ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน "วิศวกรโยธา" อาชีพในฝันของเด็กไทยที่ไม่ใช่แค่สร้างตึก!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และสกู๊ปพิเศษA day in life ที่จะพาน้องๆ ไปตามติด 1 วันเต็มๆ ของอาชีพในฝัน เผลอแป๊บเดียวก็จะหมดปี 2015 แล้ว น้องๆ ม.6 ก็ต้องเตรียมตัวเข้าสู่สนามสอบใหญ่อย่างโอเน็ตที่เป็นอีกส่วนสำคัญของคะแนนที่ใช้ในการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนน้องๆ ชั้นอื่นก็เตรียมตัวสอบปลายภาค ยังไงก็ขอให้ปีหน้าเป็นที่ดีของทุกคนนะคะ ^^

สำหรับอาชีพในฝันที่นำมาฝากวันนี้ เป็นอาชีพที่มีน้องๆ ขอมาเยอะมากและขอมานานมากแล้ว เป็นอาชีพในฝันที่ติด TOP5 ของเด็กไทยแทบทุกปี แต่ยังไม่มีโอกาสเหมาะๆ สักทีที่จะนำมาฝากกัน จนในที่สุดวันนี้ก็นำมาให้อ่านกันจนได้ กับอาชีพ “วิศวกร” ค่ะ แน่นอนว่าวิศวกรมีหลายแขนงหลายสายงานมากๆ แต่ที่ฮิตฮอตเป็นที่นิยมตลอดกาล นั่นก็คือ “วิศวกรโยธา” ค่ะ

ศุภชัย เที่ยงทอง (พี่ต้น)


ปริญญาตรี : คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปริญญาโท : สาขาการออกแบบ
และวิศวกรรมการขนส่ง(MSc
Transport Planning Engineering) , University of Leeds ประเทศอังกฤษ
ปัจจุบัน : วิศวกรขนส่ง บริษัท AECOM
และ นักศึกษาระดับปริญญาเอกวิชา
วิศวกรรมขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มต้นในวัยเด็ก พี่ต้นก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัยรุ่นหลายๆ คนที่ยังไม่มีเป้าหมายแน่ชัดว่าอยากเรียนต่อด้านไหน แต่ค้นพบว่าตัวเองถนัดวิชาคำนวณ บวกกับเมื่อผ่านถนนหรือสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ก็มักจะชอบสังเกตและสงสัยว่า เอ๊ะ กว่าเค้าจะก่อสร้างออกมาเป็นแบบนี้ได้ เค้าต้องทำยังไงกันนะ? แน่นอนว่าคงไม่มีสาขาใดจะตอบโจทย์ไปมากกว่า "วิศวกรรมโยธา" และสุดท้ายก็มาสอบติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. นั่นเอง

ภาพที่คนนอกทั่วไปคิดเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา มักคิดว่าเรียนเกี่ยวกับการสร้างบ้านหรือสร้างตึกใหญ่ๆ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว วิศวกรรมโยธายังมีอีก 4 สาขาย่อย ได้แก่

โครงสร้าง เกี่ยวกับการออกแบบเสา คาน พื้น โครงสร้างเหล็ก โครงสร้างปูน เพื่อหาวัสดุและขนาดของวัสดุที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ

งานปฐพี เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ใต้ดิน ฐานราก อุโมงค์ และโครงสร้างใต้ดิน

งานขนส่ง เป็นสาขาที่เน้นการวางแผนเป็นหลักเพื่อตอบสนองนโยบายที่จะช่วยพัฒนาหรือปรับปรุงระบบการขนส่งให้ดีขึ้น เน้นไปที่การวางผัง การจราจร และการจัดการทางด้านงานจราจร

งานชลศาสตร์ เกี่ยวกับน้ำ ก็จะเป็นการป้องกันน้ำท่วม การสร้างเขื่อน การสร้าง ระบบระบายน้ำ

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะได้รู้แล้วว่า วิศวกรรมโยธานั้นยังมีสาขาย่อยอีกเพียบ! ไม่ใช่แค่ออกแบบสร้างตึกอย่างเดียว โดยสาขาที่มีคนนิยมเรียนมากที่สุด แน่นอนว่าเป็น "โครงสร้าง" นั่นแหละค่ะ เพราะตลาดงานด้วยวิศวกรรมโยธาก็ต้องการผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ มากที่สุด ซึ่งระหว่างที่เรียนปริญญาตรี นิสิตนักศึกษาก็จะได้เรียนรู้ทั้ง 4 สาขาย่อยเลยค่ะ

ใครสนใจสาขาไหนเป็นพิเศษก็มักเลือกหัวข้อนั้นๆ มาทำเป็น Thesis ก่อนจบการศึกษา พี่ต้นเลือก "งานขนส่ง" มาทำ Thesis หัวข้อเกี่ยวกับการออกแบบทางจักรยานร่วมกับทางเดินเท้า และเมื่อเรียนจบก็ได้บินไปศึกษาต่อที่ University of Leeds ในสาขาการออกแบบและวิศวกรรมการขนส่ง ใครสนใจสาขานี้ แนะนำที่ลีดส์เลย มีชื่อเสียงมากทีเดียวค่ะ

อ้อ ส่วนการฝึกงานระหว่างเรียนนั้น ช่วงปี 3 พี่ต้นได้ไปฝึกงานที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง หน้าที่งานคือ "การถอดแบบและประมาณราคา" พูดให้เห็นภาพก็คือ มีแบบก่อสร้างมา ก็จะมาพิจารณาแต่ละส่วนว่าใช้เหล็กเท่าไร ใช้ไม้ปริมาณเท่าไร เพื่อคำนวณออกมาเป็นค่าก่อสร้างอีกทีนึงค่ะ

แบบก่อสร้าง คือ แบบที่ใช้ในการสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มีรายละเอียดของแบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้างพร้อมรายการคำนวณ แบบวิศวกรรมระบบไฟฟ้า และแสงสว่าง งานระบบประปาและสุขาภิบาล โดยเขียนขึ้นมาผ่านการออกแบบของสถาปนิกและวิศวกร โดยสถาปนิกจะรับผิดชอบในส่วนของงานสถาปัตย์ เช่น ผังที่ตั้ง ผังพื้นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พื้นที่ และวิศวกรจะรับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างไฟฟ้า และสุขาภิบาล เช่น งานฐานราก เสาเข็ม ผังโครงสร้างพื้น ผังโครงสร้างหลังคา ผังวงจรไฟฟ้า ผังการเดินท่อ

เมื่อเรียนจบปริญญาโทแล้วกลับไทย พี่ต้นได้เข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งในตำแหน่ง “วิศวกรที่ปรึกษาด้านการขนส่ง” หลายคนอาจจะงงๆ ว่าวิศวกรที่ปรึกษาต่างกับวิศวกรยังไง? เอาจริงๆ แล้วก็แทบไม่ต่างกันเลยค่ะ ลงมือทำงานเหมือนกัน แถมคนที่เป็นวิศวกรที่ปรึกษา ยังต้องสามารถให้คำแนะนำได้อย่างเชี่ยวชาญอีกด้วย

ผลงานที่โดดเด่นของพี่ต้นที่เคยทำก็จะเกี่ยวข้องกับ "โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งเป็นนโยบายจากภาครัฐที่ส่งต่อมาให้ทำ เช่น ถนน A มีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก มีมลพิษสูง พี่ต้นก็ต้องศึกษาว่า การจราจรบนถนนเส้นนี้มีอัตราการปล่อยมลพิษเท่าไร จะต้องทำยังไงถึงจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้รถยนต์? พี่ต้นก็ต้องรวบรวมข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสำรวจปริมาณการเดินทางจริงเลยว่า ถนน A เป็นยังไง ช่วงไหนแออัดมากที่สุด มีปริมาณมลพิษเท่าไร เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และแบบจำลองการขนส่งที่พัฒนาขึ้นมา จากนั้น จึงนำเสนอแผนงานเพื่อลดปัญหา และประเมินผลกระทบว่าจะส่งผลดียังไงบ้าง เห็นมั้ยคะ วิศวกรโยธาไม่ใช่แค่วางแผนสร้างตึกจริงๆ นะ :)

ต่อมา พี่ต้นเข้าทำงานที่ AECOM ซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบและวางแผนก่อสร้าง สาธารณูปโภคให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอื่นๆ มีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานย่อยอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก (สุดยอดเลย) ในตำแหน่งวิศวกรการขนส่ง โดยผลงานที่กำลังรับผิดชอบอยู่ตอนนี้ บอกเลยว่าเป็นผลงานที่น้องๆ ทุกคนต้องรู้จักแน่นอน นั่นก็คือ "โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย" ที่เราจะได้ใช้กันในปี 2562 ค่ะ มาดูกันค่ะว่าขั้นตอนการทำงานของพี่ต้นนั้นทำยังไง

AECOM ออกแบบ สร้าง สนับสนุน และจัดการสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานให้กับรัฐบาล บริษัท และองค์กรในกว่า 150 ประเทศ ในฐานะบริษัทครบวงจร AECOM เชื่อมต่อความรู้และประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเพื่อช่วยลูกค้าจัดการกับปัญหาซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาคารและระบบโครงสร้างพื้นฐานชั้นสูง การฟื้นฟูชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการสร้างและรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ

ในขั้นตอนการก่อสร้างนั้น จะมี 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
การออกแบบ (AECOM ที่พี่ต้นทำงานเป็นผู้ดูแลส่วนนี้)
การควบคุมการก่อสร้าง (บริษัทอื่น)
ผู้ก่อสร้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
โดยผู้ที่ได้รับมอบโครงการนี้มาทำคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
เมื่อได้รับงานมา ทางบริษัท ช.การช่าง จะต้องหาบริษัทที่ออกแบบ และได้มาเป็น AECOM

ทางบริษัท ช.การช่าง ส่งแบบก่อสร้างเบื้องต้นมาให้พี่ต้น เรียกแบบนี้ว่า Tender Drawing ซึ่งแบบนี้จะเป็นข้อมูลคร่าวๆ ไม่ละเอียด ยังนำมาใช้วางแผนการก่อสร้างไม่ได้ พี่ต้นต้องนำแบบนี้มาตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบกับข้อกำหนดมาตรฐานการออกแบบว่าถูกต้องตามหลักวิศวกรรมมั้ย และต้องเพิ่มเติมข้อมูลที่ยังไม่ครบลงไป เพื่อให้กลายเป็นแบบก่อสร้างที่สมบูรณ์ เรียกว่า Working Drawing เช่น ตรวจสอบแนวเส้นทาง อุปกรณ์ระบบราง และการสร้างสถานีต่างๆ รวมถึงระบบรางรถไฟฟ้าต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง

กว่าจะออกมาเป็น Working Drawing นั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างโครงการรถไฟฟ้าเป็นโครงการใหญ่มาก จึงใช้เวลาเป็นปีๆ ในการสร้าง Working Drawing เลยล่ะค่ะ ซึ่งพี่ต้นไม่ได้ทำคนเดียว เนื่องจากมีงานหลายส่วน ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญและฝ่ายอื่นๆ อีกหลายท่าน

และเมื่อ Working Drawing เสร็จแล้ว ส่งกลับไปให้ทางบริษัท ช.การช่าง เพื่อนำไปก่อสร้างต่อไป

ส่วนบริษัทที่ควบคุมการก่อสร้างจะเป็นบริษัทอื่น เพราะตามข้อกำหนดระบุว่า บริษัทที่ออกแบบและบริษัทที่ควบคุมการก่อสร้าง ต้องเป็นคนละบริษัทกัน พูดง่ายๆ คือ จะได้สอดส่องซึ่งกันและกันว่าดำเนินงานเหมาะสมหรือไม่

แต่หน้าที่ของพี่ต้นก็ยังไม่หมดนะคะ ต้องมีออกไปดูที่ไซต์งานก่อสร้างเรื่อยๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง บางทีก็เจอปัญหา เช่น พอลงมือสร้างจริง เจาะเสาเข็มไม่ได้เพราะเจออุปสรรค เช่น ตำแหน่งเสาเข็มตรงระบบท่อใต้ดินอาจไม่เหมาะสม ก็ต้องเลื่อนตำแหน่งเสาเข็ม และกลับมาออกแบบแนวเส้นทางใหม่ ส่วนมากพี่ต้นจะออกไปประมาณเดือนละครั้งจนกว่ารถไฟฟ้าจะเปิดวิ่งใช้งานได้ จึงถือว่างานเสร็จสมบูรณ์

อีกโครงการหนึ่งที่พี่ต้นรับผิดชอบอยู่คือ "แผนงานกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาที่เกื้อหนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย" พูดง่ายๆ คือ จะทำยังไงให้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้งาน BTS ในการทำงานส่วนนี้ ต้องศึกษาและเก็บข้อมูลมากมาย เช่น ประเภทผู้โดยสารตามรายสถานี รูปแบบการ เดินทางของผู้โดยสาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อวิเคราะห์ว่าสิ่งใดคือปัจจัยหลักใน การตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทาง และสุดท้ายต้องสนอแนะแนวทางที่ส่งเสริมให้มีการใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เช่น การปรับปรุงทางเท้า หรือเพิ่มความถี่พร้อมปรับปรุงการให้บริการของระบบเชื่อมต่อการเดินทางมายังสถานี เช่น รถเมล์ แล้วถ้าลงมือทำแล้ว จะส่งผลต่อโครงข่ายจราจรอย่างไรบ้าง

และสำหรับหน้าที่ใน 1 วันของพี่ต้นวันนี้ เนื่องจากช่วงเย็นๆ พี่ต้นต้องออกไปดูไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายตรงสถานีหัวลำโพง ดังนั้นวันนี้จึงเป็นการเตรียมเอกสารและเช็คข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนออกไปตรวจไซต์งานของจริง โดยเฉลี่ยแล้วจะไปประมาณเดือนละ 1 ครั้งค่ะ

วิศวกรรมโยธาเป็นเรื่องของการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ต้องมีความรู้และทักษะที่เหมาะสม จึงต้องมีการสอบใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมค่ะ ใบประกอบที่ว่าก็เหมือนกับใบประกอบวิชาชีพสำหรับ การทำงานอาชีพอื่นๆ เช่น ใบประกอบโรคศิลป์ของคนที่จะทำงานเป็นแพทย์ ลองมาดูกันว่าเป็นยังไงบ้าง สำหรับวิศวกรรมโยธานั้นจะมี 3 ระดับ ได้แก่

ระดับภาคี เนื้อหาคือการออกแบบเบื้องต้น คำว่าเบื้องต้นที่ว่าก็คือมีความรู้ในเรื่องของ ความแข็งแรงในการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ ระยะร่น กฎหมายการก่อสร้าง ขอบเขตการทำงานของวิศวกร เมื่อสอบผ่านก็จะสามารถทำงานเป็นวิศวกรโยธาได้ค่ะ

ขอบเขตของภาคีวิศวกร ออกแบบและคำนวนณอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น ไม่นับรวมอาคารสาธารณะ และสามารถควบคุมการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น เป็นต้น

ระดับสามัญ หลังจากสอบระดับภาคีแล้วเข้าทำงาน จะต้องเก็บประสบการณ์การทำงาน 3 ปีใส่ในสมุดบันทึกการทำงาน จากนั้นนำมาเสนอต่อสภาวิศวกรและสอบสัมภาษณ์

ขอบเขตของสามัญวิศวกร ออกแบบและคำนวณอาคารได้ทุกขนาดรวมถึงอาคารสาธารณะ โครงสะพาน ท่าเทียบเรือ เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวิศวกรรมได้" เช่น ไม่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงโครงร้างอาคารได้ หรือหากมีอาคารถล่ม ก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้

ระดับวุฒิ จากระดับสามัญ ต้องทำงานเก็บประสบการณ์อีก 10 ปี บันทึกใส่สมุดบันทึกการทำงานและนำเสนอต่อสภาวิศวกร

ขอบเขตของวุฒิวิศวกร ทำได้ทุกอย่างรวมถึงงานให้คำปรึกษา งานอาคาร คลังสินค้า และเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น

ดังนั้นหากน้องๆ ได้ยินวิศวกรที่มีคำนำหน้าว่า วุฒิวิศวกร ก็คงเข้าใจแล้วว่าเขาเป็นใครและทำอะไรได้บ้าง

มีเหตุผล คิดแบบมีตรรกะ ถ้าถามว่าจำเป็นต้องเก่งเลขมั้ย? ไม่ต้องถึงกับขนาดคิดเลขออกหมดทุกอย่าง เพราะปัจจุบันมีโปรแกรมสามารถช่วยคำนวณแทนเราได้ แต่ก็ต้องคิดแบบมีตรรกะ เพราะถ้าไม่มีตรรกะ โปรแกรมก็คิดแทนเราไม่ได้

มีความรับผิดชอบต่องาน คน และสังคม เพราะงานของเราเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารสาธารณะ

มีความเข้าใจในหลักคณิตศาสตร์ สถิติ และฟิสิกส์ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานทางความคิดของความเป็นเหตุและผลของการออกแบบและการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณอสิ อุไรกุล Managing Director ของบริษัท AECOM ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการวิศวกรรมและมีประสบการณ์ในสายงานนี้มานานนับสิบปี ท่านได้ช่วยตอบคำถามเพื่อให้ความรู้และข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากน้องๆ ด้วยค่ะ

การจะทำงานด้านนี้ จำเป็นต้องเรียนจบจากต่างประเทศมั้ย?

คุณอสิ : ไม่จำเป็นเลย เรียนจบในไทยก็ได้ แต่หากเป็นงานที่มีความซับซ้อน ก็ควรใช้ความรู้ในระดับปริญญาโทขึ้นไปในการควบคุมงาน ดังนั้นการจบปริญญาโทจะช่วยให้สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น

หลายคนชอบบอกว่า เรียนวิศวกรรมโยธา อาจมีโอกาสตกงาน เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดี คนก็ไม่ใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อบ้าน จริงหรือไม่?

คุณอสิ : เป็นความจริงที่เมื่อเศรษฐกิจถดถอย คนก็จะใช้จ่ายเงินน้อยลง แต่วิศวกรโยธาไม่ได้ทำแค่ออกแบบบ้าน แต่ยังสามารถทำงานได้หลากหลาย หากอุปสงค์ที่อยู่อาศัยน้อยลง วิศวกรโยธาสามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนไปทำงานอื่นๆ ได้ เช่น งานวางผังเมือง งานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม งานนโยบายการจราจร ซึ่งเป็นสิ่งที่วิศวกรโยธาสามารถทำได้

ภาษาอังกฤษจำเป็นมากน้อยแค่ไหน?

คุณอสิ : จำเป็นมาก เพราะเมื่อเข้า AEC แล้ว คนที่มาจ้างเราอาจเป็นชาวต่างชาติที่เรา จำเป็นต้องสื่อสารกับเขาให้รู้เรื่อง หากใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ถือว่าเสียเปรียบมากๆ

วิศวกรผู้หญิงทำงานได้แบบเดียวกับวิศวกรผู้ชายหรือไม่?

คุณอสิ : ทำได้เหมือนกัน ไม่มีข้อเสียเปรียบ ผู้ชายทำงานออกแบบอะไรได้ ผู้หญิงก็ทำได้ เหมือนกัน ปัจจุบัน AECOM ที่ไทยก็มีวิศวกรที่เป็นผู้หญิงประมาณ 30%

วิศวกรโยธาต้องทำงานร่วมกับใครบ้าง?

คุณอสิ : ในโครงการหนึ่งที่ต้องอาศัยทีมงานหลายฝ่าย นอกจากวิศวกรโยธาแล้ว ยังมีวิศวกรอื่นๆ(วิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า) เจ้าหน้าที่ประสานงาน คนวาดแบบ รวมไปถึงทีมงานเบื้องหลังอย่างฝ่ายบัญชี ฝ่ายไอที ฝ่ายทรัพยพากรบุคคล ที่ต้องทำงานร่วมกัน

และสำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นวิศวกร พี่ต้นฝากบอกว่า อยากให้น้องๆ หาแรงบันดาลใจเพื่อกระตุ้นตัวเองให้มากๆ เช่น เวลาผ่านสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ก็ลองมองหรือสังเกตว่ามันเป็นยังไง ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง เป็นอาคารคอนกรีตหรือเป็นโครงสร้างเหล็ก เขาน่าจะออกแบบและก่อสร้างกันแบบไหน มีขั้นตอนอย่างไรกว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ได้ และรับรองว่าเมื่อมีแรงบันดาลใจแล้ว การสอบเข้ามาเรียนด้านวิศวกรรมโยธาก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ ^^

เป็นยังไงบ้างคะกับ A Day in Life ของวิศวกรโยธา อีกอาชีพในฝันในใจของน้องๆ หลายคน บอกเลยว่าพี่เองก็คิดมาตลอดว่าวิศวกรโยธานั้นสร้างตึกอย่างเดียว ที่ไหนได้ พอได้พูดคุยกับพี่ต้นแล้วได้ทำให้เปิดหูเปิดตาเข้าใจงานสายนี้มากขึ้นมากๆ เลยค่ะ ทางเว็บไซต์ Dek-D.com ต้องขอขอบพระคุณคุณศุภชัย เที่ยงทอง(พี่ต้น) และ คุณอสิ อุไรกุล ที่ให้โอกาสทีมงานได้เข้าพบพูดคุย ส่วนตอนหน้า A Day in Life จะพาน้องๆ ไปตามติดอาชีพอะไร อย่าลืมติดตามกันนะคะ

**สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสั่งซื้อสมุด Dek-D.com และ เข็มกลัด เข็มกลัดแอดมิชชั่น 'จงติด' จาก Dek-D.com ได้แล้ววันนี้ ที่ www.dek-d.com/store

ภาพประกอบส่วนหนึ่งจาก
http://www.pixabay.com

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Thikamporn Insawang Member 26 ธ.ค. 58 12:40 น. 3

ตอนแรกอยากเป็นหมอคะ มโนว่าตัวเองชอบชีวะ แต่จริงๆๆไม่ใช่เลยหลอกตัวเองทั้งหมด มันลยเริ่มจากตอนนี้ชอบวิชาฟิสิกมากๆๆ ชอบอะไรที่คำนวนเพราะมันท้าทายเรามาก แบบสูตรแค่1บรรดทัดมันสร้างโจทย์ได้เป็นหมื่นเป็นแสนข้อ ทำให้มีความสนใจด้านนี้ เลยรอเลือกมาทางวิศวะ ทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นไปมาก จากเด็กที่ไม่มีอะไรแน่นนอนเรื่องความฝันวันนี้สามารถตอบทุกคนได้แล้วว่าอยากเป็น วิศวะโยธามีคนเคยบอกว่าหมอห่วยๆๆคน1ทำคนตายแค่1คย แต่วิศวะห่วยๆๆ1คนทำคนตายเป็น1000ได้ หลังจากอ่านบทความจบ ยังความรู้สึกเดิมคืออยากเป็นวิศวะโยธา ตอนแรกคิดว่าวิศวะโยธาเรียนแค่สร้างตึกแต่พออ่านบทความแล้วรู้สึกมันไม่ใช่แค่นนั้น คิดว่าวิศวะโยธาเป็นตัวเลือที่ดีมากอย่างหนึ่ง แม้ทุกวันนี้อยากขอโทษที่ไม่อยากเป็นหมอแต่สุดท้ายแล้วสมองมันก็เลือกที่จะแพ้หัวใจเพราะเราอยากเป็นวิศวะ

1
WinterBear_yONE Member 20 เม.ย. 63 02:10 น. 3-1

ตอนนี้เรียนวิศวะหรอคะ รู้สึกยังไงบ้างทั้งกาารเรียนการทำงานและสิ่งที่อยากทำตอนนี้ค่ะ อยากได้คำแนะนำ

0
กำลังโหลด
Watcharawee 4 ก.พ. 59 08:26 น. 13
ผมเป็นวิศวกรโยธาอยู่ในบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ในงานวิศวกรโยธาที่แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่งานตึกครับ มันคืองานโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน ทางยกระดับ เขื่อน ทางรถไฟ ฯลฯ ซึ่งงานของวิศวกรโยธาจริงๆนั้นหมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นมาให้คนทุกคนได้ใช้ เช่น ถนน ลองนึกภาพดูว่า ถนนวิภาวดีรังสิตเนี่ยผู้ที่ใช้รถยนต์สัญจรผ่านไปมาแต่ละวันเท่าไร พูดตรงๆว่าคนที่ไม่เคยใช้ถนนวิภาวดีรังสิตนั้นน้อยมาก ในการก่อสร้างนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานทั้งหมด แต่ว่าก่อนจะมาก่อสร้างล่ะ ต้องคิดว่าเราจะตัดถนนผ่านเส้นทางไหนให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระบทน้อยที่สุด ปริมาณการจราจรเท่าไร จะใช้ถนนกี่เลน แล้วก็นำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณออกแบบทางวิศวกรรม จนได้ออกมาเป็นแบบรูปและข้อกำหนดต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการประมูลงาน พอได้ผู้ชนะการประมูลก็ถึงจะเริ่มในขั้นตอนของงานก่อสร้าง ในขั้นตอนการก่อสร้างนั้นนอกจากความรู้ทางด้านวิศวกรรมที่วิศวกรทุกคนต้องมีนั้นยังไม่เพียงพอ วิศวกรที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างต้องมีความรู้เรื่องการบริหารด้วยครับ เพราะเรื่องหลักๆของงานก่อสร้างคือเรื่อง คน เงิน และอุปกรณ์ครับ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องมีการตรวจรับและส่งมอบงาน เลยอยากบอกน้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิศวกรรมโยธาและน้องๆมัธยมที่อยากเรียนสาขานี้ ในห้องเรียนนั้นน้องจะได้เรียนรู้หลักการทางวิศวกรรมทุกอย่าง และเวลาไปทำงาน หลักการนี้ต้องนำไปใช้ทุกอย่างและคุณต้องต่อยอดด้วยความรู้ด้านการบริหาร ใครที่บอกว่าในห้องเรียนกับการทำงานนั้นไม่เหมือนกันหรอก อย่าไปเชื่อนะครับ เพราะความรู้ที่เรียนมานั้นแหละ มันเหมือนดาบของเราที่จะนำไปสู้กับคนอื่นเขา เด็กจบใหม่แรกๆนี่จะบอกว่าความรู้ที่เรียนมานั้นส่งคืนห้องเรียนไปหมดแล้วไม่ได้นะครับ ขนาดผมทำงานมี 4 ปีแล้วยังต้องนั่งอ่าน เอาแบบฝึกหัดเก่าๆสมัยเรียนมานั่งทำเพื่อเป็นการลับดาบของตัวเองให้คมอยู่ตลอดเวลาครับ สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ข้อความหนึ่งนะครับ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ฝากไว้ให้ผมสมัยฝึกงาน "เป็นวิศวกรที่ดีแล้ว ต้องเป็นนักบริหารที่ดีด้วย" ขอให้น้องๆที่ศึกษาอยู่ทุกคนจบออกมาเป็นวิศวกรที่ดีในอนาคตต่อไปครับเยี่ยม
1
กำลังโหลด

22 ความคิดเห็น

pinmimimakuro 25 ธ.ค. 58 16:20 น. 1
ตอนนี้เราอายุ12 ค่ะเรารู้ตัวตั้งแต่เข้ามัธยมว่าชอบวิศวะเพราะพ่อเป็นวิศวะ #วิศวะไฟฟ้า แล้วบางทีพ่อก้ต้องไปดูงานบางทีเราก้รออยู่หน้าตึกที่สร้างบ้างจอนนั้นและค่ะเราถึงรุ้สึกว่าตัวเองมีความสุขที่ได้สังเกตการออกแบบส่วนประกอบของตึก แต่คือเราเรียนเลขไม่เก่งค่ะ T^T ภาษาอังกฤษก้พอได้แค่นิดดเดียว #นิดเดียวจริงๆ แต่เราเป็นคนเรียนด้านภาษาค่ะ #จีนกับญี่ปุ่นนิดหน่อย อย่างนี้เรามีหนทางจะเป็นไหม???[jj-008ตั้งใจ
2
สกูปปี้ดู Member 28 ธ.ค. 58 09:54 น. 1-1
เลขสำคัญมากเลยค่ะน้อง ถ้าไม่ชอบก็เรียนได้นะคะ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจกับมันให้ได้มากที่สุด เพราะวิศวะแต่ละสาขา ต้องเจอแคลคูลัสแน่นอน อย่างน้อย 3-4 ตัว ซึ่งแคลคูลัสเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นฐานในการคำนวณของวิชาอื่นๆ ที่จะต้องเรียนต่อไป ยังไงก็สู้ๆนะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Thikamporn Insawang Member 26 ธ.ค. 58 12:40 น. 3

ตอนแรกอยากเป็นหมอคะ มโนว่าตัวเองชอบชีวะ แต่จริงๆๆไม่ใช่เลยหลอกตัวเองทั้งหมด มันลยเริ่มจากตอนนี้ชอบวิชาฟิสิกมากๆๆ ชอบอะไรที่คำนวนเพราะมันท้าทายเรามาก แบบสูตรแค่1บรรดทัดมันสร้างโจทย์ได้เป็นหมื่นเป็นแสนข้อ ทำให้มีความสนใจด้านนี้ เลยรอเลือกมาทางวิศวะ ทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นไปมาก จากเด็กที่ไม่มีอะไรแน่นนอนเรื่องความฝันวันนี้สามารถตอบทุกคนได้แล้วว่าอยากเป็น วิศวะโยธามีคนเคยบอกว่าหมอห่วยๆๆคน1ทำคนตายแค่1คย แต่วิศวะห่วยๆๆ1คนทำคนตายเป็น1000ได้ หลังจากอ่านบทความจบ ยังความรู้สึกเดิมคืออยากเป็นวิศวะโยธา ตอนแรกคิดว่าวิศวะโยธาเรียนแค่สร้างตึกแต่พออ่านบทความแล้วรู้สึกมันไม่ใช่แค่นนั้น คิดว่าวิศวะโยธาเป็นตัวเลือที่ดีมากอย่างหนึ่ง แม้ทุกวันนี้อยากขอโทษที่ไม่อยากเป็นหมอแต่สุดท้ายแล้วสมองมันก็เลือกที่จะแพ้หัวใจเพราะเราอยากเป็นวิศวะ

1
WinterBear_yONE Member 20 เม.ย. 63 02:10 น. 3-1

ตอนนี้เรียนวิศวะหรอคะ รู้สึกยังไงบ้างทั้งกาารเรียนการทำงานและสิ่งที่อยากทำตอนนี้ค่ะ อยากได้คำแนะนำ

0
กำลังโหลด
สุภัทรชัย 26 ธ.ค. 58 20:56 น. 4
ผมอยากเป็นวิศวะกรโยธาครับ เพราะว่ามีหลายด้านที่ทำให้อยากเป็นครับ คือผมเป็นคนเก่งคณิตศาสตร์,ฟิสิกส์,เคมี และพ่อผมก็เป็นวิศวะกรโยธาเหมือนกันครับ
1
โยธา ม.น. 4 ก.พ. 59 08:01 น. 4-1
พี่ว่าน้องโชคดีนะมีคนที่เป็นผู้แนะนำสอนน้องได้ทุกเรื่องอย่างคุณพ่อน้อว ถ้าอยากเป็นก็คงไม่ยากอะครับถือว่าดำเนินรอยตามคุณพ่อได้เลยเย้
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Kanun Ha Member 26 ธ.ค. 58 21:21 น. 6

พออ่านบทความนี้จบแล้วรู้สึกว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่เก่งคณิต ฟิสิกส์ อะไรพวกนี้ แต่ถ้ามีใจรักและขยันเราว่าทำได้เเน่นอน เราเลยรู้สึกว่า เอ่อเราต้องขยันให้มากกว่านี้อ่ะ เพื่อจะได้ทำใจสิ่งที่ตัวเองรัก รู้สึกว่าอาชีพนี้มันเท่ห์จริง5555 และคิดว่าเราต้องขยันให้มากกว่านี้ เพราะว่า

I wanna be a engineer. 

0
กำลังโหลด
Member 26 ธ.ค. 58 21:50 น. 7

 กดเข้ามาอ่านจากเพจเด็กดีในเฟสค่ะ รู้สึกว่าพออ่านจบแล้วก็รู้เรื่องนี้เพิ่มขึ้นจากที่เข้าใจตอนแรกมากเลย คนรอบตัวเราส่วนใหญ่จะบอกว่าเรียนวิศวะจบไปจะตกงาน แต่เราก็อยากเรียนอยู่ดีนะ55555 เราคิดว่าอาชีพนี้มันเป็นอาชีพที่ดูสนุกแล้วก็ท้าทายดี ยิ่งพอมาอ่านบทความแบบนี้แล้วยิ่งทำให้มองคนที่เป็นวิศวกรเท่ไปเลย จะเก็บคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปคิดเป็นตัวเลือกนะคะXD

0
กำลังโหลด
Nadcha 26 ธ.ค. 58 22:44 น. 8
เราก้อเห็นพ่อเพื่อนเค้าไปต่างประเทศบ่อยพอรู้ว่าเป็นวิศวะแค่คะว่า"วิศวะ"ก้ออยากเรียนแล้วยิ่งรู้ว่ามีไปต่างประเทศยิ่งอยากเรียนเราก้อเป็นคนที่แบบพ่อทำงานอยู่อู่เรือซ่อมเรือเราชอบน้ะ มองไปรอบๆว่าโรงงานนี้มีอะไรบ้างมีห้องกี่ห้องตรงนี้กระเบื้องแน่นไหม เสาตรงนู้นมันแข็งไหม ถึงเขาจะบอกยากแต่ถ้าไม่ลองก้อไม่รู้ว่าอยากไหม ใจร้กค้ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Watcharawee 4 ก.พ. 59 08:26 น. 13
ผมเป็นวิศวกรโยธาอยู่ในบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ในงานวิศวกรโยธาที่แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่งานตึกครับ มันคืองานโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน ทางยกระดับ เขื่อน ทางรถไฟ ฯลฯ ซึ่งงานของวิศวกรโยธาจริงๆนั้นหมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นมาให้คนทุกคนได้ใช้ เช่น ถนน ลองนึกภาพดูว่า ถนนวิภาวดีรังสิตเนี่ยผู้ที่ใช้รถยนต์สัญจรผ่านไปมาแต่ละวันเท่าไร พูดตรงๆว่าคนที่ไม่เคยใช้ถนนวิภาวดีรังสิตนั้นน้อยมาก ในการก่อสร้างนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานทั้งหมด แต่ว่าก่อนจะมาก่อสร้างล่ะ ต้องคิดว่าเราจะตัดถนนผ่านเส้นทางไหนให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระบทน้อยที่สุด ปริมาณการจราจรเท่าไร จะใช้ถนนกี่เลน แล้วก็นำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณออกแบบทางวิศวกรรม จนได้ออกมาเป็นแบบรูปและข้อกำหนดต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการประมูลงาน พอได้ผู้ชนะการประมูลก็ถึงจะเริ่มในขั้นตอนของงานก่อสร้าง ในขั้นตอนการก่อสร้างนั้นนอกจากความรู้ทางด้านวิศวกรรมที่วิศวกรทุกคนต้องมีนั้นยังไม่เพียงพอ วิศวกรที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างต้องมีความรู้เรื่องการบริหารด้วยครับ เพราะเรื่องหลักๆของงานก่อสร้างคือเรื่อง คน เงิน และอุปกรณ์ครับ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องมีการตรวจรับและส่งมอบงาน เลยอยากบอกน้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิศวกรรมโยธาและน้องๆมัธยมที่อยากเรียนสาขานี้ ในห้องเรียนนั้นน้องจะได้เรียนรู้หลักการทางวิศวกรรมทุกอย่าง และเวลาไปทำงาน หลักการนี้ต้องนำไปใช้ทุกอย่างและคุณต้องต่อยอดด้วยความรู้ด้านการบริหาร ใครที่บอกว่าในห้องเรียนกับการทำงานนั้นไม่เหมือนกันหรอก อย่าไปเชื่อนะครับ เพราะความรู้ที่เรียนมานั้นแหละ มันเหมือนดาบของเราที่จะนำไปสู้กับคนอื่นเขา เด็กจบใหม่แรกๆนี่จะบอกว่าความรู้ที่เรียนมานั้นส่งคืนห้องเรียนไปหมดแล้วไม่ได้นะครับ ขนาดผมทำงานมี 4 ปีแล้วยังต้องนั่งอ่าน เอาแบบฝึกหัดเก่าๆสมัยเรียนมานั่งทำเพื่อเป็นการลับดาบของตัวเองให้คมอยู่ตลอดเวลาครับ สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ข้อความหนึ่งนะครับ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ฝากไว้ให้ผมสมัยฝึกงาน "เป็นวิศวกรที่ดีแล้ว ต้องเป็นนักบริหารที่ดีด้วย" ขอให้น้องๆที่ศึกษาอยู่ทุกคนจบออกมาเป็นวิศวกรที่ดีในอนาคตต่อไปครับเยี่ยม
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด