เสริมเทคนิค+กำลังใจ จาก "พี่เจลลี่" ก่อนลุยสอบวิชาเฉพาะแพทย์ กสพท 60


          สวัสดีค่ะ เพิ่งผ่านการสอบ GAT PAT ไปไม่นาน ก็มาถึงอีกหนึ่งสนามสอบที่น้องๆ หลายคนเตรียมตัวกันมานาน สำหรับสนามสอบ กสพท. ซึ่งวันเสาร์ที่จะถึงนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งการสอบสำคัญ ที่เป็นคะแนนส่วนหนึ่งของการสอบนี้เลย นั่นก็คือ การสอบวิชาเฉพาะแพทย์ ค่ะ

          วันนี้พี่อีฟเลยขอพาไปรู้จัก Admission Idol ของเรา ที่เคยผ่านสนามสอบ กสพท. มาแล้ว สำหรับ พี่เจลลี่ ณัฏฐ์ชุดา จิรธนานุวงศ์ พี่อีฟเชื่อว่าน้องๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดหลายคน อาจจะกลัวว่า เราเก่งไม่สู้เด็ก กทม. เลย และยิ่งในสนามสอบที่มีการแข่งขันสูงอย่าง กสพท. ด้วยแล้ว อาจทำให้น้องๆ หลายคนถอดใจ แต่สิ่งเหล่านี้ ยิ่งทำให้แอดมิชชั่นไอดอลของเราคนนี้ มีความพยายามมากกว่าเดิม และไม่ยอมแพ้กับความฝันของตัวเองค่ะ และความสำเร็จในวันนี้ น่าจะเป็นสิ่งยืนยันถึงความพยายามนี้ได้ดี
 

          ใครอยากรู้ว่าเคล็ดลับของพี่เจลลี่จะมีอะไรบ้าง รีบตามพี่อีฟไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

 แนะนำตัวกับน้องๆ หน่อยค่ะ
          สวัสดีค่ะ ชื่อ เจลลี่ ณัฏฐ์ชุดา จิรธนานุวงศ์ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาด้วยระบบ กสพท. ค่ะ ส่วนชั้นมัธยมปลาย เจลลี่เรียนที่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ห้องเรียนโครงการ SMA (Science Math Ability) เป็นโครงการเน้นวิทยาศาสตร์- คณิตศาสตร์ค่ะ ตอนนั้นเกรดเฉลี่ยจบก็ได้ประมาณ 3.9 กว่าๆ ค่ะ 

 มุ่งมั่นเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กเลยไหม
        เจลลี่คิดว่าด้วยความที่เราอยู่สายวิทย์มา อาชีพหลักๆ ของเด็กสายวิทย์ก็จะมีไม่มาก ก็จะมี แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ฯลฯ แต่ถ้าจะมีความศิลป์ เพิ่มเข้าไปด้วย ก็อาจจะเป็น บัญชี ประมาณนี้ ตอนแรกเจลลี่ก็ไม่ได้อยากเป็นหมอนะคะ เราก็เปลี่ยนไปมา สนใจหลายอย่างเหมือนกัน
       ตอนแรกเจลลี่อยากเข้านิเทศฯ ตอนนั้นยังเด็กๆ เลย ประมาณ ม.ต้น ก็อยากเข้ามาก เพราะเรารู้สึกว่าชอบ แล้วก็อยากทำ แต่สุดท้ายตอนตัดสินใจ เจลลี่มามองว่า เราสามารถทำสิ่งที่ชอบเป็นงานอดิเรกได้นะ
      พอขึ้นชั้น ม.ปลาย เราชอบฟิสิกส์มาก ก็เลยอยากเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะตอนนั้นก็มองว่าวิศวะฯ มีสาขาที่หลากหลาย น่าสนใจ และเราชอบอะไรที่เป็นเชิงปฏิบัติ แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ เกิดขึ้นตอน ม.4 ที่เรามีโอกาสได้ไปเข้าค่ายแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ทั้งสองคณะเลย เราก็พบว่าสิ่งที่เราอยากทำกับการเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มันยังไม่ตอบโจทย์กัน ทั้งสายงานด้านวิศวะฯ ในประเทศไทยที่ผู้หญิงสามารถทำได้ยังมีน้อย และถ้าทำ ก็คงเน้นการทำงานในบริษัท ซึ่งเรามองว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เราก็เลยตัดตัวเลือกออกไป ซึ่งพอมองอาชีพอื่น มองคณะอื่น ก็ไม่มีอะไรที่ชอบ ก็เลยกลับมามองที่คณะแพทยศาสตร์ แล้วเราก็สนใจด้านปฏิบัติ เลยอยากเป็นหมอผ่าตัด ก็ตั้งใจ และก็มีคณะนี้เป็นเป้าหมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่ะ ซึ่งตอนนั้นเป้าหมายก็มาชัดเจนจริงๆ ตอนประมาณ ม.5-6 ค่ะ

 
 ถ้าน้องๆ ยังไม่รู้ตัวเองเลย จะแนะนำยังไงดี
        ก่อนอื่นเจลลี่อยากให้น้องๆ ดูความสนใจของตัวเองเป็นหลักค่ะ ว่าเราชอบทำอะไร หรือชอบเรียนวิชาไหน พยายามหาคณะที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เราชอบ แล้วก็ค้นหาข้อมูลว่าคณะที่เราสนใจ เรียนจบแล้วจะทำอาชีพไหนได้บ้าง หรือคณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง หรือจริงๆ แล้ว เราอาจจะเรียนจบมาแล้วทำงานไม่ตรงสายก็ได้ แต่ก็ลองดูว่าถ้าต้องเบนสายงาน เราสามารถเบนไปสายงานไหนได้บ้าง และที่สำคัญคือเราชอบรึเปล่า ถ้าเราต้องใช้ชีวิตแบบนั้น เหมือนตอนที่เจลลี่ดูงานวิศวะฯ ของผู้หญิง ส่วนใหญ่ก็จะเน้นงานบริษัท ซึ่งเราก็รู้ตัวว่าเราไม่ชอบแบบนั้น
 

 เริ่มอ่านหนังสือจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่
        ต้องเริ่มกลับไปตั้งแต่ตอน ม.4 เลยค่ะ ที่เจลลี่ชอบวิชาฟิสิกส์มากๆ แล้วก็พยายามอยากเข้าค่าย สอวน. ซึ่งรอบแรกที่เราสอบเข้าไป เราติดสำรอง แล้วก็เรียกไม่ถึง พอม.5 เราก็พยายามใหม่อีกรอบ สอบเข้าไป มาครั้งนี้เราสอบได้ ก็ได้เข้าไป ซึ่งในค่าย เราก็ไปเจอเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กเรียนเยอะมาก คือทุกคนตั้งใจจริงๆ แต่ก่อนหน้านี้คือเราไม่ค่อยอ่านหนังสือเลย พอมาเห็นเพื่อนๆ ที่ตั้งใจอ่าน ตั้งใจเรียน เราก็เหมือนซึมซับจากเพื่อนๆ มาระหว่างที่อยู่ในค่าย หลังจากจบค่ายแล้วก็เลยเหมือนทำให้เราติดนิสัยการอ่านมา แต่เราก็ยังอ่านแบบไม่มีเป้าหมายเท่าไหร่ เพราะลึกๆ ก็ยังมองว่าอีกไกลกว่าจะถึงวันสอบ ก็อ่านไปเรื่อยๆ เรื่อยมากจริงๆ ค่ะ จนขึ้น ม.6 และมีโอกาสได้ไปสอบโครงการ MDX คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น

  สนามรับตรงสอบอะไรไปบ้าง
      - รับตรงโครงการภาษาอังกฤษของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (MDX)
     - โครงการรับตรง คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งก็ติดค่ะ แต่ตอนปีเจลลี่ โชคดีที่คะแนนทุกอย่างของ กสพท. ออกมาเร็ว ก่อนที่รับตรงนี้ จะให้ยืนยันสิทธิ์ ทำให้พอรู้คะแนน เราก็ตัดสินใจที่จะรอสนาม กสพท. ต่อไปค่ะ
     - โครงการ กสพท.

 การสอบรับตรงพลาดไป 1 ที่ เปลี่ยนการอ่านหนังสือของเราเลย
        ใช่ค่ะ ตอนนั้นเราไปสอบรับตรงโครงการภาษาอังกฤษของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (MDX) ซึ่งได้คะแนนไม่ดีเลย ประมาณ 30-40 เกือบทุกวิชา และสอบไม่ติดด้วย ตอนนั้นเราคิดว่าข้อสอบยากนะคะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้คะแนนน้อยขนาดนี้ ทำให้พอรู้คะแนนก็ตกใจมากเหมือนกัน แต่เราไม่ได้กังวลผลการสอบมากนะคะ กังวลคะแนนมากกว่า เพราะลึกๆ เราก็หวัง กสพท. และการที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ถ้าเราอยากได้ กสพท. ก็ต้องเจอกับเด็กเก่งๆ ใน กทม. ซึ่งสนามสอบ MDX ก็เหมือนรวมเด็กเก่งใน กทม. มาสอบเลย เรามองว่า ถ้าเราไม่ติดในสนามนี้ สนาม กสพท. เราก็คงไม่ติด ดังนั้น เราก็เลยฟิตอ่านหนังสือแบบจริงจัง หลังจากรู้ผลสอบแพทย์ มข.ค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้เวลาแค่นี้แล้วได้เลยนะคะ เรามองว่าเราโชคดีที่เราอ่านมาตลอดอยู่แล้ว ไม่เคยทิ้ง เรามีพื้นฐานที่ดีจากการตั้งใจก่อนหน้านี้ ทำให้เวลาเรากลับมาอ่านอีกครั้ง ก็ใช้เวลาไม่นานมาก สามารถฟื้นความรู้กลับมาได้ภายในเวลา 1-2 เดือน ค่ะ

เคล็ดลับเทคนิคที่อยากจะแนะนำน้องๆ ในสนามความถนัดแพทย์
        สนามสอบความถนัดแพทย์ ตอนนั้นเราก็เตรียมตัวไปพอสมควรเลยค่ะ เคยลงคอร์สเรียนความถนัดแพทย์ ซึ่งก็ได้เทคนิคในพาร์ทจริยธรรมมา เหมือนเราเข้าใจมากขึ้นว่าควรตอบแบบไหน ก็ประมาณนี้ค่ะ แต่พอมาเจอข้อสอบจริงๆ เราก็อยากจะแนะนำน้องๆ ว่า
     
- พาร์ทเชื่อมโยง ก็จะคล้ายๆ ข้อสอบเชื่อมโยงของ GAT ค่ะ แต่จะมีความซับซ้อนมากกว่า อย่างตอนเจลลี่ทำ เจลลี่จะทำให้เสร็จทุกอย่าง 1 รอบก่อน เช็กที่เราเชื่อมโยงมา ฝนในกระดาษคำตอบให้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็ให้ลองทำอีกรอบค่ะ ทำใหม่หมดเลย แบบไม่กลับไปดูอันเก่า วาดแผนผังใหม่หมด เขียนรหัสใหม่ ทำให้เหมือนว่าเราทำอีก 1 รอบจริงๆ เพื่อเปรียบเทียบกับรอบแรกว่า มันตรงกันไหม เจลลี่ว่ามันเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ป้องกันการพลาดได้เลย ถ้าเราลองทำใหม่หมดแบบไม่ดูของเก่าเลย
     - พาร์ทจริยธรรม เจลลี่ว่าคำตอบควรจะเป็นคำตอบกลางๆ ไม่ดีจนเกินไป หรือแย่จนเกินไป ควรตอบอะไรที่ถ้าฟังแล้วมันดูเกิดประโยชน์ค่ะ แต่ก็ไม่ใช่ตอบแบบคนดีจนเกินไปนะคะ ส่วนมากจะไม่ใช่แบบนั้น
     - พาร์ทเชาวน์ปัญญา เราโชคดีที่เราชอบแล้วก็ถนัดพาร์ทนี้อยู่แล้วนะคะ แต่ถ้าจะให้แนะนำน้องๆ สมมติว่าถ้าใครทำไม่ได้ เจลลี่อยากให้ตอนเราทำข้อสอบลองจินตนาการ แล้วก็ทดหลายๆ แบบ ว่าจะสามารถออกมาเป็นรูปแบบไหนได้บ้าง อย่างลืมวาดภาพตามโจทย์ที่ให้มาด้วยค่ะ
 

กสพท. เป็นยังไงบ้าง การเลือกอันดับกับคะแนน
         เจลลี่ เลือกอันดับในกสพท. 4 อันดับ เป็นแพทยศาสตร์ทั้งหมดเลย แล้วก็เลือกจากความชอบทุกอันดับค่ะ คือ
           1. แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
           2. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (หญิง)
           3. แพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
           4. แพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์


         - คะแนนรวม ประมาณ 71-72 คะแนน
           * คะแนนวิชาเฉพาะแพทย์ ประมาณ 22 คะแนน
           * คะแนนวิชาสามัญ ประมาณ 49 คะแนน

 
 1 เดือนก่อนสอบ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
          การจับเวลาในการทำข้อสอบค่ะ เหมือนจำลองสถานการณ์จริงในการสอบเลย เจลลี่มองว่าสำคัญมากเลยที่ก่อนเราจะทำข้อสอบจริง เราควรจับเวลากับการทำแบบฝึกหัดของเราให้เท่ากับเวลาจริงเลย และอาจจะลบเวลานิดหน่อย เพราะเวลาจริงเราต้องทำช้ากว่าที่เราเคยทำแน่นอน เพราะเป็นข้อสอบที่เราไม่เคยทำมาก่อน และบวกความกดดันในห้องสอบเข้าไปด้วย เช่น กำหนดเวลาเท่ากับเวลาในห้องสอบเลย สมมติคือ 120 นาที ใน 120 นาทีที่เราทำข้อสอบนี้ เราก็ต้องห้ามลุกไปไหน ห้ามเข้าห้องน้ำ ห้ามฟุบหลับ ห้ามเล่นมือถือ ฯลฯ และพอทำเสร็จก็ตรวจจริงๆ ว่าได้กี่คะแนน และเอาคะแนนจากวิชาทั้งหมด มาคิดรวมกันว่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบว่าถ้าเป็นข้อสอบจริงๆ เราจะได้เท่าไหร่ ก็ลองหักออกจากคะแนนที่เราได้นิดหน่อย และถ้าคะแนนยังขาด ก็ลองดูว่าส่วนไหนที่เราอ่านเพิ่มเติมได้ อย่าอ่านไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมายค่ะ เพราะถ้าเวลาเหลืออีกไม่มาก การทำโจทย์สำคัญที่สุด
 
  ทริควิชามารในการทำคะแนนที่แอบอยากบอกต่อ
          แอบเล่าให้ฟังว่าตอนแรกเราชอบวิชาฟิสิกส์มากใช่ไหมคะ พอตอนจะสอบ เราก็ประมาทว่าวิชานี้เราชอบ เราเข้าใจ เราทำได้อยู่แล้ว เลยทำให้เราทิ้งวิชาฟิสิกส์ไปเลย ทิ้งแบบไม่อ่านเลย แต่พอช่วงใกล้สอบ ปรากฏว่า มีอีกหลายเรื่องมากที่เรายังไม่ได้เรียน และเรียนไม่ทันของเนื้อหา ม.ปลาย เราก็ต้องพยายามอัดมากๆ ในช่วงท้าย ซึ่งเราก็เรียนทันนะ เรียนครบ แต่มันไม่ใช่การเรียนแบบเข้าใจ จนสุดท้ายเราไม่รู้ว่าจะทำยังไง เพราะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน แต่เรายังทำไม่ได้เลย สมมติเราลองทำข้อสอบเก่า 20 ข้อ เราทำได้แค่ประมาณ 6 ข้อเอง มันน้อยมาก ทางเลือกสุดท้ายของเรา คือ เราเอาข้อสอบเก่าทุกปีมานั่งทำ ทำซ้ำๆ ซึ่งเราเคยได้ยินรุ่นพี่บอกมาเหมือนกันว่าข้อสอบจะออกแนวเดิมทุกปี มันเลยเหมือนเป็นผลจากการที่เราทำข้อสอบเก่าซ้ำๆ กันเยอะๆ ทำให้ในสนามสอบจริง เราทำได้ ถึงแม้ตอนนั้นเราไม่ได้เข้าใจในวิชานี้จริงๆ เหมือนตอนแรกที่เราชอบ เพราะข้อสอบก็จะออกเนื้อหาหรือรูปแบบคล้ายกันทุกปี
 

 สนามสอบ 9 วิชาสามัญ ควรเตรียมตัวยังไง
        ตอนนั้นลังจากรู้ผลสอบแพทย์ มข. แล้ว เราก็ตั้งใจมากขึ้น กลับมาดูว่ามีวิชาไหนที่ยังไม่โอเค เรื่องไหนที่เรายังไม่เข้าใจ ก็อ่านหนังสือเพิ่ม ทำข้อสอบเก่าซ้ำๆ อย่างตอนทำข้อสอบเก่า เจลลี่ก็จะดูคะแนนตัวเองว่าเราทำได้เท่าไหร่ แล้วก็เอามาคิดเป็นคะแนนจริงๆ เลยว่าได้เท่าไหร่ สมมติว่าถ้ามันไม่ถึงเป้าที่เราตั้งใจ ก็มาดูว่ามีวิชาไหนที่เราสามารถพัฒนาได้อีก ก็ไปอ่านเพิ่มวิชานั้น 
       และนอกจากการจับเวลาในการทำข้อสอบช่วง 1 เดือนก่อนสอบที่แนะนำไปแล้ว เจลลี่มองว่าการบริหารเวลาในห้องสอบก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันค่ะ เจลลี่เคยเจอเพื่อนเก่งๆ ที่เขาทำข้อสอบไม่ทัน ซึ่งเจลลี่มั่นใจว่าถ้าเขามีเวลาพอหรือบริหารเวลาดี เขาทำได้แน่นอน เจลลี่มองว่าเราไม่ควรทิ้งเวลากับข้อไหนนานเกินไป ถ้าข้อไหนทำไม่ได้ ก็ให้ข้ามไปทำข้ออื่นก่อน 

 เคล็ดลับการเตรียมตัวและทำข้อสอบฉบับเจลลี่
          การทำซ้ำๆ สำคัญที่สุดค่ะ อย่างที่เจลลี่เคยเล่าข้อสอบฟิสิกส์ที่เราทำข้อสอบเก่าทุกปี แบบซ้ำๆ แล้วพอมาลงสนามจริง เราก็ทำได้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นความรู้เราอาจจะไม่แน่นเท่าที่ควร หรือวิชาภาษาอังกฤษ ที่เจลลี่มองว่าตัวเองเป็นเด็กต่างจังหวัด ความรู้ด้านภาษาก็ยังไม่แน่น แต่เราก็เน้นการฝึกฝนไปเรื่อยๆ อย่างพาร์ท Reading ตอนแรกเราอ่านไม่ได้เลย เราก็พยายามทนอ่าน ทนอ่าน ทนอ่าน ไปเรื่อยๆ จนเราก็สามารถอ่านได้เอง คือ ไม่อยากให้น้องๆ ละความพยายามค่ะ ถ้าทำไม่ได้ ก็อยากให้พยายามมากขึ้นเรื่อยๆ พยายามต่อไปอีก แล้ววันหนึ่งเราก็จะทำได้เอง หรือวิชาไหนที่เราทำไม่ได้ แล้วถ้ายังมีเวลา ยกตัวอย่าง วิชาที่เจลลี่ไม่ชอบเลย คือ วิชาเคมี พอถึงช่วง ม.6 เราก็รู้ตัวว่า ไม่ได้แล้วนะ ถ้าเรายังเป็นแบบนี้ เราจะสอบไม่ได้นะ เราก็เลยใช้เวลาที่เหลืออ่านหนังสือ เรียนพิเศษ ทำทุกอย่างแบบทุ่มให้กับเคมีมากๆ ทำให้สุดท้าย วิชาเคมีกลายเป็นวิชาที่เราทำได้ แล้วก็มั่นใจในการสอบมากเลย มั่นใจกว่าวิชาฟิสิกส์ที่เราเคยชอบอีกค่ะ
 

 เคยเจอวิชาที่ไม่ชอบ แล้วท้อไหม ตอนนั้นเราทำยังไง
          เคยค่ะ อย่างของเจลลี่ นี่คือวิชาเคมีเลย ตอนนั้นไม่ชอบมากๆ และมาทุ่มเทอ่านจริงๆ ก็โค้งสุดท้ายแล้ว แต่เจลลี่มองว่าการตั้งเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ถ้าเรามีเป้าหมายว่าเราอยากสอบให้ติดนะ เราอยากติดที่นี่นะ เราจะมองข้ามสิ่งที่เราไม่ชอบได้เลย ไม่ใช่ว่ามันหายไปนะคะ มันก็ยังอยู่ แต่เราก็รู้ว่า เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ เพื่อเป้าหมายของเรา ต้องตั้งเป้าหมาย แล้วก็ยึดถือว่าเป้าหมายคือสิ่งสำคัญที่เราต้องทำให้ได้ค่ะ

 ฝากอะไรถึงน้องๆ กันหน่อยค่ะ
          เจลลี่อยากให้น้องๆ อย่าท้อเด็ดขาดค่ะ ยิ่งน้องๆ ต่างจังหวัดด้วย เจลลี่เข้าใจเลย เพราะเราก็มาจากต่างจังหวัด อย่าคิดว่าเราเป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วเราจะสู้ใครไม่ได้ มันไม่จริงเลยค่ะ ถ้าเรามีตั้งใจและความพยายาม เราทำได้แน่นอน พยายามตั้งจุดมุ่งหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วก็คิดถึงมันไว้เยอะๆ และถ้าเราคิดถึงเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้เราไปสู่เป้าหมายค่ะ ห้ามคิดว่าตัวเองทำไม่ได้เด็ดขาด ต้องบอกตัวเองไว้ว่า เราต้องทำได้! เราต้องทำได้! และก็ตั้งใจทำ ลงมือทำ สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จแน่นอนค่ะ
          นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมก็สำคัญนะคะ เช่น เพื่อน คนรอบตัว คู่แข่งในสนามสอบเดียวกันกับเรา ลองดูว่าเขาทำอะไรบ้างใน 1 วัน เราจะสู้เขาได้รึเปล่า เหมือนเมื่อก่อนเจลลี่จะเป็นคนที่อ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าต้องอ่านเท่าไหร่ อ่านแค่ไหน แต่พอเราไปเจอเพื่อนที่เก่งๆ ในค่าย สอวน. ที่เพื่อนแบบ ทำโจทย์ 6 ชุด ต่อวัน ทำให้เราต้องรีบกลับมามองตัวเองเลยว่า ถ้าเรายังทำแบบนี้อยู่ เราจะสอบได้รึเปล่า ก็ทำให้เรามีแรงฮึด แล้วก็มีความพยายามขึ้นมา เพื่อจะต้องทำให้ได้ค่ะ ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน ในการพิชิตคณะในฝันนะคะ :)

 
         
          เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวและเคล็ดลับของพี่เจลลี่ ใครที่กำลังเตรียมตัวสอบ ก็อย่าเพิ่งท้อนะคะ สนามสอบ กสพท. เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น พี่อีฟและพี่เจลลี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ว่าที่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และสัตวแพทย์ทุกคนในอนาคตนะคะ สวัสดีค่ะ :) 
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

Beam 5 พ.ย. 59 00:02 น. 1
ถึงจะไม่ได้อยู่สายวิทย์แต่พออ่านบทความนี้ของพี่เจลลี่แล้ว มีกำลังใจขึ้นมาในการอ่านหนังสือเตรียมเข้าคณะ มากเลยค่ะ แต่กว่าจะผ่านอะไรมาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยสินะคะ สู้ๆๆ!
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด