พาไปรู้จัก ‘University of Waikato’ ที่ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์เคยเรียน!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน ใครได้ติดตามข่าวต่างประเทศหรือข่าวอัปเดตเรื่องโควิด-19 คงต้องเคยได้ยินชื่อ ‘จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern)’ นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์กันมาบ้าง ต้องบอกเลยว่าประวัติและผลงานของเธอคนนี้นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ ค่ะ เพราะตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ เธอก็สามารถทำให้สถิติตกงานของนิวซีแลนด์ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี อีกทั้งยังหาวิธีสร้างงานให้ประชาชนในประเทศได้ด้วย และนอกจากการจัดการด้านเศรษฐกิจ เธอยังให้ความสำคัญและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาวุธสงคราม ความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศไปพร้อมกันได้ดีอย่างไม่มีที่ติ

และล่าสุดเธอก็จะได้สร้างผลงานอันน่าประทับใจจนกลายเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่คนทั้งโลกพูดถึง หลังจากที่เธอได้ออกมา take action กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทันที โดยนิวซีแลนด์ได้ยกระดับการเฝ้าระวังขั้นสูงสุดและล็อกดาวน์ประเทศเป็นเวลา 1 เดือน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ พร้อมให้การช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างสุดกำลัง จนในตอนนี้นิวซีแลนด์ก็ได้ประกาศปลอดโควิดและให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องใส่แมสก์อีกแล้ว

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com 

พอเห็นถึงความเก่งของนายกฯ หญิงคนนี้ พี่ปุณ ก็เลยอยากจะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับ ‘University of Waikato’ มหาวิทยาลัยที่เธอเรียนจบมากันซักหน่อย เผื่อใครอยากไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์จะได้เตรียมวางแพลนกันได้เลย! (ขอแอบกระซิบว่าที่นี่มีทุนสำหรับชาวต่างชาติด้วยนะคะ)

Photo credit: studyoptions.com
Photo credit: studyoptions.com

‘University of Waikato’ ตั้งอยู่ในเมืองแฮมินตัน ประเทศนิวซีแลนด์ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในด้านวิชาการและงานวิจัย ซึ่งนอกจากหลักสูตรการศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว ทางสถาบันยังสนับสนุนให้นักศึกษาได้ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยี ถือว่ามีมุมมองก้าวไกลสมกับที่ QS World University Rankings 2021 จัดให้ Waikato เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับ 3 จริงๆ ค่ะ 

Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

หลักสูตรที่เปิดสอน

โครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันแห่งนี้สามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 สาขาหลัก ได้แก่ 

Division of Arts, Law, Psychology and Social Sciences

ถ้าใครเป็นเด็กสายศิลป์พี่เชื่อว่าสาขานี้ต้องตอบโจทย์! เพราะนอกจากจะมีหลักสูตรมนุษย์ศาสตร์อย่าง School of Arts ให้เรียนแล้ว น้องๆ ก็ยังสามารถเลือกเรียนกฎหมายได้ใน Te Piringa Faculty of Law, เรียนจิตวิทยาใน School of Psychology, และเรียนรู้วิธีคิดและการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่ School of Social Sciences ด้วย

Division of Health, Engineering, Computing and Science

สาขาต่อไปก็คือ 4 หลักสูตรยอดนิยมของเด็กสายวิทย์ ซึ่งก็จะมีทั้งหลักสูตรด้านสุขภาพ, การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ, การทำวิจัยและสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบมืออาชีพ, และการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมกับเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม  โดยแต่ละคณะ แต่ละสาขาใหญ่ก็จะมีสาขาย่อยให้เลือกต่อไปอีก ใครชอบเรียนรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติก็พลาดไม่ได้เลยค่ะ

  • Te Huataki Waiora School of Health
  • School of Science
  • School of Computing and Mathematical Sciences
  • School of Engineering

Division of Education

คณะที่จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรศึกษาศาสตร์นี้มีชื่อเต็มว่า ‘Te Kura Toi Tangata School of Education’ ซึ่งก็จะสอนทั้งเนื้อหาในตำราและวิชาที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง อย่างเช่น การทำงานด้านที่ปรึกษา ภาวะความเป็นผู้นำ การพัฒนามนุษย์ รวมไปถึงหลักสูตรสำหรับคนที่มีใจรักอยากเป็นอาจารย์ด้วย

Waikato Management School

ดูจากชื่อหลายคนก็คงพอรู้ว่าหลักสูตรนี้มีความเกี่ยวข้องกับ “การตลาดและการบริหารธุรกิจ” แต่สำหรับ Waikato แล้ว การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้นมีหลายปัจจัย นอกจากที่จะต้องเรียนรู้เศรษฐกิจและตลาดภายนอกแล้ว เรายังจะต้องปรับปรุงแก้ไขปัญหาภายใน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนและสังคมด้วย รับรองว่าหลักสูตรการจัดการของที่นี่จะต้องมีวิธีคิดที่ไม่ธรรมดาแน่นอน!

Te Pua Wānanga ki te Ao - Faculty of Māori and Indigenous Studies

ถ้าจะพูดถึงหนึ่งหลักสูตรน่าสนใจที่อาจหาไม่ได้ในมหาวิทยาลัยอื่นก็ต้องเป็นหลักสูตรนี้ “การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของเมารี” นั่นเอง เมารี (Māori) เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะนิวซีแลนด์ก่อนที่ชนผิวขาวจะเข้ามาครอบครอง พวกเขาเป็นชนเผ่าที่มีเชื้อสายโพลินีเซีย ซึ่งได้ชื่อว่ามีความเป็นนักรบโดยชาติพันธุ์ มีจิตใจกล้าหาญ และมีอารยธรรมที่โดดเด่นเป็นของตนเอง น้องคนไหนอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมารีก็ตามไปเรียนต่อในหลักสูตรนี้กันได้เลยค่ะ

Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

คุณสมบัติผู้สมัคร

สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าศึกษาต่อที่นี่ ทางมหาวิทยาลัยเขาก็มีข้อกำหนดเรื่องเกรด ระดับการศึกษา และความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษมาเป็นตัวชี้วัดกันหน่อย โดยผู้ที่จะสมัครได้ต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีเกรดเฉลี่ย (GPA) ไม่ต่ำกว่า 3.2 ส่วนผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ แต่ละคณะก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • Bachelor of Teaching, Bachelor of Education, Graduate Diploma in Teaching: 3 คณะนี้จะมี requirement ที่ค่อนข้างสูงกว่าคณะอื่นๆ โดยผู้สมัครจะต้องมีคะแนน IELTS overall 7.0 และจะต้องไม่มีพาร์ตไหนได้ต่ำกว่า 7.0
  • Bachelor of Laws (LLB): สำหรับใครที่อยากเรียนด้านกฎหมายก็ต้องมีคะแนน IELTS overall 6.5 และจะต้องไม่มีพาร์ตไหนได้ต่ำกว่า 6.0 หรือ TOEFL iBT (internet-based) 90 คะแนนขึ้นไป โดยมีคะแนนพาร์ต writing ไม่ต่ำกว่า 21 หรือ Pearson PTE Academic 58 คะแนนขึ้นไป โดยมีคะแนน communicative skills ไม่ต่ำกว่า 50
  • Bachelor of Social Work: ผู้สมัครต้องมีคะแนน IELTS overall 6.5 และจะต้องไม่มีพาร์ตไหนได้ต่ำกว่า 6.5 หรือ TOEFL iBT (internet-based) 85 คะแนนขึ้นไป โดยมีคะแนนพาร์ต writing ไม่ต่ำกว่า 22 นั่นเองค่ะ

ส่วนใครที่สนใจเข้าศึกษาในคณะอื่นก็สามารถยื่นผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษอย่าง IELTS หรือ TOEFL iBT ได้ตามเกณฑ์ต่อไปนี้เลย

  • IELTS 6.0 overall (ไม่มีพาร์ตไหนได้ต่ำกว่า 5.5)
  • TOEFL iBT (internet-based and home-based) 80 คะแนนขึ้นไป โดยมีคะแนนพาร์ต writing ไม่ต่ำกว่า 21
Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

วิธีการสมัคร

  1. อันดับแรกก็เป็นเรื่องของคุณสมบัติของผู้สมัคร เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเกรดและผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษของเราตรงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ หลังจากนั้นก็สามารถเข้าไปเช็กค่าเล่าเรียนและดูโปรแกรมการเรียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไวต์ได้ทันที
  2. เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรที่ตัวเองสนใจทาง International Offshore  และเมื่อตัดสินใจเลือกคณะและสาขาได้แล้วก็กรอกใบสมัครส่งไปได้เลย โดยช่องทางการส่งใบสมัครก็จะมีให้เลือกหลากหลาย น้องๆ สามารถส่งใบสมัครออนไลน์ผ่านทาง IPP login screen - Application ไปที่มหาวิทยาลัยโดยตรงหรือจะส่งผ่าน International Recruitment Agents ในประเทศของตัวเองก็ได้เหมือนกันค่ะ
  3. สำหรับใครที่สนใจรับทุนก็สามารถเข้าไปสมัครและส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ ซึ่งหลังจากขั้นตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีเอกสารประกอบการเรียนให้น้องๆ ได้เลือกใช้ โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบและทำการชำระพร้อมกับค่าเทอมเพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ์ในการเข้าศึกษา
  4. ต่อไปเป็นขั้นตอนของการทำวีซ่าและหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนิวซีแลนด์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางและการใช้ชีวิตในต่างแดน แต่เนื่องจากตอนนี้โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป เราเลยอาจจะต้องข้ามขั้นตอนนี้ไปก่อนนน T T
  5. สุดท้ายคือขั้นตอนของการลงทะเบียนเรียน ใครสนใจคอร์สไหน อยากเรียนอะไร ก็ไปเลือกลงกันทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยตามวิธีต่อไปนี้ได้เลย How to Apply
Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

ค่าเล่าเรียน

สำหรับค่าเล่าเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีของ University of Waikato ก็จะอยู่ที่ 25,915 -  33,735 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 786,600 - 1,204,000 บาท ขึ้นอยู่กับคณะและสาขาที่นักศึกษาแต่ละคนเลือกเรียน *ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าเอกสาร ค่าที่พัก ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ นะคะ

Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

ใครเรียนดี Waikato มีทุนให้!

สำหรับใครที่อยากแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้านและกำลังมองหาทุนสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่ากินอยู่ก็มากองรวมกันตรงนี้ เพราะ University of Waikato เขามีทุนให้เพียบ

‘University of Waikato International Excellence Scholarship’ เป็นหนึ่งในทุนปริญญาตรีที่น่าสนใจ ทุนนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติได้เลือกคณะและสาขาที่อยากเรียนได้เต็มที่แบบไม่มีข้อจำกัด ขอแค่ผลการเรียนดีและมีความสามารถก็พอ โดยมูลค่าทุนมีเงินสนับสนุนให้มากถึง 10,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์หรือประมาณ 220,000 บาท แถมยังเป็นทุนที่สามารถสมัครได้ตลอดทั้งปี ไม่มีกำหนดปิดรับอีกด้วย ใครสนใจอยากทราบข้อมูลของทุนนี้หรือทุนอื่นๆ เพิ่มเติม ก็สามารถเข้าไปดูได้ทางเว็บไซต์นี้เลยค่ะ 

ทุน University of Waikato
Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

Accommodation 
ที่พักอาศัยในรั้วมหา'ลัย!

การได้ใช้ชีวิตอยู่ในหอพัก + ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ นับเป็นอีกหนึ่งสีสันและความท้าทายของชีวิตวัยเรียนในต่างประเทศเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะนอกจากที่เราจะได้ลองออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองแล้ว ยังจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย

และสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เพิ่งเข้าเรียนที่นี่ University of Waikato ก็ได้จัดหาที่พักไว้ให้เลือกหลากหลายแบบ ใครเรียนอยู่ที่ Tauranga campus และชื่นชอบบรรยากาศการอยู่ร่วมกันเป็น community พี่ก็ขอแนะนำ ‘Hamilton Halls of Residence’ หอพักขนาดใหญ่ใกล้ที่เรียน ซึ่งก็จะมีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดให้นักศึกษาได้มาพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันได้

Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

อีกหนึ่งรูปแบบของที่พักนักศึกษาสุดน่าประทับใจก็คงหนีไม่พ้นการอยู่แบบ ‘Homestay’ หรือการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวชาวนิวซีแลนด์นั่นเอง แม้ว่าค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักจะสูงขึ้นมาหน่อย แต่ก็มั่นใจได้เลยว่าพวกเขาจะดูแลเราเป็นอย่างดี มีห้องส่วนตัวและเฟอร์นิเจอร์ให้ แถมยังได้กินอาหาร 3 มื้อครบครันในทุกวันด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่าและได้ฝึกสกิลภาษาตลอดเวลาไปเลย! 

Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

และสุดท้ายสำหรับใครที่ชอบอยู่แบบ private อยากจะย้ายมาอยู่กับเพื่อน พี่น้อง หรือคนรู้จักก็สามารถเลือกเช่าเป็นบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ส่วนตัวแบบ ‘Flatting and private rental’ ได้เหมือนกันค่ะ

Photo credit: University of Waikato website
Photo credit: University of Waikato website

เป็นยังไงกันบ้างคะ? หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับ ‘University of Waikato’ กันไป ต้องบอกเลยว่าในแต่ละปีมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักเรียนต่างชาติเดินทางไปเรียนมากถึง 80 ประเทศ ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงมีคนให้ความสนใจมากขนาดนี้? พี่ก็มองว่าอาจจะเป็นเพราะคนที่เรียนจบจากที่นี่มีเปอร์เซ็นต์ได้งานสูงมากกก ดังนั้นถ้าใครมีแพลนอยากไปเรียนปริญญาตรีท่ามกลางบรรยากาศดีๆ ที่นิวซีแลนด์ ก็อย่าลืมเก็บ Waikato ไว้เป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยในดวงใจกันด้วยนะคะ ^^

University of Waikato websiteSources: https://www.bbc.com/news/world-asia-53274085 https://www.labour.org.nz/news-jacindaardern-leadershiphttps://www.waikato.ac.nz
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น