ความกดดันของวัยรุ่นเกาหลีใต้ยุค “N-Po Generation” ชีวิตแบบนี้ขอละทิ้งดีกว่า!

อันยองฮาเซโยค่าทุกคน~ น้องๆ ชาว Dek-D เคยรู้สึกท้อแท้จากปัญหาการเรียน ครอบครัว สังคม หรือความกดดันต่างๆ จนอยากปล่อยมันไปไหมคะ? (พี่เป็นบ่อยม๊ากกก ㅠㅠ) ต้องบอกว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่ที่ไทย อย่างวัยรุ่นเกาหลีใต้ก็เป็นเหมือนกันค่ะ   เพราะพวกเขาไม่ได้แบกแค่ความคาดหวังจากคนรอบข้าง แต่ยังต้องสู้รบกับความกดดันจากสังคมและพิษเศรษฐกิจในปัจจุบันไปด้วย ทำให้หลายคนเลือกที่จะยอมแพ้กับ ‘สิ่งที่ควรทำและควรมี’ ตามค่านิยมของคนรุ่นก่อนๆ จนเกิดเป็นคำเรียกคนยุคนี้ว่า ‘N-Po Generation’ ในที่สุด 

ก่อนจะไปจัดหนักจัดเต็มกับข้อมูลของชาว N-Po เราไปเรียนคำศัพท์ภาษาเกาหลีที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้กันดีกว่าค่ะ น้องๆ อ่านแล้วจะได้เข้าใจมากขึ้น!

คำศัพท์ความหมาย
일 (อิล) Ilหนึ่ง
삼 (ซัม) Samสาม
오 (โอ) Oห้า
칠 (ชิล) Chilเจ็ด
구 (คู) Guเก้า

포 (โพ) Po

*ย่อมาจากกริยา 포기하다 (โพกีฮาดา)*

(v.) ยอมแพ้
세대 (เซแด) Sedaeรุ่น, ยุคสมัย (Generation)

กว่าจะเป็น N-Po Generation

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ปลูกฝังแนวคิดคล้ายกับไทย คือ ถ้าเรียนจบมหาวิทยาลัยจะได้ทำงานสูง ๆ ยิ่งเรียนเก่งก็ยิ่งมีอนาคตที่ดี ทว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงในช่วงปี 2007-2009 นักศึกษามหาวิทยาลัยในขณะนั้นจึงเริ่มวิตกกังวลว่า พวกเขากำลังจะเรียนจบอย่างไร้อนาคตและเสี่ยงกลายเป็นพนักงานสัญญาจ้างที่มีรายได้สุทธิเพียง 880,000 วอนต่อเดือน (~ 23,380.54 บาท) ซึ่งเป็นเรตที่ต่ำมากๆ และขัดแย้งกับสิ่งที่พวกเขาถูกพร่ำสอนมาตลอดชีวิตว่า ‘ใบปริญญาคือตัววัดฐานะในอนาคต’ 

น่าเศร้าที่ ณ ขณะนั้นใบปริญญากลับกลายเป็นเพียงเอกสารที่ใช้วัดอัตราการว่างงาน อูซุกฮุน (Woo Suk-Hoon) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เลวร้ายของเกาหลีใต้ปี 2008 เรื่อง The Birth of A Monster (괴물 의 탄생) จึงตั้งชื่อให้นักศึกษารุ่นนั้นว่า “880,000 Won Generation” (88만원세대) ซึ่งมาจากค่าแรงที่พนักงานสัญญาจ้างได้รับในหนึ่งเดือน และชื่อนี้ยังกลายเป็นต้นกำเนิด Generation ต่างๆ ของวัยรุ่นเกาหลีใต้ที่เริ่มหมดหวังกับอนาคตในประเทศตัวเองอีกด้วย

Note: 1 KRW = 0.027 THB (วันที่ 27 กันยายน 2565)

Sampo Generation ยิ่งใช้ชีวิตยิ่งต้องทิ้ง

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

หลังจากเผชิญพิษเศรษฐกิจแสนหนักหน่วง ถัดมาก็เริ่มเข้าสู่ยุคของ Sampo Generation (3포세대) ที่ไม่ได้หมายถึงไอดอลเจนสามนะคะ 5555 แต่เป็นคำที่เรียกถึงคนรุ่นใหม่ที่ละทิ้งค่านิยมสามสิ่ง คือ ความสัมพันธ์ การแต่งงาน และการมีลูก เนื่องจากสถานการณ์การเงินในเกาหลีใต้เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ ระบบทุนนิยมทำให้ชีวิตของพวกเขาพลิกผัน แค่สู้ชีวิตคนเดียวลำพังก็ยากอยู่แล้ว ก็ไม่อยากที่จะมีความสัมพันธ์ที่อาจทำให้ยากขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องยอมตัดเรื่องนี้ออกไปและใช้ชีวิตแบบคนโสดๆ นั่นเองค่ะ

แต่นับวันสภาพแวดล้อมและสังคมก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ และยิ่งใช้ชีวิตมากเท่าไหร่ก็มีสิ่งที่ต้องยอมทิ้งไปมากเท่านั้น นอกจากเรื่องความสัมพันธ์และการสืบทอดทายาท คนเกาหลีรุ่นใหม่ก็ค่อยๆ  ละทิ้งค่านิยมเดิมๆ ออกไป (จากของที่เคยต้องมี ในวันนี้ไม่ต้องมีก็ได้)  ดังนั้น การนับเลขจึงไม่หยุดอยู่แค่ 3 (Sam/삼) แต่ไปต่อถึง 9 (Gu/구) มาดูกันดีกว่าค่ะว่าหลังจาก Sampo Generation รุ่นต่อๆ ไปละทิ้งอะไรบ้าง

  • Opo Generation (5포세대) ละทิ้ง 5 สิ่ง คือ 3 สิ่งของ Sampo Generation + ความสัมพันธ์ของมนุษย์และการเป็นเจ้าของบ้าน
  • Chilpo Generation (7포세대) ละทิ้ง 7 สิ่ง คือ 5 สิ่งของ Opo Generation + ความฝันและความหวังของพวกเขา
  • Gupo Generation (9포세대) ละทิ้ง 9 สิ่ง คือ 7 สิ่งของ Chilpo Generation + สุขภาพและรูปร่างหน้าตา

อย่างที่พี่ได้เล่าไปด้านบนว่าด้วยสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงไม่สามารถจำกัดการนับอยู่แค่ 3, 5, 7, 9 ได้อีกต่อไปแล้วค่ะ จนในที่สุดก็กลายเป็นจำนวนที่ n หรือการนับที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน (คณิตศาสตร์ก็มา) เพราะแม้จะยอมละทิ้งสิ่งต่างๆ ไปมากขนาดนี้แล้ว แต่สภาพสังคมก็ยังทำให้ความหวังเหือดแห้งไปพร้อมกับอนาคตที่วาดฝันไว้ และสุดท้าย “N-Po Generation (N포세대)” หรือ Numerous Giving-up Generation รุ่นที่ยอมละทิ้งหลายสิ่งหลายอย่างจนนับไม่ถ้วนจึงถือกำเนิดขึ้น 

เรารู้วิวัฒนาการของแต่ละ Generation กันไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยกันดีกว่าค่ะว่า เหตุผลหลักที่รุ่น N-Po เลือกยอมแพ้กับสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดมีอะไรบ้าง?

เหตุผลที่(จำเป็น)ต้องยอมแพ้

1. พื้นฐานครอบครัว

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับประโยค ‘คาบช้อนทองมาเกิด’ ซึ่งใช้กับคนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย  (ซีรีส์เสียดสีสังคม The Golden Spoon  ที่กำลังฉายอยู่ก็ใช้ชื่อตรงตัวเลยน้าา ตามไปดูกันได้นะคะ~) แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2015 เกาหลีใต้จึงบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า ‘ช้อนดิน’ เพื่อใช้เรียกคนที่เกิดในครอบครัวยากจน เมื่อรายได้ในครอบครัวถูกนำมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเราจะเป็น ‘ช้อนทอง’ หรือ ‘ช้อนดิน’ โอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตก็ถูกกำหนดไว้แล้ว (พี่คุยกับเพื่อนอยู่บ่อยๆ ว่าประเทศไทยก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน)

2. อัตราการเกิดต่ำ

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

เพราะความรับผิดชอบที่ตามมาจากการมีลูกคือ ภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สังคมปิตาธิปไตยที่เข้มข้นของเกาหลีทำให้ผู้ชายต้องกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องหาเลี้ยงครอบครัวทั้งๆ ที่แค่เลี้ยงตัวเองก็แทบมีไม่พอใช้ ส่วนผู้หญิงถ้าหากมีลูกก็จำเป็นต้องสละชีวิตส่วนตัวออกไป บริษัทส่วนใหญ่ไม่อยากจ้างพนักงานที่มีเกณฑ์จะลาคลอดหรือไม่อยากรับพนักงานที่ลาคลอดแล้วอยากกลับมาทำงาน เพราะมองว่าเป็นการจ้างงานที่ไม่คุ้มค่าในระยะยาว หลายคนจึงเลือกใช้ชีวิตแบบสันโดษเพื่อความสบายใจดีกว่า เพราะถ้าหากเป็นคู่รักที่เลือกมีลูก แต่ไม่มีเงินมากพอก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน 

"เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศสูงและมีการแสดงความเกลียดชังทางเพศอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ปี 2021 ผู้ชายเกาหลีวัย 20-29 ปี ร้อยละ 72.5 เลือกโหวตให้กับพรรคอนุรักษนิยมเพราะพวกเขาต่อต้านแนวคิดเฟมินิสต์ และอ้างว่าหากความไม่เท่าเทียมทางเพศมีอยู่จริง ผู้ชายต่างหากที่จะตกเป็นเหยื่อของผู้หญิง ซึ่งขัดแย้งกับรายงานช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก (Global Gender Gap Report) ของ World Economic Forum ว่า เกาหลีใต้อยู่รั้งท้ายในอันดับที่ 123 จาก 156 ประเทศ ด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาส ซึ่งแปลได้ง่ายๆ ว่าผู้หญิงมีโอกาสในการถูกรับเข้าทำงานและเติบโตในสายงานน้อยกว่าผู้ชายมากนั่นเอง"

 

บทความเพิ่มเติม: ผู้ชาย vs. เฟมินิสต์: เปิดปมความเกลียดชังทางเพศที่ฝังรากในสังคมเกาหลีใต้

3. อัตราการว่างงานของเยาวชน

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

หลายปีที่ผ่านมาเด็กจบใหม่เกาหลีต้องเผชิญกับวิกฤตการว่างงาน ตามประกาศขององค์กรสถิติระดับชาติเกาหลี (KOSTAT) ระบุว่าจำนวนผู้จ้างงานลดลงต่อเนื่องกัน 11 เดือนจนถึงเดือนมกราคม 2021 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียปี 1997 นอกจากนี้จำนวนคนที่เลิกหางานทำก็เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในวัย 30 ปีที่เลิกหางานมีเพิ่มขึ้นถึง 33.9% จาก 210,000 คน (มกราคม 2020) เป็น 281,000 คน (มกราคม 2021) ซึ่งสูงสุดในทุกกลุ่มอายุ

ปี 2020 ก่อนเกิด COVID-19 อัตราการว่างงานของเยาวชนอายุ 15-29 ปีอยู่ที่ร้อยละ 9.0 และหลังจากเกิด COVID-19 บัณฑิตวิทยาลัยและมัธยมปลายมีปัญหาในการหางานมากขึ้น โดยอัตราการจ้างงานของผู้ชายที่จบป.ตรี คือ 12.1% ขณะที่การจ้างงานของผู้หญิงที่จบม.ปลาย คือ 14.4% ซึ่งถือเป็นสถิติที่ต่ำมาก

4. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

แน่นอนว่าค่าครองชีพนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและอย่างใน ‘กรุงโซล’ ที่ขึ้นชื่อว่าห้องพักมีราคาแพง กลับมีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 9.7 ล้านคน  น้องๆ รู้มั้ยว่าอัตราส่วนค่าบ้าน/ที่ดินต่อรายรับของคนที่อาศัยในโซลอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 113 ประเทศ และราคาบ้านในโซลยังสูงมากจนกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (CCEJ) วิเคราะห์ว่าคนเกาหลีต้องใช้เวลามากกว่า 25 ปีในการซื้ออะพาร์ตเมนต์ขนาด 99 ตร.ม. 2 แห่ง 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเกาหลีจำนวนมากถึงต้องเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัย เพราะถ้าจะซื้อก็ต้องใช้เวลาหลายปีหรือถ้าหากจะผ่อนก็ต้องเหมือนมีหนี้ผูกมัดในระยะยาวไปอีก และด้วยค่าครองชีพที่สูงมากๆ จนติดอันดับ 21 จาก 137 ประเทศทั่วโลก ทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตสุดประหยัด  จึงไม่แปลกที่คนรุ่น N-Po ยอมละทิ้งค่านิยมการซื้อบ้านออกไป เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงเกินเอื้อมนั่นเอง

5. แรงกดดันทางสังคม

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งมากกว่าชื่อซะอีก! พวกเขาต้องเผชิญการแข่งขันตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่ได้ใช้ชีวิตกับปัจจุบัน แต่ทำทุกอย่างเพื่ออนาคต  การสอบ ‘ซูนึง (수능)’ จึงเป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิต ถ้าสอบติดคือประสบความสำเร็จ ถ้าเรียนจบคือมีอนาคตที่ดี 

และเพื่อให้พวกเขาเป็นไปตามสิ่งที่สังคมปลูกฝังมา หลายคนจำเป็นต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งบางครั้งเลิกดึกถึง 22.00 น. เลยทีเดียว!

ความกดดันจากสังคมและการเรียนเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้วัยรุ่นเกาหลีใต้คิดถึงการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 1 ครั้ง (เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว) คนรุ่น N-po บอกว่าเกาหลีใต้เปรียบเสมือน ‘นรกโชซอน’ วิธีเดียวที่พวกเขาจะรอดคือความตายหรือการย้ายประเทศเท่านั้น

นอกจาก N-Po ที่ได้เล่าไปแล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า Ilpo Generation (1포세대) แทนที่จะยอมแพ้กับหลายสิ่งหลายอย่าง พวกเขาเลือกที่จะทิ้งเพียงสิ่งเดียว นั่นก็คือ “ชีวิต”

กว่าจะมาเป็น N-Po Generation นี่ไม่ง่ายเลยนะคะ วัยรุ่นเกาหลีใต้ผ่านความกดดันมาเยอะมากจริงๆ แต่พี่เชื่อว่าพวกเราที่อยู่ประเทศไทยก็ได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่างกันเลย น้องๆ หลายคนน่าจะมีประสบการณ์ทำนองนี้อยู่บ้างเนอะ (พี่เองก็เช่นกัน5555) คอมเมนต์เล่าให้พี่อ่านได้น้าาา // ก่อนจากกัน พี่ขอทิ้งท้ายด้วยโควตหนึ่งที่พี่ชอบมากๆ ค่ะ

“N-Po Generation เลือกที่จะยอมแพ้กับหลายๆ สิ่ง เพราะพวกเขาคาดหวังในตัวเองสูงเกินไป หรือเพราะระบบที่บอกว่าพวกเขาทำงานหนักไม่มากพอ?” - Moïse (KWORLD NOW), 2022
 

Sources:https://www.kworldnow.com/n-po-generation-giving-up-is-the-solution/ https://www.taipeitimes.com/News/bizfocus/archives/2009/04/12/2003440846 https://teen.mthai.com/education/160670.html https://www.amazon.com/Economics-Living-Korean-Woo-Hoon/dp/896280770X https://m.blog.naver.com/khylhm/22108159504 https://en.wikipedia.org/wiki/N-po_generation https://www.statista.com/statistics/949066/south-korea-unemployment-by-age-group/ https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/3081725315486333/ https://www.numbeo.com/cost-of-living/rankings_by_country.jsp https://www.numbeo.com/property-investment/rankings_by_country.jsp
พี่อิงชุน
พี่อิงชุน - Columnist มนุษย์ไม่เข้าสังคมที่กำลังค้นหาตัวเองเงียบๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น