Fulfilling Fulbright! 'พี่จั๊มพ์-ณัฐชยา' กับโอกาสเปิดโลกใบใหญ่ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ Stanford Law School ตัวท็อปอเมริกา

สวัสดีค่าา หลังจากที่ทีมงาน Dek-D ได้เชิญ คุณหมอตั๋ง-ตนุภัทร มาพูดคุยเล่าประสบการณ์เด็กทุน Fulbright TGS ในสาขา Biomedical Informatics ไปแล้ว วันนี้จะขอพาไปชมความน่าสนใจจาก "พี่จั๊มพ์-ณัฐชยา พิเชฐสัทธา" บัณฑิต ป.ตรี คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ที่คว้าทุนเต็มจำนวน "Fulbright TGS" ไปศึกษาต่อ ป.โท  Environmental Law and Policy (LL.M.) ที่ Stanford University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 5 ของโลกกันบ้างค่ะ (อ้างอิงอันดับจาก QS World University Rankings 2024: Top global universities

มาดูกันว่าอะไรจุดประกายให้พี่จั๊มพ์เลือกเข้าสู่เส้นทางกฎหมายตั้งแต่ ป.ตรี จนถึง ป.โท? การสมัครทุน Fulbright  TGS ท้าทายยังไงบ้าง? เล่าไปจนถึงประสบการณ์เรียนในมหาวิทยาลัยระดับโลกที่พูดเลยว่ายากโคตร แต่คุ้มค่ามากกก เรื่องเรียนไม่แผ่ว เรื่องกิจกรรมยิ่งแล้วใหญ่! จะมันส์และครบรสเบอร์ไหนตามไปเริ่มกันเลยค่ะ

Note: 

  • ระเบียบการทุน Fulbright TGS ป.โท/เอก ประจำปี 2025 (หมดเขต 30 เม.ย. 2024)  https://www.dek-d.com/studyabroad/63756/ 
     
  • จริงๆ แล้วโครงการทุนของ Fulbright ที่คนไทยสมัครได้ มีมากถึง 8 ประเภท หนึ่งในนั้นคือ Fulbright TGS ทุนเต็มจำนวน ป.โท/เอก ในสหรัฐอเมริกา จริงๆ แล้ว Fulbright มีถึง 8 ประเภทที่คนไทยสมัครได้ ซึ่งทุน Fulbright TGS คือทุนระดับปริญญาที่ดังที่สุด แนะนำให้ติดตามข่าวสารการรับสมัครและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทาง เพจ  Fulbright Thailand

เริ่มจากสนใจเรื่อง "สิ่งแวดล้อม"
ก่อนย้อนมองถึงต้นตอเรื่อง​​ "กฎหมาย"

เล่าย้อนไปช่วง ม.ปลาย เราเป็นเด็กกิจกรรม มีโอกาสลงพื้นที่ออกค่ายในต่างจังหวัดและพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้รู้ว่ามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมบางข้อที่ไม่สมเหตุสมผล  ซึ่งคนในชุมชนก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นค่ะ

จริงๆ  ทั้งกฎหมายกับสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้ตัวเราทุกคน และแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันทุกด้าน อย่างตอนน้ำท่วมหรือน้ำแล้งก็เกี่ยวกับ Climate Change (=ภาวะโลกรวน) หรือแม้แต่เรื่องฝุ่น PM2.5  ซึ่งหากตรงนี้มีกฎหมาย กลไกการทำงาน และการจัดสรรงบถูกต้อง ปัญหามลพิษจะค่อยๆ ดีขึ้นได้

ทีนี้ช่วง ป.ตรี ที่จุฬาฯ จั๊มพ์ได้เรียนภาพรวมกฎหมายทั้งหมด และเราจะเน้นลงวิชาที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน เพราะกฎหมายพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แล้วตั้งใจว่าเดี๋ยวจะต่อ ป.โท สาขานี้โดยเฉพาะ เตรียมหาข้อมูลตั้งแต่ปี 2 ว่าหลักสูตรไหนตอบโจทย์และมีทุนประเทศไหนที่เราสามารถสมัครได้บ้างค่ะ

รีวิวสมัครทุน Fulbright TGS
ขั้นตอนประมาณไหน?

Fulbright TGS เป็นทุนที่การแข่งขันสูงจริง รับปีละไม่เกิน 10 คน บางคนอาจถอดใจตั้งแต่ด่านแรกเพราะต้องใช้คะแนนสูงและเตรียมเอกสารเยอะ แต่ส่วนตัวเราเชียร์ให้ลองพยายามเต็มที่ก่อนเพราะ 1. ได้ลุ้น มากน้อยแค่ไหนก็ยังมีความเป็นไปได้ 2. ช่วงเตรียมตัวสมัคร เราจะได้ทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์แน่นอนกับการวางแผนอนาคต เพราะสิ่งสำคัญของทุนนี้คือเราต้องเคลียร์กับตัวเองให้ชัดว่าต้องการอะไร เช่น ทำไมอยากเรียนหลักสูตรนี้, ทำไมเลือกที่นี่,  คุณวางแผน short-time และ long-term ไว้ยังไง สิ่งที่เรียนจะถูกนำมาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในแง่มุมไหนบ้าง  

จั๊มพ์ใช้เวลาเตรียมเอกสารทั้งหมดประมาณ 1-2 เดือน พอย้อนมาคิดก็รู้สึกกระชั้นเกินไปหน่อย แนะนำให้เผื่อเวลาล่วงหน้าสักครึ่งปี  (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน เพราะต้องยื่นคะแนน TOEFL ด้วย) ตอนที่ยื่นจั๊มพ์มีคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL 107/120 และ ป.ตรี ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 

Q: สมัครทุนกับมหาวิทยาลัยยังไงบ้าง?

เราจะต้องสมัครทุนก่อน แล้วทุนจะมีให้เราเลือก 4 โปรแกรมที่อยากเรียน พอติดทุนแล้วเราจะได้ไปสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัย *ไม่ต้องสมัครมหาวิทยาลัยแยกอีกรอบนะคะ เพราะทาง Fulbright ช่วยประสานและส่งเอกสารให้มหาวิทยาลัยไว้เรียบร้อยเลย

Note:

  • Fulbright ป.โท กำหนด TOEFL iBT ขั้นต่ำ 80 คะแนน หรือ IELTS ขั้นต่ำ 6.5
  • Stanford Law School กำหนด TOEFL iBT (internet-based test) ขั้นต่ำ 100  หรือ TOEFL PBT (paper-based test)) 620

ส่วนจดหมายแนะนำ (Recommendation Letters) หลังจบ ป.ตรี จั๊มพ์ทำด้านกฎหมายมา 2 ปีครึ่ง เป็นทนายด้านสิ่งแวดล้อมกับด้านนโยบาย  เราคิดก่อนว่าเราอยากให้กรรมการเห็นมุมไหนของเราบ้าง  ก็เลยติดต่ออาจารย์ตอน ป.ตรี ให้ช่วยเขียน 1 ใบ เพื่อให้เห็นด้าน Academic และหัวหน้าที่ทำงานทั้ง 2 ที่ เพื่อให้เห็น gap ว่าเราต้องไปเรียนต่อเฉพาะด้านนี้เพื่อมาทำงาน

มูลค่าทุนเพียงพอสำหรับเรามั้ย

อัปเดตทุน Fulbright TGS ปี 2025 จะให้ปีแรกไม่เกิน $35,500 (ประมาณ 1,241,000 บาท) หากยังไม่จบหลักสูตรสามารถขอทุนต่อในปีที่ 2 ได้ไม่เกิน $17,500 (ประมาณ 611,800 บาท)  ซึ่งส่วนตัวจั๊มพ์ไม่พอค่ะ  5555 ทุน cover ได้ไม่หมดเพราะค่าครองชีพที่โซน Silicon Valley สูง แต่นักเรียนทุนจะสามารถขอ waive บางรายการได้ เช่น ค่าประกันสุขภาพ ซึ่งที่อเมริกาต้องจ่ายแพง  

ตอนเรียนเรายังมีสมัครไปทำ Research Assistant (RA) ได้ค่าขนมเพิ่ม  และยังประหยัดด้วยการอยู่หอมหาวิทยาลัย และทานอาหารที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย  อย่างไรก็ตาม  ทาง Fulbright จะแนะนำเราอย่างดีว่ามี Financial Aid ประมาณไหนบ้าง แล้วหาวิธีจัดสรรให้เหมาะกับทุนที่เราได้รับค่ะ ดังนั้นยังไม่อยากให้กังวลเรื่องนี้ โฟกัสการเตรียมตัวให้เต็มที่่ก่อน

*บนเว็บ Stanford จะมีหน้า [Student Budget] ให้ตรวจสอบประกอบการวางแผนได้ค่ะ

https://financialaid.stanford.edu/grad/
https://financialaid.stanford.edu/grad/ 

คำแนะนำสอบสัมภาษณ์

จั๊มพ์เป็นรุ่นที่ได้สัมภาษณ์ออนไลน์ มีกรรมการหลายคนจาก Fulbright และรุ่นพี่ศิษย์เก่า (Fulbright Thailand Alumni) คำถามที่เจอก็จะค่อนข้าง Overall มีแนะนำตัว เรียนอะไรมาบ้าง เล่าประสบการณ์ทำงาน (ถ้ามี) คำถามเฉพาะเกี่ยวกับสาขาที่จะไปเรียน เช่น การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นอกจากนี้นักเรียนทุนจะไปในฐานะ Culture Ambassador ด้วย เราจะทำหน้าที่ตรงนี้ยังไงบ้าง  รอบสัมภาษณ์ใช้เวลาไม่นานและได้สะท้อนตัวเองหลายอย่าง

ปกติการสัมภาษณ์ระดับ ป.โท จะมีความ Geek ลงลึกด้านนั้นๆ มาก ความท้าทายคือจะถ่ายทอดสิ่งที่คิดออกมายังไงให้คนที่ไม่ได้เรียนสายเราเข้าใจ และอธิบายในเวลาที่สั้นกระชับ แนะนำให้เตรียมตัวซ้อมเรื่องการสื่อสารมาอย่างดี (ตอนนั้นจั๊มพ์เองก็เผลอหลุดพูดศัพท์เฉพาะออกไปเหมือนกัน)

. . . . . . . 

เปิดชีวิตบทใหม่ ในรั้วสแตนฟอร์ด
โปรแกรม Environmental Law and Policy (LL.M.)

ข้อดีของการเรียนกฎหมายที่อเมริกา

ตอนที่เลือกว่าจะสมัครที่ไหน จั๊มพ์ดูที่หลักสูตรและปรึกษารุ่นพี่ประกอบกัน ซึ่งเอกลักษณ์ของอเมริกาคือ เวลาเรียนจะไม่ได้โฟกัสแค่กฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นสหวิชา (Interdisciplinary) อย่างเช่นของสแตนฟอร์ด 50% คือวิชากฎหมายของคณะตัวเอง แล้วหน่วยกิตที่เหลือก็ไปลงรายวิชาคณะอื่นที่คิดว่าเกี่ยวข้องได้ เช่น เราไปลงแนวสังคมศาสตร์, Design Thinking, วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

จั๊มพ์มีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบาย (Policy) มาเยอะ เลยเน้นลงวิชาแนวรัฐศาสตร์ พอวางแผนวิชาแล้วก็ให้อาจารย์อนุมัติ  จำได้ว่าลงเรียนหน่วยกิตสูงสุดเท่าที่หลักสูตรจะให้เราลงได้ค่ะ เป็น 1 ปีที่ตั้งใจจะเรียนให้คุ้ม เพราะเรามองว่าการจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ต้องใช้ความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายศาสตร์เพื่อให้เห็นปัญหาได้กว้างขึ้น การที่เรียนเป็นสหวิชาเลยเป็นจุดแข็งที่ช่วยเสริมตรงนี้ได้ดี

Golden Gate Bridge
Golden Gate Bridge
San Francisco, California
Stanford University, Stanford, United States
Stanford University, Stanford, United States
Photo by Jason Leung on Unsplash

ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ระดับแอดวานซ์
[แนะนำ] ควรมีประสบการณ์ทำงานมาสักระยะ

Stanford Law School กำหนดคะแนนภาษาอังกฤษขั้นต่ำไว้สูงเพราะเรียนแบบ discussion-based เน้นคุยกันในคลาส ต้องเข้าใจศัพท์เฉพาะทางด้านกฎหมาย (Technical Term) และอ่านเคสเยอะเพราะเป็นระบบกฎหมายแบบ Common Law เช่น อาจารย์จะกำหนด Assignments ให้ไปอ่าน Materials มาก่อนเข้าคลาสเรียน สัปดาห์นึงเรียน 4-5 วิชา วิชานึงประมาณ 30-50 หน้า หรือเกือบ 100 หน้าก็มี มากน้อยขึ้นอยู่กับวิชา 

นักเรียนสาขากฎหมายและสิ่งแวดล้อมรุ่นจั๊มพ์มีทั้งหมด 20 คน มีทั้งเพื่อนอเมริกัน ยุโรป อเมริกาใต้ ฯลฯ แต่ละคนมีประสบการณ์ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี  เช่น บางคนมาจากสาย Law Firm  หรือธุรกิจพลังงาน ซึ่งจั๊มพ์เกือบเด็กสุดในรุ่น และเคยทำงาน 2 ปีในสายกฎหมายเกี่ยวกับภาคประชาสังคม ดูคดีต่างๆ แชร์แง่มุมตอนทำคดี วิธีบังคับใช้กฎหมายในกรณีต่างๆ เป็นต้น ซึ่งประสบการณ์ช่วงที่คิดว่ามีประโยชน์มากคือตอนทำงานกับพรรคอนาคตใหม่

การเรียนจะแบ่งเป็น 3  ควอเตอร์ (Quaters) ; Autumn / Winter/ Spring ไปถึงช่วงแรกรู้สึก Culture Shock  เพราะสปีดการอ่านเราไม่เท่าเด็กอเมริกัน อย่างบางทีเจอห้าสิบหน้างี้ ไม่ทันนนน แต่ไปๆ มาๆ เราจะจับหลักได้ว่าส่วนไหนสำคัญบ้าง  แล้วตอนไปถึงก็ค่อนข้างปรึกษากับเพื่อนจาก Law School  ได้ว่าพอจะมีไกด์แนะนำมั้ย ส่วนการเขียนก็โหดเหมือนกัน ทุกวิชาจะมี Final Paper,  Mini-Thesis และมีอีกสิ่งที่เรียกว่า Reflection Paper 1 หน้า เขียนว่าเรียนแล้วได้อะไรบ้าง อาจเขียนท้ายคลาสหรือสัปดาห์ครั้งแล้วแต่วิชา

ความเดือดช่วงฤดูกาลสอบ

(อ่า ช่วงก่อนสอบ...) จริงๆ แล้วจั๊มพ์จะวางแผนลงเรียนวิชาแบบกระจายๆ ค่ะ สมมติเทอมนี้ลงเรียน 5 วิชา ก็เลือกวิชาที่ให้ทำเปเปอร์ 2 วิชา / สอบไฟนอล 2 วิชา พอถึงช่วง Final Week นักเรียนจะอ่านหนังสือเตรียมสอบกัน แล้วปกติที่สแตนฟอร์ดจะสอบแบบ Open Book/Laptop  ซึ่งมันไม่ใช่การเปิดที่เปล่าประโยชน์ ส่วนตัวชอบแนวนี้ เพราะเวลาทำงานกฎหมายจริงๆ จะไม่ได้ต้องการแค่ท่องจำ เราสามารถค้นได้ สำคัญคือต้องทำความเข้าใจแนวคิดของทฤษฎี แล้วดูว่าจะปรับใช้ยังไงบ้าง

ยกตัวอย่างวิชาเรียนน่าสนใจ
เรียนประมาณไหนบ้าง?

1.  วิชา Advanced Negotiation: Environmental Policy

วิชานี้มีนักเรียน 5 คนเอง! ต้องบอกว่าเสน่ห์อย่างนึงของสแตนฟอร์ดคือคลาสเล็กมาก บางคลาสแค่ 5-10 คน ทำให้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ได้เต็มที่ค่ะ

ในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการเจรจาต่อรองเยอะ เพราะกว่าจะออกกฎหมายได้แต่ละข้อต้องกระทบกับหลายภาคส่วนทั้งชุมชน ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ​ ทำยังไงให้ผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายได้รับมันไปด้วยกันได้ ซึ่งเราว่ายากมากๆ เลยนะ เพราะผลประโยชน์แต่ละฝ่ายมักจะเป็นตรงกันข้าม เช่น คุณเป็นบริษัทที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำ ในขณะที่อีกฝ่ายคือชุมชนที่อนุรักษ์ให้คนลดการใช้น้ำ เป็นต้น

เวลาเรียนเขาก็จะจำลองสถานการณ์ (role play) ให้นักเรียนสวมบทบาทเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ว่าจะเจรจาด้วยวิธีไหน ซึ่งมันก็จะมีบางคลาสเราจะต้องไป lobby กันก่อน ต้องเตรียมตัวกันล่วงหน้าว่าเราเป็นคู่ขัดแย้งกันนะ  แต่ก็จะมีบางคลาสที่อาจารย์บอกเลยว่าห้ามเตี๊ยมกันเด็ดขาด

*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ  Advanced Negotiation: Environmental Policy https://law.stanford.edu/courses/advanced-negotiation-public-policy/ 

2. Environmental Law Workshop 

แต่ละเทอมเขาจะมีโจทย์จริงประมาณ 5 โจทย์ เช่น  ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) คนนี้ ต้องการแก้กฎหมายพลังงานข้อนี้ แต่ขัดแย้งกับบางส่วนของกฎหมาย  ให้อาจารย์ช่วยรีเสิร์ชเพื่อหาแนวทาง พอมีโจทย์เข้ามาแล้วอาจารย์ก็จะมาฟอร์มทีมกัน รับแค่ 10 คนจากคณะต่างๆ ของสแตนฟอร์ด คล้ายกับต้อง Audition  บรรยายคุณสมบัติว่าทำไมอาจารย์ถึงควรเลือกเราเข้าทีม มีประสบการณ์และความสนใจสอดคล้องยังไงบ้าง เป็นต้น 

 จั๊มพ์เองเคยสมัครไป 2-3 ครั้ง (เทอมนึงมีประมาณ 5 โจทย์) แล้วมีโอกาสเข้าไปในทีมที่ดูโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงครั้งนึง  ในทีมอาจมีเพื่อนจากสายนักข่าว นิเทศ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ประมาณนี้ค่ะ อย่างโจทย์นึง เด็กวิศวะจะดูเรื่องการคำนวณค่าต่างๆ ส่วนเราเป็นเด็กกฎหมายก็กรณีมีทางเลือกประมาณไหนบ้าง รัฐอื่นเคยใช้แนวทางไหนแล้วเวิร์ก ฯลฯ ละสรุปออกมาเป็น Final Paper และเป็น Policy Recommendation เสนอให้เขาเอาไปปรับใช้จริง

*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Environmental Law Workshop  https://law.stanford.edu/courses/climate-and-energy-workshop/ 

3. Environmental Justice

ถือเป็นวิชาที่จั๊มพ์ชอบที่สุด เพราะได้ขยับออกจากมุมกฎหมายจ๋าๆ มาเห็นมิติทางสังคมมากขึ้นว่า เราจะทำยังไงให้การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย (Justice for All)  ยกตัวอย่างกรณีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้านึง ผลประโยชน์ไปตกที่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ผลกระทบไปตกที่อีกกลุ่ม เช่น คนในชุมชนที่ได้รับมลพิษ หรือผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ 

วิชานี้ไปทาง Practical ในระดับนึงเลยค่ะ ลงพื้นที่เยอะเพื่อคุยกับชุมชนว่ากำลังเจอสถานการณ์ประมาณไหนบ้าง แล้วช่วงหลังเขาจะให้เรานำเสนอโปรเจ็กต์ของตัวเอง เช่น รุ่นจั๊มพ์มีคนทำเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หรือประเด็น  Climate Change  และ Health Crisis ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชา Environmental Justice https://law.stanford.edu/courses/environmental-justice/ 

เข้าชมเว็บหลักสูตรCheck out exciting 2023/24 courses!

เข้าร่วมโปรแกรม Rising Environmental Leaders Program (RELP)

อีกโปรแกรมที่จั๊มพ์สมัครแล้วได้เข้าร่วมก็คือ Rising Environmental Leaders Program (RELP)   เขาจะคัดเลือก 10 คนจากนักเรียนหลากหลาย background ที่มีจุดร่วมกันคือทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้

จากนั้นเขาจะมาฝึกเราตั้งแต่เรื่องการสื่อสาร เช่น การพูดในที่สาธารณะ การนำเสนอโปรเจ็กต์ ฯลฯ เพราะจริงๆ แล้วคาแรกเตอร์เด็กสแตนฟอร์ดจะ Nerd ในระดับนึง เลยอยากให้มาเสริมเรื่องการสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจตรงกัน // โครงการนี้เคยส่งเราไปเป็นตัวแทนพูดคุยกับนักการเมืองที่  United States Capitol (อาคารรัฐสภาสหรัฐ) ในรัฐ Washington D.C. เพื่อให้รู้ว่าตอนใช้จริงจะมีโอกาสเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วจะแนะนำพวกเขาอย่างไรค่ะ

เว็บโปรแกรม RELP

โอกาสฝึกงานหลังจบ

หลักสูตรนี้เรียนปีเดียว ทุกอย่างที่เล่ามาคือทำระหว่างเรียน ป.โท ไปด้วย ส่วนการฝึกงานคือฝึกหลังจากเรียนจบด้วยค่ะ ข้อดีอีกอย่างของสแตนฟอร์ดคือมีทุน Fellowship เยอะ ถ้าเกิดอยากมี hands-on experience (=ประสบการณ์ตรง) เราฝึกงานกับองค์กรที่สนใจได้ แล้วมายื่นขอทุนกับทางคณะ เช่น ตอนจั๊มพ์เรียน Environmental Justice แล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้มาก ก็เลยสมัครไปฝึกงานต่อด้านนี้ต่ออีก 2 เดือน เรียนรู้กับนักเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiator)  ในท้องถิ่น ว่าด้วยเรื่องผลกระทบจากการใช้ปิโตรเลียม การนำเข้าน้ำมันของชุมชนท้องถิ่นที่ป่าอะเมซอนค่ะ

https://image.dek-d.com/contentimg/2024/kookkai/K'Jump-Fulbright/433879729_820705893186957_712874830009299035_n(1).jpg
https://image.dek-d.com/contentimg/2024/kookkai/K'Jump-Fulbright/433879729_820705893186957_712874830009299035_n(1).jpg

ประทับใจอะไรที่สุดตอนเรียนที่อเมริกา

  • เรียนแล้วได้ทำจริง และแม้จะเป็นเรื่องที่ลงลึกเฉพาะทางมากๆ  (เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมในแง่มุมของความเป็นธรรมกับชุมชน) มหาวิทยาลัยก็ยังมีเปิดสอน 
     
  • ด้วยความที่เพื่อนในรุ่นทำงานด้านนี้มาเหมือนกัน มีประสบการณ์เยอะ บางคนเยอะกว่าเราอีก ดังนั้นเราจะไม่ได้เรียนรู้แค่กับอาจารย์ แต่ยังเรียนรู้จากเพื่อนๆ และสิ่งที่ทำนอกคลาสด้วย
     
  • ตอนเรียนได้ทำกิจกรรมนอกคลาสเยอะ เช่น สมัครโครงการ Pro Bono Program  ของ Stanford Law School ไปทำจิตอาสาร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรด้านมลพิษทางอากาศต้องการคนทำรีเสิร์ชด้านนี้ เราก็สมัครเข้าไปช่วยได้ นอกจากนี้จั๊มพ์ก็มีเข้าชมรม Outlaw ของ Stanford Law School  ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้าน LGBTQ+ ด้วยค่ะ

เส้นทางการทำงานสายกฎหมาย

ถ้าวางแผนจะทำงานต่อที่อเมริกา เราเห็นเพื่อนต่างชาติรุ่นเดียวกันไปกันหลาย Pathways มาก แต่หลักๆ ประเทศที่เป็นระบบ Common Laws ต้องดูก่อนว่าอยากทำงานรัฐไหน แล้วไปสอบทนายว่าความของรัฐนั้น เช่นที่ฮิตๆ คือ New York Bar Exam หรือ California Bar Exam   บางคนทำสายวิจัย (Research) หรือด้านนโยบาย (Policy)  การแข่งขันสูงเพราะต้องแข่งกับคนอเมริกันด้วย  

ปัจจุบันเราทำงานวิจัยด้านนโยบายในองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มีโอกาสได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอร่างกฎหมาย (ตอนนี้กำลังทำกฎหมายเกี่ยวกับ Climate Change ที่ใช้ระดับประเทศ) ถ้าเกิดใครมีแผนอยากกลับมาทำงานที่ไทย เราว่าตอนนี้สาขากฎหมายสิ่งแวดล้อมเติบโตเร็วมากในช่วง 5-10 ปีให้หลังมานี้ ตัวอย่างเช่น ทนายสิ่งแวดล้อมที่ดูแลคดี, วิจัยด้านโยบายเพื่อจัดทำร่างกฎหมาย, ทำองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กรีนพีซ (Greenpeace) องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

สุดท้ายนี้เราอยากให้คนเรียนด้านนี้กันเยอะๆ~ ประเทศไทยยังต้องการผู้ที่จบด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีกมากค่ะ ใครอยากปรึกษาเรื่องเรียน/งานด้านนี้ ทักมาที่อีเมล: natchaya.pic@gmail.com ได้เลยนะคะ 

เช็กข้อมูลการสมัครเรียนที่นี่

. . . . . . . 


สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D"

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น