เรียน ป.ตรี เศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นยากไหม? เปิดใจ ‘ใบฝ้าย’ ดีกรีเด็กทุนรัฐบาลญี่ปุ่นในรั้ว『 Hitotsubashi University 』

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงการไปเรียนต่อแดนอาทิตย์อุทัย ทุนที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ “ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น” หรือ “ทุนมง” (Monbukagakusho: MEXT)  มีตั้งแต่ระดับปริญญาตรี, วิจัย, วิทยาลัยเทคโนโลยี และวิทยาลัยอบรมวิชาชีพ ครอบคลุมค่าเรียน 100% ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าครองชีพให้มาบริหารเองก้อนใหญ่ ที่สำคัญคือเครือข่ายนักเรียนทุนมงอบอุ่นมาก และการได้ทุนยังช่วยการันตีถึงความสามารถที่ไม่ธรรมดาอีกด้วย

แม้การแข่งขันจะสูง มีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น หลายคนก็รู้สึกถึงความคุ้มค่าที่จะเตรียมตัวเพื่อสมัครทุนนี้ให้ได้ วันนี้เรามีรีวิวน่าสนใจจาก “พี่ใบฝ้าย – พิชญาภา พิสุทธาดามงคล” บัณฑิตใหม่ที่เพิ่งเรียนจบสดๆ ร้อนๆ จากคณะเศรษฐศาสตร์『 Hitotsubashi University 』โดยพี่ใบฝ้ายให้เกียรติตอบรับคำเชิญจาก Dek-D มาแชร์ประสบการณ์สำหรับรุ่นน้อง และยังพร้อมสแตนด์บายให้คำปรึกษาน้องๆ ที่สนใจแบบ 1:1 ภายในงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! 

. . . . . . . . . .

โอฮาโยโกไซมัส! 
ชวนทักทายผู้อ่านกันก่อนค่า

สวัสดีค่ะทุกคน พี่ชื่อ “ใบฝ้าย – พิชญาภา พิสุทธาดามงคล” เรียนจบ ม.ปลาย แผนวิทย์-คณิต-ญี่ปุ่น จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาค่า

หลังจากติดทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ใบฝ้ายไปเริ่มเรียนปรับภาษา 1 ปีที่ Tokyo University of Foreign Studies - 東京外国語大学 และสมัครเรียน ป.ตรี คณะเศรษฐศาสตร์ Hitotsubashi University 一橋大学 ปัจจุบันเรียนใกล้จบปี 4 แล้วค่ะ

東京外国語大学 - Tokyo University of Foreign Studies, TUFS
東京外国語大学 - Tokyo University of Foreign Studies, TUFS
Hitotsubashi University 一橋大学
Hitotsubashi University 一橋大学

เหตุผลที่สมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

เริ่มจากที่คุณแม่ทำงานบริษัทยาของประเทศญี่ปุ่น ต้องบินไปสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นบ่อยมากๆ ตั้งแต่เด็กใบฝ้ายเลยมีโอกาสติดไปด้วย 3-4 ครั้ง แถมคุณตาคุณยายก็เป็นนักเรียนทุนมงทั้งคู่ เหมือนกับเราได้ยินประเทศนี้บ่อยจนรู้สึกผูกพันไปเลย

แล้วใบฝ้ายก็ตัดสินใจสมัครทุนมง ได้ยินมาเยอะเหมือนกันว่ายาก แต่ถ้าติดขึ้นมาคือคุ้มเพราะได้ลองใช้ชีวิตในต่างประเทศ ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเอง มีเงินค่าครองชีพให้รายเดือน* แล้วถ้าเกิดเรามีประวัติว่าเคยได้ทุนเต็มจำนวนตอน ป.ตรี จะเป็นแต้มต่อมากๆ สำหรับคนที่อยากสมัครทุนนี้ต่อในระดับ ป.โทค่ะ 

*อ้างอิงจากระเบียบการรับสมัครของ ป.ตรี ปี 2024 ทุนมงจะให้เงินเดือน 117,000 เยน หรือประมาณ 30,420 บาทต่อเดือน ถ้ามีค่าใช้จ่ายเกินจากนี้เราต้องโปะเพิ่มเอง สำหรับใบฝ้ายเองจะพยายามทำให้พอ พยายามประหยัดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำอาหารเอง ถ้าไม่ไกลเกินก็เดินแทนการนั่งรถ เพราะอากาศดีและได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วยค่ะ

เปิดโพรไฟล์และวิธีเตรียมตัวเพื่อพิชิตทุนมงครั้งนี้

  • จบสายวิทย์-คณิต-ญี่ปุ่น รร.เตรียมอุดมศึกษา GPA ≈ 3.8
  • คะแนนวัดระดับภาษาญี่ปุ่น N2

ทุนมงจะมีให้เลือกสอบสายวิทย์ (Natural Science กับสายศิลป์ (Social Science & Humanities) วิชาที่สอบจะต่างกันค่ะ เราจะต้องรู้คร่าวๆ ก่อนว่าอยากเรียนต่อคณะไหนเพื่อให้สมัครตรงสาย เช่น ใบฝ้ายอยากเข้า ป.ตรี คณะเศรษฐศาสตร์ เลยเลือกสอบของสายศิลป์ ตอนนั้นจะบังคับสอบแค่ 2 วิชาคือคณิตกับอังกฤษ ส่วนภาษาญี่ปุ่นจะสอบหรือไม่สอบหรือไม่สอบก็ได้ แต่หลังจากปี 2021 เป็นต้นมามีบังคับให้สอบภาษาญี่ปุ่นเพิ่ม และต้องยื่นคะแนนภาษาญี่ปุ่นด้วย (สังเกตว่าระยะหลังมีคนที่ได้ทุนจากหลากหลายโรงเรียนมากขึ้น)

ระเบียบการรับสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ระดับ ป.ตรี ประจำปี 2024
ระเบียบการรับสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ระดับ ป.ตรี ประจำปี 2024

ส่วนการเตรียมตัว ใบฝ้ายเองตั้งใจจะสอบหมอ ช่วงปิดเทอมขึ้น ม.6 ก็เลยเรียนพิเศษกับฝึกทำโจทย์วิชาเลขมาเยอะมาก เลยเหมือนเราได้เตรียมสอบไปในตัวแล้วค่ะ แต่มี 1 เดือนที่ฝึกทำข้อสอบเก่าทุนมงค่ะ เดือนนั้นจริงจังสุดๆ ลบแอปโซเชียลหมด แล้วโหลด BBC มาอ่านข่าวภาษาอังกฤษทุกวัน เวลาเจอศัพท์ยากๆ ก็จดออกมาท่อง // ส่วนตัวคิดว่าศัพท์ในข้อสอบทุนมงยากพอสมควรสำหรับเด็ก ม.6

รีวิวช่วงปรับภาษา (ปี 0) จนถึงสมัครมหาวิทยาลัย

ก่อนขึ้น ป.ตรี เด็กทุนมงจากทุกประเทศจะต้องเรียนปรับภาษาก่อน 1 ปี สายวิทย์แบ่งไปเรียนที่โอซาก้า (Osaka) ส่วนสายศิลป์จะได้เรียนที่ Tokyo University of Foreign Studies - 東京外国語大学 ทั้งหมด

ข้อมูลสรุปทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ละประเภทและการคัดเลือก
ข้อมูลสรุปทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ละประเภทและการคัดเลือก

ช่วงปรับภาษาจะเรียกกันว่า “ปี 0” เครียดตรงที่เรายังไม่รู้อนาคต เพราะยังไม่มีสถานะติดมหาวิทยาลัยไหน แต่ก็เป็นช่วงชีวิตที่สนุกและท้าทายสุดๆ เหมือนกัน เพราะจากอยู่ไทยมาตลอด ต้องเปลี่ยนมาใช้ชีวิตคนเดียวในหอที่ต่างประเทศ เปิดหูเปิดตากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และปาร์ตี้กับเพื่อนบ่อยมาก อาจมีกดดันเวลาเห็นเพื่อนบางคนเขาอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันหนักค่ะ

ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้วิชาเปลี่ยนไปเยอะ ตอนใบฝ้ายเรียนจะมีวิชาเฉพาะ คือ Economics, Politics, International Relations และ History กับวิชาอีกกลุ่มคือ ภาษาญี่ปุ่น แยกเป็นวิชาฟัง-พูด-อ่าน-เขียน-ไวยากรณ์ ส่วนตัวใบฝ้ายพอพูดกับฟังได้อยู่แล้ว แต่ต้องฝึกอ่านกับเขียนอีกเยอะ เพราะอ่านจับใจความไม่ค่อยได้ วิธีของเราคือฝึกอ่านบ่อยๆ ออกเสียงให้ตัวเองได้ยิน พอจบปี 0 ก็รู้สึกทำได้มากขึ้น

พอถึงช่วงใกล้จบเราต้องสมัครมหาวิทยาลัย ใบฝ้ายได้เข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ที่ Hitotsubashi University เรียกสั้นๆ ว่าฮิโต ถึงตอนนี้จะเปิดสอนเพียง 5 คณะ  แต่สายสังคมและเศรษฐศาสตร์ของที่นี่ดังมากกเป็นอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น อาจารย์เก่งๆ เยอะ หลายคนจบจาก Ivy League พูดภาษาอังกฤษได้ นักการเมืองกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนจบจากฮิโตค่ะ

*มีสถิติน่าสนใจด้วยว่าในบรรดามหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น บัณฑิตช่วงอายุ 20-30 ปีที่จบจากฮิโต เงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่ว่าตั้งแต่อายุ 40 เป็นต้นไปเป็นอันดับ 1 ค่ะ (อ้างอิงจากต้นทางแหล่งข่าวภาษาญี่ปุ่นเว็บไซต์ https://career.nikkei.com/knowhow/income/002328)

一橋大学
一橋大学
一橋大学
一橋大学
QS World University Rankings by Subject 2023: Economics & Econometrics
QS World University Rankings by Subject 2023: Economics & Econometrics
(อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น)

ความรู้สึกหลังจบปี 0 มาเจอปี 1

หลักๆ คือเจอศัพท์ภาษาญี่ปุ่นใหม่ๆ อีกเพียบ และวิธีพูดอาจารย์จะฟังยากกว่าตอนเรียนปรับภาษา เขาจะถือว่าคนในคลาสคล่องภาษาญี่ปุ่นกันแล้ว บางคนจะพูดเสียงเบาเหมือนอยู่ในลำคอ ขนาดห้องเรียนใหญ่ขึ้น ถ้าเกิดโชคไม่ดีอาจเจอสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรค เช่นที่พีคสุดคือตอนปี 2 ใบฝ้ายเคยลงตัวยากวิชานึง พยายามเรียนได้ 3 คลาส แต่สุดท้ายต้องถอนเพราะเจอเสียงห้องข้างๆ เจาะผนัง! ตอนนั้นคือหลุดแบบหลุดไปเลยค่ะ

ปีแรกใบฝ้ายได้รับรางวัล Top GPA ด้วยค่ะ ปกติเขาจะให้คนที่สอบเข้าได้ที่ 1 เป็นตัวแทน แต่ตอนนั้นปีเราถูกยกเลิกเพราะโควิด และมาจัดรวมกับรุ่นน้องปีถัดไปแทน ใบฝ้ายเลยได้เซ็นคู่กับน้องปี 1 ที่สอบเข้าได้ที่ 1
ปีแรกใบฝ้ายได้รับรางวัล Top GPA ด้วยค่ะ ปกติเขาจะให้คนที่สอบเข้าได้ที่ 1 เป็นตัวแทน แต่ตอนนั้นปีเราถูกยกเลิกเพราะโควิด และมาจัดรวมกับรุ่นน้องปีถัดไปแทน ใบฝ้ายเลยได้เซ็นคู่กับน้องปี 1 ที่สอบเข้าได้ที่ 1

รีวิวภาพรวม 4 ปีในคณะเศรษฐศาสตร์

  • Economics ≠ Business บางคนเข้าใจว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วจะเข้าใจธุรกิจ รู้ว่าขายอะไรถึงปัง ฯลฯ แต่จริงๆ เราไม่ได้มาเรียนกลยุทธ์ทางการตลาดเลย แกนหลักของเศรษฐศาสตร์คือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกอย่างมี Trade Off (การแลกเปลี่ยนหรือการตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) เช่น ทำงานมากขึ้น มีรายได้เพิ่ม ชอปปิงได้มากขึ้น แต่เวลาเราลดลง และความสุขเราก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นใน 1 เดือนเราควรทำงานกี่ชั่วโมงถึงจะพอดี
     
  • เรียนเน้นเข้าใจคอนเซ็ปต์แล้วเอามาประยุกต์ น่าจะเหมือนกับหลายสาขาเลยค่ะ แต่จะยากตรงที่ประเทศญี่ปุ่นมีคำศัพท์เทคนิค (Technical Term) เป็นภาษาของเขาเอง ไม่ใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยกว่า เช่นคำว่า “เศรษฐศาสตร์จุลภาค” ภาษาอังกฤษคือ Microeconomics ส่วนภาษาญี่ปุ่นคือ ​​ミクロ経済学 อ่านว่า Mikuro keizaigaku
     
  • คลาสเรียนจะมี 2 แบบคือ Lecture ฟังอาจารย์บรรยาย และสำหรับคลาสประเภท Seminar ห้องละไม่เกิน 20 คน (เท่าที่เจอมาในคลาสมี 5-6 คนเอง) เช่น นักเรียนจะได้ Textbook ไปศึกษาและวิเคราะห์มาล่วงหน้าเพื่อมาอธิบายในคลาส ส่วนอาจารย์จะช่วยเสริมหรือถามต่อ ทำให้ยิ่งได้เก็บรายละเอียด เป็นวิชาที่เครียดแต่รู้สึกสนุกมากกว่าค่ะ
     
  • ใน 4 ปีนี้มีวิชาบังคับแค่ไม่กี่ตัว (มหาวิทยาลัยลงให้อัตโนมัติ) ส่วนใหญ่เป็นวิชาพื้นฐานต่างๆ เช่น Intro. to Economics, Statistics, Economic History และเลือกลง 2 วิชาจาก Basic Macroeconomics, Basic Microeconomics และ Basic Econometrics 
     
  • จริงๆ แล้วเราสามารถลงวิชาตามความสนใจได้ตั้งแต่ปี 1 เลยค่ะ เพียงแต่ปี 2 จะเป็นปีที่เรากำลังเรียนวิชาพื้นฐานอยู่หรือลงจนครบแล้ว ทำให้เริ่มลงวิชาที่แอดวานซ์ขึ้นได้ (หลักสูตรจะกำหนดแค่ประมาณว่าต้องลงหมวด____ขั้นต่ำจำนวน__หน่วยกิต หรือต้องลงวิชา____มาก่อนถึงลงเรียนวิชา____ได้)  ความท้าทายคือจะต้องพยายามหาว่าตัวเองชอบกสาขาไหนใคนคณะ พื่อที่จะไปเข้า Main Seminar ตอนปี 3 ต่อไป 
     
  • สำหรับ Main Seminar จะได้เรียนกับเพื่อนกลุ่มเดิมไปเลย 2 ปี แล้วอาจารย์ประจำวิชาก็จะเป็นที่ปรึกษาธีสิสให้กับเรา ตอนนั้นมีโอกาสลองเรียนไปเยอะเลยค่ะ

ตัวอย่างวิชาเรียน

Econometrics 

ใบฝ้ายเริ่มสนใจและอยากทำงานเกี่ยวกับ Data Science เพราะเจอวิชานี้เลยค่ะ ถ้าแปล Econometrics เป็นไทยวิชานี้คือ “เศรษฐมิติ” เรียนการใช้สถิติและโมเดลทางคณิตศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น ถ้าเงินเฟ้อ % เท่านี้ GDP จะเพิ่มเท่าไหร่ เป็นต้น 

จริงๆ วิชานี้มีระดับเบื้องต้น (Basic) กับระดับกลาง (Intermediate) แต่รุ่นพี่แนะนำให้ลงขั้นกลางก่อนเพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษ ปรากฏว่าเจอเซอร์ไพรซ์เปลี่ยนอาจารย์ตอนรุ่นใบฝ้ายพอดี เรียนยากมากกกก ผ่านมาได้เพราะมีคนช่วยสอนอีกที แล้วก็ตัดสินใจเลือกเข้า Semi นี้ พอนึกย้อนกลับไป รู้สึกดีใจที่ตอนนั้นพยายามจนสุดๆ จนได้เจอทางที่ใช่

Development Economics 

เรียนว่าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจยังไงโดยเฉพาะในประเทศยากจน วิชานี้ไม่ได้เรียนเชิงเศรษฐศาสตร์จ๋าๆ แบบพวก Macroeconomics หรือ Microeconomics แต่จะเน้นไปที่การอธิบายปรากฎการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ สุขภาพ หรือการศึกษา ตัวอย่างเปเปอร์ที่อ่านในคลาสเค้าศึกษาว่าในปี 1920 มีความเหลื่อมล้ำทางเพศในกาารจ้างนักวงดนตรีออเคสตร้าหรือไม่ หรือ การสร้างโรงเรียนเพิ่มจะทำให้มีคนเรียนหนังสือเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน เป็นต้น

Economic Statistics 

วิชา “สถิติเศรษฐศาสตร์” เรียนเกี่ยวกับพวกดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ว่าแต่ละตัวคืออะไร คำนวณยังไง อะไรแบบนี้ ตัวอย่างชื่อดัชนี เช่น "ภาระเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า" เอาจริงต่อให้มาเป็นภาษาไทยยังไม่รู้เลยค่ะว่าคืออะไร (และคิดว่าหลายคนก็น่าจะไม่รู้) 555555 แล้วยังต้องมาเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นอีก

Rock Music 

ใบฝ้ายชอบดนตรีและอยู่วงโยธวาทิตมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนแรกไม่ได้ชอบเพลงร็อคเลย แต่อยากแชร์มากว่าวิชานี้น่าสนใจค่ะ เราจะได้เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเพลงแนวร็อคซึ่งมีต้นกำเนิดจากสหอาณาจักร (United Kingdom) มีการศึกษาว่าช่วงยุค 1960s สภาพสังคมเป็นยังไงบ้าง ทำให้เห็นวิวัฒนาการของเพลงร็อคที่สามารถสะท้อนสภาพสังคมของ UK ยุคนั้นได้ ส่วนการบ้านวิชานี้คือให้ฟังเพลงและเขียนรายงานส่ง สอนโดยอาจารย์ชาวแคนาเดียนที่ชอบดนตรีมากๆ และเคยเป็นพังค์ (Punk) มาก่อนด้วย! พอจบคลาสกลายเป็นคนฟังแต่เพลงร็อคเลยค่ะ 5555

สิ่งที่เกิดขึ้นในหัว เมื่อเด็กเศรษฐศาสตร์เล่นโซเชียล?

ถ้าอ่านข่าวหรือโพสต์อะไร เราจะวิเคราะห์อัตโนมัติว่าสมมติเกิดเหตุการณ์ A แล้วเกิด B ตาม ถ้ามีคนบอกว่า A ทำให้เกิด B แน่ๆ เราจะตั้งคำถามก่อนเลยว่ามันสัมพันธ์กันจริงๆ หรือว่าเกิดจากตัวแปรอื่นกันแน่ // หนึ่งในข้อความที่มักถูกหยิบมาพูดถึงในตำราบ่อยๆ คือ

 กราฟยอดผู้เสียชีวิตจากปลาฉลาม (A) และยอดขายไอศกรีม (B) พุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือน May-July

Credit: Sara Cameron
Credit: Sara Cameron

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นภาพว่า “แนวโน้ม” (Trends) ที่เราเห็นว่ามันเกิดคู่กัน อาจมีตัวแปรอื่นอยู่เบื้องหลัง เราจะเห็นว่า A กับ B ไม่ได้เกี่ยวกันเลย แต่เพราะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน คนว่ายน้ำเยอะ อัตราผู้เสียชีวิตจากฉลามก็เลยเยอะขึ้น และในขณะเดียวกัน หน้าร้อนก็ทำให้คนซื้อไอศกรีมกันมากขึ้นด้วย

คำถามปิดท้าย สังคมญี่ปุ่นเรียนหนักมากจริงไหม?

จากประสบการณ์ส่วนตัว ใบฝ้ายรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีชุดความคิดว่า เรียนจบต้องทำงานไปตลอดชีวิต ดังนั้นช่วงมหาวิทยาลัยคือโอกาสสุดท้ายที่จะได้เที่ยวและทำสิ่งที่อยากทำ

เพื่อนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำงานพิเศษกับเที่ยวเต็มที่มาก แล้วมาอ่านหนังสือตอนใกล้ๆ สอบเอากันทั้งนั้นค่ะ ถ้าถามว่าเรียนหนักมั้ย ถ้าเกิดพยายามเก็บเกี่ยวทุกอย่างจากคลาสอย่างใบฝ้าย ก็อาจรู้สึกว่าเหนื่อยหน่อยเพราะเนื้อหายาก แล้ววิชาที่ใบฝ้ายลงก็มีแต่ใช้คณิตหนัก ๆ

อีกอันที่เป็นตัวแปรสำคัญคือวิชาที่เลือกลง ในภาษาญี่ปุ่นจะมีคำว่า "Rakutan" แปลว่าวิชาที่ได้หน่วยกิตง่าย หมายถึงพวกวิชาที่เรียนชิล อาจารย์ตัดเกรดง่าย ไม่ต้องเข้าเรียนทุกคาบ ประมาณนี้ค่ะ เพื่อนญี่ปุ่นหลายคนก็เลือกลงแต่วิชาแบบนี้กัน

โบรชัวร์มหาวิทยาลัย

. . . . . . . . . .

You’re Invited!
เตรียมปรึกษา 1:1 กับพี่ใบฝ้ายตัวจริง
พบกันไบเทคบางนา 27-28 เม.ย. 2024 นี้

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลีย โดย “ใบฝ้าย” จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024  นะคะ แล้วเจอกันนน!

เข้าสู่เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น