'City Pop' ไม่ใช่แนวเพลง ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน: ชวนรู้จักแนวเพลงญี่ปุ่นยุค 80s ที่อยู่เหนือกาลเวลา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การกลับมาของเพลง City Pop นับปรากฏการณ์ระดับโลก เพลงหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเพลง Plastic Love ของ Mariya Takeuchi นักร้องที่ถูกยกย่องว่าเป็นเจ้าแม่แห่งวงการซิตี้ป๊อป แต่ถึงอย่างนั้น จริงๆ แล้วแนวเพลงที่ว่ามันคืออะไรกันแน่? และทำไมถึงดังขนาดนั้น? พี่วินขอชวนเปิดเพลงแนวนี้จากศิลปินไทยคลอๆ ระหว่างหาคำตอบในบทความนี้กันครับ

SHIBUYA - TELEx TELEXs

เวลาเธอยิ้ม - Polycat

เกี่ยวกันไหม - Ink Waruntorn

ข้างกัน - Three Man Down

ว่าด้วยเรื่องของ City Pop

หากว่ากันตามลักษณะของดนตรีและจังหวะในเพลงแล้ว City Pop คือแนวเพลงป๊อปของประเทศญี่ปุ่นที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1970s และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วง 1980s ตรงกับช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีการรับวัฒนธรรมตะวันตก ไปพร้อมกับก้าวเข้าสู่ยุค analog จึงเริ่มมีแนวดนตรีอย่าง Funk, Disco รวมถึง Jazz หลั่งไหลเข้ามา ผสมผสานกับเครื่องดนตรี synthesizer จนเกิดเป็นแนวดนตรีของตัวเองขึ้นมา 

อย่างไรก็ตาม คำว่า City Pop นั้นเกิดไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก แต่เป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลังเพื่อเรียกเพลงในยุคดังกล่าวส่วนดนตรีแนว Funk และ Disco นั้นเป็นอย่างไร ขอยกตัวอย่างเพลงให้ฟังกันครับ 

Go - Tina Charles (1977)

You Set My Heart On Fire - Tina Charles

ดนตรี Jazz เชื่อว่าน่าจะพอคุ้นเคยกันบ้าง แต่อาจจะสงสัยว่ามันมาอยู่ใน City Pop ได้อย่างไร คำตอบหนึ่งที่พี่วินพอจะตอบได้คือมีการใช้คอร์ด “แปลกประหลาด” เช่น major seventh และ diminished ในการเรียบเรียงเพลง อย่างเช่นเพลง Plastic Love มีทางคอร์ดในท่อนอินโทรเป็น Gm9 / C7b9 / Am7 / Dm7 ซึ่งแต่ละคอร์ดประกอบไปด้วยโน้ตไม่ต่ำกว่า 4 ตัว จึงนับว่าเป็นคอร์ดยากครับ

ลักษณะของเพลงซิตี้ป๊อปนั้น หากแปลตรงตัวก็จะได้ว่า “เพลงป๊อปแบบเมือง” ซึ่งก็สื่อความได้พอสมควร ทำให้เห็นภาพของเมืองที่กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยแสงสีเสียง มีผู้คนจอแจ มีความวุ่นวาย แม้กระนั้นก็ยังให้ความรู้สึกเหงาในยามวิกาล สำหรับเพลงไทยแล้ว พี่วินคิดว่าจะเป็นเพลงไหนไปไม่ได้นอกจากเพลง 'เหงา เหงา' ของอิ้งค์ วรันธร (ใครยังไม่เคยฟัง ไปลองฟังกัน) สำหรับใครคิดว่ายังมีเพลงอื่นที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในเมืองแห่งความเหงาใจแบบนี้อีกก็สามารถแชร์กันได้ครับ ในแง่ของภาษามักตั้งชื่อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Plastic Love, Ride On Time, Telephone Number และในเนื้อเพลงมักจะมีคำร้องภาษาอังกฤษในท่อนสำคัญของเพลงด้วย ทำให้เพลงเป็นที่ติดหูมากขึ้นด้วย

