ไม่ได้มีแค่พระโค! พาไปรู้จัก ‘Groundhog Day’ วันพยากรณ์อากาศที่ทำนายโดย ‘กราวด์ฮ็อก’

ปีนี้พระโคกินอะไร? สวัสดีค่าาา ชาว Dek-D ทุกคน เข้าช่วงพฤษภาคมแบบนี้ก็วนมาสู่ประเพณีสุดไวรัลของทุกปีนั่นก็คือ ‘พิธีแรกนาขวัญ’ ในวันพืชมงคลนั่นเอง  โดยไฮไลต์เด็ดที่หลายคนรอคอยก็คือ การเสี่ยงทายจากการกินของพระโคเพื่อทำนายความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตในปีนั้นๆ นั่นเอง

ว่าแต่น้องๆ รู้กันไหมคะว่านอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศมหาอำนาจอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘แคนาดา’ ก็มีการทำนายจากสัตว์เหมือนกันนะ วันนี้พี่พีชชี่เลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับ “Groundhog Day” วันแห่งการทำนายสภาพอากาศไปกับเจ้าตัวกราวด์ฮ็อก อยากรู้กันแล้วละสิว่ามันคือวันอะไรกันแน่ จะเหมือนหรือต่างจากวันพืชมงคลที่ไทยอย่างไร ตามมาหาคำตอบกันเล้ยยย!

**************

กราวด์ฮ็อกคือตัวอะไร? 

Photo credit: pixabay.com
Photo credit: pixabay.com

ก่อนอื่นเลยหลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าตัวนี้มันคือตัวอะไรกันนะ ชื่อไม่คุ้นหูเลยใช่ม้าาา กราวด์ฮ็อก (Groundhog) หรือวูดชัค (woodchuck) เป็นสัตว์ฟันแทะคล้ายตัวตุ่น ถูกจัดอยู่ในวงศ์ตระกูลกระรอก เจ้าตัวจี๊ดพวกนี้มักอาศัยอยู่ตามชายป่า ทุ่งหญ้า หรือลำธารในแถบสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนของโปรดก็คือหญ้า พืชสีเขียว เปลือกไม้ และผลไม้ต่างๆ 

นอกจากนี้เจ้ากราวด์ฮ็อกยังได้ชื่อว่าเป็นนักขุดที่ขุดดินได้อย่างเป็นระบบ แถมยังว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้เก่งแบบสุดๆ และอีกความสามารถอันโด่งดังที่จะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้นั่นก็คือ การพยากรณ์อากาศ เนื่องจากกราวด์ฮ็อกเป็นสัตว์ที่ต้องจำศีลในฤดูหนาว มันจึงถูกนำมาทำนายสภาพอากาศว่าจะฤดูหนาวจะสิ้นสุดเมื่อใดนั่นเอง 

**************

นักพยากรณ์อากาศตัวจิ๋ว!

Photo credit: AP photo
Photo credit: AP photo 

ต้องเกริ่นก่อนว่าในสมัยก่อนไม่ได้มีเทคโนโลยีมาวิเคราะห์สภาพอากาศอย่างในปัจจุบัน ชาวเยอรมันจึงสังเกตธรรมชาติรอบตัวเพื่อคาดการณ์การสิ้นสุดฤดูหนาวจะได้เตรียมตัวเก็บผลผลิตนั่นเองค่ะ หนึ่งในวิธีอันชาญฉลาดก็คือการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ เช่น ตัวแบดเจอร์ (badgers) และเมื่อชาวเยอรมันบางส่วนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ก็ได้นำแนวคิดนี้ติดตัวมาด้วย แต่แถบนี้กลับไม่มีตัวแบดเจอร์เลยซักตัว มีแต่เจ้ากราวด์ฮ็อกเต็มไปหมด จึงได้เปลี่ยนมาสังเกตเจ้าตัวนี้แทน จนสุดท้ายได้กลายมาเป็นประเพณีประจำปีอย่าง 'วันกราวด์ฮ็อก' (Groundhog Day) ตามชื่อเจ้าสัตว์นักพยากรณ์ตัวนี้นี่เองค่ะ

**************

เทศกาลทำนายสภาพอากาศสุดหรรษา 

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

วันกราวด์ฮ็อกจะตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี และจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่ Gobbler’s Knob รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นบ้านพักของ ‘เจ้าฟิล’ (Phil) กราวด์ฮ็อกซุปตาร์ของสหรัฐฯ (นอกจากนี้ยังมีซุปตาร์จากแถบอื่นๆ อีกนะ เช่น เจ้า General Beauregard Lee จากรัฐจอร์เจีย หรือเจ้า Wiarton Willie จากแคนาดา) 

ผู้คนเชื่อว่าหากฟิลโผล่ออกมาจากโพรงของมันแล้วออกไปหาอาหารทันที แปลว่า ฤดูหนาวกำลังจะสิ้นสุดลง เตรียมต้อนรับฤดูใบไม้ผลิกันได้เล้ยยยย! แต่หากฟิลออกมาจากโพรงแล้วเห็นเงาตัวเองจนตกใจกลัวและมุดกลับเข้าโพรงไป แปลว่า ฤดูหนาวจะอยู่ต่อไปอีก 6 สัปดาห์กว่าจะเข้าฤดูใบไม้ผลิเลยค่ะ 

สำหรับวันกราวด์ฮ็อกครั้งล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมจากปกติมาเป็นการให้เจ้าฟิลเลือกม้วนกระดาษที่มีผลทำนายฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ผลิแทน ซึ่งเจ้าฟิลก็เลือกกระดาษม้วนที่เป็นผลทำนายฤดูหนาว เท่ากับว่าสหรัฐฯจะต้องหนาวไปอีก 6 สัปดาห์นั่นเองค่ะ

แต่ก็มีอีกกระแสจาก NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติอเมริกา ชี้ว่าการทำนายทั้งหมดของฟิลมีความแม่นยำเพียง 40% เท่านั้น ถึงอย่างนั้นผู้คนในเมืองต่างก็ไม่ได้จริงจังกับการทำนายกันอยู่แล้วและมองว่ามันเป็นเรื่องตลกดีอีกต่างหาก พร้อมกับกล่าวว่า

 “A day to take everything a little less seriously, and break up the winter monotony at least for a little while!”

(ในวันกราวด์ฮ็อกแบบนี้เราควรจะผ่อนคลายกับทุกสิ่งและหาอะไรทำแก้เบื่อในช่วงฤดูหนาวกันซักหน่อยนะ!)

**************

Recommended Movie! 

จากภาพยนตร์ ‘Groundhog Day’ (1993)
จากภาพยนตร์ ‘Groundhog Day’ (1993) 

สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากลองสัมผัสบรรยากาศของวันนี้แบบถึงพริกถึงขิง พี่ขอแนะนำภาพยนตร์ฟีลกู๊ดอย่างเรื่อง ‘Groundhog Day’ (1993) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มนักข่าวที่ต้องไปทำข่าวพยากรณ์อากาศในวันกราวน์ฮ็อก ที่เมืองพังซูทาวน์นีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย แต่เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นเมื่อเจ้าตัวนอนหลับแล้วตื่นมาพบว่าตัวเองวนลูปอยู่ในวันกราวด์ฮ็อกที่เมืองแห่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พระเอกของเราจะออกจากลูปนี้อย่างไรไปติดตามกันได้ค่ะ

**************

วันสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ยังตรงกับวันสำคัญเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวในวัฒนธรรมอื่นๆ อีกด้วย เช่น 

  1. วัน Imbolc / St. Brigid's Day ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นเทศกาลแห่งไฟของชาวเคลต์ (Celts) หรือชนกลุ่มในยุคยุโรปโบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นช่วงแห่งการเกิดใหม่ที่ผู้คนจะคอยเฝ้าสัตว์ที่จะคลอดลูกในฟาร์ม รอเก็บเกี่ยวผลผลิต และกินเลี้ยงเฉลิมฉลองกันภายในครอบครัว // ปัจจุบันเป็นวันหยุดประจำชาติของประเทศไอร์แลนด์ค่ะ
Photo Credit: pixabay.com
Photo Credit: pixabay.com
  1. วัน Candlemas ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นพิธีเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ทั่วโลกเพื่อระลึกถึงพระแม่มารีและพระเยซู โดยผู้คนจะไปจุดเทียนที่โบสถ์และอธิษฐานขอพรกันค่ะ

ในอดีตผู้คนเชื่อว่าหากในวัน Candlemas เป็นวันที่อากาศปลอดโปร่ง ทำนายได้ว่าจะมีฤดูหนาวต่อไปอีก แต่ถ้าหากในวัน Candlemas มีฝนตก ทำนายได้ว่ากำลังจะสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งนี่ก็เป็นการทำนายสภาพอากาศเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในแบบฉบับของคนสมัยก่อนนั่นเองค่ะ 

Photo Credit: pixabay.com
Photo Credit: pixabay.com

Note: วันกราวด์ฮ็อกก็ได้รับแนวคิด แรงบันดาลใจมาจากทั้งสองเทศกาลนี้เช่นกัน!

**************

เป็นยังไงกันบ้างคะกับ ‘วันกราวด์ฮ็อก’ ตอนได้ยินครั้งแรกเปิดโลกพี่มากๆ เพราะไม่นึกเลยว่าต่างประเทศก็มีการพยากรณ์สภาพอากาศจากสัตว์เหมือนประเทศเราที่ไทยมีพระโค ส่วนอเมริกาและแคนาดาก็มีเจ้ากราวด์ฮ็อกเหมือนกันนะ! แล้วน้องๆ รู้จักเทศกาลแปลกๆ อะไรกันอีกบ้างคะ มาคอมเมนต์แชร์กันได้น้าาา ส่วนวันนี้พี่พีชชี่ต้องขอลาไปเตรียมตัวดูผลทำนายจากพระโคก่อนนะคะ บ้ายบายยยย~

Sources:https://www.britannica.com/animal/groundhog https://www.britannica.com/topic/Groundhog-Day https://www.almanac.com/groundhog-day https://www.rd.com/article/famous-groundhogs-besides-punxsutawney-phil/https://www.imdb.com/title/tt0107048/ https://www.museum.ie/en-IE/News/St-Brigids-Day https://www.alimentarium.org/en/fact-sheet/candlemas-festival-lights  Photo sources: https://bit.ly/3M8fW1p https://newsroom.ap.org/editorial-photos-videos/search?query=Groundhog%20Day&mediaType=photo&st=keyword https://unsplash.com/photos/jy0-YNUmlAw https://www.imdb.com/title/tt0107048/mediaindex?ref_=tt_mv_closehttps://bit.ly/3BdFx2S https://bit.ly/3O3SBiO  
พี่พีชชี่
พี่พีชชี่ - Columnist เด็กลิทหนอน(หนัง)สือ หัวใจ เด็กสมบัติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น