สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าพูดถึงแดนภารตะหรือ "อินเดีย" ประเทศนี้ก็เป็นอีกตัวเลือกน่าสนใจหากต้องการฝึกภาษาอังกฤษในประเทศไม่ไกลจากไทย ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายสูงทั้งแง่เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งหากสนใจเรียนต่อระดับปริญญา ก็จะมี "ทุนรัฐบาลอินเดีย" (ICCR) สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐ แต่ก็มีทุนจากมหาวิทยาลัยเอกชนเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ JAIN (Deemed-to-be University) ม.เอกชนชื่อดังของอินเดีย ตั้งอยู่ที่เมืองบังกาลอร์ หรือ เบงกาลูรู (Bengaluru) เป็นทั้งเมืองมหาวิทยาลัย และเมืองทันสมัยเจ้าของฉายา Silicon Valley ของอินเดีย
และวันนี้เรามีสตอรี่จาก "พี่ญามิน" คนไทยที่ได้ทุนเต็มจำนวนของ JAIN ไปเรียนต่อ ป.ตรี สาขาธุรกิจ ซึ่งหลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปีเท่านั้น ในบทสัมภาษณ์นี้เธอจะมารีวิวชีวิตการเรียนและนอกคลาสให้ฟังแบบ 360 องศา (มีข้อมูลติดต่อที่ท้ายบทความสำหรับคนที่ต้องการปรึกษาส่วนตัว) พร้อมแล้วไปเริ่มพาร์ตแรกกันเลยค่าา~
เด็กนวมินทร์ฯ เตรียมน้อมฯ
เตรียมอ้อมไปต่อนอก!
สวัสดีค่า ชื่อ "พี่ญามิน-อะมานี อภิวัฒน์อมร" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "มิน" เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศีกษาน้อมเกล้าค่ะ
Jain University
ชัดเจนว่าใช่ แถมได้ทุนเรียนฟรี 100%
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเรียนภาษาอังกฤษที่ไทย มีโอกาสได้ใช้ในชีวิตประจำวันน้อยมาก มินเลยหาข้อมูลว่าจะใช้จังหวะช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ ม.4 พัฒนาภาษาให้ดีขึ้น แล้วตัดสินใจลงคอร์สภาษาอังกฤษที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดียค่ะ (ระหว่างเรียนเราถือโอกาสไปสำรวจมหา'ลัยด้วย หนึ่งในนั้นคือ JAIN ที่เราสมัคร ป.ตรี ในเวลาต่อมา)
จริงอยู่การเรียนภาษาที่อินเดียราคาเบากว่าถ้าเทียบกับไปประเทศอื่น แต่ผลลัพธ์ของมินเองคือสกิลฟังพูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษของเราก้าวกระโดด และกล้าสื่อสารกับอาจารย์ต่างชาติในโรงเรียนค่ะ ตอนนั้นเป้าหมายที่อยากสมัครทุนไปเรียนต่างประเทศชัดเจนขึ้น แผนสะดุดนิดนึงเพราะเจอโควิด-19 ก็เลยสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในไทยไปก่อนเทอมนึง พร้อมกับสมัครทุนไปด้วย โดยเลือกเป็นสาขา International Business ของ JAIN
ผลคือติด!!! และได้รับ offer ทุนเรียนฟรี 100% จากมหาวิทยาลัยด้วย! (เป็นทุนจากรัฐบาล SII ร่วมกับ JAIN) จุดนี้มินไม่ลังเลแล้วค่า มีแค่หวั่นๆ ว่าเรากำลังจะออกจากคอมฟอร์ตโซนครั้งใหญ่นะ เพราะจะไปเรียนปริญญาไกลบ้าน และใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลา
ขอเสริมเรื่องความเด่นของมหาวิทยาลัยค่ะ ถ้าพูดชื่อ JAIN คนที่นี่ใครๆ ก็รู้จักเพราะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนตัวท็อปของอินเดีย ดังเรื่องโอกาสจ้างงานสูง ถ้าทำผลงานและทำเกรดได้ดี จะมีบริษัทใหญ่ๆ จะเข้ามาเสนองานตั้งแต่อยู่ปี 2 อีกทั้งแคมปัสอยู่ใจกลาง "เมืองบังกาลอร์" ซึ่งก็มีข้อดีอีกเยอะมาก เช่น
- เป็นศูนย์กลางด้านไอที เพราะเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ของอินเดีย และยังแหล่งรวมมหาวิทยาลัยและโรงเรียนดังๆ ของประเทศด้วย ทำให้แม้แต่คนอินเดียต่างเมืองก็อยากมาเรียน เพื่อนๆ ที่เจอก็มาจากทั้งต่างเมืองและต่างประเทศ
- Garden City เมืองนี้ต้นไม้เยอะ อากาศดีมาก ถ้าฝนตกค่ำๆ ก็คือจะเย็นไปถึงเช้าเลย แต่อาจต้องระวังตอนหน้าหนาว เพราะอุณหภูมิต่ำสุด 14 องศา (นั่งสั่นในห้อง)
- คนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ และส่วนตัวคิดว่าเป็นสำเนียงคนที่บังกาลอร์ฟังง่าย ส่วนนี้มินจะอธิบายเพิ่มในพาร์ต #รีวิวบังกาลอร์ ตอนท้ายค่า
ตัวอย่างคณะยอดนิยมที่คนไทยไปเรีียน
1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ (BTech) เรียน 4 ปี
- วิศวฯ คอมพิวเตอร์
∟สาขา AI & Machine Learning
∟สาขา Data Analytics
∟สาขา Internet of things
∟สาขา Cyber Security
∟สาขา Cloud Technology - วิศวฯ โยธา
- วิศวฯ เครื่องกล
- วิศวฯ การบินและอวกาศ (Aerospace engineering)
2. คณะคอมพิวเตอร์ประยุกต์ (BCA) เรียน 3 ปี
- สาขา Cloud Tech
- สาขา Internet of things
3. คณะบริหารธุรกิจ BMS
- สาขา International Business (การค้าระหว่างประเทศ) 3 ปี *มินเรียนสาขานี้ค่ะ
- สาขา International Marketing 3 ปี
- สาขา Aviation Management 3 ปี
- สาขา Hotel Management 3 ปี
4. คณะวิทยาศาสตร์ BSC
- สาขา Cardiac Technology (เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก) 3 ปี
- สาขา Cancer Biology เรียน 3 ปี
รีวิวการสมัครเรียน JAIN
พร้อมโอกาสได้ทุนเซฟงบ 70-100%
ทุนนี้ดียังไง?
(อิงค่าเงิน 1 USD ≈ 32.37 บาท)
- โควตาสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ พิจารณาจากเกรดเท่านั้น ((แอบกระซิบนิดนึงว่าคนอินเดียจ่ายเต็มนะคะ อิอิ))
- ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แจ้งความประสงค์ยื่นขอทุน ในขั้นตอนเดียวกับการสมัครเรียนได้เลย แค่ทำตามขั้นตอนก็มีโอกาสได้ทุนนี้แล้วค่า
- ประหยัดได้เยอะมาก มหาวิทยาลัยจะมีทุนครอบคลุมค่าเรียน 70 ไปจนถึง 100% แต่ละปีไม่เท่ากันค่ะ จากปกติที่จ่ายปีละราวๆ 4,300 USD (≈139,200 บาท) หากได้ทุนนี้อาจจ่ายเหลือเพียง 1,800 USD หรือ 70,000 บาทเท่านั้น รวมค่าลงทะเบียนต่อปีเรียบร้อยแล้ว
และจากประสบการณ์มินคือ ถ้าไม่ผ่านวิชาไหนก็ต้องจ่ายค่าสอบและลงสอบใหม่อีกรอบ แต่ไม่ต้องเรียนอีกรอบเพื่อเก็บหน่วยกิตอีกค่ะ ค่าสอบแต่ละเทอมก็ประมาณ 500-1,000 บาทต่อ 6 วิชา ตัวเลขเป็นมิตรมากทีเดียว~
เอกสารการสมัครเรียน ป.ตรี |
มาเริ่มรีวิวชีวิตเด็กคณะบริหารกันค่ะ~
บรรยากาศแคมปัส และสังคมสุดหลากหลาย
- มินเรียนที่แคมปัสหลักของมหาวิทยาลัย ล้อมรอบโดยตึก ตึก และตึก! แต่ดีที่บังกาลอร์ต้นไม้ค่อนข้างเยอะเลยอากาศดี โดย Main Building ของมหาวิทยาลัยจะมี 8 ชั้น ชั้น 3 ที่คนพลุกพล่านสุดเพราะเป็นเหมือนโรงอาหารเล็กๆ ของมหา'ลัย พอถึงเวลาพักเบรกก็จะมาหาอะไรทานกันที่ชั้นนี้ หรือจะนั่งเม้าท์มอยตามประสาเด็ก JAIN ก็ได้ ส่วนที่ประจำเด็กคณะมินคือชั้น 4
- ด้วยความที่มหาลัยเป็นเอกชน เพื่อนๆ และสังคมที่ต้องเจอในมหา'ลัยจะต่างจากอินเดียที่เราจินตนาการไว้พอสมควร ในแคมปัสมีนักศึกษาเกิน 100+ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เนปาล UAE อเมริกา ภูฎาน โมร็อกโก โอมาน เยอรมนี และอื่นๆ และแม้จะมีเพื่อนอินเดียแต่ก็มาจากหลากหลาย บางคนโตที่ต่างประเทศ อย่างเช่นอเมริกาหรือแถบตะวันออก จบมาเรียกว่าได้คอนเน็กชัน Worldwide ไปอีก (มหาวิทยาลัยนี้ไม่มีเครื่องแบบ แต่งตัวแบบฟรีสไตล์ แต่อาจมีวันพุธที่ต้องใส่ชุด Kurta หรือชุดทางการ)
- ไม่จำเป็นต้องแย่งกันลงทะเบียนเรียน เพราะว่ามหาวิทยาลัยได้เลือกให้คุณแล้วค่ะ !! (และนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เราเรียนกันแค่ 3 ปีเท่านั้น) แต่อาจจะมีวิชาเลือกบ้างพวก วรรณกรรม ภาษาฮินดี ภาษาคานาด้า ถ่ายรูป หรืออื่นๆ ให้ลงเพิ่มความสนใจ
- เพื่อนๆ สนิทและรักกันมากเพราะเรานั่งเรียนกับเพื่อนห้องเดียวกันตั้งแต่ปี 1 ไปจนถึง ปี 3 และเรียนคลาสเล็กแค่ 30-40 คนไม่เกินนี้ ทำให้อาจารย์ดูแลและตอบข้อสงสัยของนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจารย์ที่มินเจอ ทั้งใจดีและใส่ใจชาวต่างชาติมากเพราะเขารู้ว่าเรามาไกลบ้าน // ส่วนตัวไม่เคยถูกดุเลย มีแต่เล่นมุกตลกกัน
วิชาเรียนประมาณไหน?
ที่ JAIN เราสามารถเอกหรือสาขาที่จะเรียนได้ตั้งแต่ตอนสมัคร และเริ่มเข้าเอกตั้งแต่่ปีแรกเลยค่ะ อย่างสาขา International Business ที่มินเรียนจะมีพวกวิชา International Marketing, Export and Import Procedures, Financial Accounting, Enterprise Resources Planning, Foreign Exchange Management, Environmental Studies เป็นต้น
หลักๆ เน้นเกี่ยวกับการขนส่ง การตลาด และบัญชีเป็นหลัก เหมาะกับคนที่จบไปแล้วอยากทำในบริษัทขนส่ง/ทำธุรกิจส่วนตัว เพราะอาจารย์วิชาต่างๆ เขาจะสอดแทรกสิ่งที่ควรรู้ถ้าอยากเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง (ตรงนี้มินคิดว่าดีมากกก) และในบางครั้งจะได้เรียนแบบ Combine Class กับเพื่อนเอกอื่นๆ ทำให้เราได้เพื่อนใหม่และคอนเน็กชัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนเรียนธุรกิจ
การสอบปลายภาค & เก็บคะแนน
คนอินเดียรู้ คนไทยในอินเดียรู้ ที่ประเทศนี้สอบเป็นข้อเขียนทั้งหมด! เอาง่ายๆ มหา'ลัยเน้นให้เด็กเข้าใจ จับใจความเป็น และสามารถอธิบายได้ตรงจุด การสอบจะวัดว่าเราเข้าใจสิ่งที่เรียนมาจริงๆ และนำไปปรับใช้ได้ // ตอนมินเรียนที่อินเดียมีเก็บคะแนนการสอบ 100 คะแนน แบ่งเป็น 70:30
- 70 คือคะแนนสอบ Final (ข้อเขียนล้วน)
- 30 คือคะแนนเก็บ ซึ่งจะแบ่งเป็นสอบย่อย และคะแนนนำเสนองาน (เป็นดิสคัส, งานกลุ่ม) บางครั้งอาจารย์ก็จะให้เราไปเรียนรู้สถานการณ์จริง ทำให้ได้เปลี่ยนบรรยากาศและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก
ตัวอย่างตามรูปด้านล่างเวลาสอบก็จะเป็นกระดาษคำถามแบบนี้ ให้สมุดมาหนึ่งเล่มค่ะ ซึ่งมินเห็นว่าเพื่อนอินเดียยังมีขอกระดาษเพิ่มแล้วเพิ่มอีก ดูมันส์อ่ะ // ส่วนเราคนไทยแรกๆ ก็ปรับตัวกันไป จนช่วงหลังมามินก็เขียนเยอะตาม ไม่รู้เอาจากที่ไหนมาเขียน แหะๆ
#รีวิวบังกาลอร์
และวัฒนธรรมในอินเดีย
1. ภาษาในเมืองบังกาลอร์
ตอนแรกคิดว่าเค้าพูดภาษาอังกฤษกับฮินดี (ภาษาราชการ) แต่เอาเข้าจริงเขาพูดได้หลายภาษามากๆ อินเดียแต่ละรัฐมีภาษาประจำรัฐ และแต่ละเมืองก็มีภาษาของตัวเองลงไปอีก ได้ยินว่ามีอย่างน้อย 30 ภาษา และภาษาย่อยอีก 2,000 ภาษาเลยนะ เยอะมากๆ
พอมินมาเรียนที่บังกาลอร์และเมืองอยู่ทางตอนใต้ เขามักจะใช้ภาษาประจำรัฐอย่าง "กันนาดา" หรือ ภาษากันนะฑะ (ಕನ್ನಡ) แถมบางคนพ่อแม่มาจากคนละเมือง พอมีครอบครัวลูกก็เลยพูดได้หลายภาษา เพราะแต่ละรัฐจะมีภาษาของตัวอย่าง และแตกแขนงเป็นเมืองย่อยๆ อีกต่างหาก มินเคยเจอเพื่อนที่พูดได้ถึง 6 ภาษาเลยนะ ทำคนไทยอย่างเรามึนไปตามๆ กัน
แต่ข้อดีก็คือคนอินเดียส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ ไม่แปลกใจเลยว่าเวลาคนอินเดียจะไปทำธุรกิจหรือเรียนต่อต่างประเทศ เรื่องภาษาอังกฤษไม่ใช่อุปสรรค ยิ่งโดยเฉพาะที่เมืองบังกาลอร์ ภาษาอังกฤษของคนโซนนี้ฟังง่าย เข้าใจง่าย มินเรียนภาคไทยมาตั้งแต่ มัธยมต้นก็ใช้เวลาปรับตัวไม่นาน แถมได้ยินภาษาถิ่นให้คุ้นชินขึ้นเป็นของแถมอีก แล้วการได้ใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลาทั้งในและนอกคลาสแบบนี้เองที่ทำให้สกิลเราแข็งแรงขึ้น ต่อยอดกับการทำงานได้สบายๆ
2. คนอินเดียอ่านหนังสือเก่งมาก
ร้านหนังสือก็เยอะ ราคาถูกแบบน่าซื้อมาอ่านจริงๆ ค่ะ อย่างภาพด้านล่างนี้คือร้าน Bookworm อยู่ Church Street มีเยอะทั้งหนังสือเก่าและใหม่เลย
3. สาแก่ใจสายแฮงก์เอาต์
ที่นี่จะมี "เทศกาลโฮลี" = เทศกาลแห่งสีสัน เป็นงานรื่นเริงประจำชาติที่ชาวอินเดียตั้งแต่ตั้งแต่ "รัฐปัญจาบ" ไปจนถึง "รัฐเบงกอลตะวันตก" รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะมาร่วมกันเฉลิมฉลองและละเลงสาดสีใส่กันอย่างสนุกสนาน นับเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิและเฉลิมฉลองชัยชนะของความดีที่อยู่เหนือความชั่ว
ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองไปสัมผัสบรรยากาศสักครั้งจริงๆ นะคะ โดยทั่วไปแล้วเราจะเริ่มหาบัตรและเลือกสถานที่กันตั้งแต่ประมาณมีนาคมของทุกปี บางปีมหา'ลัยอาจไม่หยุดให้ แต่เราก็สายจอยๆ อยากรู้วัฒนธรรม บอกอาจารย์ว่าวันนี้ขอลานะคะ แล้วสภาพก็เป็นอย่างที่เห็นเลยค่ะ! 555
และสำหรับสาย Hang Out ในบังกาลอร์มีร้านอาหารหรือคาเฟ่เก๋ๆ เยอะมาก (มาอยู่ 3 ปียังไปเก็บไม่หมดอ่ะ) มินคิดว่านี่เป็นอีกเหตุผลที่คนไทยที่มาบอกว่าบังกาลอร์ไม่ต่างจากกรุงเทพเท่าไหร่ แถมการเดินทางก็สะดวก มีทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตุ๊กๆ หรือแท็กซี่ ส่วนใหญ่คนที่บังกาลอร์จะนิยมไปย่าน MG Road และ Church Street
4. วัฒนธรรมเรื่องอาหาร
อินเดียนับถือศาสนาฮินดู และบางคนก็มีความเชื่อต่างกันไป บางคนกินมังสวิรัติ (Vegetarian) หรือ กินเนื้อสัตว์ (Non-Vegetarian) สิ่งนึงที่ทำให้มินตกใจคือในร้านอาหารรวมถึงในมหาวิทยาลัย จะมีขายทั้งแบบ Veg และ Non-Veg คนที่เป็น Veg ก็จะกินอาหารจำพวก แกงถั่ว กับ แป้งโรตี หรือ พวกผัดผัก กระเจี๊ยบง่ายๆ โดยไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์เลย
ตอนเรียนอินเดียมินได้พักที่หอหญิง ค่าเช่าจะรวมค่าอาหารไว้แล้ว ช่วงนั้นมินต้องปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันมากินอาหารมังสวิรัติในวันจันทร์-เสาร์ ยกเว้นแค่วันอาทิตย์ แอบเป็นเรื่องนึงที่ถ้าอยู่ไทยคงไม่ได้สัมผัสจริงๆ ค่าา 5555 (แต่มันอร่อยนะ ว่าไม่ได้!)
เมนูตัวอย่างด้านล่างนี้คือ "Vada with Coconut Chutney" เป็นแป้งทอด แบบจืดๆ ไม่ค่อยมีรสชาติ แต่พอมาจิ้มกับน้ำแกงสีเขียวๆ ก็อร่อยนัวไปอีกแบบ คนที่นี่นิยมกินเป็นอาหารเช้า คู่กับชาร้อนๆ
5. คนอินเดียเป็นคนตลก
พอได้มาคลุกคลีกับคนอินเดียแล้ว รู้สึกพวกเขาเป็นคนตลกและเฟรนด์ลี่มากกก แล้วคนอินเดียยังชอบคนไทยสุดๆ (น่าจะเพราะคุยเก่งยิ้มง่าย) ตอนมินเข้าเรียนแรกๆ จำได้เลยว่าขนาดเพื่อนต่างห้องพอรู้ว่าเรามาจากประเทศไทย เขาก็อยากรู้จักเลย แถมอาจารย์ก็ใจดีสุดๆ
อยากให้คนไทยเปิดใจให้อินเดียกันเยอะๆ
ในฐานะที่มินได้ไปเรียนและใช้ชีวิตมาพักใหญ่ๆ รู้สึกเลยว่าประเทศนี้มีมุมดีๆ คนดีๆ และวัฒนธรรมที่รอให้เราค้นหาอีกเยอะมาก อยากให้คนไทยเปิดใจให้อินเดียกันเยอะๆ และไม่อยากให้รีบตัดสินแง่ลบเพียงเพราะคอนเทนต์ที่เห็นบนในโซเชียลมีเดีย
โดยรวมมินว่าอินเดียตอบโจทย์คนชอบลุย อยากเจอเรื่องใหม่ๆ ทุกวันเป็นสีสันชีวิตไป อย่างที่คนไทยเคยพูดกันว่า “ถ้าคุณอยู่อินเดียได้ คุณอยู่ที่ไหนบอกโลกนี้ก็ได้” ถ้าน้องๆ สนใจเรียนต่อ แนะนำให้หาข้อมูลก่อนว่าอยากเรียนอะไร เมืองไหน เพราะแต่ละที่ตอบโจทย์เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน และเมื่อมั่นใจแล้วอย่าได้ลังเล เพราะความสนุกและเปิดประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ ที่อินเดียรออยู่ค่ะ
สำหรับน้องๆ ที่อยากปรึกษาเรื่องทุน หรือขอคำแนะนำ มินยินดีตอบและให้คำปรึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ขอฝากช่องทางติดต่อและ YouTube Channel ด้านล่างนี้นะคะ
- YouTube: Yamin’s unplanned journal
- Facebook Fanpage : ทุนเรียนอินเดียเรียนภาษา โดยศิษย์เก่าอินเดีย
- TikTok: ทุนเรียนอินเดีย by ศิษย์เก่า
- Instagram : amn.apih
- LINE ID: malinminnn
0 ความคิดเห็น