สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนครับ ถ้าพูดถึงรัฐอะแลสกา (Alaska) ในสหรัฐอเมริกา เดาว่าทุกคนก็คงจะคิดถึงปลาแซมอนหรือไม่ก็เหล่าปลาวาฬกันใช่ไหมครับ? เพราะที่นี่เป็นรัฐที่ผู้คนได้อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ทะเลมากๆ แล้วรู้ไหมครับว่าที่อะแลสกานอกจากจะมีธรรมชาติสวยงามและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ควรค่าให้ศึกษาแล้ว เค้ายังมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอีกด้วย
วันนี้พี่น้ำพุเลยขอพาทุกคนไปเปิดโลกทะเลกันถึงที่อเมริกาเหนือ เพื่อทำความรู้จักกับสถาบัน College of Fisheries and Ocean Sciences (CFOS) ที่มีหลักสูตรศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ทะเลแบบเจาะลึกอย่าง Fisheries and Marine Sciences (การประมงและวิทยาศาสตร์ทางทะเล) กันครับ ถ้าอยากรู้ว่าที่นี่จะเป็นยังไง จะมีวิชาอะไรน่าเรียนบ้าง? อย่างแรกเรามาทำความรู้จักกับสถาบันกันก่อนเลยครับ!
ทำความรู้จัก ‘CFOS’ กันก่อน
- สถาบัน College of Fisheries and Ocean Sciences ก่อตั้งเมื่อปี 1987 เป็นวิทยาลัยในสังกัดของ University of Alaska Fairbanks
- มีแคมปัสหลักตั้งอยู่ที่เมืองแฟร์แบงค์ (Fairbanks) และแคมปัสย่อยอยู่ในเมืองจูโน (Juneau)
- ที่นี่เด่นด้านวิชาการและเป็นศูนย์วิจัยที่ใหญ่ที่สุดในรัฐอะแลสกา และเป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นเรื่องชีววิทยาทางทะเล สมุทรศาสตร์ และการประมงน้ำจืดเป็นหลัก (อะแลสกาเหมาะสมที่สุดในการศึกษาศาสตร์เหล่านี้ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางทะเลหลากหลาย สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ง่าย)
- ไม่ได้เน้นแค่การศึกษาสัตว์ทะเลเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิของโลก ที่อาจส่งผลต่อเหล่าน้องๆ สัตว์ทะเลอีกด้วย
- ศิษย์เก่าของ CFOS หลายคนทำงานอยู่กับองค์กรด้านการวิจัยทางทะเลทั่วมุมโลก ตั้งแต่ขั้วโลกเหนือไปจนถึงขั้วโลกใต้!
- นักเรียนมีจำนวนไม่มากเกินไป แต่ละคลาสมีความ exclusive สูง อีกทั้งยังเปิดรับนักศึกษาจากต่างชาติให้เข้ามาเรียนกันด้วย
หลักสูตร “Fisheries and Marine Sciences”
โปรแกรมนี้จัดอยู่ในหลักสูตรปริญญาตรี ประเภท Bachelor of Science โดยสามารถเลือกเรียนได้ทั้งแบบ Onsite, Online และ Hybrid (ผสมกันระหว่างออนไลน์และเรียนที่แคมปัส) // โดยหลักสูตร Fisheries และ Marince Science จะศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และสมุทรศาสตร์ โดยนักเรียนจะได้เรียนวิชาต่างๆ ผ่านการศึกษาสัตว์ทะเลแบบใกล้ชิดจริงๆ นอกจากนี้ยังได้ประสบการณ์ภาคปฏิบัติแน่นๆ แบบนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ เพราะจะได้ทำงานใน lab พร้อมลงพื้นที่จริง และยังได้ฝึกงานกับศูนย์วิจัยที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
นักเรียนในหลักสูตรนี้สามารถเลือกสาขาย่อยที่สนใจจะเรียนได้ โดยมีทั้งหมด 4 สาย ได้แก่
- Fisheries (การประมง)
- Marine Biology (ชีววิทยาทางทะเล)
- Oceanography (สมุทรศาสตร์)
- No-concentration (ไม่เลือกเจาะจงสายใดเป็นพิเศษ)
เส้นทางหลังเรียนจบหลักสูตรนี้ก็สามารถต่อยอดได้หลากหลายสายเลยครับ เช่น เป็นนักชีววิทยาทางทะเล นักอนุรักษ์สัตว์น้ำ นักเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นักวิจัย และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
และที่ CFOS เค้าก็การันตีว่านักเรียนทุกคนที่จบไปจะมีงานทำแน่นอน เนื่องจากสายงานทางด้าน fisheries และ marine sceinces เป็นที่ต้องการของตลาดงานมากๆ และบวกกับความดีงามที่ทางสถาบันได้สร้าง connection กับองค์กรวิจัยต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนไว้แบบแน่นๆ ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรนี้หลายคนโดนเรียกตัวให้ไปทำงานในทันทีหลังเรียนจบเลย!
ยกตัวอย่างองค์กรที่มีชื่อเสียงที่ศิษย์เก่าของ CFOS เข้าไปทำงานต่อ เช่น Alaska Department of Fish and Game (ADFG), Rising Tide Communications, the U.S. Fish and Wildlife Service (USFWS) และองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย
ส่อง 5 วิชาน่าเรียนที่คนรักสัตว์ทะเลห้ามพลาด!
ที่หลักสูตร CFOS นี้มีเปิดสอนรายวิชาน่าสนใจๆ ให้นักเรียนได้เลือกเรียนกันแบบฉ่ำใจ ตั้งแต่พวกพื้นฐานวิทยาศาสตร์หรือชีววิทยาทางทะเล ไปจนถึงวิชาที่สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคตได้ วันนี้พี่เลยหยิบยกตัวอย่าง 5 วิชาน่าเรียน มาแบ่งปันกันครับ
1.The Harvest of the Sea (การเก็บเกี่ยวในท้องทะเล)
เรียนสายนี้ไม่ได้แปลว่าต้องเรียนอะไรแต่เรื่องวิทย์จ๋าๆ อย่างเดียว! เพราะรายวิชานี้จะพาทุกคนไปเปิดโลกวรรณกรรมเพื่อศึกษาประเด็นเกี่ยวกับบ่อนทำลายทรัพยากรทางทะเล โดยจะมี theme ที่เน้นหลักๆ คือ
- การแสวงหาผลประโยชน์ในทรัพยากรทางทะเลในยุคต้น
- การเก็บเกี่ยวประชากรสัตว์น้ำแบบเกินขอบเขตความจำเป็น
- สถานะและความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์ทะเล
เห็นหัวข้อที่จะได้เรียนแล้วก็ดูน่าสนใจสุดๆ เพราะได้ทั้งอ่านนิยายและทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเราซึ่งอาจกระทบเหล่าสัตว์น้ำโดยที่เราเองก็อาจไม่รู้ตัวมาก่อน
2. Salmon, People and Place (แซมอน ผู้คน และถิ่นที่อยู่)
วิชานี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะเราจะได้เรียนมุ่งเน้นเกี่ยวกับมิติสังคมที่เชื่อมโยงกับปลาแซมอนซึ่งบอกเลยว่าว้าวมากก~ ยกตัวอย่างเช่น แซมอนกับความมั่นคงทางด้านอาหารการกินของคนท้องถิ่นในอะแลสกา ประเพณีและวิถีชีวิต
นอกจากนี้ยังได้เจาะลึกแซมอนในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของโลกที่ทันสมัย ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลกับปลาแซมอน การประมงเชิงพาณิชย์กับแซมอน เป็นต้น เรียกได้ว่าเรียนแล้วได้รู้ลึกรู้กว้าง ตระหนักถึงประเด็นโลกต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเจ้าปลาส้ม // เรียนจบไปแล้วจะกินแซมอนได้แบบมีความรู้กว่าใคร~
3. Seafood Business (ธุรกิจอาหารทะเล)
วิชาสายธุรกิจก็มา! ถ้าคนไหนอยากเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารทะเล ในหลักสูตรนี้จะมีวิชา Seafood Business ที่พามือใหม่ไปรู้จักกลยุทธ์วิธีการสร้างและบริหารธุรกิจอาหารทะเลของตัวเองให้ประสบความสำเร็จแบบเริ่มจากศูนย์! เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่การวางแผนธุรกิจ การจัดหาเงินทุน การทำบัญชี การตลาด การจัดการทรัพยากรบุคคล และยุทธการต่างๆ ในการเก็บเกี่ยวอาหารทะเล ที่สำคัญคือจะได้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมอาหารทะเลมาสอนและแชร์ประสบการณ์แบบอินไซต์ในคลาสอีกด้วย
4.Marine Mammals of the World (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจากทั่วโลก)
เพราะใต้ท้องทะเลไม่ได้มีแค่ปลา วิชานี้จะพาทุกคนไปสำรวจกับ 129 สปีชีส์ของสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมจากทั่วทุกมุมโลก มีสอนทั้งการแบ่งประเภทของสัตว์จำพวกนี้ออกเป็นแบบต่างๆ การอธิบายสปีชีส์ และเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัวของสัตว์แต่ละประเภท ทั้งการให้นม ระบบนิเวศ การสืบพันธ์ุ ภัยคุกคาม และการอนุรักษ์เป็นต้น บอกเลยสนุก!
5. Marine Bird Ecology and Conservation (ระบบนิเวศของนกทะเลและการอนุรักษ์)
วิชาเกี่ยวกับนกก็มีนะ! เพราะนกเป็นอีกสายสัมพันธ์ที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้นวิชานี้จะสอนตั้งแต่ชีววิทยา นิเวศวิทยา และการอนุรักษ์เหล่านกชายฝั่งทะเล โดยจะเน้นไปที่สายพันธุ์ที่พบได้มากในแถบอะแลสกาและบริเวณซีกโลกเหนือ เช่น นกชายเลน เป็ดทะเล เป็นต้น ทั้งได้เจาะลึกวิวัฒนาการของเหล่านก การปรับตัว ประชากร รวมถึงการอยู่อาศัยร่วมกันของนก เนื้อหากว้างและน่าสนใจสุดๆ!
ไม่ได้เรียนแค่ในคลาส!
มีโอกาสขึ้นเรือสำรวจขั้วโลกเหนือ~
ใครอยากลองไปสัมผัสน้ำแข็งที่ขั้วโลกสักครั้งในชีวิต หลักสูตรนี้เค้าก็จัดให้แบบเต็มระบบ! เพราะ National Science Foundation เค้ามีเรือสำหรับการค้นคว้าวิจัยทางทะเลที่ชื่อว่า Sikuliaq (อ่านว่า ซี-กู-ลี-อาค) ซึ่งปฏิบัติการผ่านการดูแลและควบคุมโดย CFOS
ที่ว้าวสุดๆ คือเรือลำนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เรือค้นคว้าวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยที่ล้ำที่สุดในโลก’ โดยตัวเรือนั้นสูงถึง 261 ฟุต และสามารถเจาะทำลายแผ่นน้ำแข็งที่หนาถึง 2.5 ฟุตได้แบบง่ายๆ และยังสามารถบรรทุกนักวิทยาศาสตร์และนักเรียนได้ถึง 24 คน ซึ่งใครได้มาเรียนที่นี่ก็มีโอกาสขึ้นเรือพร้อมกับเหล่านักวิจัยเพื่อออกไปสำรวจขั้วโลกเหนือทุกปี แต่อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเรือที่พาคนล่องทะเลน้ำแข็งได้จำกัด จึงมีการเปิดรับสมัครแบบ first come, first served นั่นเองครับ
ค่าเล่าเรียน
*สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีในเรตของนักศึกษาต่างชาติ จะมีค่าใช้จ่ายแต่ละเทอมคร่าวๆ ตามตารางด้านล่างนี้ครับ*
ค่าเทอมและค่าลงทะเบียนต่างๆ | $13,950 (≈ 511,000 บาท) |
ค่าที่พัก + ค่าอาหาร | $5,995 (≈ 219,600 บาท) |
รวมทั้งสิ้น | $19,945 (≈ 730,000 บาท) |
*อ้างอิงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1 $ = 36.64 บาท
เอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการสมัครเรียน
- ผลคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ TOEFL 79 หรือ IELTS score of 6.5
- ใบ transcript การศึกษาในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย (แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
*ทางมหาวิทยาลัยแนะนำให้ใช้บริการการประเมินและแปลภาษาใบ transcript ของ National Association of Credential Evaluation Services (NACES) หรือบริษัทในเครือเดียวกันอย่าง UAF SpanTran Evaluation Request Form ที่จัดตั้งมาเพื่อนักเรียนต่างชาติที่ต้องการสมัครเรียนกับ UAF โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อความถูกต้องและแม่นยำในการเทียบโอนหน่วยกิตจากไทยไปยังอเมริกานั่นเองครับ (อาจมีค่าใช้จ่ายในการประเมินและสมัครเรียนเพิ่มเติม)
ดูรายละเอียดการสมัครเรียนเพิ่มเติมที่นี่..................
ชี้เป้าทุนการศึกษา
แน่นอนว่าการเรียนต่อมหาวิทยาลัยในอเมริกานั้นมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ค่อนข้างสูงทีเดียว ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงมีการจัดสรรทุนให้นักศึกษาต่างชาติที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน โดยลิสต์ตัวอย่างทุนที่สามารถสมัครได้ มีดังนี้
1.Nanook Pledge Scholarship
ทุนสำหรับผู้ที่มีผลการเรียนดี พิจารณาจาก GPA ที่ผ่านมา มีมูลค่าตั้งแต่ $1,000 ถึง $12,000 (≈ 36,650 - 439,800 บาท) ต่อปี
ข้อกำหนดในการรับทุน
- ต้องลงทะเบียนให้เต็มหน่วยกิต (12 หน่วยกิต) ในเทอม Fall และ Spring
- ต้องรักษาเกรด (GPA) ให้สูงกว่า 2.0 และต้องเรียนให้ผ่านอย่างน้อย 67% ในวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
ผลการเรียนในระดับมัธยม | มูลค่าทุนที่ได้รับ |
GPA 3.8+ | $12,000 ต่อปี (≈ 439,800 บาท) |
GPA 3.5-3.79 | $8,000 ต่อปี (≈ 293,200 บาท) |
GPA 3.2-3.49 | $5,000 ต่อปี (≈ 183,250 บาท) |
2. Alaska Adventure Award
ข้อกำหนดในการรับทุน
- ต้องลงทะเบียนให้เต็มหน่วยกิต (12 หน่วยกิต) ในเทอม Fall และ Spring
- ต้องรักษาเกรด (GPA) ให้สูงกว่า 2.0 และต้องเรียนให้ผ่านอย่างน้อย 67% ในวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
ผลการเรียนในระดับมัธยม | มูลค่าทุนที่ได้รับ |
GPA 3.0-3.19 | $3,000 ต่อปี (≈ 109950 บาท) |
GPA 0-2.99 | $1,000 ต่อปี (≈ 36650 บาท) |
นอกจาก 2 ทุนนี้แล้วยังมีทุนอื่นๆ อีกมากมาย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://www.uaf.edu/finaid/nonresident.php
………..
รู้จัก CFOS กันไปคร่าวๆ แล้วเป็นยังไงกันบ้างครับ วิชาต่างๆ ที่เลือกมาน่าสนใจทั้งนั้นเลย พี่เชื่อว่าที่นี่คงเป็นมหาวิทยาลัยในฝันสำหรับคนที่ชื่นชอบและสนใจในสัตว์ทะเล และอะแลสกาก็ถือว่าเป็นรัฐที่ตอบโจทย์มากๆ สำหรับคนที่อยากใกล้ชิดกับธรรมชาติทั้งภูเขาและสัตว์น้ำ ส่วนใครที่สนใจอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันหรือหลักสูตร Fisheries and Marine Sciences สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้เลยครับ
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย
0 ความคิดเห็น