พักเบรกจากคณะแพทย์ที่ไทย คว้าทุน Global UGRAD ไปแลกเปลี่ยนฟรี 1 เทอมที่อเมริกา @ Grand Valley State University

สวัสดีค่ะชาว Dek-D น้องๆ ป.ตรี ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเด็กแลกเปลี่ยนที่อเมริกา วันนี้เรามีรีวิวประสบการณ์ส่งตรงจาก "พี่ตูน-ปัณณวิชญ์" นักศึกษาแพทย์ ม.ขอนแก่น ที่ได้โครงการทุนเต็มจำนวน 'Global UGRAD' จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไปแลกเปลี่ยนที่ Grand Valley State University  เป็นเวลา 1 เทอมเต็มๆ

บอกเลยว่าเล่าได้สนุกและเห็นภาพตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร การปรับตัวเรื่องภาษา การเรียน การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใหม่ ไปจนถึงมิตรภาพระหว่างเขากับเพื่อนอีกซีกโลก //  อ่านจบจุดแพสชันติดพรึ่บแน่นอน พร้อมแล้วลุยกันค่า~

สำหรับโครงการทุน Global UGRAD  ประจำปี 2024/25 ปิดรับสมัครไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2023 แต่อาจศึกษาระเบียบการไว้เป็นแนวทางการเตรียมตัวได้ที่ https://www.dek-d.com/studyabroad/63369/ 

เมื่อนักศึกษาแพทย์ขอพักจากเรียน
ไปแลกเปลี่ยน 5 เดือนที่อเมริกา

สวัสดีครับ ผมชื่อ ตูน-ปัณณวิชญ์ พูลสวัสดิ์ จบมัธยมจากโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ตอนนี้กำลังจะขึ้นปี 4 ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ

หลังจากจบปี 2 ผมไปแลกเปลี่ยนเป็นระยะเวลา 5 เดือน กับโครงการ Global UGRAD 2022-2023 Fall Semester ที่ Grand Valley State University เป็นมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งใน Michigan ของสหรัฐอเมริกาครับ 

อย่างที่ทุกคนเข้าใจ คณะแพทย์เรียนทั้งหนักทั้งนาน การที่จู่ๆ ก็ดร็อปเพื่อไปอยู่ในอีกซีกโลกที่เราไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จักเราเลยจึงเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ คงไม่เลือกทำกัน (โครงการนี้คณะส่วนใหญ่ไม่สามารถ transfer เครดิตได้ครับ)  แต่บางครั้งการทำตามเสียงหัวใจกลับมอบบางสิ่งบางอย่างกลับมาเกินกว่าเราจะจินตนาการได้ แน่นอนว่าผมคงเล่าไม่หมด ถ้าสงสัยหรืออยากฟังเพิ่มติดต่อได้ทาง Instagram: urdawgtoon นะครับ

มารู้จักโครงการนี้กันก่อนครับ

Global Undergraduate Exchange Program เรียกสั้นๆ ว่า Global UGRAD เป็นทุนเต็มจำนวนที่สนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (Department of State) มุ่งเน้นด้านความเป็นผู้นำ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการทำกิจกรรมเพื่อสังคม 

Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย
Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย

ทุนนี้ไม่ได้มองหาคนที่เรียนเก่งที่สุด หรือมีทักษะภาษาที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่กำลังมองหาคนที่มีศักยภาพที่จะชี้นำสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงพร้อมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดและพัฒนาด้วยครับ

สิ่งที่ต้องเตรียมในการสมัครจะมีหลักๆ 4 อย่าง คือ

  1. Transcript (ตอนนั้นผมเกรด 3.XX)
  2. จดหมายรับรองจากอาจารย์ 2 ท่าน
  3. Essay 2 หัวข้อ
  4. ผลสอบ TOEFL iBT ที่ทางทุนจะออกเป็น voucher ให้ภายหลังจากผ่านรอบสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยครับ (ตอนนั้นผมได้ 95/120)

