Translation Tips! 6 เคล็ดลับสำหรับ 'นักแปลมือใหม่' ฝึกฝนไว้ปรับใช้ได้กับทุกภาษา

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน ถ้าจะให้พูดถึงหนึ่งทักษะที่เด็กสายภาษาต้องฝ่าฟันก็คือทักษะ “การแปล” นั่นเอง ซึ่งในการแปลแต่ละภาษาก็จะมีเทคนิค รายละเอียด และความยากง่ายที่แตกต่างกัน เพราะการแปลไม่ใช่แค่การถอดความหมายของคำศัพท์ แต่มันคือการทำความเข้าใจเนื้อหาและถ่ายทอดสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารออกมาให้ได้อย่างครบถ้วน วันนี้ พี่ปุณ เลยอยากจะมาแชร์เคล็ดลับการแปลเบื้องต้นให้น้องๆ ได้ลองนำไปปรับใช้กับทุกภาษา ไปดูกันค่ะว่าเคล็ดลับไหนจะสามารถเปลี่ยนงานแปลของเราให้ปังได้บ้าง!

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

ก่อนที่จะไปถึงส่วนของเคล็ดลับ พี่ก็อยากจะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับการแปลให้มากกว่านี้กันค่ะ นักทฤษฎีหลายคนได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การแปล” ไว้มากมายหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในคำจำกัดความที่ครอบคลุมและชี้ให้เห็นถึงความหมายของคำว่าการแปลได้ดีที่สุดนั้นเป็นของศาสตราจารย์ ดร. สิทธา พินิจภูวดล บุคคลสำคัญคนหนึ่งในวงการแปล โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า 

“การแปล หมายถึง การถ่ายทอดข้อความจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง โดยรักษารูปแบบ คุณค่า และความหมายในข้อความเดิมไว้อย่างครบถ้วน รวมทั้งความหมายแฝง ซึ่งได้แก่ ความหมายทางวัฒนธรรม ปรัชญา ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ”

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

            หลังจากที่เราได้รู้ความหมายของการแปลกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาของเคล็ดลับสำหรับนักแปลมือใหม่! ซึ่งโดยทั่วไปเราจะเรียกภาษาของบทความต้นฉบับแปลว่า “ภาษาต้นทางหรือภาษาต้นฉบับ (source language)” และเรียกอีกภาษาที่เราต้องการแปลไปว่า “ภาษาปลายทางหรือภาษาฉบับแปล (target language)” นั่นเองค่ะ

1 . แปลบทความประเภทไหน ทำความเข้าใจและหาข้อมูล

ขั้นตอนแรกก่อนจะเริ่มแปล น้องๆ จะควรต้องอ่านบทความทั้งบทความตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อทำความเข้าใจว่าบทความนี้เป็นบทความประเภทไหน ซึ่งประเภทของบทความก็จะมีอยู่มากมายหลากหลายแบบ เช่น ข่าว สารคดี เรื่องแต่ง วรรณกรรม โดยบทความแต่ละประเภทก็จะมีรูปแบบการเขียนและการเลือกใช้คำที่ต่างกันไป เข้าใจก่อนเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนค่ะ! 

เมื่อรู้ประเภทแล้ว เราอาจจะลองสืบค้นข้อมูลหรือเบื้องลึกเบื้องหลังของบทความนั้น สมมติว่าเราจะแปลสารคดีเกี่ยวกับบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง เราก็ควรรู้ก่อนว่าเขาเป็นใครและอะไรทำให้เขากลายเป็นบุคคลสำคัญได้ การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการแปลจะช่วยให้การแปลเป็นไปอย่างราบรื่นและตรงกับความเป็นจริงได้มากที่สุด แต่ถ้าใครลองอ่านรอบแรกแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ พี่ก็ขอแนะนำให้ลองอ่านซ้ำ แล้วจดโน้ตหรือไฮไลต์ข้อความส่วนนั้นๆ เอาไว้ แล้วค่อยกลับมาดูหลังจากแปลส่วนอื่นๆ ไปแล้วค่ะ

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

2. เลือกใช้ศัพท์และจับประเด็นให้ถูก!

แน่นอนว่าตัวช่วยสำคัญของการแปลก็คือ “พจนานุกรม” ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกระดาษหรือออนไลน์ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามความถนัดเลยค่ะ แต่ แต่ แต่ ไม่ใช่ว่าความหมายที่เราหาจะนำมาใช้ได้ทันทีเลยนะคะ เพราะว่าศัพท์แต่ละคำก็สามารถแปลได้หลายความหมาย ยิ่งถ้าแปลไทยเป็นอังกฤษแล้ว ยิ่งมีคำให้เลือกได้มากมายนับไม่ถ้วน ด้วยความที่ภาษาอังกฤษได้รับอิทธิพลมาจาก 3 ภาษานั่นก็คือภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาละติน ทำให้คำไทยหนึ่งคำสามารถแปลเป็นอังกฤษได้หลายตัว อย่างเช่น คำว่า “โกรธ” ในภาษาไทยก็สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ทั้ง “wrath” และ “anger” ซึ่งมีที่มาจากภาษาเยอรมันหรือ “ire” และ “rage” ซึ่งมีที่มาจากภาษาลาตินนั่นเอง

ในขณะเดียวกันถ้าภาษาต้นฉบับของเราคือภาษาอังกฤษและต้องการแปลมาเป็นภาษาไทย เราก็จะต้องหาความหมายที่เป็นไปได้ทั้งหมดของคำศัพท์คำนั้นและมาตัดสินใจเลือกใช้คำที่เหมาะสมอีกที โดยเมื่อแปลออกมาแล้วคำนั้นจะต้องมีความหมายตรงกับบริบทและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่บทความนั้นต้องการสื่อ อย่างเช่น คำว่า ‘colloquial’ ซึ่งทำหน้าที่เป็น adjective ขยายคำนาม เมื่ออยู่ในบริบทของเสื้อผ้า คำนี้จะมีความหมายว่า “ลำลองหรือไม่เป็นทางการ” แต่ถ้าเติม suffix ‘-ly’ แล้วเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของ adverb ‘colloquially’ จะมีความหมายว่า “โดยทั่วไป” ใช้ขึ้นต้นหรือวางไว้กลางประโยคก็ได้ค่ะ

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

3. โครงสร้างประโยคนั้นสำคัญ ความหมายนั้นต้องคงเดิม

ไม่ว่าจะแปลภาษาไหน เราก็ต้องทำความรู้จักโครงสร้างประโยคและไวยากรณ์ของภาษานั้นให้ดีก่อน ซึ่งหลายคนคงทราบดีว่าแต่ละภาษาก็จะมี “โครงสร้างประโยค” ที่ต่างกัน อย่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษจะมีการเรียงลำดับคำในรูปประโยคเป็น ‘ประธาน + กริยา + กรรม’ แต่เมื่อต้องการขยายความ ในภาษาไทย คำคุณศัพท์จะถูกวางไว้หลังคำนาม เช่น ฉันชอบกินเค้กช็อกโกแลต คำว่า “ช็อกโกแลต” มาขยายคำว่า “เค้ก” ในขณะที่ภาษาอังกฤษคำคุณศัพท์จะถูกวางไว้ข้างหน้า เช่น I like chocolate cake. คำว่า ‘chocolate’ มาขยายคำว่า ‘cake’

การที่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีโครงสร้างประโยคเดียวกันอาจช่วยให้เราไม่สับสนมากนัก แต่ถ้าเป็น “ภาษาญี่ปุ่น” ภาษาที่มีลำดับของคำในรูปประโยคเป็น 

‘ประธาน + กรรม + กริยา’ 

เราก็จะต้องแปลข้อความให้ตรงตามโครงสร้างของภาษานั้นด้วย ซึ่งจากประโยคข้างต้นก็จะแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า わたしはチョコレートケーキがすきです。Watashi wa chokoretokeki ga sukidesu. โดยมี ‘watashi’ เป็นประธาน ‘chokoretokeki’ เป็นกรรม และ ‘suki’ เป็นคำกริยานั่นเอง แต่ถึงโครงสร้างประโยคจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน น้องๆ ก็ต้องคงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารเอาไว้ให้ได้นะคะ

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

4 . “ผละออกจากต้นฉบับ” เคล็ดลับการแปลอย่างเป็นธรรมชาติ

หลายคนอาจจะคิดว่าการแปลที่ดีจะต้องแปลให้ครบทุกคำ ตรงตามความหมายทุกประโยค แต่จริงๆ แล้ว “การผละออกจากต้นฉบับ” เป็นเทคนิคสำคัญที่เราควรนำไปใช้เพื่อให้บทความฉบับแปลของเรามีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ในแต่ละภาษาก็จะมีคำศัพท์ สำนวน และวลีที่มีความหมายทางวัฒนธรรมแตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนที่จะแปลเราอาจต้องรู้ก่อนว่าประโยคนั้นสามารถแปลตรงตัวได้หรือมีความหมายแฝงอยู่ด้วย อย่างเช่น ในภาษาเยอรมัน ‘Die Wurst’ แปลว่า ไส้กรอก บางคนจึงอาจเข้าใจผิดและแปลประโยค ‘Es ist mir wurst’ ว่า “มันเป็นไส้กรอกของฉัน” แต่จริงๆ แล้วประโยคนี้เป็นสำนวนเยอรมันที่มีความหมายว่า “ฉันไม่แคร์ ไม่สนใจ” ส่วนการที่ ‘wurst’ ขึ้นต้นด้วย w เล็กทั้งๆ ที่คำนามในภาษาเยอรมันต้องขึ้นตัวด้วยตัวใหญ่ก็เป็นเพราะว่าในสำนวนนี้มันทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์นั่นเอง!

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

5 . Know your audience! รู้เขา รู้เรา รู้ไว้ใครเป็นคนอ่าน

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้ผู้อ่านประทับใจในบทความที่เราแปลก็คือ “การเลือกใช้ระดับภาษาและรูปแบบการแปลอย่างเหมาะสม”  เพราะนอกจากจะแสดงถึงการให้เกียรติและใส่ใจในผู้อ่านแล้ว ระดับภาษาและรูปแบบที่เรียบเรียงมาอย่างดียังจะทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับบทความที่เราแปลได้อีกด้วย

สมมติว่าเราจะแปลบทความทางการศึกษา ข่าว หรือสารคดีส่งอาจารย์ เราก็ควรเลือกใช้ภาษาระดับทางการหรือกึ่งทางการ แต่ถ้าเป็นบทความที่นำเสนอบนโลกออนไลน์หรือคอลัมน์ให้ความรู้สไตล์ Dek-D เราก็อาจจะเลือกใช้เป็นภาษาระดับกึ่งทางการหรือไม่เป็นทางการแทนได้ เทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้โดยไม่ต้องเครียดจนเกินไป อีกทั้งยังสามารถเข้าใจและคิดตามบทความที่เราแปลออกมาได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

6 . เปรียบเทียบและตรวจทาน ไม่ปล่อยผ่านส่วนที่ผิด

เมื่อเราแปลบทความเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของ “การเปรียบเทียบและตรวจทาน” โดยการเปรียบเทียบนี้หมายถึงการเปรียบเทียบระหว่างบทความต้นฉบับกับบทความฉบับแปล ลองดูว่าเราแปลข้ามประโยคไหนไปหรือเปล่า มีตรงไหนที่เรายังเข้าใจผิดอยู่อีกไหม แล้วสิ่งที่เราแปลมามันตรงกับความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อมากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งเราก็มักจะเลือกแปลให้สละสลวยมากกว่าที่จะเก็บความหมายที่ถูกต้องของศัพท์บางคำไว้ ทำให้ประเด็นในบทความต้นฉบับอาจจะผิดเพี้ยนไปได้ง่าย การนำบทความทั้ง 2 ฉบับมาเปรียบเทียบกันจึงเป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้บทความของเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

และนอกจากจะเปรียบเทียบความหมายแล้ว เราก็จะต้องตรวจทานการสะกดคำ การใช้คำเชื่อม และการเรียบเรียงประโยคให้ดี ยิ่งถ้าเป็นชื่อเฉพาะหรือคำทับศัพท์ยิ่งต้องอย่าให้พลาดเลยละค่ะ ถึงเราจะเป็นมือใหม่แต่ก็ต้องใส่ใจและมีความละเอียดรอบคอบให้มากด้วย!

Photo credit: giphy.com
Photo credit: giphy.com

และนี่ก็คือ 6 เคล็ดลับสำหรับนักแปลมือใหม่ที่พี่นำมาฝากกันในวันนี้ บอกเลยว่าทักษะการแปลเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่น้องๆ ทุกคนควรศึกษาไว้ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน เราก็มักจะต้องดึงทักษะนี้ออกมาใช้กันอยู่บ่อยๆ น้องคนไหนที่อยากฝึกฝนวิชาการแปลให้แกร่งกล้า ก็อย่าลืมนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้กันได้นะคะ ^^  
 

Sources: https://culturesconnection.com/10-translation-tips-to-boost-content-quality/https://www.oxford-royale.com/articles/english-translation-tips-efl/
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น