Photo Credit from FB: Yamashita Tatsuro
Photo Credit from FB: Yamashita Tatsuro

ถ้าพูดถึงศิลปินในวงการเพลงซิตี้ป๊อป Yamashita Tatsuro และ Mariya Takeuchi ที่ภายหลังได้แต่งงานกันนั้น เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อและเจ้าแม่ของวงการนี้เลยทีเดียว เดี๋ยวพี่วินจะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขารวมถึงศิลปินมากความสามารถอย่าง Miki Matsubara ด้วยครับ

Tatsuro Yamashita (山下 達郎)

Photo Credit from FB: Yamashita Tatsuro
Photo Credit from FB: Yamashita Tatsuro

ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกและเจ้าพ่อแห่งเพลงซิตี้ป๊อป เริ่มต้นจากการทำวงดนตรี Sugar Babe ตั้งแต่ยุค 70s ซึ่งในวงก็มี Takeo Onuki ที่ภายหลังก็ดังมากๆ สองปีต่อมาก็ประกาศยุบวง และทำเพลงในฐานะศิลปินเดี่ยว ออกอัลบั้มมากมาย และเริ่มโด่งดังตั้งแต่ตอนนั้น หนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นก็คือเพลง Ride On Time ซึ่งประกอบโฆษณาเทป cassette ของ Maxell ต่อมาเพลงได้ข้ามเวลามาหาคนรุ่นใหม่ โดยถูกใช้ในการประกอบละครเรื่อง Good Luck ซึ่งดังเปรี้ยงเลยครับ

การงานว่าดีแล้ว  ชีวิตรักดียิ่งกว่า เพราะภายหลังที่อัลบั้ม Ride On Time ออกได้แค่ปีเดียว Yamashita Tatsuro ได้แต่งงานกับ Mariya Takeuchi ที่เป็นอีกหนึ่งศิลปินเพลงซิตี้ป๊อปที่ดังเหมือนกัน ทั้งคู่ส่งเสริมกันและกัน และหลังแต่งงานกันได้ 1 ปี ทาง Tatsuro ก็ออกอัลบั้มใหม่ชื่อ Melodies (1983) หนึ่งในนั้นมีเพลงที่ไต่ขึ้นอันดับ 44 ของชาร์ตทันทีในปีที่เพลงออก และเคยทะยานขึ้นอันดับ 1 ในปี 1989 จนล่าสุดติดอันดับ 10 ในปี 2013 // ถ้าประเทศสหรัฐอเมริกามี All I Want For Christmas Is You ของ Mariah Carey ที่เป็นเพลงตำนานคริสต์มาส ประเทศญี่ปุ่นก็มีเพลง Christmas Eve ของ Yamashita Tatsuro เหมือนกัน (ว่าแล้วก็อยากให้ถึงคริสต์มาสเร็วๆ แล้วครับ)

ในฐานะนักร้อง นักดนตรี ถือว่าประสบความสำเร็จสูงมาก ในฐานะ producer ก็ถือว่าดีเยี่ยมครับ หนึ่งในเพลงฮิตที่ Tatsuro ได้โปรดิวซ์ก็คือเพลง Plastic Love นั่นเอง เดี๋ยวจะขอเก็บความปังไว้เล่าในพาร์ตของ Mariya Takeuchi ที่กำลังจะพูดถึงกันต่อนะคร้าบบ

Mariya Takeuchi (竹内 まりや)

Photo Credit: www.japantimes.co.jp
Photo Credit: www.japantimes.co.jp

เมื่อพูดถึงเธอคนนี้ ก็ต้องพูดถึงเพลงชาติของ City Pop อย่าง Plastic Love เลยครับ (เป็นส่วนสำคัญให้ปัจจุบันนี้เพลงซิติป๊อปแมสขึ้นมากๆ) อย่างที่บอกครับว่าถ้า Yamashita Tatsuro คือเจ้าพ่อแห่งเพลงซิตี้ป๊อป Mariya Takeuchi ก็ถือว่าเป็นเจ้าแม่ของวงการ เพราะในยุคนั้นเพลงอื่นของเธออย่างเพลง Mou Ichido (Once Again) ในอัลบั้ม Variety ก็ติด Oricon Chart อันดับที่ 20 หรืออย่างเพลง September ที่พี่วินได้ลองฟังไม่นานนี้ก็ติดอันดับ 39 ครับ

และการเดินทางของเพลง Plastic Love ก่อนจะเป็นที่รู้จักและดังพลุแตกอย่างในวันนี้ ต้องใช้เวลากว่า 30 ปีเลยครับ และนี่เป็น 7 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเพลงนี้!

1. Plastic Love ในยุคนั้นไม่ฮิตเท่าเพลงอื่น

จริงอยู่ว่าในปีที่เพลงออก คนจะพอรู้จักและได้ติดอันดับ 86 แต่นั่นยังไม่เทียบเท่ามาตรฐานของ Takeuchi เพราะปกติเพลงอื่นของเธอจะติดอับดับต้นๆ ของชาร์ตครับ นอกจากเพลง Mou Ichido และ September ที่ได้พูดไปข้างต้นแล้ว เพลง Fushigi na Peach Pie (Mysterious Peach Pie) นั้นติดอันดับ 3 ของชาร์ตในปี 1980 เพลง Single Again ติดอันดับ 2 ในปี 1989 เพลง Camouflage และ Winter Lovers ติดอันดับ 1 ในปี 1998 เลย

2. ทำนองสนุก แต่ความหมายเพลงตรงข้ามกันสุดๆ

ถึงแม้ว่าเพลงจะมีทำนองที่สนุกสนาน เราโยกหัวไปกับมันได้ แต่ความหมายเพลงตรงกันข้ามเลยครับ เพลงนี้เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่รักสนุกแต่ไม่คิดผูกพัน ความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตทำให้เธอมองความรักเป็นเพียงเกมเท่านั้น อย่างเช่นในแต่ละท่อนต่อไปนี้

Verse 1:

突然のキスや 熱いまなざしで、恋のプログラムを 狂わせないでね

อย่าทำโปรแกรมแห่งความรักของฉันพังด้วยจุมพิตอันฉับพลันและแววตาอันรุ่มร้อนเลย

Hook:

わたしのことを決して 本気で愛さないで、恋なんてただのゲーム 楽しめばそれでいいの

อันตัวฉันนั้นไม่เคยได้รับรักอย่างจริงใจเลย ความรักมันก็แค่เกมเท่านั้น ถ้าได้สนุก นั่นก็ดีแล้ว

Outro:

I’m just playing games, I know that’s plastic love.

Dance to the plastic beat, Another morning comes.

ฉันก็แค่กำลังเล่นเกมส์ รู้ว่านั่นคือรักปลอมๆ

เต้นไปกับจังหวะลวงๆ จนอีกเช้าวันใหม่มาหา

3. Mariya Takeuchi ไม่ได้เจ็บปวดในเรื่องความรักแต่อย่างใด

แถมเพลงนี้ยังได้ Yamashita Tatsuro สามีของเธอมาประจำตำแหน่ง producer ให้อีกด้วยจ้าาา

4. เพลงนี้ดังเพราะความผิดพลาดทาง algorithm ในยูทูบ?

เท่าที่พี่วินไปหาข้อมูล หลายแหล่งมันจะบอกว่าเวลาที่เปิดเพลงใน YouTube  ไปเรื่อยๆ เพลง Plastic Love จะถูก “คัดสรร” ผ่านระบบ suggestion มาให้ทั้งๆ ที่บางคนยังไม่ได้ฟังเพลงแนวซิตี้ป๊อปด้วยซ้ำ แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้นครับ เพราะองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งเสน่ห์ของหน้าปกเพลง(ที่ก็ไม่ได้ตรงกับอัลบั้มด้วย แต่ไม่ตรงยังไง ขอเก็บไว้พูดทีหลังครับ) หน้าตาของคุณ Mariya Takeuchi และความไพเราะของเพลงต่างหากที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความหลงใหล และเกิดการแชร์ไปเรื่อยๆ จนกลับมาฮิตอีกครั้ง

ถ้ายูทูบแนะนำเพลงมาแต่พอฟังแล้วไม่รู้สึกว่าเพราะ เราก็คงไม่คิดที่จะเล่าสู่กันฟังจริงมั้ย?

5. 35 ปีผ่านไปเพิ่งมี MV แบบ official 

คลิปด้านล่างนี้คือ MV เพลง Plastic Love (1984) ที่ทาง Warner Music Japan เพิ่งปล่อยออกมาในปี 2019 ซึ่งมีความยาวเพียงแค่ 1.49 นาทีเท่านั้นครับ  // ส่วนคลิปอื่นที่หลายๆ คนได้ฟังนั้นกับไม่ใช่ official แต่จะเป็นของใครนั้น ตามมาอ่านกันต่อในข้อ 6 เลยจ้า

6. Sona, Plastic Lover และ Gun: ผู้สืบทอดเพลง Plastic Love

ถ้าไม่ใช่ของแท้ นั่นก็คือแบบเถื่อนนั่นเอง Sona คือยูสเซอร์รายแรกที่อัปเพลงนี้ลงยูทูบ แต่ภายหลังก็ถูกลบออกไป ต่อมา Plastic Lover ได้ remix เพลงให้มีความยาว 7 นาที ซึ่งเวอร์ชันนี้แหละที่ทุกคนได้เข้ามาฟังพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายจน ยอดวิวพุ่งขึ้นถึง 50 ล้าน ล่าสุดโดนลบไปแล้วครับ แต่! มียูสเซอร์อีกรายหนึ่งชื่อ Gun ได้อัปลงยูทูบอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภาพหน้าปก (ที่อัลบั้มไม่ตรง) และความยาวเพลงเหมือนของ Plastic Lover ทุกประการ อาจจะเป็นเพราะต้องการเคารพต้นฉบับก็ได้ครับ (ซะที่ไหน) ล่าสุดยอดวิวเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ปาไป 41 ล้านวิวกว่าแล้ว!

ถ้าใครเคยเลื่อนอ่านคอมเมนต์เพลง Plastic Love บนแชนเนลของ Plastic Lover ก็อาจจะคุ้นเคยกับข้อความของยูสเซอร์ชื่อ JK ที่ซึ้งกินใจจนเป็นตำนานเลยก็ว่าได้ปัจจุบันคอมเมนต์นี้ถูกลบไปพร้อมกับช่อง Plastic Lover แล้ว แต่ว่าก็มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ “dlarondie 1” ได้ทำการคัดลอกข้อความนั้น แล้วเอาลงแปะในช่องของ Gun 

และนี่คือสิ่งที่คุณ JK เขียนไว้ครับ

“ผมจำได้ว่าเติบโตในญี่ปุ่น ตอนนั้นอายุ 10 ปี เพิ่งก้าวออกมาจากร้านหนังสือ ก็มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งซึ่งอายุรุ่นคราวเดียวกัน ยื่นมือออกมาจับมือผมด้วยท่าทีเขินอายแล้วขอให้เดินเล่นเป็นเพื่อน วิทยุกำลังเล่นเพลงนี้อยู่ตอนที่เรานั่งกินราเมงด้วยกัน เธอไม่เคยบอกชื่อของตัวเอง กลับบอกแค่วันเวลาที่จะเจอกันเพื่อเดินจับมือหรือปิกนิกด้วยกัน หลายเดือนผ่านไป ในที่สุดก็ได้รู้ว่าเธอชื่อ มิตสึกิ พวกเราสนิทกัน แต่กลับต้องจากกันเพราะพ่อแม่ผมได้งานที่อเมริกา พวกเรานั่งร้องไห้ หลังจากนั้นถึงส่งจดหมายให้กันและกัน จนอายุ 22 ปี เธอก็หยุดส่งจดหมายให้เอาดื้อๆ นึกว่าเธอไปจากชีวิตผมแล้ว 

 

แต่ 5 เดือนให้หลังเธอกลับมาอยู่ที่หน้าประตูบ้านที่อเมริกา เมื่อเปิดประตูออกไป เธอก็ยื่นมือมาหาผมเหมือนวันแรกที่ได้เจอกัน ตอนนี้พวกเราแต่งงานกันตอนอายุ 40 ปี ได้เดินทางผ่านเมืองมากมายๆ ทั่วโลกไปด้วยกัน และจะหยุดตรงที่ไหนสักแห่งที่มีร้านบะหมี่และเปิดเพลงนี้บนโทรศัพท์อยู่เสมอ ขอขอบคุณคุณมาริยะและเพลงนี้มากๆ ถึงแม้ว่าความรักของคุณอาจจะเหมือนพลาสติก แต่สำหรับพวกเราแล้วมันงดงาม ถ้าเจอคู่รักวัยกลางคนซึ่งอาจมีลูกมาด้วย กำลังเดินจับมือกัน ทำตัวเหมือนเด็กวัยรุ่น หรือถึงขั้นเหมือนเด็กเล็กๆ เดินเล่นอยู่ในกรุงโตเกียว นั่นคือพวกเราเองครับ”

JK - ผู้ใช้ยูทูบรายหนึ่ง

7. Alan Levenson: จุดเริ่มต้นความดังพลุแตกของ Plastic Love และจุดจบของ Plastic Lover

Photo Credit: Alan Levenson
Photo Credit: Alan Levenson

“ช่วงเวลาหนึ่งในปี 1980

ชำเลืองมอง ส่งยิ้ม กดชัตเตอร์

39 ปีให้หลังกลายเป็นไอคอนบนโลกอินเทอร์เน็ต ประหลาดใจมากถึงมากที่สุด”

ข้อความด้านบนเป็นคำบรรยายใต้ภาพ Mariya Takeuchi ที่ถ่ายโดย Alan Levenson ไว้ในปี 1980 ซึ่งไม่ใช่หน้าปกเพลง Plastic Love แต่อย่างใด // ใช่ครับคลิปที่ Sona, Plastic Lover และ Gun อัปลงยูทูบเพลง Plastic Love นั้น เพลงไม่ตรงปกจ้าา เพลง Plastic Love อยู่ในอัลบั้ม Variety ส่วนหน้าปกคือเพลง Sweetest Music อัลบั้ม Miss M แต่เป็นเพราะว่าเพลง Plastic Love ดังพลุแตกเมื่อเวลาผ่านไป Alan Levenson จึงเริ่มตระหนักถึงการที่ภาพของเขาถูกนำไปใช้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ และพยายามติดต่อ Plastic Lover ในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายแล้วจึงฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์กับทาง YouTube และช่อง Plastic Lover ก็ถูกลบออกไปจากสารบบในที่สุด

Miki Matsubara (松原 みき)

Photo Credit: Tokyo Weekender
Photo Credit: Tokyo Weekender

หญิงสาวร่างเล็กแต่ความสามารถยิ่งใหญ่มาก เธอใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องตั้งแต่อยู่ม.ปลาย จึงตัดสินใจเดินทางเข้าโตเกียวคนเดียวตั้งแต่อายุ 17 เริ่มจากการร้องเพลงตามผับบาร์ในย่านรปปงงิ (Roppongi) แล้วในที่สุดก็ทำตามความฝันได้หลังผ่านไป 2 ปี เธอมีเพลงแรกเป็นของตัวเองตอนอายุ 19 ปี และดังเปรี้ยงด้วย! ติดชาร์ต Oricon อันดับที่ 28 ได้รับเสียงชื่นชมมากมายเพลงนั้นก็คือ Mayonaka no Door หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Stay With Me นั่นเองครับ

ถ้า “ประตูเที่ยงคืน” หรือ Mayonaka no Door เป็นเหมือนประตูหรือใบเบิกทางสู่วงการร้องเพลงแล้ว เพลง Neat na gogo san ji ของเธอก็ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่นำพาสู่ความสำเร็จครับ เพราะผลงานดังกล่าวทำให้เธอกลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงทันที ได้ไปร้องเพลงในงานของมหาวิทยาลัย เล่นคอนเสิร์ตทั่วประเทศ และตัวเพลงยังถูกนำไปใช้โปรโมตในโฆษณาของ Shiseido อีกด้วย

หลังจากเริ่มมีชื่อเสียงแล้ว เธอได้ตั้งวงดนตรีชื่อ Dr. Woo ขึ้นมาและทำเพลงออกมาตลอดช่วงชีวิตในวงการนี้ แต่น่าเสียดายที่เธอจากพวกเราไปเร็วเหลือเกิน Miki รู้ตัวว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก แต่เธอเลือกจะทุ่มเทให้งานเต็มที่โดยไม่บอกคนในวงจนกระทั่งอาการร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เกินจะรักษาได้ และจากโลกนี้ไปปี 2004 ด้วยวัยเพียง 44 ปีเท่านั้น

สิบกว่าปีให้หลัง กระแสซิตี้ป๊อปได้หวนกลับมาอีกครั้ง ถึงแม้ว่า Miki จะไม่อยู่แล้ว แต่มีหนึ่งในเพลงของเธอที่กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากการแนะนำของยูทูบ (เช่นเดียวกับเพลง Plastic Love) เกิดการแชร์และนำไป cover เพลงเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือผู้ใช้ยูทูบชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งชื่อ Rainych ครับ  ชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศถึงกับยกย่องว่าผลงานของเธอได้สร้าง impact จนเพลงของ Miki Matsubara กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ... และจะเป็นเพลงไหนไปไม่ได้เลยครับ นอกจาก Mayonaka no Door (Stay With Me)

ทางด้าน มือกีตาร์ของวง Dr. Woo อย่าง Miyawaki Toshiro ก็ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ชม และคอมเมนต์แสดงความขอบคุณที่ทำให้เพลง Mayonaka on Door ถูกพูดถึงอีกครั้ง

ถึง Rainych Ran

ประทับใจในเสียงอันไพเราะของคุณมากๆ

ผมเป็นคนญี่ปุ่น เล่นกีตาร์ให้วงของมิกิ มัตสึบาระเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

เธอเป็นผู้หญิงที่ยอดเยี่ยมและนิสัยดีมากๆ

เพื่อเป็นการขอบคุณ จึงได้เล่นกีตาร์ท่อนโซโล่เพลงนี้และอัปวิดีโอลงยูทูบ

ผมสามารถติดต่อพูดคุยกับคนจำนวนมากได้ผ่านเพลงนี้

หวังว่าจะได้ร่วมงานกับคุณสักวัน

ขอบคุณมากๆ ครับ

Miyawaki Toshiro - มือกีตาร์วง Dr. Woo

นอกจากนี้ในปีนี้เอง (2021) Miyawaki Toshiro ได้ลงคลิปการแสดงของวง Dr. Woo ที่ Shinjuku Soundhouse ในปี 1990

ซึ่งด้านล่างของคลิปมีคำบรรยายเขียนไว้ดังนี้

การแสดงบันทึกที่ Shinjuku Soundhouse ในปี 1990

เป็นการซ้อมใหญ่ก่อนขึ้นแสดงของพวกเรา

วิดีโอนี้ไม่ได้อัดเพื่อเผยแพร่ ฉะนั้นคุณภาพอาจไม่ดีนัก

 

ผมเข้าร่วมวงของมิกิ มัตสึบาระในปี 1989

เธอให้คำแนะนำดีๆ กับผมที่ซึ่งแทบจะเป็นมือใหม่อยู่เสมอ

จนตอนนี้ 30 ปีผ่านไปแล้ว คำแนะนำยังคงเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของผมเสมอ

พูดถึงการเล่ากีตาร์ของผมในวิดีโอ อยากจะอัดใหม่อีกรอบ แต่เวลามันย้อนกลับไม่ได้

ถึงการเล่นอาจจะไม่ดี แต่ก็ดูเหมือนว่าผมพยายามฝึกอย่างหนักมากว่า 30 ปี

 

ผมคิดว่าโซโล่กีตาร์ของมาซากิ มัตสึบาระในเพลงนี้เป็นงานชิ้นโบแดงแห่งประวัติกาล

ยังฝึกเล่นอยู่เป็นครั้งเป็นคราว แต่มันยากเอาเรื่องเลยล่ะครับ ยังห่างไกลจากเนื้อเสียงอันไพเราะจับใจนั้นอีกเยอะ

ทุกคนรวมถึงผมด้วย มาเผยแพร่ความมหัศจรรย์ของเพลงนี้ เสียงร้องของมิกิ และโซโล่ของมาซากิกันเถอะ

They Say Japanese Women from the 80’s Know This Song

Mayonaka no Door เคยเป็นไวรัลใน Tik Tok ช่วงหนึ่ง จากการที่มีผู้นำเพลงนี้ไปสร้าง challenge ว่า “ผู้หญิงในยุค 80s ทุกคนจะต้องรู้จักเพลงนี้” ผลคือนอกจากคำพูดนี้จะเป็นจริงแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าตอนนี้เราไม่สามารถที่จะเดินไปที่หน้าประตูสวรรค์ตอนเที่ยงคืนเพื่อขอให้เทวดาส่งตัว Miki Matsubara กลับมาอยู่กับพวกเรา แต่อย่างน้อยเพลง Mayonaka no Door ก็ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเพื่อมอบความสุขให้กับชาวโลกอีกครั้ง

City Pop ในอนิเมะ

เพลงซิตี้ป๊อปเองก็ถูกใช้ประกอบในอนิเมะหลายเรื่อง และส่วนใหญ่จะเป็นอนิเมะยุค 80-90s ด้วย บอกเลยครับว่าทั้งลายเส้นและแนวเพลงจะทำให้เราเหมือนได้ย้อนเวลาไปสัมผัสกลิ่นอายในยุคนั้นได้อย่างไม่น่าเชื่อพี่วินขอหยิบมาให้ดู 3 เพลงจากอนิเมะ 3 เรื่องดังมาให้ดูกันนะครับ

 Moonlight Densetsu จาก Sailor Moon

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ และล่าสุดในการแข่งขันยิมนาสติกลีลางานโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมา ทีมชาติอุซเบกิสถานก็ได้ใช้เพลงนี้ประกอบการแข่งขันด้วย

Love, Don't Leave Me! จาก City Hunter

ซิตี้ฮันเตอร์ก็ถือเป็นอนิเมะดังเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่นเลย โดยเริ่มจากการเป็นมังงะมาก่อนที่จะมีอนิเมะ อีกทั้งจีนและเกาหลียังหยิบเรื่องนี้ไปทำเป็น live action ในภายหลังอีกด้วย  

Cruel Angel’s Thesis จาก Neon Genesis Evangelion

Neon Genesis Evangelion เป็นการ์ตูนปรัชญาคลาสสิกที่เล่าเรื่องตัวละครผ่านทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ปัจจุบันมีหลายภาคมากๆ ล่าสุดคือภาค 3.0 + 1.0: Thrice upon a time ซึ่งเรื่องราวเป็นยังไง พี่วินก็ไม่รู้เหมือนกันครับเพราะยังดูภาคแรกไม่จบเลย 5555 แต่เพลงเพราะมาก อยากให้ลองฟังกันครับ

K-City Pop: เมื่อแนวเพลงญี่ปุ่นโลดแล่นในเกาหลี

ฝั่งเกาหลีใต้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องอุตสาหกรรมเพลง K-POP ก็ได้หยิบยกแนวเพลง city pop มาครีเอตงานเพลงมากมาย เช่นเพลง Lady ของ Yubin จากวง Wonder Girls เกิร์ลกรุปในตำนานที่ได้รับคำชมมากมายจากเพลงนี้ หรือแม้แต่สาวๆ วง TWICE ที่ถือว่าเป็นตัวแทนเคป๊อปแห่งยุคก็ขอร่วมเทรนด์นี้ด้วยกับเพลง Say Something  ซึ่งค่อนข้างฉีกจากสไตล์ของวงไปพอสมควรเลยครับ

หรือย้อนกลับไปช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากจู่ๆ ก็เกิดไวรัลของวง Brave Girls จากเพลง Rollin' ซึ่งฮิตติดลมบนไปทั่วทั้งเกาหลี และกระแสครั้งนั้นก็ทำให้อีกเพลงเก่าของสาวๆ วงนี้ในแนว city pop กลับมาติดชาร์ตอีกครั้งกับเพลง We Ride และนั่นยิ่งเป็นการจุดประกายแนวเพลงสไตล์ญี่ปุ่นให้โลดแล่นในเกาหลีอีกครั้ง 

 

อิทธิพลของซิตี้ป๊อปในประเทศไทย

ในบ้านเราเองก็รับอิทธิพลจากเพลง City Pop หรือ Synth Pop มาไม่น้อย มีศิลปินในยุค 80s มากมายที่ทำเพลงแนวนี้เช่น อุ้ย รวิวรรณ จินดา, ศรัณย่า, เต๋อ เรวัต, วิยะดา โกมารชุล ณ นคร  

จากนั้นไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคของเพลงร็อค มีวงชื่อดังมากมายที่เกิดขึ้นในยุคนั้น เช่น Bodyslam, Big Ass, Silly Fools ทำให้กระแสเพลง Synth Pop แผ่วลงไปต่อเนื่องหลายปี จนกระทั่ง POLYCAT กลับมาชุบชีวิตแนวเพลง Synth Pop ให้ผงาดอีกครั้ง ในอัลบั้มชื่อดังอย่าง 80 Kisses (2016) มีเพลงดังมากมายเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น “เพื่อนไม่จริง” “เวลาเธอยิ้ม” “พบกันใหม่” “เป็นเพราะฝน” และในปี 2017 ก็ได้ทำ EP  ชื่อ Doyobi no Terebi ซึ่งร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือ อิ้งค์ วรันธร ที่ผลงานได้รับกระแสตอบรับดีมากในทุกเพลงเช่น “เหงา เหงา” “ฉันต้องคิดถึงเธอแบบไหน” “เกี่ยวกันไหม” “ยินดีด้วยนะ” “ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม” และ “อยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม” และไม่นานมานี้ก็มีเพลง “ใช่ตั้งแต่ไม่รู้จัก” ซิงเกิลแรกจากศิลปินหน้าใหม่อย่าง เหมย สุพิชฌาย์ (MAIY) ที่ผสมผสานแนวร็อคเข้ากับความเป็น J-Pop และ Synth Pop อย่างลงตัวสุดๆ เลยครับ

ถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงใช้คำว่า Synth Pop มา 2-3 ย่อหน้าแทนที่จะเป็นคำว่า City Pop คำตอบก็คือแนวเพลงชื่อ City Pop จะใช้เรียกเฉพาะกรณีที่เป็นเพลงของญี่ปุ่นเท่านั้นครับ แต่หากข้ามไปยังประเทศอื่นๆ จะไม่เรียกแบบนั้นแล้ว แต่จะใช้การอธิบายว่าเป็นเพลงที่มีกลิ่นอายของ City Pop แทน หรือบางคนอาจบอกว่า City Pop ไม่ใช่คำเรียกแนวเพลง แต่ใช้อธิบายกลิ่นอายของบรรยากาศญี่ปุ่นยุค 70-80s เท่านั้น และเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลังเพื่อใช้เรียกเพลงป๊อปแบบญี่ปุ่นในยุคดังกล่าวนั่นเองครับ

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ากระแสเพลง Synth Pop จะเป็นที่นิยมไปอีกยาวนานแค่ไหน เราทำได้เพียงเฝ้าติดตามความเป็นไปพร้อมกับซึมซับมนต์เสน่ห์ของเพลงแนวนี้ไปด้วยกัน… ว่าแต่ใครชื่นชอบวงไหน หรือยกให้เพลงไหนขึ้นแท่นเป็นที่หนึ่งในใจ มาแชร์ให้ฟังได้เลยครับ :)

Reference:https://www.beartai.com/lifestyle/189481https://aesthetics.fandom.com/wiki/City_Pophttps://www.tokyoweekender.com/2020/07/a-complete-guide-to-city-pop/https://citycracker.co/city-lifestyle/city-pop-plastic-love/https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=32920&CITY-POPhttps://www.wministry.com/turn-back-time-to-the-80s-with-japanese-city-pop-part-1/https://www.openculture.com/2017/03/japanese-city-pop.htmlhttps://www.mendetails.com/life/5-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87-city-pop-%E0%B8%8D%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99-citypop-songs/https://en.wikipedia.org/wiki/Mariya_Takeuchihttps://pages.vassar.edu/musicalurbanism/2019/06/05/the-curious-case-of-mariya-takeuchis-plastic-love-guest-blog-by-thomas-calkins/http://alanlevenson.com/fame/Takeuchi_Mariya_website/https://www.youtube.com/watch?v=nToq3tK_wd8&t=2shttps://www.brickinfotv.com/entertainment/89447/https://www.vanpaugam.com/blog/who-is-miki-matsubarahttps://www.metalbridges.com/city-hunter-anime-series-manga/https://akibatan.com/2021/03/evangelion-30-10-thrice-upon-a-time-review-no-spoil/https://www.youtube.com/watch?v=20nnr0Ub9BIhttps://www.youtube.com/watch?v=UnO5jqXz2nI&t=1shttps://www.youtube.com/watch?v=nToq3tK_wd8

 

พี่วิน
พี่วิน - Columnist Sentio amorem, ergo sum.

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
winterwatermelon Columnist 23 ส.ค. 64 10:10 น. 3

https://open.spotify.com/playlist/7F4zqX75A79KX7DK36OqTc?si=584b1acfefc04f33


อันนี้เราทำ playlist รวมเพลงที่พูดถึงในบทความด้วยล่ะ ลองไปตามฟังกันได้น้าาา (บางเพลงอาจจะไม่มีใน spotify เลยไม่ได้ใส่มา)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด