อธิบายละเอียดยิบ! "ค่าน้ำหนักคะแนน" ในรับตรง-แอดมิชชั่น คืออะไร ?

         สวัสดีน้องๆที่น่ารักทุกคนนะคะ ช่วงเวลาของการเตรียมตัวสอบเป็นสิ่งที่เราควรเพิ่มเติมความรู้ให้มากที่สุด ยิ่งรู้มากโอกาสชนะก็จะยิ่งมีมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับคะแนนทั้งหลาย นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคนเลยล่ะค่ะ ที่ผ่านมาน้องๆมักตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่าค่าน้ำหนักคะแนนคืออะไร? ยิ่งคิด ยิ่งงง                        


 
         วันนี้พี่เมก้าเลยถือโอกาสพามาไขข้อข้องใจกันค่ะว่า "ค่าน้ำหนักคะแนนคืออะไร?" บอกเลยว่าไม่เกี่ยวกับคะแนนถึงเกณฑ์-ไม่ถึงเกณฑ์ งานนี้อยู่ที่ฝีมือน้องล้วนๆเลยว่าตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ แล้วก็ฟิตซ้อมทำแบบฝึกหัดมาเพียงพอรึยัง เพราะถ้าขยันและเอาใจใส่มากพอโอกาสสอบติดแบบลอยลำได้เที่ยวพักผ่อนสบายใจมาถึงแน่นอน!

ทำความรู้จัก "ค่าน้ำหนักคะแนน"

         ก่อนอื่นพี่เมก้าต้องขออธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังของศัพท์คำนี้ก่อนนะคะ เพราะที่ผ่านมาน้องๆมักกังวลอยู่เสมอว่าค่าน้ำหนักคะแนนคืออะไร ถ้าทำคะแนนไม่ถึงหรือได้คะแนนน้อยจะสมัครได้มั้ย? จะถูกตัดสิทธิ์รึเปล่า? ที่มาของคำถามเหล่านี้เป็นเพราะน้องๆยังเข้าใจผิดกับคำว่าค่าน้ำหนักคะแนนและเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำอยู่ค่ะ

         ค่าน้ำหนักคะแนน คือการกำหนดค่าน้ำหนักขององค์ประกอบที่นำมาใช้ในการคำนวณคะแนนตามสัดส่วนต่างๆของการคัดเลือกบุุคคลเข้าศึกษา


         ส่วนเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ คือ การกำหนดเงื่อนไขหรือคุณสมบัติของผู้สมัครว่าต้องได้คะแนนรวมในรายวิชานั้นๆไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งค่าน้ำหนักคะแนนและเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำสามารถพบได้ทั้งในระบบรับตรงและแอดมิชชั่นนะคะ
        


 
ยกตัวอย่าง

         การสอบรับตรง กสพท มีองค์ประกอบหนึ่งที่ใช้ในการคัดเลือกคือวิชาสามัญ โดยกำหนดค่าน้ำหนักคะแนนและเงื่อนไขสำหรับผู้สมัคร ดังนี้

         1. วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) น้ำหนักคะแนน 40%
         2. คณิตศาสตร์ 1 น้ำหนักคะแนน 20%
         3. ภาษาอังกฤษ น้ำหนักคะแนน 20%
         4. ภาษาไทย น้ำหนักคะแนน 10%
         5. สังคมศึกษา น้ำหนักคะแนน 10%
         
         *ในแต่ละกลุ่มสาระวิชาต้องได้เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 30 ของคะแนนเต็ม*

         มองในส่วนของการกำหนดค่าน้ำหนักคะแนน น้องๆจะเห็นว่าแต่ละกลุ่มสาระวิชาในการสอบวิชาสามัญมีค่าน้ำหนักไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นคะแนนที่ถูกนำมาใช้ในการคิดคำนวณเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาก็จะมีสัดส่วนไม่เท่ากันตามไปด้วย เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ กำหนดค่าน้ำหนักคะแนนสูงถึง 40% คือนำคะแนนส่วนนี้มาใช้ 40% ในขณะที่วิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา กำหนดค่าน้ำหนักคะแนนเพียง 10% ก็จะนำคะแนนส่วนนี้มาใช้แค่ 10% เท่านั้นค่ะ

         ส่วนเงื่อนไขสำหรับผู้สมัคร ระบุไว้ว่าในแต่ละกลุ่มสาระวิชาต้องได้เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 30 ของคะแนนเต็ม นั่นหมายความว่า นอกจากน้องๆจะต้องทำคะแนนให้ดีแล้ว น้องๆจะต้องทำคะแนนในแต่ละรายวิชาให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ 30% เรียกได้ว่าถ้าคะแนนเต็ม 100 ก็ต้องทำให้ได้เท่ากับหรือมากกว่า 30 คะแนนขึ้นไปนั่นเองค่ะ 


ค่าน้ำหนักคะแนนในรับตรง-แอดมิชชั่น

         มาดูกันดีกว่าค่ะน้องๆว่าค่าน้ำหนักคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาทั้งระบบรับตรงและแอดมิชชั่นตามแต่ละคณะ/สาขาวิชากำหนดจะปรากฎอยู่ในรูปแบบใดบ้าง

         1. ค่าน้ำหนักผลการเรียน 5 ภาคเรียน
         2. ค่าน้ำหนักผลการเรียนของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
         3. ค่าน้ำหนักผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX)
         4. ค่าน้ำหนักผลการสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( O-NET )
         5. ค่าน้ำหนักผลการสอบความถนัดทั่วไป (GAT)
         6. ค่าน้ำหนักผลการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT)
         7. ค่าน้ำหนักผลการสอบกลุ่มสาระวิชาหลักหรือข้อสอบมหาวิทยาลัย


         ทำความรู้จักกับค่าน้ำหนักคะแนนไปเรียบร้อย น้องๆก็คงทราบแล้วว่ายิ่งเก็บแต้มคะแนนไว้สูงเท่าไหร่ก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น เพราะแต่ละวิชากำหนดค่าน้ำหนักคะแนนไม่เท่ากัน เรียกได้ว่าตามแต่ความต้องการของคณะ/สาขานั้นๆเลยค่ะว่าต้องการรับนักศึกษาเข้าเรียนด้วยคุณสมบัติใดเป็นพิเศษ บางที่อยากรับผู้เชี่ยวชาญทางวิทย์ก็ กำหนด PAT2 สูงมาก

         ดังนั้น ถ้าน้องๆมีคณะในดวงใจหมั่นศึกษาข้อมูลไว้ก่อนก็ไม่เสียหายนะคะ ลองดูว่าแต่ละคณะ/สาขาวิชากำหนดองค์ประกอบอะไรบ้างและคิดค่าน้ำหนักคะแนนเท่าไหร่จะได้เตรียมตัวเก็บแต้มคะแนนสูงๆไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสสอบติดจะได้เพิ่มตามไปด้วยค่ะ แต่พี่เมก้าขอเตือนว่ายังไงก็อย่าทิ้งส่วนน้อยนะคะ เพราะคะแนนเพียง 1 แต้มก็สามารถเปลี่ยนชีวิตคนมาได้นักต่อนักแล้วค่ะ สู้ๆ 

 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด