こんにちは ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ วันนี้เราจะพาไปลุยแดนอาทิตย์อุทัยกับเรื่องราวของ “พี่จอม” รุ่นพี่ที่ได้ทุนเรียนต่อ ป.โท ในมหาวิทยาลัยอินเตอร์แห่งที่คิวชู ซึ่งต้องเท้าความก่อนว่าญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่นำเสนอวัฒนธรรมสู่สายตาชาวโลกได้อย่างโดดเด่นและแนบเนียนในเวลาเดียวกัน อย่างพี่จอมเริ่มต้นจากความสนใจศึกษาวัฒนธรรมในโซน Asia Pacific พอกรอกคีย์เวิร์ดค้นหาหลักสูตร ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นการสมัครเรียนต่อ ป.โท ที่ Ritsumeikan Asia Pacific University หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ APU นั่นเองค่ะ
APU เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ แคมปัสตั้งอยู่ที่เมืองเบบปุ (Beppu) เมืองที่โด่งดังเรื่องออนเซนมากๆ ของจังหวัดโออิตะ (Oita) ภูมิภาค/เกาะคิวชู (Kyushu) แล้วความเด็ดคือการเรียนที่นี่ตอบโจทย์ของเขาทั้งในด้านการเรียนรู้วิธีนำเสนอวัฒนธรรม การเรียนรู้ความหลากหลาย คอนเน็กชันเพื่อนนานาชาติ แถมยังได้โบนัสเป็นภาษาญี่ปุ่นที่ได้มาจากความกล้าสื่อสารตลอด 2 ปีนี้ด้วย ดีงามคุ้มค่าขนาดไหน ตามมาดูกันเลยค่า~
. . . . . . .
ค้นหาสาขาในใจ
แต่เจอชื่อมหาวิทยาลัยที่ใ่ช่เลย
สวัสดีครับ พี่จอมนะครับ จบ ป.ตรี จาก BJM TU หรือคณะวารสารศาสตร์ (ภาคอินเตอร์) ม.ธรรมศาสตร์ ตอนนี้จบ ป.โท Asia Pacific Studies (Society and Culture Division) ที่ APU ประเทศญี่ปุ่นครับ
ย้อนไปตอนปี 3 ผมทำกิจกรรมกึ่งฝึกงานกับ NGO ที่เกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำงานร่วมกับหน่วยงานของสหประชาชาติ (UN) เริ่มมีเพื่อนจากคณะรัฐศาสตร์เยอะขึ้น แล้วผม enjoy มากๆ รู้สึกว่าใจเริ่มไปทางรัฐศาสตร์ แล้วโฟกัสเป็นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย พอมาคิดเรื่อง ป.โท ก็ลองไปค้นหาหลักสูตรด้วยคีย์เวิร์ดประมาณว่า / Master / International Relation / Asia Pacific ทำให้ชื่อของมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pacific University (APU) ก็เลยเด้งขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ
ผมรู้สึก APU เป็นตัวเลือกที่ตรงมากด้วยหลายๆ เหตุผล เช่น
- คุ้นกับประเทศเพราะเที่ยวบ่อย (แต่รู้ภาษาญี่ปุ่นแบบเป็นคำๆ ต่อประโยคไม่ได้)
- สภาพแวดล้อมน่าสนใจ มีความกึ่งนานาชาติผสมญี่ปุ่น เหมือนเป็นสองโลกที่มาบรรจบกัน
- เปิดสอน ป.โท Asia Pacific Studies ตรงกับภูมิภาคที่ผมสนใจพอดี
- มี Divisions ให้เลือกเจาะลึก เช่น Society and Culture Division
และด้วยบริบทธุรกิจที่ทำอยู่ตอนนี้ด้วย เดี๋ยวผมจะเล่าตอนท้ายเลย เพราะแรงบันดาลใจมาจากการไปเรียนที่ “ภูมิภาคคิวชู” (Kyushu:九州) เราได้เห็นการนำเสนออัตลักษณ์ สภาพแวดล้อมที่ทำให้เราคุ้นชินกับคนในพื้นที่ และมีคอนเน็กชันให้เราต่อยอดเพื่อทำผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วย
. . . . . . .
