รีวิวเรียน / กิจกรรม / ทำงานบริษัทไต้หวัน โดยเด็กทุน MOE เรียนต่อป.ตรีวิศวะอินเตอร์ที่ NTUST

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกวันนี้มีนักเรียนไทยหลายคนเริ่มหันมาปักหมุดเตรียมเรียนต่อไต้หวันกันเยอะมากขึ้น เพราะกิตติศัพท์ความดีงามเรื่องวัฒนธรรม ที่เที่ยว ระบบการจัดการ การศึกษา ความปลอดภัย รวมถึงเป็นอีกทางเลือกน่าสนใจของคนอยากซึมซับภาษาจีน และหนึ่งในโอกาสดีๆ ที่ช่วยสานฝันได้ก็คือ “ทุนรัฐบาลไต้หวัน” (MOE Taiwan Scholarship)  ที่จัดเต็มให้ทั้งค่าเทอม ค่าใช้จ่ายรายเดือน แถมเรียนจบไม่ต้องใช้ทุนด้วย!

ศึกษาการรับสมัครรอบล่าสุด (หมดเขตแล้ว)

วันนี้เรามีรีวิวเน้นๆ จากความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวของ  ‘แนนซีส์’  มนัสนันท์ ศรีอมรธรรม หนึ่งในนักเรียนทุนรัฐบาลไต้หวัน ป.ตรี ไม่กี่คน ตอนนี้กำลังเรียนปี 3 สาขาวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล  (Mechanical Engineering) ที่  National Taiwan University of Science and Technology (NTUST หรือ Taiwan Tech)  คุณภาพติด 1 ใน 5 ของไต้หวันจากการจัดอันดับของ QS World Ranking และ Times Higher Education (THE) World University Rankings รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยเทคนิคอันดับ 1 ของไต้หวัน และแห่งเดียวในไทเปที่เปิดสอนสาขานี้ระดับ ป.ตรี เป็นภาษาอังกฤษ!

บทสัมภาษณ์นี้เล่าครบทั้งการเรียน กิจกรรม เทรนนิ่ง การทำงานที่บริษัทไต้หวัน และมาตรการการรับมือช่วงโควิดที่อุ่นใจแม้มหาวิทยาลัยจะไม่ได้ปรับเป็นเรียนออนไลน์ ปิดท้ายด้วยการขอทุนสำหรับน้องๆ ที่สนใจด้วยนะคะ ^^

เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องทุน MOE และการศึกษาต่อไต้หวันที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องทุน MOE และการศึกษาต่อไต้หวันที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

.......................

อัปเดตข่าวคราวช่วงโควิดกันก่อน

 

 “ตั้งแต่มีโควิด NTUST ยังให้เรียนตามปกติโดยไม่ได้ปรับมาเป็นออนไลน์ แต่ก็รู้สึกปลอดภัยอยู่ดีเพราะการจัดการของทั้งไต้หวันและทางมหาวิทยาลัยดีมากๆ ทุกคนก็มีวินัย ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัดค่ะ"

ยกตัวอย่างมาตรการของไต้หวัน

  • ถ้าไม่สวมหน้ากากอนามัย จะไม่สามารถเข้าร้านค้าหรือใช้บริการรถขนส่งสาธารณะได้ (เช่น รถเมล์, MRT) เวลาเข้าห้างจะมีกล้อง Thermoscan และมีวางเจลแอลกอฮอล์ไว้ทุกจุด
  • หน้ากากอนามัยจะมีขายที่ร้ายขายยาทุกร้าน โดยช่วงที่ทั่วโลกขาดแคลนหน้ากากอนามัยอยู่นั้น รัฐบาลจำกัดให้ซื้อได้แค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง/คน ครั้งละ 3 ชิ้น เวลาซื้อมีการแสดงบัตรประกันสุขภาพทำให้คนไม่สามารถแย่งกักตุนหน้ากากอนามัยได้เพราะมีบันทึกข้อมูลออนไลน์ไว้ หรือถ้าใครไม่มีเวลาต่อคิว จะซื้อทางออนไลน์ก็ได้เหมือนกัน ต่อมาค่อยๆปรับเป็น 2 สัปดาห์/ครั้ง/คน ครั้งละ 9 แผ่น (แต่ปัจจุบันซื้อได้ทุกที่ ตลอดเวลาไม่มีจำกัด)
  • หากมีไข้สามารถพบแพทย์ได้ทันที และรักษาฟรีด้วย
  • สถานที่กักตัวคือโรงแรมเกรดดี มีห้องนอนห้องน้ำส่วนตัว มีเจ้าหน้าที่ส่งอาหารให้ถึงตึก
  • เมื่อตรวจพบการติดเชื้อ ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนทันทีทางโซเชียลและอีเมลจากสถานศึกษาหรือบริษัท โดยชี้แจงละเอียดว่าจุดใดเป็นพื้นที้เสี่ยงบ้าง

ยกตัวอย่างมาตรการในมหาวิทยาลัย

  • มหาวิทยาลัยปิดทางเข้าเหลือแค่ 1 ประตู นักศึกษาต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย กดเจลล้างมือ หากมีไข้ต้องไปกักตัวจนแน่ใจว่าปลอดภัย
  • ที่นั่งในโรงอาหารจะมีกระจกกั้นกันการแพร่เชื้อจากการคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร
  • มีการตรวจสอบเอกสารของนักศึกษาต่างชาติอย่างรัดกุมว่าอยู่กลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางไป-กลับประเทศตนเองเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  • ใส่หน้ากากอนามัยขณะเรียนในห้องเรียน
  • วางเจลแอลกอฮอล์หน้าลิฟต์ทุกชั้น
  • มีรายละเอียดการป้องกันอื่นๆ อีกเยอะมากๆ (*สามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ทางการมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ของทางมหาวิทยาลัยและของทางรัฐบาลไต้หวันได้ค่ะ)
ก่อน เข้าตึก ต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล แล้วค่อยแสกน อุณหภูมิ
ก่อน เข้าตึก ต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล แล้วค่อยแสกน อุณหภูมิ
เครื่องวัดอุณหภูมิแต่ละอาคารจะแตกต่างกัน บางที่คนเยอะก็แค่เดินผ่านแล้วสแกนได้ บางที่เป็นแบบ manual หรือบางที่ก็เป็นแบบในภาพ
เครื่องวัดอุณหภูมิแต่ละอาคารจะแตกต่างกัน บางที่คนเยอะก็แค่เดินผ่านแล้วสแกนได้ บางที่เป็นแบบ manual หรือบางที่ก็เป็นแบบในภาพ 

รีวิวสิ่งที่เด็กเครื่องกลต้องเจอ
(ภาษา, หลักสูตร, เกรด  ฯลฯ)

ภาษาที่ใช้เรียน

วิศวะอินเตอร์เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่มีวิชาภาษาจีนที่บังคับให้เรียนอย่างน้อย 6 หน่วยกิตภายใน 4 ปี เริ่มตอนไหนก็ได้ อย่างเราเองไม่มีพื้นฐานก็เลยเริ่มลงที่จีนเลเวล 1 เรียนสัปดาห์ละครั้ง คาบละ 2.5 ชั่วโมง ปูพื้นฐานตั้งแต่ตัวอักษร แนะนำตัว ประโยคพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ฯลฯ แต่ถ้ามีพื้นฐานก็สามารถสอบวัดระดับเพื่อไปลงคลาสสูงกว่าที่เหมาะกับตัวเองได้

Note: คนไต้หวันใช้ภาษาจีนกลาง และใช้อักษรจีนตัวเต็ม ส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษได้แม้ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว

การให้เกรด

ช่วงคะแนน 80-84 = A- (เกรด 3.7) / 85-89 = A (4) / 90-100 = A+ (4.3)  . . . . แต่อาจารย์จะไม่แจก A+ ง่ายๆ เราต้องทำให้ดีเกินความคาดหมายของอาจารย์ ทั้งคะแนนสอบ, การมีส่วนร่วมในคลาส, และการบ้าน(ที่ยากมาก)

สิ่งที่ต้องทำก่อนจบ (*เลือก)

  1. Work in a lab ทำงานในแล็บกับ Professor ทำการทดลอง เขียนวิจัยและทำรายงาน เป็นเวลา 1 ปี
  2. Internship ต้องฝึกงานเป็น Full-time เป็นเวลา 1 เทอม ซึ่งมหาวิทยาลัยมี co กับบริษัทต่างๆมากมาย เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานค่ะ

วิชาเรียน

ตอนปี 1-2 มีวิชาบังคับปีละ 6-7 ตัว เวลาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นทั้งเช้าและบ่าย ถ้าไม่รวมวิชาเลือกก็จะเลิกไม่ดึกมาก ประมาณบ่าย 3-4  ทำให้มีเวลาพักผ่อนเต็มที่ (แต่ถ้ามีวิชาเลือกอาจจะเลิกดึก)  พอขึ้นปี 3 จะเป็นวิชาต่อยอดจากวิชาตอนปี 2  //ยอมรับว่าเหนื่อยจริง แต่เพื่อนก็ให้ความร่วมมือทำงานกลุ่มดี และอาจารย์คอยช่วยเหลือตลอดค่ะ ถ้าเรียนไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์ได้ อาจารย์จะช่วยเหลือเต็มที่ค่ะ

ปี 1 

  • เรียนพื้นฐานทั่วไป เช่น แคลคูลัส ฟิสิกส์ แล็บฟิสิกส์ เคมี แล็บเคมี ฯลฯ  เนื้อหาและหัวข้อของวิชาพื้นฐานจะคล้าย ม.ปลาย แต่ซับซ้อนและลงลึกกว่า และส่วนใหญ่เรียนเป็นภาคทฤษฎี ส่วนตัวคิดว่าที่เหนื่อยสุดคือแล็บค่ะ เพราะต้องเข้าแล็บสัปดาห์ละ 3 ชม. แล้วต้องเขียนรายงานทุกอาทิตย์ เป็นรายงานการทดลองทั้งก่อนและหลังทำแล็บ
  • นักศึกษาปี 1 ต้องเจอวิชาบังคับทั่วไป เช่น วิชา Gender, Technology and Globalization (จะมีปรับเปลี่ยนวิชาบ้างในบางปี) เรียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลกตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน และบทบาทของผู้หญิงที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
  • มีวิชาแนะแนวเพื่อปูทางเพื่อเลือกสาขาตอนปี 2 ว่ามีอะไรบ้าง จบไปทำงานประมาณไหน มีพาไปดูแล็บ แต่อย่างเราก็มั่นใจตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอยู่แล้วว่าวิศวะเครื่องกลตอบโจทย์

ปี 2

“จะเริ่มมีเข้าแล็บแบบ Hands On มากขึ้น สัปดาห์ละ 3 ชม. เวลาจะทำสัก 1 งานต้องใช้เครื่องจักรหลายเครื่อง มีการคำนวณเพื่อให้ตัดวัสดุออกมาเป็นรูปร่างได้พอดี เช่น เราทำโมเดลรูปปืนใหญ่ เขาจะให้มาเป็นแผ่นอะลูมีเนียมใหญ่ๆ เราก็ต้องมาเจาะ/ตัดให้เป็นทรง ซึ่งโมเดลเองจะมีมีทั้งส่วนปืน, ตัว, ล้อ, ฐาน ฯลฯ แต่ละส่วนต้องใช้เครื่องจักรต่างกัน เรากับเพื่อนในกลุ่มก็แบ่งงานกันรับผิดชอบ”

“เครื่องจักรถูกออกแบบมาให้ไม่เกินกำลังของคนทุกเพศ มีทั้งระบบออโต้ หรือต่อให้บางประเภทไม่มีก็ไม่ได้ใช้แรงเยอะขนาดนั้น มีแค่ทนความร้อนบ้าง ส่วนเรื่องความปลอดภัยเขาเน้นเป็นอันดับแรกค่ะ ก่อนสั่งงานเขาจะสอนและให้ลองใช้เครื่องจักรก่อนว่าต้องจับตรงไหนหมุนตรงไหน แล้วเราต้องมีพื้นฐาน Lab Safety และสวมแว่นเซฟตี้ทุกครั้ง ข้างในห้องแล็บจะไม่มีพัดลม แต่เปิดประตูให้มีลมเย็นๆ พัดเข้ามาแทน”

"ส่วนจำนวนวิชาเลกเชอร์ที่ต้องเรียนก็จะพอๆกับปี 1 แต่เนื้อหาของแต่ละวิชาเจาะลึกและยากกว่าเดิม แล้วก็เป็นเรื่องใหม่ๆที่เราไม่เคยเรียนมาก่อนสมัยมัธยม วิชาที่ท้าทายที่สุดในปี 2 ก็จะมี Thermodynamic กับ Manufacturing Production Process ค่ะ และสำหรับเราวิชาที่เรียนสนุกที่สุดคือ Graphics”

และเพื่อให้เห็นภาพ
เรามาดูตัวอย่างวิชาเรียนกัน!

Thermodynamic 

“วิชานี้เด็กวิศวะเคมีก็ต้องเจอเหมือนกัน และขึ้นชื่อเรื่องความยากอยู่แล้วในทุกที่ 55555 วิชานี้จะเรียนพวกเรื่องความร้อน อุณหภูมิ พลังงาน ถ้าในมุมของสาขาเครื่องกลจะเป็นในเครื่องจักร ตอนขับรถยนต์กับเครื่องบิน พื้นฐานของวิชานี้คือความรู้ทางคณิตศาสตร์ แคลคูลัส ฟิสิกส์ แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง อีกเกินครึ่งที่เจอคือเรื่องใหม่ ยากขึ้นจากปีแรกพอสมควร”

Manufacturing Process 

"เรียนการผลิตของทุกอย่างบนโลกนี้ เช่น มือถือ เก้าอี้ คอนแทคเลนส์ ฯลฯ รวมถึงเครื่องมือที่ต้องใช้ในวิชา Mechanical Lab ด้วย มองเผินๆ ก็น่าสนุกแต่เนื้อหาเยอะแบบโหดสุดๆ แค่สอบมิดเทอมก็ออกสอบไป 24 บท และทุกคำถาม เราก็ต้องมาอธิบายให้ละเอียดทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ รวมถึงวาดรูปทุกขั้นตอน (ไม่ต้องวาดสวยแต่ต้องสื่อให้เข้าใจ) "

"นอกจากนี้ต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมใช้วิธีนี้แทนที่จะเป็นอีกวิธีนึง จุดประสงค์ของ Prof. คืออยากให้ฝึกคิด เชิงวิเคราะห์มากกว่า //เคยคุยกับรุ่นพี่ภาคเครื่องกล เขาก็บอกว่าวิชานี้เป็นตัวเป้งเหมือนกัน 55555"

Graphic 

"เรียนวิชาวาดรูปแต่ไม่ใช่ในเชิงศิลปะ ระยะเวลาคาบละ 4 ชม. อาจจะดูเหมือนใช้เวลานาน แต่สนุกมากค่ะ เราจะได้ฝึกวาดชิ้นส่วนต่างๆรวมถึงเครื่องจักร ทั้งแบบวาดมือและวาดบนคอมฯ ทั้งแบบ 2 มิติและ 3 มิติ”

“มีสอนมาตรฐานว่าไม่ควรใส่ข้อมูลเยอะเกินไป แต่ข้อมูลสำคัญๆ ต้องครบ ยกตัวอย่างเช่น ‘โต๊ะ’ ส่วนสูงจะมีผลต่อขาของคนตอนที่นั่งลง ถ้าไม่สมดุลอาจนั่งไม่สบายได้ แต่ด้านยาวของโต๊ะก็อาจไม่ได้ส่งผลเท่ากับความสูงค่ะ ซึ่งนี่ก็คืออีกสิ่งที่เราต้องฝึกคิด รวมถึงเราเรียนถึงขั้น ‘หัวน็อต’ มันมีหลายประเภทหลายขนาด ใช้งานต่างกัน และมีชื่อเรียกของตัวเองหมด เวลาวาดต้องระบุด้วยว่าเป็นน็อตประเภทไหน"

ตัวอย่างเริ่มต้นบางชิ้นงาน ของ Nancy ในวิชา Graphics
ตัวอย่างเริ่มต้นบางชิ้นงาน ของ Nancy ในวิชา Graphics
ศึกษาโครงสร้างหลักสูตร

National Taiwan University Triangle

“เป็นการร่วมมือกันของ 3 มหาลัย ได้แก่ National Taiwan University, National Taiwan University of Science and Technology และ National Taiwan Normal University ซึ่งเป็นมหาลัยรัฐบาลที่อยู่ในระแวกใกล้ๆกัน ให้นักศึกษาของทั้ง 3 มหาลัยสามารถลงวิชาข้ามมหาลัยกันได้ รวมถึงสามารถให้ห้องสมุดและยืมหนังสือข้ามมหาลัยกันได้ด้วยค่ะ”

"พอดีมีเวลาได้ไปลงวิชาเรียนใน NTU มาค่ะ วิชาชื่อ Business Oral Communication อาจารย์สอนดี และสนุกมาก ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เจอเพื่อนใหม่ต่างมหาวิทยาลัย ได้ไปเปิดหูเปิดตาเรียนในห้องเรียนของต่างมหาวิทยาลัย และก็ได้พักสมองจากวิชาทางสาขาวิศวะ (Hard skills มาเป็น Soft skills) บ้างค่ะ 55555"

Class Business Oral Communication ที่ NTU
Class Business Oral Communication ที่ NTU

สังคม

"ด้วยความที่เป็นหลักสูตรต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอินเตอร์แทบทั้งหมด มีทั้งโซนเอเชียด้วยกัน และจากประเทศไกลๆ บ้านเราอย่างเช่นแถบอเมริกาใต้ฯ พวกเขา nice และ open-minded มากค่ะ แล้วการที่เรามาอยู่กับเด็กอินเตอร์ด้วยกันมันอุ่นใจมาก  เพราะเราต้องเจอเรื่องใหม่ๆพร้อมกันแล้วค่อยๆ พยุงกันไป เช่น การไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร การซื้อซิมมือถือ ฯลฯ ตอนเรียนก็คลาสเล็กมีแค่ 25 คนเอง ทุกคนสนิทกันดี และรู้จักกันหมด แต่ละวันเราได้ฟังความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดจากมุมมองของคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม แล้วยังได้ความรู้ใหม่ตลอดเวลาด้วย เราได้รู้ว่าต่างชาติเขามีนวัตกรรมอะไรบ้างที่ต่างจากไทย"

"อย่างเช่นในไต้หวัน การขึ้นและลงรถเมล์เรานิยมใช้แตะบัตรกันมากกว่าการหยอดเหรียญ และจากการพูดคุยกับเพื่อนชาวอินโดนีเซีย เวียดนาม และเพื่อนจากอเมริกาใต้ ทำให้หนูรู้ว่า อินโดนีเซีย  ณ ปัจจุบันยังไม่มี 7-Eleven มีแต่ร้านค้าสะดวกซื้อของเขาเอง เช่น อินโดมาร์ท ส่วนเวียดนามก็มี 7-Eleven แต่น้อยมากๆ ในบางพื้นที่ก็จะไม่มีเลย และประเทศทางโซนอเมริกาใต้ ก็ยังไม่มีร้านชาบู พวกเขาประหลาดใจมากในครั้งแรกที่เห็นคนจุ่มเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัวแผ่นบางๆ ลงในหม้อ ฯลฯ"

.......................

เปิดตารางชีวิตสุดแน่น
เก็บประสบการณ์ทั้งงาน & กิจกรรม

ทำงาน Part-time  กับบริษัทไต้หวัน
ด้าน Information Science

"จริงๆก่อนหน้านั้นก็มีทำงานมาหลายอย่างค่ะ เช่น ทำงานที่มหาวิทยาลัย, งานอัดเสียงภาษาไทย, และงาน Language Exchange Club แต่เพราะว่าอาทิตย์นึงมีงานให้ทำแค่ไม่กี่ชั่วโมง ไม่ก็เป็นงานระยะสั้น เลยคอยหางานไปเรื่อยๆ เป็นการหาประสบการณ์ และจะได้มีเงินเก็บไว้ยามฉุกเฉิน"

"ช่วงขึ้นปี 2 ก็ได้ไปทำงานบริษัท Startup เกี่ยวกับโฆษณาออนไลน์ บริษัทมีลูกค้าจากหลายชาติทั่วโลก รวมถึงลูกค้าเป็นบริษัทจากประเทศไทยด้วย เขาก็เลยมองหาคนไทยที่จะมาช่วยจัดการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นภาษาไทย พอเข้าไปทำงาน ถึงได้เจอคนไต้หวันและชาวต่างชาติที่เขารับมาเพื่อวิเคราะห์เป็นภาษาของประเทศตัวเองเหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย เวียดนาม ฮ่องกง ฯลฯ"

"ช่วงนั้นเรียนหนักมากกกแต่ไม่อยากทิ้งโอกาสนี้ไป ก็เลยแบ่งเวลาคือเรียนตอนเช้า แล้วนั่งรถเมล์ไปทำงานที่บริษัทต่อตอนบ่ายจนถึงดึก เวลาทำงานของบริษัทยืดหยุ่นมากค่ะ (flexible hours) จะเลือกเข้าสายเลิกดึกก็ได้ คนส่วนใหญ่ก็จะเข้า 10 โมง เลิก 1 ทุ่ม สิ่งที่เขาโฟกัสคือผลของงานมากกว่า ส่วนเราจะเรียนตอนเช้าที่มหาวิทยาลัยก่อน แล้วเข้าบริษัทประมาณ 11 โมง แล้วเลิก 3 ทุ่มค่ะ"

"เนื้อหางานซับซ้อนและมากพอสมควร แต่ละแผนกเขาจะมีตั้ง Goals ว่าใน Quarter (3 เดือน) เราบรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง สนุกค่ะ ได้เรียนรู้อะไรเยอะ ถือเป็นประสบการณ์ทำงานที่ดีมากๆเลย ทีมงานน่ารัก หัวหน้างานก็คอยให้คำแนะนำดีมาก ตลอดถึงเพื่อนรวมงานก็คอย Support กันดีตลอดค่ะ”  

"เรตค่าจ้างขั้นต่ำที่ไต้หวันประมาณชั่วโมงละ 160 Taiwan Dollar (TWD) หรือประมาณ 169 บาท (อัปเดต ม.ค.2564) แต่งานที่เราทำจะได้สูงกว่าขั้นต่ำ รวมถึงบรรยากาศการทำงานที่ดีมาก มีโต๊ะทำงานส่วนตัว เห็นวิวสวย บริษัทจะมีมุมของว่าง ผลไม้และเครื่องดื่มร้อนเย็น หลากหลายชนิดให้พนักงานบริการตัวเองได้ฟรี (Self service) และทุกๆเย็นวันศุกร์หัวหน้ายังมีสั่งขนมพิเศษๆมาทานกับพนักงานเพิ่มอีกด้วยค่ะ ^_^"

Training กับบริษัทไต้หวัน

"เรามีโอกาสเข้าไปฝึกงานกับบริษัท TM Robot (Techman) ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัยค่ะ เทรนโดยใช้ภาษาอังกฤษ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ วันละ 8 ชั่วโมง 

  • สัปดาห์ที่ 1-2  ทางบริษัทจะสอนและให้เราฝึกลองใช้หุ่นยนต์ของเขาก่อน
  • สัปดาห์ที่ 3  เขาจะจัดกลุ่มนักศึกษาไต้หวันและต่างชาติมาทำงานร่วมกัน กลุ่มอื่นได้โจทย์ เช่น ให้หุ่นคัดคุณภาพแบตเตอรี่ หรือทำ free demo ให้ผู้เข้าร่วมงานกดเล่น ส่วนกลุ่มเราเจอแจ็กพ็อตได้หัวข้อยากสุด

โจทย์ที่ให้มาคือให้ทำ Lucky Draw ซึ่งเราต้องออกแบบเองและหาวิธีทำเอง โดยสุดท้ายทางกลุ่มก็ออกแบบมาเป็นให้ลูกค้าหยิบการ์ด 1 ใบแล้วไปวางตรงไหนก็ได้ใน Area ที่กำหนด เพื่อให้หุ่นสแกนว่าการ์ดอยู่ไหนแล้วเป็นเบอร์อะไร ซึ่งลูกค้าที่จับได้แต่ละเบอร์จะได้รับของขวัญไม่เหมือนกัน 

 

หลังจากสแกนแล้วหุ่นจะต้องขยับไปหยิบของขวัญที่กระจัดกระจายอยู่ในกล่องใหญ่ๆ โดยต้องสแกนให้ออกว่าต้องหยิบชิ้นไหน โดยที่ของขวัญทุกชิ้นต้องไม่เสียหายและตัวหุ่นต้องไม่ชนกับกล่องค่ะ ถ้าเสี่ยงที่ตัวหุ่นจะชนกับกล่อง ตัวหุ่นต้องเปลี่ยนองศาในการหยิบของขวัญเอง แล้วสุดท้ายพอหุ่นหยิบของขวัญได้แล้ว หุ่นจะนำของขวัญมายื่นให้ลูกค้ากับมือเองค่ะ

ปล. บริษัทจะมีโปรแกรมมาให้ เราต้องศึกษาและใช้ฟังก์ชันต่างๆ เพื่อทำโจทย์นี้ให้สำเร็จ 

"สมาชิกกลุ่มเรามี 9 คน และแบ่งกันรับผิดชอบส่วนที่ตัวเองถนัด มีเวลาให้ 1 สัปดาห์ วันละ 8 ชั่วโมง และมีเวลาพักหายใจทำ report ด้วย ขอบคุณทุกคนในทีมที่คอย support  กันและกันตลอดมา สุดท้ายพวกเราก็ทำสำเร็จแถมคว้ารางวัลชนะเลิศมาด้วย!  แล้วหลังจบการเทรนนี้ เราจะได้รับใบ Certificate รับรองว่า Training Course นี้สามารถประยุกต์เข้ากับทุกสาขาในทุกประเทศของบริษัทนี้ได้ค่ะ"

Youth Leader Camp

"เรามีโอกาสได้ไปเป็น Youth Leader Camp ของมหาวิทยาลัยจัดโดย Office of International Affairs ภายใต้ธีม Smart Technologies & Sustainable Energy ตอนสมัครต้องส่งวิดีโอแนะนำตัว 2 นาทีให้เขาพิจารณา หน้าที่หลักคือช่วยแนะนำให้น้องในค่ายรู้จักแต่ละคณะ อารมณ์เหมือน Open House ความท้าทายคือน้องๆ ในค่ายมี 40 กว่าคน แต่สตาฟมีไม่เยอะ เราต้องดูแลให้ทั่วถึง สมมติช่วงที่พาเดินชมคณะทุกคณะ (มีเยอะ) ก็อาจจะมีน้องบางคนหลุดโฟกัสบ้าง เราก็ต้องเดินไปชวนคุยเพื่อดึงความสนใจเขากลับมา"

"แล้วจะมีพาร์ตเลกเชอร์ที่เชิญอาจารย์ใน NTUST มาพูด โดยไม่ลงเนื้อหาเจาะลึกเกินไป เช่น เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่, การสร้างตึกรูปแบบใหม่ที่เซฟแผ่นดินไหวมากว่าเดิม, ความสัมพันธ์ของภาษากับเทคโนโลยี เช่น การทำ Chatbox, Translate, Online Learning, e-Commerce, etc. หรือถ้าเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม เขาก็อาจให้น้องๆ ทำกิจกรรมลองดีไซน์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมา"

"พอจบค่ายเลกเชอร์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะมีพาไปเที่ยวจังหวัดฮวาเหลียน (花蓮縣) ด้วยนะคะ เราได้ไปดูมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในไต้หวันอย่าง National Dong Hwa University เพราะเขามี co กับ NTUST เลยได้นอนพักที่ Guesthouse ของเขา ได้พายเรือคายัค ล่องเรือดูโลมา เที่ยวชมชีวิตพื้นเมืองของชาวไต้หวัน เรียนเรื่องธรรมชาติเบื้องต้น เพราะมหาวิทยาลัยนี้โดดเด่นเรื่องต้นไม้พืชพรรณ"

Digital Learning Companion Project

            “ส่วนอันนี้จะเป็นโครงการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนมัธยมต้นในต่างจังหวัดของไต้หวัน ส่วนมากจะเป็นจังหวัดตอนใต้ โดยจะเป็นการสอนออนไลน์เพื่อสนับสนุน Distance Learning ทุกอาทิตย์เป็นเวลา 10 สัปดาห์ค่ะ โดยโครงการนี้จะรับสมัครทุกเทอม แล้วช่วงปิดเทอมมหาวิทยาลัยจะมี Field Trip พาเราไปเที่ยวที่บางโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งเราอาจจะโชคดีได้เจอน้องที่เราสอนด้วยค่ะ”

ลงประกวดนักเรียนดีเด่น Outstanding Youth Selection

"เป็นการประกวดของมหาวิทยาลัย ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเรียนที่ NTUST มาแล้วอย่างน้อย 1 ปี การประกวดนี้ถือว่าไม่ง่ายเลยค่ะ เพราะนักศึกษาทั้ง ป.ตรี-เอก สามารถสมัครได้หมด เห็นได้ว่าพี่ๆ ที่ลงแข่งแต่ละคนประสบการณ์ยาวนานและแน่นกว่าเรามากกก ซึ่งพอเราขึ้นปี 2 มีสิทธิ์สมัครก็เลยลองสมัครเล่นๆหาประสบการณ์ โดยกรรมการจะพิจารณาจากการแข่งขันทางวิชาการ, กิจกรรมช่วยเหลือสังคม, หรือนำชื่อเสียงมาสู่สถาบันการศึกษา (จะเน้นทุกอย่างในไต้หวันเป็นหลัก) สมมติฝั่งวิศวะจะมีสาขาเคมี เครื่องกล โยธา ฯลฯ แต่ละสาขาต้องส่งเข้าประกวดได้ 1 คน แต่ถ้าบางสาขามีคนเยอะมากหลายร้อยคนก็จะส่งได้มากกว่า 1 คน”

"ส่วนเราก็นำเสนอสิ่งที่เคยทำ ส่วนใหญ่เป็นแนวช่วยเหลือสังคม (Community Service) ตั้งแต่สมัยอยู่ที่ไทยและที่ไต้หวัน ซึ่งมีบางส่วนก็เคยนำเสนอเว็บไซต์ Dek-D ไปก่อนหน้านั้นบ้าง // Community Service ที่ไต้หวันของเราจะน้อยกว่าพี่ๆ ทุกคน เพราะเพิ่งมาอยู่ได้ครบปีเดียว”

“ถ้าทางสาขาคัดเลือกที่จะส่งเราไปแข่งกับสาขาอื่น เราจะได้ Certificate of Excellence มาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ต้องไปสัมภาษณ์กับทางคณะ ถ้าสุดท้ายเขาเลือกเราให้ไปแข่งกับคณะอื่นต่อ เราก็จะได้รางวัลเป็นโล่ไม้สลัก Outstanding Youth Award มา”

ความรู้สึก 3 ปีที่ผ่านมา
กับสิ่งที่พัฒนาจนรู้สึกได้

"ปกติตารางเรียนจะถูกออกแบบมาให้เรียนอย่างเดียว ดังนั้นการเรียนพร้อมทำงานไปด้วยก็จะทำให้เหนื่อยเพิ่มขึ้นไปอีก ต้องเมเนจเวลาดีๆ ซึ่งจากที่เราพูดคุยกับคนไต้หวันและนักเรียนต่างชาติ ส่วนใหญ่เขาก็จะทำงาน part-time กัน อาจเพื่อหารายได้และประสบการณ์ เพราะการทำงานไม่ใช่แค่สอนให้เรารู้ค่าของเงิน แต่ยังเป็นโอกาสฝึกทักษะทีมเวิร์ก การเป็นผู้นำ-ผู้ตาม การปรับตัวการแก้ปัญหาที่ประดังเข้ามา"

"ชีวิตนักเรียนต่างชาติที่นี่และทุกที่จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ  ขนาดเป็นคณะกับมหาวิทยาลัยที่ใช่ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเจอวิชาที่ชอบ 100% อาจมีที่ไม่ชอบหลงเข้ามา ต้องเปิดใจ ตั้งสติ คิดบวก พร้อมทุ่มเท และปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ไม่ชอบด้วยค่ะ"

"เรื่องที่พัฒนาขึ้นมาจนรู้สึกได้เลยคือก่อนมาไต้หวัน เราต้องพึ่งพาคนอื่นเยอะ แต่ทุกวันนี้รู้สึกตัวเองโตขึ้น รับผิดชอบตัวเองได้ในระดับที่ครอบครัววางใจ (feedback จากครอบครัวและคนรอบข้าง) ทั้งมุมมองความคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การบริหาร การวางแผนชีวิตก็เปลี่ยนไปพอสมควร  เป็นระบบมากขึ้น แล้วตัวเองก็แกร่งและอึดมากขึ้นด้วย เรื่องภาษาเองก็เหมือนกัน เราพยายามเรียนจนภาษาพัฒนาขึ้น คุยรู้เรื่อง ฟังปุ๊บตอบได้ และช่วยนักศึกษาต่างชาติคนอื่นได้ด้วย เรารู้สึกตัวเองโชคดีที่เจอคนมีน้ำใจและมอบโอกาสดีๆ ให้กันตลอด อยากขอบคุณพวกเขามากๆ ค่ะ"

"สุดท้ายนี้ ถ้าเหนื่อยหรือท้อก็ลองหยุดพักชาร์จแบตแล้วค่อยลุกมาลุยต่อ  อาจจะปรึกษาเพื่อน ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ชอบ แล้วมหา'ลัยเองก็มีจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษาและพูดคุยกับเราด้วยค่ะ  // ส่วนวิธีของเราคือตระเวนหาของอร่อยกิน แล้วก็นอน นอน และนอนพักผ่อนเต็มที่ 5555 หลังจากหายเหนื่อยแล้วกลับมาคิดแก้ปัญหาอีกครั้ง หนึ่งในสิ่งที่ครอบครัวบอกตั้งแต่เล็กๆ แล้วอยากส่งต่อให้ทุกคนก็คือ 'ทุกปัญหามีทางออก ทุกปัญหาคือโอกาส' และ 'ไฟพิสูจน์ทอง ความทุกข์ยากพิสูจน์คน' จงเดินหน้าต่อไป สู้ๆ นะคะ :)"

Congratulations!! 

พี่แนนซีส์เรียนจบ ป.ตรีจาก Taiwan Tech เรียบร้อยแล้วค่าา
( อัปเดต มิ.ย. 65 )

อ่านบทสัมภาษณ์ช่วงได้ทุนใหม่ๆ

.......................

ทิ้งท้ายสั้นๆ
รีวิวขอทุนรัฐบาลไต้หวัน (MOE)

ข้อดีของทุน 

ทุน MOE เป็นทุนให้เปล่าสำหรับเรียน ป.ตรี, ป.โท หรือ ป.เอกที่ไต้หวัน เรียนจบไม่ต้องทำงานใช้ทุน  รัฐบาลจะสนับสนุนค่าเทอมทั้งหมด 4 ปี (เทอมละ 40,000 TWD) + เงินเดือน 15,000 (TWD) ส่วนต่างค่าเทอมเราออกเอง แต่จะมีบางแห่งที่ไม่เก็บเราเพิ่ม ซึ่ง NTUST เป็นมหาลัยหนึ่งเดียวใน Top5 ของไต้หวันที่ไม่เก็บเพิ่มค่ะ (ส่วนต่างราวๆ 30,000 TWD ต่อเทอม) 

เอกสารหลักๆ ที่ต้องเตรียม

  • Recommendation Letter ที่อาจารย์เขียนให้ 2 ฉบับ
  • Transcript ฉบับภาษาอังกฤษ/จีน (โรงเรียนเราออกทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว)
  • คะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL, IELTS หรือ TOCFL เรายื่น IELTS 6.5 (ขั้นต่ำกำหนด 6 ขึ้นไป) และ GPA 3.99 (ขั้นต่ำ 3.0)
  • Statement of Purpose (SOP)
  • Enrollment
  • เอกสารแสดงว่าหลักสูตรที่เรียนสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% (ในกรณีที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์)
  • Portfolio ไม่มีไม่เป็นไร แต่พอดีเราทำไว้สำหรับ TCAS61 อยู่แล้ว เลยเตรียมไปสัมภาษณ์ด้วย

"นอกจากนี้เราต้องมีเอกสารที่บอกว่าเราสมัครมหาลัยในไต้หวันอย่างน้อย 2 แห่ง (ไม่จำกัด) แคปหน้าจออีเมลว่าเราสมัครแล้ว + ผลจะออกตอนไหน ตอนนั้นเราสมัครไปแค่ 2 แห่งเพราะหลักสูตรตรงจุด นั่นคือวิศวะเครื่องกลที่ NTUST ที่เราเรียนอยู่ปัจจุบัน กับวิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation) ที่ I-Shou University (ทาง I-Shou ก็มีเสนอทุนของมหา'ลัยให้เราด้วยค่ะ)"

เขียนอะไรลงใน Study Plan?

"ในเรียงความเราเล่าว่าตัวเองสมัครหลักสูตรไหนมหาลัยอะไรในไต้หวัน เหตุผลที่อยากเรียนที่นี่ เรามีเป้าหมายอะไร ตอนนั้นเราเขียนไปว่าสนใจเรื่องหุ่นยนต์ และเห็นว่าไต้หวันเจริญมาก ถ้าไทยเรามีของเจริญๆ ที่พัฒนาแล้วอย่างในไต้หวันก็จะดีมากๆ เลยค่ะ เพราะเทคโนโลยีทำให้ชีวิตคนสะดวกสบายขึ้น"

รอบสัมภาษณ์

"หลังจากส่งเอกสารแล้วผ่านเข้ารอบ ด่านต่อไปคือสัมภาษณ์ที่สถานทูตไต้หวัน (สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย) ในห้องสัมภาษณ์ โต๊ะจะเป็น U-Shape กรรมการมี 3 ท่าน ทุกท่านพูดอังกฤษได้ดีมาก อย่างแรกก็เหมือนสอบสัมภาษณ์ทุกที่ เขาไม่ได้ถามอะไรยุ่งยากซับซ้อนเลย แต่ถามเกี่ยวกับตัวเรา"

"เขาเริ่มจากให้แนะนำตัว (ไม่จำกัดเวลา แต่แนะนำว่าอย่ากินเวลานานเกินไป) ส่วนรายละเอียดคำถามต่อไปจะขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราแนะนำตัว ส่วนใหญ่เป็นการพูดคุย ดูทัศนคติ ความคิด หรือเรื่องที่เราเขียนใน SoP ซึ่งจะต่างกันในแต่ละบุคคล อาจจะถามว่าพอเรียนจบอยากทำอะไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำสิ่งนั้น ถ้าได้ทุนเราวางแผนใช้กับอะไร ถ้าติดมหาลัยที่เลือกทั้ง 2 ที่เราจะเลือกที่ไหน เพราะอะไร” 

"เราต้องแสดงให้เขาเห็นความตั้งใจและมั่นใจว่าถ้าเราได้ทุนนี้แล้วจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง ถึงเราเป็นเด็ก แต่ก็มีความตั้งใจจริง สามารถอยู่ได้พร้อมกับจบออกมาอย่างมีคุณภาพ แสดงเป้าหมายไปว่าเราอยากเรียนสาขานี้เพราะอะไร road map ของเราในอนาคตเป็นยังไง สิ่งที่สนใจ สิ่งที่ทำยามว่าง สิ่งที่ต้องการเรียนและต้องการทำในอนาคต แล้วเราจะนำความรู้มาพัฒนาประเทศได้ยังไงบ้าง ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายเราอย่างชัดเจน เขาจะเห็นว่าเราไม่ได้มาเล่นๆ"

อ่านรายละเอียดทุน MOE เตรียมลุย!

ช่องทางศึกษาเพิ่มเติม
 

เว็บไซต์หลัก Taiwan Tech https://www.ntust.edu.tw/home.php

เฟซบุ๊ก Taiwan Tech https://www.facebook.com/NTUSTEnglishProgram 
เฟซบุ๊ก Taiwatn Tech (Thai Version) https://www.facebook.com/NTUSTThai/ 

สาขาวิศวกรรมเครื่องกล https://www.me.ntust.edu.tw/index.php?Lang=en 

การสอบเข้า https://www.ntust.edu.tw/files/40-1126-1202.php?Lang=en 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

Paraginos Member 25 พ.ค. 64 22:21 น. 1

ขอบคุณครับ ได้ความรู้มากเลย ตอนนี้ผมกำลังสนใจต่อโท วิศวกรรมเครื่องกลที่ไต้หวัน เครื่องกลของที่นั่น ยังน่าสนใจอยู่มั้ยครับ (สาย Thermo)

1
kookkaii :3 Columnist 27 พ.ค. 64 11:27 น. 1-1
สวัสดีค่ะ จากที่ไปลองสอบถามเจ้าของเรื่อง ได้คำตอบว่าวิศวะเครื่องกล ป.โทที่ Taiwan Tech (NTUST) ก็น่าสนใจเช่นกันค่ะ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเทคนิคหนึ่งเดียวที่คุณภาพติดอันดับ Top5 ในไต้หวัน ซึ่งคณะวิศวะเป็นคณะที่โดดเด่น และอัตราการจ้างงานเด็กจบใหม่สูง เนื่องจากบริษัทในไต้หวันรู้จักและเชื่อในความสามารถของนักศึกษาคณะนี้ค่ะ เราขอให้คุณ Paraginos ได้เรียนต่อโทในคณะที่ตั้งใจไว้นะคะ :)
0
กำลังโหลด
kookkaii :3 Columnist 22 ก.ค. 64 14:52 น. 2-1
จากที่พี่ได้สอบถามน้องเจ้าของเรื่อง เอกสารดังกล่าวสามารถขอได้กับทางมหาวิทยาลัยที่สมัครไปนะคะ :)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด