ตามไปส่องเงื่อนไข 'โอนสัญชาติเกาหลี' โอกาสดีของคนเก่งและนักศึกษาต่างชาติ!

        อันยองครับน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าใครได้ติดตามข่าวแวดวงการศึกษาของเกาหลีใต้ อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าที่เกาหลีนั้นค่อนข้างมีนโยบายดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทำงานด้วย อย่างปีที่แล้วก็มีข่าวว่าทางเกาหลีเตรียมเสนอกฎหมายใหม่ให้นักศึกษาต่างชาติหลังเรียนจบแล้วสามารถโอนสัญชาติได้เลย! ถือว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่มั้ยครับ และล่าสุดก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวพร้อมประกาศเงื่อนไขเกี่ยวกับนโยบายนี้แล้วด้วย  
 

Photo Credit: Yonhap News
 

เหตุผลที่มอบสัญชาติเกาหลีให้ต่างชาติ?


        น้องๆ รู้มั้ยครับว่าตอนนี้เกาหลีใต้นั้นเป็นอีกประเทศที่มีอัตราคนเกิดใหม่น้อยที่สุดในโลก พูดง่ายๆ คือคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกับชาว Gen Y นั้นไม่อยากมีลูกกันเยอะขึ้นมากๆๆๆ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีคนเกาหลีใต้จะมีค่านิยมตามความเชื่อขงจื๊อที่มองว่าการแต่งงานเป็นเรื่องจำเป็น (เพราะจะได้สืบสกุลต่อไป) แต่หลายปีที่ผ่านมานี้แนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) จากตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสังคมเกาหลีมากขึ้น จึงทำให้คนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้สนใจในค่านิยมเก่าๆ และมองว่าการแต่งงานเพื่อสืบสกุลก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป 
 
        และอีกปัจจัยที่มีผลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ  หลายคนมองว่าแค่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองให้ผ่านไปแต่ละวันนั้นยังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งปัจจุบันงานการก็หายากมากๆ ผู้คนตกงานเต็มบ้านเต็มเมือง ดังนั้น ถ้าจะให้คิดถึงเรื่องการแต่งงานก็คงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในความคิดเลย (อาจจะมีแฟนแต่ถ้าให้แต่งงานมีลูกก็คือพักก่อน) และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ประเทศเกาหลีใต้นับวันยิ่งมีอัตราคนเกิดใหม่น้อยลงทุกวันๆ และในขณะเดียวกันกลับมีคนสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างปี 2020 นี้ มีคนอายุเกิน 65 ปีกว่า 8 ล้านคน ซึ่งถือเป็นยอดที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีเลยก็ว่าได้ (ประชากรเกาหลีใต้มีเกือบ 52 ล้านคน) และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีเลยล่ะครับ โดยเฉพาะกับเรื่องการทำงานที่ต้องการแรงงานคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ และถ้าประเทศมีแต่คนสูงอายุ สถานประกอบการและบริษัทต่างๆ ก็อาจจะต้องจ้างผู้สูงวัยมาทำงานแทนวัยรุ่น และคุณภาพของงานที่ออกมาก็อาจไม่ดี มีความสร้างสรรค์น้อยกว่าหรืออาจจะยังคงเดิมๆ ไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งปัญหานี้แหละที่เกาหลีถึงขั้นขนาดเรียกว่าเป็น “ศัตรูของเกาหลีใต้” เลยล่ะครับ 
 

Photo Credit: Unsplash
 
         และในเมื่อคนรุ่นใหม่ในเกาหลีกลับมีอัตราน้อยลงทุกวันๆ  ดังนั้น ทางเกาหลีใต้จึงได้ผุดนโนบายดึงคนต่างชาติเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ พร้อมมอบสัญชาติเกาหลีและเอื้อประโยชน์สิทธิต่างๆ ให้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา ‘ฮงนัมกี’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์และการเงินแห่งเกาหลีใต้ ได้ประชุมหารือสำหรับนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับชาวต่างชาติในเกาหลีใต้แบบจริงจัง  
 
        โดยจะเริ่มจากการให้วีซ่าแก่นักศึกษาต่างชาติที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในเกาหลีจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งวีซ่าที่จะได้รับจะเป็นประเภท E-9 (ประเภทแรงงานที่ไม่ใช่มืออาชีพ) เพื่อให้บริษัทที่ขาดแคลนแรงงานสามารถขยายกำลังคนที่มีคุณภาพเพื่อมาร่วมงานได้ โดยวีซ่านี้จะมอบช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เป็นต้นไป 
 
        นอกจากนี้แล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากนโยบายนี้ก็คือ แต่ก่อนชาวต่างชาติที่จะได้รับสัญชาติเกาหลีนั้นจะต้องสละสัญชาติเดิมของตัวเองภายในหนึ่งปี แต่สำหรับโครงการ ‘ระบบความเป็นเลิศและทรัพยากรบุคคลจากหลากชาติ (우수인재 복수국적 제도 หรือ Mutiple (Dual) Citizenship for Outstanding Talent)’ ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ จะให้สิทธิประโยชน์กับชาวต่างชาติผู้มีความสามารถเหล่านี้ สามารถถือสัญชาติเดิมของตัวเองได้อยู่ และก็ได้รับสัญชาติเกาหลีใต้เพิ่มเติมอีกด้วย   
 

ใครบ้างที่มีโอกาสได้รับสัญชาติเกาหลี? 


1. เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น เช่น เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองหรือในองค์กรระดับนานาชาติ, เคยได้รับรางวัล Nobel, Pultzer, Goethe, Man Booker Prizes หรือได้รับเหรียญรางวัลแข่งชันกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น 
2. เป็นบุคคลที่สร้างชื่อเสียงและมีความโดดเด่นในด้านวิชาการหรือมีผลงานวิจัยสร้างชื่อเสียง และได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป 
3. มีความสามารถพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม (ต้องได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากผลงานของตัวเอง)
4. มีความสามารถที่โดดเด่นในด้านกีฬา เช่น เป็นโค้ชให้กับทีมกีฬาเกาหลีใต้ในการแข่งขันฟุตบอล Fifa, โอลิมปิก หรือโปรแกรมระดับนานาชาติ เป็นต้น
5. เป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพหรือธุรกิจทั้งในเกาหลีหรือระดับชาติ
6. เป็นบุคคลที่ทำอาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีล้ำสมัย
7. เป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
8. เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินทางปัญญา (ทั้งในเกาหลีหรือระดับนานาชาติ)
9. มีความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะด้านที่เกี่ยวงานสายเฉพาะทาง เช่น ด้านกฎหมาย สายการแพทย์ เป็นต้น
10. มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN, WHO, UNESCO, OECD, IAEA เป็นต้น 
 

Photo Credit: Unsplash
 
        จากคุณสมบัติที่ประกาศ จะเห็นได้ว่าเค้าต้องการคนที่มีความสามารถโดดเด่นจริงๆ เพื่อไปช่วยพัฒนาประเทศ แต่สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ด้านบน ทางการเกาหลีเค้าก็ยังเปิดโอกาสให้อยู่นะครับ โดยจัดตั้งระบบนับคะแนนเพื่อได้ได้รับวีซ่า E-9 โดยเค้าจะตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่า ถ้าสะสมคะแนนถึง 70 คะแนนจากเกณฑ์ต่างๆ ที่ตั้งเอาไว้ จึงจะมีสิทธิ์ได้รับสัญชาติเกาหลีนั่นเอง  โดยเกณฑ์ต่างๆ มีดังต่อไปนี้ 
 
1. การถูกจ้างงานในเกาหลี โดยจำนวนคะแนนที่จะได้จะขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ทำงาน (คะแนนเต็ม 40 คะแนน)
2. การจ่ายภาษี (คะแนนเต็ม 30 คะแนน)
3. ประสิทธิภาพหรือผลงานการส่งออก (นับจากมูลค่าทางการเงินและเทียบคะแนน โดยคะแนนเต็ม 30)
4. วุฒิการศึกษา (ให้คะแนนตามระดับการศึกษาสูงสุด โดยคะแนนป.เอก ในสาขาอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ เช่น สายเทคโนโลยี AI หรือชีวอนามัย จะได้เต็ม 50 คะแนน)
5. การบริจาคเงินเพื่อสังคม (คะแนนเต็ม 20 คะแนน)
6. Recommendation หรือมีจดหมายรับรองจากผู้ที่น่าเชื่อถือ (คะแนนเต็ม 15 คะแนน)
7. กิจกรรมจิตอาสา (นับตามจำนวนชั่วโมงที่เข้าร่วม โดยมีคะแนนเต็ม 15 คะแนน)
8. จำนวนปีที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้แบบถูกกฎหมาย (คะแนนเต็ม 10 คะแนน)
 

Photo Credit: Unsplash
 

#สรุป นศษ.จะมีโอกาสได้สัญชาติหลังเรียนจบเลยหรือไม่?


- ถ้าน้องเรียนจบป.ตรี  อาจจะยังไม่ได้รับวีซ่าหรือโอนสัญชาติได้เลยทันที น้องอาจจะต้องขอวีซ่าได้รับอนุญาตทำงานหลังเรียนจบเพื่อเป็นการหาประสบการณ์เพิ่มเติม และในขณะเดียวกันก็สะสมแต้มคะแนนตามเกณฑ์ที่ MCOT ได้ตั้งไว้   
- คนที่เรียนจบป.โท หรือป.เอก จะมีโอกาสได้รับเร็วมากกว่า เพราะว่าทางเกาหลีใต้ค่อนข้างสนับสนุนเรื่องผลงานทางวิชาการ 
-  น้องที่เรียนจบสายอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ เช่น สายเทคโนโลยี AI, ชีวอนามัย หรืออื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะได้รับพิจารณามากกว่า (พี่กี้ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีที่เรียนต่อป.โท Biomedical Engineering ก็เคยให้สัมภาษณ์กับทาง Dek-D และคอนเฟิร์มว่าสายงานนี้กำลังบูมมากจริงๆ)
 
        นอกจากนี้แล้วยังมีรายละเอียดอื่นๆ ในเรื่องของเอกสารประกอบการสมัครอยู่นะครับ หากน้องๆ คนไหนได้ไปเรียนต่อที่เกาหลีใต้ หลายๆ มหาวิทยาลัยก็จะมีการแนะนำในเรื่องของ Career path หรือแนวทางการประกอบอาชีพในเกาหลีใต้ต่ออยู่ดี และในทุกๆ ปีเค้าจะมีการจัด Job Fair for International Students อยู่ตลอด เรียกว่าค่อนข้างดึงดูดชาวต่างชาติเข้าประเทศเลยล่ะครับ และสำหรับใครที่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็ลองศึกษาจากคลิป Q&A ด้านล่างได้เลยครับ อธิบายละเอียดมากๆ
 

Clip



 
Source:
https://en.yna.co.kr/view/AEN20200827002900320?section=economy/economy
http://www.shinailbo.co.kr/news/articleView.html?idxno=1313980
https://blog.naver.com/PostView.nhn?blogId=bunhaeng&logNo=222079158951&categoryNo=33&parentCategoryNo=-1&viewDate=¤tPage=&postListTopCurrentPage=&isAfterWrite=true
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

หลีมั้ยล่ะ 20 ก.ย. 63 17:59 น. 2

คนรุ่นใหม่เกาหลียังเรียกประเทศตัวเองว่านรกโชซอนเลย สร้างอนาคตยาก บ้านแพง ธุรกิจถูกทุนใหญ่ผูกขาด สังคมเครียด กดดัน อัตราการฆ่าตัวตายสูง ฝุ่นมลพิษในโซล สังคมชายเป็นใหญ่ นักแอบถ่ายชุกชุม รถติด ถ้าเด็กๆคนไหนชอบเกาหลีแค่จากดารา นักร้อง ซีรีย์ ศึกษารายละเอียดดีๆก่อนนะ

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
หลีมั้ยล่ะ 20 ก.ย. 63 17:59 น. 2

คนรุ่นใหม่เกาหลียังเรียกประเทศตัวเองว่านรกโชซอนเลย สร้างอนาคตยาก บ้านแพง ธุรกิจถูกทุนใหญ่ผูกขาด สังคมเครียด กดดัน อัตราการฆ่าตัวตายสูง ฝุ่นมลพิษในโซล สังคมชายเป็นใหญ่ นักแอบถ่ายชุกชุม รถติด ถ้าเด็กๆคนไหนชอบเกาหลีแค่จากดารา นักร้อง ซีรีย์ ศึกษารายละเอียดดีๆก่อนนะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด