จากประวัติศาสตร์สู่อนิเมะ! ส่องพัฒนาการ ‘ชินเซ็นงุมิ’ ซามูไรยุคเอโดะที่ครองพื้นที่ Pop Culture ในญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ช่วงโควิดที่ผ่านนี้คงทำให้หลายคนหันไปหางานอดิเรกกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะการดู 'อนิเมะญี่ปุ่น' ที่ก่อนหน้านี้ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมยอดฮิตของเด็กไทยอยู่แล้ว แต่หลังๆ มานี่เรียกได้ว่าฮอตถึงขั้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์กันอยู่บ่อยๆ เลยค่ะ

สำหรับคนที่ตามอนิเมะหรือเกมญี่ปุ่นมาซักพัก ก็น่าจะพอรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ 'ชินเซ็นงุมิ' กันมาบ้าง เพราะพวกเขามักจะโผล่ออกมาด้วยภาพลักษณ์ของตำรวจวิถีซามูไรในอนิเมะหลายเรื่อง เช่น กินทามะ ซามูไรพเนจร หรือบุปผาซามูไร (ยังมีอีกเพียบ!) แต่ทราบไหมคะว่าที่จริงแล้วชินเซ็นงุมิมีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ด้วยนะ และการที่พวกเขาปรากฏตัวในอนิเมะหลายๆ เรื่องก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นที่ผูกพันกับซามูไรซะด้วย

ฟังดูน่าสนใจใช่มั้ยคะ ว่าแต่เบื้องหลังของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และมีเรื่องอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง ตามมาหาคำตอบด้านล่างกันได้เลยค่า~

…………..

การเมืองยุคเอโดะกับการให้กำเนิดตำรวจพิเศษ ‘ชินเซ็นงุมิ’

โชกุนโทคุงาวะ โยชิโนบุ โชกุนคนสุดท้ายของยุคเอโดะ
โชกุนโทคุงาวะ โยชิโนบุ โชกุนคนสุดท้ายของยุคเอโดะ
Cr. Wikipedia Commons

ถ้าเคยฟังประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาก่อน น้องๆ น่าจะเคยได้ยินตำแหน่ง ‘จักรพรรดิ’ และ ‘โชกุน’ แต่บางคนอาจไม่รู้ความแตกต่างหรือเข้าใจผิดว่าทั้งจักรพรรดิและโชกุนคือตำแหน่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วจักรพรรดิก็คือตำแหน่งสูงสุดในญี่ปุ่น ทำหน้าที่ปกครองรัฐ ส่วนโชกุนคือผู้ปกครองกำลังทหารของรัฐค่ะ 

เหตุผลที่คนสับสนเพราะว่าในยุคเอโดะ โชกุนครอบครองกำลังทหาร อยู่เบื้องหลังการปกครอง (มีทหาร = มีอำนาจในมือ) และใช้จักรพรรดิเป็นหุ่นเชิด สรุปก็คือจักรพรรดิเป็นเพียงแค่ผู้ปกครองแต่ในนาม แต่ผู้ที่ถืออำนาจอย่างแท้จริงก็คือ ‘โชกุน’

ทีนี้ในปี 1863 (ตรงกับช่วงปลายของยุคเอโดะ หรือเรียกอีกชื่อว่าบาคุมัตสึ) ได้มีการรวบรวมซามูไรไร้นายขึ้นเพื่อปกป้องรัฐบาลโชกุนโทคุงาวะ โดยในกลุ่มซามูไรไร้นายจะแบ่งย่อยเป็นอีกหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม ‘ชินเซ็นงุมิ’ (新選組) ที่ขึ้นชื่อเรื่องจงรักภักดีต่อโชกุน และมีชื่อเสียงโด่งดังจากคดีอิเคดายะ (คดีวางเพลิงที่เกียวโต) หน้าที่ของพวกเขาคือดูแลความเป็นอยู่ของราษฎร คอยกำจัดผู้ที่ขับไล่ชาวต่างชาติ (เพราะรัฐบาลโชกุนโทคุงาวะมีนโยบายรับชาวต่างชาติ) จนในที่สุดชินเซ็นงุมิก็ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแขนขาของรัฐบาล และได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘ตำรวจพิเศษ’ แห่งกรุงเอโดะ

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

การมีอยู่ของกลุ่มชินเซ็นงุมิดำเนินมาได้เพียง 6 ปีเท่านั้น และสิ้นสุดลงในปี 1869 เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นและพวกเขากันนะ?

Cr. 百楽兎 via Wikipedia Commons
Cr. 百楽兎 via Wikipedia Commons
  • แนวคิด ‘ซนโนโจอิ’ จงเทิดทูนจักรพรรดิและขับไล่ต่างชาติ - แนวคิดซนโนโจอิ (尊皇攘夷) มีรากฐานมาจากลัทธิขงจื้อใหม่ แต่ว่าเพิ่งจะกลายเป็นคำขวัญปลุกใจคนญี่ปุ่นในช่วงปลายเอโดะและได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาติตะวันตกเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็หวาดกลัวการถูกแย่งชิงอาณานิคม
  • คืนอำนาจสู่จักรพรรดิ - เนื่องจากรัฐบาลโทคุงาวะมีนโยบายสนับสนุนต่างชาติ แต่คนญี่ปุ่นมีแนวคิดซนโนโจอิอย่างที่เล่าไปข้างต้นค่ะ กลุ่มนักปฏิวัติสมัยใหม่จึงใช้ข้ออ้างนี้เพื่อปฏิวัติคืนอำนาจสู่จักรพรรดิ หลังจากโชกุนโทคุงาวะยอมสละอำนาจ จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ เริ่มต้นเข้าสู่ ‘ยุคเมจิ’
  • เมื่อตำรวจเป็นฝ่ายถูกไล่ล่า - เมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้ว ชินเซ็นงุมิจึงระส่ำระส่ายจากการถูกรัฐบาลใหม่ไล่ล่า ท้ายที่สุด ‘คอนโดะ อิซามิ’ หัวหน้ากลุ่มชินเซ็นงุมิก็ถูกรัฐบาลของจักรพรรดิเมจิจับเป็นเชลยและประหารชีวิต
  • การรบครั้งสุดท้าย - ‘ฮิจิคาตะ โทชิโซ’ ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าชินเซ็นงุมิแทน ‘คอนโดะ อิซามิ’ และเข้าร่วมสงครามปฏิวัติยุคเมจิ (สงครามระหว่างผู้สนับสนุนโชกุนโทคุงาวะและผู้สนับสนุนรัฐบาลใหม่) แม้ว่าเขาจะทราบดีว่าเป็นการรบที่ไม่มีวันชนะก็ตาม ฮิจิคาตะเสียชีวิตในวันที่ 20 มิถุนายน 1869 นับว่าเดินมาถึงจุดสิ้นสุดกลุ่มชินเซ็นงุมิอย่างเป็นทางการ

วิถีแห่งซามูไร เกียรติที่ต้องรักษาไว้จนลมหายใจสุดท้าย

Cr. National Diet Library Digital Collections
Cr. National Diet Library Digital Collections 

แม้กลุ่มชินเซ็นงุมิจะเกิดและอยู่เพียงช่วงสั้นๆ จากหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ดำเนินมากว่า 2,000 ปีแล้ว แต่เรื่องราวของพวกเขาถูกผลิตซ้ำมากมายทั้งในหนังสือประวัติศาสตร์ และสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน เกม และอนิเมะ ฯลฯ เหตุผลคือคนญี่ปุ่นผูกพันกับสิ่งที่เรียกว่า ‘บูชิโด’ (武士道) นั่นเองค่ะ

คำว่า บูชิโด แปลว่า ‘วิถีแห่งนักรบ’ เป็นจริยธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่นมานาน (ไม่ได้จำกัดแค่ในหมู่ซามูไร เพียงแต่ในหมู่ซามูไรจะถือคตินี้แบบเคร่งครัดมากกกก) หลักๆ แล้วบูชิโดจะยึดมั่นใน 7 สิ่ง ได้แก่ ความเที่ยงตรง ความกล้าหาญ ความเมตตา ความเคารพ ความซื่อสัตย์ เกียรติยศ และความจงรักภักดี โดยเฉพาะความจงรักภักดีนี่ถือว่าเป็นกฎเหล็กของบูชิโดเลยค่ะ ถึงขั้นว่าเจ้านายต้องมาก่อนแม้บุพการีของตนจะต้องเจ็บปวดก็ตาม

trigger warning: การคว้านท้อง

น้องๆ หลายคนน่าจะรู้จัก ‘พิธีเซ็ปปุกุ’ (切腹) หรือที่บางคนอาจรู้จักในชื่อ ‘ฮาราคีรี’ (腹切り) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิธีจบชีวิตตนด้วยการคว้านท้อง ที่จริงแล้วพิธีนี้เกิดขึ้นจากหลักบูชิโดค่ะ เมื่อเจอสถานการณ์ที่ซามูไรสูญเสียเกียรติ พวกเขาจะเซ็ปปุกุเพื่อลงโทษตัวเอง (เป็นพิธีสำคัญมากและนิยมทำในวัด) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะคะ เพราะพิธีเซ็ปปุกุมีแบบแผนชัดเจนว่าจะต้องเริ่มต้นคว้านท้องจากตำแหน่งไหนและเคลื่อนมีดยังไง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมจิตใจของผู้กระทำ 

หนึ่งในตัวอย่างการเซ็ปปุกุที่เห็นได้ชัดก็คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นหลายคนก็ตัดสินใจเซ็ปปุกุเพื่อรักษาเกียรติและต่อสู้กับความอัปยศ

Cr. Kunikazu Utagawa - original work by Kunikazu Utagawa
Cr. Kunikazu Utagawa - original work by Kunikazu Utagawa

บูชิโดยังคงมีอิทธิพลจนถึงคนญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันเลยนะคะ อย่างความสุภาพและมีระเบียบที่เป็นลักษณะนิสัยเด่นของพวกเขา ส่วนหนึ่งก็มีรากฐานจากแนวคิดนี้เหมือนกัน หรือที่คนญี่ปุ่นไม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อยๆ อีกทั้งยังยินดีทำงานหนักแบบถวายชีวิตเพื่อองค์กร ก็เพราะค่านิยมเรื่องความจงรักภักดีนั่นเองค่ะ 

ในขณะเดียวกันบูชิโดก็คือดาบสองคม เมื่อคนญี่ปุ่นถือเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ชอบขอความช่วยเหลือหรือพูดถึงปัญหาที่ตนกำลังเผชิญ อาจจะดีตรงที่ได้ฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่ก็ทำให้สะสมความเครียดได้เช่นกัน

แม้ร่างข้าอาจทับถมลงบนเกาะเอโซะ
แต่ดวงจิตข้าจะปกป้องผู้เป็นนายเหนือหัว ณ เบื้องบูรพาทิศ

สุสานรำลึกถึงครอบครัวฮิจิคาตะ (ชื่อของฮิจิคาตะ โทชิโซ สลักบนหินฝั่งขวา)
สุสานรำลึกถึงครอบครัวฮิจิคาตะ (ชื่อของฮิจิคาตะ โทชิโซ สลักบนหินฝั่งขวา)
cr. CasinoKat

ข้อความข้างต้นปรากฏในบทกวีของฮิจิคาตะ โทชิโซ (หัวหน้าชินเซ็นงุมิคนสุดท้าย) ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมรบในสงครามปฏิวัติเมจิ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่านักรบกลุ่มนี้ยึดมั่นในวิถีบูชิโดอย่างแรงกล้า  อย่างที่เล่าว่าจริยธรรมนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุครัฐบาลโทคุงาวะ

"ข้าไม่ได้เข้าสู่สนามรบเพื่อจะได้ชัยชนะ แต่เพราะหากถึงคราวที่รัฐบาลโทคุงาวะต้องอับปางลง

ย่อมเป็นเรื่องน่าละอายหากไม่มีใครสักคนยอมล่มจมไปพร้อมกับรัฐบาลนั้นด้วย

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมข้าต้องไป ข้าจะสู้ในการศึกที่เยี่ยมยอดที่สุดในชีวิตของข้า
เพื่อพลีชีพให้แก่ประเทศนี้"

– ฮิจิคาตะ โทชิโซ -

คำกล่าวของฮิจิคาตะบ่งบอกว่าเขาไม่กลัวตายเลยแม้แต่น้อย สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของวิถีบูชิโดที่สอนว่า ‘ชีวิตของซามูไรก็เหมือนกับซากุระ’ ซามูไรต้องตระหนักว่าพวกเขาจะสิ้นชีพในสนามรบ และวันนั้นอาจมาถึงในไม่ช้า ดั่งต้นซากุระที่สวยงาม รุ่งโรจน์ แต่ก็โรยราในเวลาอันสั้น!

ภาพชินเซ็นงุมิที่สะท้อนผ่านละคร อนิเมะ และ…เกม 18+?

The Amazing Shinsengumi - Visual Novel 18+ จาก Dogenzaka Lab
The Amazing Shinsengumi - Visual Novel 18+ จาก Dogenzaka Lab
Cr. Dogenzaka Lab

ความผูกพันต่อบูชิโดทำให้เรื่องราวของชินเซ็นงุมิกลายเป็นเรื่องท็อปครองใจชาวปลาดิบตั้งแต่ยุคทีวีสีขาวดำ เพราะเมื่อปี 1928 ก็มีภาพยนตร์ใบ้เกี่ยวกับนักรบกลุ่มนี้แล้ว ต่อมาในปี 1960 นวนิยายเรื่อง Moeyo Ken ที่เล่าชีวิตของ ฮิจิคาตะ โทชิโซ ก็ถูกตีพิมพ์ออกมา ทำให้ภาพของกลุ่มชินเซ็นงุมิดูงดงาม (Romanticize) และกลายเป็นต้นแบบที่สื่อบันเทิงต่างๆ นำไปผลิตซ้ำจนพบเห็นได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นในการ์ตูน อนิเมะ หรือแม้กระทั่งเกม 18+ (แม้ว่าจะมีคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เช่นกัน)

ชินเซ็นงุมิที่พบเห็นได้บ่อยในสื่อญี่ปุ่นคือกลุ่มซามูไรที่ภักดีต่อนาย ชำนาญเพลงดาบ ฝีมือต่อสู้ไม่มีใครเทียม นอกจากนี้ยังเติมแต่งค่านิยมอื่นๆ เพื่อให้เข้ากับความนิยมในปัจจุบัน เช่น มิตรภาพ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ รวมไปถึงการสร้างบุคลิกและนิสัยใจคอให้เข้ากับเนื้อเรื่อง

กลุ่มชินเซ็นงุมิในอนิเมะเรื่องกินทามะใส่เครื่องแบบที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเพราะพวกเขาสนับสนุนนโยบายรับต่างชาติ
กลุ่มชินเซ็นงุมิในอนิเมะเรื่องกินทามะใส่เครื่องแบบที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเพราะพวกเขาสนับสนุนนโยบายรับต่างชาติ
Cr. Sunrise Studio

ตัวละครในฝัน VS บุคคลประวัติศาสตร์ในความจริง

ซ้าย - ฮิจิคาตะจากกินทามะ กลาง - รูปถ่ายของอิจิคาตะ ขวา - ฮิจิคาตะจากเกม Hakuoki: Kyoto Winds
ซ้าย - ฮิจิคาตะจากกินทามะ กลาง - รูปถ่ายของอิจิคาตะ ขวา - ฮิจิคาตะจากเกม Hakuoki: Kyoto Winds
Cr. Sunrise Studio, Hakodate City Central Library, Idea Factory

ฮิจิคาตะ โทชิโซ - รองหัวหน้ากลุ่มชินเซ็นงุมิ

  • หนึ่งในผู้ก่อตั้งชินเซ็นงุมิร่วมกับคอนโดะ อิซามิ ในช่วงที่คอนโดะยังมีชีวิตอยู่ ฮิจิคาตะดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้ากลุ่มชินเซ็นงุมิ
  • บัญญัติกฎเหล็กของชินเซ็นงุมิ 5 ข้อที่ถ้าใครไม่ทำตามจะต้องเซ็ปปุกุโดยไม่มีข้อแม้!
  • ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากความจงรักภักดีต่อโชกุนโทคุงาวะในสงครามปฏิวัติเมจิ
  • ป็อปมากๆ ใน adaptation ต่างๆ เพราะตัวจริงก็หน้าตาดี มีจดหมายรักไม่ขาด แถมยังคีปลุคเคร่งขรึมสมฉายา ‘รองหัวหน้าปีศาจ’ (鬼の副長) (ใครที่ดูอนิเมะมาอาจจะคิดว่าฉายานี้เป็นเรื่องแต่ง แต่ไม่ใช่นะคะ เขามีฉายานี้จริงๆ!)
  • เป็นบุคคลที่ถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นตัวละครมากที่สุดในหมู่ชินเซ็นงุมิ และมักมาพร้อมบุคลิกนิสัยในแบบฉบับของผู้ยึดถือหลักบูชิโด ส่วนฮิจิคาตะในอนิเมะ/เกมรักโรแมนติก-อีโรติกมักจะเป็นตัวเอกที่เย็นชาและเข้มงวด
ซ้าย - โอคิตะจากกินทามะ กลาง - ภาพวาดโอคิตะสมัยใหม่ ขวา - โอคิตะจากเกม Hakuoki: Kyoto Winds
ซ้าย - โอคิตะจากกินทามะ กลาง - ภาพวาดโอคิตะสมัยใหม่ ขวา - โอคิตะจากเกม Hakuoki: Kyoto Winds
Cr. Sunrise Studio, touken-world.jp, Idea Factory

โอคิตะ โซจิ - หัวหน้าหน่วยย่อยที่ 1 ของกลุ่มชินเซ็นงุมิ

  • เกิดมาในตระกูลซามูไร เป็นอัจฉริยะด้านเพลงดาบตั้งแต่อายุ 18 ปี
  • เป็นครูฝึกดาบที่โรงฝึกดาบชิเอคัง
  • เสียชีวิตในวัยเพียง 25 ด้วยวัณโรค
  • ไม่มีรูปถ่ายที่ถูกเผยแพร่ แต่หลายคนเชื่อกันว่าโอคิตะเป็นคนตัวเล็กและหน้าหวาน (อาจเป็นเรื่องจริง หรือเกิดจากการประกอบสร้างรูปลักษณ์ของโอคิตะในสื่อก็ได้ค่ะ)
  • ด้วยความหน้าตาดีและมีพื้นเพน่าสนใจ ทำให้มักถูกดัดแปลงเป็นตัวละครต่างๆ ใน pop culture เยอะมากๆ (เช่นเดียวกับฮิจิคาตะ) ทั้งอนิเมะ เกมรักโรแมนติก และเกม 18+ ซึ่งบุคลิกจะต่างกันในแต่ละเรื่อง
ซ้าย - คอนโดะจากกินทามะ กลาง - รูปถ่ายของคอนโดะ ขวา - คอนโดะจากเกม Hakuoki: Kyoto Winds
ซ้าย - คอนโดะจากกินทามะ กลาง - รูปถ่ายของคอนโดะ ขวา - คอนโดะจากเกม Hakuoki: Kyoto Winds
Cr. Sunrise Studio, National Diet Library, Idea Factory

คอนโดะ อิซามิ - หัวหน้ากลุ่มชินเซ็นงุมิ

  • หนึ่งในผู้ก่อตั้งชินเซ็นงุมิร่วมกับฮิจิคาตะ โทชิโซ
  • เป็นผู้สืบทอดเพลงดาบเท็นเน็นริชินริว รุ่นที่ 4 และดูแลโรงฝึกดาบชิเอคัง
  • ถึงแม้ว่าคอนโดะจะเป็นหัวหน้าชินเซ็นงุมิ แต่ว่ากันว่าผู้กุมอำนาจจริงๆ ก็คือฮิจิคาตะ
  • คอนโดะมักจะถูกดัดแปลงให้เป็นอีกหนึ่งในตัวละครในสื่อต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชินเซ็นงุมิแบบทั่วๆ ไป

แม้พี่พันตาจะไม่ได้พูดถึงนักรบกลุ่มชินเซ็นงุมิที่ปรากฏตามสื่อ pop culture ครบทุกคน (เพราะมีเยอะมากกกก) แต่จุดร่วมที่สังเกตเห็นได้ชัดๆ คือคนในต้นฉบับที่ถูกหยิบยกมาดัดแปลง มักมี character น่าสนใจหรือเป็นพิมพ์นิยมของคนญี่ปุ่น หรือถ้าเคยมีรูปภาพ/บันทึกว่าหน้าตาดีก็จะยิ่งได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในหมวดเกม/นิยายรักโรแมนติกหรืออีโรติกค่ะ

……………

วันนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยค่ะ เพราะมาทั้งแง่มุมประวัติศาสตร์และอาจได้รู้จักตัวละครอนิเมะคนโปรดของน้องๆ ยิ่งขึ้นไปอีก! 

ว่าแต่น้องๆ รู้สึกเหมือนพี่พันตาไหมคะสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นเปิดกว้างมากเรื่องหยิบยกบุคคลในประวัติศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อเรื่อง ซึ่งแม้ว่าอาจสร้างความสับสนให้เด็กรุ่นใหม่บ้าง แต่ก็ช่วยตีแผ่ให้คนอยากย้อนกลับมาศึกษาเรื่องราวในอดีตของประเทศตัวเองมากขึ้นไปอีก 

แล้วในมุมมองคนไทย น้องๆ คิดเห็นอย่างไรกับสื่อบันเทิงในบ้านเราบ้าง? ควรหยิบยกมาดัดแปลงหรือไม่? หรือคิดว่าไม่ควรจะมีอยู่เลย? แวะมาคอมเมนต์แชร์กันได้นะคะ~

***********

sourcehttps://lucyamorris.medium.com/love-transcends-all-geographical-boundaries-the-global-lure-of-romance-historical-otome-games-28b962a0ed9 https://newvoices.org.au/volume-4/romanticising-shinsengumi-in-contemporary-japan/ https://identityhunters.org/2021/12/21/from-civil-war-to-manga-why-samurai-romanticization-saved-japanese-nationalism/ https://www.thoughtco.com/what-is-bushido-195302 http://www.win.net/ratsnest/archive-articles21/fog0000000384.html https://mai-ko.com/travel/japanese-history/samurai/bushido-the-code-of-samurai/ https://www.touken-world.jp/tips/79388/ 
พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น