‘พี่เป๊ก’ กับชีวิตเด็กทุน Chevening ในรั้วเอดินบะระ เรียนนโยบายสาธารณสุขในยุค Pandemic ครั้งใหญ่ของโลก

สวัสดีค่ะชาว Dek-D  หากพูดถึงก้าวใหญ่อย่างการเรียน ป.โท ประเทศที่ฮิตมากในหมู่คนไทยก็คือ "สหราชอาณาจักร" หรือ UK นั่นเองค่ะ ด้วยข้อดีเรื่องมาตรฐานการศึกษา, บรรยากาศ, สถานที่ท่องเที่ยว, เสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น  ฯลฯ และเหตุผลที่มีอิทธิพลอันดับต้นๆ ก็คือการที่จบ ป.โท ได้ในระยะเวลา 1 ปี แม้จะเวลาสั้นกระชับแต่ก็ยังคงความท้าทาย เพราะการเรียนยังคงเข้มข้นอัดแน่นและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพเหมือนเดิม

หนึ่งในทุนที่เป็นเป้าหมายในฝันของคนอยากเรียนต่อ ป.โท UK ก็คือ "ทุนชีฟนิ่ง" (Chevening Scholarships) ที่ให้อะไรมากกว่าเรียนฟรี เพราะกระบวนการได้คัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำทั้งปัจจุบันและอนาคต ให้มารวมกันเป็นเครือข่าย และพาไปเจอโอกาสอีกมากมายที่ผู้ได้รับทุนเองก็คาดไม่ถึง

และล่าสุด Dek-D เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ  "พี่เป๊ก-ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ" รุ่นพี่ทุน Chevening  / Prudence Foundation ประจำปี 2019-2020  ดีกรี ป.โท สาขานโยบายสุขภาพ (Health Policy) University of Edinburgh, UK ปัจจุบันทำงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ National Health Security Office (NHSO) และเป็นกรรมการสมาคม  Thailand Chevening Alumni Association  ด้วยนะคะ พี่เป๊กได้ให้เกียรติมาพูดคุยแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับทุนและประสบการณ์แบบอินไซต์ในสกอตแลนด์ เรียนต่อสาขาด้านการแพทย์ก็ยังติดอันดับ 6 ของ UK  ใครอยากหาแรงบันดาลใจแบบฉ่ำๆ ห้ามพลาดรีวิวนี้!

1. การสมัครทุนชีฟนิ่ง คือการลงทุนที่คุ้มค่า

สวัสดีครับ "พี่เป๊ก-ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ" ได้รับทุน Chevening  / Prudence Foundation ประจำปี 2019-2020  ไปเรียน ป.โท สาขานโยบายสุขภาพ (Health Policy) ที่ University of Edinburgh ของสหราชอาณาจักรครับ

แนะนำก่อนว่าทุนชีฟนิ่งสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของ UK จะสนับสนุนงบให้คนที่มีศักยภาพด้านการเป็นผู้นำ ปีนึงโควตาประมาณ 1,800 คนจากทั่วโลก เฉพาะคนไทยก็ราวๆ ปีละ 20+ คน  อัตราการแข่งขัน 3:100  ปัจจุบันมีศิษย์เก่าทุนชีฟนิ่งประมาณ 50,000 คนที่เป็นผู้นำขับเคลื่อนวงการต่างๆ ในแต่ละประเทศ เช่น สิทธิมนุษยชน, กฎหมายสื่อ, สื่อสารมวลชน, การแพทย์ ฯลฯ 

พี่ว่าสิ่งที่ได้รับคุ้มมากกับการใส่ความพยายาม เพราะ Chevening เป็นทุนเต็มจำนวน สนับสนุนค่าเรียน + ค่าครองชีพ + ค่าบิน + 40,000 GBP หรือประมาณ 1.6 ล้านบาทไทย เงื่อนไขคือต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และหลังจบต้องกลับมาทำงานในไทย 2 ปีขึ้นไป  และความพิเศษคือประสบการณ์ระหว่างทาง กับ "คอนเน็กชัน" เครือข่ายทุนนี้อบอุ่นมากครับ หากเข้ามาเป็นนักเรียนทุนก็จะมีโอกาสทำความรู้จัก พูดคุย ทำกิจกรรม หรืออาจได้ร่วมงานกันทางใดทางหนึ่งในอนาคตก็ได้

Note: ของพี่ได้โควตาทุนที่สนับสนุนโดยมูลนิธิ Prudence Foundation ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับชีฟนิ่ง ตอนสมัครเราก็ทำตามขั้นตอนสมัครปกติ ทางพาร์ตเนอร์จะพิจารณาร่วมกับทางทุนเองว่าจะให้โควตาใครบ้าง

ในใบสมัครทุนชีฟนิ่ง ต้องกรอกข้อมูลอะไรบ้าง?

  1. Personal Details  ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อเต็ม วันเกิด ที่อยู่
  2. Immigration Details ข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นพลเมือง หมายเลขพาสปอร์ต และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. Education history  ประวัติการศึกษา
  4. Work history ต้องมีประสบการณ์ขั้นต่ำ 2 ปี หรือ 2,800 ชั่วโมง
  5. Programmes of study หลักสูตร ป.โท ที่ต้องการศึกษาต่อ
  6. Referees ข้อมูลบุคคลอ้างอิง 2 ท่าน และหากผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์จะต้องแนบไฟล์จดหมายแนะนำ 2 ฉบับ จากบุคคลที่เราระบุไว้
  7. Essay  Questions เรียงความทุนชีฟนิ่งจะมีทั้งหมด 4 ฉบับแยกกัน ได้แก่ Leadership, Relationship-building, Study in the UK และ Future Career Goal  โดยเรียงความต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และความยาวแต่ละฉบับไม่เกิน 500 คำครับ  เราต้องเริ่มจากตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะสมัครเรียนต่อสาขาไหน แล้วเขียนเล่าประสบการณ์ที่สะท้อนว่าเราเป็นผู้นำที่มีศักยภาพ เครือข่าย การแก้ปัญหาในชีวิต บทบาทการทำงาน ฯลฯ เหมือนกับเราร้อยเรียงเรื่องราวในอดีต Personal Goal และ Social Goal ว่าเราจะมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมของเรา ผ่านความรู้และความร่วมมือกับ UK ยังไงบ้างครับ
  8. Equal opportunities  เล่าเกี่ยวกับตัวเราว่าจะสามารถช่วยเพิ่มความหลากหลายและการเข้าถึงข้อมูลความรูู้ได้ยังไงบ้าง (ไม่มีผลต่อการสมัคร)

สำหรับทุน Chevening Scholarships  2024/2025  ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2023 แต่สามารถอ่านสรุปข้อมูลทุนประกอบการเตรียมตัวได้ที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroad/63066 

ไกด์การสมัครทุน Chevening

2. เรียนจบทำงานเป็นทันตแพทย์มา 7 ปี
จนถึงวันที่อยาก "ป้องกัน" มากกว่า "ซ่อม"

พี่จบ ป.ตรี จากคณะทันตแพทย์จุฬาฯ GPA 3.46 เป็นเด็กกิจกรรมที่ชอบภาษาอังกฤษ สอบได้ IELTS 7 และมีสตอรี่ชีวิตที่น่าจะตอบโจทย์ทุน ก็คือไม่ยอมแพ้ ยึดหลักว่าทุกครั้งที่ Fail เราจะ Fail Better  ก่อนจะติดทุน Chevening ของอังกฤษ พี่เคยพลาดหวังจากการขอทุนถึง 2 ครั้ง แต่พี่ว่าไม่ใช่ประสบการณ์ที่เสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะเราได้ขุดลงค้นหาตัวเองลึกว่าเป้าหมายของเราคืออะไรกันแน่ แล้วเหมือนช่วยลับคมให้การเขียน SoP ครั้งต่อไปของเราชัดเจนขึ้น

ก่อนสมัครชีฟนิ่ง พี่เป็นทันตแพทย์มาพักใหญ่ หน้าที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาคือการซ่อม คนไข้ฟันผุมา อ่ะอุด จนวันนึงพี่อยากป้องกันหรือทำงานเชิงระบบมากกว่าซ่อมไปเรื่อยๆ เพราะมันจะช่วยคนได้มาก พี่เลยตัดสินใจเรียน ป.โท สาขานโยบายสุขภาพ (Public Health)  ซึ่งเปลี่ยนเลนส์มามองที่โครงสร้างการจัดการในระบบสุขภาพ และความสัมพันธ์ขององค์กรในมิติต่างๆ ต่างจากแพทย์ที่ดูแลคนไข้ในระดับปัจเจก

ในอดีตคนจะเข้าถึงการรักษาได้ก็ต่อเมื่อมีเงินจ่ายเท่านั้น สุขภาพจึงเป็นของซื้อของขาย เกิดเหลื่อมล้ำชัดเจน แต่พอเวลาผ่านไป มีวิธีการจัดการดีขึ้นผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่องว่างตรงนี้ลดลง คนยากดีมีจนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมขึ้น และทำให้สังคมอยู่รอดปลอดภัย นี่คือระบบสุขภาพแบบรัฐสวัสดิการที่ใช้กันในอังกฤษ ยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ซ่ึ่งไทยก็ได้ต้นแบบจากระบบสุขภาพของอังกฤษด้วย

นอกจากนี้คือพี่ไปเรียนในจังหวะที่โลกของเราเผชิญวิกฤตการณ์โรคระบาด ใน 100 ปีอาจเกิดสักครั้ง  ทำให้เราได้ศึกษาทั้ง Theoretical และ Practical knowledge ได้เห็นกรณีศึกษาว่ารัฐบาลของสหราชอาณาจักรมีแนวทางสื่อสาร, จัดการ, เข้าช่วยเหลือคนในประเทศอย่างไรบ้าง, คนระดับรากหญ้าเข้าถึงได้มั้ย ฯลฯ แล้วโอกาสของเราก็กระโดดไปอีกระดับ มีไปประชุม Global Health ถ้าไม่ได้ทุนชีฟนิ่งมาเรียน พี่ว่าโอกาสนี้คงไม่เกิดขึ้นในชีวิตนี้แน่นอน

Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association

3. ตัดสินใจเรียนต่อ Top U ในสกอตแลนด์

ตอนนั้นพี่เน้นสมัครสาขา Public Health สมัครไปทั้งหมด 6 มหาวิทยาลัย 7 คอร์ส สุดท้ายตัดสินใจเลือก MSc Public Health ที่   University of Edinburgh ตั้งอยู่ที่เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) ของสกอตแลนด์ครับ  ถ้าพูดถึงในแง่คุณภาพการศึกษา ที่นี่เป็น Top5 ของสหราชอาณาจักร อ้างอิงจาก QS World University Rankings 2025: Top global universities และยังติดอันดับ 6 ในกลุ่มวิชา Life Sciences & Medicine ของ QS ปี 2024 ครับ หนึ่งในศิษย์เก่าคนดังคือ “ชาลส์ ดาร์วิน” (Charles Robert Darwin) ผู้ที่คิดค้นทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection)  ที่เชื่อว่าทุกคนคุ้นชื่อเขาอย่างดีตั้งแต่สมัยเราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์กัน

แม้มหาวิทยาลัยจะไม่ได้มีพื้นที่กว้าง  แต่เป็นเมืองเล็กที่มีทุกอย่างในตัวเองครบ และมหาวิทยาลัยยังมีธรรมเนียมที่ "ดูมีอะไร" มากๆ อย่าง Matriculation Ceremony หรือพิธีต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่จัดขึ้นในหอประชุม มีขบวนปี่สกอต ใส่เครื่องแบบโรงเรียนของตัวเอง แต่ละคณะจะมีคทาเป็นของตัวเอง เป็นงานดีเทลล์ที่เร้าอารมณ์มากๆ ครับ! 

Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association

4. ข้ามทวีป ข้ามสาย ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่

ในช่วง 2 เทอมแรกยังเรียนแบบเลกเชอร์และสัมมนา ศึกษาเครื่องมือและวิธีศึกษา เพื่อที่ว่าเวลาเราเจอปัญหาจริงๆ จะสามารถรับมือสถานการณ์ได้ด้วยแผนที่มีประสิทธิภาพ ส่วนช่วงการทำวิทยานิพนธ์จะอยู่ที่ 3 เดือนสุดท้ายครับ ทั้งนี้ ทุกวิชามหาวิทยาลัยจะให้โอกาสเราลองเรียนสัปดาห์แรกก่อน ถ้าไม่ชอบหรือไม่ไหวจะยังถอนได้โดยไม่มีระบุลงใน Transcript 

มาดูรายชื่อวิชาเรียนกันก่อนครับ

  • Economic issues in Public Policy (20 หน่วยกิต)
  • Health Systems Analysis (20 หน่วยกิต)
  • Population Health and Health Policy (20 หน่วยกิต)
  • Global Politics of Public Health (20 หน่วยกิต)
  • Health Systems: Strengthening and Reform (20 หน่วยกิต)
  • Health and Human Rights: Principles, Practice and Dilemmas (20 หน่วยกิต)
  • Dissertation (60 หน่วยกิต)
  • Researching Health & Policy: Qualitative Approaches Audit (10 หน่วยกิต)
  • Researching Health & Policy: Quantitative Approaches Audit (10 หน่วยกิต)
  • Social Determinants of Health and Public Policy Audit (20 หน่วยกิต)

รวมทั้งหมด 180 (+40) หน่วยกิต/ภาคการศึกษา และลงเรียน Audit ได้อีกสูงสุด 20 หน่วยกิต ไม่มีตัดเกรด แต่จะแสดงในใบ Transcript ว่าเราลงเรียนวิชานี้

 

เรียนยังไงบ้าง?

ปรับตัวเยอะแน่นอน เพราะช่วง ป.ตรี พี่เรียนวิทย์สุขภาพแบบเน้นท่องจำมาตลอด ในขณะที่ ป.โท พี่ข้ามสายมาเรียนนโยบายสาธารณสุขและการจัดการในระดับโลก ศึกษาหลักการพื้นฐาน และเห็นความสัมพันธ์ขององค์กรในมิติต่างๆ เช่น องค์กรการค้าโลก World Health Organization (WHO) กับธนาคารโลก (World Bank) การค้ากับการสาธารณสุขเกี่ยวกันในแบบที่เราคาดไม่ถึง

ด้วยความที่วัฒนธรรมการเรียนแบบตะวันตกแตกต่างจากไทยชัดมาก เราต้องพึ่งตัวเองเยอะ สัดส่วน Self-Study ประมาณ 90% เข้า lecture แค่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง/วิชา/สัปดาห์ สัมมนาอีก 3 ชั่วโมง/วิชา/สัปดาห์เท่านั้น และตลอดเวลา 1 ปีนี้ เราต้องตื่นตัวกับการพาตัวเองไปหาความรู้  เช่น เข้าฟัง Seminar, Workshop, Independent Study, การเรียนที่เข้มข้น หนังสือ must-read ที่ต้องอ่านเพื่อเตรียมเรียนและทำธีสิสมีเป็นตั้งๆ และเขียนเยอะ รายวิชาต่างๆ กำหนด Essay วิชาละ 3,000 คำ เรียนเทอมละ 3 วิชาก็คูณสามเข้าไป แต่ถ้าเป็น Dissertation กำหนดความยาว 15,000 คำครับ

ว่ากันตามตรงคือเป็นการเรียนที่หนักนั่นแหละ ระบบการเรียนที่อังกฤษเรียกว่า ‘Constructivism’ ถ้าเทียบกับการสร้างบ้าน อาจารย์จะสอนวิธีเลือก Materials การสร้างบ้านที่ดี ซึ่งก็คือเครื่องมือและองค์ความรู้ ให้ทุกคนใช้แก้ปัญหาได้ หลังจบออกมาแต่ละคนก็จะมีความเก่ง ความเชี่ยวชาญในประเด็นที่ไม่เหมือนกัน ความประทับใจคือมหาวิทยาลัยใน UK จะให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต มีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือได้

ข้อดีของการเรียนที่อังกฤษคือทำให้เราจัดระเบียบความคิดดีขึ้น และธรรมชาติของคนอังกฤษคือจริงจังกับ Framework มาก ซึ่งมันดี! เพราะทำให้มีหลักการคิด คิดรอบด้าน ไม่มโนจนออกทะเล เราก็ได้ซึมซับวิธีคิดแบบเขามาด้วย  และที่เพิ่มมิติให้การเรียนมากขึ้นไปอีก คือสังคม ป.โท ที่เหมือนหม้อหลอมรวมผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมครับ

5. รีวิวตัวอย่างวิชาเรียนที่ประทับใจ

วิชา Social Determinants of Health and Public Policy   ทำให้เข้าใจว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม มันฝังเข้าไปในร่างกายในรูปแบบโรคภัยไข้เจ็บ "ถ้าการศึกษาดี ทุกอย่างจะดีโดยอัตโนมัติ” และ “การเมืองไม่ใช่อะไรเลย แต่มันคือการแพทย์ที่เขียนให้ใหญ่ขึ้น” 

ต้นตอของปัญหาสุขภาพที่แท้จริงเชื่อมโยงกับโครงสร้างสังคม มันมีอะไรมากกว่าการชี้บอกว่า “การป่วยเกิดจากเชื้อโรคไง” “ฟันผุเพราะไม่แปรงฟันไง” แต่เพียงอย่างเดียว ฯลฯ โดยไม่ได้มองถึงปัจจัยทางสังคมที่แตกต่างกัน เด็กๆบางคน พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาช่วยติดตามดูแล ในบางประเทศต้องทำงานหลายวันกว่าจะซื้อยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ได้ เป็นต้น อีกปัญหาเช่นเรื่องฝุ่น PM 2.5 คนบางกลุ่มทำงานในห้องแอร์ มีกำลังซื้อเครื่องฟอกอากาศ แต่คนที่ต้องทำงานกลางแจ้งเสี่ยงฝุ่นมากกว่า และการจะซื้อเครื่องฟอกก็เกินกำลัง หรือ ไม่สามารถจะซีลห้องที่พักไม่ให้ฝุ่นเข้าได้ สุดท้ายก็ต้องสูดฝุ่นเข้าไปจนป่วย การจะโทษพฤติกรรมอย่างเดียว เราก็จะแก้ปัญหาสุขภาพไม่ได้ วิชานี้สอนให้เรามองเห็นคนและสังคมที่เค้าอยู่ และวางแผนแก้ไขเชิงระบบ ทำงานร่วมกับเพื่อนๆที่ดูแลด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง เพื่อยกคุณภาพชีวิตผู้คนไปพร้อมๆกัน

วิชา  Global Politics of Public Health เรียนหลักการพื้นฐานของนโยบายสาธารณสุข  และมาดูกันว่าผู้เล่นระดับโลกคนไหนที่ทำงานแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพ? ประเทศที่ร่ำรวยกำลังเอาเปรียบประเทศอื่นๆ ด้วยวิธีไหน? มีเครื่องมืออะไรที่เขาเลือกใช้บ้างหากต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ? เป็นต้นครับ

สมมติไทยทำสัญญาทวิภาคีกับประเทศหนึ่ง ถ้าไม่ทันคิดให้รอบคอบ เจรจาแลกเปลี่ยนแบบไม่ทันระวัง ผลกระทบที่ตามมามหาศาล เช่น ต้องซื้อยาจากประเทศดังกล่าวในราคาที่สูงลิ่ว เป็นต้น วิชาเรียนสำคัญมากๆ ครับ เพราะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันเยอะมากเวลาไปเจรจาระหว่างประเทศ สามารถหลบเลี่ยงสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้ แล้วนี่คือไหวพริบและความฉลาดของนักการทูตไทย  แต่ในทางกลับกันคือถ้าเราไม่รู้จัก Tools อย่างทะลุปรุโปร่ง เราจะจับเรื่องพวกนี้ไม่ทัน

วิชา Economic Issues in Public Policy เปิดมาคาบแรกอาจารย์ให้อ่านตำราต้นฉบับที่เขียนโดย Adam Smith (คนถอนกันบานครับ!! แต่พี่ทน พอจบออกมาพี่ชอบเศรษฐศาสตร์มาก) วิชานี้เราจะได้เรียนรู้พื้นฐานการตัดสินใจว่าเมื่อไหร่นะที่รัฐจะเข้าไปแทรกแทกแซงได้ แล้วเมื่อไหร่ที่ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง เช่น เรื่องมาตรฐานจรรยาบรรณ ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่อหน้าคนไข้เพราะความรู้ของหมอและผู้ป่วยแตกต่างกัน หากปล่อยให้มีการโฆษณาโดยแพทย์อย่างไม่มีการควบคุม ก็อาจจะเป็นช่องให้แสวงประโยชน์จากผู้ป่วยได้  ทำให้รัฐต้องมีกระบวนการ ดูแล จัดการ สร้างกฎและกติการ่วมกันเพื่อปกป้องผู้บริโภค

ส่วนการจะจบ ป.โท เราเลือกได้ว่าจะทำวิทยานิพนธ์หรือฝึกงาน เราต้องดูเป้าหมายของตัวเองแล้วโฟกัสหนทางนั้น เช่น พี่มาสายวิชาการ เลยทำธีสิสหัวข้อ “The implications for implementing dental accreditation in Thailand: lessons from global healthcare accreditation” ได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่เก่งมากๆ ชื่อว่า Mark Hellowell  ลองคลิกที่ชื่อเพื่อดูโพรไฟล์ได้เลยนะครับ 

พี่ทำหัวข้อนี้เพราะเป็นนโยบายรับรองกระบวนการพัฒนาคุณภาพคลินิกทันตกรรมในไทยที่พี่เคยทำงาน แต่พอผลัดเปลี่ยนผู้บริหารวิชาชีพ นโยบายก็ล้มไม่เป็นท่า พอมาเรียนและทำธีสิสแบบเจาะลึก ก็ได้เห็นช่องโหว่และเข้าใจว่าเมื่อก่อนเราลืมคำนึงถึงมุมไหน แล้วถ้าจะมาปัดฝุ่นทำใหม่เราต้องทำยังไงบ้าง

6. ถึงจะเรียนหนัก ตารางแน่น 
แต่รู้สึกเหมือนได้พักผ่อน 24/7 

  • ประทับใจที่สุดคือการที่โครงสร้างทางสังคมของ UK รองรับให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น พี่เห็นว่าคนพิการเข็นรถเข็นเข้า Supermarket ชอปปิงได้ตามปกติ เป็นประเทศแรกที่มีบริการผ้าอนามัยในห้องน้ำหญิง หรือการที่ทุกคน (พลเมือง UK และนักท่องเที่ยว) เข้าพิพิธภัณฑ์ได้ฟรี สิ่งนี้บ่งบอกว่าถึงจะฐานะยากดีมีจนก็สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ซึ่งรวมไปถึงรากฐานสำคัญอย่างความรู้และการศึกษาภายในประเทศด้วย
     
  • (สมมติเราป่วยที่อังกฤษทำยังไงนะ?) ทาง NHS มีหลักประกันสุขภาพได้ครอบคลุม  แต่คิวจะยาวสักหน่อย และต้องนัดล่วงหน้า อย่างที่ UK เราจะได้พบ General practitioner (แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป) -> กรณีที่เกินขอบเขตแพทย์ทั่วไปสามารถดูแลได้  ก็จะถูกส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งก็ต้องเข้าคิวอีกครับ
     
  •  Edinburgh ยังเป็นเหมือนคลังแสงทางปัญญาของสกอตแลนด์และอังกฤษ เพราะมีมหาวิทยาลัยดังตั้งอยู่ถึง 3 แห่ง มีความเงียบสงบและปลอดภัยสูง  // ถ้าเราแจ้งความที่อังกฤษ จะได้เห็นการทำงานแบบโคตรสู้และทุ่มเทของตำรวจ และการดำเนินการที่รวดเร็ว เคยโดนโกงบัตรเครดิต แต่ตำรวจจัดการได้ไวมาก
     
  • แม้จะเป็นช่วงชีวิตการเรียนที่หนักแต่เหมือนได้พักผ่อนตลอดเวลา เพราะ Edinburgh เป็นเมืองเล็กที่มีทุกอย่างครบในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล คลอง สวนสาธารณะ อยากเที่ยวปราสาทเอดินบะระก็อยู่ใกล้ๆ อยากขึ้นเขาไปชมพระอาทิตย์ตกดินช่วง 4-5 ทุ่มก็ได้ นอกจากนี้คือตลาดคริสต์มาส (Christmas Market) ของเมืองเอดินบะระที่ดังมากๆ ส่วนใครเป็นสาวกแฮร์รี่พอตเตอร์ ที่นี่มี  Free Harry Potter Tour กันแบบถึงถิ่นเลยนะครับ
     
  • นอกจากพี่จะให้การเรียนสำคัญเป็นอันดับแรก ยังตั้งเป้าหมายให้ชีวิตสนุกขึ้นว่า ทุกวันใน UK ต้องได้สกิลใหม่วันละ 1 อย่าง เช่น ฝึกทำเมนูใหม่ทุกวัน ตั้งชาเลนจ์ตามหาสะตอ ชะอม ข้าวเหนียว ฯลฯ มีขายที่ไหนบ้าง หมดเงินไปกับอุปกรณ์เครื่องครัวและวัตถุดิบ // แต่ต้องบอกว่าวัตถุดิบทำอาหารไทยถูกมาก  และในเมืองก็มี Farmer Market ให้ไปชอปปิงด้วยนะ
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association

7. งานปัจจุบัน กับภารกิจผลักดันระบบสุขภาพไทยให้ปังกว่าเดิม

หลังจากได้ไปเห็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า เป็นโลกอีกแบบที่เปิดโอกาสให้เราได้ก้าวเป็นผู้นำของสายนั้นๆ และได้ทำงานที่แอดวานซ์ไปอีกระดับด้วย ปัจจุบันพี่ทำงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ National Health Security Office (NHSO) ถ้าให้อธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่โฟกัส ก็คือเราจะบริหารเงินก้อนนึงที่เป็นเงินภาษีจากประชาชนอย่างไรให้สร้างประกันสุขภาพที่เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

. . . . . . . . . . 

พอมองย้อนกลับไป ทุนชีฟนิ่งเป็นโอกาสที่ดีและเปลี่ยนชีวิตพี่มากๆ ได้ไปเห็นผู้คน ชีวิต แรงบันดาลใจในการทำอะไรสักอย่างเพื่อพัฒนาบ้านของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม สำหรับใครที่เตรียมตัวสมัครทุนและมหาวิทยาลัยใน UK อย่าล้มเลิกความพยายามนะ ตั้งใจให้เต็มที่ที่สุด พี่เป็นกำลังใจให้ครับ

Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
Cr.  พี่เป๊ก / Thailand Chevening Alumni Association
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น