รวมแนวทางเรียนต่อ-ทำงานสายวิทย์สุขภาพในต่างประเทศ (แพทย์,พยาบาล,หมอฟัน,etc.)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ที่ผ่านมามีน้องๆ สนใจและสอบถามเกี่ยวกับการเรียนสายวิทย์สุขภาพในต่างประเทศเยอะมาก วันนี้เราเลยขอพาไปส่องชีวิต 11 คนไทยที่ไปเรียนและทำงาน แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, ชีวเคมี, วิศวกรรมชีวการแพทย์ ฯลฯ มีทั้งจากสาธารณรัฐเช็ก, รัสเซีย, นอร์เวย์, เยอรมนี, จีน,  เกาหลี, อเมริกา  แน่นอนค่ะว่าเล่าแบบเห็นภาพบรรยากาศ เราเชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ทุกคนได้เห็นแนวทางการเดินเส้นทางนี้ในต่างประเทศแน่นอนค่ะ :)

1
เด็กทุนรัฐบาลรัสเซีย
เริ่มเรียนแพทย์ด้วยภาษาที่ไม่คุ้นเคย

การเรียนแพทย์ในภาษาที่ไม่คุ้นเคย เป็นอีกหนึ่งความท้าทายมากๆ ค่ะ ในนี้มีรีวิวจากนักเรียนทุนรัฐบาลรัสเซียที่ได้ไปเรียนคณะแพทย์ที่ Moscow State University of Medicine and Dentistry (MSUMD) เป็นหลักสูตร 6 ปี + ปรับพื้นฐาน 1 ปี  เล่าให้ฟังแบบครบทั้งเนื้อหาเรียน ภาษา  สภาพแวดล้อม สังคม สวัสดิการ รวมถึงตอบข้อสงสัยว่าหากจบหมอที่รัสเซียจะกลับมาเป็นหมอที่ไทยได้มั้ย? ต้องเดินเรื่องยังไงบ้าง? บทสัมภาษณ์นี้มีคำแนะนำเบื้องต้นให้ค่ะ

"เนื้อหาเรียนปี 1 เรียนวิทย์พื้นฐาน คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ (เราเข้าใจได้เร็วเพราะมีเรียนตอนปรับพื้นฐานมาแล้ว ในขณะที่คนรัสเซียเค้าจบ ม.ปลายแล้วขึ้นปี 1 เลย) เรียน Anatomy ต้องท่องทุกส่วนของร่างกายเป็นภาษารัสเซียและภาษาละติน และปีหลังจากนั้นจะเรียนพวกโครงสร้างการทำงานของร่างกาย ไบโอเคมี และเริ่มเรียนแพทย์แต่ละแขนง เช่น ศัลกรรม สูติเวช ฯลฯ ครับ”

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

2
ชีวิต 17 ปีในอังกฤษ
จาก นร.ไฮสคูลสู่แพทย์หญิง

 

เป็นอีกรีวิวที่น่าสนใจมากค่ะ! พี่คนนี้ไปเรียนประเทศอังกฤษตั้งแต่มัธยมจนได้เป็นแพทย์ที่นั่น เล่าให้เห็น process  ก่อนจะได้เข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ University of Birmingham ซึ่งเป็นหลักสูตร 5 ปี  เมื่อเรียนจบจะได้ MBChB (Bachelor of Medicine and Bachelor of Surgery)  ค่ะ ในบทสัมภาษณ์นี้จะรีวิวครบทั้งหลักสูตรตั้งแต่ปี 1-5  จนได้ทำงานและสมัครเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้วย เจาะลึกไปถึงเรื่องรายได้และลักษณะคนไข้ที่เจอ (อิงจากปี 2560) เก่งแบบไปสุดมาก!

