5 งานประพันธ์ทันกระแส! ตีแผ่ประเด็น ‘การเหยียดคนผิวสี’ ผ่านวรรณกรรมอเมริกัน

         สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D หลายคนคงจะได้ศึกษาหรืออ่านข่าวเกี่ยวกับการกดขี่และเลือกปฏิบัติต่อชาวผิวสีในอเมริกาที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ทั่วทุกมุมโลกมาบ้างแล้ว และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกค่ะที่มีการประท้วง ต่อต้าน และเรียกร้องความยุติธรรมในพวกเขาเหล่านี้ เพราะนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรื่องราวของการเหยียดหยาม การแบ่งแยกชาติพันธุ์ รวมไปถึงการค้าทาสจากอาณานิคมก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านงานเขียนและวรรณกรรมหลายต่อหลายเรื่องเรื่อยมา วันนี้พี่เลยอยากจะนำเสนอวรรณกรรม 5 เรื่องจาก 5 นักเขียนที่จะพาน้องๆ ไปเรียนรู้และสัมผัสถึงชีวิตของคนผิวสีที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดและการถูกกดขี่ที่ไม่สามารถหลีกหนีได้   ถือว่าได้ศึกษาประวัติศาสตร์และฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษไปในตัวนะคะ 

 

Incidents in the life of a Slave Girl (1861)
 

Photo Credit: https://www.penguinrandomhouse.com
 
         เรามาเริ่มเรื่องแรกกันด้วย Incidents in the life of a Slave Girl ซึ่งเป็นวรรณกรรมอัตชีวประวัติของ Harriet Jacobs ภายใต้นามปากกา Linda Brent ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เธอเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของเธอทั้งการเป็นทาสทำงานรับใช้ครอบครัว Flint และการที่เธอเกือบตกเป็นทาสทางเพศให้กับชายผิวขาว นายจ้างที่พยายามจะล่วงละเมิดและออกกฎบังคับไม่ให้เธอแต่งงาน 
 
         เนื้อเรื่องเล่าถึงชีวิตการเป็นทาสของ Linda Brent นับตั้งแต่รุ่นคุณยายของเธอ ครอบครัวของเธอทุกคนต้องตกเป็นทาสและถูกเอาเปรียบเรื่อยมา ทั้งถูกขโมยเงิน และถูกนายจ้างผิดสัญญาหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งในขณะนั้น ครอบครัวของเธอยังไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมใดๆ ได้ เนื่องจากทาสไม่สามารถครอบครองทรัพย์สิน และไม่มีการทำสัญญาใดระหว่างทาสและนายจ้างอีกด้วย อย่างไรก็ตามเธอยังคงอดทนต่อไป โดยเธอเชื่อว่าวันหนึ่งเธอจะถูกปฏิบัติเฉกเช่นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งบ้าง จนกระทั่งเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ
 
         เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอตัดสินใจหนีไปหลบซ่อนอยู่ในห้องใต้หลังคา และปล่อยข่าวว่าเธอได้หนีไปยังรัฐอิสระทางตอนเหนือเพื่อไม่ให้เจ้านายเธอตามมาเจอ  แม้เธอจะต้องอยู่อย่างยากลำบากในที่แคบที่ไม่มีแม้แสงสว่างส่องถึงนานถึง 7 ปี แต่นั่นก็ยังดีกว่าการที่เธอต้องทนกับการกดขี่ทางเพศ
 
         นอกจากจะได้เห็นภาพอัตชีวประวัติที่ไร้ซึ่งอิสรภาพของ Harriet Jacobs แล้ว วรรณกรรมเรื่องนี้ยังสอดแทรกเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อทาสผิวสีคนหนึ่งตัดสินใจลงมือฆ่าเจ้านายของตนและครอบครัว เนื่องจากต้องการแสดงพลังของทาสและแก้แค้นที่ตนถูกกดขี่ข่มเหงมาเป็นเวลานาน การจลาจลนี้นำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ นายจ้างเริ่มตื่นตัวและกลัวว่าทาสของตนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง รัฐทางตอนใต้ที่มีการซื้อขายทาสจึงต้องออกกฎหมายที่รุนแรงขึ้นเพื่อควบคุมทาสให้อยู่ในโอวาทของนายจ้าง น้องๆ สามารถไปเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลุกฮือของทาสชาวผิวสีเพิ่มเติมได้จาก Incidents in the life of a Slave Girl เลยค่า

 

To Kill a Mockingbird (1960)
 

Photo Credit: https://www.amazon.co.uk
 
         To Kill a Mockingbird เป็นหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของอเมริกาที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกประพันธ์ขึ้นโดย Harper Lee และได้รับรางวัล Pulitzer Prize หลังจากมีการตีพิมพ์ในปี 1960
 
         เนื้อเรื่องดำเนินอยู่ในช่วงปี 1930s ในชนบทแห่งหนึ่งของรัฐ Alabama โดยประเด็นการเหยียดสีผิว การเอารัดเอาเปรียบคนผิวสี และเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับฮิตเลอร์ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของเด็กหญิงวัย 6 ขวบอย่าง Scout (สเก๊าท์) ซึ่งอาศัยอยู่กับพี่ชายชื่อ Jem (เจ็ม) ทั้งสองเป็นลูกของ Atticus Finch (แอตติคัส ฟินช์) ทนายความผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม อย่างไรก็ตามตัวละคร Scout เติบโตท่ามกลางโลกที่ไม่ได้สวยงามนัก การเหยียดคนผิวสีของคุณครูที่โรงเรียนและคดีของ Tom Robinson (ทอม โรบินสัน) ชายชาวผิวสีที่เป็นผู้ต้องหาข่มขืนหญิงผิวขาวคนหนึ่งที่พ่อของเธอตัดสินใจว่าความให้ ทำให้เธอเรียนรู้และเข้าใจความโศกเศร้า ผิดหวัง และด้านมืดของสังคมที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน

Photo Credit: https://www.azquotes.com
 
         น้องๆ หลายคนอาจสงสัยว่า Mockingbird ในชื่อเรื่องมีความเกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อหาของวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างไร? 
 
         Harper Lee จึงได้อธิบายไว้ว่า Mockingbird (ม็อกกิงเบิร์ด) เป็นนกที่ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพลงที่มันชอบร้องก็มีแต่จะสร้างความสุขให้ผู้ฟัง และมันก็ไม่เคยแม้แต่จะกินพืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้ การฆ่าม็อกกิงเบิร์ดจึงถือเป็นตราบาปอย่างหนึ่ง ดังนั้นนกชนิดนี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อถึงคนผิวสีที่เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องมารับโทษในคดีข่มขืนและถูกชาวบ้านว่าร้ายแม้ว่าตนจะไม่ได้ทำผิดก็ตาม เรื่องนี้ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ห้ามพลาดเลย แถมเคยถูกหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์ด้วยนะคะ 

 

Kindred (1979)
 

Photo Credit: (ซ้าย) https://www.amazon.com
(ขวา) https://slate.com

 
         Olivia E. Butler เจ้าของบทประพันธ์นวนิยายเรื่อง Kindred ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาที่น่าติดตามและลุ้นสุดขีดของ Dana หญิงสาวชาวผิวสีที่เกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดปัญหาเรื่องเชื้อชาติ เพศ และการเอาตัวรอดของคนผิวสีในอเมริกาในช่วงเวลาก่อนสงครามกลางเมืองในรัฐแมริแลนด์ผ่านทั้งตัวอักษรและรูปภาพ
 
         การเดินทางข้ามเวลาไปมาระหว่างบ้านที่ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1976 กับช่วงเวลาก่อนสงครามกลางเมืองของ Dana แสดงให้เห็นความแตกต่างของการปฏิบัติต่อชาวผิวสีในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งการเดินทางข้ามเวลานี้จะเกิดขึ้นเมื่อ Rufus หนึ่งในบรรพบุรุษของ Dana กำลังตกอยู่ในอันตราย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์จมน้ำหรือไฟไหม้ ราวกับว่าเธอคือผู้เดียวที่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ และเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้ตัวเธอเองและอีกหลายชีวิตในครอบครัวเธอเกิดมาได้ แต่การใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเรื่องท้าทายและยากลำบากมากสำหรับเธอ เพราะในตอนนั้นยังมีการซื้อขายทาสกันมาก และหากทาสคนไหนคิดหลบหนี ทาสผู้นั้นและครอบครัวก็จะถูกตามล่าและลงโทษอย่างโหดเหี้ยมโดยการเฆี่ยนตีปางตาย
 
         นอกจากนี้เธอยังได้เรียนรู็ว่าการเรียนหนังสือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับทาสผิวสีทุกคน ทาสไม่มีสิทธิได้รับการศึกษาเพราะเชื่อว่าหากทาสมีความรู้ก็จะคิดต่อต้านอำนาจนายจ้างและหลบหนีไป การใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอดีตทำให้เธอได้เห็นการใช้ชีวิตของทาสตั้งแต่เกิดจนตาย และยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอเป็นผู้หญิงจึงทำให้เธอถูกกดขี่และคุกคามทางเพศ และผู้คนก็เลือกปฏิบัติต่อเธอมากขึ้นไปอีก
 
         Dana ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เธอไม่คาดคิดและไม่เคยพบเคยเจอมาก่อนในชีวิต เธอจะเอาตัวรอดจากการเป็นทาสได้อย่างไร เธอจะสามารถกลับไปสู่กาลเวลาของเธอได้หรือไม่ น้องๆ สามารถเอาใจช่วยเธอต่อได้ในวรรณกรรม Graphic Novel เรื่อง Kindred   นะคะ

 

The Color Purple (1985)
 

Photo Credit: https://www.amazon.in
 
         น้องๆ หลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตากับหนังดราม่าเรียกน้ำตา The Color Purple ที่กำกับโดย Steven Spielberg ผู้สร้างหนังชาวอเมริกันที่คว้ารางวัลออสการ์กว่า 3 ครั้ง อีกทั้งภาพยนตร์ที่เขากำกับยังสร้างชื่อเสียงและรายได้มหาศาล และครั้งนี้ก็เช่นกันเมื่อเขาหยิบงานประพันธ์ที่โด่งดังและมีเอกลักษณ์อย่าง The Color Purple ที่เขียนโดย Alice Walker และชนะรางวัล Pulitzer Prize ในปี 1983 มาทำเป็นภาพยนตร์
 
         วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าถึงความเจ็บปวดและความรู้สึกของ Celie (ซีลี่) หญิงสาวทาสที่อาศัยอยู่ในชนบททางตอนใต้ของอเมริกา เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 1900 Celie ในวัย 14 ถูกพ่อ (ที่เธอพึ่งมารู้ภายหลังว่าไม่ใช่พ่อที่แท้จริง) บังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่เธอเรียกว่ามิสเตอร์ ผู้ซึ่งมีอายุมากกว่าเธอเกินหนึ่งเท่าตัว การแต่งงานครั้งนี้ไม่ได้มาจากความรักหรือความผูกพัน แต่เป็นเหมือนการซื้อขายหญิงสาวมาเป็นทาสให้ชายวัยกลางคนซะมากกว่า เพราะนอกจากที่เธอต้องเป็นทาสรับใช้เขาแล้ว เธอยังถูกกดขี่ทางเพศอีกด้วย ความโหดร้ายของการเกิดเป็นผู้หญิงและการเป็นทาสนำพาความเจ็บปวดและความยากลำบากมาให้เธออย่างไม่รู้จบ
 
         แต่นอกจากความเศร้าเคล้าน้ำตาแล้ว วรรณกรรมเรื่องนี้ยังสร้างความประทับใจและความอบอุ่นหัวใจให้ผู้อ่านไม่น้อย ความสัมพันธ์ของตัวละครจะดำเนินไปอย่างไร จุดจบของเรื่องนี้จะสุขสมหวังหรือไม่ และอะไรที่จะนำพาหญิงสาวผู้นี้ไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้ น้องๆ ก็สามารถติดตามต่อได้ใน The Color Purple ทั้งในรูปแบบหนังสือและภาพยนตร์เลยค่ะ

 

The Underground Railroad (2016)
 

Photo Credit: https://www.matichon.co.th
 
         The Underground Railroad เป็นนวนิยายยุคหลังที่ประพันธ์โดย Colson Whitehead และเพิ่งถูกตีพิมพ์ไปในปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง เรื่องเล่านั้นเกี่ยวกับการผจญภัยและการตัดสินใจของทาสผิวสีสองคน ซึ่งเนื้อหาเรียกว่ากินใจจนสร้างปรากฏการณ์และกวาดรางวัลให้กับนวนิยายเรื่องนี้ทั้งรางวัล National Book Award ในปี 2016 และ Pulitzer Prize ในปีถัดมาเลยค่ะ
 
         นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ Cora (โคร่า) และ Caesar (ซีซาร์) สองทาสชาวผิวสีกับการหลบหนีจากระบอบอันโหดร้ายและป่าเถื่อนของความเป็นทาสไปสู่ทางรถไฟใต้ดินที่จะนำพาพวกเธอไปสู่ดินแดนแห่งอิสรภาพที่เคยฝันถึง โดย Underground Railroad เคยปรากฏเป็นตำนานในช่วงประมาณต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19 ตำนานนี้พูดถึงทางรถไฟใต้ดินลึกลับที่เป็นเส้นทางหลบหนีของทาสจากทางใต้ไปสู่รัฐอัสระทางตอนเหนือของอเมริกาและแคนาดา โดยมีนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการค้าแรงงานทาสเป็นผู้สนับสนุนหลัก ขบวนการนี้จึงนับเป็นต้นกำเนิดการปลดปล่อยทาสครั้งแรกๆ ในอเมริกา 
 
         ระหว่างการหลบหนีโดยเส้นทางรถไฟของ Cora และ Caesar มีเหตุการณ์มากมายที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพจำลองและทัศนคติของผู้คนแต่ละรัฐในอเมริกาที่มีต่อทาส ทั้งรัฐที่เริ่มมีแนวคิดเรื่องการเลิกทาสอย่างรัฐเซาท์แคโรไลนา และรัฐที่ยังสนับสนุนระบบทาสอย่างรัฐนอร์ธแคโรไลนา และนอกจากภาพของความโหดร้ายทารุณที่ตัวละครจะต้องเผชิญแล้ว Whitehead ยังสอดแทรกเรื่องราวอบอุ่นระหว่างการหลบหนีและจำลองภาพชุมชนที่ผู้คนมีความเท่าเทียมระหว่างชาติพันธุ์หลังจากที่การค้าทาสหมดไปจากอเมริกาอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้ว! สองเท้าก้าวเข้ามา คว้ากระเป๋า แล้วร่วมเดินทางไปสู่อิสรภาพกับสองสาวใน The Underground Railroad กันได้เลยค่า
 
Photo Credit: https://www.pbs.org
 
         นอกจากวรรณกรรมและนวนิยายจากหลายยุคสมัยที่ได้พูดถึงไปข้างต้นแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งงานประพันธ์สั้นกระชับที่สามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับชาวผิวสีได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ ‘บทกลอน’ นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น บทกลอน The Negro Speaks of River หรือ Theme for English B ของนักเขียนชาวผิวสีอย่าง Langston Hughes เป็นต้น โดยผลงานส่วนมากมักถูกประพันธ์ขึ้นในยุคที่เรียกว่า Harlem Renaissance ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปินและนักเขียนชาวผิวสีออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างคนผิวสีและคนผิวขาวผ่านผลงานการเขียนมากมาย ผลงานของพวกเขามักสะท้อนปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และการเหยียดสีผิวที่คนอเมริกันหลายคนมักมองข้ามไป
 
         น้องๆ คนไหนที่สนใจประวัติศาสตร์และอยากพัฒนาภาษาอังกฤษก็อย่าลืมไปตามอ่านเรื่องที่ตัวเองสนใจกันได้นะคะ หัวข้ออาจจะดูเข้าถึงยากแต่รับรองว่าอ่านแล้วได้ทั้งความสนุกและความรู้แน่นอน ส่วนใครที่มีวรรณกรรมเรื่องโปรด หรือประทับใจนวนิยายเรื่องไหน ก็อย่าลืมมาแชร์ให้พี่ๆ เพื่อนๆ ฟังกันด้วยน้า
 
Sources:
https://gwangjunewsgic.com
http://www.fantasybookcafe.com
https://www.nytimes.com
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น