#CongoIsBleeding ตีแผ่ความรุนแรงใน ‘คองโก’ กับปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ข่มขืน และทำร้ายร่างกาย

            สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองหรือเปิดทวิตเตอร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คงจะได้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกต่างพากันติดแฮชแท็ก #CongoIsBleeding เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนชาวคองโก รวมไปถึงแรงงานเด็กที่ถูกกดขี่ข่มเหงและบังคับให้ทำงานหนักภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย และที่น่าสลดใจไปกว่านั้นก็คือเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวดีอาร์คองโกนับล้าน แต่กลับมีสื่อจำนวนน้อยที่ออกมาทำข่าวหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น วันนี้พี่เลยจะขอมาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศคองโก ความรุนแรงครั้งนี้จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ 

The exploitation in the Congolese mines
Photo credit: face2faceafrica.com

           คองโก (Congo) หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกากลางและเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีป โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่นและสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศนี้ก็คือพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งน้ำมัน แร่ธาตุ และโลหะมีค่าหลากหลายชนิด อีกทั้งที่ดินส่วนใหญ่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำคองโกยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุบริสุทธิ์มากมายนับไม่ถ้วน แต่แล้วทำไมประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติเช่นนี้ จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกไปได้?

Joseph Kaliba
Photo credit: aljazeera.com

            ในปี 2019 ที่ผ่านมา ‘Joseph Kaliba’ อดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้ลงจากตำแหน่งหลังจากที่อยู่มายาวนานถึง 18 ปีและให้ ‘Felix Tshisekedi’ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแทน ปัจจุบัน Kaliba ได้ผันตัวมาเป็นหนึ่งในสมาชิกสภา ผู้ซึ่งยังมีอำนาจในการควบคุมรัฐบาลชุดนี้ไม่ต่างจากเดิม 

ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี เขาได้ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเป็นช่องทางในการสร้างกำไรให้ตนเอง อีกทั้งยังเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ประเทศข้างเคียงอย่างประเทศยูกันดาและประเทศรวันดาเข้ามาบุกรุกช่วงชิงพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงวัตถุดิบล้ำค่าอย่างแร่โคบอลต์ (Cobalt) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ที่อยู่ในสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแร่โคลแทน (Coltan) ที่มี Tantalum ไว้สำหรับเก็บประจุทำให้เครื่องเล่นเกมส์หรือ PS4 ของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ซึ่งการกระทำของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ก็เป็นการเอื้อให้บริษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศ แทนที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ และให้การคุ้มครองกับประชาชนชาวคองโกด้วยกันเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วงและเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (UN) เข้ามาช่วยจัดการกับความอยุติธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในคองโก อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไขและฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน

Cobalt mines
Photo credit: Reuters

            ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาน้องๆ หลายคนอาจจะได้เห็นภาพหรือวิดีโอของแรงงานเด็กที่ถูกบังคับให้ทำงานในเหมือนแร่และถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณกันมาบ้าง ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “การใช้แรงงานทาส” ในคองโกที่เกิดขึ้นกับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งชายและหญิง ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งเด็กในวัยเพียงแค่ 4 ปี ผู้คนทั้งหมดนี้ถูกส่งเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะและอันตรายต่างๆ นานา แรงงานเด็กกว่า 40,000 ชีวิตต้องทำงานหนักภายใต้การกดขี่ข่มเหงจากนายจ้าง เพื่อแลกกับค่าแรงเพียง 2 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 65 บาทต่อวันเท่านั้น ถ้าใครไม่ทำก็จะโดนทำร้ายร่างกายหรือไม่ก็ถูกฆ่าทิ้งไปในที่สุด การกระทำนี้ไม่ต่างไปจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลยค่ะ T_T 

Photo credit: United Nations Photo

และแน่นอนว่ารายได้มหาศาลจากการส่งออกแร่ธาตุไปยังบริษัทและธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในแถบยุโรปและอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในเครือ Samsung, Apple, Microsoft, หรือ Elon musk ก็ตกอยู่ในมือของรัฐบาลและนายทุนจนหมดสิ้น ส่วนแรงงานก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนักต่อไปโดยไม่ได้รับการคุ้มครองอะไรเลย เรียกว่าเอาเปรียบกันแบบขั้นสุด

Photo credit: United Nations Photos

            นอกจากประเด็นเรื่องการใช้แรงงานทาสที่เป็นเด็กและเยาวชนแล้ว หญิงสาวชาวคองโกยังต้องเผชิญกับ “ความโหดร้ายจากการกดขี่ข่มเหงของสมาชิกเพศชาย” โดยในแต่ละวันจะมีผู้หญิงถูกข่มขืนมากถึง 48 คนต่อชั่วโมง ซึ่งหญิงสาวเหล่านี้ก็มีทั้งคนที่เป็นชาวคองโกโดยกำเนิดและคนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งมาช่วยรักษาและจัดการกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ที่กลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้อีกด้วย 

ผู้หญิงเหล่านี้ถูกขืนใจจนกระทั่งตั้งครรภ์หรือติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับไปด้วย และแม้ว่าทางองค์การสหประชาชาติ (UN) จะรับรู้เรื่องราวและพยายามให้การคุ้มครองดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่โหดร้ายทารุณนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการจับกุมหรือนำตัวผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษสักครั้ง นับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจและไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้นเลยค่ะ T T

Eastern Lowland Gorilla
Eastern Lowland Gorilla
Photo credit: worldwildlife.org

นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้หรือสัตว์ป่าต่างก็ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ไปด้วย ซึ่งจากรายงานผลการสำรวจประชากรกอริลล่า Grauer’s หรือ Eastern Lowland Gorilla ก็ได้พบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัตว์ชนิดนี้มีประชากรลดลงจาก 17,000 ตัวเหลือเพียง 3,800 ตัวเท่านั้น ซึ่งภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดก็คือ “การทำเหมืองแร่โคลแทนในท้องถิ่นแบบผิดกฎหมาย” นั่นเอง

เพราะนอกจากการเปลี่ยนพื้นที่ป่ามาเป็นเหมืองแร่จะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของกอริลล่ารวมไปถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นแล้ว สัตว์เหล่านี้ยังถูกล่าเพื่อเป็นอาหารให้แก่คนงานและอวัยวะต่างๆ ของพวกมันก็ยังถูกนำไปจำหน่ายในตลาดมืดอีกด้วย ซึ่งถ้านักอนุรักษ์คนไหนกล้าหาญมากพอที่จะเข้าไปต่อต้านหรือปกป้องกอริลล่าไม่ให้สูญพันธุ์แล้วล่ะก็ พวกเขาจะถูกทำให้สูญหายไปในพริบตาเลยล่ะค่ะ เรียกว่าจัดการทิ้งหมดทั้งคนและสัตว์!

Gorillas in Congo
Photo credit: National Geographic Magazine

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคองโกขณะนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงและไร้ซึ่งมนุษยธรรมเอามากๆ นอกจากที่รัฐบาลจะหาประโยชน์จากความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจของประชาชนแล้ว ยังไม่ให้ความช่วยเหลือหรือการคุ้มครองใดๆ เพื่อเป็นการตอบแทนความยากลำบากเหล่านี้อีกด้วย และถึงแม้ว่าเราในฐานะผู้บริโภคก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้แบบไม่รู้ตัว และคงเป็นเรื่องยากที่จะเลิกใช้สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตได้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถร่วมติดแฮชแท็ก #CongoIsBleeding หรือ #congogenocide เพื่อเรียกร้องความชอบธรรมและความยุติธรรมให้กับประชาชนชาวคองโกได้นะคะ 

 Sources:https://www.ssozinha.com/post/whatshappeningincongohttps://face2faceafrica.com/article/congoisbleeding-new-hashtag-draws-attention-to-deadly-exploitation-in-congolese-mines 

 

พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น