สวัสดีเฟรชชี่ทุกคน ว่ากันด้วยความเข้าใจผิด ใครๆ ก็เคยเป็นกันทั้งนั้น ก่อนเข้ามหา'ลัย น้องๆ อาจจะเคยคิดมาบ้างว่า เรียนเหมือนมัธยมฯ ไหมนะ? เห็นรุ่นพี่กลับมาโรงเรียนบ่อยๆ คงเรียนสบาย มีเวลาว่างเยอะแน่ๆ เลย แต่พอมาสัมผัสด้วยตัวเองนั้น ไม่ใช่อย่างที่คิดซะงั้น -..-

 


 
         วันนี้พี่เมก้าเลยขอพาน้องๆ เฟรชชี่กลับมาทบทวน 10 เรื่องเกี่ยวกับการเรียนของเด็กมหาวิทยาลัย ที่เราเคยเข้าใจผิดมาก่อน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า บางข้อนั้นเป็นความเข้าใจผิด ที่ผิดไกลไปมากโข น่าเอ็นดู~ แต่ไม่เป็นไรนะคะน้องๆ เรามาไขความกระจ่างกันดีกว่า ^O^

1. เรียนสบาย เวลาว่างเพียบ!
 
         สิ่งที่เคยคิด : เรียนสบายชิลล์ๆ เวลาว่างถมเถ  
         สิ่งที่แท้จริง : สบายคืออะไร? ไม่เคยรู้จัก TOT

         ที่จริงก็ไม่ได้เข้าใจผิดไปซะหมดนะคะ ช่วงเดือนแรก โลกของเฟรชชี่ก็ยังคงสดใสดอกไม้บานอยู่จริงๆ ค่ะ แต่หลังจากนั้นอเวจีสีชมพูเรียกพี่เลยแหละ เพราะน้องๆ หลายคณะถูกปล้นเวลาว่างค่ะคุณตำรวจ! เรียนหนักตั้งแต่ปี 1 โถๆๆ บางวันไม่ได้มาเรียนจริง บางวันมีเวลาว่างเช้าบ้างบ่ายบ้างจริง แต่ก็ต้องเอาเวลาว่างที่ไม่ว่าง? ไปทำรายงาน อ่านหนังสืออยู่ดี โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบนี่ ทุ่มเทจนร่างพัง นึกว่าซากศพเดินได้มานั่งสอบ TOT เหนื่อยมากจริงๆ ไม่ได้สบายหรอกนะคะ 


2. ตัวเบาไปเรียน ไม่มีหนังสือ  

         สิ่งที่เคยคิด : สะพายกระเป๋าชิคๆ ไปเรียนสวยๆ ไม่ต้องแบกหนังสือ
         สิ่งที่แท้จริง : ตัวเบาอะไรล่ะ ชีทหนาเป็นตั้งๆ อย่างกับเรียนถึงปี 8!

         วิชาเรียนส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือเป็นกิจจะลักษณะจริงๆ ค่ะ ถ้ามีก็น้อย เพราะอาจารย์จะสอนตามสไลด์ ปั่นมือมันกันเลยทีเดียว แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าวิชาไหนใจดีมาก ก็จะมีชีทให้ค่ะ 100 สไลด์ใน 1 คาบ ก็ซีร็อกซ์กันไป O_O! ซึ่งชีทที่ว่านั้น เราก็ต้องถือมาเรียนนะคะน้องๆ สรุปคือไม่มีหนังสือ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะตัวเบาไปเรียนค่ะ ยิ่งบางวันเจอวิชาเนื้อหาหนักๆ อ่านเยอะนะ ยิ่งจัดไปหลายชุดเลย ไม่นับรวมเลคเชอร์เพื่อนที่เราฉกมาซีร็อกซ์อีก แบกกันจนหลังแอ่น (เวอร์ไป =''=) 


3. เกรดสวยๆ ได้มายากมาก
         
         สิ่งที่เคยคิด : มัธยมฯ ยังแยกไม่ออก นี่เกรดหรือเศษเลข มหา'ลัยจะเหลืออะไร?   
         สิ่งที่แท้จริง : ยิ่งยาก ยิ่งน่าค้นหา! เกรดสวยๆ ไขว่คว้ามาได้ ง่ายกว่าที่คิดนะจ๊ะ
         เราอาจจะเคยคิดไปเอง นำประสบการณ์ตรงของรุ่นพี่มาฝังหัวสมอง "ขนาดรุ่นพี่เทพสุดในโรงเรียน เข้ามหา'ลัยยังกินปลา (ติด F) เลยง่ะ" แต่พอลองมาเรียนด้วยตัวเองแล้ว การชิง A ไม่ใช่เรื่องยากเลย ^3^ เพราะคณะที่เราเลือกแล้ว คือสิ่งที่ใช่ เราเลยไม่มีทางปล่อยให้หลุดมือไปง่ายๆ หลายๆ คนเลยพยายามตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ ส่งรายงานครบทุกชิ้น แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ได้เกรดที่งดงามนั่นเอง ดังนั้น อย่าไปคิดว่ามันยาก ขนาดที่เราผ่านไปไม่ได้ค่ะ

4. รายงานน้อยมาก ชิลล์ได้อีก!

         สิ่งที่เคยคิด : เทอมหนึ่งเรียนไม่กี่ตัว การบ้านคงน้อยตามไปด้วย ชิลล์ๆ
         สิ่งที่แท้จริง : รายงานมาไม่ถี่ แต่มาทีหนักมาก ให้ทำทั้งเทอมยังไม่เสร็จ

         ตอนมัธยมฯ น้องๆ อาจจะเคยโอดครวญกับการบ้านชุดใหญ่อยู่ทุกวี่วัน เรียน 10 วิชา งานก็มาเต็มทั้ง 10 วิชา ไม่ให้น้อยหน้ากัน TOT แต่พอเข้ามหา'ลัยหยิบตารางเรียนขึ้นมาดู ฮั่นแน่! เรียนน้อยอะ ยิ่งปี 1 ยิ่งเรียนน้อยเข้าไปใหญ่ ถึงมีรายงาน ก็คงไม่หนักมาก แต่...คิดผิดแล้วค่ะ! รายงานไม่มาก แต่เป็นงานละเอียด ต้องใช้ความพิถีพิถันในการค้นคว้าข้อมูลและจัดทำสูง จนกว่าจะถึงกำหนดส่ง ก็ตาโหลเป็นหลินปิงมาเลยอะค่ะ ใช้เวลาทำทั้งวันทั้งคืน เสร็จตอนพระอาทิตย์ขึ้นตลอด!


5. ไม่มีสอบกลางภาค คือดีอะ!

         สิ่งที่เคยคิด : โชคดีอะไรอย่างนี้! ไม่มีสอบกลางภาค ไม่เหนื่อยจ้า   
         สิ่งที่แท้จริง : ไม่มีสอบกลางภาค คือคราวเคราะห์จ้ะ ไม่ใช่เรื่องดี

         ทำความเข้าใจกันก่อน ใช่ว่าทุกคณะ จะไม่มีสอบกลางภาคนะคะ มี! แถมบางคณะนี่สอบยิบสอบย่อยทั้งเทอม กลางภาคก็มี ปลายภาคก็มี ความรู้สึกไม่ต่างจากมัธยมฯ เลยค่ะ แต่คณะที่ไม่มีสอบกลางภาค เก็บไว้สอบปลายภาครวดเดียวตัดเกรดเลยก็มีเช่นกัน น้องๆ คนไหนที่ได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้ ก็อย่าเพิ่งกระโดดโลดเต้นดีใจไป เพราะเราเหมือนได้ลองสนามครั้งแรก ครั้งเดียว เน่าคือเน่า ไม่มีสิทธิ์แก้ตัว ตั้งใจอ่านหนังสือสะสมบุญไว้เยอะๆ ละกันนะคะ


6. ไม่มีข้อสอบช้อยส์ มีแต่เขียน

         สิ่งที่เคยคิด : ไม่ดีเลย ล้างระบบสอบช้อยส์ มีแต่เขียนอย่างเดียว
         สิ่งที่แท้จริง : ผิดแล้วจ้า เจอทั้งเขียน ทั้งช้อยส์ แอดวานซ์ด้วยจ้า
         คงเพราะรุ่นพี่ข่มขวัญกันมากมายว่า เข้ามหา'ลัยเจอแต่ข้อสอบเขียนมาราธอน เขียนกันจนมือพัง จนก้อนเนื้อปูดโปนที่นิ้ว เลยทำให้น้องๆ กลัวกันว่า ชาตินี้จะไม่ได้เจอข้อสอบช้อยส์อีกแล้ว ขอบอกว่าบางคณะอาจเป็นอย่างนั้นจริงค่ะ แต่บางคณะน้องๆ ก็ยังคงได้ฝนมือดำดินสอ 2B อยู่เหมือนเดิม เพราะข้อสอบช้อยส์ยังอยู่ แถมทวีความแอดวานซ์ขึ้นด้วยการแปรสภาพจาก 4-5 ตัวเลือก ไปเป็น 20 เลยทีเดียว O_O โหดได้อีก!    

7. ห้ามสอบตก เด็ดขาด!

         สิ่งที่เคยคิด : เข้ามหาวิทยาลัย สอบตกที ชีวิตดับอนาถเลยนะ
         สิ่งที่แท้จริง : ช้าก่อน! สอบตก ยังพอมีลมหายใจ สู้ต่อไปได้จ้ะ

         อันนี้จะว่าเข้าใจผิด ก็ไม่เชิง เข้าใจถูก ก็ไม่ใช่อะค่ะ เอ๊ะ! ยังไงงง? การสอบตกไม่ใช่เรื่องดีหรอก แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อห้ามว่า "อย่าสอบตก เด็ดขาดนะ" คนจะตก มันห้ามกันได้ด้วยเหรอ TOT พี่เมก้ายอมรับว่าตัวเอง เคยสอบตกกลางภาคมาก่อน มันตกได้นะคะ แต่แค่ไม่มีให้ซ่อมเท่านั้นเองค่ะ ได้คะแนนเท่าไหน ก็ไปเก็บสะสมไว้เท่านั้น เราก็อาศัยเริ่มต้นใหม่ ทำคะแนนเก็บครึ่งหลังกับคะแนนปลายภาคให้ดี วิชานั้นเลยรอดตายมาแบบหวุดหวิด แต่ถ้าน้องไม่สู้ ก็ไม่ถึงขั้นดับอนาคตการเรียนเราหรอกนะคะ แค่ติด F รอลงเรียนใหม่พร้อมรุ่นน้อง -..-


8. โตแล้ว ขาดเรียนได้!

         สิ่งที่เคยคิด : โตป่านนี้ อาจารย์ไม่มานั่งเช็กชื่อให้เสียเวลาหรอก!
         สิ่งที่แท้จริง : เช็กทุกคาบ เช็กตลอดจ้า หมดสิทธิ์สอบโดยไม่รู้ตัว

         อย่าคิดว่าเป็นนักศึกษา รับผิดชอบชีวิตตัวเองได้แล้ว อาจารย์จะไม่มานั่งตามนะคะ ไม่ตามจริง แต่เช็กแบบเป๊ะๆ เลยละค่ะ หลายวิชานี่ตกลงกันตั้งแต่เริ่มคาบ "ห้ามเข้าสายเกิน 15 นาที สายเกิน 3 ครั้ง เท่ากับขาดเรียน 1 ครั้ง ขาดเรียน 3-5 ครั้งเท่ากับหมดสิทธิ์สอบ รับทราบนะคะนักศึกษา!" เล่นกันแบบนี้เลย ดังนั้น จะโดดไปทำธุระที่ไหน ก็อย่าลืมเช็กให้ดีค่ะว่าโดดฟรีหรือมีข้อแลกเปลี่ยน แต่ทางที่ดี อย่าโดดเลยดีกว่า เพราะขนาดเข้าเรียนทุกคาบ แค่อาจารย์บอกว่าออกสอบทั้งหมดที่สอนไป เรายังหงายเงิบเลย TOT  


9. ใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนได้
         
         สิ่งที่เคยคิด : เคยแต่หลบๆ ซ่อนๆ เข้ามหา'ลัยใช้มือถือสบาย!
         สิ่งที่แท้จริง : สบายแค่ไหน ก็ยังต้องใช้อย่างรู้จังหวะเวลาอยู่ดี
         น้องๆ อาจเคยอึดอัดกับการใช้โทรศัพท์ในโรงเรียน เพราะคุณครูจับตามองซะเหลือเกิน พอเข้ามหาวิทยาลัย เลยมั่นใจมากว่าใช้โทรศัพท์ในคลาสได้เต็มที่แน่ๆ แต่ความจริงแล้ว หลายวิชาเรียนยังขอความร่วมมือจากนักศึกษาให้งดใช้โทรศัพท์มือถือนะคะ อาจจะไม่ถึงขั้นปิดเครื่อง แต่ขอให้ปิดเสียง ตั้งระบบสั่น จะได้ไม่ไปรบกวนสมาธิเพื่อนในห้อง และเป็นการให้เกียรติอาจารย์ผู้สอนด้วย ส่วนใหญ่เราจะใช้โทรศัพท์เวลาหาข้อมูล บันทึกเสียง หรือหยิบมาถ่ายรูปงานที่อาจารย์สั่งในสไลด์ตอนท้ายคาบมากกว่า

10. ปิดเทอมยังต้องมาเรียน!

         สิ่งที่เคยคิด : แย่แล้ว! มหา'ลัยไม่มีปิดเทอม เรียนหนักมาก
         สิ่งที่แท้จริง : ไปกันใหญ่! เรียนหนักแค่ไหน ก็มีปิดเทอมจ้า

         หนักกว่าปิดเทอมยังต้องมาเรียน คือน้องๆ เข้าใจไปว่ามหาวิทยาลัยไม่มีปิดเทอม -..- ยังมีอยู่นะคะเด็กๆ มีทั้งปิดเทอมเล็ก แล้วก็ปิดเทอมใหญ่เหมือนตอนมัธยมฯ เลยค่ะ กาปฏิทินรอนับวันเที่ยวได้เลย! แต่เหตุผลที่ทำให้น้องๆ เผลอเข้าใจผิดไป พี่เมก้าคิดว่าต้องเป็นเพราะเด็กๆ แอบเห็นพี่ๆ ไปมหาวิทยาลัยกันตลอดๆ แม้กระทั่งปิดเทอมอยู่แน่เลย บอกเลยว่าที่ขยันไปกันเนี่ย มีทั้งความใฝ่รู้ส่วนตัว คือไปลงเรียนซัมเมอร์ตามวิชาที่เราสนใจ และอีกอย่างคือความจำเป็นบังคับ ต้องมานั่งเรียนเพื่อแก้ F นั่นเองค่ะ เป็นช่วงเวลาปิดเทอมที่แสนจะทุกข์ทรมาน

         นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พี่เมก้ายกตัวอย่างมาเท่านั้นนะคะ เชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการเรียนของเด็กมหาวิทยาลัย ที่น้องๆ มักจะเข้าใจผิดกันอยู่บ่อยๆ ถ้าน้องคนไหนยังมีข้อข้องใจ หรือรุ่นพี่คนไหนเคยเข้าใจผิด ไม่อยากให้น้องๆ พลาดเหมือนตัวเอง ก็แวะมาแชร์ มาคุยกันได้ค่ะ
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

7 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
【 LAGRIMAS 】 Member 29 ธ.ค. 59 19:40 น. 4
เรียนแล้วนึกถึงวัยมัธยมมาก อดีตเคยคิดว่าตอนนั้นหนักแล้ว พอมาเรียนมหาลัยนี่แบบ..กลับไปได้มั้ย 555555
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ลุ่ม ๆ ดอน ๆ 2 นิด ๆ เอง 30 ธ.ค. 59 02:48 น. 6
เรียนจบ 4 ปีมาได้อย่างกระหืดกระหอบมากค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี 3 ปี 4 จะหนักมาก แต่หนักต่างกันนะคะ ปี 3 หนักวิชาเรียน รายงาน การสอบ ในภาค ในสาขาวิชา ส่วนปี 4 หนักการทำการทดลอง ทำวิจัย รายงานและสัมมนาการทดลองการวิจัย ทำโครงงานเล่มส่งเพื่อทำเรื่องขอจบหลักสูตรที่เกือบส่งเล่มไม่ทัน (ส่วนตัวเราไหนจะเอาเวลาว่างไปลงเรียนภาษาไทย ภาษาบาลีสันสกฤตเพิ่มเติมเองด้วย) ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายเลยสักนิด เรียนเกินหลักสูตรนั่นแหละว่าอย่างนั้นเถอะ หลักสูตรกำหนดให้เรียน 4 ปี 135 หน่วยกิต แต่เราลงเรียนไป 162 หน่วยกิต จบได้ภายใน 4 ปี ทันรับปริญญาพร้อมเพื่อน ๆ ทุกคน ผลการเรียนเฉลี่ยรวม 4 ปี ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ได้สวยงามอะไร แค่ 2 นิด ๆ เอง
0
กำลังโหลด
ชานมเย็น Member 30 ธ.ค. 59 23:06 น. 7

- ปิดเทอมมันก็ต้องมีสิครับ ไม่งั้นรุ่นพี่จะมีเวลามารับน้องได้ยังไง 55+ ปิดเทอมที่นานที่สุด เห็นจะเป็นปิดเทอมใหญ่ ส่วนปิดเทอมเล็กจะอยู่ในช่วงธันวา-มกรา ประมาณ 2-3 อาทิตย์ แล้วแต่มหาลัยอะเนาะ

- มือถือแล้วแต่คาบเรียน ถ้ามีนักศึกษาเยอะ คนนั่งหลัง-ริม ก็อาจเล่นได้ แต่ แหม...ถ้ามันไม่จำเป็นจริง ก็วางบ้างเหอะ ไม่ใช่เล่นในห้องเรียนตลอด ถ้าอย่างนั้นก็กลับไปนอนถ่างhumถ่างhee เล่นที่บ้างเนาะ มีอะไรให้เช็คนักหนา (อ้อ! แล้วแต่ครูสอนด้วยเนอะ ถ้าครูโหด เข้ม นี่คงหยิบมาเล่นได้ยาก)

- เรื่องขาดเรียน เค้ามีเช็คชื่อนาจา แต่บางที่ก็อาจไม่มีก็ได้ เรื่องการขาดแอบโหดเหมือนกัน มีกำหนดไว้ไม่ต่างจากมัธยม ถ้าจะขาดก็ต้องยื่นใบลา ถ้ามีเหตุผลเหมาะ เค้าก็จะไม่ติ๊กขาด เช่น ไปหาหมอ เกิดอุบัติเหตุสุดวิสัยไรงี้

- เรื่องข้อสอบ ส่วนใหญ่หลายวิชามักเน้นข้อเขียน ซึ่งไม่ชอบเลย เพราะเขียนช้า และกลัวเขียนไม่ทันจนไม่ครบประเด็น แต่ข้อสอบกาก็มีนะ

- รายงานทำไมเอกเราแทบไม่มีเลยหว่า

- เรื่องเกรดนี่จริง ใครเคยได้เกรดสูง ๆ แบบ 3.5 อัพ ขึ้นมหาลัยอย่าประมาทนะ ตั้งใจให้มากกว่าเดิม กันไว้ดีกว่าแก้ ปี 1 ควรจะเก็บเกรดสวยๆเอาไว้ให้สุด

- เรื่องไม่มีหนังสือ ก็ค่อนข้างจริงนะ คือส่วนใหญ่ครูมักจะสอนผ่านสไลด์ไรงี้ ชีทก็แทบไม่มี เมทเราเป็นวิศวะ ยังแทบไม่มีหนังสือไปเลย หรือเพราะยังปี 1 กันอยู่ อันนี้ก็ไม่รู้นะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด