"ผมมองจีนด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป" เปิดชีวิตเด็กทุนจีนในซีอาน เล่นใหญ่ทั้ง อ.ที่ปรึกษา&โปรเจกต์!



               สวัสดีค่ะชาว Dek-D เวลาได้ยินคนพูดถึง  “จีน” ภาพในความคิดเราอาจผันแปรไปตามคำบอกเล่าของคนที่ไปเรียน ไปเที่ยว หรือทำงานใช้ชีวิตที่นั่น ซึ่งก็จะซับซ้อนไปอีกเพราะแต่ละโซนมีความเฉพาะตัวต่างกัน วันนี้เราจะขอพาไปฟังเรื่องราวของ ‘พี่มาช’ - ภากร พุทธาภิรัตน์ คนไทยที่ไปเรียน ป.โทและเอกที่ Xi'an Jiaotong University หนึ่งใน C9 League (มหาวิทยาลัยวิจัยของจีน) ตั้งอยู่ที่เมืองซีอาน เมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่มีแลนมาร์กคือสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้นั่นเอง ซึ่งถึงแม้จะเต็มไปด้วยโบราณวัตถุและโบราณสถาน เรื่องทันสมัยก็ต้องยกนิ้วให้เค้าอยู่ดีค่ะ ที่สำคัญเค้าบอกอีกว่า จีนคือประเทศที่สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยมากๆ ทรัพยากรมีเยอะจนใช้ไม่หมด
 
Spoil:
 
  • เคยคิดว่าไปเรียนโทหลักสูตรภาษาอังกฤษแค่ 2 ปี คิดว่าข้ามๆ การเรียนภาษาจีนไปก็ได้มั้ง!
  • เข้าแล็บผิด 3 เดือน แถมได้สอนสูตรลัดให้เพื่อนสายฟิสิกส์อีก
  • โชคชะตาพามาเจอที่ปรึกษาฟ้าประทาน จบจาก  Cambridge และทำวิจัยที่ MIT สไตล์การทำงานลงตัวและเข้ากันมากถึงมากที่สุดจนถูกชวนให้ต่อ ป.เอก
  • ทำโปรเจกต์ระบบวิเคราะห์เนื้อเยื่อผ่าน Web App พร้อมนำไปใช้จริงในวงการแพทย์แล้ว


Photo Credit: Xian-Jiaotong-University  / FB
 

กว่าจะได้เป็นนักเรียนทุน

เรียนในมหาลัยที่เด่นด้านวิจัย
 

               จริงๆ ผมเป็นคนนึงที่พลาดฝันจากคณะแพทย์ครับ แต่สุดท้ายก็มาสอบติดสาขาเจ๋งๆ ที่ชื่อ  ‘วิศวกรรมชีวการแพทย์’ (Biomedical Engineering) ของ มศว พอช่วงปี 3 ขึ้นปี 4 ก็เป็นช่วงที่ต้องเริ่มมองหาทุนเรียนต่อแล้ว ตอนสมัครไปเยอะ และโดน reject เยอะด้วย สุดท้ายติดทุนสมเด็จพระเทพฯ ไปเรียนสาขา Computer Science หลักสูตรภาษาอังกฤษที่ Xi'an Jiaotong University หรือ XJTU  ในเมืองซีอาน (Xi'an)
 
               ตอนนั้นผมมีคะแนน TOEFL ประมาณ  83-86 (ทุนกำหนดขั้นต่ำ IELTS 5.5/เทียบเท่า) ส่วนภาษาจีนไม่ได้เลย แต่ไม่เป็นไรเพราะเราไปเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ การขอทุนก็เริ่มจากส่งเอกสาร ถ้าผ่านก็ได้ไปสัมภาษณ์ ในห้องมีอาจารย์ 10 คน คุยเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษครับ *ปกติคนมักบอกว่า Study Plan เป็นอะไรที่หนักใจมากสำหรับการขอทุน แต่ถ้าทุนจีนอย่าเพิ่งรู้สึกกดดันเกินไป เขียนให้เต็มที่ที่สุด แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ เขาจะโฟกัสความตั้งใจว่าเราอยากชอบทำอะไรเพราะอะไรมากกว่า

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนสมเด็จพระเทพฯ
 
International Culture Festival at XJTU
 

Photo Credit: Xian-Jiaotong-University  / FB


Photo Credit: http://news.xjtu.edu.cn/
 
             สำหรับ Xi'an Jiaotong University (XJTU) จุดเด่นคือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของจีน (C9 League) หมายความว่ารัฐสนับสนุนการวิจัยเป็นพิเศษ ทำให้มีเงินทุนเยอะ อาจารย์ดี แล็บดี สังคมดี แล้วที่นี่ยังเป็นมหา’ลัยเดียวในกลุ่ม C9 ที่อยู่ทางซีกโลกตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (คำว่า ซี = ตะวันตก) เพราะเค้าอยากกระจายความเจริญมาทางนี้ครับ
 
               แล้วที่น่าสนใจคือจีนเป็นประเทศที่มีงบสนับสนุนอุปกรณ์งานวิจัย และทรัพยากรพร้อมซัพพอร์ตการศึกษาเยอะมากๆ   เช่น ทรัพยากรสำหรับคำนวณ (Computing Power) สำหรับ AI ตัวใหญ่ ระดับ หลายสิบล้านพารามินเตอร์ (parameter) และมี AI เก่งๆ ในกลุ่ม  Machine Learning ทำงานได้ซับซ้อน ซึ่งมันสุดยอดมากๆ


Photo Credit: Xian-Jiaotong-University  / FB

 

เรียนผิดสายมา 3 เดือน

แต่ได้ชี้ทางสว่างให้เพื่อนเฉยเลย
 

               มันเริ่มจากติ๊กเอกสารผิดช่อง แล้วเค้าก็ไม่ทันเห็นครับ 5555 คณะ Electronic and Information Engineering ของ XJTU จะมีสาขาย่อยอีก (เช่น Automation, Computer Science, Electronic, Communication) แล้วแล็บที่ผมไปหลงเรียนผิดอยู่  3 เดือนคือ ‘Quantum Optic’ เป็นแล็บฟิสิกส์ที่ศึกษาสิ่งที่เล็กกว่าอะตอม โดยในแล็บนี้เน้นศึกษาพฤติกรรมของอนุภาคแสงครับ ในนั้นเค้าจะมีกระจกเต็มไปหมดเพื่อควบคุมลำแสงเลเซอร์ยิงผ่านไปยังแร่คริสตัลนั้น มาถึงผมก็ได้รู้จักศัพท์ใหม่คือ ‘โฟตอน’ (Photon) เราก็ อ๋ออ แสงมันเป็นอนุภาคได้ด้วยนะ แล้วสักพักก็รู้อีกว่าเป็นคลื่นได้ด้วย พอดูวิธีศึกษาแล้วมันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก ถือว่าเปิดโลกอยู่พอสมควรเลย
 
               แต่ละวันของผมคือทำงาน ทดลอง เฝ้าเครื่อง ปรับพลังงานมิเตอร์ อุณหภูมิ กำลังเลเซอร์ ช่วงแรกที่อยู่แล็บนั้นเราก็แค่พยายามปรับตัวกับที่ใหม่ เค้าให้ทำอะไรก็ทำหมด อะไรที่ไม่รู้มาก่อนก็คิดแค่ว่ามันเป็นความรู้ใหม่ เดี๋ยวคงต้องไปทำการบ้านอีกเยอะแยะแหละ จนมาเอะใจว่า เอ ทำไมเรียนตั้งนานไม่เจออะไรที่เราชอบสักที 5555


ตัวอย่างตอนไปเติมไนโตรเจนเพื่อหล่อเย็นระบบเลเซอร์พลังงานสูง (high-power laser)
 

นี่คือ Hard Drive ที่เก็บข้อมูลการทดลองประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นแต่ละไดร์ฟจะมีขนาดประมาณ 4 TB แล้วเพื่อนจีนก็จะแบ่งกันไปเสียบคอมแต่ละเครื่องเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล 
 
               “แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านมาได้ ต้องขอบคุณสกิลคอมพิวเตอร์ที่สั่งสมมาครับ เพราะเพื่อนสายฟิสิกส์ที่เจอเค้าจะไม่ได้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมาก ตอนเห็นเค้าเก็บข้อมูลมาเป็นไฟล์ Excel แล้วนั่งพล็อตกราฟเองแบบ manual เราเลยไปช่วยแนะนำวิธีลัดให้งาน 3 เดือนของเค้าเสร็จใน 5 นาทีได้”

               “นั่นแหละ แล้วสุดท้ายเราก็ได้ย้ายสักที แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่จะว่าจะสูญเปล่าครับ มันคือการเรียนผิด  3 เดือนที่ทำให้เราได้เห็นความทันสมัยของแล็บเค้า ได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ความรู้แขนงอื่น และวัฒนธรรมการทำงานของนักฟิสิกส์ที่เน้นพัฒนาทฤษฎีและพิสูจน์ได้ ในขณะที่ผมซึ่งเป็นทางวิศวะ เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างอะไรสักอย่างออกมาสำเร็จเป็นชิ้นงาน"
 

เจอชาเลนจ์แรก
ต้อนรับเข้าแล็บใหม่

 


ภาพบรรยากาศในแล็บ โต๊ะแรกคือโต๊ะผมเอง
 
               “ผมว่า Computer Science เป็นอะไรที่ลงตัวมากระหว่าง ชีวะ + การแพทย์ + คอมพ์ ซึ่ง ป.ตรีเราจบ Biomedical Engineering ที่เรียนผสมกันทั้ง 3 สาย ทำให้รับมือกับเนื้อหาที่เจอตอน ป.โทได้ครับ และอีกความต่างที่ชัดคือโครงสร้าง ถ้าเป็นที่ไทย ในสาขาจะเหมือนแล็บเดียวกันแล้วมีอาจารย์เชี่ยวชาญเฉพาะ แต่พอที่จีนจะไม่แยกกันครับ อาจารย์อยู่ข้ามคณะข้ามแล็บได้ แล้วเติบโตตามหัวข้อวิจัย”
 
               “ส่วนแล็บที่ผมอยู่คือ Computer Science + Automation เราไปตอนที่เค้าเติบโตพอดี แถมเพิ่งแยกตัวเป็นคณะ ข้อดีคือมีงบสนับสนุนเยอะขึ้นกว่าเดิม พอมาถึงก็เจอชาเลนจ์แรกคือเขาให้คอมพ์มา 1 เครื่อง แบบมีจอ, ตู้ CPU, ไม่ลงวินโดว์ให้ด้วย บูสต์มาเจอจอดำๆ ให้เริ่มติดตั้งเอง จากนั้นเค้าก็เอาแรม (RAM) มาให้เราไขน็อตใส่เอง ตอนใส่ฮาร์ดดิสก์ต้องเดินไปเสียบที่ห้อง Server เอง ถึงกับต้องถามเพื่อนเลยว่าห้องอยู่ไหน”
 



ได้เสียบแบบนี้เลยครับ
 

ได้อาจารย์ที่ปรึกษาฟ้าประทาน

จบจาก Cambridge & เป็นนักวัจัยที่ MIT


               “โอ้โห อาจารย์ที่ปรึกษาคือโพรไฟล์หรูมาก ตอนพูดชื่อเพื่อนทุกคนรู้จักหมด(ยกเว้นผม) แล้วยัง nice มากด้วย เค้าบอกแฮปปี้เพราะเราเป็นเด็กต่างชาติหนึ่งเดียวในแล็บ แล้ววิธีการทำงานเป็นสไตล์ตะวันตกที่ไปด้วยกันได้ เน้นทำงานตาม passion มากกว่ากฎ เวลาเราบอกว่าจะทำเรื่องนี้นะ เค้าจะมองการตีพิมพ์เป็นแค่ผลพลอยได้ ให้เราเอาเวลาไปลงกับเรื่องคุณภาพงาน เพราะสุดท้ายแล้วถ้างานดี เผลอๆ อาจตีพิมพ์ได้มากกว่า 1 เปเปอร์ด้วยซ้ำ เวลานำเสนอก็เหมือนกันครับ ไม่ต้องเตรียมสไลด์ให้ยุ่งยาก เสร็จงานนึงบอกได้เลย โดยรวมคือทำงานเป็นระบบแต่ไม่มีขั้นตอนอะไรมากมาย”
 
               “ถ้าเทียบกับแล็บแรกที่ไปผิดสาย อันนั้นเค้าเน้นปริมาณครับ ข้อดีคือทำให้โตไปเป็นคนที่มีคุณภาพเพราะผ่านการฝึกเรื่องบริหารเวลาอย่างดี เวลาก็ค่อนข้างเป๊ะ ปกติทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 4 ทุ่มครึ่ง (แตพักระหว่างวันรวม 4 ชม.)  ต้องเคร่งครัดมากแบบไปถึงก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง ในขณะที่แล็บนี้เน้นดูแลตัวเอง คิดเองทำเอง ผมชอบแหละ แต่บางคนก็อาจไม่ได้ชอบการทำงานสไตล์นี้”

 

โปรเจกต์เล่นใหญ่ ‘OpenHI’

ระบบวิเคราะห์เนื้อเยื่อแบบ Web App
 

               “โปรเจกต์ ป.โทของผมทำเป็นแพลตฟอร์มพยาธิวิทยาดิจิทัล ทำเป็นระบบวิเคราะห์เนื้อเยื่อผ่าน Web App ชื่อ ‘Open HI’ (aipath.org/openhi/) ทำร่วมกับน้องอีกคนตั้งแต่ปี 2018 ตั้งแต่ที่ไม่มีอะไรเลยจนเริ่มเปิดใช้ได้เมื่อปีที่แล้ว” 


Photo Credit: http://aipath.org/


Photo Credit:  http://aipath.org/
 
               “เล่าก่อนว่าในทางการแพทย์ เมื่อก่อนเค้าจะใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อมาสไลด์ๆ ย้อมสีดูว่าเป็นมะเร็งมั้ย? ประเภทไหน? แต่ 10 ปีหลังนี้มีเทคโนโลยีให้สแกนชิ้นเนื้อที่สไลด์ให้แสดงผลเป็นภาพดิจิทัลที่ใหญ่และคมชัดหลักพันล้านพิกเซล (gigapixel) ช่วยให้จากเดิมที่แพทย์ต้องนั่งหา หมุนกล้องไปๆ มาๆ ก็เปลี่ยนเป็นให้ AI วิเคราะห์จากภาพได้เลยว่าพิกัดไหนมีเซลล์มะเร็งกี่พิกเซลๆ”
 
               “จริงๆ นวัตกรรมการสแกนชิ้นเนื้อแบบนี้มีตั้งแต่ 2010 แล้วครับ แต่ปกติจะระบุพิกัดยากเพราะเป็นไฟล์ภาพชนิดใหม่และใหญ่แบบ gigapixel ซึ่งคอมพ์ปกติเปิดไม่ได้ พอมีข้อจำกัดนี้เลยลองคิดให้มาเปิดดูบนเว็บผ่านเน็ตแทน     โดยใช้เทคโนโลยีคล้ายกับ  Google Maps  ให้เซิร์ฟเวอร์โหลดเฉพาะพื้นที่ที่แพทย์วงไว้ พอดูผ่านเน็ตก็จะสะดวกอีกคือสมมติแพทย์ 2 คนอยู่คนละที่ เขาก็แชร์ลิงก์มาเปิดดูด้วยกันได้ (ถ้าเทียบง่ายๆ ก็เหมือน Google Doc)”
 
               “ตอนแรกผมตั้งใจมาเรียนโทแค่ 2 ปีแล้วกลับ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาก็ชวนให้ต่อ ป.เอก แล้วแนะนำให้ขอทุนรัฐบาลจีน (CSC) เพราะมันดีที่สุดแล้ว มีเงินเดือนให้อีก 3,500 หยวนสำหรับ ป.เอกด้วย ส่วนนึงที่ทำให้ได้ทุนผมว่ามาจากโพรไฟล์อาจารย์ เพราะการเขียน Recommendation Letter มีผลมาก สุดท้ายได้มาต่อสาขาและมหาลัยเดิม เพียงแต่คราวนี้เป็นนักเรียนทุน Chinese government scholarship (CSC) ตอนนี้ก็กำลังเรียน ป.เอกปีที่สองจากหลักสูตรสามปีครับ ^^”

 

เป็นเมืองประวัติศาสตร์
แต่ไม่มีความล้าสมัย

 


อันนี้คือ หอกลอง หอระฆังเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองซีอาน
 
             “เรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือจุดเด่นของเมืองซีอาน ด้วยความที่ซีอานเป็นเมืองหลวงมายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนจะย้ายไปปักกิ่งในยุคโมเดิร์น ทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ มีพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่มากให้เข้าชม แล้วจีนก็พยายามคงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ไว้ รถไฟฟ้าใต้ดินก็อาจจะช้านิดนึงเพราะไม่กล้าขุดมาก" 


 
               "แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เมืองนี้ล้าสมัยครับ เพราะเทคโนโลยีเค้าดีมากจริงๆ  ออกมาข้างนอกทีพกแค่มือถือ กุญแจห้อง บัตรนักเรียน จบแล้ว ช่วงแรกๆ ก็ต้องวิ่งหาซิม เปิดบัญชีธนาคาร แล้วหลังจากนั้นก็เหมือนทุกอย่างปลดล็อก เราสามารถซื้อของออนไลน์ จ่ายเงินผ่านแอป WeChat, AliPay สะดวกทุกอย่าง แล้วจะมีช่วงเทศกาลลดราคา เช่น วันคนโสด 11.11 เงี้ย บริษัทขนส่งมี 7-10 บริษัทเรียงกันยังกับบูธ ช่วงลดราคาของจะกองเป็นภูเขา ใส่รถบรรทุก ของก็เทใส่ มันเยอะจนเรียงไม่ทันเลยอาจถึงมือผู้รับดีเลย์ไปบ้าง แต่ช่วงเวลาปกติสั่งเช้าได้เย็นก็มี”  
 

ตัวอย่างรถเมล์ที่ใช้แอปฯ จ่ายเงินขึ้นได้ตั้งแต่ปี 2018


กองเป็นภูเขาแบบนี้เลยครับ


จักรยานเช่าด้วยแอปฯ ในมือถือ
(ตอนปี 2017 ฮิตมาก ตอนนี้ซาๆ แล้ว)


คุยกับคนไม่ได้
เลยมีเพื่อนรักเป็นเครื่องอัตโนมัติ

 

             “ภาษาคือปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับผม ตอนแรกเข้าใจว่าภาษาอังกฤษเราอยู่ในระดับที่โอเคแล้ว สื่อสารได้ แต่ลืมคิดไปว่าคนฟังก็ต้องเข้าใจด้วย เพราะส่วนใหญ่ร้านค้าในซีอานที่แม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวก็ตาม แต่เค้าก็ไม่ได้พร้อมจะคุยภาษาอังกฤษกับเรา ช่วงแรกเราโชคดีมีพี่ที่ได้ภาษาจีนเค้าใจดีช่วยพาไปไหนมาไหน  แต่พอเราตัดสินใจต่อ ป.เอกก็เคว้งเพราะเหลือตัวคนเดียวแล้ว”
 