มหาวิทยาลัยอินเตอร์
และโอกาสคว้าทุนหลายต่อ
ผมได้ ทุนมหาวิทยาลัย APU เรียนปี 2019-2021 จบช่วงก่อนโควิด-19 เข้าพอดี ทุนนี้มีโอกาสได้สูงสุดเต็มจำนวน ส่วนผมได้ส่วนลดค่าเรียน 75% และได้อีกต่อคือ ทุน JASSO สนับสนุนค่าใช้จ่ายเดือนละ ¥48,000 ถ้าลองเทียบค่าเงินตอนนี้ (มิ.ย. 2024) ≈ 11,000 บาท ถ้าใครจะต่อ ป.โทที่นี่ ผมแนะนำให้ยื่นขอทุน JASSO ด้วยนะครับเพราะผมว่ามีโอกาสได้สูงมาก
มูลค่าทุนมหาวิทยาลัย APU
มูลค่าสูงสุด ครอบคลุมค่าเรียน 100%
มูลค่าทุนที่ได้รับ | หลักสูตร ป.โท และ ป.เอก Asia Pacific Studies | หลักสูตร MBA |
30% | approx. 1,050,000JPY | approx. 1,400,000JPY |
50% | approx. 750,000JPY | approx. 1,000,000JPY |
65% | approx. 525,000JPY | approx. 700,000JPY |
80% | approx. 300,000JPY | approx. 400,000JPY |
100% | 0JPY | 0JPY |
รายละเอียดทุน APU
https://admissions.apu.ac.jp/graduate/cost/tuition_reduction_scholarship/
รายละเอียดทุน JASSO
โพรไฟล์ช่วงก่อนสมัคร
- คะแนน IELTS 7.5
- GPA 2.7 ปลายๆ
- Proposal งานวิจัยที่อยากทำตอน ป.โท เค้าจะให้ส่งให้ตั้งแต่ตอนสมัครเพื่อดูว่ามีอาจารย์ที่ทำฟิลด์ที่เราสนใจมั้ยครับ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ธีสิสเรื่องเดียวกับที่เราทำจริงๆ ระหว่างทางอาจเปลี่ยนได้ เช่น ตอนแรกผมอยากศึกษาเกี่ยวกับคดีที่เกิดจากเพศสภาพว่าส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมยังไงบ้าง แต่สุดท้ายผมทำเรื่องการสร้างชาตินิยมแบบไทยๆ
ถ้าประสบการณ์ทำกิจกรรมที่ผมคิดว่าเกี่ยว แล้วเลือกมานำเสนอตอนสมัคร APU จะมีฝึกงานกับ NGO จากเกาหลีใต้ เรื่องการพัฒนาเยาวชนในแง่ Social Innovation (=นวัตกรรมเพื่อสังคม) และเคยทำงานในกองวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างประเทศ และอยู่กลุ่มที่ทำเกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียนด้วยครับ
Tips: คนที่เรียน ป.ตรี ภาคภาษาอังกฤษ ยื่นสมัครที่ APU จะสามารถยกเว้นการสอบวัดระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษได้ (เช่น IELTS) ผมมารู้สิ่งนี้ตอนจบ!! สอบไปเรียบร้อยแล้ว เลยมาบอกน้องรุ่นหลังๆ ให้ลองเช็กในระเบียบการปีที่จะสมัครอีกครั้งนะครับ
เรียงความสมัครเรียน
- ระดับภาษาถ้าเป็นระดับ Academic ก็ดีครับ แต่ไม่ Casual เกินไป อย่างไรก็ตาม ใช้แบบที่ถนัดและคุ้นเคยดีที่สุด จะได้อ่านแล้วลื่นไหลไม่ฝืนบริบท
- ญี่ปุ่นจะจริงจังกับเรื่องความฝันกับเป้าหมาย แนะนำให้เขียนแบบจริงใจและมีจุดหมายชัดเจน เช่น อยากเรียนเพราะอะไร ทำไมถึงตั้งใจเลือกมาที่นี่ เราเห็นอะไรในสถาบัน สถาบันจะพาเราไปสู่เป้าหมายหลังเรียนจบได้ยังไงบ้าง ฯลฯ ตอนนั้นผมว่าตัวเองเขียนได้ชัดเพราะเป้าหมายแน่นอนว่า APU เป็นเหมือน Stepping Stone เป็นขั้นที่จะพาเราก้าวไปสู่การทำงานในองค์กรด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ด้านสภาพแวดล้อมที่ APU ถือว่าลงตัวมากๆ สำหรับผม
. . . . . . . .
ชีวิตการเรียน ป.โท
Asia Pacific Studies @ APU
"รู้ไหมว่าถ้าอยากเรียนเรื่องวัฒนธรรมแล้วเลือกมาที่ญี่ปุ่น คุณมาถูกที่มาก เพราะที่นี่มีตั้งแต่แบบดั้งเดิม สมัยใหม่ และ Pop Culture ยิ่งถ้าเป็นเรื่อง Soft Power ญี่ปุ่นเก่งและทำได้แนบเนียนจนคนทั่วโลกให้ความสนใจ!”
1. หนักเบาเราเลือกได้
เรียนทั้งหมด 2 ปี แบ่งเป็น 4 เทอม วิชามากน้อยขึ้นอยู่กับการจัดตารางของแต่ละคน ถ้าจะค่อยเป็นค่อยไปกระจายวิชาใน 4 เทอม ส่วนผมลงเรียนให้ครบตั้งแต่ 2 เทอมแรก (ประมาณเทอมละ 6 วิชา) เพราะอีกสองเทอมอยากโฟกัสธีสิส 100% สำหรับผมรู้สึกไม่ได้เหนื่อยเกินไปถ้าไม่ดอง บาลานซ์ชีวิตด้านอื่นๆ ไปด้วยได้ มีทั้งวิชาที่เข้มข้นและวิชาที่ไม่ได้หนักทฤษฎีมากครับ
2. มีกลุ่มวิชาสับย่อยให้เลือกเยอะ
ความน่าสนใจต่อมาคือหลักสูตร Asia Pacific Studies มีให้แยกไปลงเรียนกลุ่มที่สนใจ เรียกว่า “Divisions” มีให้เลือกเยอะ ของผมเลือกเจาะ Society and Culture แล้วลงเรียนตามหน่วยกิต Division นั้นๆ ให้ครบ
- Society and Culture
- International Relations
- International Public Administration
- Sustainability Science
- Tourism and Hospitality
- Development Economics
ถ้าเป็นเรื่อง Asia Pacific ยิ่งเรียนยิ่งสนุก ผมสนใจโซนนี้เพราะในมุมคนไทยจะมีจุดร่วมกับจุดต่างกับภูมิภาคนี้เยอะ และในความคล้ายบางอย่างมีความต่างที่น่าสนใจ เช่น สภาวะทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรมอย่างอาหารหรือ Pop Culture เรียนแล้วสนุก ได้รู้อะไรใหม่ๆ ทุกวัน
3. ไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็เรียนได้ (แต่ต้องสู้)
ป.โท สาขา Asia Pacific Studies ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีประสบการณ์มาก่อน ถ้ามีก็จะดีเพราะเป็นสายวิจัยเชิงสังคม ต้องอ่านงานวิจัยเยอะและเขียนเชิงวิชาการเป็น มีออกไปสัมมนาวิชาการ ดังนั้นถ้าเคยทำงานสายวิชาการ เช่น เป็นผู้ช่วยวิจัย ทำงานในกระทรวงต่างประเทศ ฯลฯ จะช่วยให้ปรับตัวตามทันเนื้อหาได้เร็ว
สำหรับผมเองเรื่องนี้ยังใหม่ เทอมแรกยังไม่ค่อยรู้วิธีค้นคว้า การเขียน การนำเสนอ การอ้างอิง พอเทอม 2 ก็อยู่ตัวแล้ว ส่วนใหญ่คนที่เรียน APU มีประสบการณ์มาก่อน แต่ทุกคนมีจังหวะการก้าวของตัวเองอยู่แล้ว เราค่อยๆ ใช้เวลาปรับตัวก็ได้ ไม่อยากให้รู้สึกกดดันเกินไปครับ
4. ติดตามข่าวรอบโลกเป็นวัตถุดิบการดิสคัส
การเรียนจะมี Class Discussion เยอะครับ ปกติผมจะคุ้นชินกับวิธีคิด มุมมองสไตล์เด็กวารสารศาสตร์ พอมาที่นี่เราจะได้เจอเพื่อนร่วมคลาสทั้งสาย IR, Media, Liberal Arts, Humanities
หนึ่งในวิธีที่ช่วยเราได้มากคือ "การติดตามข่าว" เพราะในคลาสที่ดิสคัสกัน อยู่ดีๆ เราอาจต้องหยิบเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นมาพูดยกตัวอย่างผสมตอนอธิบายก็ได้ พวกคำยากๆ คำเฉียบๆ บางทีก็ได้จากการอ่านข่าวหลายช่องทาง เช่น BBC, TNN, Al Jazeera, NHK World ฯลฯ โดยรวมคืออ่านเป็น base ก่อนแล้วค่อยไปเจาะลึกเรื่องที่เราสนใจครับ แล้วไปเจาะลึกข่าวที่สนใจครับ
5. การเมืองก็คุยได้สไตล์วิชาการ
ปกติการเมืองอาจเป็นเรื่องอ่อนไหวที่เราพูดคุยในชีวิตประจำวันกันได้ยาก มีการใส่ความรู้สึกลงไปเยอะ ซึ่งเสี่ยงจะกระทบความสัมพันธ์กัน แต่ในคลาส ป.โท เราจะมาถกเถียงกันอย่างเปิดกว้างในเชิงวิชาการ หยิบยกทฤษฎีมาจับ อ้างอิงหลักฐานที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการมารองรับคำตอบของเรา ทุกเรื่องมันจะมีทั้งคนที่เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ถ้าศึกษาอย่างเป็นกลางกับทุกฝ่าย จะได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศมากๆ ครับ
ตัวอย่างวิชาเรียนเจ๋งๆ
วิชา Area Study
ผมว่ามันยากแต่สนุก เค้าจะสอนแนวคิด/ทฤษฎี วิธีและเครื่องมือวิเคราะห์ เพื่อเตรียมไปใช้จริงตอนทำวิจัยเชิงสังคม ตอนเรียนก็จะเป็นทฤษฎีวิจัยสังคมล้วนๆ
วิชานี้อาจารย์จะมอบหมายให้แต่ละคนรับผิดชอบคนละ 1 ทฤษฎี ศึกษาจนทะลุแล้วทำ Presentation อธิบายสิ่งที่เรียนรู้จากการอ่านนั้นให้คนในคลาสฟัง แล้วก็จะเป็นเรานี่แหละที่ Lead a Discussion หัวข้อนั้นๆ อย่างผมทำเรื่องลัทธิโอเรียลตัลลิสม์ (Orientalism) คำว่า Orient = ตะวันออก, Orientalism = ความเป็นตะวันออก แปลให้ลึกขึ้นอีกก็คือมุมมองที่ชาวตะวันตกมีต่อชาวตะวันออกครับ ในยุคล่าอาณานิคมมักจะใช้เพื่อปกครองกันทั้งนั้น แล้วเราก็มาดิสคัสกับคนในคลาสว่า "เนี่ย เรามองว่าแบบนี้นะ คุณคิดว่ายังไงบ้าง?" ไม่มีถูกผิด ไม่มีความคิดเห็นของใครเป็นที่สุด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันมากกว่า
วิชา Cultural Change
วิชานี้คือ No.1 ในใจของผมแล้ว เรียนเรื่อง Pop Culture ในมุมมองงานวิจัยทางวิชาการครับ เช่น คำว่า “Pink Globalisation” (=โลกาภิวัตน์สีชมพู) เรียนการก่อร่างสร้างตัวของ Kawaii Culture ว่าทำไมพอพูดถึง “สีชมพู” หรือเห็นอะไรน่ารักๆ แล้วจะนึกถึงญี่ปุ่นก่อน เค้าพูดถึงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องให้เราเห็นภาพชัดเจน
ในวิชานี้จะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างการผลิต Soft Power และได้มองในแง่มุมวิชาการด้วย เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม ผลิตและส่งออกไปเรื่อยๆ ส่งออกจนคนต่างประเทศสนใจ เช่น เห็นคิตตี้จนอยากเรียนภาษาญี่ปุ่น, อยากแต่งตัวเป็นชุดสีชมพูน่ารักๆ สไตล์ญี่ปุ่น, ดูกัปตันซึบาสะ (キャプテン翼) แล้วอยากเตะบอล อยากเชียร์ทีชาติญี่ปุ่น ไปจนถึงการเชื่อมโยง Gozilla กับนิวเคลียร์ ฯลฯ หัวใจของวิชานี้คือ “ทำไมการเสพสื่อถึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของเรา?”
วิชา Cultural and Heritage Tourism หรือ Community Based Tourism นี่แหละ
เรียนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในแง่ของชุมชนนั้นๆ ว่าต้องการให้นักท่องเที่ยวเห็นและรับรู้อะไรบ้าง เหมือนกับจังหวัดแพร่ที่นำเสนอจุดเด่นเรื่องงานฝีมือ งานคราฟต์ต่างๆ เช่น ผ้ามัดย้อม เซรามิก แกะสลักไม้สัก เฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯลฯ
6. สภาพแวดล้อมเหมาะกับการลองผิดลองถูก
APU เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทดลองมาก เปิดโอกาสให้เราได้ค้นหาความชอบของตัวเองและลองผิดลองถูกครับ กิจกรรมมีเยอะ แต่ส่วนใหญ่เกือบ 100% เป็นของ ป.ตรี (ส่วนเด็ก ป.โท อาจจะมีข้อจำกัดเพราะติดตารางงาน) เช่น ชมรม (Clubs) มีตั้งแต่กีฬา เขียนข่าว ทำอาหารญี่ปุ่น ฯลฯ หรือกิจกรรมโปรโมตประเทศ สมมติสัปดาห์นี้เป็น “Thai Week” นักเรียนไทยใน APU ก็จะช่วยกันเนรมิตให้ทุกอย่างในแคมปัสเป็นภาษาไทยและวัฒธรรมไทยทั้งหมด อาจไม่ใช่แบบดั้งเดิม แต่เป็นสมัยใหม่หน่อย อย่าง T-POP ก็ได้ บางครั้งกงสุลก็มาช่วยเพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยโปรโมตประเทศไปในตัว
ผมยังคิดเลยนะว่าถ้าได้มาเรียนตั้งแต่ ป.ตรี คงได้ประสบการณ์กลับไปอีกเยอะมาก ถ้าน้องๆ รู้ตัวว่าชอบภาษาหรือประเทศญี่ปุ่น มีแพลนเล็กๆ ว่าจบแล้วอยากลองใช้ชีวิตที่ประเทศนี้ อยากให้ลองเพิ่ม APU ไว้เป็นอีกทางเลือกครับ :)
7. คอนเน็กชันดี + มีหน่วยงานช่วยเรื่องการหางาน
นอกจากนี้ APU จะมีจัดงาน Job Fair และเชิญบริษัทในจังหวัดโออิตะ คิวชู หรือจากเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว โอซาก้า ฯลฯ เดินทางขึ้นเขามาพบปะกันที่ APU เลยครับ แล้วพอใกล้ๆ ช่วง Job Hunting Season มหาลัยก็จะมีหน่วยงานที่คอยช่วยอำนวยความสะดวก หรือเป็นตัวกลางช่วยติดต่อบริษัทต่างๆ ให้
. . . . . . .
หนึ่งในความหนักใจ
กำแพงภาษาจะเป็นอุปสรรคมั้ยนะ?
ตอนไปเรียน ผมเริ่มจากการรู้ภาษาญี่ปุ่นแบบเป็นคำๆ คุ้นจากการดูอนิเมะ หนัง รายการทีวี (ดูแบบมี subtitle) แต่ยังต่อประโยคไม่ได้ แต่ผมมองว่าวิธีที่ง่ายสุดคือเรียนรู้จากความผิดพลาด ตอนอยู่นอกห้องเรียนผมก็จะพยายามใช้คำที่รู้เท่าหยิบมือ อาจผสมภาษามือกับภาษาอังกฤษไปบ้าง ถ้าเกิดคนญี่ปุ่นเห็นเราพยายามใช้ เค้าจะชอบแล้วอยากช่วยแนะนำ ทำให้รู้เพิ่มขึ้นๆ จนหลังจบผมพอได้ภาษาญี่ปุ่นระดับสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ครับ
หลังเรียนจบผมรู้สึกอ่านจับใจความสำคัญได้แตกฉานขึ้น มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ทำให้คิดวิเคราะห์รอบด้านในมุมวิชาการ มองประเด็นลึกซึ้งและรอบด้านขึ้น ซึ่งก็มีประโยชน์กับธุรกิจตัวเอง เพราะบางทีอะไรก็ต้องใช้ Critical Thinking เราจะคิดละเอียด ชัดเจน มีกรอบ ไม่สะเปะสะปะ หรือเวลาทำ Marketing Research ก็คิดว่าถ้าทำสื่อแบบนี้ออกมาลูกค้าจะชอบมั้ย? เข้าใจแนวทางการได้มาซึ่งคำตอบบางอย่าง ผมว่าการเรียน ป.โท ครั้งนี้คุ้มค่ามากครับ
แนะนำเพิ่มเติมว่า
- เราไปประเทศญี่ปุ่นในฐานะคนต่างชาติ ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษเราควรจะใจเย็นกับคนญี่ปุ่นด้วย อย่าคาดหวังว่าเค้าจะเข้าใจสิ่งที่เราพูดทันที
- ถ้าพูดภาษาอังกฤษก็ต้องเป็นสำเนียงคนญี่ปุ่น เค้าถึงจะเข้าใจทันที พอเราเป็นต่างชาติก็พยายามปรับๆ คำให้มันเข้าเค้าอ่ะ แบบแอริพอตโตะ แบ็กเก็จจิ แบ็กกุ ไรซึ แฮมบ้ากุ ไอซึ ฮอตโตะเดะ พลีสสึ ฯลฯ ไปเรื่อยยยยย
- เรื่องวัฒนธรรมก็เหมือนกัน ผมว่าไม่ยากแต่ต้องเปิดใจ อาศัยสังเกตแล้วทำตาม เช่น องศาการโค้ง การรับของสองมือ ฯลฯ เขาเข้าใจได้ว่าเป็นชาวต่างชาติ
- ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน มีทั้งประเด็นสังคม ประวัติศาสตร์ การปกครอง ฯลฯ ถ้าอยู่ในบทสนทนาเดียวกันก็จะสนุก หรือต่างคนต่างเนิร์ดก็ได้แลกเปลี่ยนกันครับ
. . . . . . .
เล่าความดีงามของประเทศญี่ปุ่น
ประเทศที่ภูมิใจเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นแบบขีดสุด!
- ราเมนอร่อย “ราเมนสไตล์ฮากาตะ” (Hakata) ซึ่งก็คือซุปกระดูกหมูข้นๆ ต้นกำเนิดคือที่จังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka) ในภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างร้านดังที่มาเปิดในไทย “อิจิรัน” (Ichiran) และ “อิปปุโดะ” (Ippudo)
- ธรรมชาติดี อากาศบริสุทธิ์ไม่มี PM 2.5 ถ้าขี้หนาวแล้วมาอยู่คิวชูจะดีกว่าที่อื่น อากาศสบายมาก อุ่นกว่า หนาวสุดที่เคยเจอคือ -2 องศา เอาจริงๆ not bad นะ แล้วอากาศติดลบแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ส่วนหน้าฝนก็จะประมาณ Jul-Aug ซึ่งที่คิวชูฝนลงเยอะนะครับ สมมติมีพายุเข้าคิวชูอาจโดนก่อน แต่โดยรวมทั้งปีจะสบาย อุ่นกว่า หน้าร้อน ร้อนเหมือนกันทั้งประเทศ
คำเตือน: ที่ประเทศญี่ปุ่นทำของหายแล้วได้คืน แต่ต้องระวัง "ร่ม" โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เพื่อนผมหลายคนบอกตรงกันว่าร่มหายครับ
- เตรียมพร้อมให้รับมือกับภัยธรรมชาติ จะบอกว่าทั้งหอพักและมหาวิทยาลัยมีอบรมจริงจังเลยนะครับ เช่น ถ้ามีแผ่นดินไหว สึนามิ ต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเกิดต้องอพยพจะต้องไปที่ไหน พอเกิดขึ้นผมรู้สึกเลยว่าเขารับมือเร็ว เช่น ผมเจอแผ่นดินไหวครั้งนึง ส่งข้อความมาทันที แจ้งจุดรวมพล ศูนย์รองรับ ฯลฯ ทำให้อุ่นใจได้ในระดับนึงเลยครับ แต่หน้าที่ของเราคือต้องมีสติและทำตามข้อแนะนำ ไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป
- ขับรถเที่ยวสนุก เส้นทางเยอะและดี ในเมืองก็มีคนไม่แออัด แต่ถ้าถามว่าไม่ได้มีรถส่วนตัวแล้วจะมีปัญหามั้ย ขนาดผมอยู่เมืองเบบปุ (ฺBeppu) ที่ค่อนข้างชนบท ระบบขนส่งสาธารณะก็ดีไม่แพ้เมืองใหญ่ๆ เลย ส่วนตัวคิดว่าถ้าอยู่ในไทยได้ ไปญี่ปุ่นก็สบายครับ
- ประเทศที่ภูมิใจกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อย่าง [สาเก] มีทำทั่วประเทศ แต่ [ SHOCHU ] หรือสุรากลั่นญี่ปุ่น เป็นประเภทที่ผลิตกันในภูมิภาคคิวชู (แต่จังหวัดโออิตะก็จะเด่นหน่อย) มี base เป็นมันฝรั่ง มันหวาน ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวขาว ฯลฯ ที่นั่นมีจัดคอร์สชิมสุราแบบจริงจัง สาธิตลำดับการกิน ฯลฯ
ผมประทับใจที่คนญี่ปุ่นไม่ได้มองสุราเป็นแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ให้คุณค่าเป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นนึง มีความละเมียดละไม จนทำให้อยากเริ่มอยากศึกษาจริงจัง จากก่อนหน้านี้ที่เราไม่ได้ซีเรียสเรื่องอัตลักษณ์ ความเป็นสุราท้องถิ่น แต่เราหันกลับมามองสุราไทยโดยใช้เลนส์ของคนญี่ปุ่น เช่น เค้ามีวิธีอนุรักษ์ยังไง ตั้งใจแบบไหน อยากให้คนดื่มรู้สึกยังไง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สุราไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ขาวสะอาด ถ้าดื่มเยอะมีผลเสีย ดังนั้นต้องคำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ปัจจุบันผมทำแบรนด์ ‘LILIT SPIRITS' คำว่า LILIT มาจากชื่อวรรณคดี “ลิลิตพระลอ” ซึ่งถือเป็นยอดของลิลิต เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่ และที่นี่ยังมีอุทยานลิลิตพระลอเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเด่นของจังหวัดครับ
ผลิตภัณฑ์นี้ผมตั้งใจคัดสรรองค์ประกอบให้ผู้ดื่มสัมผัสได้ถึงความสวยงามลุ่มลึกเหมือนการเขียนลิลิตเรื่องหนึ่ง และตั้งใจยกระดับสุราท้องถิ่นส่งออกในฐานะสุราของเอเชีย แน่นอนว่า APU ทำให้เรามีคอนเน็กชันและไอเดียทำรีเสิร์์ชพฤติกรรมคนในกลุ่มประเทศ Asia Pacific ได้ลงลึกมากขึ้น
นอกจากนี้ความหลากหลายใน APU ทำให้เราคุ้นชินกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ถ้าจะทำงานภูมิภาคนี้ ก็มีโอกาสวนมาเจอศิษย์เก่าที่ APU ยิ่งความอินเตอร์ของคนเรียนกับอาจารย์ ผมว่าที่นี่คือนัมเบอร์วัน จริงๆ เค้าเน้นย้ำว่าเป็น Identity (=อัตลักษณ์) ของที่นี่เลยครับ
0 ความคิดเห็น