สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนนน~~ ตอนนี้ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ Bridgerton กำลังมาแรงสุดๆ ใครที่ไปเดินร้านหนังสือจะเห็นอยู่บน Top Shelf กันเลยทีเดียว สำหรับบทความในวันนี้ พี่ธัน อยากพาน้องๆ ที่กำลังอินกับซีรีส์ ย้อนเวลาไปสู่ประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ผ่านวรรณกรรมสุดคลาสสิกถึง 5 เรื่องด้วยกัน ขอบอกว่าแต่ละเล่มเนี่ยทั้งปกสวยน่าอ่าน เนื้อเรื่องก็โดดเด่นและเหมือนพาเราหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกเลยครับ!
ก่อนอื่นขอเล่าความเป็นมาสั้นๆ เกี่ยวกับประเทศอังกฤษในยุคนี้สักนิด ในช่วงปี 1800s หรือ ศตวรรษที่ 19 ประกอบไปด้วยสองยุคหลักๆ ด้วยกัน นั่นก็คือ 1.ยุคจอร์เจียน (Georgian era, 1714-1837) และ 2.ยุควิกตอเรียน (Victorian era, 1837-1901) สำหรับในซีรีส์ Bridgerton จะเป็นเรื่องราวในยุครีเจนซี (Regency era, 1811-1820) ซึ่งเป็นยุคสมัยย่อยของ Georgian era นั่นเอง นับแบบทางการแล้วยุครีเจนซีมีอายุเพียง 9 ปีเท่านั้น หรือบางคนก็อาจนับเวลาของยุคนี้ตั้งแต่ปี 1795-1837
แล้วทำไมถึงเรียกว่ารีเจนซีล่ะ? ก็เพราะว่าในยุคนี้เองรัฐสภาอังกฤษได้ผ่านร่างกฎหมายที่อนุญาตให้ ‘King George IV’ ได้ขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนบิดาของเขา ‘King George III’ ซึ่งไม่สามารถดำรงฐานะกษัตริย์ต่อได้เนื่องจากมีอาการป่วยทางจิตนั่นเองครับ
ยุควิกตอเรียน (Victorian era) ก็เป็นอีกหนึ่งยุคสำคัญในศตวรรษที่ 19 โดยชื่อของยุคก็มาจาก ‘Queen Victoria’ ที่ครองราชย์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ทำให้อังกฤษกลายมาเป็นมหาอำนาจโลกทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มีการขยายอาณานิคมไปทั่วทุกมุมโลก และความรู้แขนงต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และศิลปะก็เติบโตไม่แพ้กัน แต่ภายใต้ความเฟื่องฟูนี้ก็มีปัญหาทางสังคมมากมาย เช่น ความยากจน มลพิษ การใช้แรงงานเด็ก และการกดขี่ผู้หญิง เป็นต้น ️
เมื่อไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีทีวี หรือ โทรศัพท์มือถือ ช่องทางที่ทำให้ผู้คนในยุคนั้นได้รับรู้และตระหนักเกี่ยวกับปัญหาและสะท้อนสภาพสังคมต่างๆ ก็คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก "สื่อสิ่งพิมพ์" อย่างเช่นวรรณกรรมนั่นเองครับ ว่าแต่นักเขียนแต่ละคนมีความคิดอย่างไรกับสังคมในยุคนั้น ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมอย่างไร ฉากหลังจะสวยหรูเหมือนในหนัง/ซีรีส์มั้ยนะ? ตามไปเปิดนวนิยายรักเล่มแรกของวันนี้กันเลยครับ
[ คำเตือน : บทความนี้มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนนะครับ ]
1. Pride and Prejudice (1813) – Jane Austen
นวนิยายรักสุดคลาสสิกตลอดกาล เขียนโดย Jane Austen เกี่ยวกับเรื่องราวของ Elizabeth Bennet หญิงสาวไหวพริบดี ฉลาด และกล้าหาญ กับ Mr. Darcy ชายหนุ่มที่ร่ำรวย หลังจากพบกันครั้งแรก ทั้งสองก็เต็มไปด้วยความเข้าใจผิดและไม่ลงรอยกันด้วยบุคลิกที่ต่างกัน Elizabeth มองว่า Darcy นั้นเป็นคนหยิ่งยโส ในมุมกลับกัน Darcy เองก็มองว่าครอบครัวของ Elizabeth นั้นด้อยกว่า ถ้าจะให้ใช้ศัพท์สายนิยายขอบอกว่าเรื่องนี้เป็นแนว Enemies to lovers ผสมกับ Grumpy x Sunshine ที่กลมกล่อมมาก แต่ว่าสองพระนางจะรักกันได้ยังไง ต้องลองไปอ่านกันนน~
นอกจากเนื้อเรื่องสนุกแล้ว นิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนสังคมยุครีเจนซีต่างๆ ด้วยนะ เริ่มด้วยธีมหลักของเรื่องเลย นั่นก็คือประเด็นชนชั้นทางสังคมและบทบาททางเพศ โดย Jane Austen เขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อตีแผ่ปัญหาที่คุณค่าของผู้หญิงนั้นถูกวัดด้วยเรื่องของ ‘การแต่งงาน’ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความมั่นคงในชีวิต เศรษฐกิจ หรือสถานะทางสังคม อีกธีมสำคัญคือ “ทิฐิ” (Pride) และ “อคติ” (Prejudice) ที่ฝังลึกทำให้ตัวละครหลักอย่าง Elizabeth เข้าใจผิดกับ Mr. Darcy แต่ในตอนท้ายแล้วเธอก็ได้เรียนรู้และยอมรับในความผิดพลาดนั้น และตระหนักว่าแท้จริงแล้ว “ความสุขเกิดจากการลดทิฐิและอคติของตนเอง โดยการตัดสินผู้อื่นจากการกระทำและลักษณะนิสัยที่แท้จริง ไม่ใช่จากสถานะทางสังคม”
ขอทิ้งท้ายด้วยประโยคแรกของนิยาย ซึ่งเป็นหนึ่งในประโยคเริ่มต้นที่โด่งดังที่สุดในวงการวรรณกรรม เพราะสามารถสรุปพล็อตเรื่องไว้ได้อย่างกระชับ พร้อมกับสะท้อนให้เห็นภาพสถานะทางสังคมของผู้หญิงในต้นยุค 1800s อย่างชัดเจน
“It is a truth universally acknowledged, that a single man in possession of a good fortune, must be in want of a wife.”
“เป็นความจริงที่ยอมรับกันทั่วสากลโลกว่า ชายโสดผู้เป็นเจ้าของสินสมบัติอันมั่งคั่งย่อมอยู่ในฐานะที่ต้องการภรรยา”
2. Emma (1815 ) – Jane Austen
อีกนิยายเรื่องดังของ Austen ที่ถูกทำมาเป็นภาพยนตร์ในปี 2020 นำแสดงโดยนักแสดงสาวชื่อดังอย่าง Anya Taylor-Joy โดยเนื้อเรื่องจะพาไปตามติดชีวิตของตัวละครหลัก Emma Woodhouse หญิงสาวชั้นสูงที่ถึงแม้จะมีเจตนาดี แต่เธอนั้นชอบจัดการชีวิตรักของคนอื่นและจับคู่คนรู้จักของเธอให้ได้แต่งงานกัน เพราะเธอเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถพิเศษในการเข้าใจความต้องการของคนอื่น เธอจึงรับบทเป็นแม่สื่อ (Matchmaker) คอยชักใยให้คนรักกัน
Emma พยายามช่วยจับคู่เพื่อนสาวในหมู่บ้านกับชายหนุ่ม แต่กลับสร้างปัญหาต่างๆ โดยไม่รู้ตัว และระหว่างทางนั้นก็ทำให้ Emma ได้เรียนรู้ว่า “คนเราไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกในใจของใครได้และมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเธอที่จะเข้าไปจัดการชีวิตของคนอื่น” จุดเปลี่ยนนี้ทำให้ Emma ได้รู้ว่าแม้ตัวเองอยากจะรับบทเป็นโค้ช แต่พอได้ลงสนามจริงแล้วเธอเองก็ไม่ได้เก่งเรื่องความสัมพันธ์ไปกว่าคนอื่นซะเลย แถมความรักที่เธอตามหานั้นแท้จริงแล้วก็อยู่ไม่ได้ไกลจากเธอด้วยซ้ำ ส่วนรักครั้งนี้จะ Happy Ending มั้ย ต้องไปลุ้นต่อในนิยายนะครับ~
ธีมของเรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องที่แล้ว เพราะได้สะท้อนค่านิยมการแต่งงานของผู้หญิงในยุคนี้ ซึ่งเป็นวิธีหลักที่จะช่วยอัปสถานะทางสังคมได้ และมีน้อยมากที่จะไต่เต้าบันไดทางสังคมจากความสามารถของตนเองภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ถึงแม้พวกเธอจะมีความสามารถมากมายแต่บทบาททางเพศก็ได้ตีกรอบความอิสระเอาไว้ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำได้ก็จะเกี่ยวข้องกับงานสังคม ดนตรี ศิลปะ และงานการกุศลในหมู่สตรีชั้นสูงเท่านั้น และการที่ Emma หมกมุ่นกับการจับคู่คนนั้นคนนี้เข้าด้วยกันก็เป็นเพราะว่านั่นอาจเป็นสิ่งที่หญิงสาวสามารถมีบทบาทได้มากที่สุดนั่นเองครับ
อีกอย่างคือใครที่ดู Bridgerton ซีซัน 3 จะเห็นว่า Eloise อ่านนิยายเรื่องนี้ด้วยนะ ต้องไปอ่านตามแล้วมั้ย??
3. Jane Eyre (1847) – Charlotte Brontë
ไปกันต่อกับ Jane Eyre ผลงานคลาสสิกจากปลายปากกาของ Charlotte Brontë หนึ่งในสามพี่น้องนักเขียนตระกูล Brontë รู้หรือไม่ว่าเค้าโครงของเรื่องก็มาจากชีวิตจริงของผู้เขียนนี่แหละครับ
Jane Eyre เป็นเด็กหญิงที่ต่อสู้กับชีวิตที่ยากลำบาก หลังจากพ่อแม่ของเธอลาลับจากโลกใบนี้ไป เด็กหญิงก็ต้องย้ายมาอาศัยอยู่กับน้าสาวใจร้ายพร้อมกับลูกๆ ที่คอยกลั่นแกล้งเธอตลอด ต่อมาความกล้าหาญและมุ่งมั่นของ Jane ก็เป็นเหตุให้เธอมีปัญหากับน้าของตัวเอง และถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งที่เลวร้ายไม่ต่างกัน
หลังเรียนจบเธอเริ่มงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่คฤหาสน์ของ Mr. Rochester ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน ทว่าวันนึ่ง Jane กลับค้นพบความลับสุดดำมืดของนายจ้าง ที่ทำเอาเธอต้องหนีจากเขาไปให้ไกล และไปอาศัยอยู่กับบาทหลวงหนุ่มคนหนึ่งครับ ในที่สุดบาทหลวงก็ขอเธอแต่งงาน แต่ Jane ตัดสินใจกลับไปหา Mr. Rochester อีกครั้งเพราะเธอยังลืมเขาไม่ได้
ประเด็นหลักของนวนิยายเรื่องนี้ คือบทบาทของสตรีชนชั้นกลางในสมัยวิกตอเรียนที่ถูกลดทอนคุณค่าและกีดกันทางสังคม ไม่เพียงผู้หญิงขาดเสรีภาพทางการเงินจะถูกมองว่าด้อยกว่าผู้ชาย แต่สังคมยังคาดหวังให้พวกเธอต้องสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ไม่ออกความเห็นอีกด้วย
แต่ Jane ปฏิเสธที่จะทำตามขนบธรรมเนียมนั้นครับ เธอไม่กลัวการพูดถึงความในใจของตน ไม่เกรงต่อการโต้แย้งกับผู้ที่สถานะสูงกว่า รวมถึงผู้ชายอย่าง Mr. Rochester (เขาตกหลุมรักเธอเพราะเหตุผลนี้แหละ) เรียกได้ว่า Charlotte คือหนึ่งในนักเขียนเฟมินิสต์กลุ่มแรกๆ ที่สอดแทรกจุดยืนลงไปในงานเขียนอันยอดเยี่ยมของเธอเองครับ
Note: รู้หรือไม่ว่านิยายและละครเรื่องดังอย่าง ‘รักเดียวของเจนจิรา’ ถูกดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่อง Jane Eyre นั่นเองครับ
4. David Copperfield (1850) – Charles Dickens
อีกหนึ่งวรรณกรรมชิ้นเอกที่เกิดขึ้นในยุควิกตอเรียน เล่าเรื่องราวของ ‘David’ เด็กชายกำพร้าพ่อที่ต่อสู้บนเส้นทางชีวิตที่ยากลำบาก นับตั้งแต่แม่ของเขาแต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงใจร้าย และตัวเขาเองถูกส่งอยู่โรงเรียนประจำ
หลังจากแม่ของเขาเสียชีวิต เขาถูกใช้แรงงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในลอนดอน เขาตัดสินใจหนีออกจากโรงงานเพื่อเดินทางไปหา Aunt Betsey ซึ่งช่วยดูแลส่งเสียด้านการศึกษาจนจบ จากนั้น David มุ่งหน้ากลับสู่ลอนดอนเพื่อเริ่มต้นชีวิตและพบปะคนใหม่ๆ ที่สร้างปัญหาบ้างหรือนำสิ่งดีๆ มาให้กับเขาบ้าง แต่สุดท้ายแล้วทุกคนล้วนมีผลต่อพัฒนาการของตัว David เอง
จะเห็นว่าหนึ่งในไอเดียหลักของเรื่องคือ การเลือกเส้นทางชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ส่งผลมากเหมือนกันคือ “คนรอบตัว” ดังนั้นการมีครอบครัวและเพื่อนที่ดีจะช่วยนำพาเราไปเจอแต่สิ่งดีๆ แต่เมื่อไหร่ที่เราตัดสินใจพลาดไป ก็เรียนรู้กับประสบการณ์นั้นซะ เพราะทุกเหตุการณ์ล้วนทำให้เราเติบโตขึ้นครับ
5. North and South (1855) – Elizabeth Gaskell
มาถึงวรรณกรรมเรื่องสุดท้าย ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนเรื่องอื่นๆ ในข้างต้น แต่รับรองว่าสนุกและให้แง่คิดที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยครับ โดยเรื่องนี้แอบคล้าย Pride and Prejudice อยู่เหมือนกัน ยิ่งถ้าใครชอบแนว Enemies to Lovers พระ-นางไม่ถูกกัน นิสัยต่างขั้ว ห้ามพลาดเลย!
เนื้อเรื่องย่อคือหลังจากที่คุณพ่อของนางเอก Margaret ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคริสตจักรแห่งอังกฤษ เขาจึงพาภรรยาและลูกย้ายออกจากเมืองชนบทเล็กๆ ทางใต้ของอังกฤษ ไปอยู่ที่ Milton เมืองอุตสาหกรรมทางเหนือ ที่เต็มไปด้วยมลพิษและความยากจน และที่นั่น Margaret ก็ได้พบกับ John Thornton หนุ่มเจ้าของโรงงาน…
Margaret รู้สึกเห็นใจคนงานในโรงงานของ John ที่ใช้ชีวิตยากลำบากและต้องต่อสู้เพื่อค่าแรงที่เป็นธรรม เป็นเหตุให้ทั้งคู่ไม่ลงรอยกัน ทว่าหลังจากใช้เวลาร่วมมากขึ้น เธอก็ค้นพบว่าตนอาจจะแค่เข้าใจเขาผิดไปเท่านั้นเองครับ
นอกจากนี้ยังสอดแทรกปัญหาทางสังคมอย่างลงตัว ทั้งเรื่องความแตกต่างระหว่างประเทศอังกฤษทางใต้ที่แทนสังคมชั้นสูง และ ทางเหนือที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมและชนชั้นแรงงาน เรื่องนี้ยังแทรกข้อคิดเกี่ยวกับความสำคัญของครอบครัวและเพื่อน รวมไปถึงการตัดสินคนจากประสบการณ์และอคติของตนเองด้วย
และนี่ก็คือตัวอย่างนวนิยายที่ไม่อยากให้พลาดครับ เพราะเนื้อเรื่องสนุกน่าติดตาม และยังพาเราย้อนเวลาไปสำรวจบริบทสังคมของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 พร้อมกับให้ข้อคิดมาปรับใช้กับชีวิตปัจจุบันได้ พี่ธันไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมวรรณกรรมเหล่านี้ถึงคงความคลาสสิก และเป็นที่พูดถึงกันตลอดจนทุกวันนี้
แม้ว่าภาษาอังกฤษในเรื่องจะค่อนข้างเก่าและยากไปบ้าง แต่รับรองเลยว่าถ้าอ่านจบจะยกระดับสกิลภาษาอังกฤษ และได้คำศัพท์กับประโยคสวยๆ ไว้ใช้อีกเพียบ หรือถ้าใครอยากหาอ่านเวอร์ชันภาษาไทย ก็มีขายตามร้านหนังสือทั่วไปเช่นกันครับ~
............
Sourceshttps://wentworthwoodhouse.org.uk/discovery/a-walk-through-the-regency-era/ https://afs.org.au/careers/essay/pride-and-prejudice-themes-exploring-love-social-class-and-gender-roles.html#:~:text=The%20main%20themes%20in%20Pride%20and%20Prejudice%20are%20love%2C%20social,women%20in%2019th%20century%20England. https://www.sparknotes.com/lit/pride/quotes/ https://cont-reading.com/context/jane-austen/#:~:text=%E2%80%9CIt%20is%20a%20truth%20universally,%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E2%80%9D https://www.sparknotes.com/lit/emma/summary/ https://minervawisdom.com/2022/09/23/literary-summary-jane-austens-emma/ https://scholarcommons.sc.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1006&context=tor https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/zw76g82/revision/1 https://www.coursehero.com/lit/David-Copperfield/context/ https://www.selectedreads.com/david-copperfield-summary-and-characters/ https://www.coursehero.com/lit/North-And-South/ https://www.bookishwayfarer.com/blog/review-north-and-south-by-elizabeth-gaskell
0 ความคิดเห็น