วันนี้คุณใจดีกับตัวเองหรือยัง? เปิดมุมจิตวิทยาผ่าน 4 บทเรียนดีๆ จาก Inside Out 2

สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคน เชื่อว่าน้องๆ หลายคนอาจได้ดู ‘Inside Out 2’ ภาพยนตร์แอนิเมชันน้ำดีจากค่าย Pixar Animation Studios (Pixar)  กันแล้วใช่มั้ยครับ? นอกจากจะได้ความสนุก ภาคนี้ก็ยังสอดแทรกข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่น่าสนใจมากมายเลย วันนี้ พี่ธัน เลยขอหยิบ 4 ข้อคิดดีๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้มาให้น้องๆ ได้ออกไปสำรวจความรู้สึกและเข้าใจตัวเองพร้อมกัน และจะได้รู้ว่า ‘ทำไมเราถึงควรใจดีกับตัวเองมากที่สุด’ 

Credit: Disney Movies
Credit: Disney Movies

ก่อนที่จะไปเริ่มกัน ขอเล่าเรื่องคร่าวๆ ของ ‘Inside Out’ ทั้งสองภาคสักหน่อย เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจบริบทและเนื้อเรื่องมากขึ้น ...

เรื่องราวของภาคแรกจะเล่าชีวิตของ ‘ไรลีย์’ (Riley) เด็กหญิงอายุ 11 ปีและมีตัวตนที่ชัดเจน แต่ทุกอย่างได้พังทลายลงเมื่อรู้ว่าเธอต้องย้ายบ้านจากมินนิโซตา (Minnesota) มาที่ ซานฟรานซิสโก (San Francisco) ห่างไกลจากบ้านเก่าและเพื่อนอันเป็นที่รักของเธอ การปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่เป็นอะไรที่ยากมาก แต่ก็ต้องฝืนยิ้มเพื่อพ่อแม่ของเธอ // เนื้อเรื่องจะดำเนินผ่านตัวการ์ตูนที่แทนอารมณ์ต่างๆ ภายในหัวของไรลีย์ เช่น ‘ลั้ลลา’ (Joy), ‘เศร้าซึม’ (Sadness), ‘ฉุนเฉียว’ (Anger), ‘กลั๊วกลัว’ (Fear) และ ‘หยะแหยง’ (Disgust) ตัวละครทั้ง 5 ต่างแย่งกันมีบทบาทในการควบคุมการกระทำของไรลีย์​

ส่วน ‘Inside Out 2’ เกิดขึ้น 2-3 ปีให้หลังเมื่อไรลีย์แตกเนื้อสาวย่างเข้าวัยรุ่น นอกจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่สังเกตได้ชัดอย่างเช่น มีสิว ดัดฟัน แต่ความคิดในจิตใจก็ซับซ้อนมากขึ้น ก็เลยมีตัวละครอารมณ์ใหม่ๆ อย่าง ‘ว้าวุ่น’ (Anxiety), ‘อิจฉา’ (Envy), ‘เขินอาย’ (Embarrassment) และ ‘เฉยชิล’ (Ennui) เข้ามามีบทบาทและสร้างปัญหากวนใจบ้าง แต่ก็ทำให้ชีวิตของไรลีย์มีสีสันและสมบูรณ์แบบมากขึ้นเช่นกัน!

ดังนั้นจะมีข้อคิดอะไรบ้างไปอ่านต่อกันเลยยย~~

>>> Note: อาจมีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน <<<

1. ทุกอารมณ์ล้วนทำให้เราเติบโต

ถ้าไม่มีอารมณ์แย่ๆ เลย ชีวิตจะดีแค่ไหนนะ? หลายคนอาจเคยลองจินตนาการแบบนี้ใช่ไหมครับ แต่ในแอนิเมชัน Inside Out ทั้ง 2 ภาคต้องการสื่อว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่อาจละทิ้งอารมณ์ไหนไปได้เลย ซึ่งนั่นรวมถึงด้านลบด้วย หากปราศจากความเศร้า ก็จะไม่รู้ว่าความสุขเป็นแบบไหน และหากไม่มีความกลัว ก็จะไม่ทันเห็นความอันตรายที่เข้าใกล้เรามากๆ เช่นกัน

พูดถึงความเศร้า จุดประสงค์คือการบอกให้คนอื่นรับรู้ว่าต้องการความช่วยเหลือ และแสดงออกทางกายภาพ เช่น การหลั่งน้ำตา รูม่านตาขยาย ฯลฯ ความเศร้านี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนด้วย เหมือนกับเวลาที่เราเห็นใครสักคนรู้สึกเสียใจ ก็มักจะมีความรู้สึกร่วม (Empathy) + ความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) และปูทางไปสู่การฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น เช่น การกอดเพื่อปลอบประโลม สมองจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนความรัก (Love Hormone) มาช่วยลดความเครียด เพิ่มความเห็นใจ และสร้างความผูกพันนั่นเองครับ

เพื่อให้เห็นภาพขึ้น พี่ธันขอยกตัวอย่างภาคแรกที่ตัวละคร ‘เศร้าซึม’ (Sadness) ปลอบใจเพื่อนในจินตนาการของไรลีย์ที่ชื่อ ‘Bing Bong’ หรือตอนที่ไรลีย์แพ้ฮอกกี้ เพื่อนร่วมก็มาช่วยกันปลอบโยนจนเธอรู้สึกดีขึ้น เป็นต้น 

ส่วนในภาค 2 ใครหลายคนน่าจะเข้าอกเข้าใจตัวละคร ‘ว้าวุ่น’ (Anxiety) หรือความวิตกกังวลเป็นอย่างดี ว้าวุ่นพยายามช่วยไรลีย์กำจัดความกลัวที่มองไม่เห็น พร้อมกับทำให้คิดไปไกลและตีกรอบว่า เราจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อทำบางอย่างสำเร็จ เช่น การเลื่อนตำแหน่งงาน การเรียนจบ หรือการมีแฟน เป็นต้น และเมื่อทำสำเร็จแล้ว อารมณ์นี้ก็ยังคงไม่ไปไหน เพราะจะมีเรื่องใหม่ให้รู้สึกวิตกกังวลต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด 

จะเห็นได้ว่าทุกอารมณ์ล้วนสำคัญ แม้กระทั่งด้านลบก็มีบทบาทช่วยนำทางและปกป้องเราได้ในบางครั้ง แต่หากละเลยและปล่อยให้ควบคุมเราโดยสิ้นเชิงก็จะเกิดผลเสียตามมาแน่นอน อย่างเช่น ตอนที่ไรลีย์ฟาล์วตอนแข่งฮอกกี้ เธอวิตกกังวลมากจนใจเต้นแรงแทบหมดสติ เพราะเชื่อว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ และปล่อยให้ความผิดพลาดเล็กน้อยมีผลกับชีวิตมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันถ้าความวิตกกังวลและความเครียดของไรลีย์อยู่ในระดับพอเหมาะ จะช่วยเพิ่มความจดจ่อและคาดการณ์สิ่งที่ยังมาไม่ถึงได้แม่นยำมากขึ้น

Credit: Disney Movies
Credit: Disney Movies

2. เปิดรับทุกความรู้สึก เพราะการปิดกั้นจะนำมาซึ่งปัญหา

เมื่อรู้สึกแย่ เรามักจะปล่อยมันไว้และคิดว่าไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้ววิธีจัดการที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้า บางครั้งการที่ใครสักคนบอกว่า “อย่าโกรธ” “อย่าผิดหวัง” “อย่าร้องไห้” ก็เหมือนตอกย้ำว่าความรู้สึกเหล่านั้นไม่สำคัญ และอาจทำให้ยิ่งทวีความรุนแรงและฝังลึกขึ้นไปอีก เพราะไม่มีใครสามารถช่วยจัดการความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นได้เลย

ยกตัวอย่างจากภาคแรกที่ครอบครัวของไรลีย์ย้ายจากมินนิโซตามาที่ซานฟรานซิสโก การปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมใหม่ทำให้ไรลีย์ทุกข์ใจมาก เพราะเธอถูกคาดหวังให้ปรับตัวกับสังคมที่โรงเรียนภายในเวลาอันสั้น พอกลับถึงบ้านก็ต้องแสดงออกเหมือนว่าเธอแฮปปี้กับชีวิตดี ท้ายที่สุดการปิดกั้นความรู้สึกก็ทำให้เธอมีภาวะซึมเศร้าและประสิทธิภาพในการเรียนลดลง

Credit: Disney Movies
Credit: Disney Movies

3. การใจดีกับตัวเองคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการรับมือสภาวะทางอารมณ์ที่ซับซ้อน

บางครั้งคนเราก็ถูกอารมณ์ชั่ววูบบงการให้ทำบางอย่างลงไปโดยไม่ทันยั้งคิด และอาจนำไปสู่ความผิดพลาดรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียนติดขัด การเงินขาดมือ หรือปัญหาใดก็ตาม จริงอยู่ที่การเปิดรับความรู้สึกไม่ดีคือเรื่องท้าทาย แต่สิ่งสำคัญคือ “การใจดีกับตัวเอง” เมื่อเผชิญเรื่องไม่สบายใจ เราจะมีความสุขได้อีกครั้งต่อเมื่อปล่อยจอยให้ใจได้พักบ้าง

วิธีนึงที่ช่วยเยียวยาได้ คือการลองเขียนจดหมายถึงตัวเองผ่านมุมมองเพื่อนคนหนึ่งที่เห็นอกเห็นใจเรา เช่น “เธอกำลังกดดันตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า อย่าลืมนะว่าความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง พัฒนาการแต่ละก้าวต่างหากที่จะพาเธอเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น แค่ก้าวต่อไปก็พอ เธอทำดีที่สุดแล้ว!”

Credit: Disney Movies
Credit: Disney Movies

4. คนเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่ตัวตนในวัยเด็กของเรายังคงไม่ไปไหน

เวลาเดินหน้าอยู่ตลอด มีหรือที่ตัวเราจะเหมือนเดิม? ตอนเด็กใครหลายคนอาจจะมีความคิดที่ว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราจะมีหนทางชีวิตที่แน่นอน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ความคิดและทัศนคติก็เช่นกัน เห็นได้จากเหล่าอารมณ์ชุดใหม่ที่เข้ามาอย่าง ว้าวุ่น (Anxiety), อิจฉา (Envy), เขินอาย (Embarrassment) และ เฉยชิล (Ennui) และเชื่อว่าเมื่อไรลีย์โตขึ้นก็จะมีเหล่าอารมณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก

ในตอนท้ายของ Inside Out 2 เมื่อลั้ลลา (Joy) ดึงตัวตนเดิมของไรลีย์ออก แล้วปล่อยให้เธอสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่จากประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่จะไปในทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของตัวเราเองทั้งสิ้น เพียงแค่เปิดรับและโตไปกับมัน และถึงแม้ว่าเราจะโตขึ้นก็ยังคงสามารถกลับไปหาตัวตนในวัยเด็กหรือ Inner Child ได้อยู่เสมอ ความสุขอยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือเท่านั้น~

Credit: Disney Movies
Credit: Disney Movies

.............

เป็นยังไงกันบ้างกับข้อคิด 4 ข้อจาก ‘Inside Out’ บอกเลยว่าต้องขอยกเรื่องนี้ให้เป็นอีกภาพยนตร์คุณภาพดีที่สุดของปีนี้เลยก็ว่าได้ ทั้งเรื่องโปรดักชันและการดำเนินเรื่อง ขออวยทีมสร้างเลยที่สามารถสร้างการ์ตูนออกมาโดยที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ทุกอย่างลงตัวสุดๆ จนทำให้เราได้ประเด็นมากมายกลับไปขบคิด

ช่วงนี้ใครที่เครียด หรือรู้สึกกดดัน ก็ลองพักสักหน่อยก็ไม่เสียหาย ใจดีกับตัวเราบ้างสักเล็กน้อย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า อีกอย่างคือยังช่วยให้รีบูตสมองให้ปลอดโปร่ง คิดฟุ้งซ่านน้อยลง แต่ถ้าใครไม่ไหวจริงๆ อย่าลืมติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์นะ // เป็นกำลังใจให้ครับ

……………..

Sourcehttps://www.psychologytoday.com/us/blog/beyond-heroes-and-villains/201506/inside-out-emotional-truths-way-pixarhttps://www.psychologytoday.com/us/blog/savvy-parenting/201507/inside-out-movie-focuses-the-importance-emotionshttps://www.inc.com/jessica-stillman/inside-out-2-isnt-kids-movie-emotional-intelligence-boot-camp.htmlhttps://evolvetreatment.com/blog/five-lessons-inside-out/https://theeverygirl.com/lessons-on-adulthood-from-inside-out-2/https://www.bangkokhospital.com/content/love-hormonehttps://greatergood.berkeley.edu/article/item/five_practices_for_a_healthier_emotional_life 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น