3 ปีสุดคุ้มของเด็กทุน DAAD เรียนโทสาขารัฐศาสตร์ที่ ‘เยอรมนี’ ฟรีทุกอย่าง! (Universität Passau)

Hallo! ใครอยากเรียนต่อ "เยอรมนี" ประเทศในยุโรปที่สวัสดิการด้านการศึกษาดี และมาพร้อมคุณภาพกับโอกาสฝึกภาษาที่ขึ้นชื่อเรื่องความยากและเสน่ห์จากความดุดัน ในแต่ละปีจะมีทุนรัฐบาลเยอรมนี ชื่อทุน DAAD เปิดรับสมัครจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยจะแบ่งแยกย่อยเป็นหลายประเภท เช่น  DAAD-EPOS สาขาวิศวกรรมศาสตร์, สาขาสิ่งแวดล้อม, ดุริยางคศิลป์, สถาปัตยกรรมศาสตร์นโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล ฯลฯ โดย Motto ของทุน DAAD คือ “Change by Exchange” มุ่งเน้นให้ชาวต่างชาติไปศึกษาต่อและนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนค่ะ

และวันนี้เรามีรีวิวจาก “พี่ปลาย” รุ่นพี่นักเรียนทุน DAAD Helmut-Schmidt-Programme ไปเรียนต่อ ป.โท สาขานโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลโลกที่ Universität Passau เมืองพัสเซา เล่าตั้งแต่การสมัครทุน สมัครเรียน ความประทับใจแง่มุมต่างๆ และสิ่งที่อยากบอกต่อน้องๆ #ทีมเยอรมนี พร้อมแล้วตามมาทางนี้เลยค่าา~

อ่านจบมีข้อสงสัยอยากปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 หรือขอคำแนะนำเรื่อง SoP ข่าวดีคือ "พี่ปลาย" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พี่ปลายจะมาวันที่ 27 เม.ย. 2024)  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

Platz der Republik, Berlin, Germany
Platz der Republik, Berlin, Germany
Photo by Maheshkumar Painam on Unsplash

รู้จักกันก่อน!

“สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘พี่ปลาย-ศศิวิมล อ่อนทอง’ นะคะ พี่จบ ม.ปลายสายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แต่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์กับปรัชญามาตั้งแต่ประถมแล้วค่ะ ตอน ป.ตรี เลยตัดสินใจเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.เชียงใหม่

“ช่วงเรียนจบและก่อนขอทุน DAAD มีช่วงที่พี่ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยเกี่ยวกับประเด็นสหภาพยุโรป (EU) และอาเซียน (ASEAN) ทำให้หยิบยกประสบการณ์มาเล่าตอนสมัครทุนได้ เพราะสาขาที่สมัครคือด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล (Governance and Public Policy) ที่ ม.พัสเซา (Universität Passau) ประเทศเยอรมนี ช่วงปีการศึกษา 2016-2018”

รีวิวสมัครทุนรัฐบาลเยอรมนี DAAD
(+ประเทศนี้เรียนฟรีอยู่แล้วไหม?)

“ทุน DAAD จะจัดสรรเงินก้อนให้เดือนละ 1 ครั้ง เช่น พี่ได้เดือนละ 750 EUR เราต้องบริหารเงินจำนวนนี้เอง เช่น ค่าเรียน ค่าที่พัก ค่าหนังสือ ฯลฯ บางคนอาจสงสัยว่าที่เยอรมนีเรียนฟรีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ จริงอยู่ที่มหา'ลัยส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าเทอมค่ะ แต่จะมีเก็บค่าธรรมเนียม เช่น ตอนพี่ไปเรียนพัสเซา จ่ายเทอมละ 72 EUR  (เทียบเงินไทยตอนนี้ตกประมาณ 2,775 บาท) ต่างชาติหรือคนเยอรมันก็จ่ายเรตเดียวกัน แต่ไม่ใช่ทุกที่จะราคาถูกเหมือนกันหมด อย่าลืมเช็กในเว็บเพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดนะคะ”

สมัครยังไง?​ ช่วงไหนดี?

“พี่สมัครผ่านเจ้าหน้าที่ตัวแทนทุน DAAD ประเทศไทย หรือ DAAD Representative ซึ่งมีที่คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.เชียงใหม่ จากนั้นรอผล 6 เดือนค่ะ **แนะนำให้รีบสมัครตั้งแต่เนิ่นๆ เดดไลน์คือ 31 กรกฎาคมของทุกปี 

บอกเลยว่าตอนนั้นพี่ส่งเกือบเที่ยงคืนของวันสุดท้าย เพราะคาดไม่ถึงว่าขั้นตอนจะเยอะขนาดนี้ อย่างเช่น พี่ต้องไปติดต่อขอผลการเรียนสมัย ม.ปลาย จากธุรการโรงเรียน, สอบ IELTS, กรอกใบสมัคร, เขียน Motivation Letter, ขอ Recommendation Letter จากอาจารย์ ฯลฯ”

คำแนะนำเกี่ยวกับ Motivation Letter

การเขียนแบบ German Style คือต้องเล่าให้ชัดเจน เขียนแบบเนื้อๆ ทุกบรรทัด อย่าอารัมภบทเยอะ ความยาวภายใน 1 หน้าดีสุด และไม่ควรเกิน 2 หน้า พยายามเน้นว่าเราเคยทำอะไรที่โดดเด่น (Outstanding) ที่น่าจะแข่งกับคนอื่นได้ และเขียนเชื่อมโยงประสบการณ์ของเรากับคณะที่จะสมัคร เช่น พี่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เกี่ยวกับ EU x ASEAN และได้เป็นตัวแทนเสวนาวิชาการธีสิสตอน ป.ตรี (สนับสนุนโดย Japan Foundation) หรือ อาจเป็นวิชาที่เรียนตอน ป.ตรี และมีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรนั้นก็ได้นะ

การเลือกมหาวิทยาลัย

“ทุนจะให้เลือก 3 อันดับ (ต้องสมัครติด 1 ใน 3) พี่เลือก Universität Passau ไว้อันดับแรกเลยเพราะเสิร์ชข้อมูลแล้วเจอจังหวะตกหลุมรักค่ะ <3 มหาวิทยาลัยสวยมากกก ตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่อ ‘พัสเซา’ (Passau) ฉายาเมืองนี้คือ ‘เวนิสแห่งเยอรมนี’ และด้วยความที่มีแม่น้ำ 3 สายล้อมรอบ ได้แก่ Danube, Bavaria และ Barque ทำให้เมืองนี้มีฉายาว่า ‘เมืองแม่น้ำสามสาย’ เป็นแลนมาร์กสำคัญที่คนนิยมมาเที่ยว” 

“คณะเด่นที่นี่คือไอที กฎหมาย สังคม ฯลฯ โดย Governance and Public Policy เป็นหนึ่งในไม่กี่โปรแกรมเข้าร่วมโครงการ DAAD นอกจากนี้เรายังเจอความน่าสนใจอื่นๆ เช่น มีเปิดสอนวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ไทยศึกษา คอร์สภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ ฯลฯ” 

Passau, Deutschland
Passau, Deutschland
Photo by Yves Cedric Schulze on Unsplash
Passau, Deutschland
Passau, Deutschland
Photo by Yves Cedric Schulze on Unsplash 

เริ่มต้นชีวิตนักเรียนทุน DAAD
กับความบันเทิงช่วงปรับตัว!

“ถ้าเป็นเรื่องภาษา ตอนอยู่ไทยพี่เคยเรียนพิเศษภาษาเยอรมันตั้งแต่ปี 1-2 (แรงบันดาลใจคืออยากฝันให้คุณแม่ที่เคยสมัครติดแต่ไม่สามารถไปเรียนได้) พี่เรียนถึงระดับ A2 แล้วหยุดไปช่วงปี 3 เพราะต้องทุ่มเวลากับการทำธีสิสจบ ป.ตรี กว่าจะกลับมาเรียนภาษาอีกครั้งก็ตอนประกาศผลว่าเราได้ทุน DAAD พี่รีบไปลงคอร์สภาษาแบบเร่งรัด 1:1 กับครูเยอรมัน จนจบ B1 ก่อนเดินทาง พอไปถึงพอไหวแต่ก็ยากอยู่ดี ใช้เวลาปรับตัวอีกเกือบปีเลยค่ะ”

สำหรับนักเรียนทุน DAAD มีจัดโรงเรียนภาษาให้เรียนก่อน 6 เดือน พร้อมให้ค่าเรียน ค่าที่พัก กับเงินเดือนด้วย โดยจะให้เรียนเมืองใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยที่กำลังจะได้ไปเรียนค่ะ ตอนนั้นพี่ได้ไปเรียนที่ Carl Duisburg Zentrum อยู่ในกรุงมิวนิก (Munich) ตั้งแต่ระดับ B1-C1 (ถ้า B1 จะสามารถสื่อสารในชีวิตประจำวัน สามารถสมัครเรียนและสมัครงานได้)"

Photo by Jan Antonin Kolar on Unsplash
Photo by Jan Antonin Kolar on Unsplash

“ตอนเรียนภาษาที่มิวนิก คือช่วงชีวิตที่ดีที่สุดในชีวิตนักเรียนทุนเลยค่ะ! เพราะเป็นเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว เพียงแต่ช่วงแรกรู้สึกผิดคาดเพราะคนไม่พูดภาษาอังกฤษกันเลย แถมยังพูดเร็ว ป้ายกับร้านค้าต่างๆ ก็เป็นภาษาเยอรมันหมด ในขณะที่พื้นฐานเราไม่แข็ง ไม่แน่ใจว่าตอนนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน แต่พี่ก็ยังคงแนะนำให้พอมีภาษาระดับเอาตัวรอดในชีวิตประจำวันได้”

"ภาษาเยอรมันสำหรับพี่คือยากทุกตรง ตอนเรียนเลยจะมีช่วงวัดใจว่าไปต่อหรือพอแค่นี้ดี? เพราะกฎไวยากรณ์ละเอียด มีแบ่ง 3 เพศ ผันตามประธาน คำศัพท์บางคำทั้งยาวและออกเสียงยาก ยิ่งเรียนถึงเลเวลสูงคนยิ่งเหลือน้อย บางคลาสเหลือพี่คนเดียว สิ่งที่จะไม่ทำให้ล้มกลางคันก็คือต้องหาเหตุผลที่อยากเรียนให้เจอ เช่น ถ้าจะสมัครเรียนต่อ ป.ตรี หลักสูตรภาษาเยอรมัน ต้องได้ขั้นต่ำ B1-B2 หรือถ้าจะเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน ต้องได้ C1-C2 เป็นต้น”

รู้จัก ‘Goethe-Zertifikat’ การสอบภาษาเยอรมัน ใช้ได้ทั้งเรียนต่อ-ขอทุน-สมัครงานในเยอรมนี  https://www.dek-d.com/studyabroad/60656/ 

Photo Credit: Universität Passau
Photo Credit: Universität Passau

รีวิวการเรียน ป.โท สุดมันส์
เรียน 2 ภาษา

หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร

“พี่ไปเรียนสาขา Governance and Public Policy ที่ Universität Passau โครงสร้างคร่าวๆ คือ Module A (วิชาบังคับ), Module B (มีลิสต์วิชาให้เลือกลงให้ครบตามหน่วยกิต เช่น กฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ), Module C (ไฟต์บังคับคือทำธีสิสจบ) และมีฝึกงานอีก 1 เดือน **โปรแกรมนี้เหมาะกับคนที่อยากเรียนรู้เรื่องระบบการเมืองในหลายประเทศ คนที่สนใจอยากทำงานด้านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น 

  • องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป NGOs IOM
  • องค์กรเยอรมันเช่น Konrad Adenauer Stiftung, Hann Seidel Foundation
  • นโยบายสาธารณะ นโยบายสุขภาพ
  • สายวิชาการในมหาวิทยาลัย
  • ปลัด นักการเมือง
  • เจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศ
https://www.uni-passau.de
https://www.uni-passau.de

เรียนกันแบบไหน

ส่วนใหญ่วิชาเรียนคือการนำเสนอ 40% และเปเปอร์ 60% **การแสดงความคิดเห็นสำคัญมากๆ เราจะต้องอ่านให้เข้าใจก่อนเพื่อมาถกกันในคลาส อาจารย์จะนั่งฟังและให้คำแนะนำไปด้วย เช่น ในวิชาปรัชญาการเมือง นักเรียนจะได้จับคู่กันเลือกนักปรัชญาแวดวงนี้ 1-2 คน นำเสนอและอภิปรายเกี่ยวกับแนวคิดของเขา”

“ปกติพี่จะเตรียมตัวอ่านล่วงหน้าก่อนถึงคลาสนั้นๆ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เขาจะมีเปิด Office Hour ให้เราถามได้ (ควรเข้าไปถาม) และห้องสมุดจะเกือบเต็มตลอด เวลาอยู่ในคลาสเพื่อนยกมือตอบกันแบบเดือดปุดๆ โดยเฉพาะคนเยอรมัน ถ้าคลาสไหนเรียนภาษาเยอรมันเรายิ่งต้องเตรียมตัวหนักเป็นพิเศษ รวมถึงเวลาทำเปเปอร์แบบ German Style เราอาจต้องปรับตัว เช่น

  • การนำเสนอทุกครั้งต้องมี Agenda ชัดเจนว่าเราจะพูดอะไร เวลาเท่าไหร่บ้าง
  • สื่อการนำเสนอหรือสไลด์ต้องใช้พื้นหลังสีขาวและตัวอักษรสีดำเท่านั้น
  • ทุกอย่างต้องมีหลักฐานหรือข้อมูลประกอบรองรับชัดเจน ใช้แบบแผนอ้างอิงที่กำหนด และไม่ต้องใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไป"

ช่วงเวลาแห่งการทำธีสิส

“เข้าเทอม 3 ต้องทำธีสิส มีเวลาให้เขียนประมาณ 6 เดือนกว่าค่ะ โดยที่ก่อนทำ เราต้องลงเรียนกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญหัวข้อนั้น 1-2 วิชาเพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอ และสามารถขอคำแนะนำได้ค่ะ ตอนนั้นหัวข้อที่พี่ทำคือ The Foreign Policy of Germany and Thailand in the Era of Otto von Bismarck and King Chulalongkorn in Comparative Perspective เปรียบเทียบนโยบายการต่างประเทศของไทย ยุค ร.5 และประเทศเยอรมนีภายใต้การปกครองของ อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)” 

“ทีนี้ในหลักสูตรจะให้เราฝึกงาน 1 เดือนก่อนจบ พี่เลือกไปฝึกงานที่สถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลิน (Berlin) ซึ่งเขามีห้องสมุดให้เราสามารถเข้าไปหาข้อมูลประวัติศาสตร์และการเมืองฝั่งไทย ส่วนเนื้อหาฝั่งเยอรมนีจะมีในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยพัสเซาค่ะ พอฝึกงานเสร็จกลับมาเขียนธีสิสส่งพอดี จังหวะทุกอย่างลงตัวมากๆ”

รีวิวเมืองพัสเซา (Passau)
เมืองเล็กอบอุ่น และดีงามแบบไม่เบา

  • เป็นเมืองชายแดนระหว่าง “เยอรมัน-ออสเตรีย” อยู่ที่นี่เราจะเจอคนออสเตรียเยอะมาก ซึ่งเขาจะพูดภาษาเยอรมันสำเนียงออสเตรียกันค่ะ
  • เดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นๆ ง่ายมาก เช่น เช็กเกีย (Czechia) สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) หรือออสเตรียที่ชายแดนติดกัน
  • สำหรับพี่ประทับใจออสเตรียที่สุดแล้ว~ เพราะที่เที่ยวแนวธรรมชาติเยอะ ศิลปะสวย  มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ต่างจากเยอรมนี ในขณะที่เยอรมนีจะเป็นแนว Modern ให้ความรู้สึกเคร่งขรึมมากกว่า // พี่เคยไปกรุงเวียนนา (Vienna) 3 ครั้ง และที่ชอบสุดคือเมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) บ้านเกิดของ Wolfgang Amadeus Mozart
โบสถ์ St.Stephen's Cathedral หนึ่งในสถานที่ยอดนิยม
โบสถ์ St.Stephen's Cathedral หนึ่งในสถานที่ยอดนิยม
Photo by Yves Cedric Schulze on Unsplash

พัสเซาถือเป็นเมืองที่ค่าครองชีพไม่สูง ค่าอาหารถูก (เป็นประเทศที่ควรให้ทิปพนักงาน) แต่ให้เตรียมเงินเตรียมใจกับค่าที่พัก **ตอนนั้นหอที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยจะตกประมาณเดือนละ 340 EUR วิธีประหยัดเงินทุนของพี่คือทำอาหารเอง เก็บเงินไว้จ่ายส่วนที่จำเป็นจริงๆ

อาหารขึ้นชื่อของประเทศคือ “German Beef Rouladen” เป็นสเต็กเนื้อวัวที่เสิร์ฟคู่กับมันฝรั่ง ขนม Pretzel และ “เบียร์” แต่ละเมืองจะมีเบียร์ขึ้นชื่อของตัวเอง เช่น ที่พัสเซามีเบียร์ขาว เบียร์ดำ (สามารถดูข้อมูล Passau Beer Guide ได้ที่ https://www.ratebeer.com/places/city/passau/112/79

พี่เคยไปเข้า Workshop สอนทำอาหารไทยโดยคนเยอรมันด้วยนะคะ (ฟังดูแปลกๆ ใช่ไหม 5555) เขาจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อสร้างอาชีพให้คนไทยในเยอรมนี เพราะเป็นประเทศที่ธุรกิจอาหารไทยเติบโตมากๆ ร้านอาหารไทยเยอะ มีเมนูหลากหลาย  เช่น ต้มข่าไก่ ผัดไทย มัสมั่น ผัดกระเพรา ฯลฯ ถ้าเป็นเมืองใหญ่อย่างมิวนิกหรือเบอร์ลิน (Berlin) สามารถหาร้านอาหารที่เป็นรสชาติต้นตำรับได้ง่าย เพราะมีคนไทยอาศัยอยู่เยอะค่ะ

คนเยอรมันที่เจอเป็นยังไงบ้าง?

  • คนเยอรมันมีเหตุผลที่หนักแน่นมาโต้แย้งกับเราเสมอ ถ้าจะหักล้างกับเขาได้ต้องมี Facts/สถิติในมือพร้อมถก ไม่ใช่แค่ในคลาสเรียน แต่ชีวิตจริงก็เป็นแบบนี้ การคุยเรื่องทั่วไปอาจกลายเป็นเรื่องซีเรียสขึ้นมาได้ เปิดเรื่องด้วย Introduction -> Content -> Conclusion แล้เวลาคุยถ้าจะยิ้มไปอาจถูกมองแปลกๆ ได้ค่ะ

    เหตุผลที่คนเยอรมันจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะเหตุผลด้านการเมือง เพราะพวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศหลังยุติสงครามโลกครั้งที่ 2
     
  • คนเยอรมันซื่อสัตย์มาก กฎหมายจึงเข้มงวด บทลงโทษจริงจังและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นสุ่มตรวจตั๋วตอนขึ้นรถเมล์ (ถ้าไม่จ่ายโดนปรับหนัก) กฎหมายจราจรเข้มงวด ผิดกฎทีขึ้นบัญชีดำได้ ฯลฯ ถ้าพูดในบริบทการเรียนมหาวิทยาลัย ถ้าทุจริตในการสอบหรือตรวจพบการโจรกรรมข้อมูลในงานวิจัย ถือเป็นความผิดทางวินัยที่ร้ายแรงมาก มีโอกาสโดนไล่ออกได้เลย
     
  • ไม่ว่าเป็นสถานการณ์ไหนก็ไม่ควรสายเด็ดขาด เพราะคนเยอรมันเคร่งเรื่องเวลา สมมตินัดเจอบ่ายโมง (1PM) เราต้องถึงประมาณ 12.50PM หรือถ้าไปตรงเวลา ก็ยังดีกว่าไปถึง 13.01PM

ทิ้งท้ายถึงคนอยากโยกย้ายว่า

“ไม่ว่าจะอยากย้ายไปประเทศไหน ทุกประเทศมีข้อดีข้อเสีย อยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากตรงนั้น และช่วงปรับตัวเราจะเจอความยากหลายด่าน อยากให้มั่นใจว่าพร้อมจริงในทุกด้าน เหตุผลหนักแน่น มีพื้นฐานภาษาระดับเอาตัวรอดหรือตามที่หลักสูตรกำหนด มีเงินก้อนติดตัวเป็น Pocket Money ขึ้นอยู่กับว่าจะมาด้วยวิธีไหน” 

 

"สำหรับพี่การไปเรียนครั้งนี้คุ้มค่ามากๆ เพราะได้เปิดโลก เปลี่ยนทัศนคติ ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็น ทั้งความอดทน การเอาตัวรอด การค้นหาตัวเอง ฯลฯ ใครที่อยากเรียนต่อเยอรมนี แนะนำให้เริ่มจากติดตามช่องทางนี้ค่ะ

. . . . . . . . .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่ปลายตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 27 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียด้วย!

"พี่ปลาย" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 27 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ!

เข้าสู่เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น