               “จังหวะนั้นเราเริ่มวิ่งหาเครื่องอัตโนมัติ ซื้อตั๋วและทำทุกอย่างผ่านแอปฯ สั่งร้านอาหารก็จำคีย์เวิร์ดไป เรื่องป้ายนี่ถ้าห้ามอะไรก็ไม่รู้เลยนะ มันเป็นชีวิตที่แย่มาก ยกเว้นอยู่ในมหาลัยที่ไม่ต้องใช้ภาษาจีนก็ไหวอยู่ ซื้อข้าวก็แค่จิ้มๆ เอาแล้วจ่ายเงินผ่านระบบ ดังนั้นแนะนำว่าควรได้ภาษาจีนเบื้องต้นนะ”
 
               “หลังจากที่ชีวิตย่ำแย่มาเป็นปีๆ เราก็ตัดสินใจลงคอร์สซัมเมอร์ชางไห่เจียวทง (Shanghai Jiaotong University) เรียนภาษาทุกจันทร์-ศุกร์ วันละ 2 ชั่วโมงครึ่ง ในราคาตกเดือนละ 13,000 บาทไทย ซึ่งพอเจอช่วงโควิดเราเลยได้ประเดิมระบบเรียนออนไลน์ซะ ได้ฟังพูดอ่านเขียนครบ อาจารย์เข้าถึงทุกคนเพราะคลาสนึง 11-12 คนเอง เรียนเปิดกล้อง ทุกคนตั้งใจ เป็นบรรยากาศที่แอคทีฟสุดตั้งแต่เจอมาเลยครับ"


               "ก่อนหน้านี้ผมฝังตัวที่จีนมา 2 ปีโดยไม่รู้ภาษาจีนเลย แต่ก่อนจบโทมีไปเที่ยวในเมือง แล้วมีสมาคมศิษย์เก่าไทย-จีนมาเที่ยว 3-4 วัน เลยรู้ว่าตัวเองฟังบอกแต่ไม่กล้าพูด พอมาเรียนคอร์สนี้เลยทำให้พัฒนามากกเพราะเหมือนโยงความรู้เข้าด้วยกัน สอนให้ออกเสียงกับแยกคำได้ เรียนไปเรียนมารู้สึกสนุกขึ้นมาเฉยเลย”
 
               “ช่วงโควิดผมได้กลับไทยตอนเค้าสั่งปิดอู่ฮั่นด้วยความช่วยเหลือของกงสุลไทยในซีอานที่ดูแลอย่างดีครับ เค้าเตรียมการและช่วยประสานให้ทุกด้าน ผมก็ตรวจร่างกายแล้วกลับเลย ซึ่งสถานกงสุลก็จะปิดต่อเมื่อคนไทยทุกคนกลับหมดแล้วด้วย เหมือนว่าต้องอยู่เป็นคนสุดท้ายนั่นแหละ แล้วพอผมกลับไทยทางมหาลัย เค้าก็ยังจ่ายเงินเดือนของทุนให้แม้เราจะอยู่นอกประเทศ บอกเลยว่าเรื่องสุขภาพ คนจีนจัดการได้ดีมาก”

 

สายตาเปลี่ยนไป

เมื่อได้สัมผัสผู้คนและบ้านเมือง
 

               “เล่ามาขนาดนี้ต้องบอกว่า ตอนแรกผมอยากเรียนต่อที่ยุโรปหรือไม่ก็ญี่ปุ่น แต่พอได้จีนก็ไม่ได้มาด้วยอคติ แล้วเราได้มาเจอความประทับใจหลายอย่าง ทั้งความทันสมัย (รถไฟฟ้าก็เสร็จเร็ว) คนจีนยุคใหม่ไม่ได้โหวกเหวกโวยวายเท่าที่เราเห็นตอนมาถึงเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เหมือนกับเราได้เข้าใจคนจีนมากขึ้น ได้สัมผัสกับประเทศนี้จริงๆ และเข้าใจแล้วว่าทำไมโลกถึงกำลังเปลี่ยนขั้วอำนาจไปที่จีน // ส่วนใครที่อยากมาจีน ก็อย่าลืมเรียนภาษามาเบื้องต้นด้วยนะครับ!”


Photo by  Dustin Owen   on  Unsplash


Photo by  Akira Amuro  กon Unsplash


Photo Credit:  http://news.xjtu.edu.cn/

​ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะ
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด