ส่องเทรนด์วัยรุ่น ‘เกาหลีใต้’ ทำไมถึงเลือกลาออกจากโรงเรียนกันมากขึ้น?

อันยองค่ะชาว Dek-D อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ‘เกาหลีใต้’ เป็นอีกประเทศที่จริงจังในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากๆ ถือเป็นการตัดสินอนาคตของวัยรุ่นเกาหลีเลยก็ว่าได้ หลายคนจึงพยายามอย่างหนักทุกวิถีทางเพื่อพิชิตฝันของตัวเองให้สำเร็จ แทนที่จะตั้งใจเรียนในห้องอย่างเต็มที่ แต่นับวันนักเรียนเกาหลีใต้ก็เลือกที่จะลาออกจากโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ และต่างบอกว่า ‘นี่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตของพวกเขา’

วันนี้พี่บีมบันจะพาน้องๆ ไปค้นหาคำตอบจากบทความของสำนักข่าว Korea JoongAng Daily ที่เค้าได้เจาะลึกถึงประเด็นนี้กันค่ะ ต้นเหตุจะมาจากอะไรบ้างนั้น พร้อมแล้วก็ตามมาอ่านกันเลยค่าา~

เกริ่นกันก่อนว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้หรือที่เรารู้จักกันในชื่อซูนึง (수능)’ เป็นอีกเป้าหมายสำคัญในชีวิตวัยเรียนเลยค่ะ ด้วยระดับความโหด บวกกับเป็นการสอบครั้งเดียวจบ ไม่มีการซ่อมใดๆ (จัดสอบปีละครั้ง) ทำให้วัยรุ่นหลายคนต้องเผชิญทั้งความกดดัน ความเครียดมากมาย และเตรียมตัวอ่านหนังสืออย่างหนัก เพื่อให้ได้เข้าเรียนต่อในคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการ

และเพื่อที่จะเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น เด็กเกาหลีจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะลาออกจากโรงเรียนมัธยมปลาย ด้วยความคิดที่ว่าเอาเวลาเรียนไปเตรียมตัวสอบให้เต็มที่ยังจะดีซะกว่า และอย่างที่เราทราบกันว่าค่าเทอมในโรงเรียนเกาหลีใต้นั้นแพงมากก (ยูนิฟอร์มของโรงเรียนก็ราคาสูงมากเช่นกัน TT) เกินกำลังที่หลายครอบครัวจะจ่ายไหว จนเด็กบางคนอาจต้องเรียนพร้อมทำงานใช้หนี้เลยทีเดียวค่ะ

ps. อ่านความกดดันในการสอบซูนึงของวัยรุ่นเกาหลีเพิ่มเติมได้ที่ ‘ขอโทษนะแม่...ที่ฉันเป็นคนล้มเหลว’ เมื่อชีวิตวัยรุ่น ‘เกาหลีใต้’ ถูกทำลายจากการสอบ

Photo  Credit:  http://www.dynews.co.kr/
Photo  Credit:  http://www.dynews.co.kr/

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Korean Educational Development Institute เปิดเผยว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา มีนักเรียนมัธยมปลายเลือกลาออกไปอ่านหนังสือเองมากถึง 14,140 คน! ว่าแต่ทำไมเทรนด์การลาออกจากโรงเรียนถึงกำลังมาแรงมากๆ ในเกาหลีใต้? มาหาคำตอบกันต่อเลยค่ะ 가자!

• • • • • • • • •  •

“ไม่เรียนต่อก็สอบเข้าได้เหมือนกัน”

Photo  Credit:  www.chosun.com
Photo  Credit:  www.chosun.com

การจะเรียนจบมัธยมปลายในเกาหลีใต้ได้ นักเรียนที่เลือกลาออกจากโรงเรียนทุกคนจำเป็นต้องสอบเทียบวุฒิ ม.6 หรือ ‘검정고시’ (คล้ายๆ กับ GED) ซึ่งเทียบเท่ากับประกาศนียบัตรมัธยมปลาย ดังนั้นแม้จะไม่เรียน ม.ปลาย ก็ยังสามารถสอบเทียบเพื่อนำวุฒิไปยื่นสอบซูนึงได้เหมือนกันค่ะ

‘คิม จูฮยอง’ วัย 18 ปี ก็เป็นนักเรียนอีกคนที่เลือกไม่เรียนต่อ ม.ปลาย โดยทุกวันตั้งแต่ 10 โมงเช้า เขาจะเรียนคลาสออนไลน์สำหรับสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย จากนั้นจะใช้เวลาช่วงเย็นฝึกซ้อมกีตาร์เพื่อเตรียมสอบเข้าเอกกีตาร์

“ผมรู้สึกพอใจนะ เพราะผมไม่ต้องเรียนวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยเลย” จูฮยองเสริมอีกว่า ถ้าเขายังต้องเรียน ม.ปลาย คงต้องวุ่นวายกับการเรียนจนถึงเย็น และต้องอ่านหนังสือสอบวิชาอื่นๆ เพิ่มอีกด้วย

• • • • • • • • •  •

‘เรียนออนไลน์’ อีกสาเหตุสำคัญที่วัยรุ่นเลือกลาออก

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนในเกาหลีใต้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์แทน ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าการเรียนรูปแบบนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีเท่ากับการเรียนในห้อง อีกทั้งวัยรุ่นเกาหลีหลายคนยังค้นพบว่าตนจดจ่อกับหน้าคอมได้ไม่ดีนัก จึงเป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนในช่วงนี้ค่ะ

• • • • • • • • •  •

“ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ดีกว่าเสียเวลาที่โรงเรียน”

แม้นักเรียนเกาหลีส่วนใหญ่เลือกลาออกเพื่อให้ได้คะแนนดีๆ แต่ก็มีวัยรุ่นบางกลุ่มเลือกลาออกเพราะต้องการเดินในเส้นทางที่ตนเองชอบ อย่างเช่น ‘อี ดาอึน’ วัย 18 ปีที่ชื่นชอบการทำขนม และเธอจะใช้ประกาศนียบัตรจากการเรียนทำขนมไปใช้ยื่นสอบซูนึง โดยเธอกล่าวว่า “การได้เรียนสิ่งตัวเองสนใจนั้นเป็นประโยชน์มากกว่าการใช้เวลาที่โรงเรียนเสียอีกค่ะ” 

• • • • • • • • •  •

…แต่การลาออกอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน

Photo  Credit:  www.donga.com
Photo  Credit:  www.donga.com

ฟังดูเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจใช่ไหมคะ แต่ใช่ว่าเส้นทางนี้จะตอบโจทย์กับทุกคนเสมอไป เพราะมีคนที่ลาออกจากโรงเรียนไปแล้วมาแนะนำคนที่กำลังตัดสินใจว่าควรคิดให้รอบคอบ เพราะบางคนอาจเผลอทำตัวขี้เกียจ ไม่ยอมอ่านหนังสือ หรือการอ่านหนังสือเองทำให้พวกเขาได้คะแนนน้อยกว่าที่คิดไว้ และไม่แน่ว่าจะยิ่งทำให้รู้สึกกดดันมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะขาดทักษะการเข้าสังคม เพราะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือมีเพื่อนฝูงเหมือนเด็กทั่วไปด้วยค่ะ

• • • • • • • • •  •

ต้องบอกว่าทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละคนเลยค่ะ และถ้าหากไม่มีวินัยพอ ผลลัพธ์ก็อาจออกมาแย่กว่าที่ตั้งไว้ก็ได้ สุดท้ายนี้พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนที่กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนและแบ่งเวลาไปทำสิ่งที่ชอบด้วยนะคะ ส่วนใครที่กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเลือกเดินทางไหนดี แนะนำให้พิจารณารอบด้านและวางแผนอย่างรัดกุม ถ้าเราเริ่มต้นดีอย่างน้อยก็เข้าใกล้ความสำเร็จไปครึ่งนึงแล้วค่ะ Fighting! 
 

Sources:https://koreajoongangdaily.joins.com/2022/01/12/national/education/CSAT-Admission-Korean-universities/20220112182055661.html  
 
Photo Credits:https://www.joongang.co.kr/article/23857249#home http://www.dynews.co.kr/news/articleView.html?idxno=640761 https://www.chosun.com/national/education/2021/08/05/MYCTIZJBJRHFPHD62R3SDBUEBE/https://www.yna.co.kr/view/AKR20200423041700004https://www.donga.com/news/Society/article/all/20201203/104262031/1 https://www.freepik.com/free-photo/chef-dusting-flour-dough_10922543.htm#query=baking&position=31&from_view=search
พี่บีมบัน
พี่บีมบัน - Columnist สาวใต้ผู้หลงรักเครื่องเขียน ศิลปะ และติดซีรีส์จนไม่ยอมนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น