Who are you? พารู้จัก ‘Prosopagnosia’ อาการลืมใบหน้าผู้คน แม้กระทั่งหน้าตัวเอง

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคนน~ หนึ่งในอวัยวะของร่างกายที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนก็คือ ‘ใบหน้า’ ใช่ไหมล่ะคะ แต่รู้มั้ยว่าโลกของเรามีคนกลุ่มหนึ่งที่จดจำหน้าตาใครไม่ได้เลยแม้กระทั่งใบหน้าของตัวเอง! วันนี้พี่บีมบันจะขอพาน้องๆ ไปรู้จักกับ ‘Prosopagnosia’ หรือ ‘อาการลืมใบหน้าผู้คน’ จะมีอาการแบบไหน? มีกรณีศึกษาอันไหนน่าสนใจ? ตามมาอ่านกันเลยค่ะ

• • • • • • • • •  •

Photo  Credit:  https://unsplash.com/photos/Kpyft5Ukcew
Photo  Credit:  https://unsplash.com/photos/Kpyft5Ukcew 

‘Prosopagnosia’ เป็นอาการแปลกประหลาดทางสมองที่พบได้ยากมากๆ ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำและแยกแยะความแตกต่างของใบหน้าผู้คนได้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถระบุตัวตนของใครได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดอย่างครอบครัว เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งตัวเอง 

แล้วภาพที่ผู้ป่วยเป็นแบบไหนล่ะ? คำตอบคือพวกเขาจะมองเห็นใบหน้าของอีกฝ่ายเป็นเพียงใบหน้าโล่งๆ เท่านั้น ไม่ก็เห็นตำแหน่งของตา จมูกและปากสลับกัน หรือเห็นเป็นภาพพร่ามัวค่ะ โดยทั่วไปอาการนี้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. Developmental prosopagnosia - ประสบกับอาการหลงลืมใบหน้าตั้งแต่กำเนิด
  2. Acquired Prosopagnosia - มีอาการหลังจากได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรงทั้งจากโรคและอุบัติเหตุ

Note: ‘Joachim Bodamer’ นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันได้บัญญัติคำว่า Prosopagnosia ที่มาจากภาษากรีกคำว่า ‘Prosopon’ ที่แปลว่า ใบหน้า (Face) และ ‘Agnosia’ ที่แปลว่า ไม่รู้จัก นั่นเองค่าา

• • • • • • • • •  •

ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่น

Photo  Credit:  https://unsplash.com/photos/0kb4O5Ut0Hc
Photo  Credit:  https://unsplash.com/photos/0kb4O5Ut0Hc

ความร้ายแรงของเจ้าอาการนี้คือ อาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าตาของตัวเองเป็นแบบไหน เพราะดูในรูปถ่ายก็ดูไม่ออกหรือมองในกระจกก็มองไม่เห็น และพวกเขายังประสบปัญหาในการรับชมภาพยนตร์หรือรายการทีวีด้วยค่ะ เพราะไม่เห็นหน้าตัวละคร ทำให้ไม่เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ถึงดูไปก็ไม่สนุกเท่าคนอื่น

นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมด้วยค่ะ เพราะไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับใครได้เลย เช่น เพื่อนร่วมงานเดินมาทักก็คุยด้วยไม่ถูก เพราะดันไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร และอาจทำให้เพื่อนเข้าใจผิดไปอีก // น่าสงสารมากๆ 

• • • • • • • • •  •

คุ้นๆ ไหม..ในซีรีส์เกาหลีก็มีนะ!

Photo  Credit:  Netflix
Photo  Credit:  Netflix

เชื่อว่าน้องๆ คอซีรีส์เกาหลีคงจะคุ้นหูกับเจ้าอาการนี้มาบ้างจากเรื่อง ‘My Holo Love’ ซึ่งนางเอกของเรื่อง ‘ฮัน โซยอน’ (รับบทโดย โก ซองฮี) ก็ประสบกับอาการ Prosopagnosia เช่นกันค่ะ สาเหตุมาจากบาดแผลในวัยเด็กที่ส่งผลให้เธอจดจำใบหน้าใครไม่ได้เลยแม้แต่พ่อแม่ของเธอเอง จนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการใช้ชีวิตแต่ละวัน // ถ้าใครอยากรู้ปมวัยเด็กของนางเอกและศึกษาอาการนี้ไปพร้อมกัน ตามไปหาคำตอบในซีรีส์กันเลยค่า

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์อีกหลายเรื่องเลยค่ะที่ตัวเอกของเรื่องประสบกับอาการนี้ เช่น The Beauty Inside (2018), The Secret Life of My Secretary (2019) และอื่นๆ อีกมากมาย

• • • • • • • • •  •

ผู้ป่วยจะมีอาการอะไรบ้าง?

Photo  Credit:  www.discovermagazine.com
Photo  Credit:  www.discovermagazine.com
  • จดจำหน้าตาของใครไม่ได้เลยแม้แต่ตัวเอง และไม่สามารถอธิบายลักษณะของใบหน้าได้
  • ไม่สามารถแยกแยะบุคคลที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เช่น ใส่ชุดเหมือนกันหรือมีเสียงคล้ายกัน
  • จะไม่ทักทายผู้คนด้วยชื่อ
  • ขาดความสามารถในการจดจำสถานที่และวัตถุ
  • รู้สึกสับสนเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า เพราะเข้าสังคมไม่ได้

• • • • • • • • •  •

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิด Prosopagnosia

Photo  Credit:  www.theatlantic.com
Photo  Credit:  www.theatlantic.com
  • เกิดจากความผิดปกติของรอยพับสมองซีกขวาส่วน ‘Fusiform Gyrus’ ที่มีหน้าที่ในการประสานกลุ่มเซลล์ประสาทซึ่งส่งผลต่อความจำและการรับรู้ใบหน้า
  • พันธุกรรมจากบุคคลในครอบครัว หากพ่อหรือแม่มีอาการหลงลืมใบหน้าก็มีแนวโน้มที่ลูกอย่างน้อย 1 คนจะมีอาการนี้ด้วยค่ะ

• • • • • • • • •  •

แนวทางการป้องกัน

Photo  Credit:  https://unsplash.com/photos/hNoSCxPWYII
Photo  Credit:  https://unsplash.com/photos/hNoSCxPWYII

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการนี้โดยเฉพาะค่ะ ดังนั้นวิธีการเยียวยาอาการจะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิธีการจดจำผู้คนแทน พวกเขาต้องคอยสังเกตท่าทางการเดิน ฟังเสียงหรือสไตล์เสื้อผ้าของอีกฝ่ายว่ามีลักษณะอย่างไร แล้วค่อยปะติดปะต่อว่าคนๆ นี้น่าจะเป็นใครค่ะ แต่จริงๆ แล้ววิธีนี้ก็ไม่ได้ผลเสมอไป แม้ว่าจะได้เจอคนเดิมแต่ถ้าสถานที่เปลี่ยนก็อาจจะจำไม่ได้นะคะ TT

• • • • • • • • •  •

ฟังดูแล้วเจ้าอาการนี้น่ากลัวมากๆ เลยใช่ไหมคะ? แต่อาการนี้ก็ยังพบได้ยากมากๆ ฉะนั้นน้องๆ ไม่ต้องกังวลไป หรือหากใครมีคนรอบข้างที่มีอาการลักษณะนี้ก็พยายามทำความเข้าใจและคอยดูแลพวกเขาด้วยนะคะ แล้วไว้เจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ บ๊ายบายยย~
 

Sources:https://www.healthline.com/health/face-blindness#causes https://www.nhs.uk/conditions/face-blindness/ https://www.baptisthealth.com/services/neurology-care/conditions/prosopagnosia https://www.osmosis.org/answers/face-blindness https://www.jaehakim.com/entertainment-reviews/tv-reviews/my-holo-love/ Photo Credits:https://unsplash.com/photos/Kpyft5Ukcew https://www.theatlantic.com/health/archive/2013/09/living-with-face-blindness/279898/ https://www.discovermagazine.com/mind/the-human-brain-can-recognize-5-000-faces https://unsplash.com/photos/0kb4O5Ut0Hchttps://unsplash.com/photos/hNoSCxPWYII  
พี่บีมบัน
พี่บีมบัน - Columnist สาวใต้ผู้หลงรักเครื่องเขียน ศิลปะ และติดซีรีส์จนไม่ยอมนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น