สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคน ช่วงนี้ใครที่กำลังติดตามข่าวการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกาอยู่ก็น่าจะทราบกันแล้วว่า ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระ ได้ถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวสมัยที่สองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางพรรคเดโมแครตก็ได้ส่ง ‘กมลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีขึ้นชิงตำแหน่งแทน ต้องบอกว่า move นี้น่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะหากแฮร์ริสชนะผลการเลือกตั้ง เธอจะเป็น ‘ประธานาธิบดีหญิงคนแรก’ ของสหรัฐอเมริกานั่นเองครับ!
ต้องบอกว่าความจริงแล้วในหลายๆ ประเทศมีผู้นำหญิงที่สร้างผลงานโดดเด่นกันเยอะมาก วันนี้ พี่น้ำพุ เลยขอพาน้องๆ ทุกคนไปทำความรู้จัก 5 ผู้นำหญิงทรงอิทธิพลที่ได้สร้างผลงานโดดเด่นจนทั่วโลกจับตามอง แต่ละคนจนเริ่ดปังแค่ไหน ตามมาส่องโพรไฟล์พวกเธอกันเลยครับ
.............
1.จาซินดา อาร์เดิร์น
เริ่มกันที่ผู้นำหญิงขวัญใจใครหลายคนอย่าง ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ (Jacinda Ardern) อดีตหัวหน้าพรรคแรงงานนิวซีแลนด์ (New Zealand Labour Party) และอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศนิวซีแลนด์ (ดำรงตำแหน่งปี 2017 - 2023) เธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยจารึกมาในหน้าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศ และยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำระดับโลกประจำปี 2021 อีกด้วย
จาซินดา อาร์เดิร์น เติบโตมาใน ‘Murapara’ เมืองทางตอนเหนือของนิวซีแลนด์ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเมืองที่ค่อนข้างยากจน ดังนั้นเธอจึงมักเห็นเด็กยากไร้ที่ไม่มีรองเท้าสวมใส่หรือไม่มีอาหารกินอยู่เสมอ ความทรงจำเหล่านั้นได้จุดประกายความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมและลงสนามการเมือง สุดท้ายก็นำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อสิทธิของเด็กและนโยบายขจัดความยากจนที่เธอได้ทำนั่นเองครับ
อย่างที่เกริ่นไปว่าเธอเป็นผู้นำนิวซีแลนด์ที่มีอายุน้อยที่สุด แต่ความจริงแล้วได้เข้ามามีบทบาทช่วยทำแคมเปญเลือกตั้งให้กับพรรคฯตั้งแต่อายุเพียงแค่ 17 ปี ต่อมาเธอก็เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขานิเทศศาสตร์การประชาสัมพันธ์และรัฐศาสตร์ที่ ‘University of Waikato’ และหลังเรียนจบก็ได้สะสมประสบการณ์เรื่อยๆ จนเมื่อในปี 2008 อาร์เดิร์นได้ก้าวเข้าสู่รัฐสภาในฐานะสภาผู้แทนราษฎรนิวซีแลนด์ที่อายุน้อยที่สุด โดยตอนนั้นเธอมีอายุเพียงแค่ 28 ปีเท่านั้น
ทำความรู้จัก University of Waikatoต่อมาในปี 2017 จาซินดา อาร์เดิร์นก็ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายและได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ในที่สุด ซึ่งความนิยมของเธอก็มาจากเสน่ห์และความสามารถอันเหลือล้น ทั้งวิธีการพูด การแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ และความแข็งแกร่งที่ไม่ว่าใครๆ ก็ยอมรับ นอกจากนี้เธอยังนำเสนอนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กและสตรี ยิ่งทำให้โดนใจกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นพิเศษ แม้ว่าตอนนี้เธอจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์แล้ว แต่ก็ได้ฝากผลงานดีๆ ไว้มากมาย และหลายคนยังได้ยกให้เธอเป็นไอคอนของ ‘เฟมินิสต์’ อีกด้วย
ผลงานและเหตุการณ์สำคัญ
ตัวแม่ด้านการควบคุมโควิด
ย้อนกลับไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2020 นิวซีแลนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลอาร์เดิร์นได้เป็นประเทศแรกๆ ที่สั่งให้ปิดเขตแดนประเทศและล็อกดาวน์เมืองต่างๆ ไม่ให้มีคนสัญจรเข้าออกประเทศได้ แม้เธอจะถูกผู้นำชาติอื่นหัวเราะเยาะในตอนแรก แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามาตรการป้องกันเชื้อไวรัสของเธอได้ผลดีเยี่ยม เพราะยอดผู้ติดเชื้อที่นิวซีแลนด์นั้นมีน้อยมากหากเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังมียอดผู้ติดเชื้อต่ำที่สุดในทวีปโอเชียเนียอีกด้วย
ยกระดับพลังหญิง ชูความหลากหลายในเวทีโลก
“ไม่ว่าจะคนเพศไหนหรือผิวสีอะไรก็มีความสามารถมากพอที่จะทำงานในรัฐสภาได้!” หลังจากชนะการเลือกตั้งแล้ว จาซินดา อาร์เดิร์นได้ก่อตั้งรัฐบาลด้วยชุดสมาชิกที่มีความหลากหลายสูง โดยมีสัดส่วนสมาชิกหญิงจำนวนมาก ร่วมด้วยกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนหลากหลายทางเชื้อชาติ และกลุ่มคนพื้นเมืองนิวซีแลนด์ // นิวซีแลนด์ยังถือเป็นที่แรกๆ ของโลกที่สภานิติบัญญัติมีสัดส่วนของสมาชิกเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ด้วยนะครับ
เป็นผู้ซัปพอร์ตจิตใจเหตุกราดยิงในไครสต์เชิร์ช
ในปี ค.ศ. 2019 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช (The Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ราย ข่าวดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมากในตอนนั้นเธอเดินทางไปแสดงความเสียใจและให้กำลังใจครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ณ สถานลี้ภัยและชุมชนมุสลิมต่างๆ ในเมือง และยังสั่งไม่ให้สื่อพูดถึงชื่อหรือเปิดเผยใบหน้าของมือสังหารคนดังกล่าว เพราะจะถือว่าเป็นการให้แสงกับผู้ที่กระทำการเลวทราม และหลังจากเหตุการณ์ที่ไครสต์เชิร์ชครั้งนั้น เธอก็ได้สั่งแบนการใช้อาวุธปืนไรเฟิลยาวในทันที ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด
“I want to be a good leader, not a good lady leader. I don’t want to be known simply as the woman who gave birth”
- Jacinda Ardern
…..…..
2.มาร์กาเร็ต แธตเชอร์
‘มาร์กาเร็ต แธตเชอร์’ (Margaret Thatcher) อีกหนึ่งชื่อที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเธอเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 12 ปี และยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง ‘คนแรก’ ของยุโรปอีกด้วย เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฉายา ‘หญิงเหล็ก’ (The Iron Lady) ซึ่งมาจากการปกครองที่ขึ้นชื่อเรื่องความ ‘เด็ดขาดแน่วแน่’ และ ‘ความแข็งแกร่ง’ ของเธอนั่นเองครับ
ต้องบอกว่าชีวิตในวัยเด็กของแธตเชอร์ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบเลยครับ เธอโตมาในครอบครัวที่เปิดร้านขายของชำธรรมดาๆ แถมในสมัยนั้นยังเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทุกอย่างล้วนเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ด้วยความที่แธตเชอร์เป็นมีความมุ่งมั่นและเรียนดี เธอจึงได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง University of Oxford โดยหลังจบการศึกษาเธอได้เป็นนักวิจัยอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่เริ่มต้นเส้นทางความฝันรันวงการการเมือง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับชีวิตเธอและประเทศอังกฤษไปตลอดกาล
ในปี 1975 ขณะที่แธตเชอร์อายุ 53 ปี พรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง ทำให้เธอขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และต่อมาในปี 1983 พรรคของเธอก็ยังชนะการเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงแบบถล่มทลาย แต่ด้วยความที่นโยบายส่วนใหญ่มีความสุดโต่ง ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงจากนักวิชาการ นักการเมืองและคนทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง ถึงขนาดมีการกล่าวว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่ ‘มีคนรักมากและคนเกลียดมากพอๆ กัน’ เลยทีเดียวครับ
ผลงานและเหตุการณ์สำคัญ
ปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
นโยบายของแธตเชอร์เป็นการปฏิรูปสภาพเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรผ่านนโยบายที่ลดการเข้ามายุ่งเกี่ยวของรัฐบาลให้มากที่สุด รัฐบาลจะไม่ใช้เงินแบบฟุ่มเฟือย มีการตัดทอนค่าใช้จ่ายส่วนเกินต่างๆ ออก ให้ความสำคัญกับตลาดเสรี และนอกจากนี้เธอยังถ่ายโอนกิจการของรัฐให้เอกชนเป็นผู้ดูแล เช่น บริษัทโทรคมนาคม บริษัทน้ำมัน และสายการบินของอังกฤษ ต้องบอกว่านโยบายนี้มีทั้งกลุ่มคนที่ได้และเสียประโยชน์ ส่งผลให้ความเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของแธตเชอร์แตกออกเป็นสองฝั่ง กลุ่มที่ดูจะเสียประโยชน์มากที่สุดก็หนีไม่พ้นชนชั้นแรงงานและกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ในขณะกลุ่มนายทุนหรือเจ้าของธุรกิจก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะนโยบายตลาดเสรีของเธอนั่นเองครับ
ผู้นำมาซึ่งชัยชนะในสงครามฟอล์กแลนด์
สงครามฟอล์กแลนด์ (Falklands War) เป็นสงครามการต่อสู้ระหว่าง ‘สหราชอาณาจักร’ และ ‘อาร์เจนตินา’ ในปี 1982 เพื่อแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่ตั้งอยู่บนมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ใกล้ๆ กับทั้งสองประเทศ แธตเชอร์ที่เป็นนายกในขณะนั้นได้ประกาศทำสงคราม นำพาอังกฤษสู่ชัยชนะและได้สิทธิ์การครอบครองหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในที่สุด ซึ่งเกาะนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความภาคภูมิใจในชาติของคนอังกฤษ และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พรรคของเธอชนะการเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี 1983 นั่นเอง
ปฏิรูปการศึกษา
เรียกว่ายุคของแธตเชอร์คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของระบบการศึกษาอังกฤษเลยก็ว่าได้ครับ อย่างแรกคือเธอสั่งให้จัดตั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ มีการเน้นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษในหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน อีกทั้งยังให้มีการจัดสอบวัดระดับความรู้นักเรียนทุกคนในช่วงอายุ 7, 11 และ 14 ปี เพื่อประเมินผลการเรียนและความก้าวหน้าในผู้เรียนอยู่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ แธตเชอร์ยังเปลี่ยนกฎหมายให้ผู้ปกครองมีสิทธิ์เลือกโรงเรียนที่จะส่งบุตรหลานไปเข้าศึกษาได้ จากเดิมที่ในอดีตนั้นเด็กๆ จะถูกจำกัดให้เข้าศึกษาในโรงเรียนตามถิ่นที่อยู่อาศัยเท่านั้น
“In politics, if you want anything said, ask a man;
if you want anything done, ask a woman”- Margaret Thatcher
……….
3.อินทิรา คานธี
จากยุโรปไปอินเดีย เรามาต่อกันที่ ‘อินทิรา คานธี’ (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีหญิง ‘คนที่สองของโลก’ และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียวบนหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดียนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งด้วยความที่อินเดียมีแนวคิด ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ที่ผู้หญิงไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงทั้งในเรื่องชีวิตประจำวันหรือทางการเมือง การที่อินทิรา คานธี ขึ้นมาถึงจุดนี้ก็แทบเป็นเรื่องเหลือเชื่อในสมัยนั้นเลยครับ!
ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ เธอได้ทำผลงานอันยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไว้มากมาย และชื่อเสียงยังคงอยู่แม้จะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม ชื่อของเธอถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสถานที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในอินเดียด้วย
‘อินทิรา’ เป็นลูกสาวของ ‘ชวาหะร์ลาล เนห์รู’ นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ผู้ขึ้นรับตำแหน่งหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษ ตั้งแต่เด็กนางอินทิราเป็นเด็กฉลาด เรียนรู้ไวและมีผลการเรียนดี เธอเคยศึกษาต่อที่ University of Oxford ที่อังกฤษอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ยังเรียนไม่จบก็ต้องกลับมาที่อินเดียเสียก่อน
อินทิราเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองจากการทำงานเป็นผู้ช่วยของพ่อตัวเอง ก่อนที่ต่อมาจะได้เข้าเป็นสมาชิกของคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ในที่สุดก็ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1966 (ขณะนั้นเธออายุ 49 ปี) เธอทำงานรับใช้ชาติเรื่อยมาจนถึงปี 1977 หยุดพักไป 2 ปี และกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 1980 ก่อนที่จะถูกลอบสังหารโดยองครักษ์ในปี 1984 ครับ
ผลงานและเหตุการณ์สำคัญ
การปฏิวัติเขียว
หนึ่งในผลงานสำคัญของการบริหารประเทศของนางอินทิรา คานธีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ‘การปฏิวัติเขียว’ (Green Revolution) ที่เข้ามาช่วยปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเกษตรของอินเดียในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ซึ่งจุดสำคัญของการปฏิวัติในครั้งนั้นคือการที่รัฐบาลเริ่มปลูก ‘ข้าวสาลี’ และ ‘ข้าวเจ้า’ ชนิดพิเศษที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตดีและงอกงามอย่างรวดเร็ว ทำให้คนอินเดียมีข้าวไว้บริโภคในจำนวนที่มากพอ ลดความอดอยากของคนในชาติ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและวงการเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศให้พัฒนาขึ้นไปไกลกว่าเดิมอีกด้วย
ช่วย 'บังกลาเทศ' ปลดแอกจาก 'ปากีสถาน'
นางอินทิราคือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เกิดประเทศบังกลาเทศขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานมาก่อน โดยแรกเริ่กเดิมทีแล้วแบ่งออกเป็นปากีสถานตะวันตก (ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) และปากีสถานตะวันออก (ประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน) และแม้ว่าในสมัยนั้นจะใช้ชื่อว่าปากีสถานเหมือนกัน แต่คนจากทั้งสองดินแดนกลับมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ ศาสนา การเมือง หรือการปกครอง อีกทั้งดินแดนทั้งสองยังตั้งอยู่กันคนละฟาก (มีอินเดียคั่นกลางระหว่างสองปากีสถาน) แถมบางครั้งปากีสถานตะวันออกถูกเอารัดเอาเปรียบจากฝั่งตะวันตก จนนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการแบ่งแยกประเทศในที่สุด
โดยรัฐบาลของนางอินทิรา คานธี ได้ส่งความช่วยเหลือไปยังชาวปากีสถานตะวันออกที่ถูกกดขี่และส่งกองทัพอินเดียไปสู้รบกับกองทัพของปากีสถานอีก นั่นทำให้ปากีสถานตะวันออกสามารถแยกตัวออกมาเป็นประเทศบังกลาเทศแบบทุกวันนี้นั่นเองครับ
“The power to question is the basis of all human progress”
-Indira Gandhi
……….
4.ออง ซาน ซูจี
นี่เป็นอีกหนึ่งชื่อที่เชื่อว่าใครหลายคนคุ้ยเคยกันดี ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) คือหนึ่งในผู้นำหญิงมากความสามารถ มีอิทธิพลสูง และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อประเทศเมียนมา เธอเป็นอดีตนักการเมือง นักการทูต ผู้นำฝ่ายค้าน และผู้นำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศ
ออง ซาน ซูจี เป็นลูกสาวของ ‘นายพลอองซาน’ วีรบุรุษผู้ที่ออกมาต่อต้านอังกฤษในสมัยที่เมียนมายังตกเป็นอาณานิคม นั่นทำให้ซูจีได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความถูกต้องมาเสมอ โดยตอนเด็กเธอเคยไปเรียนที่ประเทศอินเดียและเข้าศึกษาต่อที่ University of Oxford ประเทศอังกฤษ และทำให้เธอเธอได้พบรักกับสามี ‘ไมเคิล อริส’ และแต่งงานมีลูกด้วยกันสองคน
ผลงานและเหตุการณ์สำคัญ
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวเมียนมา
ในปี 1988 ออง ซาน ซูจีต้องเดินทางกลับมาที่เมียนมาอีกครั้งเพราะแม่ของเธอป่วย ในขณะนั้นประเทศตกอยู่ภายใต้รัฐประหารของ ‘นายพลเนวิน’ ด้วยนโยบายแบบสังคมนิยม สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ อุตสาหกรรมถดถอย ประชาชนอดอยาก และมีปัญหาการทุจริตภายใน ซึ่งนำไปสู่การออกมาเรียกร้องและชุมนุมของประชาชนชาวเมียนมาเพื่อให้นายพลเนวินถอนตัว ในขณะนั้นผู้นำกองทัพมีคำสั่งให้ใช้อาวุธกองกำลังในการสลายผู้ชุมนุม ทำให้มีหลายชีวิตต้องสูญเสียไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น
เมื่อนางออง ซาน ซูจีกลับไปยังเมียนมา เธอจึงออกมาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุม ส่งจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง และออกมาต่อสู้ด้วยสันติวิธีอีกมากมาย ทำให้เธอถูกสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้าน แต่แม้จะออกไปไหนไม่ได้ นางออง ซานก็ยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยการประท้วงอดอาหาร
นางออง ซานได้รับข้อเสนอให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่อังกฤษพร้อมกับสามีและลูกๆ แต่ด้วยความแน่วแน่ในการต่อสู้เพื่อชาติ เธอได้ปฏิเสธข้อเสนอนั้นไป พร้อมยื่นคำขาดว่าเธอไม่ยอมกลับไปหาครอบครัวที่อังกฤษจนกว่าประเทศเมียนมาจะกลายเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาครองในที่สุดครับ
แม้ว่าปัจจุบันเมียนมาจะยังคงปกครองในรูปแบบเผด็จการทหาร แต่การออกมาต่อสู้ของจีก็ทำให้เกิดการตระหนักรู้ของคนในประเทศ และส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนเมียนมากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
“You should never let your fears prevent you from doing what you know is right”
- Aung San Suu Kyi
……….
5.โรซา ปาร์คส์
`
โรซา ปาร์คส์ (Rosa Parks) คือผู้นำในการต่อสู้กับกฎหมายการแบ่งแยกสีผิว (Racial Segregation) และผู้จุดประกายการก่อให้เกิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil Rights) ในสังคมอเมริกาขึ้นมา เธอเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เติบโตมาในครอบครัวธรรมดาๆ ไม่ได้มีการศึกษาที่สูงหรือได้เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ เหมือนกับผู้นำหญิงคนอื่นๆ แต่ความเด็ดเดี่ยวในตัวเธอนั้นยิ่งใหญ่และทำให้สังคมอเมริกาต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลเลยครับ!
ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนไปถึงสังคมอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ที่อเมริกาทางตอนใต้มีกฎหมายหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘Jim Crow Laws’ กฎหมายที่เอาไว้ใช้แบ่งแยกคนผิวขาวและผิวดำออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหาร โรงหนัง โรงเรียน หรือบนขนส่งสาธารณะ พวกเขาจะไม่สามารถนั่งหรือยืนอยู่ร่วมกันได้ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อแบ่งแยกให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างคนทั้งสองสีผิว ‘Seperate but Equal’ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วคนผิวดำมักจะถูกเอาเปรียบจากคนผิวขาวอยู่เสมอ
จนกระทั่งในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1955 โรซาได้ขึ้นโดยสารบนรถบัสประจำเมืองมอนต์กอเมอรีที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน ในขณะนั้นมีกลุ่มผู้โดยสารคนขาวไม่มีที่นั่งต้องยืนอยู่บนรถ ทำให้คนขับรถบัสขอร้องให้โรซา ปาร์คส์และผู้โดยสารผิวชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนอื่นๆ ช่วยยืนและสละที่นั่งให้กับคนขาวกลุ่มนั้นแทน ปรากฏว่าคนดำคนอื่นๆ ต่างยอมทำตาม ยกเว้นโรซาที่ปกป้องสิทธิ์ของตัวเองโดยการนั่งที่ของเธอต่อไป นั่นทำให้เธอถูกจับและโดนเรียกค่าปรับ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสบอยคอตขึ้นกับบริษัทรถประจำทางทั้งหลาย คนผิวดำเลือกที่จะไม่ขึ้นรถบัสเหล่านั้นเป็นเวลานานกว่า 381 วัน และการบอยคอตนี้ลามไปยังพื้นที่อื่นๆ เกือบทั่วทั้งสหรัฐอเมริกากันเลยทีเดียวครับ
ในปีต่อมาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ก็ออกมาประกาศให้ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวบนรถบัสประจำเมืองมอนต์กอเมอรี และจากนั้นเป็นต้นมา โรซา ปาร์คส์ ก็ยังคงออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำในอเมริกาอยู่อีกหลายครั้ง นั่นทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในนามของ ‘mother of the civil rights movement’ หรือ ‘ผู้ให้กำเนิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ’ เพราะหลังจากนั้นก็มีผู้คนออกมาต่อสู้และสานต่อในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง ทำให้กฎหมายแบ่งแยกสีผิวในอเมริกาถูกยกเลิกไปในปี 1964 นั่นเองครับ
“To bring about change, you must not be afraid to take the first step.
We will fail when we fail to try”-Rosa Parks
……….
จบกันไปแล้วครับสำหรับ 5 ผู้นำหญิงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์โลก ความเก่งและเด็ดเดี่ยวของพวกเธอช่วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสตรีก็เป็นผู้นำที่ดีได้ไม่แพ้บุรุษเลย ถ้าเกิดใครมีเรื่องราวของผู้นำหญิงในดวงใจคนอื่นๆ ที่อยากแชร์ อย่าลืมมาคอมเมนต์เล่าให้ฟังกันนะครับ!
0 ความคิดเห็น