บินไปอังกฤษเรียนโท “Luxury Brand Marketing” ที่ GCU London เปิดโลกแบรนด์หรูเพื่อต่อยอดธุรกิจ!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ในมุมผู้บริโภคแต่ละคนก็คงมีแบรนด์สิ่งของเครื่องใช้หรือแฟชั่นในดวงใจกันใช่มั้ยคะ และหากใครอยากเข้าใจกลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนแบรนด์ระดับ Luxury ไว้ใช้บริหารธุรกิจตัวเอง หรือเพื่อที่วันหนึ่งจะก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ในดวงใจ วันนี้จะพาไปรู้จัก “พี่เมเม” บัณฑิตเอกออกแบบแฟชัน มศว ที่ไปปรับภาษาและเรียนต่อ ป.โท สาขา Luxury Brand Marketing จาก GCU London หรือ Glasgow Caledonian University, London Campus 

เจ้าตัวเล่าว่าตัวเองคือคนที่ตกวิชาภาษาอังกฤษมาก่อน ทำให้ต้องลงคอร์สภาษาก่อนจะเจอการเรียนที่ต้องปั่นเปเปอร์หนักมากกกก มาดูกันว่าเด็กเอกนี้เขาเรียนกันยังไง มีวิชาอะไรน่าสนใจบ้าง แล้วช่วงเวลา 1 ปีนี้เปลี่ยนชีวิตหรือไม่!

“บางคนได้ยินชื่อ Luxury Brand Marketing อาจนึกถึงวงการแฟชั่น แต่จริงๆ เราจะได้เรียนหลากหลายและเจอเพื่อนที่มีแพสชันต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Hotel, Spa, Supercar, Jewelry, Fashion สาขานี้เหมาะกับคนอยากทำแบรนด์ หรืออยากก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ในดวงใจ”
 

พี่เมเม เจ้าของแบรนด์​ Tsuru Kimono

เรียนจบ ป.โท สาขา Luxury Brand Marketing จาก GCU London
 

Photo Credit: @gculondon
Photo Credit: @gculondon 
@gculondon
@gculondon 

เราโตมากับการวาดรูปและจับเข็มเย็บผ้า

เรารู้ตัวว่าชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก มีพื้นที่ให้วาดเล่นตรงไหนก็วาด ทั้งกระดานสีชอล์กกับกระดาษเอสี่ธรรมดาบวกกับบ้านเคยทำธุรกิจ Jewelry เลยมีโอกาสได้รู้จัก “การออกแบบ” ครั้งแรกตอนที่คุณแม่กำลังร่างไอเดียต่างหูกับสร้อยคอที่ลูกค้าสั่งทำพิเศษค่ะ ตอนนั้นเราลองไปนั่งวาดเล่นกับเขาดู ผลคือลูกค้ากลับเลือกไอเดียของเรา

และในขณะเดียวกัน โรงเรียนสาธิตฯ​ ที่เราเรียนก็เปิดโอกาสให้เราค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ฝึกทำทุกอย่าง จนค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบการร้อยพวงมาลัย แต่กลับชอบงานละเอียดอย่างการเย็บผ้า ซึ่งคนอื่นได้ยินแล้วอาจเบ้ปาก แต่เราดันสนุกกับมันทุกขั้นตอน  ยิ่งไปกว่านั้นคือคุณแม่มักจะเย็บผ้าให้เราเห็น ทั้งชุดใส่ไปงานแต่งญาติ หรือของใช้ชิ้นเล็กๆ เรียกได้ว่าซึมซับมาเต็มๆ เลยก็ว่าได้

สรุปคือเราก็โตมากับวาดภาพและการจับเข็มเย็บผ้า พ่วงด้วยอาการของโรคสมาธิสั้น คุณหมอแนะนำว่าถ้าเราอ่านหนังสือนานๆ ไม่ได้ อย่างน้อยควรได้เรียนสิ่งที่ชอบจริงๆ ทำให้เราเบนเข็มจากเลขไปสายแฟชั่น และเรียนจบสาขาออกแบบแฟชัน มศว 

เราสนใจชุดแต่งงานและชุดราตรีมากเป็นพิเศษ มีครั้งนึงช่วงปี 4 เราต้องทำโปรเจกต์จบในสไตล์ Ready-to-Wear แต่อาจารย์ที่ปรึกษาใจดีให้เราสามารถทำ 2 ใน 10 เป็นชุดยาวลากพื้นได้ พอตอนจบมี Thesis Show ปรากฏว่ามีสไตลิสต์ติดต่อมาอยากให้ดาราคนนึงสวมชุดที่เราออกแบบ ตอนนั้นคิดว่าเหลือเชื่อมาก เลยยิ่งทำให้เรายิ่งมั่นใจกับเส้นทางสายนี้

หลังเรียนจบเราทำฟรีแลนซ์ 2 ปี ก่อนจะต่อโท หลักๆ ทางบ้านเราอยากให้เราเสริมภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการเขียน Academic เพื่อช่วยเรื่องธุรกิจ แล้วจะเรียกว่าส่งไปดัดนิสัยด้วยก็ได้ เพราะตอนนั้นเราค่อนข้างดื้อ เขาอยากให้เราฝึกวินัย ลองอยู่และทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ซึ่งตอนแรกเขาอยากให้เราไปทางไฟแนนซ์ บัญชี แต่เราชอบแฟชัน เลยขอตรงกลางเป็น “สาขาการตลาด” (Marketing) เรามองว่าอย่างน้อยมันก็ยังมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราเรียน ป.ตรี มา

สมัครเรียนต่อ ป.โท!
(+ ปรับภาษาก่อน 9 เดือน)

เอกสารที่ใช้ตอนสมัคร

  • Statements of Purpose (SoP) *จดหมายแนะนำตัวสำคัญมากกก อยากเรียนจริงมั้ย มีแพสชันแค่ไหน เจออะไรมาบ้าง ตอนนั้นเราเล่าว่าอยากทำชุดแต่งงาน ต้องการมาเรียนเพื่อต่อยอด
  • Letters of Reference
  • Academic and Professional Certificates
  • Academic Transcripts
  • คะแนนภาษาอังกฤษ IELTS 6 หรือเทียบเท่า *หากไม่ถึงเกณฑ์ต้องลงเรียนปรับภาษาและสอบให้ผ่านก่อน
  • ไม่ต้องส่ง Portfolio
รายละเอียดหลักสูตรทุนการศึกษา 

ตอนนั้นคะแนน IELTS ของเราคือ 4 เลยได้เรียน 3 เทอม (9 เดือน) ที่ INTO Glasgow Caledonian University เรียน 5 วัน/สัปดาห์ มีทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน โดยจะประเมินเราทุก 3 เดือนค่ะ แต่เริ่มแรกจะได้นั่งคุยตัวต่อตัวกับอาจารย์ก่อน เล่า background ของตัวเองให้เขาฟัง จากนั้นอาจารย์จะแนะนำเรื่องการใช้ภาษาและเริ่มรื้อโครงสร้างเราใหม่หลังจากนั้น

และการถูกโยนเข้าไปในสถานการณ์บังคับที่ทุกคนพูดภาษาอังกฤษหมด ทำให้เราเริ่มพูดภาษาอังกฤษได้ใน 1 สัปดาห์ เพื่อนในคลาสมีทั้งหมด 20 คน ตอนแรกเป็นคนอาหรับ 15 คนจีน 4 แล้วเราเป็นคนไทยหนึ่งเดียว แต่เพื่อนจะเปลี่ยนกลุ่มทุกเทอมตามผลสอบ พอเรียนเสร็จไปสอบใหม่ คราวนี้ได้ 5.5 แล้วสอบอีกครั้งก็ได้ 6 ผ่านเกณฑ์ต่อโทได้

ป.โท ช่วงแรกเครียดจนร้องไห้ทุกวัน

GCU London การบ้านเยอะมาก จากที่เราเคยเขียน essay สัก 300 คำก็จะกรี๊ดแล้ว พอมาที่นี่ต้องเขียน essay ตกประมาณเทอมละ 10,000 คำ บวกกับความกดดันตอนเรียนโทเพิ่มจากตอนเรียนภาษาไม่รู้ตั้งกี่เท่า แต่ก็บอกตัวเองว่าต้องกลับไปพร้อมใบปริญญาให้ได้ เราเดินเข้าไปปรึกษากับทางมหาวิทยาลัย เขาแนะนำให้ลองอัดเสียงในคลาสและขอเลกเชอร์จากเพื่อนมาดูประกอบ แนะนำว่าถ้าจะเรียนให้จบโทควรฝึกเข้าหาคนอื่นด้วย

@gculondon
@gculondon

แต่พอปรับตัวได้ (ชินกับการปั่นงาน) เราก็เริ่มสนุกและรู้สึกได้เปิดโลกตลอดเวลาจริงๆ หลักสูตรเราจะเรียนทั้งหมด 1 ปี แบ่งเป็น 3 เทอม 2 เทอมแรกเป็นเนื้อหา ส่วนเทอมหลังเป็นโปรเจกต์จบ (Thesis) เวลาเรียนจะมีทั้ง Lecture กับ Workshop 

สาขา Luxury Brand Marketing จะไม่ได้อยู่แค่กับวงการแฟชั่น แต่ครอบคลุมตั้งแต่ Hotel, Spa, Supercar, Jewelry, Fashion ฯลฯ เพื่อนในคลาสจะอินกับเรื่องที่ต่างกัน บทสนทนาในคลาสทำให้เราได้เปิดโลกธุรกิจในมุมที่ไม่เคยสนใจมาก่อน โดยรวมเราว่าเป็นสาขาที่เหมาะกับคนที่อยากทำแบรนด์ หรืออยากเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ในดวงใจ เพราะอย่างคนที่สนใจ Supercar แต่ไม่เก่งเชิงเทคนิค ก็มีโอกาสไปทำการตลาดหรือช่วยวิเคราะห์ผู้บริโภคได้เหมือนกัน

รีวิวตัวอย่างวิชาเรียน

  • Luxury Branding and Sustainable Marketing เรียนเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นวิชาที่ชอบที่สุดแล้วค่ะ~ เราได้ฝึกมโน ฝึกขายโพรเจกต์ในห้อง วิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆ เขียน essay 1,500 words + ภาคผนวกอีก 1,000 words = รวม 2,500 words
     
  • Luxury consumer Behaviour ศึกษาปัญหาเบื้องหลังแบรนด์ดัง เช่น แรงงานเด็ก การกักตุนสินค้า ฯลฯ เราได้วิเคราะห์กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง แล้วเขายังให้เราเขียนไดอารี่ว่าแต่ละวันเราใช้เงินกับอะไรบ้าง แลกกันอ่านกับเพื่อน

    วิชานี้ช่วยให้เราอ่านคนได้จากพฤติกรรมที่คนแสดงออกบนโซเชียลมีเดีย ตอนที่เราเรียนจบ เรามานั่งสังเกตคนที่ซื้อของแบรนด์หรู  บางคนซื้อเพราะประสบการณ์ Luxury Brand จะไม่ใช่ขายแค่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การบริการหลังการขายถือเป็นเรื่องใหญ่มาก 
     
  • Developing Personal and Professional Competence วิชาพัฒนาบุคลิกภาพ เราจะได้ทำแบบทดสอบเพื่อสำรวจว่าตัวเองมีทักษะอะไรบ้าง และได้เรียนรู้ทริคต่างๆ เช่น การเจรจาให้ win-win ต่างฝ่ายต่างบรรลุผล ได้ผลประโยชน์สมน้ำสมเนื้อและรักษาคอนเนกชันได้ ฯลฯ วิชานี้ลึกซึ้งมาก เป็นทักษะที่เด็กทุกคนควรมีเลย
     
  • Strategic Marketing of Luxury Goods หรือกลยุทธ์การตลาด เป็นวิชาที่เราต้องนั่งรีเสิร์ชข้อมูลแบบเข้มข้น โดยการค้นหาประวัติและข้อมูลของแบรนด์เนมสักแบรนด์นึง แล้ววิเคราะห์ว่าเราจะเสนอโพรเจกต์อะไรให้เขาได้บ้าง 
     
  • Legal Aspects of Brand Management เจาะลึกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแบรนด์ เช่น เขาจะยกกรณีศึกษาขึ้นมาว่า 2 แบรนด์ A กับแบรนด์ B มีปัญหากัน ทำไมแบรนด์นี้ถึงชนะในคดีนี้ รวมถึงวิเคราะห์ความแตกต่างกฏหมายลิขสิทธิ์ระหว่าง US กับ UK วิชานี้มีการบ้าน 2 ชิ้น (เขียน 1,500 กับ 4,000 words) วิชานี้จะยากหน่อยเพราะเป็นภาษากฎหมาย ต้องทำใจให้ว่างเปล่าแล้วตีความหมายตามคำของเขา
ดูวิชาเรียนทั้งหมด

เทอมสุดท้ายคือช่วงเวลาของโปรเจกต์

ตอน ป.โท เราทำ Thesis เกี่ยวกับอิทธิพลและปัจจัยกระตุ้นที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ Luxury Brand ของคนไทย เก็บข้อมูลโดยการสำรวจความคิดเห็น (survey) บทสรุปของงานเราคือปัจจัยภายนอกนำ เช่น คนมักจะใช้สินค้าแบรนด์หรูเพื่อยกสถานะทางสังคม หรือใช้แล้วดูมีคลาส มีรสนิยม คุณภาพสินค้า ฯลฯ แล้วที่น่าสนใจคือช่วงนี้ที่ดูเศรษฐกิจซบเซา แบรนด์เนมในไทยกำลังบูมเพราะคนยอมทุ่มเทเงินเพื่อซื้อความสุขที่จับต้องได้มากขึ้น

ด้วยความที่ GCU London ทั้งแคมปัสมีไม่ถึงร้อยคน เจ้าหน้าที่ดูแลดีมากทั้งเรื่องเรียนและสุขภาพจิต มีระบบให้เราเข้าไปปรึกษาตัวต่อตัวเกี่ยวกับโปรแกรมที่เกี่ยวกับการทำ Thesis รวมถึงมีบริการตรวจเช็กภาษา Service Grammar Check ทุกสัปดาห์ เราผ่านมาได้เพราะบริการนี้เลยค่ะ เพราะมีช่วงที่ทำจนเกือบจบแต่มีจุดที่พลาดขึ้นมา เจ้าหน้าที่ก็ทำเรื่องและมาคอยประกบจนเราผ่านมาได้ เหมือนกับเขาผลักดันให้ทุกคนเรียนจบจริงๆ

บรรยากาศรอบๆ GCU London
ดีงามแบบไม่ธรรมดา!

  • GCU London ตั้งอยู่ใกล้กับ City Centre ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลายแบรนด์ ถ้าขาดแรงบันดาลใจก็ลองไปนั่งรถเล่นโซนนั้นแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อก็ได้ // สำหรับใครที่อยากเห็นว่า City Centre ที่ไหน ทีมต่อนอกขออนุญาตหยิบยกคลิปบรรยากาศจากช่องยูทูบ Tst TravelshareTravel มาฝากนะคะ
  • ค่าครองชีพใน London อาจไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ เพราะพุ่งสูงกว่าใน Glasgow ที่เราเรียนภาษาไปแบบคูณสาม แต่พอจะมีบางวิธีที่ช่วยประหยัดได้ เช่น ซื้อของลดราคา โดยเฉพาะตอน Sale หรือช่วงใกล้หมดวัน ลดหั่นแหลกสุดๆ หรือตอนเราเรียนจะมีคูปองลดราคาในหนังสือพิมพ์ด้วย (แต่ไม่รู้ตอนนี้ยังมีอยู่มั้ย)  สิ่งที่ต้องติดตัวคือบัตรนักเรียน ส่วนลดมีทุกที่ พกไว้ไม่เสียหายใช้ได้แทบทุกร้าน
     
  • แนะนำให้ลองคำนวณว่าค่าเดินทางหรือค่าหอแพงกว่ากัน บางครั้งการอยู่หอนอกเมืองแล้วนั่งรถเข้ามาเรียนอาจประหยัดกว่าอยู่หอในเมืองก็ได้ ตอนนั้นเราเลือกอยู่หอของมหาวิทยาลัยที่เขา co กับเอกชน เดิน 10 นาทีถึง และค่อนข้างสะดวกสบายเพราะมี supermarket อยู่ข้างๆ

คำเตือน: ลอนดอนอาจไม่ปลอดภัย ไม่เหมาะกับการเดินคนเดียวตอนดึก และยังมีคนสูบบุหรี่เยอะมาก ใครแพ้ควันบุหรี่ (แบบเรา) แนะนำให้สวม mask ไว้ตลอดนะคะ

ปิดท้ายด้วยการพาไปส่อง Tsuru Kimono
แบรนด์ที่เกิดจากความชอบชุดแต่งงาน

@meimeigallery
@meimeigallery

ความจริงเราทำหลายอย่างมาก ทั้งเขียนคอนเทนต์ สะสมของที่สนใจ แต่หลักๆ คือทำแบรนด์ของตัวเองชื่อ TSURU KIMONO เปิดบริการให้เช่าชุดแต่งงาน (ส่วนใหญ่เป็นกิโมโน) สำหรับถ่าย Pre-wedding ซึ่งเราจัดการเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ซื้อของ คัดของ ออกแบบ สไตล์ลิ่ง (Mix&Match) ความท้าทายของงานนี้คือชุดกิโมโนเป็นชุดที่มีเทคนิคล้านแปดมากที่สุด!

แน่นอนว่าการเรียน ป.โท ช่วยให้เราแฮปปี้กับการตลาดมากขึ้น เราได้ฝึกวางแผน คิดเป็นขั้นเป็นตอน ประเมินสถานการณ์ได้ว่าจังหวะนี้ควรก้าวไปทางไหนต่อด้วย ในช่วงที่เจอพิษโควิดเล่นงาน เราก็อาศัยทำคอนเทนต์ควบคู่กับทำแบรนด์ไปด้วยค่ะ ^^ 

Website: https://www.gculondon.ac.uk

FB Fanpage: @gculondon 

Twitter: @gculondon 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น