เรียนเน้น กิจกรรมแน่น! รีวิวชีวิตของ "เอิร์ธ" เด็กทุนรัฐบาลเกาหลี กับการเรียน 'วิศวะนิวเคลียร์' ที่ม.โซล

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ในแต่ละปีมีนักเรียนไทยหลายคนเลยที่ได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศเกาหลี ซึ่งทุนยอดฮิตที่หลายคนต่างรอคอยที่จะสมัครก็คือ “ทุนรัฐบาลเกาหลี” นั่นเองค่ะ เนื่องจากทุนนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายแทบจะทั้งหมด แถมเกาหลียังได้ชื่อว่าการศึกษาดีมากๆ วันนี้มีโอกาสดีเราเลยคว้าตัวนักเรียนทุนป.ตรีเกาหลีมาสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยท็อป 3 หนึ่งใน SKY อย่าง Seoul National University สักหน่อย การเรียนและชีวิตที่นู่นจะน่าสนใจขนาดไหน ตามไปอ่านกันได้เลยค่ะ!

แนะนำตัวเอง

 

“สวัสดีครับ “เอิร์ธ” ศักดิ์สุชา ทรัพย์มากอุดม เรียนจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนวิทย์-บริหาร ได้ทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ปี 2014 ไปเรียนปรับภาษาที่มหาวิทยาลัยคยองฮี 1 ปี และเรียนต่อปริญญาตรีสาขา Nuclear Engineering ที่ Seoul National University ตอนนี้ทำงานเป็นที่ปรึกษาโครงการพลังงานที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ครับ”

Note: ปัจจุบันทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP เปลี่ยนชื่อเป็น GKS (Global Korea Scholarship) ค่ะ

ได้ทุนเรียนต่อเกาหลี โดยที่ไม่ได้สนใจเกาหลีมาก่อน!

 

“สำหรับทุนเกาหลีนี่ส่วนใหญ่คนสมัครจะมีแรงจูงใจของเค้ากันอยู่ก่อนแล้ว อย่างบางคนเป็นแฟนคลับไอดอล หรือมีคะแนน TOPIK  พร้อม แต่ของผมนี่ก่อนจะไปนี่ไม่ได้รู้จักหรือชอบเกาหลีมาก่อนเลยครับ (หัวเราะ) คือตอนม.5 ผมได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสวีเดนกับโครงการ AFS พอได้ออกนอกประเทศแล้วครั้งนึงก็รู้สึกว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศอีก แล้วสังคมมันก็มีส่วนในการส่งเสริมกันเรียนพอสมควรเลย เพราะที่เตรียมฯ มีคนไปแลกเปลี่ยนเยอะ ก็จะมี mindset คล้ายๆ กันว่าอยากไปเรียนต่อเมืองนอกหรือคณะอินเตอร์”

“ช่วงนั้นผมสมัครทุนต่างประเทศไปหลายทุน ทั้งของญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมนี แต่ว่าติดทุนเกาหลีก่อน ส่วนที่เลือกสาขานี้เพราะส่วนตัวชอบเรียนฟิสิกส์และสนใจด้านพลังงานอยู่แล้ว อย่างพวกพลังงานราคาถูก ยั่งยืน และเข้าถึงได้ ”

จะติดทุนได้ต้องเตรียมตัวด้วย

 

“อย่างที่บอกว่าผมไปแลกเปลี่ยนมาตอนม.5 พอกลับมาซ้ำชั้น (ที่เตรียมฯ จะให้เรียนซ้ำชั้น) แล้วรู้ตัวว่าอยากต่อเมืองนอกก็เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้นครับ ผมสอบพวก Standardized test ช่วงม.6 เทอม 1 โดยยื่น SAT กับ IELTS เพราะศึกษามาว่าข้อสอบแบบไหนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ก็ติวกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนด้วยกัน ซื้อหนังสือ Barron's มาช่วยกันติว คะแนนออกมาค่อนข้างดีเลย”

“ส่วนเกรดผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ที่เตรียมฯ ก็แข่งขันกันหนักอยู่เลยไม่รู้สึกว่ากดดันอะไร คือเกรดก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ผมว่าส่วนอื่นก็สำคัญ อย่างการสอบ Standardized test ที่ว่า เพราะนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้มาจากโรงเรียนดังทั้งหมด มาจากโรงเรียนในต่างจังหวัดก็มี แต่ละที่เค้าก็ให้เกรดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการสอบพวกนี้เลยสำคัญเพราะเป็นมาตรฐานในหลายๆ ประเทศ”

แล้วก็พวก Personal Statement นี่สำคัญมากครับ ต้องเขียนเล่าประสบการณ์ที่เราได้ทำ อย่างของผมก็เล่าเรื่องที่ไปแลกเปลี่ยน ได้เห็นโลกภายนอก เล่าถึงกิจกรรมที่เคยทำ อยู่ชมรมแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรมงานกีฬาสี เข้าค่ายวิทย์ กิจกรรมต่างๆ ฯลฯ    ”

ชีวิตชิลล์ๆ ช่วงปรับภาษา ก่อนเจอของจริง

 

“ไปถึงเกาหลีช่วงปีแรกจะเป็นการเรียนปรับภาษาก่อน ก็เรียนรวมกับนักเรียนจากต่างประเทศ สมัยปีผมจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แยกกันไปเรียนที่ม.คยองฮี ม.อีฮวา แล้วก็ม.ซอนมุล เราต้องสอบให้ผ่าน TOPIK 3 ซึ่งเป็นระดับที่ใช้ในชีวิตประจำวัน”

“สำหรับเพื่อนๆ ก็สนิทกันนะครับ เพราะก็เป็นเด็กต่างชาติที่โดนโยนมาอยู่ด้วยกันที่ต่างประเทศ ได้เจอคนหลากหลายมาก เพื่อนๆ จากอาเซียนก็น่ารักดี  อย่างรูมเมตผมเป็นคนเวียดนามที่เคยแข่งโอลิมปิกวิชาการมา หลายๆ คนก็ซิ่วมาจากป.ตรีที่บ้านเค้า ก็จะมีความเป็นผู้ใหญ่หน่อย”

“ในช่วง 5 ปีที่เรียนที่นู่น ปีนี้เป็นปีที่เบาสุดแล้วก็สนุกสุดแล้ว เป็นช่วงที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างไปกินซันนักจี (หมึกสด) หรือทำอาหารเกาหลีอะไรแบบนั้น”

ริวิวชีวิตการเรียนใน SKY: หินมาก! 

 

“พูดถึงการเรียนที่ SKY ก็หนักหน่วงครับ (หัวเราะ) ตอนปี 1-2 จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป แต่พอปี 3 มีวิชาเลือกเยอะขึ้นก็จะแข่งๆ กัน แล้วที่นี่ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม อย่าง 10 เปอร์เซ็นต์แรกของห้องได้ A 10 เปอร์เซ็นต์ต่อมาได้ B ก็เลยแข่งกันเรียนเพื่อเกรด แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เค้าอยากเรียนต่อโทกัน เลยเรียกว่าแย่งกันเข้าแล็บอาจารย์ดีๆ กันมากกว่า แต่ละแล็บก็จะมี professor 1-2 คน แต่ละคนก็จะถนัดแต่ละสายไปเลย เช่น คนนี้เก่งโปรแกรมมิง คนนี้เก่งทำแลป ทำการทดลองอะไรแบบนั้น”

ส่วนแล็บก็จะเป็นการทดลองโดยใช้โปรแกรม Simulation แบบครึ่งๆ เลย เพราะแล็บนิวเคลียร์อันตราย เค้าเลยจะใช้คอมพิวเตอร์จำลองเอา พื้นฐานการเขียนโค้ดหรือหลักการคำนวณเลยสำคัญมาก ทำให้นักเรียนหรือนักวิจัยสามารถเขียนโปรแกรมที่ไม่ใช่แค่สายนิวเคลียร์อย่างเดียว ตอนเรียนจบเลยมีเพื่อนผมบางคนไปทำงานเกี่ยวกับด้านโค้ดที่ Naver (เว็บ Search engine ของเกาหลี) ก็มี”

สำหรับ Nuclear Engineering ที่ Seoul National University จะแยกเป็น 3 สาย คือ

1. สาย Fission - พูดง่ายๆ ก็คือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปัจจุบัน

2. สาย Plasma & Fusion - เป็นการศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันต่างๆ และเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้อง รวมไปถึงเทคโนโลยีพลาสมาด้วย (สามารถใช้ในการผลิตพวก memory ship หรือ microchip ฯลฯ)

3. สายรังสีวิทยา - ศึกษาเกี่ยวกับรังสี การกำเนิดรังสี การนำรังสีไปใช้ อย่างเช่น รังสี X-Ray 

ผมเรียนสายแรกคือสาย Fission ครับ แต่ว่าตอนทำธีสิสนี่ก็เน้นไปในทาง Energy System มากกว่า ออกแนวเป็นเชิงเศรษฐกิจแต่เชื่อมโยงกับนิวเคลียร์ ไม่ใช่แค่แนววิจัย”

“เรื่องสังคมคนส่วนใหญ่จะคิดว่าคนเกาหลีเห็นแก่ตัว มีเพื่อนนักเรียนทุนที่เรียนที่เดียวกับผมเข้ากับคนเกาหลีไม่ได้เหมือนกัน แต่ผมมองว่าเราเองก็ต้องเข้าหาเค้า เค้าทำอะไรเราก็ไปทำด้วย เค้าชอบทำกิจกรรมอะไรเราก็ไปด้วย ไปกินข้าวด้วยกัน เข้าชมรม ไปเที่ยว เวลาเค้าเห็นเราบ่อยๆ เค้าก็จะช่วยดึงเราเข้ากลุ่มเอง”

วิชาที่มีประโยชน์

 

“ถ้าพูดถึงวิชาที่มีประโยชน์จริงๆ ก็คือ ‘ENG 1’ และ ‘ENG 2’ ครับ 5555 เพราะใช้เขียนอีเมล ทำรีพอร์ตเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาเป็นวิชา ‘International Business’ อันนี้จะเป็นพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ต่างๆ อย่างพวกอุปสงค์ อุปทาน ผมมาประยุกต์ใช้ในงานประจำ ส่วน ‘Introduction Nuclear Engineering’ จะเป็นเรื่องพื้นฐานนิวเคลียร์คืออะไร นิวเคลียร์รีแอคชันมันเกิดขึ้นได้ยังไง ก็คือการที่นิวเคลียสมันแตกตัวแล้วมันเกิดพลังงาน รู้หลักการโรงไฟฟ้า ซึ่งมันตรงกับงานที่ทำตอนนี้ครับ”

“อีกวิชาที่มีประโยชน์ก็คือ ‘Thesis Writing’ คือตอนนั้นเราต้องเสนอหัวข้อให้ professor เค้าก็จะคอยแนะนำ แต่ว่าพอทำงานแล้วมันไม่ได้มีขั้นตอนกำหนดชัดเจน อันนี้ก็เลยช่วยได้มาก อย่างผมเป็นที่ปรึกษาโครงการพลังงานก็ต้องศึกษาระบบพลังงาน ทำยังไงให้มันยั่งยืน ถึงเราจะไม่ได้ทำเกี่ยวกับนิวเคลียร์โดยตรงแต่ว่าพอเรารู้หลักการมันก็เอามาประยุกต์ได้”

แล้วก็ต้องยอมรับเลยว่าการศึกษาบ้านเค้ามันดีจริงๆ  มี facilities ต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกด้านการเรียนเยอะมากก ผมมีโอกาสได้ไปดูงานทัศนศึกษาที่โรงงานผลิตปฏิกรนิวเคลียร์ด้วย เพราะเค้าส่งออกพลังงานนิวเคลียร์ให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วก็ใช้ในประเทศ ก็จะมีพวกอุปกรณ์ของจริงให้เห็นอย่าง Stream Turbine (กังหันไอน้ำ) ที่รับไอน้ำจากตัว reactor เพื่อนำมาผลิตพลังงาน อันนี้ก็เป็นข้อดีของการไปเรียนต่อในประเทศที่เจริญแล้วเหมือนกันครับ”

Stream Turbine (กังหันไอน้ำ)
Stream Turbine (กังหันไอน้ำ)

Culture Shock ในเกาหลี

 

“พูดถึง Culture Shock ต้องจิมจิลบัง (ซาวน่า) เลย เพื่อนเกาหลีชวนไป คือเราก็ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน พอไปถึงเค้าแก้ผ้ากันหมดเลย ตอนนั้นแบบช็อก แล้วก็ตอนที่ไปนู่นมัน 6 ปีที่แล้วอะครับ คือประทับใจพวก Internet shopping, Mobile Banking มันว้าวมาก พวก T-money ใช้บัตรเดียวแตะจ่ายได้ทุกอย่าง ทั้งค่ารถบัส รถไฟ ซื้อของ ไม่มีค่าเปลี่ยนช่องทางการใช้ด้วย ราคาก็ค่อนข้างถูกเทียบกับค่าครองชีพ แถมเติมเงินได้ที่ร้านสะดวกซื้อง่ายๆ ด้วย สะดวกดี”

“เรื่องที่ไม่เข้าใจก็มีเหมือนกัน คือเวลามีแฟชั่นอะไรมาทุกคนจะตามเทรนด์กันหมดเลยโดยไม่ได้นัดหมาย แบบช่วงที่ฮิตเทรนช์โค้ต (โค้ทยาว) ก็ใส่กันแบบนั้นหมดเลย หรือช่วงหน้าหนาวที่ฮิตแพดดิ้งทุกคนก็ใส่แบบนั้นเหมือนกันหมด”

“อีกเรื่องก็คือมหา’ลัยที่เกาหลีสามารถขายเหล้าได้ แม้แต่ในสหกรณ์มหา'ลัยเอง เวลามีงานอะไรก็สามารถเห็นเด็กๆ นั่งดื่มในมหา’ลัยได้โดยไม่ผิดกฏอะไร”

“แล้วก็คนเกาหลีก็มีอยู่บ้างที่พอรู้ว่าเราเป็นชาวต่างชาติก็จะกีดกันหน่อยๆ อย่างถ้าออกไปนอกโซลพอรู้ว่าเราเป็นต่างชาติเค้าก็จะมีรีแอคชัน แต่กับคนรุ่นใหม่หรือในมหา’ลัยจะไม่ค่อยมี บอกได้ว่าไม่ค่อยเจอครับ อย่างเรามีเพื่อนสนิทเป็นคนเกาหลีคนนึง เค้าก็ไนซ์กับเรามาก เอาเราเข้ากลุ่มอะไรแบบนี้”

เรียนหนัก แต่ทำกิจกรรมหนักกว่า! 

 

“ตอนเรียนอยู่ที่นู่นเค้าจะมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ในมอ ผมก็จะไปดูบ่อยๆ เพราะเค้ามีกิจกรรมน่าสนใจมาเรื่อยๆ หรืออย่างใน Kakao กรุ๊ปนักเรียนไทยในเกาหลีก็มีข่าวกิจกรรมน่าสนใจมาบอกทำให้ได้ทำกิจกรรมเยอะแยะ”

“โครงการที่ผมได้เข้าร่วมก็มี ‘Globaljoyber’ ของ Jeju Aiir เป็นโครงการโปรโมตการท่องเที่ยวในเกาหลีโดยมีเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ พอดีผมชอบถ่ายรูปด้วยก็เลยบอกเค้าว่าผมถ่ายรูปได้นะ เค้าก็เลือกเข้าไป แล้วเค้าก็จะให้มิชชันมา ให้งบในการท่องเที่ยว ถ้าจำไม่ผิดเราจะต้องวางแผนทริปเอง บอกเค้าว่าจะไปไหนบ้าง ก็พาไปเที่ยวที่ต่างๆ สถานที่ลับๆ แล้วถ่ายโปรโมตลงในโซเชียล ส่วนใหญ่ผมก็ลงในเฟซครับ บางคนนี่มีบล็อกเลย พอจบโครงการก็ได้ตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยฟรี”

“อีกโครงการนึงเป็นของการท่องเที่ยวเกาหลี ชื่อว่า ‘Wow Korea’ อันนี้ทาร์เก็ตเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมก็ทำโปรโมตทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ของโครงการนี้เค้าจะคิดทริปมาให้ ก็จะได้ไปท่องเที่ยวเกาหลีกับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติในหลายมหา’ลัย ปีนึงไปประมาณ 5-6 ทริปเลย นั่งรถบัสไปกัน ทริปที่ประทับใจที่สุดก็คือที่เชจู ได้ไปดูเทศกาลดอกไม้ไฟ ไปกินหมูดำ ดูภูเขาไปฮาลาซาน ไปโรงคราฟต์เบียร์ ก็ไปจอยๆ กับเค้า ได้เพื่อนเยอะเลย ทั้งคนไทยคนลาว แล้วก็ได้ประสบการณ์ดีๆ แถมเที่ยวฟรีด้วย แค่ทำคอนเทนต์ให้เค้าแลกกัน”

“อีกงานนึงที่ได้ทำก็คือเป็นตัวแทนของชินฮันแบงค์ (ธนาคารของเกาหลี) ครับ อันนี้จะเป็นแนวเหมือนใส่สายสะพายแล้วไปแจกของ 5555 เป็นการแนะนำเซอร์วิสของธนาคารให้นักศึกษาต่างชาติซะเป็นส่วนใหญ่ ก็จะอยู่ในมหา’ลัยเป็นหลัก มีส่วนน้อยที่จะออกไปข้างนอก ถ้าไปก็จะไปในที่ที่ชาวต่างชาติเยอะๆ อย่างมยองดงอะไรแบบนั้น”

ฝากถึงน้องๆ  ที่มีฝัน

 

“ในความคิดผมคือถ้าอยากได้ทุนต้องเตรียมตัวครับ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ต้องหาจุดเด่นตัวเองให้เจอ เช่น ด้านวิชาการ หรือถ้าเป็นแฟนคลับก็ดึงความสามารถออกมาให้ได้ เราทำอะไรได้บ้าง เพราะทางเกาหลีเค้าต้องการโปรโมตฮันรยู (วงการบันเทิงเกาหลี) อยู่แล้ว ก็หาตัวเองให้เจอ ทำการบ้านให้เยอะ บางทีก็มีขอ Recommendation Letter ก็เตรียมตัวให้ดี ทำกิจกรรมและหาประสบการณ์เยอะๆ ครับ”

บอกเลยว่าประสบการณ์ทั้งการเรียนและกิจกรรมนี่แน่นมากจริงๆ ค่ะ สารภาพว่าตอนสัมภาษณ์นี่แอบมีมึนเพราะพี่เอิร์ธให้ข้อมูลการเรียนมาแบบจุกมากๆ (ซึ่งก็บอกไปตรงๆ ว่าสายศิลป์งงมากค่ะ T v T) ส่วนน้องๆ คนไหนที่สนใจทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ หรืออยากเรียนต่อในสาขา Nuclear Engineering  ก็ฝึกสกิลภาษา พร้อมเตรียมพอร์ตไว้ให้ปังๆ แล้วรอสมัครกันปีถัดไปนะคะ ^^ 

 

พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Valentiara Raphaelle Member 2 พ.ย. 63 20:37 น. 1

อยากให้รีวิวชีวิตประจำวันด้วยค่ะ นี่ขนาดเรียนอย่างเดียว ทำงานบ้านนิดๆหน่อยๆ ซ้อมดนตรีกีฬา ก็เต็มเวลาแล้ว นึกสภาพตอนจัดการอาหารการกิน+งานบ้านคนเดียวไม่ได้เลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด