‘Emergency Alert’ ในเกาหลีใต้ ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่ใครๆ ก็ยกให้เป็นต้นแบบ!

อันยองชาว Dek-D ทุกคนค่ะ~ ถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยของประเทศแล้ว ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ 'Emergency Alert System (EAS)' นับเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งชี้คุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว เพราะมันคือปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ประชาชน และ “ทุกคน” ควรจะได้รับจากภาครัฐอยู่แล้ว // เดี๋ยววันนี้พี่ชีตาร์จะพาไปดูระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินของ ‘เกาหลีใต้’ ประเทศเจ้าแห่งเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดพัฒนา จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์คับขันของผู้คนในประเทศ ตามไปดูกันเลย :)

...

ระบบเตือนภัยคือส่วนหนึ่งของชีวิต

“ฉันได้รับข้อความเตือนภัยฉุกเฉินจำนวนมาก นับตั้งแต่มีการยืนยันรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกที่เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 20 มกราคม…” 

ข้อมูลจาก “ระบบเตือนภัยฉุกเฉินประเทศเกาหลีใต้ (EAS)" จะถูกส่งโดยสำนักงานเขตของรัฐบาลกรุงโซล เพื่อให้ประชาชนทราบเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อหรือภัยธรรมชาติที่ใกล้กับประชาชนแต่ละเขต โดยข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านดุลยพินิจของสำนักงานเขต รัฐบาลท้องถิ่น และสำนักงานใหญ่ควบคุมภัยพิบัติและความปลอดภัยกลาง (CDSCHQ) ในการส่งข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาและเห็นว่าจำเป็นต้องเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินนั้นๆ

โดยทางการจะแจ้งเตือนแบบ real-time ผ่านระบบส่งสัญญาณมือถือ ผู้ใช้สมาร์ตโฟนในเขตจะได้รับข้อความพร้อมการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ (ยกเว้นตั้งค่าปิดแจ้งเตือนไว้) ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย หากอ้างอิงข้อมูลตามฐานข้อมูลเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติที่ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยของประเทศเกาหลีใต้แล้ว ระหว่างวันที่ 10 มีนาคมถึง 10 เมษายนที่ผ่านมา มีการส่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินกว่า 3,707 รายการทั่วประเทศ!

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

แม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้ความถี่ในการแจ้งเตือนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ แต่ระบบ EAS ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเกาหลีแต่อย่างใดเลยค่ะ เพราะระบบนี้ถูกใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชนมาเกือบทศวรรษแล้ว ไม่ว่าจะแผ่นดินไหว น้ำท่วม คลื่นความร้อน หรืออันตรายจากไฟไหม้ในช่วงที่อากาศแห้งในฤดูใบไม้ผลิ ผู้คนก็ได้รับแจ้งเตือนผ่านระบบที่มีประสิทธิภาพนี้อย่างต่อเนื่อง

แจ้งว่าควรทำตัวอย่างไรในแต่ละสถานการณ์   

ต้องบอกว่าระบบ EAS ไม่เพียงแจ้งเหตุฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังแนะนำประชาชนว่าควรรับมือสถานการณ์นั้นๆ อย่างไรบ้าง อย่างช่วงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเกาหลีลดลง แต่ทางการก็ยังส่งข้อความแจ้งเตือนในช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างสม่ำเสมอ เช่น แจ้งเตือน(เป็นเชิงแนะนำ)ว่าควรกลับบ้านโดยไม่ไปดื่มสังสรรค์ต่อหลังเลิกงาน (회식) วันอาทิตย์ให้อยู่บ้าน ไม่เข้าร่วมในการชุมนุมเป็นกลุ่ม รวมถึงการรวมตัวทางศาสนา เป็นต้น

หากใครได้ดูหนังหรือซีรีส์เกาหลีจะเห็นซีนที่แทรกมาในเรื่องเกี่ยวกับการแจ้งเตือน EAS ที่มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ อย่างในซีรีส์เรื่อง ‘Reply 1994’ ที่มีการให้ภาพเหตุการณ์ห้างสรรพสินค้า ‘Sampoong’ ถล่มครั้งใหญ่ในปี 1995 ประชาชนก็ต่างได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านระบบเพจเจอร์ และตัดภาพมาปัจจุบันที่เป็นการแจ้งผ่านสมาร์ตโฟน อย่างที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง ‘ALIVE (살아있다)’ เราจะเห็นเลยว่าระบบนี้เป็นส่วนสำคัญมากในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะการรักษาและรับผิดชอบชีวิตของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในประเทศ 

 ‘เกาหลีใต้’ ประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่เคยหยุดพัฒนา

Photo Credit: atsc3xpert
Photo Credit: atsc3xpert

ความเริ่ดของเกาหลีไม่หยุดแค่นั้น เพราะตั้งแต่ปี 2019 กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารได้ประกาศเปิดตัว ‘บริการแจ้งเตือนฉุกเฉิน ATSC 3.0’ เป็นแห่งแรกของโลก เพื่อกระจายข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว ฝนตกหนัก และไฟไหม้ให้ได้เร็วขึ้นผ่านเครือข่ายการออกอากาศ UHD ภาคพื้นดิน

“เกาหลีใต้มีระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินที่ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมอยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มสัญญาณ ATSC 3.0 จึงถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนากระบวนการแจ้งเตือน สำรองข้อมูลเครือข่ายโทรคมนาคมในกรณีที่เครือข่ายรวน และครอบคลุมจุดบอดที่สัญญาณโทรคมนาคมไม่สามารถเข้าถึงได้เท่านั้น”

ระบบนี้ครอบคลุมไปถึงการแสดงผลบนจอใหญ่ในที่สาธารณะ ทั้งบนรถบัส รถไฟใต้ดิน และบ้านพักคนชรา ด้วยความที่เป็นจอขนาดใหญ่ ทำให้สามารถสื่อสารข้อมูลเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมรองรับสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน ผ่านการแนะนำโดยใช้เทคโนโลยีเสียงอ่านคำต่อคำ (TTS) และสนับสนุนผู้พิการทางสายตาโดยใช้บีคอน (Beacon) และเครื่องสั่นเป็นแนวทางเพื่อความปลอดภัย 

และล่าสุดเขากำลังทดลองใช้ ‘โดรน’ และ ‘เฮลิคอปเตอร์’ ในการสำรวจทางด่วนหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วและความสามารถในการจับพิกัดตำแหน่งให้แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย! 

Photo Credit: gnss.asia
Photo Credit: gnss.asia

ดาบสองคมของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 

อย่างไรก็ตาม เพราะการรายงานต่อวันที่ทันเหตุการณ์ไปซะหมดของระบบ ทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคมปีที่ผ่านมา มีข้อความแจ้งเตือนมากกว่า 25,000 ข้อความ! ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะเมินเฉยต่อแจ้งเตือนเหล่านั้น เพราะคิดว่ายังไงก็คงรายงานเรื่องผู้ติดเชื้อเหมือนอย่างที่ผ่านมานั่นแหละ แม้ว่าจุดประสงค์ของข้อความฉุกเฉินนั้นครอบคลุมไปถึงภัยธรรมชาติ หรือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แต่เทศบาลบางแห่งก็ให้ข้อมูลเหล่านี้มากจนเกินไป และประชาชนก็มองว่าข้อมูลบางส่วนไม่มีความเกี่ยวข้องกับพวกเขา 

“การที่ผู้คนเลือกที่จะเมินข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน สามารถนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงในอนาคตได้ เพราะพวกเขามองข้ามข้อมูลเกี่ยวกับภัยรอบตัว” อียองจู, ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาป้องกันอัคคีภัยและภัยพิบัติที่ University of Seoul 

Photo Credit: Yonhap News TV shows an emergency alert
Photo Credit: Yonhap News TV shows an emergency alert

และถึงแม้ว่าข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลจะไม่ถูกเผยแพร่ในข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉิน แต่เว็บไซต์และบล็อกแนะนำที่แนบมาด้วยจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อเคยไป และในบางกรณี เป็นที่ทราบกันดีว่าจะมีการตรวจสอบด้านธุรกรรมการใช้บัตรเครดิตของผู้คน เพื่อยืนยันคำให้การของพวกเขา ผ่านภาพจากวงจรปิดจากลิฟต์ ร้านขายยา ร้านอาหาร หรือสำนักงาน ว่าผู้ติดเชื้อได้สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ ทำให้การใช้เทคนิคเพื่อเฝ้าระวังฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเหล่านี้เบลอเส้นแบ่งระหว่าง ‘การเฝ้าระวัง’ ของรัฐ และ ‘การป้องกัน’ ประชาชน 

“การรับการแจ้งเตือนดังกล่าวทำให้รู้สึกทั้งเหมือนถูกรุกรานและทำให้มั่นใจในเวลาเดียวกัน เพราะในแง่หนึ่ง มันก็เป็นการรับรองว่าสถานการณ์ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเรียบร้อยแล้ว”

อ่านรีวิวยืนยันโดยเด็กไทยในเกาหลีใต้
อ่านรีวิวยืนยันโดยเด็กไทยในเกาหลีใต้ ‘ระบบเตือนภัยเด้งถี่จริง!’

ต้องบอกเลยว่าที่ประเทศเกาหลีใต้นั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก และก็พัฒนาระบบไม่หยุดกันเลยทีเดียว // คือเค้ามาถึงจุดที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าแจ้งเตือนมากเกินไปกันแล้ว แต่ในบางประเทศนั้นประชาชนยังต้องมาตามข่าวทางออนไลน์ด้วยตัวเองกันอยู่เลย เศร้านะคะ T_T 

 เอาเป็นว่าใครอยากเจาะลึกเรื่องนี้เพิ่มเติม ก็สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คอร์ส ‘Disaster Risk Management and Korean Policies’ จาก Yonsei University ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบาย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยเฉพาะ (เรียนฟรีค่ะ ) 

...

Sources: http://somatosphere.net/2020/emergency-alerts-for-covid-19-in-south-korea.html/ https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2020/09/119_295439.htmlhttps://www.tvtechnology.com/the-wire-blog/the-worlds-first-atsc-3-0-emergency-alert-system-just-launched-in-south-korea https://twitter.com/stitch_pololo/status/1412365469865050112
พี่ชีตาร์
พี่ชีตาร์ - Columnist Once a Literature Student, Always a Literature Student

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น