ดูมากไปก็ไม่ดี! ‘Binge-Watching’ อาการเสพติดซีรีส์ ที่อาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้

สวัสดีค่า~ เชื่อว่าน้องๆ Dek-D หลายคนคงชอบดูซีรีส์กัน ไม่ว่าจะซีรีส์เกาหลี หรือซีรีส์ตะวันตก บางคนอาจแค่ชอบดู แต่บางคนก็อินจัดจนหยุดดูไม่ได้ (พี่ก็เป็นค่ะ) ถ้าถามว่าแปลกมั้ย ก็คงต้องบอกว่าไม่ เพราะเรื่องราวก็ถูกออกแบบมาให้คนอยากติดตามไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจนะคะ อาการเสพติดแบบนี้อาจเป็นสัญญาณของสุภาพจิตที่กำลังแย่ลง แถมยังส่งผลไม่ดีต่อร่างกายเราได้อีก ซึ่งอาการนี้เรียกว่า ‘Binge-Watching Addiction’ หรือเสพติดการดูซีรีส์นั่นเอง 

วันนี้พี่เมนี่เลยจะพาไปดูกันว่าเกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง อาการเป็นยังไง แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับมันแบบไหน ตามไปอ่านแล้วสังเกตอาการกันเลย!

แค่ชอบหรือเสพติดกันแน่?

เล่าก่อนว่า ‘Binge-watching Addiction’ หรือพฤติกรรมเสพติดซีรีส์ จะหมายถึงการดูซีรีส์ตั้งแต่ 2-6 ตอนในคราวเดียว โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นการดูผ่านทีวี โทรศัพท์ แลปทอป หรือแท็บแลต แต่สำคัญคือจะติดมากจนต้องดูตลอดแม้แต่ตอนเดินทางไปเรียนหรือทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นคือคนส่วนมากมักจะนั่งดูคนเดียว ทำให้ไม่สามารถหยุดดูหรือควบคุมจำนวนตอนในแต่ละครั้งได้ **แม้จะต่างกันตามลักษณะนิสัย แต่พฤติกรรมแบบนี้ก็ส่งผลให้รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวมากขึ้นได้เหมือนกัน

และนี่ก็เป็นผลพวงจาการพัฒนาของแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่น้องๆ คุ้นเคยกันอย่างดี อย่าง Netflix, Apple TV, Amazon Prime ฯลฯ ที่บางครั้งก็ปล่อยออกมาทั้งซีซันให้ผู้ชมไม่ต้องรอนาน ก็อาจเป็นข้อดีในมุมนึง แต่จริงๆ เป็นดาบสองคมตรงที่ทำให้หลายคนเกิดอาการเสพติดได้ค่ะ

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

แรงจูงใจและสาเหตุที่ส่งผลต่ออาการเสพติด

แม้สาเหตุของพฤติกรรมจะยังไม่แน่ชัด แต่หลักๆ เกิดจากการพยายามจัดการความรู้สึกไม่ดีหรือเรื่องแย่ๆ ในชีวิตจริง และอาจประกอบกับการโฆษณา และความเข้าถึงง่ายของสื่อเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งการดูเพื่อประโยชน์ในการเข้าสังคม ทั้งนี้ยังมีหลายงานวิจัยที่ร่วมระบุสาเหตุอื่นๆ ด้วย เลื่อนลงมาอ่านต่อกันค่ะ

ด้านการเล่าเรื่องและซีรีส์

  • ความน่าดึงดูดของเรื่อง พล็อต หรือตัวละคร ทำให้คนดูอยากจมอยู่ในโลกแฟนตาซีอีกใบที่สร้างความสุขและสนุกอีกรูปแบบให้กับพวกเค้า ซึ่งต่างจากโลกความจริงที่เต็มไปด้วยเรื่องเครียด
  • อาจเกิดการเสพติดเพราะรู้สึกเชื่อมติดกับตัวละครได้ง่าย ทำให้ไม่อยากเลิกดู  // ยกตัวอย่างง่ายๆ น้องๆ เคยเป็นกันมั้ย? รู้สึกชอบตัวละครบางตัวมากกกจนไม่อยากให้เค้าตาย หรือไม่อยากให้เรื่องถึงตอนจบ

ด้านลักษณะนิสัย

  • มักเป็นคนที่ไม่ค่อยเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ
  • มีอารมณ์ด้านลบเยอะ เช่น เศร้าและวิตกกังวล
  • มีความอดทนต่ำกับสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง
  • ความมั่นใจต่ำ
  • ชอบคิดหรือวิจารณ์ตัวเองในทางที่ไม่ดี

ด้านสังคม

  • อยากหาเพื่อน อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม หรืออยากให้คนรอบข้างยอมรับ
  • อาจเกิดจาก FOMO (Fear of Missing Out) ความรู้สึกกลัวที่จะพลาดอะไรไป หรือพูดง่ายๆ คือกลัวตกกระแสนั่นเองค่ะ เพราะอยากมีเรื่องไว้พูดคุยกับเพื่อนๆ
  • พอกลัวตกกระแส ก็อาจพยายามดูให้จบเร็วๆ เพราะไม่อยากโดนสปอยล์เรื่องจากคนอื่น
  • ต้องการหลีกหนีจากสังคม ปัญหาในชีวิต หรือความรู้สึกด้านลบ โดยเฉพาะเวลารู้สึกเหงา เพราะซีรีส์และตัวละครจะกลายเป็นเพื่อนแก้เหงาของคนที่เสพติดแทนนั่นเองค่ะ
  • สิ่งที่น่าสนใจคือ นักวิจัยค้นพบว่าคนที่รู้สึกไม่ดีหรือวิตกกังวลหลังจาก binge-watching มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาดูเพิ่มขึ้น จนเกิดอาการเสพติดมากกว่าเดิมค่ะ
Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

ด้านอื่นๆ

  • มีเวลาว่างเยอะเกินไป เลยดูซีรีส์เพื่อฆ่าเวลา
  • ดูแล้วมีความสุข เลยอยากให้ร่างกายได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มอารมณ์ด้านบวกอยู่ตลอด
  • อยากเพิ่มความรู้และพัฒนาตัวเองจากการดูซีรีส์ (เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยฝึกภาษาได้ดี แต่อย่าลืมจำกัดเวลา อย่าหักโหมเกินไปนะคะ)
Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

สัญญานเตือน

ช่วงนี้หลายคนคงต้องเจอกับความเครียดในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องโควิดที่ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ หรือ work from home จนออกไปไหนไม่ได้ อีกทั้งไปเจอกับเพื่อนก็ไม่ได้เช่นกัน เรื่องพวกนี้อาจทำให้น้องๆ รู้สึกไม่มีทางออก และเกิดอาการเสพติดซีรีส์ได้นะคะ ดังนั้นลองเช็กตัวเองดูดีๆ ว่ามีอาการต่อไปนี้บ้างมั้ย เพราะสุขภาพร่างกายและจิตใจเราอาจกำลังย่ำแย่ลงโดยไม่รู้ตัวก็ได้

  • ละเลยหน้าที่ จัดลำดับความสำคัญและเป้าหมายในชีวิตได้ไม่ดีนัก และเลือกไม่ได้ระหว่างหน้าที่กับความบันเทิง
  • มีอาการคล้ายขาดยา เช่น วิตกกังวล กังวลใจ และไม่มีสมาธิ ควบคุมตัวเองไม่ได้
  • รีบร้อนตลอดเวลา
  • ขี้เกียจ ติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และอาจมีพฤติกรรมโกหกร่วมด้วย
  • มักจะรำคาญหรือไม่ฟังเหตุผลเมื่อมีคนบอกให้หยุดดู
  • รู้สึกเหงา
  • รู้สึกผิดและเสียดายหลังจากที่ binge-watching
  • รู้สึกไม่ดีหลังจาก binge-watching เพราะต้องปรับโหมดมาเจอโลกความจริง
  • หากอดนอนเพื่อดูซีรีส์ จะส่งผลให้เหนื่อย อ่อนเพลีย และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  • นอนไม่หลับ (มักเกิดกับคนที่ดูช่วงกลางคืน)
  • กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (โดยเฉพาะในวัยรุ่น)

ผลกระทบที่ไม่ดีต่อร่างกาย

หากน้องๆ คนไหนติดดูซีรีส์เกินขนาด ต้องระวังไว้ให้ดีเลย เพราะมีผลเสียกับเราเอง ใครเป็นแบบนี้ต้องเริ่มปรับก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรงนะคะ

  • มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล เพราะปลีกตัวจากโลกภายนอกเป็นเวลานาน
  • ส่งผลกับสมอง ทำให้ความจำแย่ลง
  • ปวดหลังหรือหลังค่อม
  • เวลานั่งดูนานๆ ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดมากกว่าคนปกติถึง 70% รวมทั้งหายใจไม่สะดวก และขาดออกซิเจน เนื่องจากปอดทำงานแย่ลง
  • เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย
  • เวลาดูซีรีส์ เรามักจะหาขนมนมเนยมาแกล้มเพลินๆ ถ้าเผลอหยิบเข้าปากไม่หยุดและไม่ขยับไปไหนเลย จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
  • นอนไม่พออาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายตามมา
Photo Credit: Freepik
Photo Credit: Freepik

วิธีจัดการ

  • จำกัดระยะเวลาที่ดู หรือจำนวนตอนต่อวัน เช่น วันละไม่เกิน 2-3 ตอน หากครบแล้วให้หยุดแล้วไปทำอย่างอื่นแทน
  • ทริกส่วนตัวของพี่เมนี่คือถ้าตั้งเป้าว่าจะหยุดดูตอนไหน อย่าพยายามดูจนจบตอนนะคะ เพราะเขามักทิ้งท้ายตอนด้วยปมชวนติดตามเสมอ ให้ลองพยายามหาจังหวะหยุดดูครึ่งๆ กลางๆ ตอนหรือช่วงที่ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ ช่วยให้ตัดใจหยุดดูได้ง่ายกว่า
  • เปิดไฟไว้ จะได้ไม่ดูจนลืมวันลืมคืน (ถ้าปิดไฟมืดๆ ดูซีรีส์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาด้วยนะคะ)
  • ตั้งนาฬิกาไว้เตือนเวลานอน
  • หางานอดิเรกอื่นๆ มาทำบ้าง เช่น ออกกำลังกาย ไปแฮงเอาต์กับเพื่อน อ่านหนังสือ ฯลฯ
  • ซื้อขนมที่มีประโยชน์หรือผักผลไม้ใส่ตู้ไว้หยิบมากินเล่นระหว่างดูซีรีส์ แทนที่ขนมจุบจิบที่ส่งผลต่อเสียต่อร่างกาย
  • ชวนคนอื่นมาดูด้วย จะได้ไม่เหงาและไม่อินกับเรื่องเกินไป // ถ้าช่วงนี้เจอกันไม่ได้ก็คงต้อง Netflix party หรือคอลหากันไปก่อน แต่ก็อย่าชวนกันดูจนห้ามรุ่งหามค่ำนะคะ คอยๆ เตือนกันด้วย 5555

……

หลายคนอาจกำลังเจอกับเรื่องแย่ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์บ้านเมือง ครอบครัว การเรียน หรือเรื่องเพื่อนก็ตาม ดังนั้นที่เราเลือกจะหนีความจริง และหันไปหาสิ่งบันเทิงช่วยเยียวยาใจอย่างการดูซีรีส์ ก็ไม่ได้ผิดอะไรเลยค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทุกอย่างควรอยู่บนความพอดี ถ้าทำอะไรสุดโต่งมากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบที่ไม่ดีในหลายๆ เรื่องต่อเราเอง ทั้งการเรียน ทำงาน สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ถ้าเราหาสมดุลและยอมรับกับปัญหาตรงหน้าได้เมื่อไหร่ เราก็จะมีความสุขกับโมเมนต์ในชีวิต โดยที่ไม่ต้องมานั่งรู้สึกผิดทีหลังเวลา binge-watching และเมื่อมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามา ก็จะรับมือได้ดีขึ้นแน่นอน

 

Sources:https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7344932/ https://www.nm.org/healthbeat/healthy-tips/emotional-health/binge-watchinghttps://www.verywellhealth.com/binge-watching-and-health-5092726 Photos:Photo by JESHOOTS.COM on UnsplashPhoto by Victoria Heath on UnsplashPhoto by Stefano Pollio on UnsplashPeople vector created by syarifahbrit - www.freepik.com 
พี่เมนี่
พี่เมนี่ - Columnist ปัจจัย 3 ในการดำรงชีวิต: ดูซีรีส์ กิน ชอปปิง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น