จากอ่อนภาษา ฟิตหนักจนได้เรียนที่ ม.ระดับท็อปด้านวิศวะคอมพ์ในอเมริกา! (รีวิวสอบเข้า,ชีวิตในรั้ว UW-Madison)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงการเรียนต่อหรือทำงานในสายงานด้านเทคโนโลยี "สหรัฐอเมริกา" น่าจะเป็นช้อยส์อันดับต้นๆ ของใครหลายคน เพราะเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจในด้านเทคโนโลยีสูงที่สุดในโลก และมี ecosystem ที่พร้อมให้คนเก่งและมีไอเดียได้เริ่มกล้าคิด กล้าหลุดกรอบ และกล้าลงทุน จนทุกวันนี้เป็นศูนย์รวมบริษัท Tech ชั้นนำและ Start-up นับไม่ถ้วน อย่างที่หลายคนลงความเห็นว่าอเมริกาสามารถดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกมาพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศได้

ล่าสุดเราก็ได้พูดคุย "แต๊บ-ฐิติพงษ์ หล่อพงศ์พานิช" หนุ่ม ป.ตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ University of Wisconsin-Madison ในรัฐ Wisconsin ที่แม้ไม่ใช่ Ivy League แต่ชื่อเสียงด้านวิศวะไม่มีแผ่วเลยค่ะ โดยตอนนี้เขากำลังเจอช่วงเรียนออนไลน์ตอนปี 2 สัมผัสชีวิตการเรียนที่เข้มข้นแต่ยืดหยุ่น ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต จนเขาบอกเลยว่านี่คือการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่ามากๆ เราตามไปฟังรีวิวและเก็บข้อมูลประกอบการตัดสินใจกันเลยค่ะ!

*ขอบคุณภาพประกอบจากเจ้าของเรื่องและ UW-Madison
A few facts about College of Engineering
A few facts about College of Engineering
Credit: https://www.engr.wisc.edu/ 

ทำไมต้องอเมริกา?

"ผมรู้ตัวว่าอยากต่อสาย Computer Engineering หรือ Technology ครับ หลายคนก็เพ่งเล็งอเมริกาอยู่แล้วเพราะเป็น Tech Hub ที่ค่อนข้างใหญ่ระดับโลก มีอิสระสูง ทำได้หลายอย่างแม้กระทั่งการเรียนก็ยังค่อนข้างอิสระ คอนเนกชันก็เปิดเพราะสภาพแวดล้อมหลากหลายด้วย หลังจบก็ว่าจะพยายามหางานที่นั่นก่อน เพราะ Silicon Valley ถือเป็นความฝันของคนเรียนสายนี้เลยครับ"

ภาพมุมสูงของ Silicon Valley
ภาพมุมสูงของ Silicon Valley

Silicon Valley หรือหุบเขาซิลิคอน คือชื่อเรียกโซนตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นศูนย์รวม Start-up และบริษัท IT ชั้นนำของโลก เช่น Adobe, Google, Apple, Facebook, Twitter, Paypal, Pixar, Netflix และอีกนับร้อยแห่ง ซึ่งเขาพยายามดึงคนที่เก่งและมีความสามารถมาร่วมงาน พร้อมทุ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้แบบไม่อั้นโดยเฉพาะกับตำแหน่งที่เกี่ยวกับ IT โดยตรง
 

ส่วนคำว่า ซิลิคอน (Silicon) ก็คือชื่อของธาตุที่ถูกนำมาใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.dek-d.com/studyabroad/37000/)

"ตอนนั้นภาษาอังกฤษของผม
เรียงประโยคยังไม่เป็นประโยคเลยครับ"
 

"ผมจบห้องกิฟต์เลขจาก รร.เตรียมอุดมศึกษา แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลย (เกรดห้ามเท เพราะเป็นหนึ่งในเกณฑ์รับเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยที่อเมริกา) เรื่องที่ท้าทายมากที่สุดคือภาษานี่แหละครับ สมัย ม.ต้นผมยังไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ทำให้ช่วงนั้นต้องมาอัดหลายอย่าง"

TOEFL

"ผมเลือกยื่นคะแนนภาษาอังกฤษเป็น TOEFL ข้อสอบนี้เขาดีไซน์เพื่อให้เด็กต่างชาติวัดระดับภาษาอังกฤษว่าจะเรียนต่อต่างประเทศไหวมั้ย มีรอบสอบทุกสัปดาห์ วัดทั้งฟังพูดอ่านเขียนเลย"

"ผมเตรียมตัวกับข้อสอบนี้ 1 ปีเต็ม เริ่มจากเช็กก่อนว่าตัวเองยังอ่อนจุดไหน ถ้าเกือบดีหรือขาดนิดหน่อยก็ไปเก็บจุดนั้นก่อน อย่างเช่นผมรู้ตัวว่าอ่อน Speaking สุดเพราะอยู่ไทยแล้วไม่ค่อยมีโอกาสใช้ภาษา ผมก็เอาแนวข้อสอบมากาง แล้วเขียนตอบเพื่อฝึกเรียบเรียงประโยคให้ถูกและคล่อง จากนั้นก็เริ่ม short note จนพูดได้ ลองสอบหลายรอบ คะแนนก็อัปขึ้นเรื่อยๆ ครับ"

SAT

"อีกความหินที่เจอคือการสอบ SAT วัดด้านภาษา (Verbal) คณิตศาสตร์ (Math) และบางคนจะเลือกสอบ Essay เพิิ่มก็ได้ถ้ามีใน requirement ของมหาวิทยาลัยที่จะสมัคร (ณ ปัจจุบัน SAT Essay กำลังจะถูกยกเลิกเร็วๆ นี้) คะแนนจะ Curve ตามจำนวนข้อกับผู้เข้าสอบ เช่น ผิด 1-2 ข้อก็อาจได้เต็ม ต่างจากไทยที่สมมติเต็ม 100 แล้วเราผิดข้อนึงก็ต้องได้ 99 คะแนนแน่นอน

  1. คณิตศาสตร์คือเนื้อหา ม.ต้น ถ้าแม่นทฤษฎีจะไม่ยากมาก แต่ต้องอาศัยความรอบคอบค่อนข้างสูง
  2. ภาษาอังกฤษจะเป็นช้อยส์และยากกว่า TOEFL และ TOEIC เพราะเขาดีไซน์มาสำหรับเด็กอเมริกา
  • Verbal : Writing มันไม่ใช่การสอบเขียน แต่คล้ายๆ  Error Identification เช่น ให้มา paragraph นึง แล้วถามว่าทั้งหมดนี้ถูกหรือผิด แล้วต้องแก้เป็นอะไร มีช้อยส์ให้ 4 ข้อ (มีข้อนึงยืนไว้ว่าไม่ต้องแก้ไข) นอกจากนี้ยังมีคำถามประเภทเรียงลำดับประโยคหรือ Paragraph ด้วย
  • Verbal : Reading (5 passages) ศัพท์ยากและวิเคราะห์เยอะ ในบางครั้งจะมีอย่างน้อย 1 ใน 5 เรื่องที่จะเป็นประวัติศาสตร์อเมริกา เราต้องไปอ่านบทความหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เค้าให้มาแล้ววิเคราะห์ต่อ บางทีก็เจอภาษายุคเก่าที่อ่านค่อนข้างยากครับ

ผมเองค่อนข้างมีปัญหากับพาร์ต Reading และอยู่จุดที่เขียนประโยคไม่เป็นประโยคเลยครับ รู้สึกมีกำแพงเลยว่าสงสัยจะเรียนต่อไปไม่ไหวมั้ง โชคดีที่ยังไม่ยอมแพ้ไปซะก่อน วิธีของผมคือเตรียมตัวเฉพาะส่วนที่ใช้ในข้อสอบไปก่อน เน้นแนวข้อสอบเท่านั้น //จริงๆ ไม่ค่อยอยากแนะนำวิธีนี้หรอก เพียงแต่ ณ ตอนนั้นผมไม่มีวิธีอื่นแล้ว หลังจากได้ที่เรียนก็ต้องมาเตรียมตัวเพิ่มอีกเยอะ

ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากบอกน้องๆ รุ่นหลังว่าเตรียมเรื่องภาษาไว้เถอะนะ สักวันจะได้ใช้อยู่แล้วแม้อนาคตจะทำงานที่ไทยก็ตาม เดี๋ยวนี้ทรัพยากรการเรียนรู้หรือแม้แต่ข่าวสารหลายๆ ช่องทางต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเข้าถึงด้วยครับ"

กิจกรรมที่เคยทำช่วงเตรียมอุดมฯ
(ใส่ลงประวัติเพื่อยื่นสมัครมหา'ลัย)

"ตอน ม.4 ผมกับเพื่อนในห้องมีช่วยกันทำ 'หนังสือสอบเข้า' เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้น้อง ม.ต้นใช้เตรียมตัว วางแผนเขียนหนังสือ 3 เล่ม ปกติข้อสอบเตรียมฯ จะมีสอบภาคเช้ากับบ่าย (ภาคเช้า: คณิต ไทย สังคม / ภาคบ่ายมีวิทย๋ อังกฤษ) แล้วบวกเล่มพิเศษเป็นเตรียมสอบคณิตโอลิมปิก ซึ่งงานนี้คือทำกันเองหมด ตั้งแต่เขียน > ดราฟต์ > ส่งโรงพิมพ์ > เปิดพรีออเดอร์เพื่อระดมทุน > ขาย ช่วงขายคือหนักเพราะไม่ได้มีแค่ออนไลน์ แต่มีออกบูธด้วยครับ

พอขึ้น ม.5 ผมก็ได้เป็นประธานจัดค่ายคณิตศาสตร์ให้น้อง และลงแข่งคณิตศาสสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น TUGMOs (Triam Udom Gifted Math Outstanding Students Searching) ทำให้ได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำและทีมเวิร์กเยอะเลยครับ"

Zenith XI & เอื้อมพระเกี้ยว ๘ 
Zenith XI & เอื้อมพระเกี้ยว ๘ 
By TU Gifted  Math #14
โปสเตอร์การแข่งขัน TUGMOs
โปสเตอร์การแข่งขัน TUGMOs
บรรยากาศการแข่งขัน TUGMOs
บรรยากาศการแข่งขัน TUGMOs

ในที่สุดก็สอบติด!

"เวลาเลือกมหาวิทยาลัย คนก็มักจะเลือกตาม Ranking ผมยื่นเป็นสิบที่ คะแนนไม่ถึง Ivy League ครับ แต่ก็แฮปปี้เพราะ University of Wisconsin–Madison ก็เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในสายที่ผมอยากเรียนอยู่แล้ว 

พอรู้ผลอย่างแรกคือเตรียมตัว ก่อนบินก็รีบไปเตรียมตัวด้าน Academic English เรียนเลกเชอร์และการเขียน essay ไม่ได้กดดันตัวเองเท่าไหร่ คิดว่าถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเอาตัวรอดเอาดาบหน้านั่นแหละ 555 แต่สุดท้ายไปถึงก็โอเค เทอมไหนฟังไม่ทันก็เน้นอัดเสียงอาจารย์แล้วมานั่งแกะทีหลัง  หรือบางคลาสอาจารย์ก็อัดเป็นไฟล์ไว้ให้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ลงตัวแต่ไม่ถึงขั้นสื่อสารคล่องเหมือนเจ้าของภาษา"

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการสมัครเรียน(ตรง)

ก้าวเข้าสู่รั้ว UW-Madison
แต่เอ๊ะ เดี๋ยวนะ ไหนรั้ว?

"ผมเดินทางมาลง O’Hare International Airport (ORD) ที่ชิคาโก แล้วต่อบัสจากสนามบินมาถึง Winconsin ระบบขนส่งสาธารณะที่นั่นค่อนข้างดี ตรงเวลา และข้อมูลบน google map ไกด์เราได้ ทางเลือกก็เยอะ นอกจากบัสบางคนอาจใช้บริการ Uber, Lyft, Zipcar หรือรถเช่าอื่นๆ ก็ได้เหมือนกัน

วันแรกที่ไปดูมหาวิทยาลัยผมก็งงๆ นะว่าเอ๊ะ ถึงแล้วจริงดิ คือที่นี่ไม่มีประตู ไม่มีรั้วมาแบ่งเขต มันกลมกลืนกับพื้นที่รอบๆ  ซึ่ง UW-Madison เป็นเหมือนศูนย์กลางของรัฐ วิวสวยมากกก มีทะเลสาบให้นั่งชมวิวอ่านหนังสือได้  และขึ้นชื่อเรื่องปาร์ตี้เยอะ (เมืองนี้จะค่อนข้างปลอดภัยเลยครับ)

สิ่งที่แรกที่ทำเมื่อไปถึงคือย้ายของเข้าหอ เปิดบัญชีธนาคารกับทำบัตรเดบิต เค้าไม่ได้บังคับว่าต้องอยู่หอใน แต่ผมอยากเก็บ College Experience สักปีนึงก่อนค่อยออกมาหอนอก สรุปคือได้เพื่อน ได้ทำกิจกรรมของหอ แล้วไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเยอะ เพราะมันตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเลย"

บรรยากาศรอบๆ UW-Madison
บรรยากาศรอบๆ UW-Madison

ยกตัวอย่างทรัพยากรเจ๋งๆ

  • ห้องสมุดเยอะมากและเปิด 24 ชม. สิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม มี database ให้เข้าถึงข้อมูลสำหรับใช้อ้างอิงในงานได้ รีเควสต์ห้องติวหรือห้องประชุมได้ ถ้าอยากใช้ห้องสมุดทั้งคืนก็มีให้บริการ
  • บัตรนักเรียนเข้าถึงได้ทุกบริการ (ใช้เติมเงินได้)  เช่น ปริ้นท์เอกสาร ร้านอาหาร สแกนบัตรก่อนเข้าห้องสอบ เข้าห้องสมุด ฯลฯ ยกเว้นการเดินทาง เพราะจะมีอีกบัตรนึงคือ Student Bus Pass / ASM แบบ Unlimited ถูกคิดราคารวมในค่าเทอมแล้ว หมดเทอมก็ไปเอาใหม่ ถ้าไม่มีน่าจะต้องเสียค่ารถเที่ยวละ 2 ดอลลาร์
บัตรนักเรียน
บัตรนักเรียน
รถบัสที่วิ่งรอบมหาวิทยาลัย
รถบัสที่วิ่งรอบมหาวิทยาลัย
ทรัพยากร & สิ่งอำนวยความสะดวกศึกษาข้อมูลค่าเล่าเรียน

เรียนเข้มข้น การบ้านหิน
ลงเรียนได้แบบยืดหยุ่น

"หลักๆ มีการเรียน 3 รูปแบบคือ Lecture / Discussion / Lab แต่ไม่ใช่ทุกคอร์สจะมีครบ 

  • Lecture คลาสใหญ่เป็นหลายร้อยคน อาจมีสั่งงาน Project รายสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ครั้ง
  • Discussion คลาสเล็กประมาณ 20 คน หยิบเนื้อหาจากตอน Lecture มาวิเคราะห์กัน
  • Lab ภาคปฏิบัติ มีในวิชา Science และ Engineering

ตอนปี 1 จะเจอเนื้อหาพื้นฐาน เช่น Math, Physics, Introduction to Programming, etc. ไว้ต่อยอดในปีสูงๆ (ก่อนหน้านี้ผมมีสอบ AP เพื่อเก็บหน่วยกิตข้ามตัว intro. ของบางวิชา เช่น Calculus, Chemistry และ Statistics ครับ) พอปี 2-3 ก็ลงลึกขึ้น ประยุกต์สิ่งที่เรียนมาก่อนหน้านี้ เช่น ปี 3 มีวิชา Database Management System, Microprocessor, etc. 

เรื่องวิชาเรียนเราจะจัดยังไงก็ได้ อยากเรียนอะไรตอนไหนก็วางแผนได้เลย แต่จะมีบางคอร์สที่กำหนดว่าจะต้องลงเรียนตัวนั้นตัวนี้ก่อน (อารมณ์แบบจะขึ้นระดับ Intermediate ก็ต้องเรียน Basic ก่อน) ส่วนผมลงจนเกือบ maximum ทุกเทอมเพราะตั้งเป้าจะให้จบใน 3 ปี แต่ละเทอมลง 12-18 หน่วยกิต พยายามลงคอร์สหนักผสมเบา เช่น วิชาฝั่งวิทย์จะโปรเจกต์ยากและเยอะ ก็อาจต้องหาวิชา Social Sciences กับ Humanities มาช่วยผ่อนคลายไม่ให้หนักหน่วงไป

เวลาติดปัญหาสามารถเข้าไปหาอาจารย์หรือ TA (Teaching Assistant) ตามช่วงเวลา Office Hours ที่เค้าเปิดให้นักเรียนเข้าไปถามได้เต็มที่ แล้วถ้าเด็กต่างชาติมีปัญหาการเขียน เค้าก็มี Writing Center ช่วยตรวจทานงานได้ เป็นคนจริงๆ ช่วยตรวจเลยนะครับไม่ใช่โปรแกรม แต่สมมติอย่างคอร์สสอนเขียน เค้าจะไม่ให้ใช้บริการนี้ เพราะอาจารย์ต้องการเห็นความสามารถจริงๆ เพื่อให้รู้ว่าต้องพัฒนาจุดไหน"

Lecture
Lecture
Discussion
Discussion
Lab
Lab

เล่าสัก 1 วิชาที่ประทับใจสุดๆ

“เทอมล่าสุดมีเรียนวิชาชื่อ Introduction to AI เนื้อหาจะแบ่งเป็น 4 หัวข้อย่อย และสอนโดย professor ที่เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ดังนี้

  • Search Algorithm
  • Mathematical Foundation of AI
  • Game Theory
  • Machine Learning
  • (อันนี้แถม) Applications and Ethics of AI

การบ้านกับโปรเจกต์จบวิชานี้ท้าทายพลังมาก ต้องประยุกต์จากสิ่งที่เรียนค่อนข้างเยอะ ถ้าติดตรงไหนก็ให่้อาจารย์ช่วยไกด์ให้  วิชานี้สนุกตรงที่เราเห็นเลยว่าจะเอาเนื้อหาไปใช้ในโลกการทำงานจริงได้ยังไงบ้าง"

โควิดกระทบการเรียนยังไงบ้าง?

"ช่วง Spring Break กลางเดือน มี.ค. ที่มันเริ่มระบาดหนักมากๆ ลังเลอยู่ว่าจะกลับไม่กลับ สุดท้ายกลับดีกว่า เพราะมหาวิทยาลัยก็แนะนำมา ถ้ารอนานจะยิ่งกลับไทยยาก ชีวิตชุลมุนแบบว่านั่งแพ็กของเร็วสุดในชีวิต ขนาดกระทะยังไม่ได้ล้าง ต้องรีบไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลโดยกะเวลาให้ใบรับรองแพทย์มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนยื่นกับเจ้าหน้าที่ ถ้าดวงไม่ดีหรือพลาดนิดเดียวได้ใช้ชีวิตในสนามบินแบบเรื่อง Terminal แน่ๆ 5555

จากที่เรียนออนไลน์ตั้งแต่เทอมก่อนจนถึงตอนนี้ ข้อเสียผมว่าเรื่อง Lab นี่แหละ เพราะมันไม่สามารถทำได้เลย แต่ข้อดีคือยืดหยุ่นขึ้นและประหยัดค่าเดินทาง มันจะมีบางคลาสที่ครูอัดคลิปให้เราเปิดมาเรียนตอนไหนก็ได้ แต่บางคลาสไม่มีนะ ต้องตื่นมาเรียนเวลาแปลกๆ แบบตี 4-5 ของไทย การติดต่อสื่อสารก็จะยากขึ้น คุยกับเพื่อนน้อยลง ตามหาเพื่อนในคลาสก็ยากอีกเพราะเวลาไม่ตรงกัน แต่ประสิทธิภาพการเรียนไม่ได้ลดขนาดนั้น"

กว่าจะได้ที่ฝึกงานมันไม่ง่าย
แต่ก็ต้องลุ้นเพราะโควิด

"ผมเริ่มหาที่ฝึกงานตั้งแต่จบปี 1 เพราะคิดว่ายิ่งฝึกเร็วยิ่งดีกับตัวเอง ช่วงซัมเมอร์หลังจบปีหนึ่ง ผมได้เข้าฝึกงานที่ KBTG (Kasikorn Business-Technology Group) ให้ฟีลเหมือนไปทำแล็บ ได้ลงงานจริง ข้อเสียคือเวลาพักผ่อนช่วงซัมเมอร์จะหายไป  พอปี 2 ก็สมัครไปร้อยกว่าที่เห็นจะได้ และช่วงซัมเมอร์หน้าผมได้รับ offer ฝึกงานตำแหน่ง Engineering Intern ที่ Dell Technologies ที่รัฐ Texas ครับ "

ปล. การหาที่ฝึกงานเหนื่อยมากก เพราะเด็กต่างชาติจะมีความซับซ้อนเรื่องวีซ่าด้วยครับ

บรรยากาศฝึกงานที่ KBTG
บรรยากาศฝึกงานที่ KBTG

เวลาจะสมัครฝึกงานต้องเตรียม Resume บางที่ก็ใช้ Cover Letter ด้วย จากนั้นก็มีการทดสอบ เช่น ผมสมัครตำแหน่ง Software Engineer บริษัทก็จะส่ง Coding Challenge มาให้เราทำ ส่วนใหญ่วัดความรู้เรื่อง Data Structure and Algorithms และบางที่จะมีสัมภาษณ์มากกว่า 1 รอบ แนะนำให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เลยครับ"

มันคือการลงทุนระยะยาว

"การมาศึกษาต่อที่อเมริกาทำให้ผมได้เปิดโลกกว้างมากๆ เจอสภาพแวดล้อมและผู้คนหลากหลาย  ผมว่าคุ้มกับความพยายามเพื่อให้สอบติดที่นี่มากๆ ครับ แล้วเราเหมือนได้ลงทุนระยะยาวกับการศึกษาแค่ 3-4 ปี แล้วได้เติบโตในสายอาชีพนี้  ซึ่งมหา'ลัยก็ให้อะไรกลับมามากกว่าที่จ่ายไป แล้วยิ่งแฮปปี้ไปอีกเพราะ Technology คือสายที่ผมสนใจแต่แรกอยู่แล้ว" 

Photo Credit: https://www.wisc.edu/
Photo Credit: https://www.wisc.edu/
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ขาจร 31 ม.ค. 64 21:49 น. 1

เรื่องน่าสนใจ ทักนิดเดียวว่าไม่ใช่การสอบติด การเข้ามหาลัยที่โน่น เขาไม่ได้เอาผลการสอบมาเรียงแล้วรับคนที่คะแนนสูงกว่า คนที่คะแนนต่ำกว่าอาจได้ตอบรับเข้า คนที่คะแนนสูงกว่าอาจโดนปฏิเสธก็ได้ แต่ก็ต้องมีผลคะแนนที่ดีระดับหนึ่ง เพราะคะแนนส่วนต่างๆก็ใช้เป็นตัวกรองขั้นแรก จากนั้นก็ใช้คณะกรรมการพิจารณา อ่านข้อมูลกันเป็นรายคน

1
kookkaii :3 Columnist 1 ก.พ. 64 08:43 น. 1-1
ทีมงานขออภัยและขอบคุณคุณขาจรที่แจ้งเข้ามาค่ะ ทางเราได้ปรับแก้ชื่อเรื่องใหม่เรียบร้อยแล้วเพื่อให้สื่อความถูกต้องชัดเจนขึ้น และจะระมัดระวังให้มากขึ้นนะคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด