รวม Q&A ยอดฮิต ไขข้อข้องใจก่อนสมัคร ‘ทุนรัฐบาลเกาหลี’ ระดับปริญญาตรี (GKS-U)

อันยองชาว Dek-D ทุกคนค่ะ อีกไม่นานทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ใกล้จะเปิดรับสมัครนักศึกษาเรียนต่อระดับปริญญาตรีแล้วนะคะ วันนี้พี่พลอยกี้ในฐานะคนที่เคยสมัครทุน GKS (แต่ดันมาตุ้บรอบสัมภาษณ์) จะมาตอบคำถามยอดฮิตที่น้องๆ หลายคนสงสัย และแชร์ทริกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยน้องๆ เตรียมพร้อมสมัครทุนนี้กันค่ะ ไม่รอช้าตามมาไขข้อข้องใจกันเลยค่าา~

 

Note

  • อ้างอิงเรตเงิน 1 วอน = 0.028 บาท (อัปเดตเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65)
  • บทความนี้อ้างอิงจากระเบียบการปีล่าสุดของทุนรัฐบาลเกาหลีระดับป.ตรี (2022 GKS-U)
Photo by Daniel Bernard on Unsplash
Photo by Daniel Bernard on Unsplash

1. ทุน GKS คืออะไร?

Global Korea Scholarship” เป็นทุนที่รัฐบาลเกาหลีใต้มอบให้นักศึกษาต่างชาติที่มีความสามารถจากทั่วทุกมุมโลกได้มาเรียนต่อในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเปิดรับสมัครเป็นประจำทุกปี โดย

  • ทุนระดับอนุปริญญาและป.ตรี จะเปิดรับสมัครประมาณช่วงเดือนกันยายน
  • ทุนระดับป.โท/เอก จะเปิดรับสมัครประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์

2. ทุน GKS ให้อะไรบ้าง?

  • ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร
  • ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
  • ค่าตั้งรกราก (Settlement Allowance) 200,000 วอน (~5,600 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือนระดับป.ตรี: 900,000 วอน/เดือน (~25,200 บาท)
  • ค่าประกันสุขภาพ
  • ค่าคอร์สเรียนภาษาเกาหลีเป็นระยะเวลา 1 ปี
  • เงินสนับสนุนหลังสำเร็จการศึกษา มอบให้นักเรียนทุนที่บินกลับหลังสำเร็จการศึกษา (Completion Grants) 100,000 วอน (~2,800 บาท)

Note: หากน้องๆ มีผลสอบวัดระดับภาษาเกาหลี (TOPIK) ระดับ 5 หรือ 6 ขึ้นไป ก็จะได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มอีก 100,000 วอน/เดือน (~2,800 บาท)

3. ให้ทุนการศึกษาเยอะขนาดนี้ แล้วจะมีข้อผูกมัดอะไรไหม ต้องใช้ทุนไหมคะ?

คำตอบคือ ไม่มีค่ะ ทุนรัฐบาลเกาหลีเป็นทุนให้เปล่า เรียนจบแล้วไม่ต้องใช้ทุนคืน และไม่ต้องทำงานหลังเรียนจบเพื่อชดเชยด้วย (ดีมากกก) นอกจากนี้ทางทุนไม่ได้กำหนดเกณฑ์เกรดเฉลี่ยที่ต้องรักษาระหว่างเรียน อย่างไรก็ตาม หากเรียนไม่จบภายในช่วงเวลารับทุนจะไม่มีการขยายเวลารับทุนให้

Photo by Y K on Unsplash
Photo by Y K on Unsplash 

4. ปีนึงมีคนได้ทุนกี่คน?

แล้วแต่โควตาของแต่ละปีเลยค่ะ อย่างปีที่แล้ว(2022) มีทุนให้นักเรียนไทยถึง 7 โควตา ได้แก่

  • สมัครผ่านสถานทูตเกาหลี (EMBASSY TRACK) จำนวน 3 โควตา
  • สมัครผ่านมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (Regional Universities) เพื่อเรียนต่อคณะสายวิทยาศาสตร์ / วิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น (Natural Science & Engineering Majors) จำนวน 2 โควตา
  • โปรแกรมสำหรับอนุปริญญา (Associate Degree Track) จำนวน 2 โควตา

5. ทั้งสอง track ต่างกันยังไง แล้วอันไหนมีสิทธิได้ทุนมากกว่ากัน?

ข้อแตกต่าง

Embassy Track

University Track

การสมัคร

สมัครผ่านทางสถานทูตฯ เกาหลี

สมัครตรงไปที่มหา’ลัย

เลือกได้กี่อันดับ

เลือกคณะและมหา’ลัยได้ 3 แห่ง 

  • ต้องเลือกม.จาก Type B อย่างน้อย 1 แห่ง
เลือกคณะและมหา’ลัยได้แค่ 1 แห่งเท่านั้น
เลือกคณะอะไรได้บ้างเลือกคณะได้ตามลิสต์ที่ประกาศเปิดรับเฉพาะคณะสายวิทยาศาสตร์ / วิศวกรรมศาสตร์
การสัมภาษณ์อาจมีถึง 2 รอบคือ รอบสัมภาษณ์ของสถานทูตเกาหลีและรอบสัมภาษณ์ของมหา’ลัย (อันนี้แล้วแต่มหา’ลัยเลยค่ะว่าจะเรียกสัมฯไหม)อาจมี/ไม่มี
(สัมภาษณ์ตรงกับมหา’ลัย)
วันปิดรับสมัครขึ้นอยู่กับสถานทูตฯ เกาหลีในแต่ละประเทศ (แต่ปกติจะเปิดให้ยื่นเอกสารประมาณ 2 สัปดาห์)แต่ละมหา’ลัยปิดรับสมัครแตกต่างกันไป (ควรเช็กให้ดีนะคะ)
ข้อดี
  • เลือกได้ 3 แห่ง (เหมาะกับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะไปมหา’ลัยไหนดี)
  • มีตัวสำรอง (มีลุ้นได้ทุนด้วยนะ)
  • ขั้นตอนน้อยกว่า (มหา’ลัยเลือกเรา แล้วส่งไปที่ NIIED)
  • มหา’ลัย/อาจารย์รู้ข้อมูลเรา หากเค้าสนใจอาจเสนอทุนอื่นให้เรา กรณีที่เราไม่ได้ทุน GKS
ข้อเสีย
  • มีหลายขั้นตอน
  • แม้จะผ่านรอบ NIIED แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่มีมหา’ลัยไหนเลือก
  • มีค่าใช้จ่ายในการส่งเอกสารสูงกว่า (ต้องส่งตรงไปที่มหา’ลัยในเกาหลี)
  • แม้จะมหา’ลัยจะส่งชื่อเราไปให้ NIIED แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ผ่านเหมือนกันค่ะ

เรื่องสมัคร track ไหนมีสิทธิ์ลุ้นมากกว่ากัน อันนี้ขึ้นอยู่กับคณะและมหาวิทยาลัยที่เราเลือกเลยค่ะ น้องๆ บางคนที่อยากเรียนสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อาจจะหนักใจหน่อยว่าควรไป track ไหนดี เพราะถ้าเลือกคณะหรือมหาวิทยาลัยที่คนสมัครกันเยอะก็อาจจะต้องลุ้นกันมากหน่อย แต่อย่างไรก็ตามพี่ขอให้น้องๆ เชื่อมั่นในตัวเองค่ะ ถ้าเราเตรียมตัวมาดี เอกสารเริ่ด รับรองว่าโอกาสคว้าทุนอยู่ไม่ไกลแน่นอน!

6. สมัครคณะและมหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง?

ขอให้น้องๆ ดูจากระเบียบการที่ออกมาเลยค่ะ เพราะเค้าจะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยและคณะที่เข้าร่วมทุน GKS อยู่ (แต่ละปีอาจไม่เหมือนกัน)

7. ใครสมัครได้บ้าง? 

คุณสมบัติผู้สมัครคร่าวๆ มีดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • อ้างอิงจากพี่พลอยกี้ได้ไปสอบถามเพจ Study in Korea for Thais ทางทุนพิจารณาเฉพาะผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาค่ะ (*วุฒิป.ตรีไม่สามารถสมัครได้)
  • มีเกรดเฉลี่ยสะสม 2.64 ขึ้นไป (คนที่คาดว่าจะจบให้ใช้เกรดเฉลี่ย ณ ตอนสมัคร)
  • อายุไม่เกิน 25 ปี
  • มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ
  • คนที่เรียนจบมัธยมที่เกาหลีไม่สามารถสมัครทุนนี้ได้
  • ต้องไม่เคยได้รับทุนระดับป.ตรี จากหน่วยงานอื่นๆ ของเกาหลี
  • เลือกสมัครได้เพียง 1 track เท่านั้น

Note: เด็กซิ่วก็สมัครได้นะคะ 

"จริงๆ หนูเรียนมหาลัยในไทยจนขึ้นปี 2 แล้ว แต่ตัดสินใจซิ่วออกมาเพราะรู้สึกยังไม่ใช่ตัวเอง และอยากเรียนต่อต่างประเทศด้วย ก็เลยลองหาทุนสมัครดูค่ะ ซึ่งทุนรัฐบาลเกาหลีก็เป็นทุนแรกที่นึกถึงเลย"

 

‘ไอซ์ - ชัญญา แสงวิสุทธิ์ใส’ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2021  สมัครผ่านสถานทูตฯ : Kyung Hee University - Department of Applied English Interpretation and Translation 

8. ควรเริ่มเตรียมตัวยังไงและเมื่อไหร่

น้องๆ ที่แพลนจะสมัครทุน GKS ในปีนี้ พี่ขอบอกเลยว่าควรเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ (จริงๆ ควรเผื่อเวลาหลายเดือน) ถึงแม้ทางโครงการจะยังไม่ประกาศระเบียบการออกมา แต่เราสามารถดูของปีก่อนๆ ได้ เพราะว่ารายละเอียดค่อนข้างคล้ายกัน ถ้าเรามาเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ, เขียน Personal Statement หรือขอ Letters of Recommendation ตอนระเบียบการออก บอกเลยว่าจะวุ่นวายมากกกก และเสี่ยงที่จะส่งเอกสารไม่ทันกำหนดปิดรับสมัครด้วย (อันนี้เล่าจากประสบการณ์ตรงของพี่เองค่ะ)

พี่ขอสรุปทริกคร่าวๆ ในการเตรียมตัวสมัครทุนจากคลิปที่ไปเจอมา ดังนี้

  • อ่านและทำความเข้าใจระเบียบการ (Guideline) ของปีที่แล้ว รวมไปถึงข้อมูลคณะ/มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการและ FAQ ต่างๆ
  • อ่านรีวิวการสมัครของรุ่นพี่นักเรียนทุน เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัว (ในเว็บ Dek-D มีสัมภาษณ์ไว้ทุกปีเลยค่ะ)
คำแนะนำจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง! เล่าการเตรียมตัวของ 20 เด็กทุนรัฐบาลเกาหลีป.ตรี ตั้งแต่รุ่น 2014-2021
คำแนะนำจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง! เล่าการเตรียมตัวของ 20 เด็กทุนรัฐบาลเกาหลีป.ตรี ตั้งแต่รุ่น 2014-2021
  • หากมีข้อสงสัยให้รีบส่งอีเมลไปสอบถามยังมหาวิทยาลัยและคณะที่สนใจ เพื่อที่เราจะได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับหลักสูตรนั้นๆ รวมถึงอาจารย์ผู้สอนด้วย
  • เริ่มเขียน Personal Statement และ Study Plan
  • เริ่มเตรียมเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะเอกสารที่ต้องแปลและนำไปรับรองที่กงสุล (แนะนำให้น้องๆ ส่งอีเมลไปสอบถามหรือเช็กในหน้าเว็บไซต์ของมหา’ลัย/คณะที่จะสมัครว่ามีเอกสารอะไรเพิ่มเติมที่จะต้องส่ง นอกเหนือจากที่ระบุ Guideline บ้างไหม)

"อยากแนะนำให้เก็บเกรดให้ดีตั้งแต่ ม.4 ทำกิจกรรมเพื่อหาประสบการณ์และค้นหาตัวเอง  ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแล้ววางแผนหาข้อมูลไว้ พยายามสอบวัดระดับไว้จะช่วยให้ได้เปรียบ ทุ่มเทกับเรียงความตั้งแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญคืออ่านไฟล์สมัครให้ละเอียดด้วย ผมอ่านซ้ำหลาย 10 รอบมาก เพราะถ้าพลาดตรงไหนไป เขาจะรู้เลยว่าเราไม่ได้อ่านคำสั่งให้ดี"

 

'เบ๊บ -ดนุช กาญจนโยธิน’ สมัครผ่านสถานทูตฯ : เลือกเรียนคณะ Political Science and International Relations  ที่ Seoul National University 

9. ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อนสามารถสมัครได้ไหมคะ?

ได้ค่ะ เพราะก่อนเริ่มเรียนในมหาวิทยาลัย ทางทุนจะบังคับให้เรียนคอร์สภาษาเกาหลีเพื่อปรับพื่นฐานเป็นระยะเวลา 1 ปี ดังนั้นไม่ต้องกังวลไปค่ะ

10. ไม่มีผลสอบวัดระดับภาษาเกาหลี (TOPIK) จะสมัครได้ไหมคะ?

แม้ทุนจะไม่บังคับให้ยื่นคะแนนภาษา แต่ด้วยความที่มีอัตราการแข่งขันสูงมากๆ ในแต่ละปีผู้ที่ได้รับทุนมักจะมีคะแนนภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษประกอบการสมัครไปด้วยค่ะ 

ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสมากขึ้น ระหว่างที่รอระเบียบการ น้องๆ อาจไปสอบวัดระดับภาษาใดภาษาหนึ่งเก็บไว้ก่อน เพื่อใช้ยื่นร่วมกับเอกสารอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้โพรไฟล์ของเราปังยิ่งขึ้น โดยผลสอบวัดระดับภาษาที่สามารถส่งได้ เช่น TOPIK, TOEIC, TOEFL, IELTS เป็นต้น 

Note

  • หากมีคะแนน TOPIK ระดับ 3 ขึ้นไปจะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่ม
  • หากมีคะแนน TOPIK ระดับ 5 หรือ 6 นอกจากจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นตามที่พี่บอกไว้ด้านบนแล้ว นอกจากนี้น้องๆ ยังสามารถเริ่มเรียนปี 1 ในมหาวิทยาลัยได้เลยค่ะ (ไม่ต้องเรียนคอร์สภาษาเกาหลี)

"พอผมรู้ตัวตอนม.ปลายว่าอยากต่อนอก ก็สอบพวก Standardized test ช่วงม.6 เทอม 1 โดยยื่น SAT กับ IELTS เพราะศึกษามาว่าข้อสอบแบบไหนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ มีติวกับเพื่อนๆ ซื้อหนังสือ Barron's มาช่วยกันติว สุดท้ายได้คะแนนค่อนข้างน่าพอใจ ในการขอทุนผมว่าเกรดก็ส่วนนึง แต่ส่วนอื่นก็สำคัญ อย่างการสอบ Standardized test ที่ว่า เพราะนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้มาจากโรงเรียนดังทั้งหมด มาจากโรงเรียนในต่างจังหวัดก็มี แต่ละที่เค้าก็ให้เกรดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการสอบพวกนี้เลยสำคัญเพราะเป็นมาตรฐานในหลายๆ ประเทศ”

 

'เอิร์ธ - ศักดิ์สุชา ทรัพย์มากอุดม’ เรียนต่อปริญญาตรีสาขา Nuclear Engineering ที่ Seoul National University

11. รอบ Embassy Track ต้องเตรียมเอกสารยังไง / ต้องเขียน SOP และ Study Plan ให้ทั้ง 3 มหา’ลัยเลยไหม?

ตามปกติผู้สมัครจะต้องส่งเอกสารฉบับจริง 1 ชุดและถ่ายสำเนาจากเอกสารฉบับจริงอีก 3 ชุด รวมเป็น 4 ชุดและใส่ซองแยกกันค่ะ

แต่ในการสมัครรอบที่แล้ว ทางสถานทูตเกาหลีได้ออก ‘ระเบียบการพิเศษ’ สําหรับประเทศไทย ระบุให้ส่งเพียงเอกสารที่ต้องกรอก (อยู่ใน Guideline) และเอกสารประกอบการสมัครอื่นๆ ฉบับสำเนาก่อน เมื่อผ่านการคัดเลือกรอบเอกสารค่อยส่งเอกสารที่มีการรับรองจากสถานทูตเกาหลีตัวจริง 1 ฉบับ และสําเนาจากตัวจริงที่มีการรับรองแล้ว 3 ฉบับค่ะ ส่วนเรียงความที่ให้เขียนแค่ 1 ฉบับเท่านั้น ไม่ว่าเราจะเลือกมหาวิทยาลัยไหนก็จะใช้ฉบับเดียวกัน

แต่ทั้งนี้น้องๆ ต้องเช็กกับระเบียบการของปีที่เราจะสมัครด้วยนะคะ แต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอค่ะ 

Photo by Green Chameleon on Unsplash
Photo by Green Chameleon on Unsplash

12. Personal Statement และ Study Plan คืออะไรและควรเขียนยังไงคะ?

Personal Statement คือเรียงความที่เราต้องเขียนพรีเซนต์ตัวเองให้คณะกรรมการรู้จักเราให้ได้มากที่สุดด้วยกระดาษเพียง 2 หน้า หลักๆ คือควรให้เค้ารู้ว่าเราเป็นใคร มีข้อดีอะไรบ้าง เคยเจออุปสรรคหรือทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง พยายามเชื่อมโยงให้เค้าเห็นว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้นและจะนำมาใช้ในการเรียนมหา’ลัยหรือใช้ชีวิตในประเทศเกาหลีได้อย่างไร  (แชร์ 7 ทริคเขียน ‘Personal Statement’ แบบปังๆ ยื่นสมัครทุนที่ไหนก็ได้หมด!

Study Plan หรือแผนการศึกษาที่จะทำให้กรรมการมั่นใจว่าน้องๆ มีศักยภาพมากพอและเหมาะสมที่จะได้รับทุน โดยเค้าจะให้เขียน 2 ประเด็นคือ 1) แผนด้านการเรียนภาษาต่างประเทศ 2) เป้าหมายของการเรียน ซึ่งน้องๆ ควรแสดงให้กรรมการเห็นว่าเราได้วางแผนอนาคตหลังเรียนจบไว้อย่างไร และจะนำความรู้ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง เป็นต้น (‘Study Plan’ ต้องเขียนยังไง? แชร์เทคนิคเขียนให้ปังจนคว้าทุนเรียนต่อแบบฟรีๆ)

Note

"คิดว่า Personal Statement ยากที่สุดค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรามีคุณสมบัติและเหมาะในการรับทุนและเข้าเรียนมหา’ลัยมั้ย  ดังนั้นต้องเขียนเหมือนโฆษณาโปรโมตตัวเองว่าเราเป็นใคร  มีดีอะไรบ้างที่ทำให้คุณต้องเลือกเรา แต่ต้องไม่เขียนให้โอเวอร์เกินกว่าที่เราเป็นจริงๆ นะคะ 55555"

 

‘เอมมี่ - บุษราภรณ์ พุ่มมะลิ’ สมัครผ่านสถานทูตฯ : เลือกอันดับ 1 เป็นคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีเกาหลีที่  Seoul National University 

Photo by Yonghyun Lee on Unsplash
Photo by Yonghyun Lee on Unsplash

13. หลักฐานรับรองสัญชาติใช้เอกสารอะไรได้บ้างคะ?

ขอให้เป็นเอกสารที่ทางการออกให้ โดยต้องระบุความสัมพันธ์ทางครอบครัวและสัญชาติของทั้งผู้สมัครและพ่อแม่ เช่น ทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตร เป็นต้น (ต้องขอเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษด้วยนะคะ)

14. เอกสารต้องเอาไปแปลและรับรองที่ไหนคะ ทำยังไงบ้าง?

เนื่องจากเอกสารที่ใช้ต้องเป็นภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษเท่านั้น หากเอกสารที่น้องๆ มีอยู่เป็นภาษาไทยจะต้องนำไปแปลที่ร้านหรือศูนย์การแปลที่น่าเชื่อถือ เช่น ศูนย์การแปลและล่ามของมหาวิทยาลัยต่างๆ หากเป็นเอกสารราชการที่มีรายชื่อตามลิสต์นี้ (เช่น ทะเบียนบ้าน หรือ สูติบัตรที่ใช้ในการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี) น้องๆ สามารถไปที่สำนักงานเขต/ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ เพื่อขอคัดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษได้ค่ะ

ส่วนเรื่องการรับรองเอกสารนั้น พี่ขออธิบายเป็นขั้นตอน ดังนี้

  • หลังจากที่เราได้เอกสารฉบับภาษาอังกฤษมาแล้ว ให้นำเอกสารฉบับจริง สำเนา และเอกสารที่แปลมา ไปให้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศรับรอง (เตรียมบัตรประชาชนไปด้วยนะคะ) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหลายวัน ดังนั้นควรเผื่อเวลาไว้ด้วยนะคะ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่ 
  • เมื่อไปรับเอกสารที่รับรองโดยกรมกงสุลแล้ว ให้เรานำไปรับรองที่สถานทูตฯ เกาหลี (ยื่นสำเนาเอกสารที่รับรองมาไปด้วยค่ะ) ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่ 

15. ตอนสัมภาษณ์ใช้ภาษาอะไร และควรเตรียมตัวยังไงบ้าง

ปกติก็จะสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษค่ะ แต่ก็มีบางหลักสูตร เช่น ประวัติศาสตร์ หรือเกาหลีศึกษา ซึ่งอาจสัมภาษณ์เป็นภาษาเกาหลี (อันนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการและสาขาที่น้องๆ เลือกสมัครเลยค่ะ) 

วิธีการเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์ น้องๆ อาจไปดูรีวิวจากรุ่นพี่ที่ได้ทุน ลองนั่งลิสต์คำถามและคำตอบคร่าวๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่ลนตอนสัมภาษณ์จริง น้องๆ อาจเตรียมคำแนะนำตัวเป็นภาษาเกาหลีไว้ด้วยก็ได้ค่ะ จะได้เป็นการสร้าง first impression ที่ดีให้กับกรรมการ 

“เค้าจะมีแจ้งและนัดหมายล่วงหน้าให้เราเตรียมตัว เราเจอคำถามเกี่ยวกับความตั้งใจและสิ่งที่เราเขียนใน SoP หรือ Personal Statement) ตอนนั้นเราเตรียมตัวเต็มที่มากกก เพราะดร็อปมหา’ลัยมาเพื่อสิ่งนี้เลยยย  เก็งคำถามไว้ก็ไม่ตรง ลนอีกต่างหาก แต่บรรยากาศผ่อนคลายนะคะ กรรมการไม่ทำให้เรารู้สึกกดดันเลย”

 

 'ไนท์ - พรรณทิวา เชื้อบัณฑิต' สมัครผ่านสถานทูตฯ: สาขา Korean Language & Literature คณะ คณะ Liberal Arts ที่ Yonsei University

14. ติดตามข่าวทุนได้ทางไหนคะ?

ติดตามได้ทางเพจ FB ของศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย ชื่อเพจ “Study in Korea for Thais” โดยตรงได้เลยค่ะ 

...................................................

อย่างที่บอกไปว่าทุนรัฐบาลเกาหลีนั้นมีอัตราการแข่งขันที่สูงมากๆ เพราะว่าน้องๆ สามารถเลือกหลักสูตรที่ตัวเองอยากเรียนได้ เป็นทุนเต็มจำนวนและไม่ต้องใช้คืนด้วย ดังนั้น ถ้าหากชาว Dek-D คนไหนอยากพิชิตทุนนี้ ก็ควรเผื่อเวลาเตรียมตัวไว้เยอะๆ พร้อมศึกษาข้อมูลและระเบียการของปีที่จะสมัครอย่างถี่ถ้วน พี่เชื่อว่าถ้าเราเตรียมตัวดี ยังไงก็มีโอกาสคว้าทุนแน่นอน 화이팅!

สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D

ติดตามทุนต่อนอกง่ายๆ กับ Dek-D  

Source:https://overseas.mofa.go.kr/th-th/brd/m_3132/view.do?seq=760333https://www.studyinkorea.go.kr/en/cop/bbs/JobBoard/selectBoardArticle.do?bbsId=BBSMSTR_000000000461&nttId=3553https://www.youtube.com/watch?v=1cRh0cfddYshttps://www.youtube.com/watch?v=-kPtiYBMTyo

 

พี่พลอยกี้
พี่พลอยกี้ - Columnist หนอนหนังสือ ผู้หลงรักเพลง K-POP ฝันอยากท่องโลกกว้าง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

PPLOYKIE Columnist 9 ส.ค. 65 16:18 น. 1-1
สวัสดีค่ะ อ้างอิงจากที่ได้ไปสอบถามเพจ Study in Korea for Thais ทางทุนพิจารณาเฉพาะผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายค่ะ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถทักไปสอบถามเพจ FB ของศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย (Study in Korea for Thais) ได้เลยค่ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด