안녕 สวัสดีค่าชาว Dek-D~ วันก่อนเรามีโอกาสพูดคุยกับ 3 บัณฑิตสาขาวิชาโทเกาหลีของจุฬาฯ ที่เพิ่งคว้าทุนรัฐบาลเกาหลี (GKS) ระดับ ป.โทปี 2021 แบบสดๆ ร้อนๆ ซึ่งมีทั้งพี่ที่ยื่นผ่านสถานทูต (Embassy Track) และแบบมหาวิทยาลัย (University Track) โดยที่แต่ละคนมีวิธีเลือกคณะ/มหาวิทยาลัย, การเตรียมตัวเพื่อขอทุน, วิธีฝึกภาษา และการเล่านำเสนอตัวเองลงใน Statement of Purpose (SoP) ที่ทั้งต่างและน่าสนใจมากๆ
และนอกจากเรื่องทุน เรายังชวนแต่ละคนมารีวิวทั้งประสบการณ์ในเกาหลี, สื่อ/ช่องทางเรียนที่แนะนำ, กิจกรรมที่น่าสนใจ แล้วปิดท้ายด้วยประสบการณ์เรียนโทเกาหลีของคณะอักษรจุฬาฯ มาลองอ่านเพื่อเก็บเป็นหนึ่งใน reference ไว้ปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองกันค่ะ :)
*ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพสวยๆ จากนักเรียนทุนทุกท่านนะคะ........
1
แนะนำตัวกันก่อน
อาร์ต: สวัสดีครับ ชื่อ 'อาร์ต' ศุภกิจ เฟื่องชงมณี บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ วิชาเอกสารนิเทศศึกษา วิชาโทภาษาเกาหลีครับ
เหมียว: สวัสดีค่ะ ชื่อ 'เหมียว' ภิญญดา เดชะคุณาพงษ์ บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ วิชาเอกการประชาสัมพันธ์ วิชาโทภาษาเกาหลี ปัจจุบันทำงาน ที่บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง สายงานเกี่ยวกับการบริการลูกค้าในธุรกิจการขนส่งน้ำมันเรือเดินทะเลระหว่างประเทศค่ะ
พี: สวัสดีครับ ชื่อ 'พี' พีรพัฒน์ ล้วนมงคล เรียนจบ ป.ตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ วิชาเอกการปกครอง วิชาโทภาษาเกาหลีครับ
........
2
จุดเริ่มต้นความประทับใจ
อะไรทำให้สนใจภาษา/ประเทศเกาหลี?
อาร์ต: จริงๆ ตอนม.ต้นเราก็ยังไม่รู้จักเกาหลีมากเท่าไหร่ แต่มีเพื่อนที่ชอบ Girls' Generation เอารูปมาให้เราดู พอลองไปฟังเพลงก็รู้สึกว่า เฮ้ย เปิดโลกดีนะ เริ่มตามไปดูรายการที่เขาออก จนรู้สึกอยากฟังให้เข้าใจได้ทันทีแบบไม่ต้องพึ่งซับไตเติล ช่วงแรกกะจะเอาแค่อ่านออกเขียนชื่อเขาเป็นภาษาเกาหลีได้ แต่ไปๆ มาๆ สนุกและเริ่มมีแพสชันจนเรียนจริงจังเป็นวิชาโท ตอนนั้นเราเป็นเด็กสายวิทย์แต่ก็เปลี่ยนเป้าหมายมาเข้าคณะอักษรฯ แทน และได้ไปทำกิจกรรมของสาขาเกาหลีบ่อยๆ เพื่อเก็บประสบการณ์ด้วยครับ
เรารู้สึกชื่นชมและยอมรับประเทศเกาหลีมาก ถึงแม้ว่าเกาหลีจะเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น แต่เขาสามารถก้าวข้ามผ่านจุดวิกฤตและสถานการณ์อันเลวร้าย และพัฒนาอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาสู่ความเจริญในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การคมนาคม ฯลฯ พัฒนาทุกวัน มีเรื่องให้ประทับใจตลอดซึ่งเป็นการพัฒนาที่พูดได้เต็มปากว่ามันคุ้มค่ากับภาษีที่ประชาชนต้องจ่ายไป
ตอนไปเรียนภาษากับทำกิจกรรมที่เกาหลี เราได้ไปสัมผัสอากาศดีๆ ถนนหนทางที่สะอาดและกว้างขวาง มีที่ให้เดินเล่นมากมาย ทุกซอกซอยมีกล้อง CCTV ทำให้รู้สึกปลอดภัย ช่วงนี้ก็เห็นข่าวที่รัฐบาลพยายามติดไฟตามถนน ติดสัญญาณตามเสาในซอยมืดๆ มีกริ่งให้กดเพื่อส่งสัญญาณตรงไปถึงสถานีตำรวจได้เลย ยิ่งทำให้รับรู้ได้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนต้องมาก่อน
เหมียว: จะเรียกว่าเป็นเหตุผลเดียวกันเลยก็ได้ เมื่อประมาณ ป.6 เราชอบเพลง I Believe (믿어요) ของ TVXQ มากกกกจนเริ่มอยากรู้ว่าที่กำลังฟังๆ อยู่เนี่ยคือภาษาอะไร ประเทศเขาเป็นยังไง แล้วก็เริ่มเรียนภาษาเกาหลีเอง ซึ่งตอนนั้นก็ได้อ่านกระทู้เกี่ยวกับภาษาเกาหลีผ่าน Dek-D นี่แหละ แล้วช่วงม.ปลายก็(หาเรื่อง)เดินทางไปเกาหลีเพื่อสอบ TOPIK สมัยนั้นยังแบ่งเป็นระดับต้น-กลาง-สูงอยู่เลย แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญมากว่าสถานที่สอบในตอนนั้นคือ Sungkyunkwan University (SKKU) ที่เรากำลังจะได้ไปเรียนป.โทเดือน ส.ค.นี้แหละค่ะ
พอเราได้ไปสัมผัสเกาหลีจริงๆ เราประทับใจเกาหลีเพราะการเดินทางสะดวกมาก เข้าถึงเกือบทุกที่ มีแอปฯ คอยบอกว่ารถบัสรถไฟฟ้าอยู่ไหน ซึ่งมันดีต่อสุขภาพจิตเพราะไม่ต้องเสียเวลารอรถเก้อ ไม่ต้องกลัวนัดคนอื่นแล้วไปสาย บริหารชีวิตก็ง่าย ถ้าวางแผนอะไรไว้ก็ได้ทำหมด แถมยังปลอดภัยเพราะไม่ต้องรอรถมืดๆ หนาวๆ คนเดียวที่ป้ายรถเมล์
พี: ได้รู้จักเกาหลีครั้งแรกตอนช่วงชีรีส์แดจังกึมกำลังดังในบ้านเรา ตอนนั้นอยู่ประถมเองครับ รู้จักแค่ตัวซีรีส์ แต่ยังไม่ได้รู้จักประเทศเขาอย่างละเอียด พอขึ้นมัธยมกระแส K-Pop ก็เริ่มเข้ามากขึ้น ทำให้เรารู้จักเกาหลีมากขึ้นด้วย ในตอนนั้นยังไม่ได้มีความสนใจที่จะเรียนด้านภาษาที่สามใดๆ เลย ถึงแม้ที่โรงเรียนผมเอง(รร.มัธยมวัดมกุฏกษัตริย์)จะเปิดห้องภาษาเกาหลีทั้งมัธยมต้นทั้งมัธยมปลายก็ตาม
พอช่วงม.6 ที่ต้องตัดสินใจเลือกสาขาเรียนต่อ เนื่องจากตอนนั้นเราได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำมาก เลยตั้งใจเลือกคณะรัฐศาสตร์เพื่อที่จะได้จบมาเป็นคนปรับเปลี่ยนโครงสร้างตรงนั้น (เลือกคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ไป 3 อันดับในแอดมิชชันเลยครับ) ระหว่างเรียนป.ตรี เราก็พยายามหาสกิล/ความรู้ด้านอื่นๆ ไปด้วย คิดว่าลงเรียนวิชาโทเป็นสาขาอื่นน่าจะดีครับ เลยตัดสินใจไปลองเรียนวิชาโทนิเทศฯ / โทญี่ปุ่น / โทเกาหลี
หลังจากลองเรียนวิชาโทไปแล้วอย่างน้อยสาขาละ 2 ตัว ก็ตัดสินใจเลือกเกาหลีเพราะเรียนแล้วชอบและสนุกไปกับมัน บรรยากาศการสอนของอาจารย์ก็อบอุ่นจนเป็นความรู้สึกที่อยากเรียนไปทุกวันจริงๆ ยิ่งมาทำกิจกรรมแล้วเจอเพื่อนคนเกาหลีดีๆ ก็ยิ่งมั่นใจกับเป้าหมายการเรียนต่อมากขึ้น จนเปลี่ยนสายจากรัฐศาสตร์มาด้านภาษาเกาหลีแทนเลยครับ พวกสื่อบันเทิงอย่างเพลง หนัง ซีรีส์ มีส่วนทำให้เราชอบเหมือนกัน เวลาเหนื่อยๆ แล้วมานั่งฟังนั่งดู เหมือนเข้า comfort zone เลย ผมว่าใช้เวลาว่างกับอะไรงี้ก็ดีอ่ะ สนุกแล้วได้ความรู้ไปด้วย เพราะเขาจะแทรกสาระหรือแง่มุมที่น่าสนใจไว้ตลอด
........
3
สมัครผ่าน Embassy / University Track?
เลือกหลักสูตรและที่นี่เพราะอะไร?
อาร์ต: (สมัคร Embassy Track)
- สาขา International Studies คณะ Liberal Arts & Social Sciences ที่ Graduate school of International Studies, Korea University (*เลือกอันดับนี้)
- สาขา International Studies คณะ Liberal Arts & Social Sciences ที่ Seoul National University
- สาขา Humanities and Social Sciences คณะ International Studies (GSIS) ที่ Pusan National University
อาร์ต: ด้วยความที่เรียนจบอักษรฯ มา เลยได้เข้าใจ เรียนรู้และเห็นมุมมองในภาพกว้างๆ เหมือนเราก็สามารถต่อยอดพลิกแพลงได้เยอะพอสมควร และอยากลองต่อยอดไปในเส้นทางใหม่ๆ ที่คิดว่าจะตอบโจทย์การทำงานในอนาคตครับ เราเองค่อนข้างสนใจสายที่เกี่ยวกับด้านระหว่างประเทศและความร่วมมือต่างๆ อยู่แล้ว เลยมานั่งดูตัวเลือกในไกด์ไลน์การสมัครเทียบกันหลายๆ ม.ครับว่าคณะไหนน่าสนใจบ้าง แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีหลักสูตรและชื่อเมเจอร์ที่ต่างกันออกไป เช่น International Relations, International Cooperation, International Development and Cooperation เลยนั่งพิจารณาวิชาเรียนและหลักสูตรตามเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยควบคู่ไปด้วย
สุดท้ายก็มาลงเอยที่สาขา International Studies ใน major International Development and Cooperation เพราะหลักสูตรมีความหลากหลาย และวิชาเรียนมีความน่าสนใจกว่าเพราะเรียนควบคู่กันทั้ง 2 ด้าน แถมยังเป็นคณะเด่นคณะนึงของ ม.โคเรียเลยก็ว่าได้ครับ
พอเลือกมหาลัยในกลุ่ม SKY (Seoul, Korea, Yonsei) ก็กังวลเหมือนกันนะครับ เพราะโอกาสน้อยและการแข่งขันสูงมากกกก แต่เราเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการศึกษาของเขาจนกล้าที่จะเสี่ยง // ฝากถึงทุกคนว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเลือก SKY เสมอไปก็ได้นะครับ เน้นเลือกสถาบันที่โดดเด่นในด้านที่เราสนใจจะดีกว่าครับ
@ku1905
เหมียว: (สมัคร Embassy Track)
- Graduate School of Business ที่ Yonsei University
- คณะ Graduate School of Business สาขา SKK GSB Full-Time MBA ที่ Sungkyunkwan University (*ได้อันดับนี้)
- Full-time Global MBA ที่ Chonnam National University
เหมียว: หลังเรียนจบเราทำงานตำแหน่ง Customer Experience Professional ที่บริษัทข้ามชาติอุตสาหกรรมพลังงานแห่งหนึ่งมา 3 ปี เป็นฝ่ายบริการลูกค้าในธุรกิจขนส่งน้ำมันเรือซึ่งเป็นงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลัก และประสานงานกับ Supplier ชาติต่างๆทั่วโลก แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็มีประเทศเกาหลี ซึ่งเรารู้สึกประทับใจการจัดการการขนส่งน้ำมันของที่เกาหลีที่มีความผิดพลาดน้อยและยังรวดเร็ว เลยจุดประกายให้เราอยากเรียนรู้เทคโนโลยีและการบริหารแบบเกาหลีในอุตสาหกรรมด้านการขนส่งและการบริการลูกค้ามากขึ้น จนมาเจอข้อมูลว่าหลักสูตร MBA ของ SKKU เป็นที่ยอมรับมากในเกาหลีและในระดับโลก (Ranked #35 in Global MBA Ranking 2021 , Financial Times)
อีกทั้งยังมีวิชาเลือกที่ทันเหตุการณ์ เช่น AI / Blockchain / Big data analysis ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการต่อยอดธุรกิจการขนส่งและการบริการ และการเรียนการสอนแบบเน้น Case Study, Action Based โดยมี Consulting Projects ให้ทำ ซึ่งได้ยินมาว่าจะมีบริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ SKKU มาเป็นลูกค้าจริงๆ
แล้วหลักสูตรที่เราเลือกก็เป็น english 100% เรียนปีครึ่ง อาจารย์และเพื่อนร่วมคลาสเป็นคนจากหลายชาติที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลี ซึ่งเรารู้สึกว่าเราชอบสภาพแวดล้อมที่เป็น Global แบบนี้ เพราะเรายังคงชอบการทำงานเน้น Result Oriented แบบตะวันตก แต่ก็อยาก explore อุตสาหกรรมการขนส่งของเกาหลีที่มุ่งสู่ความเป็น Global ด้วย จากเหตุผลต่างๆ เหล่านี้เราเลยสรุปได้ว่าที่นี่เหมาะกับบุคลิกและเป้าหมายของเราที่สุดจึงเลือกที่นี่เป็นคำตอบสุดท้ายค่ะ (ถ้าสนใจลองเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ ล่าสุด มี Guideline สำหรับเด็กทุน GKS โดยเฉพาะด้วย)
@skkuintl
@skkuintl
พี: (สมัคร University Track เลือกได้ 1 คณะ) ผมเลือกเป็นคณะ Humanities and Social Sciences สาขา Korean Language & Literature ที่ Kyung Hee University ก็เน้นเพลย์เซฟด้วยส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลหลักคือถึงม.คยองฮีจะไม่ได้อยู่ใน SKY แต่ก็อยู่ใน Top10 และมีต่างชาติไปเรียนเยอะมาก คิดว่าหลักสูตรทางนั้นน่าจะเหมาะกับนักเรียนต่างชาติด้วย แล้วเป็นชื่อที่ได้ยินบ่อยเพราะ พี่ทราย รุ่นพี่ในโรงเรียนที่เค้าได้ทุนรัฐบาลเกาหลีเค้าก็จบป.ตรี-โทจากที่นั่น กับอาจารย์คนไทยเก่ง ๆ หลายๆ ท่านก็เรียนจบจากสาขานี้ของม.นี้ด้วย
ผมก็กลับไปนั่งหาข้อมูลหลักสูตร ประกอบกันดูว่าอาจารย์ทำวิจัยด้านไหนบ้าง ปรากฏว่าเจออาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยทำวิจัยด้านที่ผมกำลังสนใจพอดี เราเลยโอเค ที่นี่ตอบโจทย์ทุกอย่าง (*มีรุ่นน้องคนไทยที่เรียนอยู่เกาหลีในสาขาเดียวกันแนะนำว่าถ้าเลือกม.ควรจะดูอาจารย์เป็นหลักครับ)
ส่วนสาขาตอนแรกผมก็ลังเลนะว่าจะเลือกอะไรดีระหว่าง Korean Studies ที่เรียนเรื่องเกาหลีแบบรอบด้านทั้งภาษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ หรือสาขา Korean Language and Literature ที่เจาะภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมโดยตรง สุดท้ายก็ชั่งน้ำหนักแล้วลงด้านภาษาและวัฒนธรรมเต็มๆ ดีกว่า เพราะตอนเรียนคณะอักษรฯ รู้สึกมีแพสชันกับด้านนี้ อยากเรียนให้ลงลึกไปเลย
@sehyxn
อาร์ต: เสริมเป็นข้อเปรียบเทียบระหว่าง 2 Tracks ให้เห็นภาพชัดขึ้นนะครับ
กรณีสมัครผ่านสถานทูตหรือ Embassy Track
- เลือกได้ 3 คณะ ตอนนี้เขาเพิ่งเปลี่ยนกฎโดยแบ่งคณะเป็น Type A, B ซึ่งจะบังคับให้เลือก B 1 ที่เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้คว้าโอกาสได้มากขึ้น โดยกลุ่ม B จะค่อนข้างไปทางนอกเมืองหน่อยแต่มีชื่อเสียงและศักยภาพดีเหมือนกัน
- กดดันและเตรียมตัวเยอะกว่ามากๆ ต้องสัมภาษณ์ทั้งรอบสถานทูตและ/หรือมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ที่ที่เราเลือก
- ถ้าสมัคร 3 ที่ 3 คณะ จะต้องทำการบ้านหนักเรื่องการเขียน SoP ให้สอดคล้องกับคณะที่เลือก
- ประหยัดค่าส่งเอกสาร แต่จะมีเรื่องการรับรองเอกสารยิบย่อยเยอะ
กรณีสมัครผ่านมหาวิทยาลัย หรือ University Track
- พุ่งเป้าหมายไปยังคณะที่จะสมัครได้เลย เขาจะได้เห็นถึงความตั้งใจว่าอยากเรียนที่นี่จริงๆ
- ขั้นตอนน้อยกว่า แต่ก็เลือกอันดับได้น้อยกว่า
........
4
คะแนนที่ยื่น & วิธีเรียนภาษา
(พร้อมแชร์ช่องทางเรียนสำหรับผู้ที่สนใจ)
อาร์ต: ต้องเช็กในไกด์ไลน์คณะนั้นๆ ว่าต้องการคะแนนภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษ และกำหนดขั้นต่ำเท่าไหร่ ส่วนเรายื่นทั้งคะแนน TOPIK6 และ TOEIC ครับ
ส่วนภาษาเกาหลี ผมมีเรียนจากวิชาโทเกาหลีที่จุฬาฯ เป็นหลักอยู่แล้ว พยายามฝึกกับอาจารย์หรือเพื่อนคนเกาหลี นอกนั้นคือเป็นคนชอบดูวาไรตี้ เช่น Knowing Brothers หรือ Vlog คนเกาหลี ซีรีส์ หนัง (ถ้าฝึกผ่านเพลงก็สามารถทำได้แต่บางทีจะผิดไวยากรณ์หรือเรียงประโยคแปลกไปบ้างครับ) สื่อพวกนี้จะทำให้เราเจอคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันและได้ฝึกสำเนียงด้วยครับ ต่างจากในหนังสือซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานที่เราเรียนเป็นวิชาโท นอกจากนี้ก็ฝึกทำข้อสอบบ่อย ๆ อ่านภาษาเกาหลีตามป้ายประกาศ บนผลิตภัณฑ์ อ่านและฟังข่าวเกาหลีจากสำนักข่าวหรือตาม Naver บ้างครับ
ส่วนที่คิดว่ายากสุดสำหรับภาษาเกาหลี ผมว่าคือคำศัพท์ อาจเพราะเราเป็นต่างชาติที่ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ยังไม่รู้ว่าศัพท์บางคำใช้ในบริบทไหนได้บ้าง รวมถึงเรื่องความละเอียดอ่อนที่อยู่ในตัวไวยากรณ์ การใช้ที่ต่างกันตามสถานการณ์ มีระดับความสุภาพเข้ามาเกี่ยวข้องครับ :) แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรหารูปแบบการฝึกทักษะภาษาที่เข้ากับตัวตนเราให้ได้มากที่สุด ดูรายการที่ไอดอลที่เราชื่นชอบไปออกก็ได้ ทำให้เราได้ผ่อนคลายพร้อมรับสาระความรู้ไปพร้อมๆ กัน หาอะไรที่เราทำแล้วไม่เบื่อและสนุกไปกับมันจะดีที่สุดครับ
แนะนำหนังสือที่ใช้เรียนที่เกาหลี
aminoapps.com
เหมียว: เรายื่น TOPIK5 / TOEIC925 / JLPT N2 / เกรด 3.51
ถ้าจะพูดถึงวิธีการเตรียมตัวสอบไม่ว่าจะ TOEIC (ภาษาอังกฤษ), JLPT (ภาษาญี่ปุ่น) หรือ TOPIK (ภาษาเกาหลี) ก็คือการทำข้อสอบเก่าวนไปทั้งหมด 555 ต้องฝึกทำให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ และพลาดน้อยลง มีจุดอ่อนตรงไหนค่อยๆ มาวิเคราะห์ แต่ถ้าพูดถึงการเรียนภาษาในระยะยาวเราควรเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะได้ใช้ภาษานั้นให้ได้มากที่สุด สำหรับเราการได้ยินทุกวันและใช้ทุกวันแค่วันละนิดวันละหน่อย ภาษามันจะค่อยๆ ซึบซับและเราจะรูู้สึกสนุกกับมันมากกว่าการอ่าน Text Book หนาๆ แล้วคัดตัวอักษรซ้ำๆ ดังนั้นนอกเหนือจากการพยายามใช้ภาษากับเจ้าของภาษาโดยตรง การศึกษาผ่าน Youtube ก็ถือเป็น Platform ที่เข้ากับสไตล์การเรียนภาษาของเรา เพราะเหมือนมีคนคอยพูดให้ฟังแล้วก็ไม่น่าเบื่อด้วย
ถ้าเป็นภาษาเกาหลีเราอยากแนะนำช่องยูทูบ Hannijemi มีวิดีโอสอนวิเคราะห์และเทคนิคทำข้อสอบ TOPIK ครบทุกทักษะและเข้าใจง่าย เวลาคิดแล้วเขียนตามจะช่วยให้เรียนได้แบบสนุกๆ โดยที่เราไม่ต้องอ่าน textbook เลย ส่วนภาษาญี่ปุ่นเรามีพื้นฐานอยู่แล้วจากการเรียนแผนศิลป์-ญี่ปุ่นที่รร.เตรียมอุดม และเคยไปแลกเปลี่ยนมา 6 เดือน แต่ถ้าใครจะฝึกทำข้อสอบ JLPT เราขอแนะนำเป็นช่องยูทูบ Nihingonomori (日本語の森) ค่ะ ครูตลกมาก คำอธิบายกระชับได้ใจความดี แบ่งเป็น Level เรียนสะดวกมากๆ
แต่สรุปแล้วจริงๆ เราว่าแต่ละคนมีวิธีการเรียนที่เหมาะกับตัวเองที่ต่างกัน บางคนอาจจะสนุกกับการอ่าน Text Book ดื่มด่ำกับตัวอักษรก็ได้ เราต้องลองเรียนจากหลายๆสื่อ และค้นหาว่าตัวเองชอบแบบไหน ขอแค่ให้มีวินัยในการเรียนอย่างสม่ำเสมอ น่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางภาษาที่น่าพึงพอใจที่สุดนะคะ
พี: นอกจากเรียนวิชาโทเกาหลี ก็จะเน้นเรียนรู้ด้วยตัวเองครับ (ยื่น TOPIK 5)
- ฝึกสกิลจากอ่าน webtoon เกาหลี ผมว่าเป็นสื่อที่ไม่น่าเบื่อเลย และเป็นภาษาพูดที่ไม่ทางการและคนเกาหลีใช้จริง ทำให้เราทันเทรนด์ของเค้า อาจจะจุดที่ยากคือบางคำใหม่เกินจนไม่มีในดิกฯ และเป็นแกรมมาร์ที่ไม่รู้จักมาก่อน
- เริ่มอ่านข่าวเกาหลีบนเว็บ Naver เลือกข่าวที่เราน่าสนใจและไม่ยาวเกิน ถ้าว่างก็ลองนั่งแปลเล่นๆ ศัพท์จากข่าวจะทางการหน่อย มีโอกาสได้เจอในข้อสอบ
- เปลี่ยนภาษาในโทรศัพท์ แนะนำว่าควรมีพื้นมาก่อนระดับนึง ไม่งั้นจะกดเมนูอะไรไม่ถูก
- ดูซีรีส์ ฟังพอดแคสต์ ผมขอแนะนำเป็น Talk To Me In Korean ครับ ช่องนี้ดีมากกก มีพาร์ต IYAGI (เรื่องเล่า) มีหัวข้อแต่ละเทปที่เค้าดิสคัสกันมาพร้อมสคริปต์ ซึ่งจะดีกว่าการนั่งฟังเฉยๆ
- อ่านหนังสือเตรียมสอบจากเกาหลี ดูศัพท์ที่ออกบ่อยใน TOPIK + ฝึกเขียน ผมมีลงคลาสวันเสาร์ของจุฬาฯ ที่สอนเขียนสำหรับสอบ TOPIK โดยตรงด้วยครับ
........
5
แชร์ประสบการณ์เรียนและทำงาน
ตัวอย่างรางวัล/ผลงานที่ใส่ลงพอร์ตฯ
อาร์ต: เรามีเลือกส่งผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะที่สมัคร เพราะที่ผ่านมาก็ร่วมกิจกรรมของสาขาเกาหลีที่จุฬาฯ เพื่อเก็บประสบการณ์ตลอดไม่ค่อยได้คาดหวังในตัวรางวัลเลยครับ เช่น
- เคยได้ทุน ‘Asian University Network Scholarship (AUNS) ไปเรียนภาษา 1 ปีที่ Korean Language Education Center of LEI (Fall 2019~Summer 2020) เป็นโครงการในความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาภาษาเกาหลี จุฬาฯ และ Seoul National University เป็นโครงการที่เปลี่ยนชีวิตมากครับ ภาษาเกาหลีพัฒนาขึ้นมากๆ ได้ไปสัมผัสความเป็นเกาหลีอย่างแท้จริงในระยะยาว ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ได้พบปะเพื่อนๆ ชาวต่างชาติที่คอยช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนมุมมองกันในหลายๆ ด้าน อาจารย์ก็น่ารักและใจดีมากๆ เลยครับ
- ได้รับเลือกไปเข้าร่วมโปรแกรมทักษะผู้นำ 'ACC Global Leadership Program' ประทับใจมากเพราะได้ไปสัมผัสประเทศเกาหลีในหลายๆ มุมเป็นครั้งแรก เรียนทักษะความเป็นผู้นำ เข้าถึงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมรอบด้าน และรู้จักเพื่อนต่างชาติเยอะมาก ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นทริปที่สนุกมากๆ เลยล่ะครับ (ตอนนั้นยังเรียนภาษาเกาหลี 2 อยู่เลยครับ)
- ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ The 28th AKS Summer Program for International Students ที่ประเทศเกาหลี (แต่สละสิทธิ์ไป)
- เคยเข้าร่วมการคัดเลือกเพื่อหาตัวแทนไปแข่งสุนทรพจน์ภาษาเกาหลี
- เคยไปแข่งประกวดเขียนเรียงความในงาน The 6th Sungkyun Writing Contest in Vietnam จัดโดย Sungkyunkwan University ถึงจะไม่ได้รางวัลกลับมา แต่ได้เปิดประสบการณ์ และทราบว่าเรายังบกพร่องในจุดไหนและนำกลับมาพัฒนาทักษะทั้งการเขียนและคำศัพท์ครับ
- ช่วยงานที่คณะอักษร จุฬาฯ ทั่วไป เช่น เป็นสตาฟกิจกรรม, งานอบรมสัมมนา, Korean Festival ฯลฯ
เหมียว: ส่วนของเราก็เล่าประสบการณ์การทำงานในบริษัทเป็นหลักพร้อมยกผลงานโดดเด่นที่เกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลีมาซัพพอร์ต ตอนมหาลัยก็เคยเข้าแข่งขัน ASEAN Creative Touism Public Relations Campaign ที่ Bali Indonesia ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ London School of Public Relations Jakarta Campus โดยการรวมกลุ่มกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียคิด Campaign ย่อมๆขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยอยากไปเที่ยวบาหลี และคนบาหลีอยากไปเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น
ส่วนกิจกรรมของวิชาโทเกาหลี เราเคยเป็นตัวแทนไปเข้าร่วม Youth camp for Asia’s future ที่ได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลีผ่านการไปเยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญต่างๆ ใน Seoul-Suwon-Andong-Gyeongju-Jeju ซึ่งนอกจากเพื่อนคนเกาหลีแล้ว เราก็ได้เจอเพื่อนๆจากหลายประเทศในเอเชีย และร่วม Discuss ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างสนุกสนานได้ไอเดียใหม่ๆ
นอกจากนั้นก็เราเคยไปฝึกงานเป็นอาสาสมัครโครงการ World Internship Project ที่จัดโดย Hippo Family Club (Lex Institute) ซึ่งเป็น NGO ด้านความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม จากญี่ปุ่น ตอนนั้นมีเพื่อนๆ อาสาสมัครจากหลายประเทศทั้งอเมริกา เม็กซิโก รวมถึงคนเกาหลีด้วย กิจกรรมที่เราประทับใจที่สุดคือตอนที่เราไปจัดกิจกรรมห้องเรียนความหลากหลายที่โรงเรียนประถมเพื่อปลูกฝังให้เด็กญี่ปุ่นเข้าใจความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมตั้งแต่เล็กๆ เนื่องจากในปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีเด็กลูกครึ่งหรือคนที่ไม่ได้เป็นเชื้อสายญี่ปุ่นแท้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วเด็กๆอาจจะยังมองว่าเพื่อนเหล่านั้นแปลกแยกจากตน เลยไม่กล้าเข้าไปทำความรู้จัก ดังนั้นเราก็จะเข้าไปเป็นตัวกลาง และเล่าเรื่องราวของประเทศเราให้พวกเขาคุ้นเคย เข้าใจในความแตกต่างและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขในอนาคตค่ะ
พี: ผมก็แอคทีฟกับการทำกิจกรรมมากๆ เลยครับ บางงานก็ไปกับอาร์ตด้วย 5555 เวลามีกิจกรรมของในคณะรัฐศาสตร์ ในคณะอักษรฯ ระดับมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัย ก็จะสมัครเข้าร่วมไว้ก่อน จะได้พัฒนาสกิลและเห็นตัวเองชัดขึ้น ต่อให้ไม่มีรางวัลหรือเกียรติบัตรก็ต้องได้อะไรกลับมาแน่นอน เช่น ความสามารถ และประสบการณ์
- เคยไปแลกเปลี่ยนโครงการ AKS Summer Program for International Students เป็นแนวๆ เรียนรู้เชิง Korean Studies นาน 4 สัปดาห์ครับ เมื่อก่อนจะจัดปีละครั้ง ครั้งละ 4 สัปดาห์ ปัจจุบันจัดปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 สัปดาห์
- เคยไปร่วม The 29th International Youth Forum ที่ให้เยาวชนต่างชาติไป conference ภายใต้หัวข้อ The 4th Industrial Revolution with Youth: Life in Future จัดที่เกาหลีใต้โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และทำกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม เช่น ชมวัง ใส่ชุดฮันบก หรือเข้าคลาสเต้น K-POP
- เคยไปแข่งการเขียนภาษาเกาหลีที่เวียดนามในการแข่งขัน The 6th Sungkyun Writing Contest in Vietnam จัดโดย Sungkyunkwan University
- ทำกิจกรรมเชิงวิชาการและกิจกรรมทั่วไปที่จัดทั้งในคณะรัฐศาสตร์ คณะอักษรฯ และระดับมหาวิทยาลัย เช่น ไปเป็นสตาฟอีเวนต์ต่างๆ หรือเป็นผู้เข้าร่วมเอง
- เคยไปเป็นเพื่อนกับเด็กแลกเปลี่ยนเกาหลีที่มาแลกเปลี่ยนเรียนเอกไทยที่จุฬาฯ พาไปเที่ยวหลายที่เลย แล้วทำให้ได้รู้จักวัฒนธรรมของเขาในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน // พอดีมีเทอมนึงวิชาเรียนน้อยมากจนไปถามอาจารย์ว่ามีอะไรให้ทำไหม เค้าเลยแนะนำให้ไปเป็นเพื่อนกับเด็กแลกเปลี่ยนครับ ใครว่างๆ ลองเข้าไปของานกับอาจารย์ดูได้นะครับ 555
........
6
แนะนำทริคเขียนเรียงความ SoP
(Statement of Purpose)
อาร์ต: SoP คือเรียงความที่จะทำให้มหาวิทยาลัยรู้จักเรามากขึ้น กำหนดให้เขียนไม่เกิน 2 แผ่น โดยแยกเป็นแพลนเรียนภาษากับเป้าหมายในอนาคต จะเขียนภาษาอังกฤษหรือเกาหลีก็ได้ครับ แนะนำให้ดูว่าคณะเรียนอะไร ให้เขียนภาษานั้นครับ
- Language Study Plan ถ้าไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อน ควรแสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองในทักษะด้านต่างๆ ครับ
- Study Plan เล่าเป้าหมายการเรียนให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นทั้งคุณสมบัติและความตั้งใจของเรา
- Future Plan เน้นเล่าเป้าหมายหลังเรียนจบ เช่น อยากทำงานที่ไหน ยกตัวอย่างเช่นอยากลองหางานทำที่เกาหลีโดยใช้สิ่งที่เรียนมาตั้งแต่ป.ตรี-โท ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับเขาและเราครับ
เขาจะมีคำถามไกด์ไลน์มาให้อยู่แล้วว่าต้องเขียนครอบคลุมอะไรบ้าง (แต่ละปีกำหนดต่างกัน) ไม่ควรจ้างใครเขียนเด็ดขาด และอย่าประดิษฐ์เยอะ นอกจากจะเขียนให้น่าติดตามแล้ว ควรจะเขียนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และเป็นธรรมชาติให้มากที่สุดเพื่อให้เขารู้จักตัวตนเรา ใส่ความตั้งใจว่าอยากได้ทุนนี้เพราะอะไร ทำไมอยากเรียน ทำไมถึงตัดสินใจสมัคร ฯลฯ จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับวิธีการเล่าเลยครับ ลองนึกภาพว่าเราเป็นกรรมการต้องอ่านใบสมัครเป็นร้อยๆ ใบ ทุกคนก็เขียนคล้ายกันหมดมันก็ไม่เป็นที่จดจำถูกไหมครับ ดังนั้นเราต้องทำยังไงก็ได้ให้ใบสมัครของเราโดดเด่นและน่าติดตาม อยากแนะนำว่าควรหาข้อมูลเยอะๆ ควรเขียนล่วงหน้าจะดีที่สุด เขียนทิ้งไว้แล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ ขอคำแนะนำหรือฟีดแบคจากคนรอบข้างด้วยก็ได้ครับ แก้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในแบบฉบับของเราครับ
เหมียว: หลักๆ เราอาศัยตอบคำถามด้วย main idea ก่อนแล้วค่อยเขียน supporting idea เสริมเข้าไป เช่น เขาถามเป้าหมาย ก็ควรเขียนตั้งแต่ต้นไปเลยว่าอยากทำประมาณไหนด้วยวิธีการอะไร แล้วการทำสิ่งนี้จะสร้างประโยชน์อะไรให้แก่สังคมบ้าง อย่าลืมว่าต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงและเป็นไปได้ด้วย สมมติใครอยากเป็นเจ้าของธุรกิจที่นำเข้าอุปกรณ์ Health Care ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้และการบริหารธุรกิจมากแค่ไหน แล้วทำไมคนไทยถึงต้องการอุปกรณ์นี้ เขียนบรรยายด้วยหลักฐานให้กรรมการเห็นภาพ
พี: ควรจะเริ่มจากถามตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร อยากเรียนต่อด้านไหน ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแล้วรีเสิร์ชข้อมูลโดยการอ่านหนังสือฟิลด์ที่เราสนใจว่าตัวเองคลิกกับอะไรที่สุด (เช่น สาขาเรา Korean Language and Literature ที่ Kyung Hee University ก็จะมี Korean Linguistics, Korean Education, Classical Literature, Modern Literature และ Korean Cultural Contents) จากนั้นก็ปรึกษาคนที่เรียนด้านนี้จริงๆว่าแนวทางนี้จะพาไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้ไหม
จากนั้นก็กลั่นกรองมาเขียน SoP ผมทำกิจกรรมเยอะเลยเลือกหยิบมาใส่ได้เยอะ ถึงงานไหนไม่ได้รางวัลกลับมา เราก็เล่าได้นะว่างานนั้นให้อะไรกับเราบ้าง บางทีเรื่องเล็กๆ ที่เราคิดว่าไม่สำคัญ มันอาจสำคัญก็ได้ อยู่ที่มุมที่เราเลือกจะนำเสนอให้เขาเห็น
โดยรวมคือต้องทำ SoP ให้สมเหตุสมผล ตอบครอบคลุมทุกอย่างที่เค้าถาม โดยไม่เพ้อฝัน ไม่เกินจริง หาวิธีเล่าเชื่อมให้ทุกย่อหน้าทุกประโยคสมเหตุสมผลกัน และอย่าแสดงทัศนคติด้านลบลงไป พอเขียนเสร็จก็ลองอ่านใหม่ ลบอะไรที่รู้สึกไม่เกี่ยวข้องลงไป ผมเองรีเสิร์ชข้อมูล ปรึกษา เขียนๆ ลบๆ นานเป็นเดือนเลยครับ
ไปร่วมกิจกรรมที่เวียดนามพร้อมกัน
@sehyxn
อาร์ต: เรื่องเอกสารควรเผื่อเวลาไว้เยอะๆ ศึกษาให้ละเอียด เราอ่านหลายรอบมากเพราะกลัวตีความผิดด้วย อย่าเพิ่งท้อนะครับ อาจให้เพื่อนช่วยๆ กันอ่านว่าเข้าใจตรงกันมั้ยก็ได้
ปกติทุนจะประกาศช่วงกุมภาพันธ์ เราก็อาจไปศึกษาข้อมูลเอกสารอิงจากปีก่อนๆ แล้วพอเขาประกาศรอบใหม่ก็มาเช็กอัปเดตรายละเอียดอีกทีเผื่อมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเอกสารไหนไม่ใช่ภาษาอังกฤษหรือเกาหลีก็ต้องแปลแล้วไปรับรองครับ ระหว่างนั้นเริ่มร่างเรียงความ (SoP) ไว้ก่อนเปิดรับสมัครล่วงหน้าสักเดือนสองเดือนเลย อย่าคิดว่าแป๊บเดียวจะเขียนเสร็จ เราเห็นแต่ละคนแก้เป็นสิบๆ รอบกว่าจะส่งได้ ถ้าเขียนเสร็จอาจจะทิ้งช่วงไว้พักนึงแล้วมาอ่านใหม่ ให้เพื่อนช่วยอ่านด้วยก็ได้ครับ
........
7
รีวิวสั้นๆ กับบรรยากาศสัมภาษณ์
(เจอกี่รอบ, ภาษาอะไร, เตรียมตัวยังไงบ้าง)
อาร์ต: กดดันมาก ㅠㅠ ต้องสัมภาษณ์ออนไลน์เพราะเป็นช่วงโควิด ไปสถานทูตไม่ได้ เราโดนสัมภาษณ์สองภาษาเลย เป็นคำถามพื้นฐานรอบตัวเราและอยู่ในใบสมัครที่ส่งไป เช่น SoP, Study Plan บางคนอาจเจอคำถามจิตวิทยาก็ได้ วิธีเตรียมตัวของเราคือซ้อมตอบคำถามแบบดักทุกทางให้ได้มากที่สุด แล้วซ้อมพูดคนเดียวทั้งภาษาอังกฤษกับเกาหลี เราเตรียมตัวสัมภาษณ์ไม่ต่ำกว่า 2-3 รอบ เพราะนอกจากสถานทูตแล้ว มหา'ลัยทั้ง 3 ที่เราเลือกอาจมาสัมภาษณ์เราด้วย
เหมียว: เราสัมภาษณ์ทั้งกับสถานทูต เป็นภาษาอังกฤษ+เกาหลี และ มหาวิทยาลัย (SKKU) เป็นภาษาอังกฤษล้วน มีทั้งเรื่องเบสิกทั่วไป พื้นความรู้ของสิ่งที่จะเรียนนิดหน่อย และมีคำถามที่เราประทับใจคือ อาจารย์เขาถามว่าคิดเห็นยังไงกับอนาคตของธุรกิจการขนส่งน้ำมันและอิทธิพลของ Blockchain // จริงๆ มันเป็นคำถามที่เราไม่ได้คาดคิดเลยอึ้งนิดหน่อย แต่เราก็ตอบไปโดยใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เรามี(แม้จะน้อยนิด) และจากคำถามนี้ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าเราอยากเรียนที่นี่ อยาก Discuss เรื่องนี้กับเพื่อนและอาจารย์ เพราะมันเป็นธุรกิจที่ใกล้ตัวเราและเรามีความสนใจ
พี: ของผมเป็น University Track มีโอกาสที่ม.นั้นจะสัมภาษณ์/ไม่สัมภาษณ์ ส่วนผมเจอสัมผ่าน Zoom สั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที (ตอนแรกคิดว่าจะไม่มี เพราะเคยมีคนเมลไปถามทางมหาวิทยาลัยแล้ว จู่ๆ เขาก็แจ้งกระชั้นชิดจนแทบไม่ได้เตรียมตัวเลย 5555) ตอนนั้นมีกรรมการ 3 คน มาถึงเริ่มทักเป็นภาษาอังกฤษ พอเราตอบกลับภาษาเกาหลี เค้าก็เลยสัมเราต่อเป็นภาษาเกาหลีซะเลย ส่วนคำถามผมไม่เจอนอกเหนือจากใน SoP ที่เขียนไปครับ มีประมาณเรื่องการเรียนภาษาเกาหลี, สิ่งที่ยากที่สุด, เป้าหมายหลังเรียนจบ, เหตุผลที่เลือกเรียนที่นี่ ฯลฯ
........
8
อัปเดตสถานการณ์โควิด
รูปแบบการเรียน, การกักตัว, วัคซีน ฯลฯ
อาร์ต: เราออกเดินทางสิ้นเดือน ก.ค.นี้แล้วครับ ไปถึงแล้วต้องกักตัว 14 วัน เรื่องเอกสารค่อนข้างขั้นตอนเยอะ เพราะสถานการณ์ทำให้ขั้นตอนล่าช้าและเวลาถูกบีบลง ช่วงนี้จะทำเรื่องเอกสารลำบากขึ้น มีตรวจสุขภาพ แต่ที่เกาหลีมีนโยบายฉีดวัคซีนฟรีให้คนต่างชาติด้วย น่าจะช่วง ส.ค.-ก.ย. นี้แหละครับ (ส่วนตอนนี้คิดว่าน่าจะได้เรียนออนไลน์แน่ๆ เลย ㅠㅠ) หวังว่าโควิดจะดีขึ้นในเร็ววันนะครับ
เหมียว: เราบินวันที่ 1 ส.ค.ค่ะ ตอนนี้เราก็เริ่มเก็บกระเป๋าไปกักตัว 14 วัน ทาง SKKU จะให้ลิสต์คร่าวๆ ด้วยว่าเขามีอะไรเตรียมไว้ให้ แล้วเหลืออะไรที่เราต้องเตรียมเองบ้าง ส่วนรูปแบบการเรียนทาง SKKU บอกว่าเป็น Hybrids คือผสมผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ ต้องรอประกาศที่แน่นอนอีกครั้งตามสถานการณ์ แต่ตอนนี้ทางมหาลัยส่งคอร์ส Pre-MBA มาให้เรียน Online แล้ว เรียกได้ว่าเริ่มเรียนตั้งแต่ยังไม่ถึงเกาหลีเลย (ดูเหมือนว่าการแจกจ่ายวัคซีนในเกาหลีค่อนข้างเป็นระเบียบอยู่แล้ว หวังว่าจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วๆ ในเทอม 2 เป็นอย่างช้า)
พี: น่าจะได้ออกเดินทางช่วง ส.ค.ครับ หลังจากที่รู้ว่าได้ทุนก็ต้องไปตรวจสุขภาพเพื่อยื่นวีซ่า ซึ่งช่วงนี้จะต้องระวังเป็นพิเศษเลย ถ้าใครเป็นโควิดขึ้นมาจะลำบากมากเพราะเรื่องเอกสารต้องเดินเรื่องทำด้วยตัวเอง ส่วนจะได้เรียนออนไลน์มั้ย ช่วงนี้ยังต้องรอประกาศจากทางมหา'ลัยอีกทีครับ
ขวาพี่พี : @sehyxn
........
9
พาร์ตส่งท้าย!
ชวนพี่ศิษย์เก่า 3 คน รีวิวโทเกาหลีจุฬาฯ ให้ฟัง
ด้วยความที่พี่อาร์ต, พี่เหมียว และพี่พี เลือกเรียนวิชาโทเป็นภาษาเกาหลีทั้งหมด และตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา คณะอักษรจุฬาฯ ก็เปิดสอนเป็นเอกเกาหลี (เรามีขนทีมงานไปบุกถึงถิ่นแล้วด้วย อ่านต่อที่นี่ค่ะ) เราเลยขอถือโอกาสนี้ชวนนักเรียนทุนทั้ง 3 คนมาช่วยรีวิวทั้งเรื่องการเรียน สังคม และกิจกรรม เผื่อมีน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจเรียนต่อสาขานี้ที่จุฬาฯ // ด้านล่างนี้สรุปมาให้แล้ว ตามมาอ่านกันเลยค่ะ!

- ความเจ๋งของจุฬาฯ คือเปิดโอกาสให้นิสิตเลือกเรียนวิชาโทข้ามคณะได้อย่างอิสระ และคณะอักษรฯ ก็มีทั้งเอกและโทให้เลือกเยอะมากด้วย (เช่นพี่เหมียวเด็กนิเทศฯ กับพี่พีเด็กรัฐศาสตร์ ก็เลือกเรียนเป็นโทเกาหลีของคณะอักษรฯ ได้) ซึ่งถ้าเกิดนิสิตคณะใดก็ตามที่ตั้งใจจะเรียนโทเกาหลี จะต้องช่วงชิงที่นั่งลงเรียน "วิชาเกาหลี1" ให้ผ่านก่อนถึงจะเรียนตัวต่อไปได้ หรือไม่ก็ต้องสอบข้ามเงื่อนไข // วิชานี้คือบูมสุดๆ ด้วยนะคะ
- สังคมสาขานี้อบอุ่นมาก มีทั้งอาจารย์ที่น่ารักและเป็นกันเอง แถมแต่ละคนก็เก่งและมีดีกรีเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีทั้งนั้นเลยค่ะ ใครสงสัยเรื่องภาษาหรือ Career Path ก็ถามได้หมด ทำให้นิสิตสบายใจที่จะเรียนและคุยกับอาจารย์
- มีทั้งครูไทยและครูเกาหลี ยกตัวอย่างวิธีการสอนเช่น ใน 1 คาบมี 3 ชั่วโมง ใน 2 ชั่วโมงแรกเรียนไวยากรณ์และการอ่าน + ชั่วโมงสุดท้ายเรียนสอน-ฟัง-พูด กับครูเจ้าของภาษา ช่วงแรกแต่ละคนก็จะเขินๆ แต่เขาสอนแบบเข้าใจผู้เรียน ส่วนผู้เรียนก็พยายามพัฒนาตัวเองไปด้วย
- วิชาโทจะมีบังคับ 7 วิชา แต่ละวิชาเรียน 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่ถ้าใครเมเนจเวลาดีๆ ก็จะลงเป็นสิบๆ ตัวเหมือนพี่ในบทความนี้ก็ได้! ตัวอย่างวิชาในสาขา เช่น เกาหลี1-6 (สูงสุดน่าจะถึง TOPIK3) , Korean Writing, Reading, Culture, Grammar, Business
- ไม่ต้องกังวลว่าต้องเป็นเทพเกาหลีมาก่อนถึงจะเลือกโทนี้ได้ เพราะมีนิสิตทั้งคนที่มีพื้นฐาน/ไม่มีพื้นฐานมาก่อน อย่างพี่พีเริ่มต้นจากระดับที่ได้แค่ตัวอักษร พอปี 4 เทอม 1 ไปลองสอบก็ได้ TOPIK3
- จากบทสัมภาษณ์ด้านบนอาจพอเดาได้ว่ากิจกรรมคณะนี้เยอะมาก และหน้าเพจของสาขา @koreanchula ยังมีอัปเดตทุนแลกเปลี่ยน ทุนภาษา กิจกรรมจากมหา'ลัยพาร์ตเนอร์ที่เกาหลีหรือองค์กรภายนอกตลอด เช่น แข่งสุนทรพจน์ ไปแข่งเรียงความที่ต่างประเทศ กิจกรรมพัฒนาทักษะผู้นำ ฯลฯ ซึ่งในหลายกิจกรรมก็ต้องเดินทางไปเกาหลีหรือประเทศอื่นที่จัดแข่งด้วยค่ะ เรียกว่าซัพพอร์ตนิสิตกันสุดๆ


ถ้าอยากปรึกษาเพิ่มเติม ลองติดต่อพี่ๆ ได้ที่ช่องทางด้านล่างนี้นะคะ ^^
พี่อาร์ต IG: @aarrttist
พี่เหมียว IG: @thmiyaosk
พี่พี IG: @sehyxn / ryusehyun96@naver.com
[ชวนอ่านต่อ]
[ข่าวทุน] ประกาศทุนรัฐบาลเกาหลี (GKS) ระดับป.โท/เอก ของปี 2021 *ศึกษาไว้เตรียมตัวล่วงหน้า
https://www.dek-d.com/studyabroad/57248/
ปิ๊งรักตารางฮันกึล: เล่าชีวิตเด็กเอกเกาหลี แลกเปลี่ยนที่ปูซาน ลุยงานล่าม แถมได้ทุนรัฐบาล ป.โท!
https://www.dek-d.com/studyabroad/55746/
ชีวิตวุ่นๆ ของเด็กทุนรัฐบาลเกาหลีที่ ม.การแพทย์ 'Konyung' ทันสมัย แล็บดี (โดนบัดดี้เทตั้งแต่วันแรก!)
https://www.dek-d.com/studyabroad/55999/
[กระทู้] รีวิวทุนรัฐบาลเกาหลี(GKS)ระดับปริญญาโท 2020
https://www.dek-d.com/board/studyabroad/3998911/
ม.โคเรีย/ บริษัทเกาหลี/ ร่วมงานกับไอดอล: ‘HYEBAM’ ยูทูบเบอร์ผู้เริ่มต้นจากการเป็น ‘เด็กทุนรัฐบาลเกาหลี’
https://www.dek-d.com/studyabroad/58139/
0 ความคิดเห็น