ติวเข้มแบบอินไซต์! สรุปหลักการใช้ ‘9 Modal Verbs’ ที่ออกข้อสอบบ่อยมาก


            สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ใครอยากอัปสกิลแกรมมาร์มาทางนี้! เพราะพี่ปุณและ English Issues มีความรู้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมาฝาก หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น้องๆ เจอะเจอกันได้บ่อยทั้งในชีวิตประจำวันและในข้อสอบ แถมยังเป็นหัวข้อที่ใครหลายคนแอบสับสน เพราะหลักการใช้และความหมายมันปนกันไปหมดดด เกริ่นมาขนาดนี้ก็คงจะเป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้นอกจาก Modals นั่นเองงง! ใครยังไม่แม่นก็ตามพี่ไปดู ส่วนใครที่รู้อยู่แล้วก็ตามไปทบทวนกันค่ะ
 
 
Photo credit: https://unsplash.com
 

Modals กับหลักการใช้ รู้ไว้ไม่มีพลาด!

            Modals หรือ Modal Verbs คือกริยาช่วย ซึ่งต่างจากกริยาช่วยทั่วไปที่มักไม่มีความหมาย แต่ Modals นั้นจะมีความหมายในตัวมันเอง และจะใช้ร่วมกับกริยาหลัก (Main Verb) เพื่อทำให้ประโยคสมบูรณ์นั่นเองค่ะ ก่อนที่จะไปรู้ความหมายและตัวอย่างประโยค เรามาดูกันดีกว่ากฎการใช้ modals มีอะไรบ้าง!
 
  1. กฎเหล็กข้อแรกคือเราจะไม่มีการเติม s/es ที่ modals ไม่ว่าประธานจะเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น
              -        ประธานเอกพจน์: She might forget to bring my jacket.
              -        ประธานพหูพจน์: They will arrive at 9 p.m.
  2. หลัง Modals จะต้องตามด้วย Infinitive verbs (คำกริยาที่ไม่มีการเติม s, es, ed, ing) เท่านั้น ไม่ต้องผันอะไรเลยยย เช่น You must study hard in order to get good grades. = คุณต้องตั้งใจเรียนเพื่อที่จะได้เกรดดีๆ 

  3. Modals สามารถใช้ในรูปปฏิเสธโดยการเติม not เข้าไปข้างหลังหรือไม่ก็ใช้เป็นรูปย่อ อย่างเช่น can – cannot / can’t, must – must not / mustn’t 

  4. ในประโยคคำถามเราสามารถนำ Modals มาวางไว้หน้าประโยคได้ โดยไม่ต้องมีกริยาตัวอื่นอย่าง V. to do หรือ V. to have มาช่วย เช่น May I go to the toilet please? = ฉันขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำได้ไหม
     


Photo credit: https://unsplash.com
 

Modals แต่ละตัวมีความหมายว่าอะไร ใช้ยังไงบ้าง?
 

Can / Could


            สองคำนี้เป็นกริยาช่วยที่มีความหมายว่า ‘สามารถ’ หรือ ‘มีโอกาสที่จะ’ โดย can จะแสดงถึงแนวโน้มความเป็นไปได้มากกว่า could โดยความหมายทั้ง 2 นี้มักถูกใช้ปะปนกันไปแต่บางครั้งก็จะแยกกันได้ชัดเจน วิธีเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เลยค่ะ ถ้าใครยังสงสัยก็ไปดูตัวอย่างกันนน
 
-        I can speak Spanish very well. = ฉันสามารถพูดภาษาสเปนได้ดีมาก (can ในที่นี้มีความหมายว่า ‘สามารถ’)
-        It’s going to rain. If I go out, I can get soaked to the skin. = ฝนกำลังจะตก ถ้าฉันออกไปตัวฉันก็คงจะเปียก (can ในที่นี้มีความหมายว่า ‘มีโอกาสที่จะ’)
-        They could be wrong. Don’t believe what they say. = พวกเขาอาจจะผิดก็ได้ อย่าเพิ่งไปเชื่อ (could ในที่นี้มีความหมายว่า ‘อาจจะ’)

            จากตัวอย่างที่พี่ยกมาจะสังเกตได้ว่า can จะใช้กับอะไรที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกือบ 100% แต่ could จะใช้กับอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้นค่ะ
 

May / Might


            ส่วนใหญ่ May กับ Might จะใช้แสดงถึง ‘ความเป็นไปได้’ แต่บางครั้งก็ถูกนำมาใช้เชิงขออนุญาตในประโยคคำถามเหมือนกันค่ะ ตัวอย่างเช่น
 
-        May I go out for a while? = ฉันขอออกไปข้างนอกสักครู่ได้ไหม (may ในที่นี้มีความหมายว่า ‘ขออนุญาต’)
-        The children are not allowed to cross the street alone because they might have an accident. = เด็กไม่ควรได้รับอนุญาตให้ข้ามถนนเพียงลำพัง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ (might ในที่นี้มีความหมายว่า ‘อาจจะ’)

            สองคำนี้มีความหมายคล้ายกันว่า ‘อาจจะ’ แต่ may มักใช้กับอะไรที่มีเปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นเยอะกว่า อย่างเช่น He had been working for more than 12 hours he may prefer to get some rest. = เขาทำงานต่อเนื่องกันมายาวนานกว่า 12 ชั่วโมง เขาอาจจะอยากไปพัก ประโยคนี้เหมาะที่จะใช้ may มากกว่า might เพราะถ้าทำงานติดต่อกันนานๆ เขาอาจจะต้องอยากพักมากแน่ๆ ค่ะ
 
 
Photo credit: https://unsplash.com
 

Will / Would


            น้องๆ คงเคยเห็น ‘will’ ในประโยค Future Simple Tense กันอยู่บ่อยๆ แต่นอกจากจะถูกใช้เพื่อแสดงว่า ‘จะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในอนาคต’ แล้ว will ยังถูกใช้ในอีก 2 กรณีดังต่อไปนี้
 
  1. ใช้แสดง ‘ความเป็นไปได้มาก’ เช่น Take this helmet or you will get fined. = เอาหมวกกันน็อคนี้ไปสวม มิฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้มากที่คุณจะถูกปรับ
     
  2. ใช้แสดง ‘ความเต็มใจหรือคำสัญญาที่จะทำบางสิ่ง’ เช่น I promise I will love you forever. = ฉันสัญญาว่าจะรักคุณตลอดไป
     
            ส่วน ‘would’ เป็นคำกลางๆ ที่ไม่ได้แสดงระดับความเป็นไปได้ว่ามาก ปานกลาง หรือน้อย กริยาช่วยตัวนี้จึงมักถูกใช้เพื่อแสดงจินตนาการหรือการคาดการณ์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
 
-        I imagine that she would forgive me someday. = ฉันจินตนาการว่าสักวันเธอจะให้อภัยฉันได้ (ความเป็นจริงเธออาจจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัยฉันเลยก็ได้ค่ะ)
-        The incident would have linked with terrorism more or less. = เหตุการณ์นั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายไม่มากก็น้อย (ความเป็นจริงทั้งสองอาจเกี่ยวข้องกันหรือไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ เป็นแค่การคาดการณ์เอานะคะ)

*  นอกจากนี้เรายังใช้ would เพื่อแสดงความเป็นอดีตของ will ได้ เช่น He told me he would come. = เขาบอกกันฉันว่าเขาจะมา น้องๆ จะเห็นได้ว่า V. told เป็นกริยาช่อง 2 บ่งบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดและจบไปเรียบร้อยแล้วค่ะ
 

Should / Ought to 


            มาต่อกันที่กริยาช่วยอีกสองตัวที่เรามักจะใช้เวลาอยากให้คำแนะนำแกมบังคับกับคนอื่น ‘should’ และ ‘ought to’ มีความหมายเหมือนกันว่า ‘ควรจะ’ สามารถใช้แทนกันได้ไม่มีปัญหาเลยค่า
 
-        If you have a fever, you ought to see a doctor. = ถ้าคุณเป็นไข้ คุณควรจะไปหาหมอ
-        Everybody is waiting for you so you shouldn’t be late. = ทุกคนกำลังรอคุณอยู่ ดังนั้นคุณไม่ควรจะมาสาย

            นอกจากนี้ should ยังมีความหมายว่า ‘น่าจะ’ ที่แสดงถึงความเป็นไปได้ อย่างเช่น The cat should be OK in a few days. = เจ้าเหมียวน่าจะหายเป็นปกติดีในอีก 2 – 3 วัน 
 

Must 


            ‘Must’ ในประโยคบอกเล่ามักใช้ใน 2 บริบท ดังนี้
 
  1. ใช้เมื่อเรามั่นใจว่าสิ่งๆ นั้นจะเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน อย่างเช่น
              -        She has done well in her exams, so she must get good grades this semester. = เธอทำคะแนนสอบได้ดี ดังนั้นเทอมนี้เธอต้องได้เกรดดีอย่างแน่นอน
              -        He must be her father since they look similar. = ผู้ชายคนนั้นต้องเป็นพ่อของเธอแน่ๆ เพราะพวกเขาหน้าตาคล้ายกันมาก

  2. ใช้สั่งหรือแนะนำแกมบังคับให้ใครทำอะไรตามกฎ อย่างเช่น You must take off your shoes before entering the classroom. = คุณต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน
     
            นอกจากนี้ในประโยคปฏิเสธกริยาช่วย must ก็ยังถูกใช้ในเชิง ‘ห้ามปราม’ ได้อีกด้วย เช่น You mustn’t smoke in the hospital. = คุณห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่โรงพยาบาล กฎข้อนี้ถือเป็น Prohibition อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ
 

Photo credit: https://unsplash.com

Modals ตัวนี้ใช้แสดงความเป็นไปได้ระดับไหน?
 

            Modal verbs แต่ละตัวก็มีความหมายและหลักการใช้แตกต่างกันไป บางตัวก็สามารถเป็นกริยาช่วยที่บ่งบอกความเป็นไปได้และแนวโน้มความเป็นไปได้ด้วย อย่างเช่น Can, Could, Should, Must, etc.  นั่นหมายความว่า modals ที่พี่ได้ยกมานี้แสดงได้ทั้ง ‘ความเป็นปัจจุบัน’และ ‘ความเป็นอนาคต’ เลยค่ะ และวันนี้พี่ก็มีตารางสรุปความเป็นไปได้ทั้ง 3 ระดับมาฝาก น้องๆ สามารถจดจำและนำไปใช้กันได้เลยค่ะ
 


* ส่วน ‘would’ เราจะใช้เพื่อแสดงจินตนาการ การคาดการณ์ หรืออาจจะใช้เพื่อพูดถึงความใฝ่ฝันที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต แต่อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้เช่นกัน จะเห็นได้จากประโยค If-clause ประเภท Second Conditional Sentences ที่มักมาในรูป If + past simple, …would + infinitive เช่น
 
-        If you met me first, you would have loved me. = ถ้าคุณได้เจอกับฉันก่อน คุณคงรักฉันไปแล้วแน่ๆ (สรุปตอนนี้ไม่ได้รักกัน ไม่มีวัน รักกันไม่ได้นั่นเองค่ะ เป็นเศร้าาา TT)
 
            รูปประโยคนี้จำเอาไว้เลยนะคะน้องๆ เจอบ่อยมากกกก
 

Photo credit: https://unsplash.com

            จบไปแล้วกับไวยากรณ์น่ารู้ที่อยู่ในเกือบทุกข้อสอบ นอกจากน้องๆ จะต้องหมั่นทบทวนกฎการใช้และความหมายของกริยาช่วยแต่ละคำ การทำแบบฝึกหัดยังจะช่วยให้น้องๆ คุ้นชิน เข้าใจในบริบท และนำไปใช้ได้อย่างไม่มีผิดพลาด ส่วนใครที่มีข้อสงสัยหรืออยากเรียนรู้ไวยากรณ์เรื่องอะไรก็มาคอมเมนต์บอกกันได้นะคะ^^
 
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น