จัดเต็ม! รวมเทคนิคสัมภาษณ์แอดฯ กลางให้ผ่าน + ไอเดียตอบคำถามให้ถูกใจกรรมการ

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com บทความแนะนำเทคนิคการสอบสัมภาษณ์เวียนมาบรรจบทุกปีค่ะ เพราะไม่ว่าระบบแอดมิชชั่นจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง ก็ยังต้องมีการสอบสัมภาษณ์อยู่ดี และสำหรับการสัมภาษณ์แอดมิชชั่นปี 2559 ก็จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้แล้ว
 

 

       พี่มิ้นท์ก็ต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับน้องๆ ที่มีรายชื่อติดสัมภาษณ์ด้วยนะคะ เพราะเท่ากับว่า 90% เรามีที่เรียนแล้วค่ะ อีก 10% ก็เผื่อไว้สำหรับการดูเรื่องบุคลิกภาพจากการสอบสัมภาษณ์นั่นเอง ซึ่งมักมีคำถามว่าแล้วจะมีการตกสัมภาษณ์หรือเปล่า ขอตอบให้สบายใจไว้เลยว่าแทบจะไม่มีคนตกสัมภาษณ์รอบแอดมิชชั่นกลางเลย ถ้าไม่วิกลจริต หรือ ดูแล้วมีปัญหาหรืออุปสรรคกับการเรียนในคณะนั้นๆ เอาล่ะ หวังว่าน้องๆ คงพร้อมแล้วกับการสอบสัมภาษณ์ในคณะที่ตัวเองได้เลือกไว้นะคะ ไปดูคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้สัมภาษณ์ผ่านฉลุยกันเลยจ้า

     บรรยากาศวันสัมภาษณ์
         สำหรับใครที่ไม่เคยผ่านสนามสอบสัมภาษณ์มาเล้ยยยย พี่มิ้นท์จะเล่าบรรยากาศคร่าวๆ ให้ฟังค่ะ (คิดว่าเป็นเหมือนกันทุกที่นะ) บรรยากาศวันสัมภาษณ์ พอน้องๆ มาถึงที่คณะ จะมีรุ่นพี่ปี 2-4 มาคอยต้อนรับน้องๆ ตั้งแต่หน้าประตูคณะเลย เพื่อพาน้องๆ ไปยังจุดลงทะเบียนแยกตามสาขา และไปห้องรวมเตรียมตัวสัมภาษณ์  ระหว่างนี้น้องๆ ก็จะได้เจอเพื่อนๆ ที่มาสัมภาษณ์ในเอกเดียวกัน รุ่นพี่ก็จะอยู่ในห้องเดียวกับเราคอยดูแลความเรียบร้อยค่ะ พี่ๆ ก็จะชวนคุย เล่านู่นเล่านี่ให้ฟังไปพลางๆ
 

 

        เมื่อถึงเวลาอันสมควร นาฬิกาบอกเวลาว่าเริ่มสัมภาษณ์ได้แล้ว พี่ๆ ก็จะเรียกน้องๆ ตามลำดับเพื่อพาไปยังห้องสัมภาษณ์ ที่จะอยู่อีกห้องนึงค่ะ ถ้าในห้องมีโต๊ะสัมภาษณ์ 5 โต๊ะ ก็อาจจะเรียกคนที่ 1-10 มา โดย 5 คนแรกก็จะถูกพาเข้าห้องไม่มีเวลาได้เตรียมตัวเตรียมใจ ส่วน 5 คนที่เหลือก็จะนั่งรอหน้าห้อง เตรียมเป็นชุดๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่านักเรียนจะหมด
        ส่วนในห้องสัมภาษณ์ ให้นึกสภาพห้องใหญ่ๆ แล้วจะมีโต๊ะเรียงกันสัก 3-10 ตัว (แล้วแต่คณะ ถ้านักเรียนเยอะ อาจารย์ก็ต้องมาช่วยๆ กันเยอะหน่อย 555) แต่ละโต๊ะจะมีอาจารย์ 2-3 ท่านค่ะ พอน้องๆ เดินเข้าห้องมาแล้ว ก็เดินมาที่โต๊ะได้เลย จากนั้นก็จะเป็นวินาทีโซโล่ชีวิตของน้องๆ ค่ะ
        เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ เดินออกนอกห้อง น้องๆ ก็จะได้รับกำลังใจอันเต็มเปี่ยมพร้อมกับคำถามที่พรั่งพรูมากมายจากเพื่อนหน้าห้องค่ะ ซึ่งตรงนี้ น้องๆ อยากจะแชร์ประสบการณ์ในห้องสัมภาษณ์ให้เพื่อนๆ ฟังก็ทำได้นะคะ ขอแค่อย่าเสียงดังรบกวนให้ได้ยินไปถึงห้องสัมภาษณ์ก็พอ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเวลา เพราะต้องไปตรวจร่างกาย หรือ ไปกรอกเอกสารเพิ่มเติมนั่นเอง แต่บางคนก็ช็อกจากคณะกรรมการในห้องจนพูดไม่ออกก็มี
 
  
การเตรียมตัวออกจากบ้าน
        ไม่ต้องถึงขนาดก้าวเท้าซ้ายออกจากบ้านตามความเชื่อโบราณหรอกค่ะ สัมภาษณ์รอบแอดมิชชั่นกลางไม่ต้องถือเคล็ดอะไรขนาดนั้น สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการเตรียมความพร้อมของตัวเองและเตรียมเรื่องเอกสารค่ะ (ตรงนี้สำคัญกว่าเยอะ) รวมทั้งไปให้ถูกสถาบัน ถูกเวลา และอย่ามัวหลงรุ่นพี่หน้าตาดีจนไปผิดคณะนะคะ 555

       เอกสารที่น้องๆ ต้องใช้ในวันสัมภาษณ์มีดังนี้
         1. ใบสมัครแอดมิชชั่นที่มีรายชื่อ 4 อันดับที่เราเลือก ติดรูปมุมบนขวามือให้เรียบร้อย
         2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
         3. สำเนาทะเบียนบ้าน
         4. วุฒิบัตรการศึกษา ได้แก่ ใบระเบียนผลการเรียนที่มีการลงนามรับรอง+ประทับตราโรงเรียน  และประกาศนียบัตรจบ ม.6
         5. หลักฐานอื่นๆ ที่ สอท. ประกาศไว้ในระบบหลังการประกาศ อาทิ ใบรับรองแพทย์ (บางมหาวิทยาลัย)


 

 

   คำถามยอดฮิต (ติดที่ไหนก็มีสิทธิ์ถูกถาม)
        เอาล่ะ มาถึงช่วงที่น้องๆ อยากรู้ที่สุด ก็คือ อาจารย์จะถามอะไรเราบ้าง แล้วจะมีวิธีตอบยังไงให้ดูดี ดูมีคุณค่า ให้คณะดีใจที่ได้เราเข้าไปเรียน พี่มิ้นท์ได้รวบรวมคำถามมาไว้ให้แล้วค่ะ

   1. ทำไมถึงเลือกคณะนี้
        คำถามเบสิคที่ได้เจอทั้งรอบสอบตรงและแอดมิชชั่น เพราะทุกคณะที่เราเลือกมีที่มา คงไม่มีใครที่ไม่รู้จะเรียนอะไรแล้วเลือกมามั่วๆ ใช่มั้ยคะ ดังนั้น คิดและเรียบเรียงให้ดีก่อนพูด ตอบให้กระชับ ได้ใจความ และมีเหตุผลเชิงบวกมากที่สุด ประเภทที่ว่า "ไม่รู้จะเรียนอะไร"  "แม่เลือกให้"  "เห็นว่าเรียนง่าย" คำตอบพวกนี้หลีกๆ ก็ดีนะคะ เพราะดูแบบไม่เห็นคุณค่าของคณะที่เราสอบติดเลย (แม้ว่าอาจจะมีคนมีเหตุผลตามนี้จริงๆ)
       แล้วตอบยังไงดี? ตอบให้เห็นเชิงแรงบันดาลใจ อยากทำงานด้านนี้ อยากเป็นแบบไอดอลคนนี้ อยากเก่ง อยากพัฒนาประเทศอะไรก็ว่าไป คือ พูดให้มองเห็นอนาคตมากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราวางแผนมาแล้ว และเรากำลังจะเลือกให้คณะนี้เป็นเส้นทางสู่อนาคตของเรานั่นเอง เห็นมั้ย..ตอบซะสวยเลย
       คำถามข้อนี้ พี่มิ้นท์มองว่าเป็นคำถามเปิดประเด็นเลยนะคะ ถ้าตอบได้ประทับใจ ก็คุยกันถูกคอแน่นอน แต่ถ้าตอบไม่ดี อาจได้เห็นอาจารย์หน้าบึ้งแล้วยิงคำถามใส่เป็นชุดก็ได้

   2. ไม่ได้เลือกไว้อันดับหนึ่งนี่นา?
        อูยยย ถ้ายิงมาแบบนี้แอบขนลุกเบาๆ ค่ะ แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินเหตุ อาจารย์อาจจะอยากลองใจเราดูก็ได้ค่ะ แม้คณะที่ติดจะเป็นอันดับ 2 3 หรือ 4 แต่อย่างน้อยก็เป็นคณะที่เราคัดมาจากหลายพันคณะเลย ดังนั้นตอบไปด้วยความมั่นใจว่า "ไม่ว่าจะติดอันดับไหนหนู/ผม ก็ดีใจทั้งหมดค่ะ/ครับ เพราะเลือกมาอย่างดีแล้ว และการที่ติดคณะนี้ ก็ดีใจไม่แพ้อันดับ 1 เลย"
        สิ่งที่ขออย่างเดียวจากคำถามนี้คือ อย่าหลงกลคำกดดันค่ะ บางทีถ้าน้องๆ หวังอันดับ 1 ไว้มากแต่พลาด แล้วมาร้องไห้กลางห้องสอบ เท่ากับเราไม่ได้มีความสุขที่ติดคณะนี้ แต่ถึงยังไงก็ตาม พี่มิ้นท์ขอให้ไม่เจอคำถามนี้นะคะ เพราะเราจะติดอันดับ 1 กันค่ะ เย้^^

   3. ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
        กิจกรรมเป็นตัววัดอะไรหลายๆ อย่างในตัวเราได้ค่ะ ที่สำคัญคำถามนี้เป็นการบอกนัยๆ ว่า เรียนมหาวิทยาลัยก็กิจกรรมเยอะนะ ทั้งรับน้องมหาวิทยาลัย รับน้องคณะ กิจกรรมกีฬาต่างๆ ถ้าเราไม่เคยทำกิจกรรมอะไรมาเลย เราจะปรับตัวได้หรือเปล่า
        คำถามนี้ใครที่ทำกิจกรรมจนเป็นเจ้าแม่ไปแล้ว ก็คงสบายใจได้ แต่สำหรับใครที่ไม่เคยทำกิจกรรมระดับใหญ่ๆ เลยก็ไม่ต้องตกใจค่ะ เราสามารถหยิบงานเล็กๆ น้อยๆ ตำแหน่งเล็กๆ ของเรามานำเสนอได้อย่างภาคภูมิใจเหมือนกัน เพราะขึ้นชื่อว่ากิจกรรม ต้องทำเป็นทีม ถ้าเราได้เป็นหนึ่งในนั้นก็ถือว่า เราเป็นฟันเฟืองนึงที่ทำให้งานสำเร็จได้ค่ะ เช่น ในงานกีฬาสี แค่ขึ้นแสตนด์หรือทำพร็อพประกอบการแสดง ก็ถือว่าเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้นๆ แล้ว แล้วก็บอกไปว่า การที่เราได้ทำงานในกิจกรรมนั้นๆ เรารู้สึกยังไงบ้าง และได้รับประโยชน์อะไร

    4. วัดกึ๋นความรู้วิชาการ
        สยองแต่มีจริงๆ ค่ะ แต่ขอบอกว่าแล้วแต่ดวงด้วย ถ้าอาจารย์จะถามกึ๋นทางวิชาการ ก็จะเป็นเนื้อหาที่เราเรียนมาแล้วที่อาจจะต่อยอดกับคณะนั้นๆ ได้ ยกตัวอย่างที่พี่มิ้นท์อ่านรีวิวเจอมาบ่อยๆ ก็เช่น เอกภาษาไทย เอกวรรณคดี ก็จะถูกถามเรื่องวรรณคดีค่ะ ว่าเคยเรียนอะไรมาบ้าง ชอบเรื่องไหน เพราะอะไร ไหนเล่าเรื่องย่อซิ เอิ่มม....
        ข้อนี้ไม่มีคำแนะนำอะไรมากค่ะ เพราะขึ้นอยู่กับความรู้ส่วนตัวล้วนๆ แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าเราตอบไม่ได้ อย่าเพิ่งร้องไห้ หน้าเบะใส่อาจารย์ ให้ใจเย็นๆ ค่ะ แล้วบอกไปว่า ไม่ค่อยแน่ใจในคำตอบ แต่ว่าถ้าได้เข้ามาเรียนแล้ว จะต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกเยอะๆ ค่ะ

    5. เรียนจบไป จะไปทำอะไร
         คำถามนี้ฟังดูปราณีกว่าข้ออื่นๆ นะคะ โดยเฉพาะน้องๆ ที่เลือกเข้าในคณะทางวิชาชีพ หมายความว่า เรียนจบอะไรมาก็ไปทำงานนั้น เช่น จบเภสัชก็ไปเป็นเภสัชกร จบครุศาสตร์ ก็ไปเป็นคุณครู แต่น้องๆ สามารถเพิ่มรายละเอียดให้ดูน่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีกค่ะ เช่น อยากเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาล เพราะได้ทำงานกับบุคลากรหลายวิชาชีพ หรือ อยากไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา อยากให้เก่งภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ เป็นต้น

         ส่วนคณะที่เป็นกลุ่มวิชาการ ที่สามารถเอาความรู้ไปประกอบวิชาชีพอะไรก็ได้ ก็คงต้องคิดเยอะกันหน่อยค่ะ แม้ข้อดีของคณะกลุ่มนี้คือ ทำงานได้หลากหลาย แต่ถ้าไม่มีเป้าก็ทำให้เราล่องลอยได้นะ เช่น กลุ่มคณะอักษรฯ-มนุษยฯ สามารถทำงานได้หลากหลายมากกกก จะไปเป็นนักเขียน ล่าม ผู้ประกาศ คุณครู พนักงานบริษัทเอกชน หรือ รับราชการก็ได้ ดังนั้น คิดไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าอยากทำอาชีพอะไร แล้วก็อาจจะหยอดไปด้วยว่า รู้สึกว่าคณะนี้จะทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้ค่ะ
    

 

   6. ดูเกรดแล้ว ไม่น่าจะเรียนไหวนะ
       ออกตัวแรงให้ได้ช็อกกันอีกรอบ บางทีการได้เกรดน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความรู้นะคะ (หลายโรงเรียนกดเกรดกันนี่เนอะ) ดังนั้น ถ้าอาจารย์พูดแบบนี้มา ก็ไม่ต้องไปคิดมาก สอบติดมาได้ขนาดนี้แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป the show must go on! เท่านั้นค่ะ ความจริงเราไม่มีทางรู้อนาคตล่วงหน้าหรอกว่า 4 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง แต่บอกอาจารย์ไปเลยว่า "เข้าคณะในฝันได้ทั้งที ต้องเรียนไหวแน่นอนค่ะ/ครับ" และอาจจะหยอด (อีกแล้ว) อีกนิดว่า "และหนูมั่นใจด้วยว่า จะทำเกรดให้ดีกว่า ม.ปลาย ด้วยค่ะ" พูดซะขนาดนี้ ถ้าอาจารย์ไม่หลุดยิ้มกรุ้มกริ่ม ก็ถือว่าจิตแข็งมากเลยค่ะ อิอิ
    
  
  7. มีอะไรจะถามไหม
        หลังจากนั่งเป็นหุ่นตอบคำถามมานาน คำถามสุดท้ายอาจจะเหนือความคาดหมายเล็กน้อย อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการสัมภาษณ์หลายๆ ท่านมักจะปิดการสนทนาด้วยคำถามนี้ค่ะว่า "มีอะไรจะถามไหม" นี่เป็นโอกาสดีค่ะที่เราจะได้สอบถามอาจารย์ในคณะโดยตรง อะไรที่ออกจากปากอาจารย์เชื่อถือได้แน่นอนค่ะ แต่ก็มีข้อแม้ว่า ควรเป็นคำถามที่มีสาระค่ะ ประเภทที่ว่า อาจารย์ดูหนังเรื่องล่าสุดอะไรคะ อาจารย์ว่าหนูสวยพอจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ได้หรือเปล่า พี่มิ้นท์ไม่แนะนำเลยค่ะ อาจารย์อาจมอบสายตาพิฆาตกลับมาได้
        แล้วคำถามแบบไหนล่ะ? ควรเป็นคำถามที่แสดงความสนใจเกี่ยวกับการเข้ามาเรียนในคณะนั้น หรือ การเตรียมตัวเพื่อเรียนมหาวิทยาลัย เช่น เรียนคณะนี้ต้องเตรียมตัวภาษาอังกฤษเยอะมั้ยคะ จะได้กลับไปอ่านเพิ่มเติมค่ะ, อาจารย์มีคำแนะนำเกี่ยวกับการอยู่หอมั้ยคะ, วิชาเอก วิชาโท ในคณะ มีอะไรบ้างคะ เป็นต้น เห็นมั้ยว่า ตัวอย่างคำถามแบบนี้ อาจารย์ได้ยินต้องปิ๊งปั๊งเราแน่นอน เพราะเราแสดงให้เห็นว่าเราสนใจและพร้อมที่จะเรียนคณะนี้จริงๆ
    
        เป็นยังไงบ้างคะ กับ 7 คำถามที่คนเข้าสอบสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะได้เจอ คำถามส่วนใหญ่จะเป็นคำถามปลายเปิด ให้เราได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ค่ะ ดังนั้น ถ้าเราคิดอะไรออกก็ตอบไปเลยด้วยความมั่นใจ อย่าถามคำตอบคำ อาจารย์ถามมาซะยาว ตอบ "ค่ะ" คำเดียว เป็นใครก็ไม่ปลื้ม

        ส่วนเทคนิคอื่นๆ ที่พี่มิ้นท์อยากฝากทิ้งท้าย คือ ฝึกยิ้ม ยิ้มเยอะๆ สบตาอาจารย์ แต่งตัวให้เรียบร้อย และซ้อมแนะนำตัวเองไปตั้งแต่เนิ่นๆ เลยค่ะ ยังไงก็ได้แนะนำตัวเองอยู่แล้ว และฝากอีกนิดนึงคือ สำหรับคณะที่มีจุดเด่นเป็นพิเศษ ก็เตรียมตัวล่วงหน้าไปได้เลย เช่น สอบเข้าสายภาษา อาจถูกสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ  กลุ่มคณะสังคมฯ รัฐศาสตร์ อาจจะถูกถามเรื่องข่าวสารบ้านเมืองบ้าง หรือ คณะพยาบาล ก็พยายามดูแลความสะอาดตัวเองให้น่ามอง เพื่อเสริมบุคลิกภาพของเราค่ะ... หวังว่าน้องๆ อ่านจบแล้ว คงมีไฟในการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์มากขึ้นนะคะ มีเวลาอีกสัปดาห์กว่าๆ สู้เค้าค่ะ ต้องทำได้ ต้องทำได้!!
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
Arrowzshower Member 6 มิ.ย. 59 14:07 น. 4
ตอนสัมภาษณ์แอดโดนข้อ1,3,4,7 ถามเรื่องกิจกรรมเยอะมาก มีถามเรื่องสูตรฟิสิกส์ด้วย ตอบไม่ได้ แต่ก็ติดครับ 55555
0
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
SoundOfSiren Member 5 มิ.ย. 59 22:33 น. 2

สู้บอสตัวสุดท้ายมาได้ยังต้องมาวิ่งหนีปราสาทล้มอีกหรอเนี้ย (ถอนหายใจ)

ร้องไห้ร้องไห้ร้องไห้ร้องไห้

กลัวไม่ผ่านสัมจัง

ร้องไห้ร้องไห้ร้องไห้ร้องไห้

2
กำลังโหลด
lll-MiNt-lll Columnist 6 มิ.ย. 59 11:19 น. 3-1
ไม่จำเป็นค่ะ รอบแอดกลาง กรรมการไม่ค่อยดูพอร์ตค่ะ แต่ถ้าเรามีความสามารถอะไรที่อยากให้ดูเป็นพิเศษ จะพกไปด้วยก็ได้ค่ะ
0
กำลังโหลด
Arrowzshower Member 6 มิ.ย. 59 14:07 น. 4
ตอนสัมภาษณ์แอดโดนข้อ1,3,4,7 ถามเรื่องกิจกรรมเยอะมาก มีถามเรื่องสูตรฟิสิกส์ด้วย ตอบไม่ได้ แต่ก็ติดครับ 55555
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ลิตเติ้ลลิตเตอร์ 10 มิ.ย. 59 19:18 น. 6
ถ้าเปลี่ยนชื่อต้องเอาใบเปลี่ยนชื่อไปไหมคะ??? แต่เปลี่ยนตั้งหลายปีแล้ว แล้วชื่อปัจจุบันก้ต้องกับในเอกสารแล้วก้ใบสมัครด้วย จำเป็นต้งเอาไปไหมคะ??
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด