「 Ph.D. in Japan 」เปิดประสบการณ์วิจัย ป.เอก แบบสับๆ ฉบับรุ่นพี่ทุนสายวิทย์-สุขภาพที่ญี่ปุ่น สามปีจบงบไม่ต้องห่วง!

สวัสดีค่าชาว Dek-D สำหรับน้องๆ สายวิทย์ที่อยากมาสายวิชาการหรือเป็นอาจารย์ และตั้งใจว่าจะต่อ ป.โท  หรือ ป.เอก เพื่อสัมผัสบรรยากาศนานาชาติและทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนและทำวิจัย ประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่คนไทยที่ไปทำวิจัยสายวิทย์สุขภาพที่ “ประเทศญี่ปุ่น” กันค่ะ~

เล่าก่อนว่า Japanese Government (MEXT) Scholarship หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทุนมง” ป็นทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้นักเรียน-นักศึกษาชาวไทย ไปศึกษาต่อ ณ สถานศึกษาในประเทศญี่ปุ่นแบบฟรีๆ ไม่ต้องใช้ทุนคืนหลังเรียนจบ โดยจะเปิดรับสมัครทั้งหมด 4 ประเภททุน ได้แก่

  • ทุนนักศึกษาปริญญาตรี (Undergraduate Students)
  • ทุนนักศึกษาวิจัย (Research Students) ระดับ ป.โท/เอก*
  • ทุนนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยี (College of Technology (KOSEN) Students)
  • ทุนนักศึกษาวิทยาลัยฝึกอบรมวิชาชีพ (Specialized Training College Students)

และในวันนี้เราได้รับเกียรติจาก “พี่เปา-ผศ.ดร.ปวเรศ อ่อนทอง” (Asst. Prof. Dr.Pawared Ontong) ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ดีกรีศิษย์เก่าทุนมงวิจัยระดับ ป.เอก* รุ่นปี 2014-2016 มาแชร์ให้ฟังเกี่ยวกับการวางแผนเรียนต่อระยะยาว เล่าตั้งแต่การสมัครทุน ตารางชีวิตนักเรียน ป.เอก รวมถึงการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ จะท้าทายแค่ไหน ตามไปเก็บตัวอย่างกันเลย!

Note: อ่านจบอยากพูดคุยและปรึกษารุ่นพี่ทุนตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ “พี่เปา" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พบพี่เปาได้ในวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2024) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroadfair 

พี่เปาบนหน้าข่าวเว็บ Kyoto Sangyo University
พี่เปาบนหน้าข่าวเว็บ Kyoto Sangyo University
https://www.kyoto-su.ac.jp/kokusai/news/20140521_news01.html 

. . . . . . . . .

เจอผู้สอนคุณภาพแน่น
จุดประกายให้อยากเป็นอาจารย์

พี่เรียนจบ ป.ตรี คณะเทคนิคการแพทย์ (Medical Technology) และ ป.โท ชีวเคมี (Biochemistry) ที่ ม.เชียงใหม่ครับ ตอนนั้นมีโอกาสเรียนกับศาสตราจารย์หลายท่านที่ความรู้มหาศาลแต่ถ่ายทอดเรื่องยากและซับซ้อนให้นักศึกษาเข้าใจได้ เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นอาจารย์ตั้งแต่ ป.ตรี เลยครับ

พี่ก็ลองหาแนวทางที่ใช้เวลาน้อยสุด คือการเรียน ป.ตรี-โท-เอกรวดเดียว ข้อดีคือจบเร็ว แต่เหมาะกับคนที่มีเป้าหมายชัดว่าอยากเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการครับ เพราะจะทำให้มีแรงสู้กับความหนักไหว แต่ถ้าไม่แน่ใจอาจลองทำงานก่อนสัก 2-3 ปีก่อนดีกว่าครับ

ที่มาที่ไป  ทำไมถึงเลือกประเทศญี่ปุ่น

ตอนแรกพี่ตั้งใจแค่ว่า ป.เอก จะไปเรียนต่างประเทศ​ครับ แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นที่ไหน ส่วนประเทศญี่ปุ่นพี่ยังรู้จักแค่ในมุม Anime กับเพลง และกิตติศัพท์เรื่องทำงานหนักครับ

ทีนี้ การสมัครเรียนระดับ ป.โท/เอกที่ทำวิจัย จะต่างกับ ป.ตรี ตรงที่เราควรติดต่ออาจารย์ที่เราอยากให้เขาเป็นที่ปรึกษาก่อน เพราะมีผลกับการตอบรับเข้าเรียน พี่เลยไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาตอน ป.โท (มช.) ว่ามีคอนเน็กชันอาจารย์ต่างประเทศที่ทำแล็บแนวๆ Biotechnology ไหม บังเอิญว่ามีครับ!! ซึ่งก็คืออาจารย์ที่ Kyoto Sangyo University และเขากำลังหานักเรียน ป.เอกพอดี 

จากนั้นพี่ก็ส่งอีเมลแนะนำตัวและพูดคุยเรื่องหัวข้อที่สนใจกับทาง Professor (หลังจากนี้จะย่อว่า Prof.) โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยติดต่อให้ พอคุยเรียบร้อยแล้วพี่ก็สมัครหลักสูตร Ph.D. (Biotechnology) อยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ Kyoto Sangyo University และเลือกโปรแกรมวิจัยล้วน ไม่มี Coursework เพื่อให้ประหยัดเวลาขึ้น เพราะเรามีพื้นฐานวิจัยจากตอน ป.โทแล้ว ส่วนเรื่องภาษา พี่เรียนหลักสูตรอินเตอร์ คุยกับ Prof. และทำเปเปอร์เป็นภาษาอังกฤษ แต่ก่อนบินก็มีเรียนภาษาญี่ปุ่นเตรียมไว้เดือนนึงพอให้เอาตัวรอด

ตอนสมัครจะมีสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ (อย่างละครึ่งชั่วโมง) ข้อสอบแล้วแต่ที่นะ แต่ของพี่มีให้อ่านบทความวิชาการแล้วตอบคำถาม เพื่อวัดว่าเราอ่านงานสายนี้แล้วเข้าใจ สื่อสารได้ จากนั้นครึ่งชั่วโมงหลังเขาจะเรียกสัมภาษณ์ คุยเรื่องบทความเมื่อกี้แหละ ตรวจสอบอีกครั้งว่าเราเข้าใจจริงๆ

แนะนำปัจจัยการเลือกมหาวิทยาลัย

  1. ทุน กรณีที่ต้องการทุน เช็กก่อนว่ามีทุนมั้ยครับ
  2. สาขาที่สนใจ มหาวิทยาลัยมีเปิดสอนและโดดเด่นด้านนั้น
  3. อาจารย์ที่ปรึกษา ศึกษาว่างานของอาจารย์มีขอบเขตตรงกับของความสนใจเรามั้ย *ถ้าเป็นไปได้สมมติน้องๆ จบ ป.ตรี แล้วมีแนวโน้มว่าจะสมัครเรียนต่อ สามารถขอเข้าไปช่วยงานแล็บก่อนได้นะครับ
  4. ที่ตั้ง ตอนที่เลือกประเทศญี่ปุ่น พี่สนใจเมืองเกียวโต (Kyoto) เพราะเป็นเมืองหลวงเก่า มีประวัติศาสตร์น่าสนใจ พอไปถึงก็รู้สึกตัดสินใจไม่ผิดครับ คนไม่พลุกพล่านเหมือนในเมือง อากาศดีมาก ไม่มี PM2.5 เลย (บางประเทศกำลังเจอปัญหานี้หนักมาก) ตอนหน้าหนาวก็ไม่หนาวจนทนไม่ไหว ปีนึงมีหิมะ 2-3 ครั้ง และเป็นจุดที่ไม่ค่อยเจอภัยธรรมชาติ

อีกเรื่องที่รู้สึกคือรัฐบาลมองมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนสำคัญทั้งคู่ แถมนโยบาย ม.เอกชน บางที่คือเสนอ offer เพื่อดึง Professor เก่งๆ มาทำงาน บางที่คอนเน็กชันดีมาก ทรัพยากรการทำแล็บพร้อม ดังนั้นคือถึงเป็น ม.เอกชนก็ดังได้ครับ

รีวิวสมัครทุน MEXT

ปีแรกพี่ไปด้วยทุนของ Prof. แล็บตัวเองก่อน แล้วพอทำเกือบครบ 1 ปี ทุกมหาวิทยาลัยจะมีให้สมัครทุน MEXT แบบ University Track แข่งเฉพาะนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนในญี่ปุ่น โดยมหาวิทยาลัยจะเลือกก่อน 1 คน แล้วส่งให้ส่วนกลางตัดสินอีกครั้ง (เช่น ตอนนั้นอัตราแข่ง 5:1 แล้วพี่ก็ได้) ส่วนตัวพี่ว่ามีโอกาสมากกว่า Embassy Track ที่คู่แข่งเยอะกว่ามากครับ

ตอนสมัครทุน MEXT เขามีแบบฟอร์มให้เขียน Proposal เหมือนทำเปเปอร์งานวิจัยย่อมๆ ว่าตอนนี้กำลังทำวิจัยอะไรอยู่ ซึ่งก็คือหัวข้อที่เราเริ่มทำไปแล้วเกือบปีนั่นแหละครับ ส่งบทคัดย่อ บทนำ การออกแบบการทดลอง ความคืบหน้าตอนนี้ ผลที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การนำไปใช้ ฯลฯ ตอนสมัครต้องมีพื้นฐานการอ่านวิจัยมาแล้วพอสมควร

อีกพาร์ตเขียนเล่าว่าทำไมเราถึงควรได้ทุนนี้ (ในแง่ความจำเป็น) สำหรับทุน MEXT เขาคาดหวังว่านักเรียนทุนจะต้องกลับไปพัฒนาประเทศของตัวเอง เขาจะให้เราเล่าแผนหลังเรียนจบ จากนั้นเรียกสัมภาษณ์ ตอนสัมภาษณ์เขาจะถามถึงชีวิตทั่วไป ควรตอบตามจริง ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องทุนก็บอกได้เลย

. . . . . . . . .

เริ่มต้นชีวิตนักศึกษาวิจัย ป.เอก
ช่วงแรกตกใจ ตอนหลังประทับใจมาก!

https://www.kyoto-su.ac.jp
https://www.kyoto-su.ac.jp
https://www.kyoto-su.ac.jp
https://www.kyoto-su.ac.jp

เรียนต่อ BioTech  ด้านนี้ใกล้ตัวแค่ไหน?

สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ประยุกต์ได้กว้างมากครับ หลักๆ ก็จะมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ยารักษาโรค อาหาร เครื่องสำอาง ฯลฯ  ซึ่งของพี่เน้นศึกษาไปทางการแพทย์มากกว่า เช่น ป.โท วิจัยเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วน ป.เอก เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม 

แรงบันดาลใจหัวข้อ ป.เอก มาจากที่เห็นคนรอบข้างเป็นโรคนี้ รักษาจนหาย แต่กลับมาเป็นซ้ำอีก พี่ก็เริ่มจากศึกษาหาสาเหตุก่อน แล้วพบว่า มะเร็งจะมีเซลล์ต้นกำเนิด ถ้าฉายรังสีและใช้เคมีบำบัดทำลายมะเร็งไปแล้ว แต่เซลล์ที่ว่านี้ยังมีหลงเหลือชิ้นเล็กๆ กระจายในร่างกาย ไม่ได้ตายไปด้วย = มีโอกาสเสี่ยงที่โรคมะเร็งเต้านมจะกลับมาได้ ดังนั้นพี่ก็ศึกษาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งให้ราบคาบกว่าเดิม ซึ่งข้อมูลนี้สามารถนำไปผลิตยาได้ครับ *สมัยพี่ยังเป็นเรื่องใหม่ ปัจจุบันมีวิธีรักษาแต่ราคาสูง และหลายบริษัทอยู่ขั้นตอนการทดลองใช้ยาในคน

นอกจากวิจัยเกี่ยวกับมะเร็ง พี่ยังมีทำเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย และอีกหลายแล็บ (ญี่ปุ่นไม่ให้เราทำโปรเจ็กต์เดียวจบแน่ๆ) สิ่งที่ต้องเตรียมใจคือ การทำแล็บสายสุขภาพอาจไม่สำเร็จ 100% หรือที่เรียกกันว่า lab fail บางคนทำวิจัยมา 5 ปีแต่สุดท้ายไม่ได้ผลที่ต้องการ ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ครับ

ถือโอกาสแชร์กับผู้บริโภคครับว่าทุกวันนี้มีสินค้าบางแบรนด์โฆษณาเกินจริง อย่างการกินคอลลาเจน (Collagen) ทำให้ผิวขาว จริงๆ คือหลังจากกินเข้าไปก็จะย่อยสลายเป็นกรดอะมิโน ซึ่งร่างกายเราจะเป็นคนเลือกว่าจะนำไปสร้างเป็นคอลลาเจนชนิดไหน  ซึ่งอาจไม่ใช่แบบที่เรากินเข้าไป  หรือแม้แต่การทาคอลลาเจนก็ไม่สามารถซึมผ่านผิวเพื่อไปเติมเต็มผิวได้ครับ
 

แต่ถ้าอยากกินเสริม แนะนำว่าอันดับแรกเลือกแบรนด์ที่ผ่านการรับรองของ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ดูว่าผลิตจากอะไร กลไกการออกฤทธิ์ ผลข้างเคียง ฯลฯ ถ้าลึกกว่านั้นอีกก็เอาผลิตภัณฑ์ไปดูสารประกอบ ผลิตภัณฑ์ที่ดีจะมีใบแจงรายละเอียดให้ เราสามารถนำไปค้นใน Google ต่อได้ และหากได้ผลจริงจะมีงานวิจัยรองรับ และต้องเป็นการวิจัยในคนครับ

ส่วนกิตติศัพท์เรื่อง "การทำงานหนัก" ของคนญี่ปุ่นนั้น

พี่เคยได้ยินมาบ้าง พอมาถึงก็ ใช่ครับ! 5555 ผมว่าระบบของที่นี่จะเน้นไม่ยืดเยื้อ (โดยทั่วไปจบได้ใน 3-4 ปี) แต่ไม่ได้จบแบบสบายแน่นอน เจองานหนักและเข้มข้นมากกก สไตล์ของอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละคนก็ต่างครับ มีทั้งอาจารย์ญี่ปุ่นแท้ๆ (บางคน) เราต้องเข้างานเช้าและเลิกงานดึกทุกวันรวมเสาร์-อาทิตย์ด้วย

จบช้าหรือเร็ว  “อาจารย์ที่ปรึกษา” มีผลมาก

Prof. ของพี่เป็นคนญี่ปุ่นที่เคยไปทำ Postdoc ที่อเมริกาครับ ช่วงแรกเรารู้สึก Culture Shock เพราะเขาดูดุ ดูเคร่ง แต่ไปๆ มาๆ พอปรับตัวได้ก็เข้าใจว่าเขาพยายามช่วยให้เราจบเอกได้ภายใน 3 ปี  พี่ว่าเขาเก่งมาก ประสบการณ์เยอะ แล้วตัดสินใจได้เฉียบ เช่น ถ้าเกิดดูทรงแล้วเห็นว่าสิ่งที่ทำมาจะล้มเหลว ก็รีบให้ตัดจบตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ยื้อ ช่วยประหยัดได้ทั้งเงินและเวลาครับ

A Day In Life  ฉบับนักวิจัย ป.เอก  สาขา Biotechnology

กิจวัตรประจำวันปกติมุมเด็ก ป.เอก ของพี่ก็คือ ตื่นเช้าเตรียมไปแล็บ ส่วนใหญ่ถึงตอน 8:00 แล้วเริ่มงานทันที ทำงานยาวๆ พักตอนเที่ยงและผ่อนคลายอีกทีคือช่วง 18:00-19:00 ปั่นจักรยานกลับหอ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ไม่จำเป็นต้องเข้าแล็บครับ (แล้วแต่สไตล์ของอาจารย์แต่ละคนด้วย) แต่ต้องวางแผนดี ทุกต้นสัปดาห์ต้องคุยกับ Prof. ว่าวันจันทร์-ศุกร์จะทำอะไรบ้าง

นอกจากนี้ พี่สมัครเป็นผู้ช่วยอาจารย์ หรือ Teaching Assistant (TA) ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ช่วยสอนพื้นฐานกับเทคนิคทำแล็บให้เด็ก ป.ตรี มีทั้งคนญี่ปุ่น คนไทย และคนต่างชาติ ได้ค่าขนมมานิดหน่อย นอกนั้นมีโอกาสที่ได้ไป Conference บ้างที่จังหวัดอื่นในญี่ปุ่น หรือเคยได้รับเชิญไปพูดงานที่มีผู้ฟังเป็นนักเรียนไทยในญี่ปุ่นด้วยครับ

ช่องทางสืบค้นงานวิจัย PubMed

. . . . . . . . .

ช่วงชีวิตที่ไปเรียนต่อญี่ปุ่น
คือประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิต

ตอนแรกยังไม่มั่นใจว่าจะดีหรือไม่ดี จะจบมั้ยนะ กะมาตายดาบหน้า 555 แต่พอมาถึงคือรู้สึกตัดสินใจไม่ผิดเลยครับ เพราะเจอสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งกับการทำวิจัยของเรา ดีต่อสุขภาพ แล้วก็ดีต่อใจด้วย นอกจากเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษาเก่ง ก็ยังประทับใจอีกหลายเรื่อง เช่น

  • ความพร้อมของทรัพยากรการทำวิจัย อย่างเกียวโตก็เป็นแหล่งผลิตสารเคมีและอาหารเลี้ยงเซลล์ บางครั้งสั่งวันเดียวแล้วได้เลย ทำให้เราสามารถทำงานต่อเนื่องได้ มีห้องใต้ดินสำหรับสัตว์ทดลอง เราต้องสวมชุดที่เหมือนนักบินอวกาศ มีกระบวนการฆ่าเชื้อก่อนเข้าแล็บ เรื่องเครื่องมือก็ครบ ถ้าขาดอะไรก็คุยกับ Prof. ได้ เขาอาจส่งไปจ้างบริษัทเอกชนทำ รอแป๊บเดียว ไม่ต้องห่วงเรื่องงบเลย
     
  • เดินทางง่ายและรวดเร็ว สามารถเดินทางไปหลายเมืองได้ด้วย “ชิงกันเซ็ง” (新幹線) หรือรถไฟความเร็วสูง ช่วงแรกแนะนำให้ฝึกใช้ขนส่งสาธารณะ อาจจะดูจากเว็บ หรือถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ลองปรึกษากับคนที่อยู่มาก่อน (อาจเข้าไป join กรุ๊ปนักเรียนไทยในญี่ปุ่นไว้)
     
  • มีโอกาสไป Conference และเที่ยวรวมๆ กันหลายที่ เชน จังหวัดนากาโน่ (Nagano), ฮิโรชิมะ (Hiroshima), โอซากะ (Osaka), เมืองนารา (Nara) ฯลฯ​ ชอบตรงที่ทุกเมืองในญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะ จากที่เจอมาสมมติเจอเค้าเขียนว่าเป็นสินค้า Limited มีขายเฉพาะเมืองนี้เท่านั้น เราจะหาซื้อที่อื่นไม่ได้แล้วจริงๆ ครับ
     
  • คนญี่ปุ่นมี Service-mind ดีมากๆ อย่างมีครั้งนึงผมหลงทางแล้วพูดญี่ปุ่นไม่ได้ เค้าก็พยายามคุยภาษามือ ช่วยเต็มที่จนมั่นใจว่าเราจะถึงที่หมายแน่ๆ

. . . . . . . . .

ชีวิต ป.เอก & อาจารย์ 
ประสบการณ์ต่างกันยังไงบ้าง

รีวิวจากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ เป้าหมาย ป.เอก มีอย่างเดียวคือเรียนให้จบ สื่อสารแค่กับ Prof. และเพื่อนร่วมงานไม่กี่คน เราทำงานให้เต็มที่ ไม่ต้องพะวงเรื่องทุน

แต่พอตัดภาพมาเป็นอาจารย์ ต้องคิดทุกอย่างและแบ่งโฟกัสไปทำหลายอย่าง เช่น ทำวิจัย,  สอน, ออกงานบริการวิชาการทำงานเพื่อส่วนร่วม เช่น ออกให้บริการตรวจสุขภาพ พานักศึกษาไปดูงานที่แล็บในโรงพยาบาล ตรวจงานนักศึกษา ฯลฯ ต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี และงานทุกอย่างจะไม่ได้เสร็จเร็วเท่ากับตอนโฟกัสงานอย่างเดียวเหมือนตอน ป.เอกครับ

. . . . . . . . .

อยากฝากอะไรถึงวัยเรียนทุกคน

ถ้าเรื่องวิชาการทุกคนได้เหมือนกันอยู่แล้ว แต่เรื่องสำคัญที่นายจ้าง (หรือมหาวิทยาลัย) เลือกคนเข้าทำงาน ก็คือ Soft Skills อย่างทักษะการเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ การมีสัมมาคารวะและกาลเทศะต่างๆ ฯลฯ สำคัญไม่น้อยกว่าวิชาการเลยครับ (จริงๆ คณะสายวิทย์สุขภาพก็จะมีสอนระดับพื้นฐานอยู่แล้วแหละ อย่างคณะเทคนิคการแพทย์ที่พี่เรียนก็มี เพราะต้องลงชุมชนแล้วอธิบายผลให้คนไข้ฟัง) ถ้าเกิดมีโอกาสพัฒนาได้ตั้งแต่ตอนเรียนจะดีมากๆ ครับ

. . . . . . . . .

​​You’re Invited!
เสาร์ 27 - อาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024
งานเรียนต่อนอก Dek-D ครั้งที่ 3

รอบนี้พิเศษสุดๆ เพราะ Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรามากถึง 23 คน เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครอง  Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลีย

สำหรับใครที่อยากพูดคุยกับ “พี่เปา” สามารถ Walk-in มาปรึกษา 1:1 ได้ในวันที่ 27 เมษายน 2024 นะคะ แล้วเจอกันนน!

เช็กไฮไลต์งานแฟร์ที่นี่!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น