สวัสดีค่ะชาว Dek-D การเรียนต่อ "สหรัฐอเมริกา" คือใบเบิกทางสู่โอกาสอันกว้างไกลระดับโลก และประสบการณ์ก็จะยิ่งเหนือชั้นไปอีกหากไปเรียนในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลอเมริกา อย่าง Fulbright TGS
วันก่อนเรามีโอกาสได้ชวน “พี่โดน่า – สนฉัตร ศรีมหาโชตะ” บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ม.เชียงใหม่ มาแชร์ประสบการณ์การเป็นนักเรียนทุน Fulbright TGS ดีกรี ป.โท สายการศึกษาที่ University of Washington ในเมืองซีแอตเทิล (Seattle) ของสหรัฐอเมริกา (United States) ค่ะ บอกเลยว่าบทความนี้เป็นมากกว่ารีวิวประสบการณ์เรียนต่อต่างประเทศ เพราะพี่โดน่าจะชวนไปมองอีกมุมของ Standard English ว่ามีแนวคิดอาณานิคมแฝงอยู่อย่างไรบ้าง? ส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้คนที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก? และแวดวงการศึกษามีความเคลื่อนไหวอะไรบ้างเพื่อลดทอนแนวคิดอาณานิคมที่แฝงอยู่ในบทเรียนภาษาอังกฤษนั้นๆ?
และปัจจุบันพี่โดกำลังทำงานในสายการศึกษาแบบเต็มตัวที่ Study Abroad and Immigration Consulting Services สำหรับผู้ที่สนใจไปเรียนต่อประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกาด้วย ท้ายบทความเลยสรุปคำแนะนำกระชับๆ มาฝากว่าถ้าต้องเลือกระหว่าง 2 ประเทศนี้ ควรพิจารณาจากปัจจัยไหนดี? ไม่ว่าจะเป็น #ทีมอเมริกา หรือ #ทีมแคนาดา ห้ามพลาดค่ะ!
1 United States Dollar = 34.27 บาท; อ้างอิงค่าเงินเมื่อ Sep 20241
ที่มาที่ไป ทำไมถึงเลือกสายการศึกษา
และมหาวิทยาลัยในอเมริกา?
ย้อนไปสมัยเรียน ป.ตรี เอกภาษาอังกฤษที่ ม.เชียงใหม่ พี่เริ่มจากทำชีตแจกและติวภาษาอังกฤษในกลุ่มเพื่อนๆ ก่อนจะเริ่มทำงานเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษค่ะ งานทำให้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วเราไม่ใช่แค่สอนภาษาให้นักเรียนสอบผ่านหรือรอดจากการติด F เท่านั้น แต่ทักษะภาษาที่ดีจะช่วยขยายเขตการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นให้นักเรียนเดินหน้าทำตามความฝันสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อต่างประเทศหรือได้เข้าทำงานบริษัทนานาชาติ
ต่อมาตอนปี 3 ในฐานะเด็กเอกวรรณคดีอเมริกัน (American Literature) พี่ได้เรียนรู้แนวคิดปรัชญาต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนสังคม ทั้ง Human Rights Movement และ Feminism ในอเมริกา ทำให้ตกผลึกได้อีกว่า การศึกษาก็มีบทบาทเป็นเครื่องมือนำสังคมและหล่อหลอมขัดเกลาจิตใจให้คนตระหนักถึงความสำคัญของปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ เพราะสังคมไทยยังต้อง work hard อีกมากในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ นับตั้งแต่นั้นมาพี่ก็เริ่มสอดแทรกบทอ่านที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี, Feminism หรือ Empowering Women ต่างๆ มาไว้ในหลักสูตรที่พี่ใช้สอนเสมอๆ
หลังเรียนจบ พี่สอนภาษาอังกฤษมาเรื่อยๆ เริ่มเรียกตัวเองว่า "ครู" ที่หมายถึง Educator เพราะเราได้ educate สร้างความตระหนักรู้ให้นักเรียนไปด้วยระหว่างติวภาษา และเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
"มีหลายเหตุผลที่ทำให้พี่นึกถึงการเรียนต่อสาย Education ที่อเมริกา"
- ประเทศที่ก้าวหน้าด้านวิจัย หลายนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการศึกษาเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยในอเมริกา
- ในสังคมอเมริกามีการขับเคลื่อนทางสังคมหลายประเด็น เช่น Feminism, Human Rights หรือ Decolonization ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นตัวอย่างทั้งที่เป็นผลงานตีพิมพ์และภาคปฏิบัติของการใช้ "การศึกษา" เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเด็นข้างต้น
- ประเทศที่มี Immigrants (=ผู้อพยพ) เยอะ จึงมีกรณีศึกษาหลากหลาย และเป็นโอกาสให้ได้อภิปรายและรับฟังความเห็นของคนจากต่างค่านิยม ต่างวัฒนธรรม ได้ทบทวนและตั้งคำถามกับชุดความคิด (Bias) ที่เรามี ประกอบกับการเรียนรู้นโยบายและหลักสูตรที่บังคับใช้จริงในการศึกษาที่รัฐวอชิงตัน ทำให้เราเห็น Practice ต่างๆ ในแวดวงการศึกษาว่าจะทำยังไงให้ "ห้องเรียนเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน" และสิ่งใดที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทประเทศไทยได้
ก่อนจะเข้าพาร์ตการสมัครและความน่าสนใจของทุน เท้าความก่อนว่าพี่มาเรียน University of Washington ด้วยทุน 3 ประเภทรวมกันคือ
|
2
เริ่มต้นที่ทุน Fulbright TGS
ใบเบิกทางสู่โอกาสใหญ่ในชีวิต
เปิดโพรไฟล์ตอนสมัครทุนดังอเมริกา
- GPA ป.ตรี 3.79 เกียรตินิยมอันดับ 1 (ทุนนี้ไม่ได้มองแค่เรื่องเกรด เพราะมีขั้นต่ำ 3.00 ก็สมัครได้แล้ว)
- คะแนน IELTS Overall 8.0 (เลือกยื่นคะแนนนี้เพราะพี่มีสอน IELTS Prep ด้วยค่ะ)
- ประสบการณ์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย พี่เป็นตัวแทนสโมสรคณะมนุษยศาสตร์ มช. ไปเข้าค่ายอาสาเพื่อสังคม ร่วมทำโครงการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพนักศึกษา, เป็นตัวแทน มช. ไปแข่งขันเชิงวิชาการ เช่น กล่าวสุนทรพจน์, แข่งอ่านกลอน, เข้าร่วมในฐานะทูตวัฒนธรรมในการประชุมนานาชาติของ UN ที่จัดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2019, เคยเข้าร่วม Work and Travel และอื่นๆ
- ประสบการณ์ทำงาน หลังเรียนจบจนถึงช่วงขอทุนรวมแล้วประมาณ 2 ปี พี่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และติวเตอร์ ออกทัวร์ติวสอบให้กับสถาบันภาคเหนือใกล้ๆ เชียงใหม่ และเป็น Study Abroad Consultant ให้กับบริษัท Yes Study Education Group ในแคนาดา ช่วยเหลือนักเรียนไทยที่ต้องการไปเรียนต่อประเทศแคนาดาค่ะ
คิดว่าทุนนี้สนใจคุณสมบัติอะไรในตัวผู้สมัครบ้าง?
