซาวนด์’ (Ultrasound) สำหรับคนตั้งครรภ์ ตั้งต้นจากปัญหาว่าคนที่ตั้งครรภ์จะเดินทางไปตรวจลำบาก ต้องต่อคิวนั่งรถไฟไปโรงพยาบาล ถ้าเกิดทำแบบออนไลน์ให้คุณหมอตรวจระยะไกลได้ก็คงดี ผลคืออาจารย์เขาก็ชอบ เพราะอย่างที่บอกคือสายโรบอทจะเน้น Medical Robot ช่วยเหลือมนุษย์อยู่แล้ว”
 
         “ความยากคือการเขียนโปรแกรมให้มันสำเร็จ ถ้าโค้ดตรงนี้ไม่ได้ ก็ต้องมาแก้ไขจุดนี้ มีรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำด้วย พอสำเร็จถึงจะมาทำรูปเล่ม (เราขอทำเป็นภาษาอังกฤษ เพราะพิมพ์ภาษาอังกฤษไวกว่า) จำได้เลยว่าตอนปี 4 เทอม 2 แทบไม่ได้นอน ในห้องแล็บเขาจะมีเตียงลมหลายอันมากเพราะนักศึกษาจะนอนค้างในห้องแล็บกัน หรือบางคนอาจจะกลับบ้านไปอาบน้ำ ช่วง 3 เดือนก่อนส่ง thesis เขาค่อนข้างให้อิสระกับเวลาเลยค่ะ เราคือไป 5 ทุ่มกลับเช้าตลอด แต่บางแล็บเขาจะกำหนดเวลา ไม่ได้ชิลล์แบบนี้”




ไปเที่ยว Waseda U. กันค่ะ!
(ลิงก์ Virtual Tour)


 

ทำงานบริษัทญี่ปุ่นมา 2 ที่

สวัสดิการดี & เจ้านายต่างสไตล์
 

         “เราเริ่มหางานตอนขึ้นปี 4 ค่ะ เขาจะมีการรับนักศึกษาเข้าบริษัทจากคำแนะนำของมหา’ลัย เช่น ส่งเอกสารมาว่าบริษัท XXX อยากได้คนจากคณะ XXX กี่คน > นักเรียนเลือกได้ว่าอยากเข้าที่ไหน > ส่งข้อมูลให้มหา’ลัย > มหา’ลัยจะสแกนอีกทีแล้วเลือกส่งไปให้บริษัท > บริษัทจะเป็นผู้คัดเลือกอีกที”


Photo Credit:  @jiniponpokorin
 
         “ตอนนั้นเราก็ได้รับคัดเลือกให้มาตำแหน่ง System Engineer ที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังยี่ห้อนึงของญี่ปุ่นค่ะ หน้าที่คือดูแลแอปฯ ธนาคาร เช่น ทำโค้ดโอนเงิน ทำธุรกรรมต่างๆ บรรยากาศการทำงานคือเป็นระบบมากๆ เวลาเข้างานต้องเป๊ะ เช่น กำหนดเวลาเริ่มงาน 8.50 น. นี่คือเวลาเปิดคอมพ์ฯ ไม่ใช่เวลาตื๊ดบัตรเข้าออฟฟิศ แต่ข้อดีคือสวัสดิการ เช่น มีค่าเดินทาง มีหอของบริษัท ส่วนเงินเดือน start ของเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่นจะไล่เลี่ยกันมากค่ะ ราวๆ 5-6 หมื่นบาท แต่ก็จะมีโดนหักนั่นนี่จนเหลือสัก 5 หมื่นนิดๆ (170,000 เยน)”
 
         “เราทำที่แรกได้ปีครึ่ง แล้วก็ลาออกมาทำบริษัท Trading Company แห่งนึง โดยได้ทำงานกับ CEO โดยตรงเลยค่ะ งานหลักๆ คือช่วยทำเว็บขายของ  เพราะเขียนเว็บกับเขียนโปรแกรมเป็น และได้ทำ Marketing เพราะเล่นโซเชียลได้ ถ้าเทียบกันบริษัทแรกจะเป็นคาแรกเตอร์คุณพ่อพูดน้อย นิ่งๆ เงียบๆ คูลๆ ส่วนบริษัทใหม่จะค่อนข้าง open เพราะจบนอกมา เขาจะฟังความเห็นของเรามากๆ”


Photo Credit:  @jiniponpokorin

 

แถมได้ทำเบื้องหลังวงการบันเทิง

ทั้งล่าม & ดีลงานทุกสเต็ป
 

         “ถ้าย้อนไปสมัยเรียนช่วงปี 3-4 เราทำงานพิเศษเป็นล่าม แล้วพี่ที่ทำงานก็ไว้ใจและให้โอกาสเรามาทำงานเป็นผู้จัดการ ช่วยดูดาราและศิลปิน มีช่วยประสานงาน (Coordinator) ดีลระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นที่เขาจะถ่ายทำหนัง ละคร และรายการทีวี อย่างเช่นงานจัดหาสถานที่ เราก็ต้องพาผู้กำกับไปติดต่อทาง Producer ญี่ปุ่นว่ามีสถานที่ประมาณนี้ อยากใช้ในฉากไหนมั้ย? แล้วก็คุยกับผู้กำกับว่าอยากให้นางเอกเดินจากตรงนี้นะ แล้วพระเอกเดินจากตรงโน้น บอกคนขับรถด้วยให้ไปตรงไหน ต้องโคทุกอย่างทั้งการเดินทาง การจองรถ โรงแรมต่างๆ ด้วย

         “งานนี้สนุกมากๆ เพราะเราชอบพูดชอบคุยอยู่แล้ว ความท้าทายของงานนี้คือเรื่องวัฒนธรรม คนไทยจะ relax กว่า มียืดหยุ่นเรื่องเวลาบ้าง ในขณะที่ทีมงานญี่ปุ่นจะเคร่งเรื่องนี้ นัดตี 5 คือตี 5 ทำให้เราต้องหาวิธีให้คนไทยมาตรงเวลา // อยากเล่าว่าคนญี่ปุ่นประทับใจข้าวกล่องในกองถ่ายมาก เพราะกองถ่ายไทยจะทำกับข้าวร้อนๆ มาแชร์กัน ดูอบอุ่นดี”


Photo Credit:  @jiniponpokorin


 

เปิดแอคทวิตและยูทูบแชร์เรื่องญี่ปุ่น

ทั้งใส่ใจและใส่ซับช่วยฝึกภาษา
 

         “เรามีแอคทวิตเตอร์ @jiniponpokorin ไว้เล่าเรื่องญี่ปุ่น และเปิดช่องยูทูบเน้นพากินพาเที่ยว แชร์ประสบการณ์ในญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งช่วงหลังๆ เห็นหลายคอมเมนต์บอกว่ากำลังเรียนภาษาญี่ปุ่น เราเลยเริ่มทำซับภาษาญี่ปุ่นกับไทยควบคู่กัน เพื่อให้น้องๆ ได้สนุกกับฝึกภาษาไปพร้อมๆ กัน เพราะเราว่าวิธีนี้จะช่วยให้หูรับได้ดีขึ้น เก่งขึ้น อีกอย่างคือได้เห็นเลยว่าคนญี่ปุ่นจริงๆ ใช้คำพูดกันยังไงบ้าง (ค่อนข้างต่างจากในหนังสือ) อันนี้เราก็มีทาบทามเพื่อนญี่ปุ่นมาทำแชนเนลด้วยกัน ส่วนขั้นตอนถ่ายทำ ตัดต่อ เราทำเองทุกอย่าง”
 



 

เรียนต่อ MBA @ Keio

การสัมภาษณ์สุดระทึก!
 

         ช่วงที่ทำงานบริษัท Trading เราก็มีสมัครเรียน MBA ของ Keio ไปด้วยค่ะ เจ้าของบริษัทก็ไม่ติดที่เราจะเรียนไปทำงานไป แถมดูแฮปปี้กว่าที่เราคิดด้วย ตอนสอบเข้าเราคะแนนอังกฤษเราถึงเกณฑ์ เลยสัมภาษณ์อย่างเดียวโดยไม่ต้องสอบข้อเขียน ส่วนตัวเราคิดว่าประสบการณ์ทำงานน่าจะมีผลต่อการพิจารณารับเข้าเรียน     เพราะ MBA ของเคโอจะต่างกับมหา’ลัยอื่นตรงที่เป็น Group Discussion โดยเรียนเลกเชอร์คาบนึง + ทำ Groupwork เหมือนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนในคลาสด้วยกัน เราว่ามันดีและเหมาะกับคนชอบพูด(อย่างเรา 5555)”
 
         ตอนสัมภาษณ์เจอคำถามไหนที่เหนือความคาดหมายมั้ย? “เขามีให้กระดาษมา 1 ใบ เขียนบทความข่าวสั้นๆ เรื่องธุรกิจ แนวโน้มต่างๆ + ให้อ่านออกเสียงด้วย เพื่อดูว่านักเรียนต่างชาติเข้าใจภาษาญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนั้นเราก็มีอ่านไม่ได้บางคำเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็สอบติด”


Photo Credit:  @jiniponpokorin
 
         และด้วยความที่สถานการณ์ COVID ทำให้กระทบวิธีการเรียน ช่วงที่เราพูดคุยจึงเป็นช่วงที่เธอเพิ่งเริ่มคลาสทดลอง เรียนทางออนไลน์ค่ะ “เราคิดว่าโอเคเลย มีสไลด์มาให้ ทุกคนต้องเปิดกล้อง แล้วตอนพรีเซนต์ก็จะพีคๆ หน่อยตรงลูกบางคนร้องดังมาก 5555 แล้วเพื่อนแต่ละคนส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ทำงาน มีทั้งเจ้าของบริษัท เด็กจบใหม่(ที่เป็นนักฟุตบอลบราซิล) คนที่ทำงานกับต่างชาติเหมือนกับเรา หรือคนที่เคยไปแลกเปลี่ยนเกาหลี”
 
         คำแนะนำถึงคนที่อยากสอบเข้าที่นี่? “คิดว่าเคโอน่าจะชอบคนพูดภาษาอังกฤษได้ เตรียมสคริปต์สัมภาษณ์ให้ดี ส่วนตัวเราเตรียมไป 2 ภาษาเลยค่ะ เขาก็จะมีถามประวัติ ถามเหตุผลที่อยากเข้าเรียนที่นี่ เราต้องแสดงให้เห็นจุดเด่น + แนะนำให้เรียนรู้มารยาทพื้นฐาน เช่น ต้องเคาะประตู 3 ครั้ง โค้งถูกตำแหน่ง นั่งได้ต่อเมื่อเชิญนั่ง ฯลฯ ซึ่งเราสามารถศึกษาได้จาก youtube นำมาใช้ได้ทุกที่ทั้งการเรียนและการทำงานเลย”
 

(อ่านเพิ่มเติม)     'Keio University'


ส่วน ‘ซึงยอน’

คือเหตุผลที่เริ่มเรียนภาษาเกาหลี
 

         แวะมามุมโปรดของจินนี่กันบ้าง ก่อนอื่นเลย...โดนตกตอนไหน? “เราได้ไปดูคลิปยูทูบแนะนำประวัติซึงยอนแล้วรู้สึกทัชกับความพยายามทำในสิ่งที่รัก พอติดตามก็ยิ่งเห็นทั้งความน่ารัก มีมารยาท ฝีมือดี แถมยังพูดได้ทั้งภาษาจีน โปรตุเกส อังกฤษ และเกาหลี ทำให้ยิ่งชอบมากๆ จนตั้งใจฝึกภาษาเกาหลี เพื่อไปคุยกับเขาในแฟนไซน์รู้เรื่อง (เป้าหมายแน่วแน่มาก!) นี่คือจุดมุ่งหมายเลย สมมติเจอขึ้นมาแล้วพูดภาษาอังกฤษ ก็สื่อได้แหละ แต่คิดว่าถ้าพูดภาษาเกาหลีเลยน่าจะคุยง่ายขึ้น”
 
         “ตอนนี้เราสามารถเขียนได้ และพูดได้ในระดับเบสิกค่ะ วิธีฝึกคือลงคอร์สภาษาอังกฤษของ Udemy + ให้เพื่อนคนเกาหลีช่วยสอนด้วย โชคดีมากตรงที่แกรมมาร์เหมือนภาษาญี่ปุ่นเป๊ะ คำศัพท์กับสำเนียงก็เหมือนกันด้วย พอมาเรียนแล้วเข้าใจเลยว่าทำไมคนเกาหลีถึงพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีมาก”


เที่ยวเกาหลี
Photo Credit: 
@jiniponpokorin

 

ไม่เก่งภาษาอังกฤษ

ไม่ได้แปลว่าจะฝึกภาษาที่สามไม่ได้
 

         “ภาษาคือสิ่งสำคัญที่สร้างโอกาสใช้ชีวิต ทำงาน หาเพื่อน และอีกหลายๆ อย่าง  บางคนอาจคิดว่าภาษาที่สามไม่จำเป็นหรอก หรือคิดว่าถ้าเราไม่เก่งภาษาอังกฤษ คงเรียนภาษาที่สามไม่ไหว แต่จริงๆ แล้วอยากบอกว่ามีคนจีนคนเกาหลีหลายคนเลยที่ไม่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ภาษาญี่ปุ่นคล่องมาก อยากให้ลองเริ่มศึกษาภาษาที่เรามีแรงบันดาลใจ มันจะช่วยให้เรา input ภาษานั้นๆ ได้ดี เหมือนอย่างเราที่เริ่มฝึกภาษาทุกอย่างจากสิ่งที่ชอบล้วนๆ // ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ตั้งใจนะคะ"
 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น