ไม่รู้จะเริ่มอ่านยังไง มาทางนี้! รวมเทคนิคเตรียมสอบ GAT, PAT 1, PAT 2 (ครบทุกพาร์ท)


          วัสดีค่ะ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา พี่แป้งแอบส่อง Hash Tag #GATPAT ในทวิตเตอร์ เห็นน้องๆ ม.6 ส่วนใหญ่ไม่ไปโรงเรียน บางห้องมีคนมาเรียนแค่คนเดียวเอง ไม่ต้องเดาเลยค่ะว่าไปไหน สมัครสอบ GAT PAT 1/60 กันนี่เอง เป็นศึกแรกที่เด็ก ม.6 ต้องแย่งชิงสนามสอบ โดยเฉพาะสนามใหญ่ที่ผ่านรถไฟฟ้าหรือติดแอร์จะเต็มเร็วมาก ถึงแม่ช่วงแรกเว็บจะล่มแต่ก็ไม่ยอมแพ้ วัดกันที่ความเร็วอินเตอร์เน็ตกันเลย

           เชื่อว่าน้องหลายคนคงสมัครเรียบร้อยแล้ว ยังไงก็อย่าลืมเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งนะคะว่าสนามสอบถูกต้องตามที่เลือกหรือไม่ สมัครไปแล้วก็ต้องกลับมาเตรียมตัวอ่านอีกครั้ง หลายคนได้ไปลองสนามสอบมาบ้างแล้ว รู้จุดอ่อนของตัวเองก็กลับมาเตรียมตัวเพิ่มได้ แต่ถ้าใครยังไม่รู้จุดอ่อนหรือไม่รู้จะเริ่มต้นอ่านยังไง พี่แป้งได้รวบรวม
เทคนิคเตรียมสอบ GAT, PAT 1, PAT 2 มาฝาก จัดครบทุกวิชาให้เอาไปลองปรับใช้กัน มีเทคนิคอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
 

 
GAT เชื่อมโยง

เทคนิคคว้า 150 คะแนนเต็ม GAT เชื่อมโยง

           ข้อสอบ GAT เป็นข้อสอบที่ในรอบแอดมิชชั่นใช้ทุกคณะ ในรอบรับตรงส่วนใหญ่ก็ใช้ น้องๆ จึงทุ่มให้กับการสอบ GAT มาก ซึ่ง GAT แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท คือเชื่อมโยง กับภาษาอังกฤษ แบ่งเป็นพาร์ทละ 150 คะแนน การที่จะทำให้ได้ GAT เยอะๆ วิธีการที่มีผลมากที่สุดคือการทำให้ GAT เชื่อมโยงได้เต็ม 150 คะแนนให้ได้

           GAT เชื่อมโยงเป็นข้อสอบฉบับเดียวที่ "ตอบถูกได้คะแนน ตอบผิดติดลบ" โดยข้อสอบมักจะเป็นบทความเกี่ยวกับข่าวหรือเหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นบทความแบบไหน หลักการทำข้อสอบก็เหมือนกันหมด ต้องเข้าใจสัญลักษณ์ A D F และ 99H และฝึกทำโจทย์เก่า แนะนำว่าไม่ต่ำกว่า 10 ชุด อ่านรายละเอียดการฝึกทำโจทย์เพิ่มเติม
คลิกที่นี่

เทคนิคจำสัญลักษณ์ GAT เชื่อมโยง By อ.ขลุ่ย

           อย่างที่พี่แป้งบอกไปแล้วว่า หลักการทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยง จะเหมือนกัน สิ่งสำคัญที่น้องๆ ต้องเข้าใจก่อนคือ สัญลักษณ์ ของข้อสอบ หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสัญลักษณ์แต่ละตัวมีความหมายว่าอย่างไร ซึ่ง อาจารย์ขลุ่ย ณภัทร รอดเหตุภัย ได้ให้เทคนิคการจำสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้ดังนี้

           A         เกรดที่เราชอบจึงอยาก "ทำให้เกิด"
           F         เป็นสิ่งที่เกลียดจึงอยากฆ่า "ห้าม ลด ยับยั้ง ป้องกัน ขัดขวาง"   
           D         ลูกตุ้มมี "คุณสมบัติ ลักษณะ องค์ประกอบ"
           99H     "ไม่ส่งผลใดๆ"

           การจำสัญลักษณ์ได้อย่างแม่นยำและใช้ให้ถูก ก็มีชัยไปเกินครึ่งแล้วล่ะค่ะ อ.ขลุ่ย บอกไว้ว่า วิชา GAT เชื่อมโยงเป็นการประมวลความรู้ทางการอ่านวิเคราะห์ จับประเด็น ตีความ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ฯลฯ ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้มาโดยตลอดตั้งแต่ระดับประถมศึกษาแล้ว ดังนั้นการฝึกฟังหรืออ่านจับใจความ อ่านหรือฟังข่าว และอ่านหนังสือสอบไม่ว่าจะวิชาใดก็ตาม ย่อมเป็นการฝึกสมองเราให้เฉียบคมได้มากเลย ยังมีเทคนิคอื่นจาก อ.ขลุ่ย ในการทำข้อสอบ  GAT เชื่อมโยง อีก
คลิกเลย

จุดดับหักแต้ม GAT ไทยที่ ม.6 ตกม้าตาย By ครูทอม

           นอกจากเราจะรู้ว่าข้อสอบ GAT เชื่อมโยงเป็นแบบไหน สัญลักษณ์มีอะไรบ้าง อีกเรื่องที่เราต้องรู้คือ จุดที่มักจะพลาดในข้อสอบ GAT เชื่อมโยง เพราะความโหดของข้อสอบ GAT เชื่อมโยงคือ ถ้าตอบผิดโดนหักคะแนน มีหลายคนที่พลาดไม่ได้เต็มเพราะตอบผิด แบบนี้เจ็บใจกว่าไม่ตอบอีก อุตส่าห์นั่งฝนดันผิดซะงั้น แต่เรื่องนี้มีทางแก้ค่ะ ครูทอม จักรกฤต โยมพยอม หรือ ครูทอม คำไทย ได้ให้เทคนิคในการทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยง ไว้ พร้อมเผยจุดที่เด็กไทยมักจะพลาดจนเสียคะแนนในข้อสอบ อ่านแบบละเอียด คลิกที่นี่
 

 
GAT ภาษาอังกฤษ

เทคนิคการจำ + ทำข้อสอบ GAT Eng 

         อีกพาร์ทนึงของข้อสอบ GAT คือภาษาอังกฤษ เป็นข้อสอบที่น้องๆ หลายคนออกมาจากห้องสอบแล้วรู้สึก Blank มาก ที่อ่านมาคืออะไร แล้วข้อสอบคืออะไร ทำไมคุณต้องหลอกดาว ที่ดาวอ่านมาไม่ออกเลย ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำข้อสอบ GAT Eng มีเทคนิคในการจำส่วนที่สำคัญของแต่ละพาร์ทอยู่ค่ะ เราไปเริ่มกันทีละพาร์ทเลย


ทดสอบ Icon Speaking and Conversation
         เป็นพาร์ทที่พี่แป้งชอบมาก เพราะสามารถเดาได้ ซึ่งข้อสอบพาร์ทนี้มีทั้ง Conversation แบบสั้นและแบบยาว แต่ข้อดีคือเดาได้ง่ายจากบทสนทนาตัวต่อ เป็นอีกพาร์ทที่เก็บคะแนนเลยค่ะ แล้วพาร์ทนี้จะใช้ศัพท์ไม่ยากมาก เน้นเป็นภาษาพูดมากกว่าคำเลิศหรู เก็บพาร์ทนี้ได้ง่ายจากการฝึกทำโจทย์เลยค่ะ


ทดสอบ Icon Vocabulary
           พาร์ทปราบเซียนจริงๆ สำหรับพาร์ท Vocabulary พาร์ทนี้ไม่ใช่แค่จำศัพท์อย่างเดียวจะช่วยได้นะคะ ต้องอาศัยประสบการณ์ได้ การที่เราตะลุยจำศัพท์แบบรัวๆ เลยแต่ไม่ได้ลองใช้ ลองทำ ยังไงมันก็ลืม เหมือนเราเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 แต่ก็เหมือนจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่เพราะเราไม่ได้มีโอกาสฝึกใช้นั่นเอง

           แต่พาร์ทนี้ก็มีหลักในการท่องศัพท์อยู่ค่ะ ศัพท์ที่ออกบ่อยๆ ก็เช่น ศัพท์เกี่ยวกับสุขภาพ (Health: Illness, Injuries, Medicine) เทคโนโลยีและการสื่อสาร (Communication and Technology: City life, Transport, Internet) เกี่ยวกับสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Social Concerns : Education, Economics, Environment, Global problems) ยังไงก็ลองไปฝึกท่องดูนะคะ


ทดสอบ Icon Structure and Writing
           เป็นอีกพาร์ทที่ยากมากกกกกกกกก (ก.ไก่ กี่ตัวก็ไม่พอ) เป็นพาร์ทที่วัดความสามารถในเรื่องของไวยกรณ์ ซึ่งไม่ได้มีแค่ 12 Tenses แต่เป็นทั้งหมดที่เรียนมา ถามว่าจำได้มั้ย บางทีเรียนไม่รู้เรื่องด้วย พาร์ทนี้มีข้อสอบที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดคือ Error Identification ที่สอบเสร็จแล้วเอ๋อกันไปข้างนึงเลย เทคนิคในการเตรียมพาร์ทนี้คือ เวลาที่ฝึกทำให้เก็บประเด็นที่เราไม่ได้ แล้วไปทำความเข้าใจ สุดท้ายกลับมาทำข้อสอบชุดเดิมใหม่ จะช่วยให้จำได้เร็วขึ้นค่ะ


ทดสอบ Icon Reading Comprehensive
           เป็นข้อสอบที่เราต้องสู้กับแรงโน้มถ่วงของเปลือกตา อ่านไปครึ่งนึงก็ง่วงแล้ว ที่พีคกว่าคือ อ่านไปถึงบรรทัดสุดท้ายก็ลืมพารากราฟแรกแล้วอะ สุดท้ายเรื่องนี้กล่าวถึงอะไรไม่รู้เลย ข้อสอบพาร์ทนี้มักจะถามใจความสำคัญของเนื้อเรื่อง, ถามการสรุป, ถามจุดประสงค์/ ทัศนคติผู้เขียน เทคนิคการทำข้อสอบพาร์ทนี้มีเยอะมากค่ะ น้องๆ อ่านเพิ่มได้ที่
"เทคนิคโกยคะแนน GAT Eng (Reading)" จัดครบทุกประเด็นสำหรับข้อสอบ Reading Comprehensive

 
PAT 1

           มาต่อกันที่ข้อสอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งวิชาที่น้องๆ สอบกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสายวิทย์หรือสายศิลป์ก็ตาม ถ้าสอบ GAT + PAT 1 ก็สามารถยื่นเข้าได้หลายคณะแล้วค่ะ แต่ด้วยความเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ถ้าคนชอบก็คือชอบ แต่ถ้าไม่ชอบก็คือไม่เอาเลยอะ เรียนเท่าไหร่ก็ไม่ได้ จะมาเก็บครบทุกเรื่องของวิชาคณิตก็คงไม่ไหว พี่แป้งมีเทคนิคเด็ดจากพี่ Sup'K คือ "6 บทคุ้มค่าใน PAT 1 หากฝึกมาได้คะแนนกลับไปชัวร์ By ครู Sup'K" ถ้าไม่รู้จะเก็บเรื่องไหน ก็อ่าน 6 บทนี้ อย่างน้อยก็มีคะแนนแน่นอน

           1. สถิติ
           2. กำหนดการเชิงเส้น
           3. ภาคตัดกรวย
           4. ตรรกศาสตร์
           5. ระบบจำนวนจริง
           6. เส้นทำนาย

           นอกจาก 6 เรื่องนี้แล้ว พี่ Sup'K ยังฝากเทคนิคในการทำข้อสอบส่วนอื่น ทั้งเรื่อง ฟังก์ชัน, ความน่าจะเป็น และ แคลคูลัส เอาไว้ให้ด้วย รวมทั้งมีไม้ตายพิชิต PAT 1 ฝากให้น้องๆ ไปตามอ่านกันได้เลย
คลิกที่นี่

 
PAT 2

          แค่เห็นว่าเป็น PAT 2 ก็ไม่อยากอ่านต่อแล้ว แต่น้องๆ สายวิทย์ที่จะสอบเข้าคณะสายวิทย์ ยังไงก็ต้องใช้ค่ะ โดยเฉพาะคนที่อยากเข้าคณะเภสัชศาสตร์ ที่รอบแอดมิชชั่นใช้คะแนน PAT 2 สูงถึง 40% ซึ่งลำพังตัวเลขคะแนนก็ต่ำอยู่แล้ว ยังให้สัดส่วนสูงอีก แล้วหนูจะไปโกยคะแนนได้ยังไงละคะพี่ขาาาาา ... แต่ยังไงก็ต้องสู้กันสักรอบ พี่แป้งขอแยกเป็นรายวิชาเลยค่ะ

ทดสอบ Icon PAT 2 วิชาฟิสิกส์
           เริ่มที่วิชาที่มีน้องๆ ชอบตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเรียน เรียนแล้วเอาไปใช้อะไร เรายังไม่อยากรู้หรอกว่ากระแสไฟฟ้าวิ่งยังไง กระแสเท่าไหร่ เราจะอยากรู้แค่เวลาไฟดับ เมื่อไหร่มันจะติดสักที ถูกมั้ย? แต่ยังไงก็ต้องสอบค่ะ ยิ่งใครที่จะเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ บอกเลยว่าต้องเจอฟิสิกส์ไปทั้งชีวิต

           อ.เผ่า หรือ นพ. ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ โรงเรียนกวดวิชาแอพพลายด์ฟิสิกส์ มีเทคนิคดีๆ ในการทำข้อสอบฟิสิกส์มาฝากน้องๆ ด้วย เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัย "การจัดการความคิดอย่างเป็นระบบ" เพราะฟิสิกส์เป็นเรื่องใกล้ตัวและเชื่อมโยงกันหมด สิ่งสำคัญของการทำข้อสอบฟิสิกส์คือ ต้องจับ Concepts และสูตรสำคัญ ให้ได้ วิธีการเป็นแบบไหน ตามไปอ่านต่อได้เลย
คลิกที่นี่

ทดสอบ Icon PAT 2 วิชาเคมี
           ต่อกันที่วิชาเคมี เป็นวิชาที่พอยิ้มได้บ้าง (หรอ?) เทคนิคการทำข้อสอบส่วนของเคมี โดย ครูกฤตน์ ชื่นเป็นนิจ สถาบันกวดวิชาเคมี เคมีก้า มีหลักการง่ายๆ คือ "ไม่จำเป็นต้องใช้สูตร" เอ๊ะ คืออะไร ในเมื่อวิชาเคมีเป็นวิชาที่สูตรเยอะมาก ถ้าไม่ใช่สูตรแล้วจะทำยังไงได้ล่ะ?

           ครูกฤตน์ อธิบายว่า สูตรทางเคมีคำนวณเกือบทั้งหมดนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เราทำงานได้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้การทำงานของเราถูกต้องมากขึ้น ปัญหาของน้องๆ ที่บอกว่าเคมียากก็เพราะว่าไปเสียเวลาจำสูตร แต่สุดท้ายก็นำไปใช้ไม่เป็น เพราะฉะนั้นให้น้องๆ เอาเวลาไปทำความเข้าใจหลักการง่ายกว่าค่ะ อ่านเพิ่มเติม
คลิกที่นี่

           นอกจากนี้ ครูกฤตน์ มีบทที่ออกสอบเยอะในวิชาเคมีมาฝากน้องๆ ด้วย ไปดูกันเลย
 


ทดสอบ Icon PAT 2 วิชาชีววิทยา
           วิชาสุดท้าย วิชาชีววิทยา ที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบใช้ความจำ วิชานี้ถือว่าเป็นวิชาที่ยากมาก เป็นวิชาต้องเน้นทั้งความเข้าใจและการจำ ในส่วนของคำนวณจะน้อยกว่าวิชาฟิสิกส์และเคมี เทคนิคในการเตรียมสอบชีวะโดย พี่วิเวียน นพ. วีรวัช เอนกจำนงค์พร สถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ คือ "สร้างความเข้าใจ+มองให้เป็นภาพ" เช่น หัวใจ หลอดเลือด เส้นเลือด  เปรียบเสมือนกับ "ปั๊มน้ำ ท่อน้ำ น้ำประปา" เทียบง่ายๆ คือ หัวใจ=ปั๊มน้ำ หลอดเลือด=ท่อน้ำ เส้นเลือด=น้ำประปา ทำงานร่วมกันอยู่ นี่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย น้องๆ สามารถเก็บเทคนิคจากพี่วิเวียนแบบเต็มๆ ได้เลยที่
"บทที่ออกบ่อยในรอบ 6 ปี ของชีวะ PAT 2"
 


           นี่ก็เป็นเทคนิคการเตรียมสอบ GAT, PAT 1, PAT 2 ที่พี่แป้งรวบรวมมาให้ ใครที่ยังไม่ได้เริ่มอ่านเลยต้องเริ่มได้แล้วนะคะ ข้อสอบ GAT PAT เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการชี้ชะตาเลยว่าเราจะได้ไปเรียนที่คณะไหน

           ส่วนใครที่จะสอบ GAT PAT แต่ยังไม่ได้สมัครก็รีบเลยค่ะ มีหลายคนที่ลืมสมัครหรือสมัครแล้วไม่จ่ายเงิน สุดท้ายไม่ได้สอบ รับตรงส่วนใหญ่จะใช้ GAT PAT รอบแรก ถ้าไม่ได้สอบก็เสียโอกาสไปเยอะเลยค่ะ ยังไงก็ขอให้น้องๆ สู้หน่อยนะคะ เหนื่อยแค่ปีเดียว สอบติดคณะในฝันให้ได้ สู้ๆ จ้า

 
 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด