Sharing is Caring! รวม 7 ปัญหาการเรียนภาษาในสายตาของ #เด็กเอกอังกฤษ

“ทำไมเรียนภาษามาหลายปีถึงไม่เข้าใจสักที”

เชื่อว่าหลายคนที่เรียนสายภาษาหรือกำลังหาความรู้เพิ่มเติมให้ตัวเองอยู่นั้นก็คงตั้งคำถามนี้กับตัวเองไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ บางคนเรียนภาษามาตั้งแต่ประถม(ไม่ก็อนุบาล) แต่ทำไม๊ทำไมถึงเข้าใจแค่ไม่กี่คำเอง เจอชาวต่างชาติทีไรก็อึกๆ อักๆ เกิดอาการมือไม้สั่น กลัวไปหมด หรือบางคนเรียนจบพร้อมฟาดเกรด 4 ภาษาอังกฤษมาแบบงามๆ แต่พอต้องใช้จริงกลับใช้ไม่ถูกซะงั้น 

ในฐานะที่ตอนนี้พี่ก็เรียนเอกภาษาอังกฤษอยู่ เลยมาสรุปปัญหาที่ตัวเองเจอ แต่แค่พี่คนเดียวอาจจะได้แค่มุมเดียวไม่จุใจ พี่ก็เลยแวบไปถามประสบการณ์ของเพื่อนๆ ในเอกรวมถึงรุ่นพี่วัยทำงานมาให้ด้วยค่ะ มาดูกันว่าแต่ละคนให้เหตุผลยังไงกันบ้าง?

Photo Credit: unsplash.com
Photo Credit: unsplash.com

1. สภาพแวดล้อม

ข้อแรกคือเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้หมายถึงอากาศค่ะ แต่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น เพื่อนหรือคุณครู รวมถึงคนรอบข้าง ถือว่าเป็นปัญหาแรกที่เด็กสายภาษาส่วนใหญ่ก็อาจจะคิดเหมือนกันแน่นอน เพราะหลายๆ อย่างในห้องเรียนนั้นไม่ได้บังคับให้เราใช้ภาษาเลยจริงๆ นะ

เพื่อนในเอกอังกฤษคนหนึ่งได้ให้คำตอบกับเรื่องนี้ไว้ว่า...

“ลองสังเกตดูว่าส่วนใหญ่แล้วนักเรียนจะพยายามพูดภาษาอังกฤษแค่ในคาบเรียน หรือบางทีก็ไม่พูดเลยเพราะครูไม่บังคับ พอหมดคาบปุ๊บก็พูดภาษาไทยต่อเพราะคนรอบตัวใช้แต่ภาษาไทย พอตั้งใจจะคุยกับเพื่อน เพื่อนก็ไม่คุยด้วย โอกาสในการพูดคุยกับเจ้าของภาษาก็มีน้อย โชคดีที่สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ต สงสัยอะไรก็ฮัลโหล Google ได้เลย แต่การที่ได้คุยกับเจ้าของภาษามันก็เป็นโอกาสที่ดีกว่าใช้อินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว”

giphy.com
giphy.com

ในส่วนของพี่วัยทำงานก็มีปัญหาเช่นค่ะ 

“นักเรียนมีแล้วทำไมคนทำงานจะไม่มี 5555 คือบางคนจบเอกภาษา ตอนที่เราเรียนอะพูดคล่องมากแต่ออกมาทำงานแล้วดันไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ สุดท้ายสกิลที่เคยฝึกมาก็ลดลงไปตามระยะเวลา อย่างของพี่ทำงานสายคอนเทนต์คือได้ทำงานที่ใช้ภาษาก็จริง แต่จะเป็นเรื่องการอ่าน-การแปลมากกว่า สกิลด้านนี้ของพี่ก็เลยดีขึ้น"

"แต่ถ้าเรื่องฟัง-พูด ก็อาจไม่ได้ flow เหมือนแต่ก่อนแล้ว สุดท้ายแล้วเราจะรอให้คนอื่นมาแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ เราก็ต้องหาทางเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ วิธีแก้ปัญหาของพี่คือต้องฝึกเองทุกวัน เพราะภาษามันคือทักษะ ถ้าไม่ฝึกคือลืมแน่นอน ก็เลยพยายามเสพสื่อต่างประเทศเท่าที่จะทำได้ ฟังเพลงสากลตลอดๆ หรือไม่ก็พูดกับตัวเอง พยายามคิดเป็นภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา เราจะได้ไม่ลืม”

Photo Credit: pixabay.com
Photo Credit: pixabay.com

2. เน้นแกรมมาร์เกินไป

ไวยากรณ์หรือ Grammar เป็นปัญหาระดับชาติที่หลายคนไม่ชอบ แต่จะให้ทิ้งก็ไม่ได้เพราะยังต้องใช้กันอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้พี่จะขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม หนึ่งคือประเภทที่เรียนแล้วสามารถนำมาใช้ได้ถูกต้อง กลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาเท่าอีกกลุ่มที่ต้องเรียนแบบอัดเนื้อหา ยังไม่ได้ทำความเข้าใจเลยก็ต้องขึ้นเรื่องใหม่แล้วเพราะกลัวเรียนไม่ทัน

“จริงอยู่ว่าเราทิ้งแกรมมาร์ไม่ได้ แต่มันก็ไม่สมควรเน้นหนักจนเกินไป บางโรงเรียนคือให้เรียนแต่แกรมมาร์ น้องๆ บางคนยังไม่ได้ลองใช้เพื่อทำความเข้าใจเลยก็ต้องขึ้นเรื่องใหม่แล้ว ส่วนครูก็บอกว่าเดี๋ยวสอนไม่ทัน มันก็เป็นปัญหาที่มีมานานแล้วเนอะ แก้ยากเหมือนกัน อีกหนึ่งเรื่องก็คือน้องบางคนชอบเคร่งกับแกรมมาร์มากเกินไป แบบเอาเรื่องนี้มาเป็นกำแพง ต้องใช้ถูกหลักเท่านั้นไม่งั้นไม่ยอมพูด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลยค่ะ น้องๆ ยังเรียนอยู่จะผิดจะถูกก็ใช้ไปก่อน”

giphy.com
giphy.com

ทีนี้ก็อาจมีคำถามโผล่ขึ้นมาอีกว่าถ้าเราใช้ไวยากรณ์ผิดล่ะจะเป็นอะไรไหม ซึ่งคำตอบจากพี่ๆ เอกอังกฤษเกือบทุกคนที่พี่ถามมาก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยค่ะว่า ‘ไม่มีปัญหาจ้าาา’

“ถ้าไม่ออกเสียง (pronounce) หรือใช้คำศัพท์ผิดทุกคนก็เข้าใจนะ เช่นถ้าต้องการถามเขาว่าเคยดื่มนมมาก่อนไหม เราต้องถามว่า Have you ever drunk milk before? อันนี้คือถูกหลักไวยากรณ์เลย แต่ถ้าเราพูดเป็น Have you ever drink milk before? มันผิดหลักก็จริงแต่ส่วนมากก็เข้าใจได้ คืออย่างน้อยก็รู้แกรมมาร์พื้นฐานก่อนแล้วค่อยๆ ลองปรับใช้ ลองฟังประโยคในหนังหรืออ่านบทสัมภาษณ์กันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเองค่ะ”

***แต่ใดๆ ก็คือถ้าเรียนจบมาแล้วเข้ามาทำงานในองค์กรต่างๆ เราจำเป็นต้องพกสกิลแกรมมาร์ที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการส่งอีเมลหรือพูดคุยกับคนในบริษัท(โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการความเป็นทางการ)ด้วยนะคะ เรื่องนี้ขอเน้นไว้เลยเพราะเวลาทำงานต้องมีความจริงจังและ Professional มากกว่าตอนเรียนค่ะ

giphy.com
giphy.com

3. คำเดียวสั้นๆ ‘ขี้เกียจ’ 

ข้อนี้ไม่พูดไม่ได้เพราะเป็นกันถ้วนหน้าแต่ต่างกันที่ปริมาณ ซึ่งจากการซาวด์๋เสียงชาวเอกอังกฤษมาแล้วก็ได้ความมาว่า การเรียนภาษาเนี่ยไม่ควรขี้เกียจจนเกินไป ไม่งั้นสกิลที่มีอาจถดถอยหรือไม่เดินหน้าไปไหนสักที T_T

“เรื่องนี้ไม่น่าจะต้องพูดเยอะเพราะหลายคนคงขี้เกียจเหมือนกัน 5555 แต่ก็อย่างที่รู้ว่าการเรียนภาษาที่ 2 หรือ 3 4 5 ต้องอาศัยความขยันเข้าสู้ ไม่ฝึกก็ไม่ได้ ไม่ขยันก็ไม่รู้อะไรเลย คิดง่ายๆ เช่นเราซื้อหนังสือมาอ่าน แต่เอามาวางไว้เฉยๆ แล้วไปนอนเล่นเกมมันก็ไม่ได้อะไรใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นเจ้าตัวขี้เกียจนี่แหละต้นตอของหลายๆ ปัญหาเลย ต้องสลัดมันทิ้งไปปป” 

ดังนั้นน้องๆ คนไหนที่เรียนภาษาไม่ว่าจะภาษาอะไรก็ตาม เราต้องฝึก ฝึก และก็ฝึกนะคะ ท้อได้แต่อย่าถอยก่อนนะ

giphy.com
giphy.com

4. เรียนแล้วแต่ก็ยัง ‘กลัว’  

ต่อให้เรียนภาษาอังกฤษมาหลายปีแล้ว แต่พอเจอชาวต่างชาติทีไรก็กลัวจนอยากวิ่งหนีตลอด พี่มองว่าปัญหานี้อาจเป็นเพราะน้องๆ ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีในช่วงเรียน เช่นเดียวกันกับเพื่อนในเอกคนนึงค่ะ ที่ได้เจอประสบการณ์แย่ๆ ในช่วงเรียนมัธยม ส่งผลให้ในสมัยเรียนมัธยมเขามีปัญหากับการอ่านออกเสียงท่ามกลางคนเยอะๆ เป็นอย่างมาก

“เราเคยมีประสบการณ์ที่ครูเรียกให้ตอบแต่เราตอบไม่ได้ เพื่อนในห้องเลยหัวเราะ บางคนก็ล้อเลียนสำเนียง หนักสุดก็คือครูหาว่าเราไม่ฟังที่เขาสอนแล้วทำโทษเรา ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเป็นปมนะ น้องๆ บางคนไม่ได้ถูกล้อแต่พอเห็นเพื่อนโดนแบบนั้นก็มีความกลัวเหมือนกัน กลายเป็นภาพจำว่าถ้าตอบผิดหรือตอบไม่ได้จะโดนแบบนี้ เด็กก็กลับไปฝังใจ สุดท้ายก็ไม่กล้าพูดอีกเลยเพราะกลัวผิด”  

วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้คือน้องๆ ต้องก้าวผ่านความกลัวนั้นมาให้ได้อาจเริ่มจากการหาเพื่อนคุย  หรือพยายามพูดหน้ากระจกคนเดียวทุกวันเพื่อเป็นการฝึกก่อนก็ได้ค่ะ

giphy.com
giphy.com

5. โลกของความง่าย ไม่รู้อะไรก็จ้างทำ

น้องๆ เคยเลื่อนเฟซบุ๊กไปเรื่อยแล้วเจอเพจรับจ้างทำการบ้านไหมคะ บางเจ้าเก่งหน่อยก็รับแปลเพิ่มขึ้นมา ส่วนเรื่องราคานี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะแรงแซงโค้งไปแล้วแน่ๆ พูดตามความจริงเรื่องนี้ไม่เชิงว่าเป็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะถ้าบางคนมีงานเยอะล้นมือจริงๆ การจ้างก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี แต่สำหรับคนอยากเก่งภาษาเพิ่มมากขึ้นแต่ดั๊นนนไปจ้างทำนี่สิที่ไม่โอเคค่ะ  

“อยากเก่งภาษาแต่จ้างแปลอันนี้เราว่าไม่ได้ คือบางเรื่องมันยากก็เข้าใจนะ แต่มันสามารถขอคำปรึกษาจากอาจารย์ได้ไง จริงอยู่ว่ามันทำให้เรามีงานส่งแถมได้คะแนนดีเพราะคนที่รับทำก็ต้องมีสกิลสูงตามราคา แล้วตัวเราล่ะได้อะไรนอกจากคะแนนกับงาน ความรู้ยังไม่ได้เลย”  

เพราะฉะนั้นถ้าน้องๆ อยากเก่ง ต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยตัวเอง อย่าเรียนแค่ให้ผ่านๆ ไปนะคะ

Photo Credit: unsplash.com
Photo Credit: unsplash.com

6. วิธีการสอนของครู

ต่อมาเป็นเรื่องของครูผู้สอนค่ะ แน่นอนว่าการสอนของแต่ละคนนั้นมีวิธีต่างออกไป แต่วิธีการที่ทำให้เป็นปัญหาในการเรียนภาษาคือวิธีตามแบบที่เพื่อนๆ และพี่ๆ ได้ให้คำตอบไว้ดังนี้ค่ะ

“ที่จริงครูนี่ก็เป็นจุดเริ่มของปัญหาหลายอย่างนะ เช่น ความกลัว ความไม่มั่นใจ ถ้าครูสามารถซัพพอร์ตความรู้สึกเราได้ แบบคอยให้กำลังใจตอบผิดก็ไม่เป็นไร เราก็คงอยากเรียนภาษามากกว่านี้ หรือถ้าครูมีวิธีสอนใหม่ๆ ให้เล่นเกมเกี่ยวกับการใช้ภาษาบ้าง แทรกเรื่องเล่าบ้าง เราว่าแบบนี้กระตุ้นความจำเด็กได้ดีกว่าแถมเอนจอยด้วย แต่ครูแบบที่เจอมาไม่ใช่แบบนั้นน่ะสิ แค่ยกมือถามเขาก็หาว่าเราไม่ฟังแล้ว”

“ของเราเป็นเรื่องการอ่านหนังสือ ครูจะชอบบังคับให้ซื้อหนังสือตามที่บอกแล้วเราต้องเอาไปอ่าน ‘เพื่อสอบ’ คือบางเล่มเนื้อหาไม่ได้น่าสนใจเลยคำศัพท์ก็ยาก แต่เราก็ต้องมานั่งอ่านให้จบ อ่านจบแล้วก็ลืมเพราะไม่ได้สนใจจริงๆ ไง ถ้าเราได้อ่านหนังสือที่อยากอ่านคงจะโฟกัสแล้วก็จำได้มากกว่านี้”

giphy.com
giphy.com

ส่วนในด้านของวัยทำงาน แม้พี่ๆ จะต้องนึกย้อนไปนานหน่อยแต่ก็พบปัญหาคล้ายกันเลยค่ะ

“ถ้าแบบสมัยก่อนเลยอะ สมัยสาวๆ 555555 วิธีการสอนของครูก็เกี่ยวมากกกกกก ครูบางคนสอนเหมือนสอนๆ ไปที ยิ่งตอนมหา’ลัยคือเน้นให้เรียนด้วยตัวเองอีก บางทีเราก็อยากได้อะไรมา fulfill หรือช่วยผลักดันเราเข้าถึงการใช้ภาษาแบบจริงๆ แต่ไม่ค่อยเจออะไรแบบนั้นเลย เจอแต่แบบใช้แต้มบุญเก่า ก็เลยเข้าใจเพื่อนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ภาษานะ คือตอนเรียนเขารู้สึกไม่อิน บวกกับเจอครูสอนไม่รู้เรื่องอีกก็กลายเป็นไม่สนใจไป แต่พอถึงวัยทำงาน เพื่อนหลายคนก็อยากเรียนภาษาเพื่ออัปสกิลให้ตัวเองกันเยอะเลย (รวมถึงอัปเงินดือน) พี่เลยคิดว่าเรื่องเป้าหมายในการเรียนภาษาก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่ทำให้เราเรียนภาษาได้มากน้อยแค่ไหน”

giphy.com
giphy.com

7. ความหวังเปลี่ยนเป็นความกดดัน

เดาว่าน้องๆ คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ทุกคนล้วนคาดหวังกับตัวเรา โดยเฉพาะป้าข้างบ้าน” ใช่ไหมล่ะคะ เป็นเรื่องปกติค่ะที่ครอบครัวจะคาดหวังกับเรา แล้วเราก็มาตั้งความหวังกับตัวเองต่อ บางคนคิดว่าจะต้องจำศัพท์ 100 คำได้ภายใน 7 วัน ซึ่งการตั้งเป้าหมายแบบนี้มันจะทำให้กดดันตัวเองมากจนเกินไปค่ะ รวมถึงเหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ว่าเราเหลือเวลาเรียนน้อยทั้งๆ ที่ อาจจะมีเวลาอีกมากมายด้วย

“บางทีครอบครัวก็เอาเราไปเทียบกับคนอื่น แบบทำไมเพื่อนทำได้แล้วหนูทำไม่ได้ล่ะ พอเราเก็บมาคิดก็กลายเป็นความเครียด พอเครียดเราก็ตั้งเป้าหมายกับตัวเองใหม่ว่าต้องทำให้ได้ ถ้ามันเป็นไปตามเป้าหมายก็ดีไป แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่หวังก็เสียใจ และคงมีอคติกับภาษานั้นพอสมควรเลย อย่างเราเคยลงเรียนสเปนเพิ่มแต่ท่องศัพท์ไม่ได้ เราก็เก็บมาคิดว่าเป็นเพราะตัวเองโง่เหรอ หรือพยายามไม่มากพอ สุดท้ายตอนนี้เราไม่ได้เรียนสเปนแล้วเพราะกดดันตัวเองมากจนไม่มีความสุขตอนเรียนเลย”

การมีเป้าหมายเป็นของตัวเองเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ถ้าถึงขนาดมากดดันตนเองจนเครียดนี่ต้องหาทางคลายเครียดด้วยนะคะ เช่นลองหาวิธีเรียนใหม่ๆ จะได้มีความสุข อย่างถ้าชอบเล่นเกมก็เปลี่ยนภาษาให้เป็นภาษาอังกฤษ หรือชอบทำอาหารก็ฝึกอ่านชื่อเมนูที่ต่างกันดูนะคะ  เรียนภาษาต้องเอนจอยค่าาา

giphy.com
giphy.com

 

จาก 7 ข้อที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าปัญหาทั้งหมดไม่ได้เกิดจากคนภายนอกแค่เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยหลักมาจากตัวเราเองด้วยที่ต้องวัดใจว่าจะสามารถเอาชนะความกลัว ขุดตัวเองออกจากความขี้เกียจแล้วลุกขึ้นมาฝึกภาษาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าน้องๆ ทำได้พี่มั่นใจว่าปัญหาต่อๆ ไปจะต้องปลดล็อกตามมาแน่นอนค่ะ 

สำหรับใครที่พบปัญหาอื่นๆ ในการเรียนภาษาก็อย่าลืมมาแชร์กันในคอมเมนต์ด้านล่างนะคะ (รออ่านอยู่ ><) หรือน้องๆ คนไหนอยากศึกษาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับภาษา ไม่ว่าจะเป็นแปลเพลง ศัพท์ฮิต ทริคต่างๆ ไปจนถึงแกรมมาร์ก่อนสอบพี่ก็ขอฝาก English Issues ของทาง Dek-D ไว้ด้วย และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเรียนภาษาอยู่เลยนะคะ อย่าเพิ่งยอมแพ้ล่ะ Keep going ^^! 

 

พี่ปลื้ม
พี่ปลื้ม - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น