แชร์ประสบการณ์ Working Student ระหว่างเรียนใน 'เยอรมนี' ค่าตอบแทนดี ได้ใช้สกิลเฉพาะทางเน้นๆ!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครที่วางแผนเรียนต่อมหาวิทยาลัยใน “เยอรมนี” แล้วอยากหารายได้ระหว่างเรียนไปด้วย นอกจากช่องทางยอดฮิตอย่างการทำ Part-time สายบริการ หรือฝึกงาน​ (Internship) ก็ยังมี “Working Student” ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานระหว่างเรียนที่ถูกกฎหมาย ค่าตอบแทนดี และเหมาะสุดๆ สำหรับคนที่ตั้งใจสร้างประวัติที่โดดเด่นเพื่อเตรียมหางานทำที่เยอรมนีหลังเรียนจบ 

วันนี้เรามีรีวิวประสบการณ์เป็น Working Student บริษัทชื่อดัง ส่งตรงจากนักเรียนไทยในเยอรมนี จะน่าสนใจขนาดไหน? ต่างอะไรกับงานพาร์ตไทม์หรือฝึกงาน? มีอะไรต้องระวังบ้าง? ตามมาเก็บข้อมูลกันเลยค่ะ

Note: เจ้าของเรื่องนี้เรียนจบปริญญาตรี International Business and Economics (IBE) จาก Otto von Guericke University Magdeburg (OVGU) และ ป.โท  Technical University of Munich (TU München) อ่านรีวิวการเรียนที่นี่ 

Photo by Christian Wiediger on Unsplash
Photo by Christian Wiediger on Unsplash

เรียนด้านธุรกิจในเยอรมนี
พร้อมทำงานในบริษัทชื่อดัง

“สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘อาย-ยมลพรพัศ’ เรียนจบ ม.ปลายจากโรงเรียนที่ไทย แล้วไปเรียนต่อสาย Business ทั้งระดับ ป.ตรีที่ Otto von Guericke University Magdeburg (OVGU) และ ป.โทที่ Technical University of Munich ประเทศเยอรมนี”

“ตอนนี้เราทำงานเป็น Working Student ในสำนักงานใหญ่ (Headquarter) ของบริษัทประกันแห่งหนึ่งที่กรุงมิวนิก ทำมาได้ประมาณ 4 เดือนแล้วค่ะ ในนั้นจะมีแยกฝ่ายทำงานเป็น Finance, Service, Technology ฯลฯ เราเองทำฝ่าย Consulting ช่วยซัพพอร์ตทั้งทีม Recruiting และ Digital Transformation มีทั้งช่วยจัดตารางงานต่างๆ และทำงานแนววิเคราะห์จริงจัง // เป็นบริษัทอินเตอร์ และตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นต้องสื่อสารภาษาเยอรมัน”

“ในสัปดาห์นึงเราทำงาน 16 ชั่วโมง แต่ระหว่างนี้มีเรียนจันทร์-ศุกร์ทุกวันเลยค่ะ ดังนั้นเรื่องการเมเนจถือว่ายากและท้าทายมากในช่วงแรกๆ วิธีของเราคือพยายามทำให้ตัวเองมีเวลาว่างสัปดาห์ละ 2 วัน พักจริงจังวันนึง ส่วนอีกวันเผื่อไว้อ่านหนังสือให้จบหรือทำการบ้านที่ค้างไว้ และทุกวันอาทิตย์จะนั่งวางแผนสิ่งที่ต้องทำในสัปดาห์ต่อไป”

. . . .  . . .

Working Student
ต่างกับรูปแบบอื่นยังไงบ้าง?

“ปกตินักศึกษาไทยและต่างชาติจะมีการทำ Part-time ร้านอาหาร งานบริการ หรือตามร้านค้าต่างๆ ที่เยอรมนีเรียกว่า Mini-job ชั่วโมงจะน้อยแต่ได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ (ชั่วโมงละ 9-10 EUR) แต่ข้อเสียคือจะไม่ใช่ Professional Experience อาจไม่เหมาะกับการมาใช้ยื่นประกอบการสมัครงาน (ยกเว้นสายงานที่ต้องการประสบการณ์งานบริการมาก่อน)”

“แต่จะมีอีกรูปแบบที่คนต่างชาติบางคนอาจยังไม่รู้ เรียกว่า Working Student เราจะมีบทบาทเหมือนพนักงานบริษัท เข้าทีมจริง แต่ชั่วโมงน้อยกว่าคนอื่น และต้องรับผิดชอบเนื้องานที่เป็นโปรเจกต์ต่อเนื่อง ระยะเวลาอาจจะ 6 เดือนถึง 1 ปีแล้วแต่ในสัญญา สำหรับค่าตอบแทนจะอยู่ราวๆ 14-15 EUR ต่อชั่วโมง และทำงาน 16-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งกฎหมายของเยอรมนีคือถ้ามีรายได้เกิน 450 EUR ต่อเดือนจะต้องเสียภาษีด้วย”

“สรุปคือการเป็น Working Student ชั่วโมงทำงานจะเยอะกว่า Part-time/Mini-job และค่าตอบแทนก็สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะต้องใช้ทักษะเฉพาะทางที่เรียนมา และหากเทียบกับการฝึกงาน (Internship) จะต่างตรงที่ฝึกงานเป็น Full-time ต่างจาก Working Student ที่เป็น Part-time เรียนพร้อมทำงานไปด้วยนั่นเองค่ะ”

. . . .  . . .

หางานได้ที่ไหน?

  • ในเว็บไซต์พวก LinkedIn, Indeed, Glassdoor ฯลฯ จะมีประกาศรับสมัคร Working Student ตลอด หรือตามเว็บไซต์ของบริษัทเขาก็จะมีระบุไว้ (ส่วนตัวไปเจองานนี้ที่ LinkedIn)
  • เรามองว่าบริษัทมีตำแหน่งเปิดรับพอสมควร เพราะเค้าก็ได้ประโยชน์จากการรับนักศึกษาเข้ามาทำงานด้วย

ถ้าใครไม่ได้ภาษาเยอรมันเลย แนะนำว่าในเมืองใหญ่จะมีงานที่ require แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว (มากกว่าในเมืองเล็ก) แต่เราคิดว่าถ้าได้ภาษาเยอรมันยังไงก็มีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว เพราะมีผลเรื่องวัฒนธรรมการทำงานด้วย หรืออย่างบางแห่งเช่นบริษัทอินเตอร์ที่เราทำ เขาไม่ได้ระบุใน Job Description และไม่มีถามถึงสกิลภาษาเยอรมันตอนสัมภาษณ์เลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นคือแล้วแต่สายงานด้วยนะคะ

(ตัวอย่างประกาศบน LinkedIn)
(ตัวอย่างประกาศบน LinkedIn)
(ตัวอย่างประกาศบน Glassdoor)
(ตัวอย่างประกาศบน Glassdoor)

. . . .  . . .

คำแนะนำ & สิ่งที่ควรระวัง

  1. กฎหมายที่เยอรมนีเข้มงวดมากก็จริง แต่อยากเตือนให้ระวังสแกมเมอร์ที่แอบอ้างว่าเป็น HR บริษัทมาส่งข้อความหรืออีเมลมาเชิญชวนเราไปทำงาน ถ้าเกิดเราหลงเชื่อแล้วส่งข้อมูลไปส่วนตัวจะอันตรายมาก ไม่รู้เลยว่าเค้าจะเอาไปทำอะไร
     
  2. ไม่ว่าจะเป็นเอกสารอะไรก็ควรอ่านให้รัดกุมก่อนเซ็น รวมถึง "สัญญาการจ้างงาน" (Contract) ควรอ่านให้ละเอียด โดยทั่วไปจะเป็นภาษาเยอรมัน แต่จะเป็นภาษาอังกฤษกรณีที่เป็นบริษัทอินเตอร์จริงๆ
     
  3. ไม่สนับสนุนให้ทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงที่ต้องเรียนหรือมีเลกเชอร์ เพราะเค้าต้องการให้เป็น Working Student จริงๆ แล้วเค้าจะคอยสอดส่องตลอดด้วยนะคะ ถ้าถูกตรวจพบว่าเราโฟกัสการทำงานแล้ว fade การเรียน อาจมีปัญหาเรื่องวีซ่า และทำให้เสียเครดิต (อย่างเวลาต่อวีซ่าเราต้องเอาเกรดไปยื่นด้วยว่าตอนนี้มีหน่วยกิตเท่าไหร่แล้ว สมมติอยู่ 2 ปีแต่มีหน่วยกิตวิชาเดียวก็ดูน่าสงสัย)

. . . .  . . .

Working Student
ทำไมถึงเวิร์ก?

  • ได้เพิ่มประสบการณ์ทำงาน (Professional Experience) เป็นประโยชน์หลังเรียนจบ เพราะที่เยอรมนีจะซีเรียสกับประสบการณ์ ไม่แคร์เรื่องเกรด เน้นดูว่าเราเคยเรียนและทำอะไรมาบ้าง แล้วจะ transfer สกิลที่มีได้มั้ย
  • ค้นพบตัวเอง ได้ลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
  • ได้คอนเนกชัน ทั้งเพื่อนร่วมทีมและหัวหน้างาน หลายบริษัทก็มีสร้างเครือข่ายให้ Internship กับ Working Student มีโอกาสได้เจอเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทั้งสนุกและได้แลกเปลี่ยนกันด้วย
  • ได้เงิน!! 5555

. . . .  . . .

#รีวิวเยอรมนี

  • ตอนเรียน ป.โทกับทำงานเป็น Working Student เราได้พักอยู่ที่เมือง Munich ทั้งสวย สะอาด มีความปลอดภัยสูง และมีความหลากหลายพอๆกับ Berlin อย่างเวลาเดินที่สถานีรถไฟจะได้ยินภาษาอังกฤษปะปนกับภาษาอื่นนอกจากเยอรมันตลอดเวลา
     
  • ส่วนตัวคิดว่าในมิวนิกหางานง่าย และแม้จะค่าครองชีพสูง แต่ก็รายได้ก็สัมพันธ์กับค่าครองชีพอยู่ดี อย่างเราทำ Working Student ก็อยู่ได้สบายๆ
Photo by Nwar Igbariah on Unsplash
Photo by Nwar Igbariah on Unsplash
  • การจัดการวัคซีนที่เยอรมนีดีมาก คนต่างชาติแบบเราก็ได้ฉีดพร้อมพลเมืองประเทศเค้า ไม่ได้ถูกแบ่งไปรอบหลังๆ ทุกคนได้สิทธิ์เท่ากัน ฉีดฟรี (เราฉีด Moderna ไปเมื่อกลางปี 2564) มีจุดบริการฉีดวัคซีนรอบเมือง สมมติเดินห้างแล้วอยากฉีดก็ walk-in เข้าไปฉีดได้เลย ตามมหาวิทยาลัยก็มีรถฉีดวัคซีนมาจอดให้บริการด้วย
  • เยอรมนีเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทุกคนมีอิสรภาพ (Freedom) และเคารพกัน แต่ไม่ใช่อิสระแล้วจะทำอะไรเกินขอบเขต เพราะกฎหมายที่เยอรมนีก็แรงมาก ถ้าจะทำอะไรควรศึกษาข้อมูลให้มั่นใจว่าไม่ผิดกฎหมาย
  • รถสาธารณะดีมาก ไม่ใช่แค่ในเมืองใหญ่ แต่ตามซอกหลืบเมืองเล็กยังมีรถไฟรถบัส รถรางเข้าถึงได้

. . . .  . . .

ช่วงปรับตัวยากเสมอ!
มีอะไรบ้างที่ควรเตรียมรับมือ?

  • ตอนมาเหยียบเยอรมนีครั้งแรก เราจะเจอความวุ่นวายด่านแรกคือการหาที่อยู่เพื่อลงหลักปักฐาน ซึ่งหายากมากกก ไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือใหญ่ (demand มากกว่า supply มากๆ) แต่เราต้องหาให้ได้ แล้วไปลงทะเบียนบ้าน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ขาดหลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้
  • ต้องทำใบอนุญาตพำนัก (Resident Permit) ซึ่งต้องใช้ทะเบียนบ้าน ถ้าใครได้วีซ่า 3 เดือนแต่หาบ้านไม่ทัน ก็คือทำอะไรต่อไม่ได้เลยจริงๆ
  • การเปิดบัญชีธนาคาร (Bank Account) ซึ่งต้องใช้ทะเบียนบ้านและใบอนุญาตพำนัก เพราะเราต้องมีหลักฐานแสดงการมีที่อยู่เป็นสัดส่วน
  • ทุกคนที่เยอรมนีต้องมีประกันสุขภาพ ซึ่งต้องใช้ทั้งทะเบียนบ้านและบัญชีธนาคาร

เราคิดว่าทุกคนต้องเจอและปวดหัวกับมันมาแล้ว กว่าจะลงตัวน่าจะสักปีครึ่งขึ้นไป (พร้อมกับเรียนภาษาไปด้วย) อย่างไรก็ตามเรายังพอเตรียมการบางอย่างก่อน เช่น กรณีที่พัก ถ้านักศึกษาอาจขออยู่พักมหาวิทยาลัยได้ แต่ถ้าเกิดในมิวนิก หอก็อาจต้องรอคิวไป 2-3 เทอม หรือไม่ก็ต้องตามหาที่พักที่เจ้าของปล่อยเช่าเอง

และการจะเข้าพักได้ไม่ต่างจากการไปประกวดหรือสมัครงานเลย เราต้องไปดูบ้าน ยื่นเอกสาร สัมภาษณ์ ฯลฯ แล้วจะขอดูรายได้เราด้วย ซึ่งเราต้องพยายามจนชนะใจเค้า ยิ่งถ้าพูดภาษาเยอรมันไม่ได้จะยิ่งยาก เพราะถ้าเค้ามีทางเลือกก็อยากเลือกคนที่สื่อสารกันได้ง่ายมากกว่าค่ะ

. . . .  . . .

เรียกว่าเป็นช่องทางหารายได้ระหว่างเรียนที่ข้อดีเยอะ และได้อัปโพรไฟล์เน้นๆ สร้างความโดดเด่นในประวัติของตัวเองสำหรับหางานในประเทศของเค้าได้ด้วยค่ะ ถ้าใครกำลังอ่านบทความนี้แล้วมีประสบการณ์เป็น Working Student อยากชวนมาแชร์ให้ฟังหน่อยนะคะ :)

อ่านต่อ: Part การเรียน ป.ตรี-โท
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น