 

"สองปีแรกเป็น Pre-Clinical มาถึงปีแรกก็เริ่มเรียนวิชาทางการแพทย์เลย เช่น สรีรวิทยา จริยธรรมทางการแพทย์ กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมีทางการแพทย์ พอปี 2 ก็จะเรียนคล้ายๆ กัน โดยที่นี่เค้าจะให้นักศึกษาได้สัมผัสคนไข้ตั้งแต่ปีแรก และทุกๆ 2 อาทิตย์จะมี 1 วันที่เราจะได้ไปเรียนรู้และคุยกับคนไข้ ได้ฝึกเจาะเลือด วัดความดัน อะไรต่างๆ นานา ซึ่งอันนี้จะมีไปจนถึงปี 4 เลย"

  มาเก็บข้อมูลกันเลย!

3
นักเรียนแพทย์ใน Czech
เรียนยากเบอร์ไหน?

ต่อกันที่นักศึกษาแพทย์ ม.ชาร์ลส์ (First Faculty of Medicine, Charles University) ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป เก่าแก่พอๆ กับ Oxford และชื่อเสียงยังเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรปด้วยนะคะ หากเรียนจบจะได้ใบประกอบวิชาชีพของเช็ก ทำงานได้ในสหภาพยุโรป (EU) หรือถ้าอยากกลับมาทำงานที่ไทยก็จะมีช่องทางเหมือนกัน

 

  “ยากสุดยกให้วิชา Anatomy เจอกันตั้งแต่ปี 1 เทอม 1 เพราะที่นี่ไม่ได้เริ่มด้วยวิชาทั่วไป แต่เริ่มด้วยวิชาแพทย์เลยค่ะ ทำให้มี่ได้ทำความรู้จักกับอาจารย์ใหญ่ หรือ Cadavers รู้สึกเหมือนเปิดโลกมากเพราะมันต่างจากมัธยมโดยสิ้นเชิง วิชากายวิภาคเราเรียนต้องจำละเอียดยิบย่อยมากๆ รู้สึกเหมือนสิ่งที่เรียนมาตลอด 6  ปีในช่วงมัธยม ยังไม่เยอะเท่าวิชานี้ตัวเดียว (แต่ก็สนุกนะ!) มีผ่าอาจารย์ใหญ่ด้วย ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นจากการอ่าน textbook”

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

4
กว่าจะติดที่หมอที่นอร์เวย์
ใน ม.ที่คะแนนคณะแพทย์สูงสุดในประเทศ

หลังจบ ม.3 เธอต้องแพ็กกระเป๋าและความฝันที่อยากเป็นหมอไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนอร์เวย์ที่ต่างกับไทยมากทั้งเรื่องภาษา สังคม วัฒนธรรม ค่าครองชีพ ระบบเรียน การสมัครเรียน แม้กระทั่งค่านิยมที่คนนอร์เวย์ให้ค่ากับประสบการณ์มากกว่า ข้อดีคือคนเรียนหมอที่นี่ก็ได้เงินสนับสนุนค่าเทอมด้วย แต่นั่นยิ่งทำให้การสอบเข้าหมอยากชนิดเด็กนอร์เวย์บางคนยังเลือกไปต่างประเทศแทน ส่วนเธอคนนี้ไฟต์หนักจนติดหมอที่  Universitetet i Oslo (UiO) ซึ่งคะแนนคณะแพทย์สูงที่สุดในประเทศค่ะ  ใครที่อยากเรียนต่อประเทศนี้ก็สามารถอ่านเป็นแนวทางการสมัครเรียนมหาวิทยาลัยได้นะคะ :)

“UiO คือม.แพทย์ที่เข้ายากที่สุดเพราะอยู่ในเมืองหลวงและมีความหลากหลายสูง ยิ่งเจอช่วงโควิดก็ทำให้คนสมัครสายสุขภาพพุ่งเป็นอันดับ 1 มีประมาณ 60,000 คนจากคนที่สมัครเรียนทั้งหมด 150,000 คน  และคนที่เลือก Oslo ไว้อันดับ 1 มี 1,300 คนจาก  3,000  คนที่สมัคร  อัตราแข่งขัน 1:100 และจากเกรดต่ำสุดปีที่แล้ว 68.5 ผลออกมาคืออัปขึ้นมาเป็น 69 (เห็นแบบนี้ กว่าจะขึ้นสักจุดคือยากมากกก) การสมัครมหาวิทยาลัยที่นี่ต้องใช้เกรดล้วนๆ ไม่มีสอบเข้านะคะ”

  มาเก็บข้อมูลกันเลย!

5
พยาบาลห้องฉุกเฉินใน 'เยอรมนี' 
สมรภูมิงานรอบทิศ สติต้องมี ภาษาต้องได้!

คนไทยที่ถือใบประกอบวิชาชีพพยาบาลถึง 3 ประเทศ ทั้งไทย เยอรมนี และอเมริกา โดยพาร์ตใหญ่ของบทสัมภาษณ์คือการเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน 2 ปีที่เยอรมนี ก่อนจะสอบติดใบประกอบของอเมริกาในภายหลัง รับรองได้แรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆ จากเรื่องราวของเธอแน่นอนค่ะ 

"เวลาเข้าเวรจะมี 3 ช่วงคือ เวรเช้า (06.18-14.35 น.) เวรบ่าย (13.33-21.45 น.) เวรดึก (9.15-18.45 น.) แต่ละสัปดาห์จะได้ประจำจุดไม่ซ้ำแล้วแต่หัวหน้าจะจัดตารางงานให้ เช่น วันนี้อยู่จุดคัดกรอง (Triage) พรุ่งนี้อยู่ห้องตรวจทั่วไป (Treatment room) อีกวันอยู่จุดสังเกตอาการ (Observe) แปลว่าเราต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ละวันก็ทำนายไม่ได้ว่าจะเจอเคสอะไรเยอะแค่ไหน บางวันแค่เวลาว่างครึ่งชั่วโมงยังไม่มีเลย หรือกินข้าวยังไม่ทันกลืนก็มีคนไข้ฉุกเฉินเข้ามาให้รีบรักษา"

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!


6
เปิดใจอาชีพ Flight nurse 
งานพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล

หลายคนคิดว่าถ้าเรียนจบพยาบาล ก็จะต้องทำงานแค่ในโรงพยาบาล  แต่จริงๆ  แล้วข้อดีและความพิเศษของการเป็นพยาบาลก็คือสามารถทำงานได้หลากหลายมากๆ  เช่น  สามารถเป็นเซลส์ขายยา ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์  เปิดร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์  ทำธุรกิจ หรือแม้แต่ "Fligtnurse" ที่ทำงานบนอากาศ! อยากรู้จักอาชีพนี้มากขึ้นมั้ย? คลิกอ่านต่อในบทความกันค่ะ

 

"Flight nurse  คือพยาบาลที่ต้องขึ้นเครื่องบินไปกับหมอและผู้ป่วยเพื่อคอยดูแลตลอดการเดินทาง  โดยคนไข้เหล่านี้จะเป็นคนไข้ที่ไม่มีประกัน แต่ป่วยวิกฤตที่ต้องการการรักษาพยาบาลแบบเร่งด่วน  เหมือนเวลาเราไปเดินป่าหรือเดินเขาในที่ๆ  มีการขนส่งลำบาก  บางครั้งเวลาเกิดอะไรฉุกเฉินเค้าก็จะส่งเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินขนาดเล็กมารับ  และส่วนมากจะเป็นบริการของโรงพยาบาลเอกชน "

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

 

7
เส้นทางเรียนทันตะฯ 
จบมาเป็นเจ้าของคลินิกที่วอชิงตัน

มาคุยกับครู KAYLEE เจ้าของยูทูบแชนเนลยอดตามหลักแสนกันค่ะ ชีวิตเธอดูเหนือความคาดหมายมาก จากเด็กโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล พลิกไปเริ่มต้นชีวิตเด็กไฮสคูลที่ Hawaii โดยที่ภาษาแทบจะเป็นศูนย์ จากนั้นเรียนต่อ ป.ตรีนิติวิทยาศาสตร์ ตามด้วยการเป็นผู้ช่วยหมอฟัน และเรียนจบทันตแพทย์ที่ Las Vegas ด้วยคะแนน Top10 ของรุ่น และมีดีกรีเป็นถึงรองประธานนักเรียน พอเป็นหมอฟันคลินิกหนึ่งได้สักระยะ ก็จับพลัดจับผลูเป็นเจ้่าของคลินิกแห่งหนึ่งในรัฐ Washington!

กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เพราะโชคช่วย มาดูกันว่าเส้นทางกว่าจะเป็นหมอฟันที่อเมริกาต้องผ่านกี่ด่าน?  แล้วชีวิตเรียนและทำงานสายนี้ต้องเจอความท้าทายอะไรบ้าง?

 

“มันยากกว่าตอนเรียนนิติวิทยาศาสตร์เป็นพันๆ เท่า ช่วงปีแรกกับปีที่ 2 เจอไป 13 คลาส รวม 33 หน่วยกิตต่อเทอม เนื้อหาเจาะลึกเรื่องทันตะฯ และเรื่องวิทย์สุขภาพเหมือนกับแพทย์เลย เพราะสุขภาพช่องปากและส่วนอื่นๆ เชื่อมโยงกันหมด อย่างวิชาที่คนตกกันเยอะๆ คือ  Anatomy & Physiology ซึ่งก็คือกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาค่ะ"

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

8
แพทย์แผนจีน ม.เซี่ยงไฮ้

ถ้าใครเคยติดตามซีรี่ส์ “แดจังกึม” หรือ “หมอโฮจุน” น่าจะพอจำเรื่อง “การฝังเข็ม” ได้ใช่มั้ยคะ :)  ศาสตร์การรักษาของชาวจีนนี้ดูมหัศจรรย์และน่าเหลือเชื่อสำหรับหลายคนมากๆ อีกทั้งยังจุดประกายให้หลายคนอยากไปเรียนฝังเข็มเหมือนในซีรีส์ อย่างเช่นนักเรียนไทยที่ได้ทุน Shanghai municipal government scholarship B (Partial scholarship) ไปเรียนคณะแพทย์แผนจีนที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ทุนนี้เป็นทุนรัฐบาลตามเมือง ครอบคลุมค่าเทอมและค่าประกันเลยค่ะ

“แพทย์แผนจีนจะเน้นแนวสุขภาพบำบัด ไม่ได้รักษาเป็นโรคๆ แต่แบ่งตามภาวะของโรคโดยยึดทฤษฎีความสมดุลของหยินหยางเป็นหลัก เช่น ร้อน-เย็น แล้วซอยย่อยเข้าไปอีก ดูจากองค์รวมของร่างกาย บางครั้งนำมาใช้ปรับสมดุลโรคได้ หรือบางครั้งเอามารักษาควบคู่กับแผนปัจจุบัน เช่น ฝังเข็มให้ร่างกายสู้กับการทำคีโมต่อไปได้”

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

9
นศพ.ที่ไปแลกเปลี่ยนถึงเกาหลีใต้
Kyungpook National U.

เรื่องราวประทับใจของนักศึกษาแพทย์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนผ่านโครงการของศิริราชเป็นระยะเวลา 1 เดือนที่ Kyungpook National University เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ การเรียนและทำงานของนักศึกษาแพทย์ที่นั่นจะเป็นยังไง? เหมือนในซีรีส์ที่เราดูมั้ย? มาเก็บแรงบันดาลใจดีๆ กันค่ะ!
 

"เราได้ไปทำงานในส่วนของ Orthopedics (เกี่ยวกับกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ) และ Surgery (ศัลยศาสตร์) ค่ะ นอกจากฟังเลกเชอร์แล้วก็ได้ออก OPD = ตรวจผู้ป่วยนอก และเข้า field = ดูงานในห้องผ่าตัด ตรงนี้เขาก็เปิดโอกาสให้เราเข้าไปยืนมองการผ่าใกล้ๆ ช่วยถือเครื่องมือด้วยก็ได้ ซึ่งถ้าพูดถึงบรรยากาศโรงพยาบาลของเกาหลีเหมือนในซีรีส์เลยค่ะ เพียงแต่จะดูธรรมดากว่าไม่ได้ตื่นเต้นแบบที่เราเห็นในฉากห้องฉุกเฉิน"

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

10
เด็กทุนรัฐบาลเกาหลี
เรียนต่อ ม.การแพทย์ Konyung

พี่คนนี้ได้ทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ระดับ (GKS) ไปเรียนต่อ ป.โท คณะ Biomedical Engineering (의용공학과) ที่ Konyang University (Medical Campus)   ซึ่งเป็น ม.แพทย์ในเมืองแดจอน บรรยากาศในและนอก ม.คือทันสมัยมาก แต่ชีวิตวุ่นวายตั้งแต่เริ่ม ทั้งป่วยก่อนบิน ไปถึงเจอบัดดี้เท ในขณะที่พูดเกาหลีได้แค่ 2-3 คำ แล้วยังต้องไปเจอคลาส discuss มันส์ๆ ภาษาเกาหลีล้วนไปอีกกก ตามไปอ่านกันเลย!

“เนื้อหา Biomedical Engineering = วิศวะ + ชีวะ ในนั้นมีหลายหัวข้อเลย เช่น วัสดุทางการแพทย์, เครื่องมือ  ระบบจัดการมาตรฐานโรงพยาบาล, เทคโนโลยีการประมวลผลทางภาพ, ชีวกลศาสตร์ ส่วนที่เรามาศึกษาลงลึกที่เกาหลีคือเทคโนโลยี 3D cell culture ที่เพาะเลี้ยงในระบบ Pillar, Chip เพืิ่อพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์สำหรับการวิจัยทดลองทางการแพทย์  ซึ่งข้อดีอย่างนึงตอนเรียน  มศว คือเริ่มทำวิจัยเร็วทุกคน ต่างจากที่เกาหลีที่ต้องสนใจแล็บนั้นจริงๆ ถึงจะเริ่มเร็ว บางคนไฟแรงแบบเริ่มตั้งแต่ปี 1”

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

11
เด็ก ป.เอกควบศิริราชฯ-ม.คยองบุก 
ม.รัฐอันดับ1ในเกาหลีใต้

 คนไทยที่เพิ่งเรียนจบจากโครงการปริญญาเอกร่วม (dual-Ph.D. degree program) ระหว่างภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กับภาควิชาชีวะเคมี คณะแพทยศาสตร์ ม.คยองบุก Kyungpook National University ของเกาหลีใต้ เรียนเป็นภาคอินเตอร์และจบมาได้ปริญญา 2 ใบด้วย แน่นอนว่าไม่ง่ายแต่น่าสนใจมาก ได้สัมผัสจุดเด่นด้านการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งฝั่งเกาหลีใต้หลักๆ ก็คือเรื่องทุนเลยค่ะ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการวิจัยมาก ถ้าเรียน ป.โท-เอกการันตีว่ามีเงินเดือนให้

“พี่กล้าพูดได้เลยว่าความรู้ความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะในแง่การรักษาพยาบาล เราสามารถเทียบเคียงสากลได้หมดโดยไม่มีข้อกังขา และเบื้องหลังการวิจัยยาหลายตัวก็มาจากคนไทยที่ศึกษาทั้งในและต่างประเทศนะ ภูมิใจได้เลยครับ (แต่ถ้าถามว่าเผชิญอุปสรรคอะไรอยู่ ก็คือเรื่องเงินกับโอกาสนั่นแหละ)”

 มาเก็บข้อมูลกันเลย!

[ชวนอ่านต่อ]

รวมประสบการณ์เตรียมขอทุน-เรียนต่อ ป.ตรี
ม.ชั้นนำและ Ivy League

 icon by srip / freepik.com 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด