รีวิวเรียนแอนิเมชันที่ ‘Sheridan College’ ประเทศแคนาดา & หางานได้ตั้งแต่วันพรีเซนต์โปรเจ็กต์จบ!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D พี่พันตาเชื่อว่าน้องๆ ที่สนใจด้านแอนิเมชัน อาจเคยได้ยินชื่อ ‘Sheridan College’ ประเทศแคนาดากันมาบ้าง เพราะที่นี่นอกจากจะผลิตแอนิเมเตอร์ชื่อดังที่ทำงานร่วมกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่แล้ว ยังได้รับการจัดอันดับจากทั้ง Animation Career Review และ Shiksha Study Abroad ว่าเป็นสถาบันท็อปโลกด้านแอนิเมชันอีกด้วย! 

และเมื่อเร็วๆ นี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘พี่พิ้งค์ - ปิยพร เรืองรองปัญญา’ พี่พิ้งค์เรียนจบจากเอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2542 แต่จู่ๆ ก็ตัดสินใจเบนสายไปเรียน ป.โท สาขา Character Animation ที่ Sheridan ในปี 2549

  มาดูกันว่าอะไรคือจุดเปลี่ยน? แล้วกว่าจะเป็น Lead Animator อย่างทุกวันนี้ต้องเจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง? ตามมาอ่านต่อกันเลยค่ะ~

. . . . . .  .

เรียนมา 4 ปีและค้นพบว่า
การออกกองไม่ใช่ทาง

ย้อนไปช่วง ป.ตรี ที่เรียนเอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง เราได้ออกกองบ่อยมากกกแต่กลับไม่รู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำ  แล้วบังเอิญที่คณะฯ​ เปิดวิชาชื่อ “Stop Motion” (คร่าวๆ คือเป็นเทคนิคที่นำภาพนิ่งมาเรียงต่อกันเป็นแอนิเมชัน) พอเรียนแล้วรู้สึกว่า “เฮ้ย หรือจริงๆ เราจะชอบทำการ์ตูน?” เพราะอย่างน้อยการได้ดีลกับคนน้อยลง เราจะคุมอะไรต่างๆ ได้มากกว่าตอน Live Action ที่ใช้คนแสดงจริง

ตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียนเปิดสอนด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ไปลงเรียนคอร์สนึงของ ม.ศิลปากร ที่สอนโปรแกรม Lightwave หลังจบก็เริ่มงานฟรีแลนซ์สายแอมิเนชัน และทำ Full-time อีกสัก 2-3 ปี ก่อนจะตัดสินใจเรียนต่อด้านนี้จริงจังที่ “Sheridan College” ค่ะ

. . . . . .  .

เตรียมตัวไปเรียน 
พร้อมเป็น PR เพื่อคว้าทุน! 

ในการเตรียมตัวของพี่พิ้งค์ แบ่งออกเป็น 2 อย่างด้วยกัน ได้แก่

เตรียมตัวสมัครเรียน

  • วิดีโอแสดงผลงาน (Demo Reel)
  • จดหมายที่แนบเพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (Cover Letter)
  • ใบแสดงผลการศึกษา (Transcript)
  • ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ

เตรียมตัวขอวีซ่าแคนาดาถาวร (Permanent Resident)

เค้าไม่ได้บังคับว่าต้องถือวีซ่าถาวรแคนาดา (PR Canada) แต่ถ้าถือไว้จะช่วยให้จ่ายค่าเทอมน้อยลง 2 เท่าจากนักศึกษาต่างชาติทั่วไป ซึ่งหลักเกณฑ์การได้ PR ตอนโน้นคือต้องเป็นอาชีพในลิสต์ที่ประเทศเค้ากำลังขาดแคลน (ประชากรแคนาดาตอนนั้นถือว่าน้อยมาก) พี่เลยสมัครเป็นคนตัดต่อหนัง ตอนสัมภาษณ์เค้าก็จะดูว่าเรามีความสามารถด้านนี้จริงๆ มั้ย มีผลงานอะไรมาบ้าง

การปรับตัวช่วงแรก

ตอนแรกที่ไปถึงคือทั้งกลัวทั้งตื่นเต้น เอาตัวรอดเรื่องภาษาได้ตามสไตล์เด็กไทยเลยก็คือไม่เคยไปเมืองนอกแต่เคยดูหนังซับฝรั่งมาบ้าง พอไปถึงจริงๆ เราพบว่าคนเค้าพูดเร็วยิ่งกว่าในหนัง สำเนียงก็ต่างเพราะสังคมเค้ามีความหลากหลายมากก 

แล้วแม้ว่าเราจะ IELTS จะผ่านเกณฑ์ แต่ก็ตัดสินใจลงเรียนโปรแกรมภาษา ESL (English as a Second Language) เลยเป็นช่วง 8 เดือนที่ได้ปรับเรื่องภาษากับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบยกใหญ่เลยค่ะ ความต่างคือช่วงนั้นอยู่สภาพแวดล้อมเด็กอินเตอร์ เค้าจะเข้าใจและช่วยพูดช้าลง แต่ตอนไปเรียนที่สาขาจะต่างกันชัดเจน คนพูดกันคล่อง กล้าพูดกล้าถามมากขึ้น

. . . . . .  .

เจาะลึกหลักสูตร Sheridan
(Character Animation)

Legend Quest: Master of Myths แอนิเมชันที่ที่พิ้งค์เป็น Lead Animator
ออกอากาศผ่าน Netflix

 

1. โปรแกรม English as Second Lanuage (ESL)  

  • อันนี้ไม่ได้บังคับเรียน แต่แนะนำว่าเด็กต่างชาติควรจะเรียนก่อนเพื่อปรับตัวก่อนลงสนามจริง โดยใช้เวลาเรียนทั้งหมด 8 เดือน (อย่างที่เล่าไปด้านบน)
  • เรียน Writing Listening Speaking Reading ทุกวัน เช้าถึงเย็น

2. Computer Animation 

  • เรียนพื้นฐานด้านแอนิเมชัน ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 เทอม (1 ปี) แต่พี่พิ้งค์มีพื้นฐานมาก่อนแล้วเลยเลือกที่จะไม่เรียน

3. Digital Character Animation (ปัจจุบันหลักสูตรชื่อว่า : Digital Creature Animation) ต้องจบ Computer Animation มาก่อนหรือมีความรู้เทียบเท่าถึงจะเริ่มเรียนได้ค่ะ ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 เทอม (1 ปี) เช่นกัน

  • เทอม 1 เริ่มต้นทำ final project โดยจะต้องเสร็จถึงช่วง Pre-production
  • เทอม 2 ทำ final project ให้เสร็จ และนำเสนอในงาน Industry Day

ถ้าเรียน Character Animation เขาจะบังคับให้เรียน Acting กับเด็กเอกการแสดงโดยตรง แล้วยังได้เรียน Drawing กับเด็กที่เรียนศิลป์ด้วย การวาดรูปในที่นี้คือ Life Drawing ได้ฝึกวาดกับหุ่นจริงทั้งเปลือยและไม่เปลือย และมีออกไปวาดรูปนอกสถานที่จริงจังด้วยค่ะ

นอกจากนี้ยังมีเรียน Anatomy (กายวิภาคศาสตร์) เพราะคนที่ทำงานสายแอนิเมชันจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องสัดส่วนร่างกายมนุษย์อย่างถูกต้อง 

ทุกวิชาสำคัญหมดโดยเฉพาะกับสาย Character Animation เพราะในฐานะ Animator ก็ถือเป็น “นักแสดง” เหมือนกัน เพียงแค่ใช้ puppet (หุ่น) ถ่ายทอดแทนตัวเอง เขาจะใช้ทฤษฎีสอนเราถึงขั้นว่าจังหวะแบบไหนจะต้องเคลื่อนที่ช้า และการเคลื่อนช้าจะให้อารมณ์แบบไหน แล้วการเคลื่อนเร็วจะให้อารมณ์แบบไหน ส่วนเรื่องวาดรูปก็จำเป็นเพราะจะได้เรียนรู้เรื่องเส้นโค้งเส้นตรง ความเข้ากันหรือขัดแย้งของรูปวาด ทั้งหมดนี้จะเสริมให้เราเก่งขึ้น

ดูข้อมูลหลักสูตร Computer Animation  

https://www.sheridancollege.ca/programs/computer-animation#tab=overview 

ดูข้อมูลหลักสูตร Digital Character Animation 

https://www.sheridancollege.ca/programs/digital-creature-animation-technical-direction#tab=overview 

 

. . . . . .  .

Industry Day 
เทศกาล “ปล่อยของ” และ “หางาน”

cr. sheridancollege.ca
cr. sheridancollege.ca

‘Industry Day’ เป็นเทศกาลใหญ่ที่นักศึกษาจะได้นำเสนอ Final Project ของตัวเองในห้องฉายหนัง แล้วมีคนในวงการ production ที่ทำงานในสตูดิโอจริงๆ มานั่งฟังและคอมเมนต์งานเรา 

ที่พิเศษในห้องฉายจะมี Booklet หนึ่งเล่ม (รวมผลงาน, ชื่อหนัง, เบอร์ติดต่อ) ถ้าสนใจคนไหนเขาจะวงไว้ แล้วติดต่อนัดสัมภาษณ์เพื่อรับเข้าทำงาน อย่างพี่พิ้งค์เองได้งานจาก Industry Day วันนั้นเหมือนกันค่ะ มี 2-3 สตูดิโอเรียกไปสัมภาษณ์ (มีสตูดิโอที่อเมริกาด้วย) ตอนนั้นเราตัดสินใจเลือกทำโฆษณาก่อนจะเปลี่ยนมาทำซีรีส์ยิงยาวถึงทุกวันนี้ค่ะ 

ลุยโปรเจ็กต์ ‘Bubble Guppies’ 
ฉบับ lead ป้ายแดงและทีมเด็กจบใหม่!

โปรเจกต์แรกที่พี่ lead คือ “Bubble Guppies” ซีรีส์แอนิเมชันทางโทรทัศน์สำหรับเด็ก  จำได้เลยว่าหินมากกกเพราะปกติงานทั่วไปจะถ่ายแก้ (retake) ประมาณ 3-4 ครั้ง แต่งานนี้ไดเรกเตอร์ 3 คนรีเทคสวนกันไปมารวมๆ 7-8 รอบ

ความท้าทายในตอนนั้นคือพี่เป็น lead ใหม่ และลูกทีมก็เป็นเด็กจบใหม่ไปกว่าครึ่ง ตอน EP แรกๆ เขาแทบจะยุบทีมนี้แล้วดึงพี่ไปทำกับอีกทีม แต่ตอนนั้นพี่ลองนึกภาพว่าถ้าตัวเองจบใหม่แล้วทำงาน 3 เดือน ถูกยุบทีม เป็นใครก็ฝ่อนะ เราไม่อยากให้น้องๆ ในทีมรู้สึกแบบนั้นก็เลยบอกว่า 

“พวก you ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้นะ ถ้าทุกคนยินดีสู้ เราก็ยินดีจะสอน” และเราบอกลูกค้าว่ายินดีทำทุกอย่างเพื่อให้งานไปต่อได้

ในงานนี้เราเลยไม่ใช่แค่คุมทีม แต่สอนงานช่วงเสาร์-อาทิตย์ และทำงานถึง 4-5 ทุ่มทุกวัน พอวันที่จบงานลูกค้าบอกว่า “ทีมของ you เป็นทีมที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือมากที่สุด” แล้วในที่สุดเขาก็ต่อสัญญาพวกเราค่ะ ทุกคนในทีมภูมิใจในตัวเองมากกก ถ้าสู้ก็ทำได้จริงๆ 

. . . . . .  .

#รีวิวแคนาดา กับพี่พิ้งค์

  • คนแคนาดาเคารพกันและกัน - จากประสบการณ์ส่วนตัวคือพี่ยังไม่เจอปัญหา racist เลย แต่กลับกันคือเขาเคารพสิทธิคนอื่นสูงมาก ทุกคนทุกอาชีพเท่าเทียมกันและสมควรได้รับการปฏิบัติที่ดีต่อกัน การเปิดประตูให้กันเป็นเรื่องปกติ เราสามารถ Good Morning กับคนขับรถเมล์ได้ หรือตอนพี่เป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารไทย ถ้าเกิดไม่เข้าใจภาษาอังกฤษก็สามารถให้เขาช่วยอธิบายได้
     
  • ความหนาวแบบสั่นสะท้าน! - ช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะต้องมี -47 หรืออาจลงไปถึง -50 องศาเลยก็ได้ ถ้าให้เราแนะนำคือไม่ควรไปแคนาดาช่วงหน้าหนาว แต่ควรไปตั้งแต่ ก.ย.-ต.ค. แล้วซื้อเครื่องหนาวที่ประเทศเขา เพราะเสื้อหนาวที่ไทยอาจเอาอยู่แค่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง พอเข้าช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะกันหนาวไม่ค่อยไหวแล้ว // คนไทยต้องปรับตัวเรื่องอากาศเยอะมากๆ

. . . . . .  .

 

เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องราวของพี่พิ้งค์ หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ทุกคนนะคะ สำหรับ Sheridan แล้วเนี่ยเค้าไม่ได้มีแต่แอนิเมชันในระดับปริญญาโทนะคะ แต่ยังมีสอนในระดับป.ตรีอีกด้วย! ถ้าเกิดว่าใครสนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มต่อได้ที่ลิงก์ด้านล่างเลยค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีนะคะ บ๊ายบายค่ะ

 

ช่องทางหลักของ Sheridan College

Website: https://www.sheridancollege.ca

Facebook:  Sheridan College

Twitter: @sheridancollege
 

พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น