(ต้องขอขอบคุณอาจารย์ David Nall ครูฟิสิกส์สุดที่รักฉายา "Santa Claus” สมัยมัธยม และอาจารย์ รศ.พญ.จุฬาพรรณ อิ้งจะนิล “ป้าจุ๊” ของลูกๆ คณะแพทย์ ม.ขอนแก่น ที่เชื่อมั่นในตัวผมและเขียนจดหมายรับรองให้ครับ)

ผมคิดว่าตัวเองน่าจะตอบโจทย์โครงการตรงที่เป็นเด็กกิจกรรม ชีวิตล้มลุกคลุกคลานพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เลยเป็นแรงผลักดันให้ผมอยากเป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้โลกเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคนครับ 

Essay 1: The Global UGRAD Program is for young leaders committed to serving their home communities. Why would you be a great participant in the Global UGRAD Program?

 

Essay 2: Everyone’s approach to leadership is different. How would you describe your personal leadership style? What values do you consider the most important when leading others? How do you inspire and influence others to get behind your vision?

พวกลิสต์กิจกรรมและรางวัลที่ใส่ไปจะเป็นพวกที่การันตีคำเคลมตัวเองของผมที่ว่าอยากทำให้สังคมดีขึ้น รวมถึงเป็นคนที่ทำได้ทั้งบู๊และบุ๋น เช่น เป็นพิธีกรทั้งภาคไทยและอังกฤษให้กับคณะ สอนและแนะแนวน้องๆ ที่จะเข้ามหาวิทยาลัย 

และขออนุญาต Tie-in คลิปนี้ ผมเป็นประธานชุมนุมวิเทศสัมพันธ์ของคณะ สร้างโครงการระดมทุนเพื่อคนตาบอด ทำงานร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (IFMSA) ออกค่ายอาสาต่างๆ เป็นต้น ต้องขอขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านความเป็นผู้นำ ความพยายาม และจิตอาสาครับ

และอีกเรื่องสำคัญคือตีโจทย์ให้แตก อธิบายให้ชัด โชว์ความเป็นตัวเราให้เค้าเห็น อันนี้เป็นทริคที่ทำให้ผมสอบผ่านตั้งแต่ครั้งแรกที่สมัครเลย 

พอกดส่ง Application ไปทางเว็บไซต์ของ UGRAD ทางวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยจะเป็นคนเรียกสัมภาษณ์ต่อ และถัดจากรอบมหาวิทยาลัย จะมีคณะกรรมการสัมภาษณ์จากสถานทูตอเมริกามาที่กรุงเทพฯ (ตอนผมเป็นออนไลน์) ถามเกี่ยวกับตัวเราและเอกสารต่างๆ ที่ส่งไป เช่น จุดแข็ง-จุดอ่อน รวมถึงคำถามวัดไหวพริบ ทำไมเราถึงอยากไปทุนนี้ และสำคัญคือกลับมาแล้วเราจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดยังไงบ้าง

เมื่อประกาศผลหลังจากการคัดแล้วคัดอีกว่าผ่านเป็น Finalist แล้ว ทีนี้ก็ต้องมาลุ้นว่าจะได้ไปที่มหาวิทยาลัยไหน รัฐอะไร ได้ไปช่วงไหน (Fall/Spring) ซึ่งผู้ที่จะเลือกให้คือหน่วยงานการศึกษาของสหรัฐชื่อ World Learning ครับ สุดท้ายผลออกว่าผมได้ไปเรียน Department of Biomedical Sciences ของ Grand Valley State University ในรัฐมิชิแกน (Michigan) 

เริ่มต้นชีวิตใหม่ในรัฐมิชิแกน

  • รัฐ Michigan ให้เปรียบเทียบคืออยู่ทางฝั่งอีสานของสหรัฐฯ (เค้าอาจเอาผมออกจากอีสานได้ แต่เอาอีสานออกจากผมไม่ได้ 5555)  มีพรมแดนตอนเหนือติดกับแคนาดา เรื่องความสวยงามของธรรมชาติระดับเหมือนภาพวาดเลย
     
  • เมืองที่ผมไปอยู่ชื่อ Grand Rapids ก็ถือว่าเจริญและปลอดภัยมาก เดินทางสะดวกสุดๆ ดังเรื่องร้านกาแฟและศิลปะที่มีให้เห็นทั่วเมือง ประชากรประมาณ 80% เป็นคนขาว
     
  • ช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผมไปก็โชคดีได้สัมผัสอากาศครบเครื่องเรื่องภูมิอากาศ ตั้งแต่ร้อนตับแตก (ฟีลไทยแลนด์) ฝนตก ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีส้ม และหิมะแบบหนัก หนักจนช่วงใกล้ๆ สิ้นปีผมงงว่าจะเดินจากหอไปเรียนที่แคมปัสได้ไง คลาสไม่ได้ประกาศยกเลิก ชาวเอเชียตัวน้อยจากประเทศร้อนชื้นแบบผมก็ต้องลุยหิมะแบบอากาศติดลบพยายามเดินทางไปเรียนให้สำเร็จ
Grand Valley State University ช่วงเช้าช่วงใบไม้ร่วงและมีแม่คะนิ้ง
Grand Valley State University ช่วงเช้าช่วงใบไม้ร่วงและมีแม่คะนิ้ง
Grand Valley State University ช่วงเช้าที่หิมะตก
Grand Valley State University ช่วงเช้าที่หิมะตก

หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงลงทะเบียนเรียนครับ

ลงทั้งรายวิชาที่ [เกี่ยวข้อง] และ [ไม่เกี่ยวข้อง] กับสาขาที่เรียน ผมงมๆ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเค้าสักพักใหญ่ๆ เพราะยังไม่ชิน

  • วิชา Pathophysiology เกี่ยวกับการกำเนิดและพัฒนาการของโรคต่างๆ ตอนแรกเกือบไม่ได้ลงเพราะฝ่ายวิชาการที่นู่นบอกว่ายากเกิน you อาจจะไม่ไหว แต่ผมก็ดื้อลงจนได้เอาดิ
     
  • วิชา Immunology หรือวิชาระบบภูมิคุ้มกัน ตัวนี้ไม่ลงไม่ได้เพราะเป็นวิชาที่เรียนมาจากป้าจุ๊แล้ว อยากโชว์ของให้ฝรั่งเห็น
     
  • วิชา History of Health and Medicine ลงเพราะชอบประวัติศาสตร์เฉยๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่ามีนรกอะไรรออยู่ 
     
  • วิชา Introduction to Intercultural Competence เป็นอเมริกาศึกษาครับ เรียนรู้ความแตกต่างของชาติพันธุ์ในประเทศเค้า (โครงการจะกำหนดให้ลงเรียนอเมริกันศึกษาอย่างน้อย 1 ตัว)
บรรยากาศห้องเรียนคลาส Pathophysiology
บรรยากาศห้องเรียนคลาส Pathophysiology
Art Gallery ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง Grand Rapids
Art Gallery ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง Grand Rapids
วิวมหาวิทยาลัยจากห้องสมุด
วิวมหาวิทยาลัยจากห้องสมุด
ต้นสนขนาดใหญ่ข้างตึกเรียนช่วงหิมะตก
ต้นสนขนาดใหญ่ข้างตึกเรียนช่วงหิมะตก

ระดับภาษาตอนนั้นใช้ชีวิตได้แบบไม่มีปัญหา แต่ในแง่การเรียนก็ต้องทำการบ้านมาพอสมควร ด้วยความที่ระบบการศึกษาระหว่างสายแพทย์ไทยกับสหรัฐฯ แตกต่างกัน ผมเลยไม่ได้ไปเรียนใน Medical School แต่เรียนเป็นภาควิชา Biomedical Sciences แทน ประมาณว่าเป็นเนื้อหาช่วงก่อนจะได้ลงมือปฏิบัติกับคนไข้จริงๆ 

ผมผ่านการเรียนระบบมหาวิทยาลัยไทยมา 2 ปี คุ้นเคยกับการเรียนแบบอาจารย์สอนแทบทุกอย่างแล้วเราแค่กลืนลงไป แต่ที่ Grand Valley เน้นให้เราไปทำ research นอกห้องจากนั้นเอาข้อมูลมา discuss กันในห้องในประเด็นต่างๆ  แรกๆ ผมก็ไม่ทันอยู่บ้าง สมองต้องประมวลทั้งเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน ศัพท์การแพทย์ ภาษาอังกฤษฟังพูดอ่านเขียนอีก เหมือนเป็นคอร์สเร่งโตเลยครับ

เตรียมข้อมูลเพื่อนำไป discuss กันในชั้นเรียน
เตรียมข้อมูลเพื่อนำไป discuss กันในชั้นเรียน

ตัวอย่างวิชาเรียน

ถ้าวิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ผมก็ทำได้ดีไม่เสียชื่อนักศึกษาแพทย์ไทย แต่พอเป็นวิชา History of Health and Medicine ที่ลงไปเพราะชอบประวัติศาสตร์เฉยๆ หนักเลยทีนี้!

ตอนนั่งฟังอาจารย์เล่าในห้องก็เพลินดี เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ดำน้ำไป แต่งานแรกก็สำลักแล้วครับ อาจารย์ให้นักเรียนทุกคนเลือกหัวข้อ (ตอนนั้นผมเลือกการแพทย์ยุคอียิปต์โบราณ) แล้วเขียนเป็นรายงานขั้นต่ำ 5000 คำ หรือประมาณ 10 หน้าขึ้นไป ให้เวลา 2 สัปดาห์ พร้อมกับต้องมีแหล่งอ้างอิงและบทวิเคราะห์ด้วย  ผมที่ไม่เคยได้เรียนพวกวรรณกรรมภาษาอังกฤษแบบดีๆ เลยต้องทำการบ้านหนักเลยครับ ไปเที่ยวก็ยังต้องหิ้วคอมไปทำ เกือบหลับแต่กลับมาได้ กลายเป็นทักษะการเขียนรายงานภาษาอังกฤษผมได้อัปเวลแบบเบิ้มๆ

ส่วนวิชาอเมริกันศึกษาของผมเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ผมจินตนาการภาพว่าคงมีเด็กหลายเชื้อชาติในคลาส สรุปคลาสนั้นประมาณ 30 คน ผมเป็นไอ้หนุ่มผิวเหลืองคนเดียวเลยครับ 555555 พอมีกรณียกตัวอย่างวัฒนธรรมนอกสหรัฐฯ อาจารย์ก็จะเรียกชื่อผมเพื่อให้ผมเล่าเรื่องให้เพื่อนๆฟัง คลาสแรกๆ ผมประหม่ามากกกก นึกภาพเจ้าของภาษากว่า 30 คนกำลังจับจ้องมาที่คุณ แต่จริงๆแล้วเค้าไม่ได้จ้องจะเล่นผมนะ เค้าแค่ให้ความสนใจในสิ่งที่ผมกำลังพูดมากๆ 

สุดท้ายแล้วก็เหมือนไปเปิดสวิตช์เอาชีวิตรอดในตัว หลังๆ ผมเลยพูด-ฟังคล่องปร๋อเลยครับ

(ซ้าย) การเดินทางภายในและนอกมหาวิทยาลัย
(ซ้าย) การเดินทางภายในและนอกมหาวิทยาลัย
(ขวา) ภายในรถ

สังคมเพื่อน

ไปถึงอเมริกา คิดว่าเพื่อนคนแรกผมควรจะเป็นคนอเมริกันใช่มั้ยครับ แต่ผิด!  เพื่อนคนแรกผมเป็นคนเม็กซิกันชื่อ Sebastian เค้าเป็นสมาชิกชุมนุมคล้ายๆ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของเรา หน้าที่ของเค้าในตอนนั้นคือช่วยให้ผมกับเด็กต่างชาติที่เพิ่งมาจากหลายประเทศที่ส่วนมากจะเป็นยุโรป สามารถปรับตัวเข้ากับมหาวิทยาลัยได้ ด้วยความที่ผมเป็นคนเฟรนด์ลี่มากก + ชอบปาร์ตี้แล้วก็กลัวเหงา ช่วงสัปดาห์แรกผมเน้นไปที่การสร้างมิตรภาพด้วยการแจกยาดมของดีเมืองไทยไป 2 โหลเลยครับ แล้วช่วงนั้นเองผมก็ได้เจอกับพี่น้องต่างพ่อต่างแม่ลูกครึ่งสเปนอาร์เจนตินาคนนึงชื่อ Nicolas เป็นผมพอพูดภาษาสเปนได้บ้างเป็นของแถมก่อนกลับครับ

ผม Kaitlin เพื่อนชาวอเมริกัน Sebastianเพื่อนชาวเม็กซิกัน
ผม Kaitlin เพื่อนชาวอเมริกัน Sebastianเพื่อนชาวเม็กซิกัน
ยิมกับ Nicolas
ยิมกับ Nicolas

ผมกับ Nicolas (ต่อไปจะขอแทนว่า Nico) ตัวแทบติดกันเลยครับ มันพาผมทัวร์รอบมหาลัย แนะนำระบบกับ Facilities ต่างๆ แล้วมันก็เป็นคนพาผมเข้าไปตี้กับพวกMexican และชาวลาตินชาติอื่นบ่อยๆ เพราะเค้าพูดภาษาเดียวกัน ความฝันของ Nico คือได้แต่งงานกับสาวเอเชียครับ55555

ที่มหาวิทยาลัยมีชมรม (Clubs) กับกิจกรรมสังสรรค์ให้เข้าร่วมเยอะ ผมเลยได้รู้จักกับคนมากหน้าหลายตาหลาย background ได้ร่วมกิจกรรมอ่วมเลยครับ ตรงนี้เราก็ต้องเขียนรายงานให้ทาง Global UGRAD รับทราบด้วยว่าได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอะไรบ้าง เช่น ไปช่วยเก็บขยะที่ Lake Michigan ช่วยแต่งต้นคริสมาสต์ให้กับเมือง ทำอาหารไทยเพื่อแจกจ่าย เป็นต้นครับ

เก็บขยะริม Lake Michigan
เก็บขยะริม Lake Michigan
ชุมนุมมวยสากล
ชุมนุมมวยสากล
Silent Disco ที่ทางมหาวิทยาลัยจัด
Silent Disco ที่ทางมหาวิทยาลัยจัด
American Football
American Football

ผมมีเพื่อนหลายแก๊ง มีแก๊งเอเชียน แก๊ง Fraternity (หรือแก๊งชายฉกรรจ์) และที่ขาดไม่ได้เลยคือแก๊ง Yeaaa Family ที่ประกอบไปด้วยผม Nicolas ชาวสเปน Kristin ชาวสวิตเซอร์แลนด์ และ Pei-Yu ชาวไต้หวัน กลุ่มนี้เป็นเหมือนครอบครัวจริงๆ เราไปเที่ยว-กินข้าว-นอนด้วยกัน อยู่ด้วยแล้วสบายใจสุดๆ ทำให้ผมไม่เป็น homesick ครับ

Nicolas และ Simon ชาวฝรั่งเศส
Nicolas และ Simon ชาวฝรั่งเศส
ปาร์ตี้กับเพื่อนจากสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย สเปน ฝรั่งเศส เยอรมันนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก และไต้หวัน
ปาร์ตี้กับเพื่อนจากสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย สเปน ฝรั่งเศส เยอรมันนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก และไต้หวัน
Yeaaa Family (Kristin, Nico, PeiYu, Kartoon)
Yeaaa Family (Kristin, Nico, PeiYu, Kartoon)

ไปอเมริกาทั้งทีก็ต้องไปเที่ยว

  • ผมมีโอกาสได้ไปหลายเมืองในฝั่ง East-Coast เลยครับ
  • นั่งรถไฟไปเมือง Chicago รัฐ Illinois
  • ขับรถ Roadtrip ไปรัฐ Ohio และ Indiana
  • ขับรถ Roadtrip อีกครั้งไปยัง Upper Peninsula of Michigan เพื่อสัมผัสประสบการณ์หิมะแบบสุดขั้ว
  • บินไปร่วม Workshop ที่จัดโดย Global UGRAD ร่วมกับผู้นำเยาวชนอีกเกือบร้อยประเทศทั่วโลกที่เมือง Washington DC
  • ที่ขาดไม่ได้เลยคือบินไป New York City เมืองแห่งความฝันที่ผมอยากไปสักครั้งในชีวิต!
Cloud Gate (The Bean), Chicago, Illinois
Cloud Gate (The Bean), Chicago, Illinois
Workshop กับเพื่อนๆ Global UGRAD ทั่วโลก ที่ Washington DC
Workshop กับเพื่อนๆ Global UGRAD ทั่วโลก ที่ Washington DC
The Washington Monument กับเซเลป Morocco
The Washington Monument กับเซเลป Morocco
Road Trip ไป Upper Peninsula of Michigan
Road Trip ไป Upper Peninsula of Michigan
หิมะชุ่มฉ่ำสะใจมากครับ
หิมะชุ่มฉ่ำสะใจมากครับ
Top of the Rock NYC Observation Deck
Top of the Rock NYC Observation Deck

โดยรวมแล้วผมได้เรียนรู้หลายอย่างเกินกว่าที่จินตนาการไว้มากครับ ทั้งด้านภาษา ทัศนคติที่มองโลก ความมั่นใจ การเอาชีวิตรอดในต่างแดนที่ไม่มีใครพูดภาษาเราเลย แน่นอนว่าตลอด 5 เดือนก็ไม่ได้มีแต่เรื่องดี มีทั้งทุกข์จนต้องเรียก Nico ออกมาเดินเล่นเป็นเพื่อนตอนตี 3 บางช่วงก็สุขราวกับอยู่ในความฝัน เป็นประสบการณ์ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้และผมคงเสียใจถ้าไม่เลือกทางนี้

หลังจากกลับมาผมก็ยังคงพยายามทำลายลิมิตตัวเองตามหลัก American Dreams ผมได้เล่นละครเวทีภาษาอังกฤษร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ปรับปรุงฝีมือการแนะแนวน้องๆ เพื่อช่วยให้กล้าค้นหาความฝัน พัฒนาองค์กรที่ผมทำงานอยู่เพื่อให้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากขึ้น และอื่นๆ อีกเยอะมากครับ

. . . .  .

อยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่กำลังลังเลว่าโอกาสมาแล้วจะทำดีมั้ย ผมว่าชีวิตคือการค่อยๆ รู้จักตัวเอง รู้จักโลกมากขึ้น และเพิ่มเรื่องน่าจดจำให้กับตัวเอง เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าศักยภาพเราจะไปสิ้นสุดตรงไหนถ้าไม่ออกค้นหา // พี่ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่เตรียมจะสมัครทุน Global UGRAD ทุกคนทุกรอบเลยครับ :)

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น