“หลงใหลในความตะมุตะมิ” สู่การพิชิตทุนรัฐบาล MOE ไปเรียนฟรีที่ไต้หวัน ด้วยโพรไฟล์เด็กกิจกรรม! (จบ ป.โท HR ที่ Shīdà 師大)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครชอบทำกิจกรรมบ้าง! บอกเลยว่ากิจกรรมไม่ใช่แค่ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะและพบปะเพื่อนใหม่เท่านั้นนะคะ แต่เป็นโบนัสให้เราเวลาไปสมัครโครงการใดๆ ก็ตาม กรรมการจะสามารถ assumed ศักยภาพและทัศนคติของเราได้จากประสบการณ์ที่เรานำเสนอได้ในระดับนึงเลยค่ะ

และวันนี้เราจะพาไปรู้จัก “พี่มอมแมม – ณัฐพร อุณหบัณฑิต” กับสตอรี่ของการวิ่งเข้าหาโอกาสและค้นหาตัวเองผ่านการทำกิจกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ หลังจากเรียนจบจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ก็ได้สมัครทุนรัฐบาลไต้หวัน MOE ไปเรียนต่อ ป.โท International Human Resource Development ของ National Taiwan Normal University, or Shīdà 師大 (NTNU) อันดับ 6 ของไต้หวัน (QS ปี 2023) ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมคือส่วนสำคัญที่ช่วยให้ได้ทุนนี้มาครอบครอง

ดังนั้นรีวิวนี้จะพาไปส่องโพรไฟล์ ประสบการณ์ คำแนะนำการขอทุน การเขียน SoP รวมถึงการเรียนและการใช้ชีวิตที่ไต้หวัน ใครอยากล่าฝันในดินแดนชานมไข่มุกห้ามพลาดค่ะ~

Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit
Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit

เด็กทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

สวัสดีค่า เราชื่อ “มอมแมม” นะคะ เรียนจบ ป.ตรี ด้วยทุน CP Global Talent Full Scholarship ในคณะ Modern Trade Business Management ภาคอินเตอร์ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ Panyapiwat Institute of Management (PIM) หลังเรียนจบแมมมีโอกาสได้เป็นตัวแทนประเทศให้ไปทำงานที่ Expo 2020 Dubai อยู่ช่วงนึง ทำให้เห็นว่าการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นทักษะที่สำคัญมากก และสาย Human Resource ก็มีหน้าที่และความสำคัญและหลายมิติมากกว่าที่ทุกคนคิด

แม้จะเคยเรียนวิชา Human Resource มาบ้างในตอนตอน ป.ตรี แต่สาขาที่เราอยากลงลึก คือ ด้านการพัฒนาบุคลากร หรือฝั่งของ Development มากกว่า Management จากความชอบที่เราชอบให้คำปรึกษา ดูว่าใครมีความสามารถไปในทางไหน แล้วช่วยส่งเสริมให้เก่งมากขึ้น ทำให้เราสนใจการเรียนที่ NTNU ซึ่งนอกจากจะตรงสายแล้ว ภาคทฤษฎีเขาก็ค่อนข้างแน่น 

เหตุผลที่แมมเลือกมหาวิทยาลัยนี้ หลักๆ เพราะอาจารย์ในคณะทำ Thesis ด้าน HR มาล้วนๆ และ NTNU ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ดังด้านการผลิตครูของไต้หวัน เลยมั่นใจว่าถ้าเป็น “ครูของครู” อีกที ต้องมีวิธีสอนที่น่าสนใจมากแน่นอน

Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit
Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit

ทำไมถึงอยากไปไต้หวัน?

จากประสบการณ์ที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกาและสวีเดน ทำให้เรารู้ว่าการเรียนแบบเอเชีย (สอน - โปรเจ็กต์ - สอบ) ยังเป็นสไตล์การเรียนที่ตรงกับความชอบตัวเองมากที่สุด บวกกับการที่เราตั้งเป้าไว้ว่าอยากได้ภาษาที่สามที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นจึงเป็นตัวเลือกหลักของเราตอนนั้นเลย

นอกจากนี้คือตอน ป.ตรี เราเคยไปแลกเปลี่ยน 2 สัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยนึงในไต้หวัน ชื่อว่า 義守大學 I-Shou University เจอประสบการณ์ที่ว้าวมากๆ ค่ะ เพราะเขตมหาวิทยาลัยมีทุกอย่างตั้งแต่สวนสนุก โรงพยาบาล โรงแรมห้าดาว ฯลฯ **แต่เป็นคนละมหาวิทยาลัยกับตอนที่สมัครเรียนต่อ ป.โทนะคะ)

ประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของคนไต้หวันที่ค่อนข้างเรียบง่าย เห็นการเดินทางในไต้หวันที่สะดวกสบาย แล้วยังชอบผลิตสื่อให้คนทุกวัยเข้าใจพร้อมรู้สึกเอ็นดูไปด้วย~ ภาพของไต้หวันเลยทำให้เรายิ่งหลงใหลในความตะมุตะมิ (จริงๆ ชอบญี่ปุ่น แต่ไต้หวันก็มีกลิ่นอายญี่ปุ่นอยู่ในนั้น) ข้อดีหลายๆ อย่างทำให้ตัดสินใจมาเรียนต่อค่ะ เดี๋ยวจะมารีวิวช่วงท้ายอีกนะคะ ^ ^

Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit
Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit

ตัดสินใจขอทุนรัฐบาลไต้หวัน MOE
เรียนฟรีและมีเงินเดือนให้!

ทุน MOE เป็นทุนจากกระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีโควตา 18 ทุน รวม ป.ตรี, ป.โท และ ป.เอก มูลค่าทุนสนับสนุนค่าเทอมคือ 40,000 TWD + เงินเดือน 20,000 TWD นอกจากจะช่วยเซฟงบได้เยอะมาก การเป็นเด็กทุนยังช่วยเสริมโพรไฟล์ให้น่าสนใจด้วยค่ะ เพราะเราต้องดำเนินการทุกอย่างผ่านสถานทูต ทำให้ได้คอนเน็กชันและมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น ประกวดภาพถ่าย Fabulous Taiwan 

อ่านระเบียบการทุนรัฐบาลไต้หวัน MOE Scholarship 2023 ประกอบได้ที่  https://www.dek-d.com/studyabroad/61793/  (ปิดรับสมัครแล้ว)

ตอนสมัครแมมยื่นเกรดเฉลี่ยรวม ป.ตรี 3.97 กับคะแนน TOEIC 890 ใช้เวลาเตรียมตัว 1 เดือน // ส่วนตัวคิดว่าให้ความน้ำหนักกับ SoP มากๆ และเราใช้เวลาเตรียมส่วนนี้นานที่สุด โดยเราต้องส่ง SoP 2  ฉบับ คือ ฉบับที่ใช้ยื่นเพื่อขอทุน MOE ให้กับทางสถานทูต และอีกฉบับที่ใช้ยื่นมหาวิทยาลัย

วางแผนเขียน SoP เพื่อยื่นทุนยังไงบ้าง (+คำแนะนำ)

  • แนะนำความยาว 1.5 ถึง 2 หน้าไม่เกินนี้ โครงสร้างใหญ่คือ ส่วนนำ (Introduction), เนื้อหา (Body) และส่วนสรุป (Conclusion) ใน Body จบประเด็นนึงแล้วขึ้นย่อหน้าใหม่ได้เลย ไม่ต้อง fix แค่ 3 ย่อหน้าเท่านั้นนะคะ
  • Introduction – สรุป Overview หรือภาพรวมทั้งหมด เล่าว่าเราเป็นใคร จะสมัครอะไร ความฝันคืออะไร ทำไมถึงสมัครโครงการนี้
  • Body – พูดถึงประสบการณ์ที่เคยทำและเกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัคร แรงบันดาลใจคืออะไร สำคัญคือต้องถอดบทเรียนว่าได้อะไรจากประสบการณ์นั้น เล่าถึงสิ่งที่เรียนว่าจะเรียนอะไร ทำไม เป้าหมายในอนาคต และเชื่อมโยงว่าการเรียนนี้จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไรบ้าง
  • ช่วงเกือบท้ายของ SoP แมมมีสรุปแผนการเรียน 2 ปีหลังจากได้ทุนไปเรียนที่ไต้หวันด้วยค่ะ

แนะนำเกี่ยวกับ Recommendation Letter 

MOE กำหนดไว้ 2 ฉบับค่ะ ถ้าเป็นไปได้เน้นให้หลากหลาย เช่น ขอจากอาจารย์ 1 ฉบับ และคนทำงาน 1 ฉบับ เพื่อให้กรรมการเห็นเราทั้งมุมตอนเรียนกับตอนทำงาน

**ตอนที่ติดต่อให้อาจารย์หรือคนที่ทำงานช่วยเขียนให้ แนะนำว่าควรแนบ Study Plan หรืออธิบายว่าเราสมัครอะไร ส่งลิงก์คณะ มหาวิทยาลัย รายละเอียดทุน ฯลฯ ให้เขามีข้อมูลประกอบการเขียน และควรบอกช่วงเวลาที่เราต้องการด้วยค่ะ โดยที่ควรบอกก่อนประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้แนะนำมีเวลาเขียนให้เราแบบไม่เร่งมาก

Note: นอกจากทุน MOE เรามีโอกาสขอทุนอื่นเพิ่มเติมได้ด้วย แต่ต้องไม่ใช่ทุนจากฝั่งรัฐบาล อย่างแมมก็ได้รับทุน E.SUN Bank ASEAN Scholarship ของธนาคารในไต้หวันสำหรับนักศึกษาอาเซียนที่มีศักยภาพและทำคุณประโยชน์ให้สังคม ก็ได้มาอีกแสนนึง

Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit
Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit

ในส่วนของ SoP เพื่อใช้สมัครมหาวิทยาลัย แนะนำให้ศึกษาข้อมูลสาขาที่จะไปแบบแน่นๆ เช่น หลักสูตร วิชาเรียน กิจกรรม ธีสิสอาจารย์ จุดเด่นของสถาบัน ฯลฯ แล้วเขียนเชื่อมโยงกับความสนใจและเป้าหมายของเรา ถ้าเขียนสิ่งที่มีความเฉพาะตัวและลงลึก กรรมการก็จะเห็นความตั้งใจของเราค่ะ ในกรณีที่เราไม่ได้ทุน MOE การรับทุนมหาวิทยาลัยก็อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ดีเลย เพราะบางที่ก็ให้ทุนเยอะมากค่ะ

. . . . . . . . . .

เล่าความสำคัญของงาน “HR”
ก่อนเปิดรั้วมหาวิทยาลัยดังใจกลางไทเป

ทำไม HR ถึงสำคัญ?

HR เป็นงานที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนสูง ตั้งแต่คัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน เป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ จัดการค่าตอบแทน-สวัสดิการ ฯลฯ หรืออย่างสายที่เราสนใจสุดคือ Learning and Development  ที่หน้าที่หลักคือพัฒนาบุคคลในบริษัท ซึ่งการมีอยู่ของ HR สามารถช่วยลดปัญหาระหว่างองค์กรได้ HR คนที่จะเข้ามาทำงาน HR ต้องมีใจอยากทำเพื่อคนในองค์กรจริงๆ เหมือนเป็นนักพัฒนาสังคมในหน่วยงาน มีใจและ energy ในการวิ่งเข้าไปจัดการกับปัญหา

แมมเรียนคณะ International Human Resources Development เหมาะกับคนที่อยากจบไปเป็น HRD ในองค์กร, เทรนเนอร์อิสระ หรือบางคนได้ไปเป็น HR ทำงานที่ Google, PwC หรือบริษัท Start-Up หลายแห่ง **ถ้าจบสาขานี้และอยากทำงานสายนี้ในไต้หวัน ต้องสื่อสารภาษาจีนคล่อง หรือไม่ก็ทำงานในบริษัทอินเตอร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษล้วนค่ะ

เล่าจุดเด่นของ NTNU
มหาวิทยาลัยดังด้าน "การผลิตครู"

  1. National Taiwan Normal University ตั้งอยู่จุดใจกลาง Taipei (เมืองหลวง) ใกล้กับ Taipei101 และติดตลาด Night Market เป็นทำเลที่ดีสุดยอดส์ และอาคารสวยด้วย~
  2. อาจารย์มีความเชี่ยวชาญสูง อยู่ในวงการมานาน ในขณะเดียวกันก็ใจดีและเป็นกันเอง ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้
  3. วิชาการเข้มข้นแบบพอดี ไม่เข้มจัดและไม่อ่อนเกิน เลือกเรียนได้ 2 แผน คือ (1) เรียนเยอะ (Practical Track) เน้นทำกิจกรรม เบาเรื่องเปเปอร์ลงมาหน่อย และ (2) เรียนน้อย (Academic Track) เน้นเขียนเปเปอร์​​ ทำวิจัยแบบเข้มข้น หน่วยกิตจะน้อยกว่า
  4. เปิดรับ feedback จากนักเรียนและนำไปปรับปรุงหลักสูตรตลอด
  5. เป็น Sister Schools กับ National Taiwan University (NTU) และ National Taiwan University of Science and Technology (NTUST) หรือ Taiwan Tech) สามารถทำเรื่องและข้ามไปเรียนวิชาของมหาวิทยาลัยสองแห่งนี้ได้ด้วยเหมือนกัน
  6. มี Syllabus ชัดเจนว่าแต่ละสัปดาห์จะเรียนอะไร ส่งงานอะไร เพื่อให้เด็กเห็นภาพรวม ในกรณีต้องติดภารกิจข้างนอกก็สามารถบริหารตารางให้เหมาะสมได้

ที่นี่ให้อิสระในการเลือกเรียนสูง จ่ายค่าเทอมก้อนเดียว ลงเรียนได้ไม่เกิน 6 วิชา หรือ sit-in ก็ได้ (จริงๆ สามารถจบได้ใน 1 ปีครึ่ง แต่ถ้าอยากลงวิชาอื่นอีกก็เรียนให้ครบ 2 ปีเลย~) นอกจากนี้ เรายังสามารถเข้าไป sit-in สองสัปดาห์แรกเพื่อดูวิธีสอนก่อนได้

เราได้มาเจอบรรยากาศในคลาสที่คึกคักและเปิดกว้างมากกก ที่นี่สอนแบบเน้นให้คิดก่อน แล้วอาจารย์ค่อยให้ Feedback นักเรียนจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน (Discussion) นำเสนองาน หรือกำหนดกรณีศึกษา​ (Case Studies)  ให้ฝึกตัดสินใจ งานจากวิชาเรียนก็จะพอดีๆ ไม่หนักเกินไป 

ส่วนตัวเราก็ไม่ใช่หนอนหนังสือ เลยไม่เน้นลงวิชาที่อ่านเยอะๆ เพื่อไปสอบ แต่ลงวิชาที่อาจารย์ทำความเข้าใจแล้วจับหลักมาสอนเรามากกว่า โดยระหว่างเรียนเราสามารถรับหน้าที่อื่นๆ ได้ด้วย เช่น เราได้เป็นหัวหน้าห้องในเทอมแรก และเทอมสองเป็นผู้ช่วยอาจารย์ (Teacher Assistant) บางคนก็เป็นผู้ช่วยวิจัย Research Assistant ทำให้การเรียนป.โทของเรามีความยุ่งมากขึ้นไปอีกระดับ

ยกตัวอย่างวิชาเรียนให้เห็นภาพ

  • Training in Business & Industry วิชานี้ให้เราจับคู่เพื่อสอนเพื่อนในห้อง 1 บทในหนังสือ ฝึกให้เรารู้จักเลือกเนื้อหามานำเสนอ แล้วอาจารย์ก็จะช่วยเก็บประเด็นที่เราอาจจะอ่อนไป ทำให้ตอนเรียนไม่น่าเบื่อ เพราะได้ครูที่เป็นเพื่อนๆ ของเราที่ตั้งใจทำกันมาเต็มที่ นอกจากนี้เรายังได้โอกาสในการคิดหัวข้อมาจำลองอบรมจริงกับเพื่อนด้วย (ไม่ใช่วิชาบังคับ)
  • Research Method เป็นวิชาบังคับที่เพื่อนโหวตกันว่ายากที่สุด วิชานี้จะสอนที่มาที่ไปของสิ่งที่เราเห็นในงานวิจัยค่ะ แต่ถ้าใครผ่านประสบการณ์ทำวิจัยมาแล้วก็ฉลุยเลย Seminar วิชาที่ให้เราไปฟัง Speaker ที่ทางมหาลัยเชิญมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ บางคนมาจากต่างประเทศ
  • Organization Behavior วิชาแนวๆ จิตวิทยาองค์กร ได้เพิ่มคลังศัพท์ธุรกิจเยอะมากๆ

. . . . . . . . . .

#รีวิวไต้หวัน 
หลายเรื่องประทับใจ ไต้หวันดีตรงนี้!

  • สังคมไต้หวันให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ มีการรวมตัวเป็นคอมมูนิตี้ ทำให้ไม่เหงาไม่โดดเดี่ยว มีอะไรทำตลอด บางคนรับต่อแถวกดบัตรเสิร์ตก็มีนะคะ ปัจจัยสำคัญคือการเดินทางสะดวก ผู้สูงอายุไปไหนมาไหนคนเดียวได้สบายๆ และสุขภาพก็แข็งแรงเพราะพื้นฐานอาหารการกิน (ส่วนใหญ่เป็นอาหารรสจืด)
  • ในขณะเดียวกัน ไต้หวันยังส่งเสริมให้เด็กๆ รักการอ่านและการเรียนรู้ สังเกตได้ว่าสื่อต่างๆ (ไปจนถึงไฟจราจร) มักจะทำออกมาเป็นการ์ตูน เข้าใจง่าย
  • บัตรเดียวเป็นให้ทุกอย่างให้เราแล้ว ตั้งแต่บัตรนักเรียน หรือเติมเงินแล้วสแกนจ่ายตอนขึ้นรถเมล์ รถบัส รถไฟฟ้า ฯลฯ
  • คนไต้หวันและชาวต่างชาติ เข้าสถานที่ท่องเที่ยวได้แบบแทบไม่เสียเงิน
  • ถ้าอาศัยที่ไต้หวันเกิน 6 เดือน สามารถทำประกันสุขภาพได้ จ่ายถูกลงเยอะมากกก ถ้าที่ไหนรับรับประกันสังคม จะมีสัญลักษณ์ NHI หรือ National Health Insurance
  • ถ้าอยู่ในไต้หวันอย่างถูกกฎหมายนานเกิน 3 ปีขึ้นไป สามารถทำเรื่องขอโอนสัญชาติได้ (อ่านรายละเอียดที่นี่ >>  https://tnda.tainan.gov.tw/fs/defdoc/09%E6%B3%B0.pdf)
  • เทศกาลเยอะ กิจกรรมน่ารัก มีการเดินขบวน Pride Parade Taiwan (ไต้หวันเป็นสังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ)

เรื่องที่อยากให้เตรียมรับมือ

  • ถ้าเจอถังขยะปุ๊บต้องทิ้งเลยนะคะ คว้าโอกาสไว้ เพราะหายากมากกก
  • อาจรู้สึกกดดันเล็กๆ เพราะเค้าคาดหวังว่าเรามาอยู่ไต้หวันแล้วจะต้องพูดภาษาจีนได้
  • มีวัฒนธรรมการ skinship ถึงเนื้อถึงตัว
  • ไต้หวันเก่งเทคโนโลยี แต่การจ่ายเงินด้วย QR Code ยังมีน้อย และแอปธนาคารก็ยังเป็นภาษาจีน
  • เดินทางโดยรถเมล์ สะดวก แต่ระทึกทุกคันนน บางสายเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ ให้อารมณ์เหมือนขึ้นเขาลงเขา แต่แค่สไตล์การขับเฉยๆ พวกถนนหนทางที่ไต้หวันดีมากกก ทางเท้า ทางม้าลายมักจะมีไฟจราจรเสมอ

. . . . . . . . . .

ประวัติการทำกิจกรรม = จิ๊กซอว์
ต่อให้สำเร็จเป็นภาพในฝัน

ถ้าในอนาคตน้องๆ วางแผนจะสมัครทุนหรือโครงการอะไร แนะนำให้คอยบันทึกว่าโครงการหรือทุนอะไรเปิดช่วงไหนบ้าง -> วางแผน timeline การเตรียมตัว -> บิ๊วพอร์ตให้ตรงกับ Core Value ของโครงการนั้น 

และในทุกกิจกรรมที่ได้ไป อยากให้ตอบได้ว่าเราได้อะไรกลับมาบ้าง ไปสังเกตวัฒนธรรมการใช้ชีวิต การเรียน ฯลฯ พอเราไปอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว จะมีเกราะป้องกันให้เราสามารถปรับตัวได้กับทุกที่ค่ะ ^ ^

ตัวอย่างกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เคยเข้าร่วม

  • แลกเปลี่ยน AFS ที่อเมริกา ประสบการณ์ไปต่างประเทศครั้งแรกที่เป็นใบเบิกทางให้ได้ภาษาอังกฤษ จนสมัครกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจ
  • ปัญญาภิวัฒน์เคยส่งไปแลกเปลี่ยน 2 สัปดาห์ที่ไต้หวัน และแลกเปลี่ยน 1 เทอมที่ประเทศสวีเดน **โปรแกรมที่สวีเดนเข้าร่วมกับ ERASMUS+ ด้วย เลยมีโอกาสเป็นทั้งคนเข้าร่วมและคนทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง
  • Workshop ค่าย Youth Istanbul Project ที่ประเทศตุรกี เป็นประเทศที่สวยและรวยวัฒนธรรมสุดๆ ตอนนั้นได้ไปดิสคัสแลกเปลี่ยนหัวข้อเรื่อง Law & Sustainable
  • ไปทำงานที่ดูไบในนามตัวแทนประเทศ (Ambassador) งาน EXPO 2020 Dubai คัดเลือกแบบเข้มข้นมากกก  // ใครสนใจสามารถตามไปอ่านรีวิวพี่มอมแมมได้ที่โพสต์ด้านล่างนี้ค่า มี 7 พาร์ต รูปกับสตอรี่ดีงามได้อีก <3
  • ได้ทุนรัฐบาลไต้หวันไปเรียน ป.โท *ประสบการณ์ที่เล่าในบทความนี้
     
  • โครงการ JENESYS ที่ประเทศญี่ปุ่น กิจกรรม on-site 8 วัน พรีเซนต์เรื่อง การจัดการปัญหาเรื่องความยั่งยืนทางทะเล รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ที่ครอบคลุมไปเรื่อง Climate Change และผลกระทบในด้านอื่นๆ ด้วย **อยากแชร์ว่าโครงการ JENESYS กินดีอยู่ดีมากกกก เค้าเน้นให้คนในกลุ่มประเทศอาเซียนกับญี่ปุ่นทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดี ส่งเสริมการค้า ส่งเสริมการพัฒนาคน และต้องการให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้เพื่อก้าวสู่การเป็น Develop Country ไปด้วยกัน)
     
  • โครงการ YSEALI Academy: Creative AI and Cultural Influence จากทาง Fulbright University Vietnam กิจกรรม on-site 7 วัน
  • อื่นๆ เช่น เคยเป็นตัวแทนไปเล่าเกี่ยวกับการเรียน Work-based Education ให้กับหน่วยงานการศึกษาด้านอาชีวะที่ประเทศนิวซีแลนด์  หรือการพูดเรื่อง Global Citizen ให้กับมหาวิทยาลัยในเวียดนาม

. . . .  . . . . . 

และอัปเดตล่าสุดคือพี่คนนี้ฝึกงานด้าน HR ที่ Grant Thornton จบแล้ว และยังผ่านการฝึกเป็นไกด์อาสาของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวันแล้วด้วยค่ะ (ไปสุดมากๆ) เราเชื่อว่าเรื่องราวการทำกิจกรรมและเส้นทางการขอทุนไปเรียนที่ "ไต้หวัน" เรื่องนี้ จะช่วยจุดแพสชันให้น้องๆ วัยเรียนอยากบิ๊วพอร์ตให้โดดเด่นขึ้นไประดับ 

ไม่ว่าคนที่กำลังอ่านบทความนี้จะเรียนอยู่ที่ไหน ในไทยหรือต่างประเทศ สิ่งสำคัญคือการแบ่งเวลาอย่างสมดุล ใช้ชีวิตวัยเรียนให้สนุก ทำให้เต็มที่  ใครอยากแชร์ประสบการณ์เจ๋งๆ ของตัวเองส่งอีเมลมาที่ studyabroad@dek-d.com ได้เลยนะคะ  ^ ^

Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit
Photo Credit: Mommam Nattapon Aunhabundit
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด