เรียนจริงทำจริง! แชร์ประสบการณ์เรียนสายอาชีพที่ญี่ปุ่นฉบับ 'เด็กทุนมง' (หลักสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่น)

こんにちは! ชาว Dek-D ทุกคน~ พี่กระถินเชื่อว่าอาชีพล่ามคงจะเป็นงานในฝันของน้องๆ หลายคน โดยเฉพาะคนที่ชอบเรียนภาษาต่างประเทศ วันนี้เราเลยมีบทสัมภาษณ์จาก ‘พี่กัส’ นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Japanese Government (MEXT) Scholarship) ปี 2019 ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ ‘Bunka Institute of Language’ (文化外国語専門学校; BIL) หลักสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่น (Business Japanese Interpreting Course) มาให้น้องๆ เก็บข้อมูลกันค่ะ~

// ใครสนใจเรียนต่อญี่ปุ่น โดยเฉพาะในโรงเรียนสายอาชีพหรือ ‘เซมมงกักโค’ ห้ามพลาดเลยค่า

. . . . . . 

Chapter 1
ก่อนบินไปญี่ปุ่น

ทำไมถึงสอบทุนมง

พูดตรงๆ ว่าตอนนั้นไม่รู้จะเอายังไงต่อกับชีวิต อย่างพอเรียนจบ ม.6 สายศิลป์-ภาษาญี่ปุ่นที่ รร.เตรียมอุดมฯ ส่วนใหญ่คนก็มักจะไปสอบเข้าเรียนต่อคณะอักษรฯ แต่เราอยากหาโอกาสสมัครทุนเรียนต่อต่างประเทศให้ได้มากกว่า ก็เลยลองหาข้อมูลแล้วเริ่มเตรียมตัวค่ะ

รีวิวการเตรียมตัวสอบ + การสอบข้อเขียน

เราเริ่มทำข้อสอบเก่าในอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วง ม.5 เทอม 2 ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่ไปสอบทุนมงเขาเอาลิงก์ข้อสอบเก่ามาตั้งเป็นกระทู้ใน Dek-D ถ้าเซิร์ช Google ว่า ‘ข้อสอบทุนมง’ คิดว่าน่าจะขึ้นมาให้เห็นค่ะ // ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบอังกฤษมันชิลๆ ไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่ (แค่ซ้อมทำข้อสอบให้รู้รูปแบบก็พอ) ส่วนข้อสอบวิชาภาษาญี่ปุ่นจะใกล้เคียง JLPT ถ้าทำของระดับ N3 ได้ก็ไม่มีปัญหา (ตอนนั้นไม่ได้เก่งภาษาญี่ปุ่นมาก ได้ JLPT ระดับ N3) 

แต่วิชาที่เราเตรียมตัวนานสุดเลยคือ ‘คณิตศาสตร์’ เพราะถึงจะเป็นเลขพื้นฐานก็จริง แต่เป็นเลขพื้นฐานแบบยุ่งยากมากกก ข้อสอบมี 2 หน้า เราเขียนคำตอบที่รู้จริงๆ ไป 3 ข้อ มันก็มีทั้งข้อที่ง่าย (เช่น เรื่องฟังก์ชัน) แล้วจะมีบางข้อที่ดูตอนแรกเหมือนจะทำได้ แต่ทำไปเรื่อยๆ ดันหลงเฉย แบบประมาณว่า “ฉันอยู่ตรงไหนของสมการนี้เนี่ยย” (เช่นเรื่องเรขาคณิตกับแคลคูลัส) แต่คิดว่าไม่ยากเกินไปสำหรับเด็กสายวิทย์นะ

**อย่าลืมเช็กเอกสารและรายละเอียดการสมัคร

น่าสนใจว่ากระบวนการคัดเลือกของปี 2019 ไม่เหมือนของปีหลังๆ ถ้าเป็นรุ่นเราจะได้สอบข้อเขียนทุกคน พอผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์แล้วกรรมการค่อยดูเอกสารของแต่ละคน แต่พอมาเป็นปีของรุ่นน้อง กรรมการจะพิจารณาเอกสารของผู้สมัครก่อนสอบข้อเขียน (รายละเอียดของปี 2023 ที่ผ่านมาในลิงก์นี้นะคะ https://www.dek-d.com/studyabroad/60295/)

อย่างเช่น ตอนปี 2019 ไม่บังคับยื่นคะแนน JLPT เพราะถ้าทำคะแนนข้อเขียนดีจนเข้ารอบสัมภาษณ์ได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ปีหลังจากนั้นรู้สึกว่ามีเพื่อนบางคนไปสมัครทุนมง แล้วไม่ผ่านเข้ารอบเพราะไม่มีคะแนน JLPT ดังนั้นอยากให้ระวังทั้งเรื่องเอกสารและคะแนนสอบเลย

เราคิดว่าวิธียื่นเอกสารแต่ละปีก็ไม่เหมือนกันด้วย ก่อนหน้านี้เคยเปลี่ยนไปแล้วรอบนึง ในอนาคตก็อาจจะเปลี่ยนอีก แนะนำให้ดูตามกำหนดการในปีที่เราจะสมัครอย่างละเอียด และนอกจากนี้คือหลังจากผ่านรอบข้อเขียน เราต้องมีใบผลตรวจร่างกายเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แล้วต้องไปหาโรงพยาบาลที่ออกใบตรวจร่างกายเป็นภาษาอังกฤษเองด้วย

Statement of Purpose (SoP) 
มีผลกับรอบสัมภาษณ์

แนะนำวิธีเขียน SoP ให้ออกมาปัง!

อย่างที่เล่าว่าอกสารคือด่านแรก ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับ SoP พอสมควรเลยค่ะ เวลาเขียนควรบอกเป้าหมายให้ชัดว่าเราอยากทำอะไร และตอบให้ตรงคำถาม (อย่าเขียนออกทะเลไปร้อยแปดแต่ไม่มีประเด็น) ส่วนใครเขียน SoP เป็นภาษาญี่ปุ่น ก็ควรหาคนตรวจไวยากรณ์ให้

สำคัญมาก! อย่าลืมว่าทั้งหมดที่เขียนไปใน SoP จะกลับมาหลอกหลอนเราในรอบสัมภาษณ์ เพราะกรรมการจะถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขียนแน่นอน

ได้เป็นนักเรียนทุนมงแล้วต้องทำอะไรต่อ 

เราเป็นนักเรียนทุนมงรุ่นแรกที่เจอโควิด-19 ซึ่งตามกำหนดการเดิมเราต้องได้บินเดือนเมษายน แต่โดนเลื่อนไปเรื่อยๆ ทีละเดือนสองเดือน สุดท้ายได้ไปจริงๆ เดือนกันยายน ข้อดีของรุ่นเราคือได้ไปกักตัวในโรงแรมที่ค่อนข้างโอเค และได้ห้องเดี่ยวที่ใหญ่พอสมควร ค่าโรงแรมจะอยู่ที่ราวๆ 80,000 เยน* (ประมาณ 20,934 บาท) โดยเราต้องออกเงินค่ากักตัวไปก่อน และรัฐบาลญี่ปุ่นจะคืนเงินให้ทีหลัง รุ่นถัดจากนั้นก็ต้องกักตัวเหมือนกันแต่เขาไม่จ่ายค่าโรงแรมให้แล้ว 

*อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน = 0.26 บาท ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2565

บอกเลยว่าเงินสำคัญมากกก โดยเฉพาะตอนมาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ๆ เพราะทุกอย่างต้องใช้สอย แต่กลายเป็นช่วงนั้นแหละเงินขาดมือที่สุด ถ้าอิงจากรุ่นเรา เดือนแรกจะได้เป็นเงินสดมาก่อนเพราะยังเปิดบัญชีไม่เสร็จ แต่ปีนี้พอเราไปล่ามให้รุ่นน้อง เลยรู้ว่าเงินเข้าบัญชีช้ากว่ารุ่นเราอีก (เดินทางถึงญี่ปุ่นประมาณพฤษภาคม-มิถุนายน กว่าเงินเข้าจะก็เดือนกรกฎาคม) ดังนั้นแนะนำว่าช่วงแรกให้เตรียมเงินมาสำรองจ่ายก่อน พอเปิดบัญชีเรียบร้อยก็สบายแล้วค่ะ สำหรับเรา เงินจากทุนพอกินพอใช้โอเคเลย

ส่วนเรื่องเอกสารไม่ต้องเครียด ทางสถานทูตจัดการให้ แล้วไม่ต้องคิดมากเรื่องที่อยู่ด้วย เพราะส่วนใหญ่จะโดนส่งไปอยู่หอของสถาบันภาษาที่เราไปเรียนปรับพื้นฐานอยู่แล้ว แล้วถ้ายังไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าก็สามารถผลัดไปจ่ายเดือนอื่นได้ค่ะ

. . . . . . 

Chapter 2
รีวิวการเรียน

Photo credit: https://www.bunka-bi.ac.jp/th/access/
Photo credit: https://www.bunka-bi.ac.jp/th/access/

เราต้องเรียนปรับพื้นฐานภาษาก่อน 1 ปี + เรียนเซมมงอีก 2 ปี = รวมเป็น 3 ปี พอจบจากเซมมงแล้ว สามารถไปประกอบอาชีพเป็นล่าม หรือเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษาปี 3 ก็ได้เหมือนกัน

รีวิวบรรยากาศเซมมงสายล่าม
 ในมหาวิทยาลัยดังด้านแฟชั่น

โรงเรียนสถาบันภาษาที่เราไปปรับพื้นฐาน รวมถึง Bunka Institute of Language (BIL) จะอยู่ในเครือ ‘ม.บุงกะ’ (Bunka Gakuen University) ที่เป็นโรงเรียนแฟชั่นชื่อดัง ส่วนใหญ่คนมักจะเลือกเรียนต่อสถาบันภาษานี้เพราะจะต่อคณะแฟชั่นดีไซน์ของ ม.บุงกะ 

ใน BIL เราจะได้เจอเพื่อนหลายคนที่แต่งตัวดีมากๆ เป็นปกติ และมีโอกาสได้เจอเพื่อนในคลาสที่สนิทกันดี หรือบางคลาสที่เหมือนทุกคนมาเพื่อเรียนภาษาอย่างเดียวโดยไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน อันนี้แล้วแต่ดวงด้วยค่ะ ส่วนเนื้อหาที่เจอช่วงปรับภาษายังค่อนข้างง่าย ศัพท์ส่วนใหญ่เรารู้อยู่แล้วเพราะเรียนศิลป์ญี่ปุ่นมาก่อน ทำให้คุ้นเคยกับไวยากรณ์ หรือต่อให้เป็นคำที่ไม่เคยได้ยิน ก็พอจะเดาความหมายจากบริบท (context) ได้ 

รีวิวหลักสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่นของ BIL 
เนื้อหาเข้มข้น แถมได้ปฏิบัติจริง

 Keywords 3 คำของสาขานี้คือ ‘ล่าม / ญี่ปุ่น / Business’ หมายความว่านอกจากเรื่องการล่ามภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่นแล้ว เราต้องเรียนเรื่องธุรกิจด้วย เช่นวิธีเขียน E-mail ภาษาญี่ปุ่นในการติดต่อระหว่างบริษัท 

** สรุปภาพรวมของหลักสูตรคือมีวิชาธุรกิจ (Business), วิชาล่าม, วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาญี่ปุ่น

ตัวอย่างตารางเรียนของหลักสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่น Photo credit: https://www.bunka-bi.ac.jp/th/course/business/
ตัวอย่างตารางเรียนของหลักสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่น Photo credit: https://www.bunka-bi.ac.jp/th/course/business/

เราคิดว่าวิชาภาษาอังกฤษง่าย วิชาภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ยากถ้าอ่านหนังสือเตรียมตัวมาก่อน แล้วที่ชอบเป็นพิเศษเลยคือวิชา 文芸翻訳 หรือ ‘Literature Translation’ วิชานี้เราไม่ต้องคุยกับใครทั้งนั้น อาจารย์จะให้การบ้านเป็นหนังสือ 1 เล่ม แล้วสุ่มว่าเราต้องแปลบทไหนบ้าง พอแปลเสร็จก็ส่งให้อาจารย์ตรวจ เราเอาไปแก้ แก้เสร็จ ส่งใหม่วนไปแบบนี้ // รู้สึกสงบดีค่ะ 5555

แต่ถ้าที่ยากสำหรับเราคือวิชาล่าม เพราะนอกจากเราจะไม่มีประสบการณ์แล้ว ยังเป็นวิชาที่เตรียมตัวได้แค่ระดับนึงเท่านั้น เนื้อหาในข้อสอบจะมีทั้งที่เราเคยล่ามตอนเรียนทั้งในคลาสหรือสถานที่จริง และอีกส่วนคือข้อสอบแบบ unseen ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราต้องล่ามตรงนั้น แล้วเขาจะอัดเสียงเพื่อเก็บคะแนน ในขณะที่วิชาอื่นเราสามารถทบทวนสิ่งที่เรียนในคาบแล้วไปทำข้อสอบได้เลย

เราค้นพบว่าจริงๆ ชอบการล่ามแหละ แต่ชอบเวลาได้ลงพื้นที่ไปล่ามจริงมากกว่า ถ้าอย่างในชั้นเรียนอาจารย์จะมีประโยคให้เราออกมาแปลต่อหน้าคน 20 คน เป็นความกดดันแบบไม่สามารถอธิบายได้ แต่ในสถานการณ์ที่ได้ล่ามจริงจะต่างกับในชั้นเรียนตรงที่พอแปลประโยค 1 เสร็จ ก็จะต่อประโยค 2, 3, 4… โดยไม่ได้มีเวลามานั่งคิดมากว่าเมื่อกี้เราพูดอะไรไป

ถึงจะมีบางวิชาที่เราไม่ชอบบ้าง แต่เป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์มากสำหรับคนอยากทำงานต่อในญี่ปุ่น อย่างเช่นเนื้อหาของวิชา Business ก็นำมาใช้ได้จริง เซมมงจะต่างจากมหาวิทยาลัยตรงที่เน้นปฏิบัติเยอะ ถ้าวิชานี้ฝึกการล่าม ก็จะได้ฝึกล่ามโดยเฉพาะแบบเน้นๆ ถ้าเรียนเขียนอีเมลก็คือพุ่งตรงที่การเขียนอีเมลล้วนๆ เรารู้สึกอยากฝึกสกิลอื่นให้กว้างขึ้นไปอีก เลยกำลังวางแผนเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรืออาจกลับไทยหลังเรียนจบเซมมง

ดูรายละเอียดสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่นของ BIL แบบเต็มๆ ได้ที่นี่

 https://www.bunka-bi.ac.jp/th/course/business/

Chapter 3: แชร์ประสบการณ์เด็กเซมมง

รีวิวการเรียนในเซมมงที่ไม่มีคนญี่ปุ่น?

ที่เล่ามาทั้งหมดคือไม่ได้เรียนกับนักเรียนญี่ปุ่นเลย ทั้งตอนเรียนปรับพื้นฐานกับเรียนในเซมมง แล้วคนยังน้อยมากก แค่ห้องละ 20 คนได้ เพราะเป็นรุ่นโควิด ยิ่งพอแบ่งคนในคลาสออกเป็นคนเรียนล่ามญี่ปุ่น-อังกฤษ / ล่ามญี่ปุ่น-จีน คนก็จะยิ่งน้อยเข้าไปอีก สมมติอาจารย์เล่นมุกแล้วคนในห้องไม่ขำ บรรยากาศก็จะแห้งๆ อึนๆ ประมาณนึง 

แต่ข้อดีสำคัญของของสังคมต่างชาติคือทุกคนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเหมือนกัน ออกแนวมองตากันก็เข้าใจปัญหา มีความรู้สึกร่วมกันประมาณนึงเลยค่ะ ถ้าถามว่าบรรยากาศกดดันไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มเพื่อนของเรา หรือสมมติอยู่คนเดียวได้ก็เครียดอยู่ดี ยิ่งเรามาในฐานะเด็กทุนรัฐบาล ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องเรียนให้ได้ดีมากๆ 

สุดท้ายทุกอย่างในชีวิตก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือ ทั้งนี้ ถ้าใครรู้สึกไม่ไหว BIL มีนักบำบัด (therapist) ให้ขอความช่วยเหลือได้ แต่ต้องสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่นนะคะ 

ถึงเราไม่ได้เรียนแฟชั่น แต่เรากล้าแต่งตัวมากขึ้น

พอมาเรียนแคมปัสที่เด่นแฟชั่น ก็เริ่มรู้สึกมีอิสระในการแต่งตัวขึ้น เพราะใน ม.จะมีทั้ทั้งคนแต่งตัวมาเรียนเหมือนที่นี่คือฮาราจุกุ (หรือยิ่งกว่าฮาราจุกุ) บางคนแทบจะใส่ชุดนอนมาเรียน ในขณะที่บางคนแต่งตัวแบบละเอียดลออจนต้องเผลอหันไปมองเหมือนกัน // เราเคยย้อมผมสีชมพูอยู่ช่วงนึง เพราะที่นี่ถึงจะย้อมสีรุ้งก็ไม่แปลก ถ้าเกิดไม่มั่นใจการแต่งตัวเมื่อไหร่ แค่หันไปมองแก๊งแฟชั่นก็จะอุ่นใจเลยว่ามีคนเด่นกว่าเราอีกกก~

กิจกรรมที่ประทับใจ

ในส่วนของเทศกาลวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า ‘บุงกะไซ’  เขางดเพราะเป็นช่วงโควิด แต่เหมือนว่าปีนี้มีโอกาสกลับมาถ้าสถานการณ์ไม่แย่กว่าเดิม

แต่เรามีโอกาสไปทำกิจกรรมอื่นพอกรุบกริบ เช่น นั่งกับเด็กชมรมภาษาอังกฤษช่วงก่อนปิดเทอมฤดูร้อน  (เพราะเพื่อนบอกว่ามีไอติมฟรี อร่อยด้วย~) แต่ไปแค่ครั้งเดียวเลยค่ะ 5555

ชี้เป้าสถานที่ท่องเที่ยว

ถ้าในโตเกียว เราชอบไปพายเรือกับเพื่อนที่ “สวนอิโนะคาชิระ” มากกก อยู่ตรงตรงสถานีคิจิโจจิ แต่ถ้าออกนอกโตเกียวเราเคยไป "เมืองยูกาวาระ" กับเพื่อนคนไทยอีก 2 คนในช่วงปิดเทอมฤดูหนาวค่ะ ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดเลยไม่มีทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหรือต่างชาติ เวลาแช่ออนเซ็นก็มีกันแค่ 3 คน คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศเหมาออนเซ็นแบบนี้อีกแล้ว

ประสบการณ์ที่อยากบอกต่อ!

  • ช่วงแรกเราสื่อสารภาษาญี่ปุ่นกับคนในโรงเรียนได้ก็จริง แต่ด่านปราบเซียนคือร้านแมคโดนัลด์ เพราะพนักงานพูดเร็วแต่เสียงเบามาก ส่วนด่านที่หินรองลงมาคือซูเปอร์มาร์เก็ต เคยมีพนักงานถามว่าจะจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตแบบผ่อนจ่ายหรือจ่ายครั้งเดียว เราไม่เข้าใจเพราะในไทยไม่มีผ่อนจ่าย ตอนนั้นก็เลยตอบไม่ตรงคำถามไปว่า「はい」(ใช่ค่ะ) พนักงานก็งงไปเลย
     
  • เรื่อง Culture shock ที่เจอคือ ในญี่ปุ่นเราไม่สามารถสวมชุดนอนออกมาในล็อบบี้โรงแรมได้นะคะ เพราะตอนกักตัวเคยมีคนทำมาแล้วโดนผู้ดูแลดุว่าไม่เคารพสถานที่
     
  • การมาอยู่ญี่ปุ่นทำให้เรารู้สึก self-conscious มากขึ้น (ประมาณว่าระวังตัวเรื่องภาพลักษณ์) ผลคือเราดูแลตัวเองดีขึ้น แต่ก็อาจทำให้เราเผลอเปรียบเทียบกับคนอื่นจนความมั่นใจลดลง
     
  • ญี่ปุ่นเวลาร้อนก็ร้อนสุด เวลาหนาวจะหนาวมากกก ในฤดูหนาวแนะนำให้ซื้อผ้าห่มเพิ่ม เพราะค่าฮีตเตอร์แพง
     
  • ถ้าเป็นคนอารมณ์ดิ่งง่าย ไม่แนะนำให้อ่านคอมเมนต์ YouTube ของช่องข่าวออนไลน์ภาษาญี่ปุ่นนะคะ เพราะคอมเมนต์ค่อนข้างเหยียดคนต่างชาติ อีกอย่างคือ ไม่แนะนำให้อ่านกระทู้แนว ‘ประเทศญี่ปุ่นน่าไปเรียนแต่ไม่น่าอยู่’ (ไม่ว่าจะในเว็บใดก็ตาม) เพราะจะทำให้เรา biased เผลอคิดตามว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ

ทิ้งท้ายจากพี่กัส

ช่วง ม.6 อยากทำอะไรก็ลุยเลย หลายคนอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะทำอะไรดี แต่เรายังเด็ก ยังมีโอกาสค้นหาตัวเองอีกเยอะ โดยเฉพาะถ้าใครมีโอกาสได้ทุนให้เปล่า ก็จะเป็นประสบการณ์ให้ได้ค้นหาตัวเอง สุดท้ายถ้าอยากเปลี่ยนไปเรียนสาขาอื่นก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลย 

ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำได้มั้ย ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ก็จะทำไม่ได้จริงๆ  ถ้าไม่มั่นใจในตัวเอง อย่างน้อยก็มั่นใจในคนที่เชื่อในตัวเรานะคะ :D

พี่กระถิน
พี่กระถิน - Columnist คนธรรมดาที่ชอบอ่านมังงะ ฟังเพลง วาดรูป และมองหาความพิเศษในชีวิตแต่ละวัน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น