คุยกับเด็ก ป.โท Management & Tech. ที่ TU München ม.อันดับ 1 ในเยอรมนี! (เรียนฟรี+ภาคอินเตอร์)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ประเทศใหญ่อย่าง “เยอรมนี” ก็ถือเป็นจุดหมายยอดฮิตที่คนอยากเรียนต่อยุโรปมักนึกถึง เพราะทั้งระบบการศึกษามีคุณภาพ กฎหมายเข้มงวด แล้วยังมีนโยบายที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งให้นักศึกษาต่างชาติเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเทอม (ถึงแม้จะมีค่าธรรมเนียม ซึ่งก็ถือว่าสบายกระเป๋ามากอยู่ดี!) 

ในวันนี้เราจะพาไปฟังรีวิวจาก ‘พี่อาย-ยมลพรพัศ’ ที่เรียนจบ ป.ตรีสาย Business จาก Otto von Guericke University Magdeburg (OVGU) แล้วไปต่อ ป.โท มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ อย่าง Technical University of Munich (TU München) เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษทั้งคู่เลยค่ะ ในนี้จะรีวิวให้ฟังทั้งระบบสมัครเรียน รีวิวการเรียนทั้งระดับ ป.ตรี-ป.โท รวมถึงเล่าให้ฟังคร่าวๆ เกี่ยวกับชีวิตในเยอรมนีว่าต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง ตามไปอ่านกันเลยค่าา :)

Note: ระหว่างเรียนปริญญาโท พี่อายได้ทำงานเป็น Working Student ที่บริษัทชื่อดังในเยอรมนีด้วย อ่านรีวิวที่นี่

. . . . . . . .

“ตอนนั้นเราเป็นวัยรุ่นอายุ 20 ที่อยากเรียนต่อต่างประเทศ”

เราเรียนที่มหาวิทยาลัยในไทยจนจะขึ้นปี 2 เทอม 2 แล้ว แต่ตัดสินใจซิ่วไปเรียนต่อประเทศเยอรมนี เพราะ ป.ตรีที่นั่นใช้เวลาแค่ 3 ปี นอกจากนี้เรายังมองว่าเยอรมนีเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีนโยบายดึงดูดชาวต่างชาติมากๆ ไม่ต้องเสียค่าเทอม จ่ายแค่ค่าธรรมเนียม (Semester Fee) อาจจะเทอมละ 200 EUR (ประมาณ 7,000 กว่าบาท อ้างอิงเรตเงิน 38.03 บาท = 1 EUR) ซึ่งในจำนวนนี้ก็ถูกนำไปบำรุงทรัพยากรในมหาวิทยาลัยกลับมาให้เราใช้ ยิ่งไปกว่านั้นคือเราจะมีสวัสดิการตั๋วโดยสารรถสาธารณะในเมืองที่เค้ากำหนดด้วย 

เราตัดสินใจสมัครเรียน ป.ตรี หลักสูตรภาษาอังกฤษ สาขา International Business and Economics (IBE) ที่ Otto von Guericke University Magdeburg  ซึ่งสาขานี้จะอยู่ในแคมปัสที่เมือง Magdeburg ถ้าใครเป็นสาย Introvert น่าจะชอบเมืองนี้ เพราะบรรยากาศเงียบสงบ ไม่ต้องรีบเร่งหรือเจอรถติด ทำให้ได้ใช้เวลาแต่ละวันได้อย่างมีคุณภาพ ช่วงแรกเราเองก็คิดถึงบรรยากาศเมืองแบบในกรุงเทพฯ แต่พอปรับตัวได้แล้วกลับรู้สึกชอบ เพราะได้โฟกัสตัวเองและเป้าหมายมากขึ้น

ส่วนเรื่องค่าครองชีพใน Magdeburg ของที่ขายใน Grocery ราคาไม่ค่อยต่างจากกรุงเทพฯ จากประสบการณ์ส่วนตัวคือมีงบสักประมาณ 600-700 EUR ต่อเดือนก็อยู่ได้ (ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของแต่ละคน แล้วช่วงนี้ข้าวของและประกันสุขภาพแพงขึ้นกว่าตอนแรกที่เรามาใหม่ๆ ด้วย) ในขณะที่เมืองมิวนิกที่ควรมีขั้นต่ำเดือนละ 1,000 EUR

Magdeburg
Magdeburg
Albinmüller-Turm, Magdeburg
Albinmüller-Turm, Magdeburg
Photo by max fuchs on Unsplash

. . . . . . . .

การสมัครเรียน ป.ตรี
Business and Economics ที่ OGVU

เราต้องเข้าไปสมัครเรียนออนไลน์ผ่านเว็บ https://www.uni-assist.de/en/  เขาจะมีบริการแปลงเกรดจากระบบประเทศเราให้เป็นแบบเยอรมนี มีแค่ไม่กี่แห่งที่ยื่นกับมหาวิทยาลัยได้โดยตรงค่ะ ทั้งนี้ แนะนำว่าให้เข้าไปตรวจสอบก่อนว่าเราผ่านคุณสมบัติในการสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยในเยอรมนีได้มั้ย (ลิงก์นี้)

นอกจากนี้เราต้องยื่นหลักฐานแสดงทักษะภาษาอังกฤษของเรา อย่างใดอย่างหนึ่งในลิสต์ที่เค้าระบุ เช่น คะแนน​ IELTS 90, IELTS 6.5, Cambridge Certification FCE or higher, วุฒิ IB หรือ A-Levels และอื่นๆ (เช็กได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ)

**เตือนนิดนึงว่าตอนสมัครเรียนเขากำหนด IELTS 6.5 ก็จริง แต่ปีสุดท้ายเราต้องสอบ  Unicert IV ระดับ C2 ให้ผ่าน ซึ่งเทียบเท่ากับ IELTS 8.5-9 มีทดสอบครบทุกทักษะ ทั้งเขียน-ฟัง-อ่าน และพูดนำเสนอวิชาการ (30 นาที) ถือเป็นเรื่องใหญ่เลย บางคนเรียนมาจนเกือบจบอยู่แล้วแต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านการสอบนี้ได้ เลยอยากแนะนำว่าอย่างน้อยควรมาพร้อม IELTS สัก 7-7.5 ค่ะ ส่วนภาษาเยอรมันควรพอสื่อสารได้บ้างเพื่อให้ใช้ชีวิตสะดวกขึ้น จะได้ใช้ตอนทำธุระหรือต่อวีซ่าต่างๆ (ตอนเรามาได้ระดับ B1)

ข้อสังเกตจากชื่อสถาบันในเยอรมนี

  • University เน้นหลักการ เขียน Paper เยอะ ไม่ค่อยบังคับฝึกงาน เหมาะกับคนที่อยากต่อ ป.เอก
  • University of Applied Science เน้นลงมือทำจริง (Practical) มากกว่า มีบังคับฝึกงาน

“ตอนเด็กเคยสงสัยว่าทำไมประเทศที่ยากจน ถึงไม่ผลิตเงินออกมาใช้เองเลยล่ะ?”

หลายคนน่าจะเคยมีคำถามเดียวกับเราแน่ๆ ซึ่งการเรียนเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก และยังต่อยอดได้หลายทางด้วย หลักสูตรที่เราเรียนจะเป็น Bachelor of Science เรียน 6 เทอม ปูพื้นฐานทุกด้านให้แน่น เช่น Finance, Accounting, Logistic, Operation, etc. โดยจะไม่มีแยกภาคอีก แต่มีวิชา Elective ให้เลือกได้ตอนหลัง

รูปแบบการเรียน

  • Lecture ท่องจำ ไม่ต้องแก้โจทย์ เช่น History, Law
  • Lecture + Tutorial มีทฤษฎีและสาธิตการทำโจทย์
  • Seminar เค้าจะให้ materials ให้เราอ่านและเตรียมมาอภิปรายในห้อง ส่วนมากไม่มีข้อสอบ แต่ให้คะแนนการมีส่วนร่วม และมีการเช็กชื่อ ถ้าใครขี้อายคือต้องบังคับตัวเองให้กล้าพูดขึ้นได้แน่นอน

การสอบและให้เกรด

เกรดจะมีตั้งแต่ 1 ถึง 5 แต่จะสลับกับไทย (เกรด 1 = สูงสุด ถ้าได้ 4 ขึ้นไป = ตก) ส่วนใหญ่คะแนนจะมาจากการสอบปลายภาคอย่างเดียว และไม่ค่อยมีเช็กชื่อยกเว้นวิชา Seminar ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว ข้อสอบที่เยอรมนีจะให้เวลาทำน้อยมาก เช่น คณิต 6 ข้อใหญ่ และแตกไปอีก 3-4 ข้อย่อย แต่ให้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง บางวิชา 60 ข้อ 60 นาที อ่านโจทย์ไม่ทันเสร็จก็ต้องรีบตอบแล้ว ไม่งั้นไม่ทัน คนเยอรมนีอาจจะชิน แต่เราที่ชินกับการมีเวลาคิดเยอะๆ ก็ต้องปรับตัวหนักเลยค่ะ

นอกจากนี้คือถ้าสอบตก 3 ครั้งจะถือว่าพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา และจะไม่สามารถเรียนคณะที่มีเกี่ยวกับวิชานั้นได้อีก เช่น ถ้าสมมติตก Economics เราจะสมัครเรียนใหม่ในคณะที่มีวิชา Economics ไม่ได้แล้ว (แต่เรารู้สึกช่วงโควิดที่ต้องเรียนออนไลน์ อาจารย์พยายามช่วยนักศึกษา เช่น อาจมีอะไรให้ทำเพื่อเพิ่มคะแนนพิเศษให้)

ห้องสมุด OVGU (อลังมากกก)
ห้องสมุด OVGU (อลังมากกก)
Photo Credit: ub.ovgu.de
Photo Credit: ubmagdeburg
Photo Credit: ubmagdeburg

แชร์ประสบการณ์สอบตกครั้งแรกในชีวิต!

บอกเลยว่าควรให้ความสำคัญกับคณิตและอังกฤษมากกก เพราะมีคำนวณเยอะ มีบังคับเรียนคณิตและสถิติอย่างละ 2 วิชา แล้ววิชาที่ยากสุดสำหรับเราคือคณิตนี่แหละ เนื้อหาของบทต้นๆ จะเชื่อมกับ ม.ปลายที่เรียนมาอยู่แล้ว อย่าง พีชคณิต (Algebra), แคลคูลัส (Calculus) ฯลฯ แล้วเพิ่มบทที่แอดวานซ์ขึ้นเข้าไป โดยอาจารย์เป็นผู้เขียนหนังสือให้ทุกคนใช้เรียน 

ตอนเรียนเรารู้สึกตัวเองโอเค ทำการบ้านได้ มีเจอโจทย์ซับซ้อนเหมือนเอาหลายบทมารวมกัน แต่ผลคือเราได้เจอประสบการณ์ "สอบตก" ครั้งแรกในชีวิตค่ะ ช็อกมากกก เราประมาทเพราะคิดว่าตัวเองพอได้คณิตอยู่แล้ว (อย่างที่รู้กันว่าไทยสอนคณิตเข้มข้นแค่ไหน) ซึ่งจุดที่พลาดคือเรื่องเวลา เพราะอย่างที่บอกคือข้อสอบที่เยอรมนีทั้งเยอะและให้เวลาทำน้อยมาก เราต้องฝึกทำโจทย์เป็นเดือนๆ รอ 6 เดือนสอบใหม่อีกครั้ง ในที่สุดก็ผ่านตอนสอบรอบ 2 ค่ะ // ระทึกเวอร์

ตัวอย่างวิชาคณะที่น่าสนใจ

  1. Quantitative Methods for Business (Seminar)

    วิชานี้เราจะได้จับกลุ่มวิเคราะห์เคสปัญหา ใช้คณิตศาสตร์เพื่อหาคำตอบ แล้วเขียนรายงานออกมาว่าเราควรเลือกช้อยส์นี้ ความน่ากลัวคืออาจารย์จะสุ่มให้คนออกมาพรีเซนต์ แล้วถามแบบเจาะลึก เราต้องเตรียมมาอย่างดีให้รัดกุมรอบด้านที่สุดเพราะเขาจะหาช่องโหว่บนรายงานของเรา
     
  2. International Business Plan (Seminar) 

    อาจารย์จะเชิญบริษัท Startupให้เราได้เรียนรู้กับเจ้าของธุรกิจ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นอาจจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น แล้วเราต้องวิเคราะห์และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้เค้า วิชานี้ต้องทำรายงานออกมาเหมือนกันค่ะ

หน้าหลักสูตร Business and Economic (อินเตอร์)

https://www.uni-magdeburg.de/unimagdeburg/en/Study/Study+Programmes/Bachelor/International+Business+and+Economics-p-17650.html 
 

ตรวจสอบหลักสูตรทั้งหมดของ OVGU

https://www.uni-magdeburg.de/unimagdeburg/en/study_programmes-p-48816.html 

 

. . . . . . . .

ปูพื้นฐานแน่นพร้อมสมัคร ป.โท
ในมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ

หลังเรียนจบ ป.ตรี เราเรียนต่อ ป.โท สาขา Management and Technology ที่ TU München หรือชื่อไทยคือ มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก  ค่ะ

TU München เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเยอรมนี และหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการ อยู่อันดับ 2 ของประเทศ อ้างอิงจาก QS Business Masters Rankings: Management 2022 

เล่าขั้นตอนการสมัครเรียนคร่าวๆ
(*ศึกษารายละเอียดในระเบียบการ)

หลักๆ คือต้องเตรียมเอกสารให้ครบแล้วยื่นสมัครผ่านระบบออนไลน์ แนะนำให้อ่านระเบียบการสมัครปีล่าสุดประกอบที่ลิงก์นี้

ด่านแรกคือคุณสมบัติต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ  

  • ต้องเรียนจบ ป.ตรีหรือเทียบเท่า ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดการและเทคโนโลยี, การจัดการ, เศรษฐศาสตร์, วิศวกรรมอุตสาหการ ฯลฯ โดยต้องมีขั้นต่ำ 140 ECTS (*ECTS คือ ระบบหน่วยกิตที่ใช้ในมหาวิทยาลัยยุโรป)
  • ในระดับ ป.ตรี ต้องมีหน่วยกิตวิชาในกลุ่มธุรกิจหรือการจัดการ ขั้นต่ำ 25 หน่วยกิต, กลุ่มเศรษฐศาสตร์ ขั้นต่ำ 10 หน่วยกิต, กลุ่มวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอีก ขั้นต่ำ 15 หน่วยกิต
  • หากคุณสมบัติครบจะเข้าสู่การพิจารณารอบถัดไป

Stage 1 : พิจารณาจากประวัติการศึกษา, GPA (GMAT *ถ้ามี)

  • ถ้าใครมีคะแนน GMAT 600 ขึ้นไปจะได้คะแนนเพิ่ม และหากยิ่ง GPA สูงก็จะได้คะแนนเยอะ
  • และยังมีคะแนนพิเศษตามที่ระบุไว้ในระเบียบการหน้าที่ 3 ถ้าตอนปริญญาตรีเราเคยเรียนวิชาพวก Empirical Research Methods กับ Quantitative Decision Making with Methods of Operations Research จะได้คะแนนพิเศษเพิ่ม

หาก 2  ส่วนแรกคะแนนรวมกันได้ 51 คะแนนขึ้นไป จะทะลุไปติดมหาวิทยาลัยทันที แต่ถ้าต่ำกว่า 44 คะแนนคือตกรอบ  แต่ถ้าเกิดคะแนนรวมอยู่ช่วง 45-50 คะแนน จะถูกพิจารณาต่อในรอบถัดไป

Stage 2 : ประวัติการศึกษา, GPA + Essay

รอบนี้จะไม่นำคะแนน GMAT มาคำนวณด้วย แต่จะดูวิชาที่เคยเรียนมารวมกับ Essay เค้าจะกำหนดหัวข้อมาให้ **เตือนคนที่อยากสมัคร** ที่นี่ซีเรียสเรื่อง Plagiarism มากนะคะ ถ้าตรวจพบว่า Essay ของเรามีส่วนที่ Copy จากแหล่งอื่นมาจะถูกตัดสิทธิ์ทันที แต่วิธีที่ถูกต้องคือการอ้างอิง (citation)

สำหรับรอบนี้ต้องได้คะแนนรวมขั้นต่ำ 70 คะแนนขึ้นไปถึงติดมหาวิทยาลัย ต่ำกว่านั้นตกรอบค่ะ

อ่านระเบียบการสมัครเรียน

. . . . . . . .

รีวิวเรียน ป.โท
สาขา Management and Technology
 

ความน่าสนใจคือเค้าจะให้เราเลือกภาควิชา (Specializations) ของทั้ง 2 ฝั่ง อย่างเช่นในฝั่ง Management อายเลือก Marketing, Strategy & Leadership ส่วนฝั่ง Technology อายเลือก Computer Engineering  โดยเราจะต้องลงเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องฝั่งละ 30 หน่วยกิต + วิชาเลือก 24 หน่วยกิต

*นอกจากเราสนใจเรื่องธุรกิจแล้ว ยังมองว่าเทคโนโลยีต้องมาแน่ในทุกสายงาน อย่างน้อยควรมีสกิล Coding ติดตัวเพื่อให้เข้าใจการทำงานและสื่อสารกับฝ่าย IT ขององค์กรได้ น่าจะเป็นการเพิ่มจุดแข็งให้ตัวเองในยุคที่การแข่งขันสูงมากๆ อย่างทุกวันนี้ค่ะ

ภาควิชาฝั่ง Management

 

ภาควิชาฝั่ง Technology

  • Innovation & Entrepreneurship
  • Marketing, Strategy & Leadership
  • Operations & Supply Chain Management
  • Finance & Accounting
  • Energy Markets
  • Life Science Management
  • Economics and Policy
  • Chemistry (German only)
  • Electrical and Computer Engineering (German only)
  • Mechanical Engineering (German only)
  • Informatics (minor: German only; major: selected courses in English)
  • Computer Engineering (English only)
  • Industrial Engineering (English only)
อ้างอิง: https://www.wi.tum.de/programs/master-management-technology/program-structure/ 
อ้างอิง https://www.wi.tum.de/programs/master-management-technology/program-structure 

ส่องตัวอย่างวิชาเรียน

ภาควิชา Marketing, Strategy & Leadership
(Management)

เนื้อหาระดับ ป.โท จะไม่ได้เรียน intro. ทบทวนพื้นฐานซ้ำอีกรอบ แต่จะเป็นวิชาเจาะลึกไปเลย เช่น Luxury Marketing, Sponsorship Marketing ฯลฯ 

  • Customer Insight เรียนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของแบรนด์ เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การทำแพ็กเกจ ฯลฯ ซึ่งมีเหตุผลทางจิตวิทยาแฝงอยู่ในนั้น ทำให้รู้ว่าทุกอย่างที่เราเห็นในชีวิตประจำวันถูกวางแผนมาอย่างดีแล้ว นอกจากนี้ตัววิชายังเน้นเรื่องจรรยาบรรณว่าไม่ควรล้างสมองคน (วิชานี้มีเรียนทั้งทฤษฎี + มีกรณีศึกษาให้อ่าน ตอบคำถาม แล้วมาพูดคุยกัน)
  • Applied Strategy and Organization วิชานี้จะมีประธานบริษัทมาเป็นผู้บรรยาย (Lecturer) อย่างน้อย 2 คนต่อเทอม เราได้อะไรมากกว่าทฤษฎีแน่นอน เพราะเค้าจะหยิบอินไซต์ในบริษัท อย่าง Case Study หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาแชร์ให้ฟัง เช่น เค้าต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะเข้าซื้อบริษัทอีกแห่งในสิงคโปร์ ฯลฯ

ภาควิชา Computer Engineering 
(Technology)

เนื้อหาจะเป็นระดับ ป.ตรี และเรียนร่วมกับเด็ก ป.ตรีเลย ยกตัวอย่างวิชาที่เรียน ชื่อ Introduction to Computer Science คลาสใหญ่มากกก แต่เราเจอเรียนออนไลน์พอดี ตอนนี้กำลังเรียน Java, Database, Machine Learning ฯลฯ เค้าจะเปิดให้นักศึกษาถามเกี่ยวกับเลกเชอร์สัปดาห์ละ 1 วัน ถือว่ายากแต่เรามีพื้นฐานการเขียนโค้ดมานิดหน่อยตอน ป.ตรีค่ะ

เราว่า TU München จัดการเรียนการสอนดีมาก เช่น Computer Science จะมี Tutorial ให้ทั้งหมด 9 คลาสใน slot เวลาที่ต่างกัน คลาสก็จุคนได้เยอะด้วย

คอนเนกชันดี พาร์ตเนอร์เพียบ

ที่นี่เน้นให้นักศึกษามีประสบการณ์ทำงานระหว่างเรียน ซึ่งด้วยความที่ TU München เป็นมหาวิทยาลัยดัง ทำให้มีคอนเนกชันดีมากทั้งศิษย์เก่าและพาร์ตเนอร์ที่ร่วมมือกัน เช่น เราสามารถเลือกไป Semester Exchange ฟรีผ่านมหาวิทยาลัยในอังกฤษ สิงคโปร์ หรือประเทศอื่นๆ หรือฝึกงาน (Internship) ในบริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์ก็ได้เหมือนกันค่ะ

เว็บไซต์หลักสูตร Management and Technology 

https://www.wi.tum.de/programs/master-management-technology/ 

. . . . . . . .

รีวิวชีวิตที่มิวนิก (Munich)
เมืองใหญ่อันดับ 3 ของเยอรมนี

  • ตอนเรียน ป.โทกับทำงานเป็น Working Student เราได้พักอยู่ที่เมือง Munich ทั้งสวย สะอาด และมีความปลอดภัยสูง และยังมีชาวต่างชาติเยอะมากด้วย อย่างเวลาเดินที่สถานีรถไฟจะได้ยินภาษาอังกฤษปะปนกับภาษาอื่นนอกจากเยอรมันตลอดเวลา
  • ส่วนตัวคิดว่าในมิวนิกหางานง่าย และแม้จะค่าครองชีพสูง แต่ก็รายได้ก็สัมพันธ์กับค่าครองชีพอยู่ดี อย่างเราทำ Working Student ก็อยู่ได้สบายๆ
  • การจัดการวัคซีนที่เยอรมนีดีมาก คนต่างชาติแบบเราก็ได้ฉีดพร้อมพลเมืองประเทศเค้า ไม่ได้ถูกแบ่งไปรอบหลังๆ ทุกคนได้สิทธิ์เท่ากัน ฉีดฟรี (เราฉีด Moderna ไปเมื่อกลางปี 2564) มีจุดบริการฉีดวัคซีนรอบเมือง สมมติเดินห้างแล้วอยากฉีดก็ walk-in เข้าไปฉีดได้เลย ตามมหาวิทยาลัยก็มีรถฉีดวัคซีนมาจอดให้บริการด้วย
  • เยอรมนีเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทุกคนมีอิสรภาพ (Freedom) และเคารพกัน แต่ไม่ใช่อิสระแล้วจะทำอะไรเกินขอบเขต เพราะกฎหมายที่เยอรมนีก็แรงมาก ถ้าจะทำอะไรควรศึกษาข้อมูลให้มั่นใจว่าไม่ผิดกฎหมาย
  • รถสาธารณะดีมาก ไม่ใช่แค่ในเมืองใหญ่ แต่ตามซอกหลืบเมืองเล็กยังมีรถไฟ รถบัส และรถราง (tram) เข้าถึงได้

. . . . . . . .

ควรเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง?

  • ตอนมาเหยียบเยอรมนีครั้งแรก เราจะเจอความวุ่นวายด่านแรกคือการหาที่อยู่เพื่อลงหลักปักฐาน ซึ่งหายากมากกก ไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือใหญ่ (demand มากกว่า supply มากๆ) แต่เราต้องหาให้ได้ แล้วไปลงทะเบียนบ้าน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ขาดหลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้
  • ต้องทำใบอนุญาตพำนัก (Resident Permit) ซึ่งต้องใช้ทะเบียนบ้าน ถ้าใครได้วีซ่า 3 เดือนแต่หาบ้านไม่ทัน ก็คือทำอะไรต่อไม่ได้เลยจริงๆ
  • การเปิดบัญชีธนาคาร (Bank Account) ซึ่งต้องใช้ทะเบียนบ้านและใบอนุญาตพำนัก เพราะเราต้องมีหลักฐานแสดงการมีที่อยู่เป็นสัดส่วน
  • ทุกคนที่เยอรมนีต้องมีประกันสุขภาพ ซึ่งต้องใช้ทั้งทะเบียนบ้านและบัญชีธนาคาร

เราคิดว่าทุกคนต้องเจอและปวดหัวกับมันมาแล้ว กว่าจะลงตัวน่าจะสักปีครึ่งขึ้นไป (พร้อมกับเรียนภาษาไปด้วย) อย่างไรก็ตามเรายังพอเตรียมการบางอย่างก่อน เช่น กรณีที่พัก ถ้านักศึกษาอาจขออยู่พักมหาวิทยาลัยได้ แต่ถ้าเกิดในมิวนิก หอก็อาจต้องรอคิวไป 2-3 เทอม หรือไม่ก็ต้องตามหาที่พักที่เจ้าของปล่อยเช่าเอง

และการจะเข้าพักได้ไม่ต่างจากการไปประกวดหรือสมัครงานเลย เราต้องไปดูบ้าน ยื่นเอกสาร สัมภาษณ์ ฯลฯ แล้วจะขอดูรายได้เราด้วย ซึ่งเราต้องพยายามจนชนะใจเค้า ยิ่งถ้าพูดภาษาเยอรมันไม่ได้จะยิ่งยาก เพราะถ้าเค้ามีทางเลือกก็อยากเลือกคนที่สื่อสารกันได้ง่ายมากกว่าค่ะ

อ่านต่อ: Part การทำงาน Working  Student
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น