เปิดเส้นทางเด็ก 3 ทุนของ 'พี่อิง' (学习ing) เรียน ป.ตรี-โท-คอร์สภาษาจีน 1 ปีที่เซี่ยงไฮ้ ดีต่อใจจนไม่อยากกลับ!

สวัสดีค่าชาว Dek-D ใครอยากเรียนต่อประเทศจีน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “พี่อิง-ชนิกานต์ เตระโกศลพันธ์” เจ้าของเพจ 学习ing รุ่นพี่คนไทยที่ตกหลุมรักภาษาและวัฒนธรรมจีนมากๆ และความพยายามทำให้เธอคว้ามาแล้วถึง 3 ทุน ได้แก่ ทุนรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ (ทุนรัฐบาลเมือง) ไปเรียน ป.ตรี ตามด้วยทุนรัฐบาลจีน CSC เรียนระดับ ป.โท ด้านการสอนภาษาจีน และปิดท้ายด้วยล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือทุนครูสอนภาษาจีนนานาชาติ (ขงจื่อ) หรือทุน CIS ไปเรียนภาษาจีนระยะสั้น 1 ปี ประสบการณ์ทั้งหมดนี้อยู่ในรั้ว Shanghai International Studies University (SISU) มหาวิทยาลัยนานาชาติที่คณะการสอนดังเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

และแม้ว่าเส้นทางการเรียนนี้จะยาวนานมาก แต่เราจะมา recap เพื่อให้น้องๆ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับทุนจีน  การเรียนด้านการสอนภาษาจีน และประสบการณ์ที่คุ้มยิ่งกว่าการเรียนฟรี จะดีต่อใจขนาดไหนไปเริ่มพาร์ตแรกกันเลยค่ะ!

ที่มาที่ไป ทำไมถึงตกหลุมรักภาษาจีน

จุดเริ่มต้นก็คือตอนประถมอิงเรียน รร.เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ บังเอิญเข้ามาเป็นรุ่นที่โรงเรียนทดลองเพิ่ม​ "วิชาภาษาจีน" ให้เรียนตอน ป.4-6 ค่ะ ปรากฏว่าเรียนแล้วใช่สุดๆ ตอน ม.ปลาย อิงก็เลยเลือกสายศิลป์-ภาษาจีนที่โรงเรียนเดิม  สัปดาห์นึงเรียนจีนไปแล้ว 9 คาบ มีทั้งเรียนในหนังสือ ฝึกพินอิน กับทักษะการสื่อสาร ส่วนวิชาเลขที่เราไม่ค่อยถูกชะตาด้วยก็มีแค่ 2 คาบค่ะ แฮปปี้ไปอีก!

ช่วงที่ภาษาพัฒนาเร็วสุดๆ ก็ตอนได้ทุนรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ (ทุนเมือง) จากการไปแข่งตอบปัญหาภาษาจีนค่ะ พอรู้ตัวว่ากำลังจะไปอยู่จีนแล้วจริงๆ ก็ใช้เวลาหลังจบ ม.6 ลงเรียนพิเศษที่ รร.สีตบุตรบำรุง (OCA) สอนโดยเหล่าซือคนไทยและคนจีน และเป็นสภาพแวดล้อมที่เราได้ใช้ภาษาจีนตลอด

ได้ทุนอะไร เรียนช่วงไหนบ้าง?

1. ได้ทุนรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ (ทุนรัฐบาลเมือง)  ไปเรียน ป.ตรี 

อิงได้ทุนเมืองไปเรียน Teaching Chinese as a Foreign Language (Double Language) ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Studies University; SISU)  

*ทุนเมืองแต่ละที่เงื่อนไขต่างกัน เช่น ทุนเซี่ยงไฮ้ที่อิงได้จะแบ่งเป็น Type A (เต็มจำนวน) และ Type B (บางส่วน) แบบหลังนี้จะช่วยค่าเรียนทั้งหมด แต่ต้องรับผิดชอบค่ากินอยู่เองค่ะ

แข่งขันตอบปัญหาภาษาจีน -> ได้ทุน ป.ตรี
แข่งขันตอบปัญหาภาษาจีน -> ได้ทุน ป.ตรี

2. ได้ทุนรัฐบาลจีน CSC ไปเรียนตอน ป.โท 

พอจบ ป.ตรี ก็กลับไทยมาทำงานสายการศึกษา แล้วพบว่าตัวเองชอบการสอน อยากสอนแบบมั่นใจขึ้น ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ ป.โท Master of Teaching Chinese to Speaker of Other Language (MTCSOL) ที่ SISU มหาวิทยาลัยเดิม เรียนเป็นภาษาจีนล้วนๆ คราวนี้มีทั้งเรียนรวมกับคนจีน กับบางคลาสแยกเรียนเฉพาะต่างชาติ เจอทั้ง Online และ On-site เพราะเป็นช่วงโควิด-19 พอดี และครั้งนี้อิงไปด้วยทุนรัฐบาลจีน CSC ครอบคลุมค่าเทอม ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายรายเดือนค่ะ

ถ้าเล่าความแตกต่างให้เห็นภาพคือตอน ป.ตรี เราได้เข้าใจมุมคนเรียนภาษาจีน ส่วน ป.โท เราได้เรียนลึกถึงรากของภาษา ทำให้เข้าใจมุมมองครู อย่างเช่นมีวิชาการสอนภาษาจีนข้ามวัฒนธรรม ที่ช่วยให้เราได้เปิดใจยอมรับความหลากหลายมากขึ้น บางทีเพื่อนเคยไปสอนประเทศอื่นก็มาแชร์ Culture Shock ที่เจอ เพื่อนประเทศนั้นๆ ก็จะช่วยอธิบาย พูดคุยและทำความเข้าใจกัน

นอกจากนี้คือ ป.โท เรียนแบบเน้นดิสคัสและฝึกปฏิบัติจริง ถึงจะเจอช่วงออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ แต่มหา'ลัยก็เปิดโอกาสให้เราได้สอนภาษาจีนทางออนไลน์ให้โรงเรียนที่ไทย แล้วพอเปิดออนไซต์ เรามีออกไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสอนเยอะมากๆ เช่น สังเกตการณ์ในคลาสเรียนของเด็กนานาชาติที่โรงเรียนสาธิตฯ ของ SISU แล้วเขียนรายงานสรุปส่งอาจารย์ // ถ้าเกิดชอบการเรียนสไตล์ Practical อิงว่าที่นี่ตอบโจทย์เลยค่ะ

แข่งขันแปลล่าม -> ได้ทุน ป.โท
แข่งขันแปลล่าม -> ได้ทุน ป.โท
อ่านรีวิว Part I ชีวิตนักเรียนทุน ป.ตรี-โท

3. ได้ทุนครูสอนภาษาจีนนานาชาติ (ขงจื่อ) ไปเรียนภาษาระยะสั้นที่จีน 1 ปี

ภาคต่อค่ะ! 555 ด้วยความที่ตอน ป.โท อิงเจอช่วงโควิด-19 จนต้องติดแหง็กอยู่ไทยเกือบตลอด รู้สึกเหมือนยังใช้ชีวิตไม่เต็มที่ แล้ววันนึงก็รู้สึกว่าภาษาจีนของตัวเองดีไม่พอ เลยตัดสินใจสมัครทุน กลับไปที่จีนอีกครั้ง ทุนนี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คนที่สนใจหรือเป็นครู ได้ไปพัฒนาภาษาที่ประเทศจีน ซึ่งความตั้งใจของอิงคืออยากเป็นครูที่ดีและเก่งขึ้น เสริมความรู้เดิมที่มี และฟื้นฟูสกิลภาษาจีนสำหรับการสนทนาให้ไม่ดร็อปลงไป  เพราะถ้าอยู่ไทยจะไม่มีโอกาสได้ใช้

ตอนนั้นพร้อมมากเพราะจังหวะทุกอย่างลงตัวไปหมด  เรื่องงานก็ไม่กระทบเพราะสอนพิเศษออนไลน์อยู่แล้ว และแม้จะเป็นทุนที่คนสนใจเยอะมาก การแข่งขันสูง แต่อิงยื่นทุนนี้ผ่านช่วงโควิด-19 ซึ่งอัตราการแข่งขันลดลงเพราะคนยังกังวลว่าจะเข้าประเทศจีนได้มั้ย หรือยังคง lockdown แล้วต้องเรียนออนไลน์ที่ประเทศตัวเอง อิงก็ลองดูแนวโน้มสถานการณ์ แล้วตัดสินใจเสี่ยงยื่นดู ปรากฏว่าเปิดเทอมตอนที่จีนเปิดประเทศใหม่ๆ นักเรียนต่างชาติเดินทางไปเรียนได้แล้วค่ะ~

รีวิวสมัครทุนครูภาษาจีน
เอกสารต้องมี โชคก็ต้องช่วย

  • ทุน CIS แบ่งเป็นระยะเวลามอบทุนเป็น 1 เทอม / 1 ปี   จำกัดอายุไม่เกิน 40 ปี ถ้าเป็นครู อายุไม่เกิน 45 ปีสมัครได้ และกรณีสมัครไปแบบ 1 เทอมต้องไม่เคยมีประวัติทำวีซ่านักเรียนที่จีนมาก่อน
  • ข้อดีของทุนคือสมัครแค่ทุน ไม่มีขั้นตอนสมัครมหาวิทยาลัยที่จีนแยกอีก
  • ในไทยมีสถาบันขงจื่อหลายแห่ง เช่น สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาฯ, ม.เชียงใหม่, ม.เกษตรศาสตร์,  ม.ขอนแก่น,  ม.สวนดุสิต, ม.อัสสัมชัญ (ABAC), ม.ธุรกิจบัณฑิต, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นต้น  แต่ละที่กำหนดเงื่อนไขต่างกัน  และเราต้องเช็กเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่อยากไปเรียนด้วย

เล่าขั้นตอนคร่าวๆ

  1. เตรียมเอกสารให้ครบ เราสมัครของสถาบันจุฬาฯ และสอบ HSK กับ HSKK ที่ศูนย์สอบของเค้าเลย ถ้าใครจะสมัครสอบภาษาเพื่อยื่นทุน แนะนำว่าไม่ควรเกินรอบกุมภาพันธ์ค่ะ
  2. รอประกาศจากทางสถาบันขงจื่อเรื่องการขอหนังสือแนะนำ จากนั้นทำตามขั้นตอนของสถาบันขงจื่อนั้นๆ
  3. กรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ทางสถาบันขงจื่อในไทยจะกดตอบรับเราเข้าระบบคัดเลือก
  4. จากนั้นมหาวิทยาลัยทางจีนจะคัดเลือกว่าเราผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้ามหาวิทยาลัยอันดับ 1 เราไม่ผ่าน ก็จะถูกปัดตก และขยับไปเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 แทน
  5. สวดมนต์!! ผู้ให้ทุนฝั่งจีนจะสุ่มค่ะ ไม่มีใครตอบได้ว่าสุดท้ายแล้วเค้าคัดเลือกจากอะไร ตอนเด็กถามเราก็บอกทุกคนเลยว่าไปมูที่ฮ่องกงมา 5555

ทุนนี้การสมัครไม่ยุ่งยากและเลือกมหา'ลัยได้ 2 อันดับ แนะนำว่าอันดับ 1 ให้เลือกที่อยากเรียน (แม้จะไม่ได้เป็นมหา'ลัยที่ co กับสถาบันขงจื่อที่นั้นๆ) และอันดับ 2 ให้เลือกมหา'ลัยในความร่วมมือ เพราะเซฟกว่า โอกาสติดสูง แน่นอนว่าอิงเลือก SISU ไว้อันดับ 1 เพราะคุ้นเคยและประทับใจที่นี่อยู่แล้ว และอีกอย่างคือตั้งใจจะเก็บประสบการณ์ในมหา'ลัยที่ขาดไปจากการเรียน ป.โท แบบออนไลน์ ส่วนคะแนน HSK อิงยื่น HSK 4 (298/300) และ HSKK  ระดับกลาง (66/100)  

รีวิวประสบการณ์สอบ HSKK

HSKK คือคะแนนการสอบวัดระดับภาษาจีน ทักษะการพูด ถ้าผ่านคือ 60 ขึ้นไป แล้วอิงได้ 66 จริงๆ ยังไม่รู้สึกไม่ค่อยพอใจคะแนนตัวเองเลย แต่เพราะเป็นการสอบครั้งแรกในชีวิต ไม่แน่ใจว่าพูดแบบไหนถึงได้คะแนนเยอะ ก็เลยพูดแบบเนื้อๆ ไม่เอาน้ำ ซึ่งจริงๆ คือเค้าอยากให้พูดยาวๆ ค่ะ TT

คำเตือน ในการสอบ HSKK พาร์ตแรกเป็นกึ่งทดสอบความจำ โดยให้พูดตามโจทย์ที่ให้มาค่ะ  ประเด็นคือสนามสอบอิงเป็นห้องเปิด ไม่ใช่ห้องส่วนตัว ทำให้อิงสติแตกเพราะได้ยินเสียงคนที่สอบข้างๆ ไปด้วย 

เรียนเป็นหลัก พักเป็นเที่ยว
เก็บตกชีวิตทุกเสี้ยวที่ขาดหายตอนโควิด

เพื่อนจากทั่วทุกมุมโลกล้วนพูดจีน

ช่วงก่อนบินไปจีนเราจะได้ลิงก์มาทดสอบเพื่อสอบแยกห้องก่อน โดยมหา'ลัยจะแบ่งเป็นระดับต้น-กลาง-สูง ผลคือสอบได้ห้องสูงสุด เค้าเลยให้ถอยลงมา 1 ห้องเพราะเรียนระดับละเทอม 

อิงว่าตัวเองโชคดีตรงที่ได้เพื่อนร่วมคลาสดีมากๆ  อบอุ่น ไปไหนไปกัน เพราะมีอยู่ 12 คนค่ะ ในจำนวนนี้เป็นคนไทยไปแล้ว 3 คน นอกนั้นเป็นเพื่อนจากชิลี ญี่ปุ่น รัสเซีย มาดากัสการ์ เกาหลี เบลเยียม เวียดนาม ฯลฯ  หลากหลายสุดๆ แต่ปรับตัวเข้าหากันได้แบบไร้รอยต่อ สำเนียงต่างหน่อยหรืออาจฟังยากบ้างแต่ไม่มีปัญหา

หลักๆ ต่างกันตรงที่ตอน ป.ตรี-โท เพื่อนมาจากโซนเอเชีย  ประเทศไม่หลากหลายเท่าที่เจอตอนเรียนภาษา และตอนมาเรียนภาษาเราอยู่ห้องคลาสสูง ซึ่งใช้ภาษาจีนคุยกัน แต่ถ้าเป็นระดับต้นหรือกลางเค้าอาจจะมีสลับไปพูดภาษาอังกฤษเยอะกว่า

ครูๆ ก็น่ารักเกิ๊นนนน!

ตอนเทอม 1 อิงได้ครูประจำชั้นออกแนววัยรุ่นๆ จบ ป.โท จาก SISU เค้าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ห้องเราอบอุ่น พยายามผลักดันให้ทำกิจกรรมด้วยกัน  ตอนแรกนักเรียนก็อิดออดๆ  แต่ก็ cheer up เตรียมทุกอย่างให้ จนกระทั่งนักเรียนทุกคนเปิดใจค่ะ

แล้วยังมีครูอีกคนที่เราเคยไป sit-in คลาสของเค้าตอน ป.โท ยังคิดเลยว่าถ้าได้มาเรียนกับเค้าจะดีมากๆ ปรากฏว่าก็มาเป็นครูสอนวิชาดูหนังสารคดี เติมพลังบวกเก่งมากกก ยิ้มแล้วโลกสดใส คอยให้กำลังใจ ทำให้ภาษาจีนของเราดีขึ้นเรื่อยๆ

รีวิววิชาจีนหลักและทักษะการสื่อสาร

การฟัง โหดมากกกโดยเฉพาะเทอม 2 เช่น ฟังจบเรื่องนึง ตอบคำถาม 2 แบบ และมี True/False คล้ายๆ HSK 7-8-9

การพูด เค้าแบบดิสคัสและเน้นให้เราใช้ภาษาจีนในบทสนทนา (ไม่ใช่ภาษาหนังสือ) และจะได้รู้จักคำสแลงหรือคำที่วัยรุ่นใช้กันด้วย เรียนแล้วจะได้คุยกับเด็กรู้เรื่องค่ะ 555

การอ่านหนังสือพิมพ์ จริงๆ เคยเจอวิชานี้ตอน ป.ตรี แต่ตอนนั้นเราต้องแบกหนังสือพิมพ์มาเรียนจริงๆ เจอข่าวปัจจุบัน และเขียนลงในนั้นได้เลย แต่คราวนี้เป็นแบบเรียนมาให้  แต่จะเป็นข่าวเก่าที่เค้าเลือกหัวข้อมาให้แล้วค่ะ ความท้าทายของภาษาที่เจอในข่าวคือ มีการเล่นคำ, มีชั้นเชิง, การพาดหัวข่าว, เจตนาที่ต้องการสื่อ ฯลฯ  ตอนเรียนจีนหลักเราต้องเข้าใจทุกตัวอักษร แต่การอ่านข่าว เราสามารถอ่านแบบเร็วๆ แล้วเดาจากบริบท เราต้องเข้าใจทุกตัวอักษร แต่การอ่านข่าวการอ่านเร็วๆ ไม่ต้องรู้ทุกตัวเดาจากบริบท คุณไม่มีทางอ่านออกทุกตัวอักษรแน่เพราะใช้เวลาเยอะมาก

ภาษาจีนหลัก ยากมากกก ระดับความยากเท่ากับนักศึกษา ป.ตรี ชั้นปี 3-4 เพียงแต่ตอนนั้นค่อยๆ ไล่ระดับ ส่วนอันนี้ลงตู้มเลย (ยากยังไงบ้าง?) เราเจอเรื่องคำที่ความหมายเหมือนกัน แต่เหมาะกับบริบทที่แตกต่าง ไวยากรณ์ก็ไม่ใช่ระดับต้น-กลาง แต่เป็นขั้นสูง มีความหมายเชิง +/- คำที่สื่อความรู้สึกในใจ/ความคิดทางสมอง เป็นต้น เราจะต้องจำคำให้ได้และเข้าใจว่าเหมาะกับบริบทแบบไหน แล้วเอามาเติมในช่องว่างค่ะ 

ใน 1 บทจะได้เรียนศัพท์เพิ่มประมาณ 6 คู่ สอบครั้งละ 3 บท (18 คู่) แล้วปีนึงจะได้เรียน 12 บทค่ะ จริงๆ ลดจากรุ่นก่อนๆ ที่เรียนเทอมละ 12 บท

https://image.dek-d.com/contentimg/2024/kookkai/02_K'Aing_CSC/collage9-1.jpg
https://image.dek-d.com/contentimg/2024/kookkai/02_K'Aing_CSC/collage9-1.jpg

ได้เจาะลึกรอบกำแพงประเทศจีน

เราได้มาเพิ่มความรู้รอบตัวแบบรอบด้านตั้งแต่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การแพทย์แผนจีน ไปจนถึงกีฬา ตอนเรียนน่ะชอบ แต่ตอนสอบคือหืดขึ้นคอ เค้าจะมีกำหนดว่าสโคปเรื่องที่สอบประมาณไหนบ้างง ครั้งแรกเจอประวัติศาสตร์ + วัฒนธรรม แต่เทอมหลังๆ เจอประมาณ 6-7 หัวข้อ เนื้อหาไม่เจาะลึกเท่ากับเทอมแรก แต่ข้อมูลก็มีไม่น้อยเลยค่ะ

มาเรียนปีเดียว 
เลี้ยวไปเที่ยว 18 เมือง

"รอบนี้อิงตั้งใจกลับจีนไปใช้ชีวิต แล้วก็ทำสำเร็จด้วย! ประเทศจีนมีอะไรให้สำรวจเยอะมาก 10 เดือนนี้ใช้ชีวิตคุ้มยิ่งกว่า 4 ปีครึ่งที่เรียนปริญญามาซะอีก และ 18 เมืองที่ได้ไป ก็ล้วนมีเสน่ห์ในตัวเองทั้งนั้น การได้ออกเดินทางทำให้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นมากจากแค่ในบทเรียน"

"อิง-ชนิกานต์ เตระโกศลพันธ์" 
— นักเรียนทุนรัฐบาลจีน และเจ้าของเพจ 学习ing  
 

อย่างที่เล่าว่าก่อนหน้านี้เจอการเรียนออนไลน์ตลอด พอมา 1 ปีที่เรียนภาษา เรียนไม่เครียดเท่าตอนปริญญา แถมเรายังทำงานไปด้วย ทำให้มีเงินมาใช้ชีวิตและบริหารเวลาจนเที่ยวได้ 18 เมืองในเวลาแค่ปีเดียว

มาจีนรอบนี้อิงเน้นไปเที่ยวทางตอนใต้ของจีน จากที่ปกติจะเที่ยวแถวๆ เมืองเซี่ยงไฮ้ (ทิศตะวันออกของประเทศ) ความภูมิใจคือเราได้เที่ยวคนเดียวในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แฮปปี้มาก อยากไปไหนก็ไป แต่ข้อเสียเดียวคืออยากลองกินหลายอย่าง แต่สั่งมากินคนเดียวไม่ไหว~ 

ส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถไฟ แต่ถ้านั่งนาน 6-7 ชั่วโมงก็จะเปลี่ยนไปนั่งเครื่องบินแทนค่ะ ข้อเสียของเครื่องบินคือจะมีดีเลย์บ้างและต้องอยู่ไกลจากตัวเมือง ส่วนข้อดีคือรถไฟคือออกตรงเวลา สถานีอยู่แถวตัวเมือง มีเวลาครึ่งชั่วโมงก็ยังไปทัน คนเดินทางเยอะทำให้มีรอบเยอะไปด้วย ยิ่งเมืองใหญ่ๆ เช่น จากเซี่ยงไฮ้ -> ซูโจว (苏州;) แทบจะมีรถทุก 10 นาทีด้วยซ้ำ ซึ่งรถไฟที่จีนก็จะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟหัวกระสุน หรือรถไฟปู๊นๆ ราคาแตกต่างกันแต่เราวางแผนเวลาได้แม่นยำ นั่งขบวนนี้กี่นาที หรือขบวนนี้ไวกว่าแต่แวะเยอะหน่อย เป็นต้น

โดยรวมการเที่ยวราบรื่นเกือบตลอดทริปยกเว้นเมืองก่อนกลับ คือ "หนานชาง" (南昌) เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของมณฑลเจียงซี (Jiangxi) ที่คนไทยจะชอบไปหุบเขาเทวดากัน เพียงแต่ตอนนั้นรอบนี้เที่ยวเสร็จ เตรียมตัวนั่งรถไฟกลับเซี่ยงไฮ้เพื่อบินกลับไทย ดันเจอแท็กซี่ที่ขับไปดูมือถือไปด้วย แล้วก็ทำเราเลทไป 3 นาที ตกรถไฟเลยค่า ผิดแผนไปหมด **เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่เมืองไม่ดีนะ

ใครที่ปักหมุดไว้แล้วกำลังหาอ่านรีวิวเพื่อวางเแผนเที่ยว ตอนนี้อิงกำลังทยอยโพสต์บันทึกการเที่ยวของตัวเองลงเพจ 学习ing  และระหว่างนี้ก็จะมีคั่นโพสต์สอนภาษาจีนกับเรื่องเกี่ยวกับจีนในมุมต่างๆ ใครชอบแนวนี้มาติดตามกันได้น้าา :)

เรียนและใช้ชีวิตที่จีนมาเกิน 10 ปี
เห็นการเปลี่ยนแปลงกับตาตัวเอง

  • อิงมาจีนครั้งแรกปี 2011 (มาเรียน ป.ตรี) ส่วนปีที่มาเรียนคอร์สภาษาคือ 2023-2024 เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างด้วยตาตัวเอง  เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยิ่งใหญ่อลังการสุดๆ ในเซี่ยงไฮ้ กลับมาอีกทีล้มละลายไปแล้ว
  • ช่วงหลังโควิด-19 เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่รองรับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น สมัยเรียน ป.โท มีตู้รับพัสดุ แต่คราวนี้กลับไปมีตู้รับอาหารด้วย
  • สะดวกสบาย ทุกอย่างรวมถึงการจองตั๋วเที่ยว สั่งอาหาร สะสมแต้มสมาชิกร้าน สามารถทำผ่าน WeChat ได้หมด แต่ถ้าเกิดจะไปเที่ยวสถานที่สำคัญๆ ในปักกิ่งต้องจองล่วงหน้า 7 วัน
  • เป็นประเทศใหญ่ที่อุ่นใจขึ้น แก้ปัญหาโจรเยอะในบางพื้นที่ โดยการพยายามให้เค้าไปทำอาชีพที่สุจริต และทุกมุมมีตำรวจและกล้องวงจรปิด // อันที่จริงจีนก็มีปัญหามิจฉาชีพ แล้วก็ล้ำไปอีกคือมีการเอาเสียงเราไปตัดต่อเพื่อหลอกญาติอีกทีนึง ต้องระวังการรับสายจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก
  • แม่จีนติดตามดาราไทยกันเยอะ~ รู้จักคู่ Y ทุกคู่ โดยเฉพาะบิวกิ้น-พีพี, ชอบพี่อิน สาริน และคนอื่นๆ เทรนด์ส่วนใหญ่จะมาทาง GMM Grammy
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น