คุยกับเด็กทุน AMA+ เรียนฟรีที่ "ม.ศิลปะแห่งชาติเกาหลี" (K-ARTS) กับความปังของบรรยากาศในประเทศแห่งศิลปะ!

อันยองค่ะชาว Dek-D ~ ใครอยากเรียนต่อสาขาเกี่ยวกับ “นิเทศศาสตร์” หรือ “ศิลปกรรมศาสตร์” ในประเทศที่รัฐบาลส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมแบบจริงจังและเป็นระบบ จนกลายเป็นจุดขายและสร้างรายได้เข้าประเทศแบบมหาศาล วันนี้เราจะขอพาไปท่องแดนโสม เสพ Art และประสบการณ์เรียนฉบับ “พี่ฝนพรำ-อริสรา แก้วม่วง” (เจ้าของช่องยูทูบ OneFonPlum l วันฝนพรำ) ศิษย์เก่าศิลปกรรมจุฬาฯ ที่คว้าทุน AMA+ ปี 2016 ไปเรียนต่อ ป.โท เอกการออกแบบท่าเต้น (Choreography) ที่ School of Dance แห่ง K-ARTS ในประเทศเกาหลี สรุปสั้นๆ ได้ว่าคุ้มค่าทั้งบรรยากาศ วิชาเรียน และจำลองให้เห็นการแข่งขันในโลกการทำงานจริงแบบเรียลสุดๆ~

Korea National University of Arts (K-Arts) / K-Arts / KNUA หรือ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติเกาหลี ก่อตั้งเมื่อปี 1993 ประกอบด้วย 3 แคมปัสในกรุงโซล ที่นี่นับเป็น ม.ศิลปะที่โด่งดังมากทั้งในหมู่นักเรียนเกาหลีและต่างชาติ ผลิตศิษย์เก่าในวงการมากมาย ซึ่งคนไทยสามารถสมัคร “ทุน AMA+” หรือ “Art Major Asian plus” ที่สนับสนุนค่าเรียน 100% ครอบคลุม ป.ตรี และ ป.โท 6 วิทยาลัยแขนงต่างๆ *แต่ละสาขาจะมีเกณฑ์การรับเข้าเรียนต่างกัน ตรวจสอบได้ที่ Korea National University of Arts 2023 AMA+ (Art Major Asian Plus) Scholarship Admissions Guide ตั้งแต่หน้า 12-24 นะคะ ^^

  • School of Music (การดนตรี)
  • School of Drama (การแสดง/ละคร)
  • School of Film, TV & Multimedia (ภาพยนตร์และมัลติมีเดีย)
  • School of Dance (การเต้น)
  • School of Visual Arts (ทัศนศิลป์)
  • School of Korean Traditional Arts (ศิลปะเกาหลีดั้งเดิม)

. . . . . . 

ครั้งแรกไม่ได้ ครั้งหน้าเอาใหม่!
จุดเริ่มต้น & เส้นทางขอทุนอาม่า 2 ครั้ง

เรารู้จัก Contemporary Dance ครั้งแรกตอน ม.ปลาย และประทับใจโชว์ของคณะโกมลกูณฑ์ จนจุดประกายให้ตัดสินใจเรียนต่อ ป.ตรี สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาฯ จากนั้นก็ได้มารู้จักคำว่า Choreography หรือการออกแบบท่าเต้น และอยากต่อ ป.โทด้านนี้จริงจังเลยค่ะ

เรารู้มาว่าเกาหลีมีเปิดสอน Choreography แน่ๆ เพราะมีรุ่นพี่ที่รู้จักไปเรียนมา แล้วหนึ่งในทุนเต็มจำนวนไม่กี่ทุนที่ให้ไปเรียนด้านนี้ตรงๆ คือ AMA+ Scholarship ที่บางคนเรียกว่าทุนอาม่านั่นแหละ ตอนนั้นเราก็เริ่มศึกษางานอาจารย์ภาค Choreogrpahy ของ K-ARTS บนเว็บเขามีครบมากกก ช่วยให้เราเห็นแนวทางและเข้าใจ ม.มากขึ้น สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนตอนเขียนเรียงความสมัครทุนได้ รวมถึงตอนนี้ทางคณะ Dance มีช่องยูทูบ 한국예술종합학교 무용원 แสดงผลงานของอาจารย์และนักเรียนในภาคด้วย 

ตอนปี 2014 เราสมัครทุน AMA+ ครั้งแรก เลือกเอกการออกแบบท่าเต้น (Choreography) ที่ School of Dance, Korea National University of Arts แต่ยังไม่ได้ทุน แล้วมาได้ตอนสมัครปี 2016 สิ่งที่ต่างชัดเจนพอร์ตเราโตไวมากในช่วง 2 ปีนั้น

Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum

ตัวอย่างประสบการณ์ช่วงปี 2016

  • เคยทำงานโรงละครมาตั้งแต่ตอนเรียน ป.ตรี
  • หลังเรียนจบเริ่มทำงานในวแวดงศิลปะการแสดงในไทย เช่น จัดการแสดงละครโรงเล็กเป็นของตัวเอง (เป็น Performance Design ของโชว์ Scramble game By Arisara Kaewmuang)
  • ทำงานที่ International Dance Festival
  • เป็น Staff ให้กับศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการ

เราส่งผลงานต้นฉบับ + ทำ Showreel ที่สรุปผลงานเป็นคลิปวิดีโอ เล่าเรื่องราวในชีวิต การเติบโต และทัศนคติต่อการเต้น เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ช่วง ป.ตรีคือ 3.51 และยื่นคะแนนภาษาอังกฤษ​ IELTS 5.5 *ปีนั้นยังไม่ได้ require คะแนนภาษาเกาหลี

การพิจารณาคนได้ทุน จะมาจากหลายปัจจัยที่เราเองก็ไม่รู้องค์ประกอบและสัดส่วนแน่ชัด อาจจะมาจากคะแนนจากอาจารย์คณะที่สมัคร เกรด คะแนนภาษา แม้กระทั่ง rank มหาวิทยาลัย และอื่นๆ ถ้าใครไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี แนะนำให้ลองทำการแสดงของตัวเอง หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานในแวดวงนี้ก่อน มันคือพอร์ตสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสติดทุน และเราจะได้มีประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนในคลาสด้วย (รีวิวเพื่อนร่วมรุ่นตอนเรียนโท K-ARTS มักจะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในเกาหลีหรือทำงานแวดวงการแสดงที่ประเทศตัวเองมาก่อนค่ะ)

. . . . . . 

สุดยอดบรรยากาศใน K-ARTS
มหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำของประเทศ

"ถึงการเรียนจะเครียด แต่บรรยากาศใน K-ARTS ช่วยฮีลใจตลอดเลยค่ะ อยู่ที่นี่เราเห็นคนเดินไปเต้นไปได้เป็นปกติ เวลาขึ้นลิฟต์ตึก Music แล้วมองลงมาจะเห็นคนเล่นเครื่องดนตรีหลากหลาย เจอช็อตเด็ก ป.ตรี กำลังเล่นไวโอลีนจีบสาว หรืออาจได้ยินเสียงเพลงลอยมาจากไหนสักที่ก็ได้"

ถ้าเป็นเด็กคณะ School of Dance จะได้เรียนที่ Seocho-dong ตั้งอยู่ในศูนย์แสดงศิลปะ Seoul Arts Center (예술의 전당) ทุกวันที่มาเรียนเราจะต้องเดินผ่าน Opera House, Art Galleries, Theatre, Music Hall ฯลฯ ถ้ามีการแสดงอะไรเกิดขึ้นเรารู้หมด หรือแม้แต่แคมปัสหลักใน K-ARTS เองก็มีจัดอีเวนต์ศิลปะขึ้นตลอด เพราะที่นี่มีโรงละครเป็นของตัวเอง ในโรงใหญ่มีโรงเล็กแยกย่อย และบางห้องเรียนยังมีเวทีในตัวด้วย บางครั้งมหาวิทยาลัยก็จะเชิญศิลปินที่คอลแลปกับต่างชาติให้เราเข้าไปชมได้

Seoul Arts Center
Seoul Arts Center
https://seoulinsidersguide.com/sac/ 
예술의전당 Seoul Arts Center
예술의전당 Seoul Arts Center 

. . . . . . 

เรียนคอร์สเกาหลี 4 เดือนที่เวแด
ก่อนเริ่มชีวิต ป.โทหลักสูตรเกาหลีล้วน

หลักสูตร Choreography เป็นภาษาเกาหลีล้วน คนที่ไม่ได้ภาษาแบบเราตอนแรกก็ปรับตัวเหนื่อยแน่นอน  แต่ก่อนจะเริ่มเรียน ป.โท นักเรียนทุน AMA+ จะได้เรียนคอร์สภาษาเกาหลีฟรีเป็นเวลา 4 เดือนที่ “เวแด” หรือ Hankuk University of Foreign Studies (HUF)

จากที่คุยมาแต่ละคนมักจะประสบการณ์คล้ายกันว่า เพื่อนที่ K-ARTS เปิดกว้างและช่วยเหลือกันดีมาก อย่างเราก็ได้เจอเพื่อนและอาจารย์ที่เข้าใจเรามาก บางคนช่วยคอมเมนต์ภาษาอังกฤษเพื่อให้เราเก็ต ถ้าเกิดทำหน้าสงสัยเขาก็อาจช่วยอธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้อีกครั้ง พอเรียนไปเราจะเริ่มคุ้นเคยกับคำศัพท์ในแวดวง Dance ที่เจอบ่อยๆ จนคุ้นชินขึ้น

Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum

. . . . . . 

เทียบช็อตความสนุกของแต่ละวิชา
ฉบับเด็กเอก Choreography @ K-ARTS

การเรียนที่ K-ARTS ตอบโจทย์กว่าที่คิดไปอีก นอกจากวิชาบังคับที่ fix ไว้ เราสามารถจัดลงเรียนวิชาที่สนใจของชั้นปี/ภาค/คณะไหนใน K-ARTS ก็ได้หมดเลยค่ะ อาจารย์เขาจะแฮปปี้ถ้าเราจะเข้าไปนั่งเรียนด้วย ตอนนั้นเราก็มีไปลงวิชาบัลเล่ต์ 1 กับพวกวิชาเลือกของระดับ ป.ตรีเหมือนกัน

 

*ศึกษาหลักสูตรได้ใน Handbook > School of Dance > Department of Choreography (หน้า 13-16)

Practice in Choreography 1

ถ้าเกิดมองเฉพาะวิชาบังคับ ป.โท ของภาค Choreography จะไม่มีวิชาพื้นฐานเหมือนหลักสูตร ป.ตรี แต่จะเป็นขั้นตอนของการกำกับและการสร้าง (Production) เราได้เหมือนได้มาเก็บเกี่ยวเทคนิคการทำงานจากอาจารย์แต่ละคน เช่น Practice in Choreography 1 จะได้เรียนกับต่างชาติ สลับผู้สอนทุกปี เราเลยลงเรียนวิชาเดิม 2 ครั้งเพื่อเรียนรู้วิธีทำงานของอาจารย์ 2 คน

Practice in Choreography 2 

เป็นวิชาเด็ดที่การบ้านยากแบบมหาหินที่สุด อาจารย์จะกำหนดเพลงคลาสสิกความยาว 3 นาทีมา 1 เพลง ให้เราออกแบบท่าเต้นภายใต้ 3 กฎเหล็กคือ “ห้ามใช้เทคนิคที่มีมาแล้ว” “ห้ามใช้ความสมดุล” “ห้ามท่าซ้ำ” และยังมีเงื่อนไขว่า “หากปิดเพลงแล้วเต้นอยู่ เราจะต้องได้ยินเสียงเพลงจากท่าเต้นนั้นด้วย”

ดังนั้นทุกคนต้องเปิดมาฟังเก็บรายละเอียดทุกเม็ดในทุกวินาทีของเพลงว่าเราได้ยินอะไรบ้าง วินาทีนี้ควรเป็นท่าไหน ฯลฯ​  ทั้งเทอมมีงานแค่ชิ้นเดียวแต่ต้องพรีเซนต์ความคืบหน้าทุกสัปดาห์ จากนั้นเพื่อนกับอาจารย์จะมานั่งวิเคราะห์กันว่าเราเผลอทำผิดกฎข้อไหนรึเปล่า ถ้าจังหวะไหนไม่ได้ต้องไปคิดมาใหม่ เราอยู่หอกับเพื่อน 3 คน เปิดฟังกันจนหลอนไปเลยค่ะ กว่าจะผ่านสัก 5 วินาทีได้คือยากมากกกก

ท้ายที่สุดแล้วจะมี 3 เกรดคือ A+, A ส่วนคนที่ไม่ทำไม่ทันก็ได้ F ไปนอนกอด // วิชานี้ยากก็จริงแต่ทำให้เราค้นพบว่าตัวเองชอบเล่นกับรายละเอียดของดนตรีมากๆ เลยค่ะ

Workshop 1-2

Workshop 1 เราจะได้ทำงานกับดนตรี เช่น ถ้ามีตัวโน้ตแล้วเราจะปรบมือยังไงให้เป็นเพลง แล้วพัฒนามาใช้ในการแสดงได้ พอเป็น Workshop 2 จะได้เรียนรู้วิธีสร้างเรื่องราวเหมือนกับเป็นคนเขียนบทละคร และดัดแปลงเป็น Dance (อาจารย์แต่ละคนมีเทคนิคต่างกัน) 

Dance Directing

วิชานี้เราจะได้ทำงานกับนวนิยาย รุ่นเราเขาให้แบ่งกลุ่มทำงานกับเรื่อง Hamlet ของ Shakespeare ต้องอ่านทั้งเล่ม เป็นเวอร์ชันภาษาเกาหลียุคเก่าหน่อย แล้วตีความทุกคำออกมาเป็นท่าทางให้ได้

Seminar of Choreography 1

เราจะได้หยิบประวัติศาสตร์การเต้นแบบต่างๆ อย่าง Ballet, Jazz, Modern Dance, Thai Dance ฯลฯ มากางแล้ววิเคราะห์ในมุมมองของ Choreographer ว่าเราเห็นอะไรในแต่ละยุค พัฒนาการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จุดเด่น วิธีการทำงาน และที่มาของไอเดีย อย่างเช่น “บัลเล่ต์” จะไม่ใช่แค่เรื่อง Performance แต่ต้องมีการผูกเรื่องและออกแบบท่าเต้น แม้กระทั่งรำไทยยังต้องผ่านการคิดว่าจะทำยังไงกับเส้นในร่างกายบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้เรายังได้ไปสัมภาษณ์คนที่มีชื่อเสียงในวงการแล้วมาพรีเซนต์ในคลาสด้วย ตอนนั้นเราเลยเลือกสัมภาษณ์ Choreography คนไทยค่ะ

Seminar of Choreography 2 

เรียนแนวปรัชญาหน่อยๆ เขาจะกำหนดหัวข้อหรือคีย์เวิร์ดมาให้เรากลับไปหาข้อมูล แล้วเขียนมา 2 หน้ากระดาษ เช่น คำว่า “ลม” ลมสำหรับเราคืออะไร แล้วได้นั่งฟังในมุมของเพื่อนคนอื่นด้วย วิชานี้จะนำไปสู่การหาไอเดียเพื่อสร้างการแสดง

Dance Pedagogy

ทุกคนจะได้ไปเตรียมคลาส 1 ชั่วโมงมาสอนเพื่อนในคลาส เราเลยเลือกเรื่อง “Group Awareness” ให้แต่ละคนลองหลับตา พยายามเชื่อมต่อกันว่ามีใครอยู่ตรงไหน แล้วจะใช้ร่างกายไปหาเขาได้ยังไงบ้าง จากนั้นลองลืมตาแล้วทำเหมือนเดิม เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ว่าระหว่างการหลับตากับลืมตาว่าการรับรู้เชิงร่างกายและพื้นที่ต่างกันรึเปล่า // วิชานี้ทำให้เราค้นพบว่าตัวเองชอบทำคลาสไม่น้อยกว่าการทำ Performance เลย

Stage Technique 1

เรามีพื้นฐานมาบ้านจากการเรียนวิชาเลือกตอน ป.ตรี ที่เมืองไทย แต่ตอนนั้นแทบไม่ได้ปฏิบัติเลย แต่ที่ K-art เราได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ สนุกและได้ลองอะไรแปลกใหม่เยอะแยะมากกกกเกี่ยวกับการจัดไฟเวที (เป็นวิชาเลือกระดับ ป.ตรี) เขาจะมีห้องที่เพดานสูงและมีรางไฟให้ เหมือนกับเป็นโรงละครย่อมๆ ที่เปิดโอกาสให้ทดลองเล่นลองจัดหลายๆ แบบ รวมถึงได้เรียน Mapping Projector ที่เขาใช้ฉายภาพบนตึกด้วย

(ตัวอย่าง Projection Mapping Artworks)

Stage Technique 2

ออกฟิลด์ไปทำงานกับสถานที่จริง (เปลี่ยนสถานที่ทุกปี) อย่างรุ่นเราตอนนั้นได้ไป “เรือนจำซอแดมุน” (Seodaemun Prison) แต่ละคนต้องเลือกมุมเพื่อเตรียมจัดการแสดงเดี่ยวในวัน Independent Day ยากตรงที่เป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่อ่อนไหว แล้วยังต้องตีความจากมุมมองคนภายนอกที่ไม่ใช่คนเกาหลีด้วย // ตอนนั้นมีครูพานักเรียนอนุบาลเป็นกลุ่มมาชมการแสดงด้วย~

Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum

. . . . . . 

กฎของการเรียนจบ
คือต้องได้ครบ 3 ผ่าน

นอกจากลงเรียนครบหน่วยกิตและทำคะแนนผ่านเกณฑ์แล้ว ยังมีเงื่อนไขสำคัญว่าทุกคนในเอกต้องผ่านการคัดเลือกออดิชั่นเข้าร่วม Experimental Dance Festival ของภาควิชา เพื่อนำเสนอผลงานเพื่อผ่านวิชา Choreography 1 และ 2 จัดขึ้นช่วงกลางเทอม มีการจัดออดิชันเทอมละครั้ง (โดยครั้งที่ 2 สามารถเลือกออกไปแสดงผลงานในเทศกาลนอกมหาลัยได้ แต่ต้องแต่รับคำยินยอมจากอาจารย์)และครั้งที่ 3 คืองานแสดงจบปีการศึกษา Graduation Performance มีการจัดออดิชั่นปีละครั้ง

เล่าคร่าวๆ คือนักเรียนจะส่งผลงานเข้าไปออดิชั่น โดยแสดงตัวอย่างผลงานจริงคนละ 3 นาที แล้วเขาจะประกาศชื่อคนผ่านและได้แสดงผลงานในเทอมนั้น ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะหยิบอะไรมา project ดี ก็อาจยังไม่ลงเรียนวิชานั้น บางคนเรียนเข้าปีที่ 8 ก็ยังจบไม่ได้ถ้ายังแสดงไม่ครบ 3 งานนี้

นอกจากการแสดงผลงานของแต่ละคน ทุกเทอมจะมีการแสดงปิดภาคเรียนที่นักศึกษาทุกชั้นปีได้มาแสดงผลงานจากวิชาเรียนหลักในเทอมนั้น และการแสดงใหญ่ เป็นผลงานการแสดงของอาจารย์ทุกคนจากการที่เด็กในภาคได้ทดลองทำงานกับอาจารย์ปีละครั้ง

Photo Credit: OneFonplum
Photo Credit: OneFonplum

การเรียนที่เกาหลีอาจดูกดดันแต่ไม่เคยหลอกเรา มหาวิทยาลัยเขาแค่จำลองให้เราเห็น ตอนออดิชันไม่ผ่านมีอาจารย์คนนึงบอกเราว่า “You คิดว่าโลกความจริงมันง่ายหรอ มันเป็นแบบนี้แหละ แค่ต้องอดทนสู้ต่อจนถึงวันนั้น ถ้าไม่ไหวก็แค่ต้องยอมแพ้ไป” สิ่งนี้มันโคตรเกาหลีเลยยย แต่มีส่วนช่วยให้เราแข็งแกร่งมากขึ้นจนถึงวันนี้ค่ะ

ท้ายที่สุดแล้วแต่ละคนต้องตามหาอัตลักษณ์ตัวเองให้เจอและขายให้ได้มากที่สุด และนอกจากการออกแบบท่าเต้น เรายังต้องฝึกการบริหารจัดการ การดีลกับนักแสดง การหาพื้นที่ วิธีขายงาน ฯลฯ จุดที่ยากของเด็กต่างชาติก็คือคอนเนกชัน ถ้าคนเกาหลีที่ทำงานที่ทำงานคณะเต้น หรือมีเพื่อน มีรุ่นน้องอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา แต่เราจะต้องพยายามหาเพื่อนคนไทยภาคอื่น หรือคว้าตัวเพื่อน Performance ชาติอื่นมาช่วยแสดงให้

งานรับปริญญาออนไลน์ของตัวเอง จากเกาหลีใต้
งานรับปริญญาออนไลน์ของตัวเอง จากเกาหลีใต้
Photo Credit: OneFonPlum
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย K-ARTS

. . . . . . 

การหางานหลังเรียนจบ
(+ อัปเดตชีวิตปัจจุบัน)

ถ้าเป็นคนเกาหลีก็มีคณะเต้นเป็นของตัวเอง มีออกทัวร์ในประเทศ ต่างประเทศ หรืออาจไปคอลแลปกับ Dance Company จัดเป็น Performance ใหญ่ขึ้นมา (มีเรื่องการขอเงินทุนสร้างงานด้วย)

และด้วยธรรมชาติของอาชีพ Choreographer ที่เป็นกึ่งฟรีแลนซ์ ไม่ใช่งานประจำ ชาวต่างชาติเลยจะเจออีกข้อจำกัดนึงคือไม่มีวีซ่ารองรับ = ไม่รู้จะอยู่อาศัยในเกาหลีด้วยวีซ่าอะไรนั่นเองค่ะ ส่วนใหญ่เลยจะไปเติบโตในประเทศตัวเองมากกว่า

K-Arts
K-Arts
Photo Credit: OneFonPlum
서울시립미술관 Seoul Museum of Art
서울시립미술관 Seoul Museum of Art
Photo Credit: OneFonPlum

. . . . . . 

ชีวิตปัจจุบันของฝนพรำ 

หลังกลับไทย งานแรกที่เราทำคือเป็นหนึ่งในทีมงาน Bangkok International Children's Theatre Festival พอเห็นศิลปินมาทำงานกับเด็ก บวกกับการเรียนคลาส Pedagogy ใน K-ARTS ทำให้ค้นพบว่าตัวเองชอบออกแบบคลาสกับเวิร์กชอป เราเลยตัดสินใตต่อโทสาขาจิตวิทยาพัฒนาการของจุฬาฯ อีกใบ เพราะอยากประยุกต์ความรู้ด้านจิตวิทยามาช่วยในการออกแบบคลาสและกระบวนการเรียนรู้นี้ด้วย

ปัจจุบันเรายังคงทำงานในวงการละครโรงเล็ก ก่อนหน้านี้มีเป็น Performer ให้ศิลปิน และมีจัดเทศกาลแสดงออนไลน์เพื่อหาพื้นที่ให้ศิลปินกับเด็กรุ่นใหม่ ล่าสุดจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงมาโชว์ ครั้งที่ 2 เป็นน้องที่กำลังเรียน และครั้งที่ 3 ทำคอลแลปกับเกาหลีและญี่ปุ่น โดยมีเพื่อนเกาหลีเรามาร่วมแสดงด้วย

Photo Credit: OneFonPlum
Photo Credit: OneFonPlum

และเมื่อไม่นานมานี้ เรายังได้ร่วมแสดงในโชว์ ‘Vessel’ การแสดงภายใต้คอนเซปต์ ‘ความเป็นหญิง’ โดย ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ด้วยนะคะ ^^

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น