ในเว็บทุนระบุว่าเขาต้องการหา Cultural Ambassador มีแพสชันอยากนำความรู้ที่เรียนกลับมาพัฒนาประเทศหรือสังคมไทย เขาจึงมองหาคนที่มี Cultural Competence (=สมรรถนะทางวัฒนธรรม) พร้อมจะเป็นทูตวัฒนธรรมนำสิ่งที่ดีๆ ในบ้านเราไปเผยแพร่ และนำสิ่งดีๆ จากอเมริกากลับมาพัฒนาประเทศด้วย
Fulbright หาคนที่มีจุดประสงค์และเป้าหมายชัดเจนว่าจะไปเรียนอะไร และ มีแผนชัดเจนว่าจะกลับมาทำอะไรบ้าง โดยมีประสบการณ์ช่วงเรียน/ช่วงทำงานที่สนับสนุนว่าเราจะทำและสามารถทำสิ่งที่นำเสนอลงใน SoP (Statement of Purpose) ได้จริงๆ จากที่พี่สังเกตจุดร่วมของ Fulbrighters ทุกคนจะมีความจอยๆ เข้าสังคมเก่ง มั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง เรียกว่าครบทั้งวิชาการ การใช้ชีวิต และจิตใจที่พร้อมขับเคลื่อนสังคม
ด้วยความที่พี่สมัครทุนไปเรียนต่อ ป.โท Master of Education in Teaching for Social Justice เน้นเรื่อง Gender หรือ Feminism ซึ่งแพสชันของเราก็มาจากหลักสูตรภาษาและองค์กรการศึกษาของเราที่ช่วยโปรโมตเรื่องการส่งเสริมแนวคิดเพื่อนหญิงพลังหญิง เพื่อสร้างความมั่นใจในการตามความฝันกับนักเรียนทุกคนโดยไม่ให้เพศของตัวเองมาเป็นขีดจำกัด (Feminist Empowerment) ค่ะ สิ่งที่เรานำเสนอกับ Fulbright ว่าจะทำมี 2 โพรเจ็กต์คือ
- โพรเจ็กต์ระยะสั้น: หลังกลับมาพี่จะทำหลักสูตรภาษาอังกฤษและคอร์สภาษาฟรีให้กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีทุนทรัพย์ และให้คำปรึกษาด้านการเรียนต่อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สิ่งนี้พี่ทำมาตลอดในฐานะครูภาษาอังกฤษและเอเจนซีเรียนต่อแคนาดา ประสบการณ์ส่วนนี้จึงช่วยยืนยันว่าเราทำได้จริง
- โพรเจ็กต์ระยะยาว: พี่ตั้งใจว่าจะทำ "Youth Empower Program" ให้สำเร็จภายใน 2 ปีหลังกลับจากการเรียน ป.โท โดยพี่จะสอนภาษาอังกฤษช่วงซัมเมอร์ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศไทย เริ่มโฟกัสที่ จ.เชียงใหม่ เช่น ค่ายผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ
แต่โพรเจ็กต์นี้มีข้อจำกัดแง่กำลังคน ต้อง co กับมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit) หรือมหาวิทยาลัยไทย ตรงนี้พี่นำเสนอว่าเคยทำจิตอาสากับเป็นนักกิจกรรมของ ม.เชียงใหม่ มาก่อน ทำให้มีคอนเน็กชันและยังคง keep in touch เรื่อยมา และด้วยความที่พี่ทำงานเอเจนซีส่งเด็กไปเรียนต่อแคนาดา พี่มีคอนเน็กชันกับสถาบันที่นั่นและมี Outreach Projects ในภูมิภาค South East Asia ที่ทำมาอยู่แล้ว งานที่ทำจึงเป็น Resources ที่ช่วยเสริมให้โพรเจ็กต์เหล่านี้สำเร็จได้ค่ะ
เตรียมตัวกับขั้นตอนไหนนานที่สุด
ใช้เวลารวมๆ 1 เดือน นานสุดคือส่วน Recommendation Letters เพราะเราต้องไปติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัย ป.ตรี ของเรา 3 ท่าน ควรเผื่อเวลาให้เขียนและแนบ CV, แผนการเรียน, SoP, เล่าประสบการณ์ว่าทำไมเราถึงเป็นผู้สมัครทุน Fulbright ที่โดดเด่นและสมควรได้รับเลือก
ส่วน Application Essays พี่ใช้เวลา 5 วัน เพราะพี่คุ้นชินกับการเขียน Essay จากการที่ทำงานด้านเรียนต่อและให้คำปรึกษาการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ที่สำคัญคือเรามีวัตถุดิบเป็นโพรเจ็กต์ในฝันที่อยากทำอยู่แล้ว เลยไม่ต้องเสริมเติมแต่งไอเดียอะไรเพิ่ม
คำแนะนำถึงน้องๆ ที่อยากสมัครทุนนี้ในอนาคต
- เตรียมโพรไฟล์ไว้ตั้งแต่มหา’ลัย ทำกิจกรรมจิตอาสา หรือเป็นนักขับเคลื่อนสังคม (Activist) ที่มีผลงานเป็นรูปเป็นร่าง ถ้ามีโอกาสไปแลกเปลี่ยนหรือเข้าร่วมงานสัมมนาของ UN ได้จะดีมากๆ เพราะจะเป็นหลักฐานว่าเราพร้อมไปเป็นตัวแทนทูตวัฒนธรรม Fulbrighters
- รักษาผลการเรียนไม่ให้ต่ำกว่า 3.00 ควบคู่กับการทำกิจกรรม และพัฒนาภาษาให้ได้ IELTS อย่างน้อย 7.00 เพราะส่วนมากโปรแกรม ป.โท จะรับที่ 7.0 หรือ TOEFL iBT ที่ 92
- เรียนรู้เกี่ยวกับ "สมรรถนะเชิงวัฒนธรรม” (Cultural Competence) สนใจการเมืองโลก เทรนด์การขับเคลื่อนสังคมระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความ Woke (=ตื่นตัว) ในด้านต่างๆ ต้องเท่าทันเรื่องประเด็นสังคม เช่น การเหยียดสีผิว เชิ้อชาติ เพศ ชนชั้น ศาสนา ความพิการ ฯลฯ เพราะการไปเรียนต่อหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในสหรัฐฯ เป็นไปไม่ได้ที่จะเลี่ยงการพูดถึงประเด็นเหล่านี้
ทำไมถึงไม่ควรพลาดโอกาสสมัครทุนนี้?
- Fulbright เป็นทุนที่มีเกียรติ (Prestigious) ได้รับการยอมรับในระดับโลก หากได้เป็น Fulbirghter ชื่อนี้จะติดตัวเราไปตลอด ทุนนี้จึงให้มากกว่าเงินและปริญญา และแม้ว่าจะไม่ได้ครอบคลุม 100% ของค่าเทอม แต่เป็นใบเบิกทางให้เราเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ และขอทุนอื่นๆ เพิ่มเติมได้
- การได้เป็น Fulbright Family เป็น Life-long Benefits ในทุกๆ ด้าน Fulbright มี Alumni Network (=Fulbrighters) ที่แนะนำเราทั้งด้านวิชาการ การหางาน การใช้ชีวิต ฯลฯ แม้จะมาจากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่จุดร่วมคือมีใจพร้อมช่วยเหลือกันและกัน และช่วยเหลือสังคม
- มีหลายกิจกรรมให้เข้าร่วม เช่น งานสัมมนาวิชาการ Professional Networking และมีบัตรเที่ยวฟรีตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองที่เราไปเรียน เช่น คอนเสิร์ต มิวเซียม หรือร้านอาหาร ฯลฯ หนึ่งในโอกาสที่ดีมากคืองาน Enrichment Seminar ของ Fulbright เดี๋ยวจะมีเล่ารายละเอียดช่วงพาร์ตกิจกรรมค่ะ
3
ทุน AΔK-ITE จากพาร์ตเนอร์ของฟุลไบรท์
เจาะกลุ่มผู้หญิงแวดวงการศึกษา
ทุนต่อมาที่พี่ได้คือ AΔK International Teacher Education Scholarship จาก Alpha Delta Kappa หรือเรียกสั้นๆ ว่า AΔK เป็นพาร์ตเนอร์ของ Fulbright เขาต้องการมอบทุนให้กับนักเรียนทุน Fulbright โดยเจาะจงไปที่กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงการศึกษา (Woman Educator) และมีแพสชันกับการใช้การศึกษานำสังคม
(ทำไมเขาถึงเลือกให้ผู้หญิง?) เหตุผลคือในอเมริกา แม้สัดส่วนข้อมูลประชากรที่เป็น Educators จะเป็นผู้หญิง 75% และผู้ชายคือ 25% (แหล่งอ้างอิง: https://nces.ed.gov) แต่ Educators ในตำแหน่ง Managerial Positions เช่น ครูใหญ่ หัวหน้า หรือผู้บริหาร มีสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่า 50% (โดยเฉพาะระดับมัธยมต้นขึ้นไป) ถึงครูในระบบส่วนใหญ่เป็นหญิง แต่ในอเมริกายังผูกคุณสมบัติผู้นำไว้กับความเป็นชาย ทุนนี้จึงต้องการเพิ่มจำนวน Women Educators ใน Leadership Roles นั่นเองค่ะ
ทุนนี้ให้ทั้งเงิน โอกาส และคุณค่าทางจิตใจ จุดเด่นคือสปอนเซอร์หรือที่ในองค์กรเรียกแทนตัวเองว่า AΔK Sisters เป็นเหมือนครอบครัวหรือ Host Family ที่คอยช่วยเหลือทั้งแง่การใช้ชีวิตและเป็นที่พึ่งทางใจ ตั้งแต่คอยรับส่งที่สนามบิน ช่วย move-in & move-out พาไปเที่ยว ส่งของขวัญและการ์ดมาให้ตามเทศกาล คอยเช็กว่าเราขาดเหลืออะไรไหมตลอดเวลาที่อยู่ใน Seattle
เรายังมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนานานาชาติของทุน และทำ Workshop ด้วย อีกทั้ง AΔK Sisters ก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาของอเมริกา เช่น ถ้าเกิดเราต้องการอาสาสมัครวิจัย(Research Subject) หรือกรณีศึกษา (Case Studies) อยากเข้าไปสังเกตการณ์ห้องเรียน หรือเข้าประชุมบอร์ดบริหารของโรงเรียนรัฐบาล ทางทุนก็สามารถซัปพอร์ตเราตรงนี้ได้ก็ช่วยเหลือเราได้
4
ทุน Patrick Ho Fellowship
โดย College of Education, UW
ทุนนี้จะให้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มูลค่าตั้งแต่ $2,000 - $5,000 (พี่ได้ $4,900) โดยปกติทุนนี้จะมีประชาสัมพันธ์บนหน้าเว็บของ College of Education ในหน้า [Funding, Aid and Scholarships] หัวข้อ [Scholarship] และประชาสัมพันธ์ทางอีเมลนักศึกษาด้วยค่ะ
วิธีสมัครคือต้องส่งเอกสารและเขียน Essay สมัครแยกอีกที ผู้ที่สมัครได้ต้องมีผลการเรียน 3.00 ขึ้นไป เป็นนักศึกษาปัจจุบันที่จบมาแล้ว 1 ปี โพรไฟล์โดดเด่น และต้องการใช้เงินจริงๆ (การเป็นนักเรียนทุน Fulbright จึงมีส่วนช่วยให้ได้ทุนนี้ค่ะ)
5
เปิดโหมดชีวิต ป.โท College of Education,
University of Washington (CoE, UW)
พี่ไปเรียนโปรแกรมที่ว่าด้วยการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษ ESL เพื่อใช้การศึกษาขับเคลื่อนสังคม โปรแกรมกำหนดให้เรียนขั้นต่ำ 45 หน่วยกิต ระยะเวลารวม 2 ปี แต่พี่ลงเรียนไป 62 หน่วยกิต ช่วงเรียนจะแบ่งเป็น Quarters ตามฤดู (ใน 1 ปีมีประมาณ 3-4 Quarters)
- ใช้เวลาลงเรียนและเก็บตัว Readings ที่จะใช้เขียนตัวจบ (Graduation Project) ประมาณ 1-4 Quarters
- ใช้เวลาทำตัวจบช่วง Quarter ที่ 5-6 ทั้งนี้คือเราสามารถจบได้ภายใน 1 ปี หรือเกิน 2 ปี ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกตัวจบแบบไหนด้วย (มีแบบ Exam/Project/Thesis) เพราะบางคนอาจจะเจอข้อจำกัดที่ไม่สามารถหาผู้เข้าร่วมวิจัยได้ ระยะเวลาเลยต้องถูกยืดออกไป
ด้วยความที่นักศึกษาส่วนใหญ่เป็น Full-time Educators การเรียนแต่ละวิชาของ CoE จึงเป็นภาคค่ำ ช่วงตั้งแต่ 16:30 เป็นต้นไป จนถึงดึกสุด 21:00
สิ่งที่อยากให้เตรียมรับมือคือสภาพอากาศในแต่ Quarter มีผลกับแรงผลักดันในการเรียนและเดินทางเข้าแคมปัส อย่างช่วงหน้าหนาวที่เวลากลางวันสั้นมากๆ ประมาณ 16:30 พระอาทิตย์ก็ตกแล้ว ฝนก็ตกทุกวัน อาจทำให้เกิด อาการ Seasonal Affective Disorder (SAD) ฟ้ามืดและเดินทางลำบากกว่าปกติค่ะ
ในห้องเรียนที่ UW พี่ประทับใจวัฒนธรรมการสอนที่มีความ Inclusivity และคณะให้ความสำคัญกับ Student-centeredness อย่างเห็นได้ชัด ห้องเรียนคือพื้นที่ที่โอบรับความแตกต่าง ทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่โอบรับความแตกต่าง ทุกคลาสแรกอาจารย์จะให้นักศึกษาทุกคนตั้งกฎในห้องเรียนด้วยกัน ตกลงกันเรื่องเดดไลน์ส่งงาน ถาม feedback ว่าอยากให้อาจารย์ปรับเปลี่ยนสไลด์ เพิ่มเนื้อหาตรงไหนให้เข้าใจมากขึ้นไหม หรืออยากให้ปรับเรื่องแนวการสอน แนวการให้การบ้าน แบบฝึกหัดต่างๆ
บรรยากาศการเรียนก็เป็นกันเองมาก ไม่มีกำแพงเรื่องความอาวุโส ทำให้บางครั้งนักศึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาก็สนิทกันแบบเพื่อน ไม่มีใครสนใจเรื่องพิธีรีตอง แต่ในความชิลๆ สบายๆ เขาเรียนกันแบบจริงจังและเคารพซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างระวังคำพูดไม่ให้เผลอไปเหยียดใคร และมีความรับผิดชอบต่อการเรียน ถือเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคุณภาพจริงๆ
พี่เลือกเรียนวิชาเอก Language, Literacy and Culture (LLC) เน้นการออกแบบหลักสูตรและการเรียนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สอง/ภาษาต่างประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือห้องเรียนหรือกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ จุดยืนของ LLC คือการ “decolonize ESl/EFL Curriculum” โดยการปลูกฝังให้นักเรียนภูมิใจและเห็นคุณค่าความสามารถทางภาษาของตัวเอง ในฐานะบุคคลที่พูดได้มากกว่า 1 ภาษา (Multilingualism)
กิมมิกของคณะและภาควิชานี้จะเรียกนักเรียนว่า “Multilingual Learners” แทน “English Language Learners” เพื่อตอกย้ำว่านักเรียนเป็นผู้มีความสามารถด้านการใช้ภาษา
โปรแกรม LLC มีมุมมองว่าผู้เรียนคือ “ผู้ใช้ภาษาอังกฤษที่กำลังพัฒนาทักษะภาษา” ไม่ใช่ “คนไม่เก่งภาษาอังกฤษ” ทำให้เราในฐานะครูและนักเรียนเองได้รู้ว่าพวกเขามีความสามารถในการเรียนรู้-วิจัยต่างๆ ในสาย Language Acusition ได้ บอกเลยว่าเป็นมุมมองที่ช่วยให้นักเรียนมั่นใจขึ้น มีกำลังใจเรียน ฝึกฝน และกล้าใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น
แนวคิด Decolonizing of ESL/EFL Curriculum ทำให้มองเห็นปัญหาเรื่องการใช้หลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษเป้นเครื่องมือล่าอาณานิคมทางความคิด เหยียดเชื้อชาติ-วัฒนธรรม และกดทับไม่ให้นักเรียนที่ดำเนินชีวิตนอกขนบธรรมเนียมปฏิบัติของ White Middle Class ประสบความสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นคือทำให้นักเรียนมองว่า ภาษาอังกฤษ = ภาษาผู้ดีมีการศึกษา และมองภาษาแม่ (เช่น ไทย เวียดนาม สเปน ภาษาพื้นเมือง ฯลฯ) = ภาษาป่าเถื่อนไร้การศึกษา
ตัวอย่างผลกระทบของ Colonizing of ESL/EFL Curriculum คือการที่คนไทยมองว่าคนพูดภาษาอังกฤษสำเนียงเป๊ะๆ ได้คือคนฉลาด คนเก่ง ทั้งๆ ที่ภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่ไม่สามารถบ่งบอกระดับความรู้หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของผู้พูดได้
หรืออีกตัวอย่างคือ การที่คนไทยที่เกิดและโตในประเทศไทย แต่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก หรือเรียนโรงเรียนนานาชาติาทั้งชีวิต กลับถูกบังคับให้เรียนปรับภาษา ทั้งที่คะแนน IELTS/TOEFL หรือความสามารถในการสื่อสารของเขาอาจจะสูงกว่า *Native Speakered แล้วด้วยซ้ำ (เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไมถึงเติม -ed กับคำว่า Native Speakered)
6
รีวิวตัวอย่างรายวิชา
เรียนประมาณไหน?
วิชา Multilingual Socialization And Development
สอนให้เห็นคุณค่าของ Multilingualism และตั้งคำถามว่า “ใครคือ Native Speaker(ed)?” วิชานี้เราจะได้อ่านวิจัยสาย English Language Acquisition (=การรับภาษา) เยอะมากๆ นำไปวิเคราะห์และอภิปรายกันในห้องเรียน
งานวิจัยต่างๆ ได้ยืนยันว่าความสามารถทางภาษาที่นักเรียนพูดได้อยู่แล้ว (นอกจากภาษาอังกฤษที่กำลังเรียน) ช่วยให้พัฒนาภาษาอังกฤษได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพกว่าการบังคับให้ใช้แค่ “English Only!” ในห้องเรียน ดังนั้นกลุ่มนักวิชาการในสายนี้ เช่น Django Paris และ H. Samy Alim ที่เขียนหนังสือ Culturally Sustaining Pedagogies: Teaching and Learning for Justice in a Changing World (2017) ได้ปฏิวัติการเรียนการอนภาษาอังกฤษ โดยการให้ใช้ภาษาแม่อธิบายในห้องเรียนไปด้วย ซึ่งก็คือการใช้ภาษาแบบผสม (Code Switching) เช่น พูดไทยคำอังกฤษคำ หรือสื่อสารหลายแบบประกอบกัน (Translanguaging) ในการเรียนภาษาอังกฤษ เช่น ท่าทาง สีหน้า การวาดรูป ส่งเสียงเลียนแบบ
อีกประเด็นที่น่าสนใจ “ใครคือ Native Speaker(ed)?”
นักวิชาการสายการเรียนการสอนภาษา ค้นพบว่าสถานะ “Native Speaker” คือการแปะป้ายตีตราจากรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าทักษะภาษาหรือภาษาแม่ซะอีก ดังนั้นไม่มีใครที่เกิดมาเป็น Native Speaker(ed) แต่กลับถูกให้สถานะนี้มาเพราะเชื้อชาติและประเทศที่กำเนิด เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเติม -ed
ในงานวิจัยของพวกเขากล่าวไว้ว่า คนที่มักจะถูกมองว่าเป็น Native Speaker(ed) คือคนผิวขาวที่พูด Mainstream English (=ภาษาอังกฤษกระแสหลัก) อย่าง American / British / Australian English เพราะคนมาเลเซีย สิงคโปร์ เม็กซิกัน และอื่นๆ ที่เขาเกิดมาพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกแม้ว่าในประเทศที่เขาอาศัยอยู่จะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ กลับไม่ถูกเรียกว่าเป็น Native Speakered หรือแม้แต่ชาว Asian American, African American, Latinx American, Indigenous American และอื่นๆ ก็ไม่ถูกเรียกคำนี้เช่นกันเพราะไม่เป็นคนขาว (พี่เล่าคร่าวๆ จริงๆ แล้วมีคอนเซ็ปต์มากกว่านี้อีกค่ะ)
เช่น ในบทสัมภาษณ์ชาว BIPOC American มีเขียนว่า “The English teacher started to hear my accent when she saw the color of my skin,” “My English becomes ‘broken’ just because I am African American,” และ “The teacher says that my English is not good because we speak Spanish at home while English is my first language– the only language I can speak fluently.”
อีกข้อคิดจากวิชานี้คือ ถ้าเราในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษสามารถโอบรับความหลากหลายทางภาษา และเลิกยึดติดกับคำว่า Native Speaker(ed) ได้ จะช่วยให้นักเรียนใช้ภาษาได้อย่างมั่นใจขึ้น มีกำลังใจและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาภาษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สมรรถนะทางภาษาของนักเรียน (Multilingual Competence) จะช่วยให้นักเรียน Concept หนึ่งได้ลึกกว่า และหลากหลายกว่า Monolingual English Speakers เพราะเราเข้าใจทั้งในภาษาอังกฤษ และในภาษาอื่นๆ ที่เรารู้จัก
หนึ่งใน Quote ที่พี่ชอบมากคือ “We speak English like this because we know more than one language. We speak English like this because we are not monolingual speakers. We speak English like this because we have multilingual competence. We are not native speaker(ed) and will never be because we are multilingual users of the English language.”
วิชานี้ยังฝากถึงเราอีกว่า การเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่การพูดให้ได้แบบ Native Speaker(ed) หรือสอบให้ได้คะแนนสูงๆ แต่เป็นการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสาร ค้นคว้าข้อมูล พร้อมรับมือกับโลกาภิวัตน์ เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมและต่างความคิดนั่นเองค่ะ
. . . . . . .
วิชา Immigrant Schooling และ วิชา Race, Equity, And Leading Educational Change
ตัวแรกเน้นการออกแบบหลักสูตร และตัวหลังเน้นเรื่องการสร้างนโยบาย (Policy) สำหรับกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา แต่ความคล้ายกันที่เป็นจุดร่วมของ 2 วิชานี้ คือชี้ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม (โดยเฉพาะในอเมริกา) ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ใช้ในการเรียนและการสอน ในกลุ่มนักเรียนที่เป็น Immigrant ค่ะ
นักวิชาการสายนี้บอกว่า ปัญหาการเหยียดไม่ได้หมดไป แต่เปลี่ยนรูปแบบให้เราสังเกตเห็นยากขึ้น และปัญหาในระบบการศึกษาก็คือการนิยาม Standard English หากมองเผินๆ อาจไม่เห็นว่าการสร้างมาตรฐานให้กับภาษาอังกฤษจะเป็นปัญหาตรงไหน แต่ลึกๆ English Standards ที่ถูกยกให้เป็นมาตรฐาน ก็คือ English ที่ใช้โดยชนชาติผู้ล่าอาณานิคม หรือกลุ่ม White Middle Class อย่างภาษาระดับ Academic หรือ Professional English ก็รับได้อิทธิพลจากวัฒนธรรมของชนชั้นกลางผิวขาว
ในขณะที่ Black English / Singlish (Singaporean) / Spanglish (Spanish English) ก็ถือเป็น Broken English ทั้งที่บางสำนวนการใช้ภาษาหรือรูปประโยคใน American / English British ก็ผิดกฎไวยากรณ์ แต่ไม่กลับไม่ถูกจัดให้อยู่ใน Broken English
อีกตัวอย่างคือ Research Conference ต่างๆ ที่มีนักวิชาการมานำเสนองานวิจัยของตน แต่นักวิจัยชาว African-American, Asian-American, Latinx-American หรือนักวิชาการที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ Dominant Standards กลับถูกมองว่าไม่มืออาชีพหรือไม่น่าเชื่ถือ เพียงแค่เพราะภาษาที่เขาใช้ไม่เป็นไปตามกระแสหลัก ทั้งๆ ที่เนื้อหางานวิจัยของคนกลุ่มนี้มีคุณค่าไม่แพ้กับกลุ่ม Dominant English เลย
ดังนั้นปัญหาในระบบการศึกษากดทับและกีดกันบุตรหลานของผู้อพยพ (Children of Immigrants) นักเรียนผิวสี (Student of Colors) นักเรียนจากกลุ่มผู้ถูกกีดกันทางเชิ้อชาติและภาษา (Students from Racially and Linguistically Marginalized Communities) ให้ก้าวหน้าได้ช้ากว่ากลุ่ม White Middle Class เพราะไม่มีเงินเรียนภาษาบ้าง ไม่ได้ใช้ชีวิตตามขนบธรรมเนียมของคนขาวบ้าง และไ่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ
แนวคิดนี้ไม่ได้บอกว่าเราต้องรื้อทิ้ง Standard English หรือยกเลิกการสอบอย่าง IELTS, TOEFL หรือใดๆ แต่แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมในการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาอังกฤษผ่าน Dominant English Standards ดังนั้นเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ จึงมีการเสนอให้ปรับปรุงพวก Standardized Exams โดยให้คำนึงถึงวัฒนธรรมของผู้อพยพมากขึ้น ปรับเกณฑ์ภาษาที่ใช้รับสมัครเข้าเรียน ส่งเสริมการยอมรับ Minoritized English Standards รวมถึงขยายการเข้าถึงการเรียนภาษาและปรับปรุงหลักสูตรแนวทางการสอนให้รองรับกลุ่ม Marginalized Students ให้เรียนได้ดีขึ้น
. . . . . . .
วิชา Education as a Moral Endeavor
วิชานี้ดีมากๆ และตอกย้ำสิ่งที่เล่ามาก่อนหน้านี้ทั้งหมด เขาต้องการมุ่งเน้นประเด็น “English language education as a colonial project (at least in the USA)” ได้อ่าน Classical Books ที่ Educators หรือทุกคนที่ทำงานในวงการการศึกษาต้องได้อ่าน เช่น Pedagogy of the Oppressed by Paulo Freire และ Teaching to Transgress by bell hooks (ชื่อเขียนแบบพิมพ์เล็ก)
นักวิชาการ 2 ท่านนี้กล่าวว่า ในวงการวิชาการหรือการศึกษาเน้นตีความด้วยภาษาอังกฤษยากๆ แบบ Colonial English C1/C2 นับเป็นการกีดกันให้กลุ่มคนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษตั้งแต่เกิด (Multilingual Students) เข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้นไปอีก ทั้งสองท่านจึงได้เสนอแนวทางปฏิบัติ Decolonize Education System และวงการวิชาการให้ใช้ภาษาที่ตีพิมพ์แล้วอ่านเข้าใจง่ายกว่าการใช้ภาษาซับซ้อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้กลุ่มชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน และผู้อพยพ ที่ต้องแบ่งเวลาเรียนไปทำงาน ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น
ส่วนตัวพี่เห็นด้วยมากๆ เพราะการสอนที่ดี และการเรียนรู้ได้เร็ว เกิดจากการอ่านข้อมูลที่สื่อสารตรงๆ เข้าถึงง่าย ไม่ใช่มีแต่ภาษาที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม (Jargons) อ่านแล้วงงไปหมด และถ้าอยากใช้การศึกษานำสังคมหรือขัดเกลาสังคม เราก็ต้องทำให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงการศึกษาได้ และเข้าใจสิ่งที่ครูสอนได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนค่ะ
. . . . . . .
วิชา Feminist Social Theory
เป็นวิชาที่พี่ไปลงนอกคณะเพิ่มค่ะ อาจไม่ใช่คามรู้ใหม่หรือเกี่ยวกับด้านการศึกษาโดยตรง แต่เป็นเรื่องที่พี่โฟกัส ช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ Feminism และแนวทางการนำมาปรับใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอน ESL/EFL ของเราด้วย
พี่ชอบที่วิชานี้ตอกย้ำว่า "เพศสภาพ" (Genders) ที่มนุษย์ทุกคนมีไม่ใช่เรื่องเล็ก ชีวิตเราจะดำเนินต่อไปไม่ได้หรือปัญหาจะไม่ถูกแก้ไขอย่างสมบูรณ์หากเราละเลยการพูดถึงเรื่อง “การเหยียดเพศ” หนึ่งในแนวคิดที่พี่ชอบมากของ Marxist-Feminist ก็คือการตอกย้ำว่าปัญหา Class-Race-Gender [ชนชั้นทางเศรษฐกิจ-การเหยียดเชื้อชาติ-การเหยียดเพศ] เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงกันและกัน เช่น
- คนฐานะยากจนถูกกดทับ
- หากฐานะยากจนและเป็นคนผิวสี (คนผิวสีคือทุกเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนขาว และไม่ได้จำกัดแค่คนดำเท่านั้น) จะถูกกดทับจากทั้งความจนและการเหยียดเชื้อชาติ
- หากฐานะยากจน เป็นผิวสี และเป็นหญิงข้ามเพศ ก็จะถูกกดทับทั้งจากความจน การเหยียดผิว ละการเหยียดเพศ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาทั้ง 3 ปมนี้ให้ได้ จึงจะนำมาซึ่งความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคมอย่างแท้จริง (Equity & Social Justice)
แต่ละวิชาเราจะได้เรียนทั้งทฤษฎี ควบคู่กับเรียนผ่าน Case Studies และตัวอย่างหลักสูตร (Curriculum) ที่ใช้จริงในห้องเรียน ได้เห็นตัวอย่างนโยบายของ UW และตอนท้าย Quarter ของแต่ละวิชา เราจะได้ทำโพรเจ็กต์ออกแบบหลักสูตร/เขียนเปเปอร์ว่าจะนำความรู้ไปใช้จริงในแนวทางไหน
"จะว่ายากก็ยาก หนักก็หนัก และระบบ Quarter ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว แต่พอได้เรียนสิ่งที่สนใจจริงๆ ก็เลยไม่รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก"
การเรียน ป.โท เราจะได้เน้นอ่านวิจัยหรือกรณีศึกษาต่างๆ แล้วนำมาดิสคัสกันในห้อง ทุกสัปดาห์มีบทอ่านหรืองานวิจัย 2-3 เรื่อง ถ้าหนังสือก็ประมาณ 2-5 บท และก่อนถึงคลาสต้องส่ง Reflection Essay จากที่อ่าน ความยาวประมาณ 300-600 Words (ประมาณ 0.5-2 หน้า A4)
แต่ละวิชาจะอ่านเยอะหรือมีอภิปรายมากน้อยแค่ไหน และสัปดาห์นึงเข้าเรียนกี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับหน่วยกิต ถ้าอย่าง 3 หน่วยกิตก็เรียนสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 2.5 ชั่วโมง หรือถ้า 4 หน่วยกิต เรียนสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง และ 5 หน่วยกิต เรียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมงครึ่ง โพรเจ็กต์ก็และความหนักก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหน่วยกิตเช่นกัน นอกจาก Weekly Essay ที่ต้องเขียน ก็จะมี Mid Quarter และ Final Quarter Project ส่วนมากคือการออกแบบหลักสูตรการสอน หรือการเขียนเปเปอร์จากกรณีศึกษา
เราต้องเริ่มจากตั้งหัวข้อที่ต้องการศึกษาก่อน และอ้างอิงงานวิจัยที่เราได้อ่านจากคลาสนั้นๆ บางเปเปอร์ต้องเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ หรือสังเกตการณ์ (Observation) ถ้าวิชาไหนหน่วยกิตเยอะๆ ก็จะมีโพรเจ็กต์ย่อยทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม ด้วยภาระงานเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปไวมากๆ
ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชาเอก LLC7
เหมือนกับเราได้มาเรียน
กับตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่
อาจารย์ที่สอน College of Education, University of Washington ล้วนเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการจริงๆ ในสายการเรียนและการสอนภาษาอังกฤษ เช่น "Dr. Django Paris" นักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านแนวคิด Culturally Sustaining Pedagogy หรือ Decolonize วงการการศึกษาของอเมริกา
หรืออีกสองท่านที่เป็นที่ปรึกษาของพี่ด้วย ก็คือ "Manka M. Varghese" และ "Dafney Blanca Dabach" อาจารย์ทำวิจัยเรื่องระบบการศึกษาที่กดทับ Immigrants หรือกลุ่ม MLLs และใช้การศึกษาเพื่อรณรงค์ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ด้วยค่ะ อาจารย์ทั้งสองได้นำทฤษฎีจริงๆ ของตัวเองมาใช้ในคลาส และใช้งานวิจัยของตัวเองเพื่อขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาผ่านนยโบายต่างๆ
ด้วยความที่โปรแกรมนี้เน้นเรื่องการสร้างหลักสูตรเพื่อสอนนักเรียนที่มาจากประเทศและวัฒนธรรมอื่นๆ นอกอเมริกา เพื่อนร่วมคลาสเลยมีต่างชาติเยอะมากๆ อย่างรุ่นนึงมี 30 คน เป็นต่างชาติไปแล้ว 12 คน และมีโพรไฟล์หลากหลาย ตั้งแต่ Novice Teachers ไปจนถึงครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการของโรงเรียน เราจึงได้เรียนจากความคิดและการแชร์ประสบการณ์ของพวกเขาด้วย
8
It's O.K. to Enjoy Life
Especially in U.S.A.
ทั้งในแง่การปรับตัวใช้ชีวิตคนเดียวในต่างประเทศโดยที่ไม่รู้จักใครเลยใน Seattle และเป็นในฐานะผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน และครอบครัวในไทย และช่วงที่พีคสุดคือการทำโพรเจ็กต์จบ มีเจออุปสรรคบ้างแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
และช่วงที่สนุกและชีวิตลงตัวสุดๆ ก็คือตอนปี 2 (ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่เกี่ยวกับการเรียน) หลังจากเราคุ้นเคยกับ Seattle ก็ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวบ่อยมาก มีเข้าร่วม Fulbright Enrichment Seminar, International Convention ของทุน AΔK ได้ไปเดินป่าเดินเขา และเยี่ยมนักเรียนในแคนาดา ตอนนั้นเริ่มสนุกเพราะได้สร้าง Community ของตัวเองขึ้นมา และพบเจอกับเพื่อนสนิทใน Seattle
เต็มที่กับการทำกิจกรรม
ช่วงที่อยู่อเมริกาพี่เต็มที่เรื่องกิจกรรมมากๆ ค่ะ ถ้าในเชิงวิชาการก็ได้ร่วมสัมมนางานทุน พรีเซนต์เกี่ยวกับประเทศไทย และ Workshop ทั้งออนไลน์และ On-site ที่จัดโดยทุน Fulbright และ UW
หนึ่งในนั้นคือ Fulbright Enrich Seminar เป็นกิจกรรมที่ห้ามพลาดเด็ดขาด ถ้าได้อีเมลแล้วต้องรีบสมัคร เพราะมักจะเป็นแบบ First come, first serve (สมัครก่อนมีสิทธิ์ได้พิจารณาก่อน และปิดรับเมื่อครบโควตา)
พี่ได้ทุนไปเรียนช่วงปี 2022-2024 และมีงานตอนปี 2023 ค่ะ ครั้งนั้นมี 5 หัวข้อ เกี่ยวกับ 5 อุตสาหรกรรม ได้แก่ วิทยาศาสตร์การแพทย์, สังคม, ศิลปะ, STEM และ Climate Change (=ภาวะโลกรวน) ให้เราสามารถเลือกสมัครตามสายงาน/สายเรียน โดยที่เกณฑ์ผู้ได้รับเลือกจะแตกต่างกัน อย่างสายวิทย์การแพทย์และ STEM มีผู้สมัครเยอะ จึงมีกำหนดให้ส่ง Essay และ Prioritize คนที่เรียนตรงสายนั้นๆ ก่อน
เรียกได้ว่าเป็นงาน Networking ให้เราไปเจอ Fulbrighters จากทั่วโลก มีค่าเดินทางให้ ได้รับความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับสายนั้นๆ อย่างงาน Seminar ที่พี่ไปชื่องานว่า “The Legacy of the Human Rights Movements in the USA” ได้เรียนรู้เทรนด์โลกที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ได้อภิปรายเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม และได้ฟังมุมมองอื่นจากผู้เข้าร่วม
พี่ยังมีชมรมที่เข้าบ่อยสุด เป็นชมรมของ Latinx บางทีก็ชวนกันไปเต้น Social Dance หรือจัดงาน Gala ฉลองจบเทอม มีเข้าร่วมงาน Cultural Exchange เช่น การแสดงดนตรีและเต้นพื้นเมือง แลกเปลี่ยนภาษา Potluck Party, กิจกรรมวิ่ง Half Marathon, เล่นสกีกับเพื่อนๆ, Field Trips ที่มหาวิทยาลัยจัด รวมไปถึง Workshop ให้คำปรึกษาแนะแนวนักเรียนใหม่, เทศกาลที่จัดใน Seattle ถ้าเป็นนักศึกษา UW จะได้ส่วนลดหรือบัตรฟรีเยอะมาก ซึ่ง Fulbright นับว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็น Cultural Exchange ทั้งหมดเลยค่ะ
9
ไม่ว่าจะมองในมุมไหน
การตัดสินใจครั้งนี้ก็คุ้มค่ามาก
"พี่ได้อะไรกลับมาเยอะเกินคาด โดยเฉพาะด้าน Professional Development เปิดมุมมองและความเข้าใจใหม่ๆ ของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และคอนเน็กชันของ Fulbright ถือเป็น Life-long Friendship และ Scholastic Relationship ที่จะติดตัวเราตลอดไป"
การเรียน ป.โท 2 ปีนี้ ทำให้พี่ได้ทบทวน Practice ของเรา นำความรู้กลับมาปรับใช้ทั้งกับหลักสูตรการสอน และการให้คำปรึกษาด้านการเรียนต่อให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เราได้ลบ Bias เกี่ยวกับ Standard English ได้ประสบการณ์ชีวิตที่พร้อมนำไปส่งต่อถึงนักเรียนของเราและคนรุ่นหลังๆ ที่ตั้งใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศโดยเฉพาะที่อเมริกา
ถ้าพูดถึงแง่ Professional Development พี่คิดว่าห้องเรียนและหลักสูตรการศึกษาของไทยเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่ออีกมาก เพราะยังเป็นการเรียนการสอนในแบบ Teacher-centeredness และไม่มี inclusiveness แม้เทรนด์การสอนภาษาอังกฤษจะเปลี่ยน แต่ก็ไม่ได้เน้นสอน Varieties of English Language (ความหลากหลายของภาษาอังกฤษ) และ Decolonization of Curriculum (การลดทอนแนวคิดอาณานิคมในหลักสูตรเรียน)
ในแง่การใช้ชีวิต เราได้รับรู้ความหลากหลายของมนุษย์ มีค่านิยม และนิยามคำว่า “ศีลธรรม” แตกต่างกัน แต่ก็ต้องเคารพแม้จะไม่เห็นด้วยกับค่านิยม จารีต หรือศีลธรรมนั้นๆ ก็ตาม ตราบใดที่ความแตกต่างนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ของใครเข้า และอย่าใช้ประสบการณ์ส่วนตัว หรือมุมมองแนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมจารีตที่เรายึดถือ ไปตัดสินหรือเหมารวมผู้อื่น สมมติเจอเพื่อนร่วมงานจากประเทศใดที่เห็นแก่ตัวหรือขี้เกียจ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนประเทศนั้นๆ ทุกคนจะไม่ดีเหมือนที่เราเจอ
ในแง่วิชาการ การเป็นครูภาษาอังกฤษ Educator หรือ Educational Consultant ไม่จำเป็นต้องมี ป.โท ก็สำเร็จได้ แต่การมาเรียนต่อได้ช่วยเปิดโลกและมุมมองของเราให้ได้เรียนรู้จาก Educators ด้วยกันจากประสบการณ์แตกต่างของพวกเขา บริบทสังคมที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เราได้มาแลกเปลี่ยนกัน ตรงนี้แหละที่พี่ว่าทำให้เราเป็น Educators ที่ไม่ใช่แค่สอนภาษา แต่ใช้หลักสูตรเราไปนำทางสังคมได้
10
ชีวิตในซีแอตเทิล (Seattle, USA)
และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
- ประกันสุขภาพของมหาวิทยาลัย ดีมากในแง่ของ Preventive Care คุมกำเนิดฟรีไม่จำกัดอายุ วัคซีนก็ฉีดฟรีหมดรวมถึง HPV ด้วย อย่างไรก็ตาม Healthcare เข้าถึงยากมากและแพง รอคิวนาน จากประสบการณ์คือไม่มีเภสัชแนะนำตอนจะซื้อยา อาจจะต้อง google เองว่าต้องกินยาอะไรและสั่งซื้อผ่าน delivery แทน
- สัดส่วน Immigrants ที่เป็นชาวเอเชียนเยอะมาก ดังนั้นอาหารเกาหลี จีน เวียดนาม ไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มีเยอะจนเราไม่เจอปัญหาเรื่องการคิดถึงอาหารไทยเลย จากประสบการณ์ไม่เคยถูกเหยียด เพราะประชากรที่ Seattle มีความหลากหลายสูงมาก อย่างไรก็ตาม พี่ว่า Seattle ไม่ใช่โซนที่ปลอดภัย อย่างที่หลายคนเห็นข่าวอาชญากรรมตามเมืองใหญ่ของอเมริกา ต้องระมัดระวังตัวเสมอทั้งปัญหาคนไร้บ้าน การก่ออาชญากรรม ยิ่งถ้าใครจะไป Downtown ก็ต้องระวังตัวดีๆ
- เนื่องจากมีโอกาสเกิดอันตราย คนที่นี่เลยกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว และพวกเขาอาจจะไม่ได้เฟรนด์ลี่ เพราะต่างคนต่างไม่รู้ว่าใครเป็นใครค่ะ แนะนำว่าอย่าให้เบอร์โทรหรือช่องทางโซเชียลมีเดียกับใครง่ายๆ ถ้าจะแลก Contact พี่ให้ E-mail มหาวิทยาลัยแทน รอรู้จักกันดีจนมั่นใจจริงๆ ถึงจะให้ช่องทางติดต่อส่วนตัวค่ะ
- อีกเหตุผลที่ทำให้หาเพื่อนยาก เพราะการเป็นผู้ใหญ่จะต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ครอบครัว และงานประจำ เลยไม่มีเวลาเจอเพือนใหม่ ส่วนมากพี่จะมีเพื่อนจากกลุ่ม Fulbright และ International Students ด้วยกัน พี่เองก็เป็นคนประเภท Extrovert และ Friendly มากๆ เป็นทุนเดิมเลยผ่านพ้นปัญหานี้ได้ **แนะนำให้เข้าหาเพื่อนร่วมชั้นบ่อยๆ ชวนกันไป hang out นอกเวลาเรียน
- ส่วนตัวคิดว่า Seattle เทียบได้กับเชียงใหม่ที่พัฒนาแล้ว มีทั้งโซนเมืองใหญ่และธรรมชาติ เช่น ภูเขา ทะเลสาบ น้ำตก ฯลฯ สภาพอากาศใน Seattle ก็ไม่ Extreme บางคนจะไม่ชอบเพราะฝนตก 6 เดือนใน 1 ปี (ส่วนพี่ทนฝน แต่จะไม่สู้ถ้าต้องอยู่กับอุณหภูมิติดลบหรือหิมะ)
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไม่ค่อยสะดวกเพราะมี Subway แค่สายเดียว แต่พี่พักอยู่แถวๆ มหาวิทยาลัย และมีใบขับขี่รถยนต์ของรัฐ Washington State ทำให้เช่ารถขับไปเที่ยวภูเขากับเพื่อนๆ ได้
- ทาง Seattle และมหาวิทยาลัย มีการเฝ้าระวังอย่างจริงจังเรื่องการคุกคามทางเพศหรือการเหยียดเพศ นักศึกษาใหม่ทุกคนต้องผ่านการอบรมออนไลน์เรื่อง Sexual Harassment ประมาณ 30 นาที และทำข้อสอบให้ผ่าน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถลงทะเบียนได้ค่ะ
นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมาย Sexual Harassment อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องรอใครถูกทำร้ายก่อน เพราะเพียงแค่ถูกขู่หรือถูกสะกดรอยตาม เหยื่อก็สามารถขอ Protection Order ได้ มหาวิทยาลัยก็มีสำนักงานให้ความช่วยเหลือเหยื่อ SH ด้วย และหากมีการล้อเลียนหรือดูถูกเรื่องเพศสภาพ สีผิว หรือเรื่องใดก็ตาม ผู้กระทำจะถูกสอบวินัยและลงโทษ
11
เรียนจบเริ่มโพรเจ็กต์ที่วาดฝัน
และขยายโอกาสให้ถึงผู้มีทุนทรัพย์น้อย
สำหรับงาน Thailand Regional Manager และ Study Abroad and Immigration Consulting Services พี่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2021 เพราะเราเป็นคนที่ไปต่างประเทศทีก็มักจะเจอเรื่องร้ายๆ ต้องสู้ชีวิตมาตลอด เลยอยากให้คำปรึกษาและแนะนำคนที่สนใจไปต่างประเทศ เพื่อที่ชีวิตเขาจะได้ไม่ลำบากแบบเรา
พออยู่วงการนี้ก็ทำให้รู้ว่าการจะไปเรียนต่อต่างประเทศได้ นับเป็น Previllege ของคนที่มีเงิน พี่เลยมีแพสชันอยากขยายโอกาสให้คนที่มีทุนทรัพย์น้อยเข้าถึงได้ พี่เลยเริ่มจากให้คำปรึกษาฟรี ตอนนี้ทำเอเจนซีก็ยังคงให้คำปรึกษาฟรีเช่นกัน และกำลังทำคอร์สภาษาติวฟรี ในอนาคตก็อยากมีโปรแกรมให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศด้วยค่ะ
12
ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำถึงน้องๆ
หากกำลังลังเล อเมริกา V.S. แคนาดา
ปัจจัยหลักๆ ที่ใช้ตัดสินใจ คือเรื่องโปรแกรม, ทุน, โอกาสการทำงาน/Immigration, สังคม และความปลอดภัย ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน
- เป้าหมายสูงสุดคืออะไร ถ้าอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยท็อปๆ อเมริกามีหลายแห่ง หรือ ถ้าต้องการเรียนจบแล้วอยู่ทำงานต่อ หรือสมัคร PR ที่แคนาดาจะมีโอกาสมากกว่า เพราะประเทศนี้ยังคงต้องการ Immigrants มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดแรงงานมากกว่าอเมริกา
- ลองคำนวณและประเมินเรื่องงบ ประกอบกันดูว่าที่ไหนมีทุนให้เราเยอะกว่า ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกามักแพงกว่าแคนาดา
- คิดดีๆ เรื่อง Location ที่ไป สังเกตวัฒนธรรม การเมือง สภาพความเป็นอยู่ และอย่ามองข้ามเรื่องอากาศของโซนที่เราเลือกจะไปเรียน เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างน้อย 2 ปี ถือว่ายาวนานเลยค่ะ ต้องมั่นใจว่าเราอยู่ไหวจริงๆ
- โปรแกรมที่เราอยากเรียนเด่นในมหาวิทยาลัยใด นักวิชาการดังๆ ของโปรแกรมนี้อยู่ที่ไหน เราก็ตามเขาไปเรียนที่นั่น จบมาแล้วอยากทำงานที่ไหน ก็เรียนที่นั่น เพราะมหาวิทยาลัยจะมีคอนเน็กชันหรือ Networking Event ในที่ตั้งของมหาวิทยาลัยค่ะ
0 ความคิดเห็น